1/06/2555

ปรากฎการณ์ Occupy Wall Street

ปรากฎการณ์ Occupy Wall Street
                                              โดย...โสต   สุตานันท์

            ในยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จะมีขอบเขตกว้างขวางเหนือสิทธิเสรีภาพของเอกชนมากมาย  จึงมีนักคิดนักปราชญ์พยายามใช้ปัญญาเสาะแสวงหาเครื่องมือที่จะนำไปใช้ต่อสู้กับพลังอำนาจรัฐ ซึ่งในที่สุดก็สามารถค้นพบสิ่งวิเศษที่เรียกกันว่า ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ  ทฤษฎีเสรีนิยมทางการเมือง และทฤษฎีเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ  ซึ่งที่ผ่านมาก็นับได้ว่าเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ที่ทรงพลานุภาพอย่างยิ่ง
         อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไปสองร้อยกว่าปี แนวคิดทฤษฎีดังกล่าวเริ่มกลายเป็นตัวปัญหาไปเสียแล้ว เพราะสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน องค์กรเอกชนหรือบุคคลสมมุติที่เรียกกันว่า “นิติบุคคล” มีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐมากมาย บริษัทข้ามชาติหลายแห่งมีมูลค่าทรัพย์สินเงินทองมากกว่างบประมาณแผ่นดินในหลายประเทศ สามารถควบคุมกลไกเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศต่าง ๆทั่วโลกได้เกือบทั้งหมด แม้แต่ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองของประเทศในโลกเสรีทั้งหลายก็มีที่มาหรือได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจนายทุนขนาดใหญ่กันทั้งสิ้น ความมั่นคงของกลุ่มธุรกิจนายทุนจึงหมายถึงความมั่นคงของรัฐ นั่นจึงเป็นที่มาของเหตุผลที่ว่า เพราะเหตุใด ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงต้องตัดสินใจใช้เงินภาษีอากรไปปกป้องอุ้มนายทุน ไม่ยอมให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆล้มละลาย  และเพราะเหตุใดรัฐบาลไทยจึงทุ่มเทสรรพกำลังสุดชีวิตเพื่อปกป้องคุ้มครองนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆให้รอดพ้นจากมหันตภัยน้ำท่วมและเมื่อไม่สามารถป้องกันรักษาไว้ได้เราจึงเห็นภาพรองนายกรัฐมนตรีไทยยืนร้องไห้กอดกับนักธุรกิจญี่ปุ่น
             นอกจากนั้น แนวคิดทฤษฎีดังกล่าวยังส่งผลกระทบเสียหายต่อมนุษย์โลกในในเรื่องอื่น ๆอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น
                ๑. การเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพส่วนตัวของปัจเจกบุคคลมากเกินไป ย่อมก่อให้เกิดความแตกต่างเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มคนที่มีศักยภาพหรือพื้นฐานฐานะความเป็นอยู่ดีหรือมีสายป่านที่ยาวไกลก็จะยิ่งได้เปรียบในลักษณะเป็นเท่าทวีคูณ ขณะที่คนซึ่งอยู่ในฐานะเสียเปรียบอยู่แล้วก็จะยิ่งเสียเปรียบย่ำแย่เป็นเท่าทวีคูณอีกเช่นกัน  อย่างเช่น  การซื้อที่ดินซึ่งมีราคา ๓ ล้านบาท คนรวยอาจจ่ายเงินตามราคา ๓ ล้านบาท เพราะซื้อเงินสด แต่คนที่มีฐานะด้อยกว่า อาจต้องจ่ายมากถึง ๔-๕ ล้านบาท เพราะต้องบวกดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารเข้าไปด้วย หรือคนที่มีร้านค้าหรือที่นาเป็นของตนเองย่อมได้เปรียบคนที่ทำมาหากินด้วยการเช่าอาคารร้านค้าหรือเช่าที่นาคนอื่นทำอย่างมากมาย ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ร้านขายของชำหรือร้านโชว์ห่วยขนาดเล็กจะทยอยล้มหายตายจากและสูญพันธ์ไปในที่สุด โอกาสทางการศึกษาก็ยิ่งนับวันจะห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน คุณธรรมจริยธรรมจะลดน้อยถอยลงเป็นสัดส่วนผกผันกัน คนที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นที่จะอยู่รอด มือใครยาวสาวได้สาวเอา ฯลฯ
