3/20/2555

วิธีคิดแบบพุทธศาสนากับปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญ

วิธีคิดแบบพุทธศาสนากับปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญ
                                                                         โดย...โสต   สุตานันท์

                ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ปอ.ปยฺตโต) กล่าวไว้ในหนังสือ “พุทธธรรม”ว่า การคิดอย่างถูกวิธีตามหลักพระพุทธศาสนาเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ”  ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการนำไปสู่จุดหมายของพุทธธรรมอย่างแท้จริง เพราะโยนิโสมนสิการเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญญา ทำให้สามารถหยั่งรู้สภาวธรรม เข้าถึงหลักความจริง ความดีงาม ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ โยนิโสมนสิการทำให้คนเป็นผู้ใช้ความคิดหรือเป็นนายของความคิด เอาความคิดมารับใช้ช่วยแก้ไขปัญหา ตรงข้ามกับ “อโยนิโสมนสิการ” ซึ่งทำให้คนกลายเป็นทาสของความคิด ถูกความคิดปลุกปั่นจับเชิดให้เป็นไปต่าง ๆนานา ชักลากไปหาความเดือดร้อนวุ่นวายหรือถูกความคิดนั้นเองบีบคั้นให้ได้รับความทุกข์ทรมานต่าง ๆอย่างไม่เป็นตัวของตัวเอง
                วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการที่ปรากฏพบในบาลี พอประมวลเป็นแบบใหญ่ ๆไว้ดังนี้
                ๑. วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย คือ พิจารณาปรากฏการณ์ที่เป็นผล ให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริงหรือพิจารณาปัญหาเพื่อหาหนทางแก้ไขด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา อาจเรียกว่า วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตาหรือคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาท “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”
                ๒. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบหรือกระจายเนื้อหา  เป็นการคิดที่มุ่งให้มองและให้รู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมันเอง  ซึ่งเมื่อแยกแยะส่วนประกอบออกก็จะเห็นภาวะที่องค์ประกอบเหล่านั้นอาศัยกันและขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นตัวของมันเองโดยแท้จริง ในทางธรรมมักใช้พิจารณาเพื่อให้เห็นความไม่มีแก่นสารหรือความไม่เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ให้หายยึดติดถือมั่นในสมมติบัญญัติ ตัวอย่างเช่น การพิจารณาเห็นสัตว์บุคคลเป็นเพียงการประชุมกันเข้าขององค์ประกอบต่าง ๆที่เรียกว่าขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ แต่ละอย่างก็เกิดขึ้นจากส่วนประกอบย่อยต่อไปอีก จนท้ายที่สุดก็จะช่วยให้มองเห็นอนัตตา เป็นต้น
                ๓.  วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์หรือแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆตามธรรมดาของมันเองในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่าง ๆปรุงแต่งขึ้น จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ธรรมดาที่ว่านั้นได้แก่อาการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องดับไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ไม่คงอยู่ตลอดไปเป็นอนิจจัง วิธีคิดแบบนี้แบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน คือ ขั้นที่ ๑ ต้องรู้เท่าทันและยอมรับความจริง เป็นขั้นวางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นท่าทีแห่งปัญญาและความเป็นอิสระ มองสถานการณ์ตามความเป็นจริง ไม่มองตามความอยากให้เป็นหรือไม่ให้เป็น ขั้นที่ ๒ ต้องแก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ปฏิบัติด้วยปัญญา รู้เท่าทัน เป็นอิสระ ไม่ถูกมัดตัว แก้ไขด้วยความรู้และแก้ที่ตัวเหตุปัจจัย ไม่ใช่แก้ด้วยความอยาก
                ๔. วิธีคิดแบบอริยสัจจ์หรือแบบแก้ปัญหา  เรียกตามโวหารทางธรรมได้ว่า วิธีแห่งความดับทุกข์ วิธีคิดแบบนี้มีลักษณะทั่วไป ๒ ประการ คือ ประการแรก เป็นวิธีคิดตามเหตุและผล สืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้วแก้ไขและทำการที่ต้นเหตุ ประการที่สอง เป็นวิธีคิดที่ตรงจุดตรงเรื่อง ตรงไปตรงมา มุ่งตรงต่อสิ่งที่จะต้องทำ ต้องปฏิบัติ ต้องเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา วิธีแบบอริยสัจจน์มี ๔ ขั้นตอน คือ ขั้นกำหนดทุกข์ ขั้นสืบสาวสมุทัย ขั้นเก็งนิโรธ และขั้นเฟ้นหามรรค  อนึ่ง พึงมีข้อสังเกตว่าวิธีคิดแบบอริยสัจจน์นี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ ๕ ขั้นตอน คือ การกำหนดปัญหาให้ถูกต้อง (Location of Problems) การตั้งสมมุติฐาน (Setting up of Hypothesis) การทดลองและเก็บข้อมูล (Experimentation and Gathering of Data) การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of Data) และการสรุปผล (Conclusion)
                ๕. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์หรือตามหลักการและความมุ่งหมาย คือ พิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง “ธรรม” กับ “อรรถ” หรือ “หลักการ” กับ “ความมุ่งหมาย”  ธรรม แปลว่า หลักหรือหลักการ คือ หลักความจริง ความถูกต้องดีงาม อรรถ แปลว่า ความหมาย ความหมุ่งหมาย จุดหมายประโยชน์ที่ต้องการหรือสาระที่พึงประสงค์ วิธีคิดแบบนี้มีความสำคัญมากสำหรับการที่จะลงมือปฏิบัติธรรมหรือทำการตามหลักการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้ผลตรงตามความมุ่งหมาย ไม่กลายเป็นการกระทำที่เคลื่อนคลาด เลื่อนลอยหรืองมงาย ต้องมีความเข้าใจในความหมายและความมุ่งหมายของธรรมหรือหลักการนั้น ๆว่า ปฏิบัติหรือทำไปเพื่ออะไร ธรรมหรือหลักการนั้นกำหนดวางไว้เพื่อะไร จะนำไปสู่ผลหรือที่หมายใดบ้าง ทั้งจุดหมายสุดท้ายปลายทางและเป้าหมายท่ามกลางในระหว่างที่จะส่งทอดต่อไปยังธรรมหรือหลักการข้ออื่น ๆ  อันจะนำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องที่เรียกว่า “ธรรมานุธรรมปฏิบัติ”
                ๖. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก  เป็นการมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเน้นการยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้น ๆเป็นอยู่ในทุกแง่ทุกด้าน การคิดแบบนี้มีลักษณะพึงย้ำ ๒ ประการ คือ ประการแรก การที่จะชื่อว่ามองเห็นตามเป็นจริงนั้น จะต้องมองเห็นทั้งด้านดี ด้านเสีย หรือทั้งคุณและโทษของสิ่งนั้น ๆไม่ใช่มองแต่ด้านดีหรือคุณอย่างเดียว และไม่ใช่เห็นแต่โทษหรือด้านเสียอย่างเดียว ประการที่สอง เมื่อจะแก้ปัญหาหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพียงรู้คุณโทษหรือข้อดีข้อเสียของสิ่งที่เป็นปัญหาหรือภาวะที่ไม่ต้องการยังไม่เพียงพอ จะต้องมองเห็นทางออก มองเห็นจุดหมายและรู้ว่าจุดหมายหรือที่จะไปนั้นคืออะไร ดีกว่าและพ้นจากโทษ ข้อบกพร่อง จุดอ่อนหรือข้อเสียของสิ่งหรือภาวะที่เป็นปัญหานั้นได้จริงหรือไม่ ไม่พึงผลีผลามละทิ้งสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาหรือผลีผลามปฏิบัติโดยไม่ใช้สติปัญญาใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน
                ๗. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม เป็นวิคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา เป็นขั้นฝึกหัดขัดเกลากิเลสหรือตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจแล้วชักจูงพฤติกรรมต่อ ๆไป วิธีคิดแบบนี้ใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคปัจจัย ๔ และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ “คุณค่าแท้” หมายถึง ความหมาย คุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายในแง่ที่สนองความต้องการของชีวิตโดยตรงหรือที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตนเพื่อความดีงาม ความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิตหรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น คุณค่านี้อาศัยปัญญาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคา  ส่วน “คุณค่าเทียม” หมายถึง ความหมาย คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์พอกพูนให้แก่สิ่งนั้น เพื่อปรนเปรอการเสพเสวยเวทนาหรือเพิ่มเสริมราคาเสริมขยายความมั่นคงยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้ คุณค่านี้อาศัยตัณหาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคา ตัวอย่างเช่น คุณค่าแท้ของอาหาร คือ ประโยชน์สำหรับการหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก มีกำลังเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญกิจหน้าที่ ส่วนความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนาน เป็นเครื่องแสดงฐานะ ความโก้หรูหรา ถือเป็นคุณค่าเทียม  เป็นต้น
                ๘. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรมหรือเร้ากุศล  เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา หลักการของวิธีคิดแบบนี้มีอยู่ว่า ประสบการณ์คือสิ่งที่ได้ประสบหรือหรือได้รับรู้อย่างเดียวกัน บุคคลผู้ประสบหรือรับรู้ต่างกันอาจมองเห็นและคิดนึกปรุงแต่งไปคนละอย่าง สุดแต่โครงสร้างแนวทาง ความเคยชินต่าง ๆที่เป็นเครื่องปรุงของจิตคือสังขารที่ผู้นั้นได้สั่งสมไว้หรือสุดแต่การทำใจในขณะนั้น ๆ ของอย่างเดียวกันหรืออาการกิริยาเดียวกันคนหนึ่งมองเห็นแล้วคิดปรุงแต่งไปในทางดีงาม เป็นประโยชน์ เป็นกุศล แต่อีกคนหนึ่งเห็นแล้วคิดปรุงแต่งไปในทางไม่ดีไม่งาม เป็นโทษ เป็นอกุศล แม้แต่บุคคลคนเดียวกัน มองเห็นของอย่างเดียวกันหรือประสบอารมณ์อย่างเดียวกัน แต่ต่างขณะต่างเวลาก็อาจคิดเห็นปรุงแต่งต่างออกไปครั้งละอย่าง คราวหนึ่งร้าย คราวหนึ่งดี  ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องฝึกคิดแบบเร้ากุศล เพื่อทำให้เกิดความคิดและการกระทำที่ดีงาม เป็นประโยชน์ในขณะนั้น ๆ และเพื่อช่วยแก้นิสัยความเคยชินร้าย ๆของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิม  ตัวอย่างเช่น เวลาคิดถึงความตายหากคิดถูกวิธีก็จะเกิดกุศลธรรม คือ เกิดความรู้สึกตื่นตัว เร้าใจ ไม่ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติหน้าที่ ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ ประพฤติปฏิบัติธรรมตลอดจนรู้เท่าทันความจริงที่เป็นคติธรรมดาของสังขาร แต่หากคิดไปในทางอกุศลธรรมก็จะรู้สึกสลดหดหู่ เกิดความเศร้าโศกเสียใจหรือความหวาดหวั่นเสียวใจ เป็นต้น
                ๙. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน ความหมายของคำว่า การเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น มักจะมีผู้เข้าใจผิดโดยเห็นไปว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คิดถึงสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า สิ่งที่กำลังเป็นไปในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้คิดพิจารณาเกี่ยวกับอดีตหรืออนาคต ตลอดจนไม่ให้คิดเตรียมการหรือวางแผนงานเพื่อกาลภายหน้า ซึ่งไม่ถูกต้อง ลักษณะสำคัญของความคิดชนิดที่ไม่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ความคิดที่เกาะติดกับอดีตและเลื่อนลอยไปในอนาคต เป็นความคิดในแนวทางของ “ตัณหา” ตกอยู่ในอำนาจของ“อารมณ์” มีอาการหวนละห้อยโหยหาอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วหรือเคว้งคว้างเลื่อนลอยฟุ้งซ่านไปในภาพที่ฝันเพ้อปรุงแต่งซึ่งไม่มีฐานแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน ส่วนความคิดชนิดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการคิดในแนวทางของ “ความรู้” หรือคิดด้วยอำนาจแห่ง “ปัญญา” หมายถึง มีสติตามทันสิ่งที่รับรู้เกี่ยวข้องหรือต้องทำอยู่ในเวลานั้น ๆแต่ละขณะทุก ๆขณะ ถ้าคิดในแนวทางของความรู้หรือคิดด้วยอำนาจแห่งปัญญาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปอยู่ในขณะนี้หรือเป็นเรื่องล่วงไปแล้วหรือเป็นเรื่องของกาลภายหน้า ก็จัดเข้าในการเป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้น
                ๑๐. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท  หมายถึง การพูดแยกแยะ พูดจำแนกหรือพูดแจกแจง หรือแสดงคำสอนแบบวิเคราะห์ ลักษณะสำคัญของวิธีคิดแบบนี้คือ การมองและแสดงความจริงโดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่ละด้านครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ใช่จับเอาแง่หนึ่งแง่เดียวหรือบางแง่ขึ้นมาวินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างนั้นทั้งหมด แล้วตัดสินพรวดลงไป  วาทะที่ตรงข้ามกับวิภัชชวาท เรียกว่าเอกังสวาท แปลว่า พูดแง่เดียว คือ จับได้เพียงแง่หนึ่ง ด้านหนึ่งหรือส่วนหนึ่งก็วินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างเดียวทั้งหมดหรือพูดตายตัวอย่างเดียว
                  จากวิธีคิดทั้ง ๑๐ แบบดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า โยนิโสมนสิการเป็นวิธีคิดที่อยู่ในระดับเหนือ “ศรัทธา”  เพราะเป็นขั้นที่เริ่มใช้ความคิดของตนเองอย่างเป็นอิสระ มุ่งเน้นการใช้ “ปัญญา” รู้จักคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดตรงตามสภาวะและเหตุปัจจัย ไม่มองเห็นสิ่งต่าง ๆอย่างตื้น ๆผิวเผิน โยนิโสมนสิการจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการพัฒนาปัญญาและการคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือสังคมส่วนรวม
กล่าวเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยผู้ร่างที่มีปัญญาในขั้นสูง มีความรู้ความเข้าใจในหลักคิดแบบโยนิโสมนสิการอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง โจทก์ใหญ่สำคัญสำหรับสังคมไทยตอนนี้จึงได้แก่ เราจะมีกระบวนการหรือวิธีการอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ร่างที่มีคุณสมบัติที่ดีดังกล่าวได้
ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าเราจะใช้วิธีการอย่างไรย่อมมีทั้งข้อดีข้อเสีย มีจุดอ่อนจุดแข็งทั้งสิ้น ซึ่งผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงในรายละเอียด เพราะไม่ใช่จุดประสงค์หลักของบทความนี้ แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่าโดยที่ในทางพระพุทธศาสนามองว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีสมองมีสติปัญญา สามารถฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้และหากมนุษย์พยายามฝึกตนอย่างถูกหลักถูกวิธีก็จะสามารถพัฒนาได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น ไม่ว่าเราจะมีกระบวนการหรือวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กันอย่างไร หากคณะ ส.ส.ร.ที่ได้รับเลือกมีความเชื่อมั่นศรัทธาในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแท้จริง  ทุกคนย่อมมีศักยภาพความรู้ความสามารถในการที่จะนำเอาหลักคิดแบบโยนิโสมนสิการไปปรับใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิภาพได้
ก็ขอฝากความหวังล่วงหน้าไว้กับคณะ ส.ส.ร.ที่จะได้รับเลือกในอนาคตอันใกล้นี้ว่า ไม่ว่าท่านจะเป็น ส.ส.ร. ประเภทไหน ได้รับเลือกมาด้วยวิธีการอย่างไร ขอได้โปรดพึงระมัดระวังอย่าให้ความคิดแบบ “อโยนิโสมนสิการ” เข้าครอบงำ อย่างน้อยที่สุดต้องทำหน้าที่โดยปราศจากอคติทั้งสี่ คือ ไม่ผูกมัดยึดติดกับความรัก ความเคารพศรัทธา (ฉันทาคติ)  ความโกรธแค้นไม่พอใจ (โทสาคติ) ความกลัวภัยอันตรายที่จะตามมา (ภยาคติ) ความไม่รู้ คิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ทั้ง ๆที่ ประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวมเป็นสิ่งเดียวกัน (โมหาคติ)  ขอได้โปรดคิดใคร่ครวญและตัดสินใจในทุกเรื่องทุกประเด็นด้วยพื้นฐานของความจริง ความถูกต้องดีงาม พิจารณาให้ตรงตามสภาวะและเหตุปัจจัยแห่งธรรม ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกหรือความอยากความต้องการของตนเองหรือกลุ่มพวกตนเองเป็นที่ตั้ง หากทำเช่นนี้ได้ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งอย่างแน่นอน และไม่แน่ว่าท่านอาจจะได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่าเป็นคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับสุดท้ายก็เป็นได้./