            ท้ายที่สุดทุกคนจะอยู่ในสภาพอ่อนล้าเหนื่อยแรงและเป็นทุกข์  เพราะโดยสภาพเงื่อนไขของการต่อสู้แข่งขันทุกคนจะหยุดไม่ได้ หยุดเมื่อไหร่ก็แพ้เมื่อนั้น ขณะเดียวกันคนที่แพ้ก็จะกลายเป็นภัยคุกคามผู้ชนะในรูปแบบต่าง ๆไม่ให้มีโอกาสดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขได้  และที่สำคัญภายใต้ภาวะการณ์ของกฎเกณฑ์กติกาเช่นนี้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วรุนแรงและมากมายมหาศาล เพราะจะมีการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการเสพย์บริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัดและฟุ่มเฟือยไร้เหตุผล โดยไม่อาจหามาตรการ    ใด ๆมาทัดทานหรือระงับยับยั้งอย่างมีประสิทธิภาพได้  ผลที่สุดมนุษย์ทั้งโลกก็จะก้าวไปสู่ความพ่ายแพ้ร่วมกัน       ๒. การเปิดโอกาสให้มีสิทธิเสรีภาพหรือการแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวางโดยไม่มีการจำกัดขอบเขตที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่คำนึงถึง “หน้าที่” ในการเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น (ซึ่งควรจะต้องพึงตระหนักอยู่เสมอเมื่อคำว่า “สิทธิเสรีภาพ” ผุดขึ้นในสมอง) นั้น ก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญตามมา คือ มีการรุกล้ำล่วงเกินสิทธิเสรีภาพของกันและกันเพิ่มมากขึ้นและทวีความรุนแรงเป็นลำดับ ซึ่งแน่นอนว่า การพยายามตอบโต้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตนเองของแต่ละคนย่อมมีมากขึ้นและยิ่งทวีความรุนแรงอีกเช่นกัน  ผลที่ตามมาคือ ความขัดแย้งบาดหมาง การกระทบกระทั่ง การต่อสู้ทำลายล้างกันของผู้คนในสังคมจะมีมากขึ้นและแผ่ขยายลุกลามออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากสังคมใดไม่รีบคิดหามาตรการปรับปรุงแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะก้าวไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า “มิคสัญญีกลียุค” บ้านเมืองไร้ขื่อแป ในท้ายที่สุด 
            นอกจากนั้น ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ สภาพการณ์ดังกล่าว จะส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน” หรือ  “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” และความเชื่อมั่นของผู้คนในสังคมที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” จะค่อย ๆเสื่อมคลายลงไปเรื่อย ๆ เหตุผลเพราะว่า ในทุกสังคมย่อมมีทั้งคนดีมาก ดีน้อย ดีปานกลาง มีคนชั่วมาก ชั่วน้อย ชั่วปานกลาง มีคนดีในแง่มุมหนึ่งแต่ไม่ดีในอีกแง่มุมหนึ่ง หรือไม่ดีในแง่มุมหนึ่งแต่ดีในอีกแง่มุมหนึ่ง และในโลกนี้ย่อมไม่มีใครที่ไม่เคยผิดพลาด มีปมด้อย ข้อเสียหรือมลทินด่างพร้อย  ซึ่งปกติส่วนใหญ่คนที่มีสัดส่วนน้ำหนักแห่งคุณความดีมากกว่ามักจะหน้าบางและอ่อนไหวง่าย ขณะที่คนซึ่งมีสัดส่วนความชั่วมากกว่ามักจะหน้าหนาไร้ยางอาย
            เมื่อเกิดการเผชิญหน้าต่อสู้กันในเรื่องของการรุกล้ำและการปกป้องสิทธิเสรีภาพของกันและกัน คนดีมากกว่าจึงมักจะเลือกวิถีแห่งชัยชนะด้วยการยอมเสียสละ ให้อภัยและปล่อยวางหรือถือคติที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”  “ไม่อยากเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ” หรือ “หมากัดอย่ากัดตอบ” (แต่ในสายตาของผู้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการยอมแพ้) เสียงของคนดีในสังคมจึงค่อย ๆเงียบลง ๆ ขณะเดียวกันเสียงของคนชั่วจะเริ่มดังขึ้น ๆเรื่อย ๆ โดยใช้จุดอ่อนของมนุษย์ส่วนใหญ่คือ กิเลสความต้องการที่เรียกว่า “ตัณหา” เป็นเครื่องมือในการเสาะแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ผลที่สุดเหล่ากังฉินย่อมครองเมืองเรืองอำนาจ ความเดือดร้อนเสียหายและความอยุติธรรมก็จะแผ่ขยายปกคลุมไปทุกหย่อมหญ้า
            อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศอาจมีกลุ่มคนดีจำนวนหนึ่งซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากยิ่งกว่าที่กล้าหาญชาญชัยลุกขึ้นมากู่ตะโกนร้องด้วยเสียงอันดังและต่อสู้ตอบโต้สิ่งที่เห็นว่าชั่วร้าย โดยไม่เกรงกลัวภัยอันตรายใด ๆ แต่ผลที่มักจะตามมาก็คือ พลังความคิดเชิงลบจะค่อย ๆแทรกซึมครอบงำสะสมเข้าไปในความคิดและจิตใจของเขาเหล่านั้นทีละเล็กละน้อยๆ เมื่อถึงจุด ๆหนึ่งก็จะไม่สนใจวิธีการว่ามีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ขอให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จเป็นพอ  มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ตั้งปณิธานแน่วแน่ที่จะยืนหยัดต่อสู้ตามครรลองอันถูกต้องชอบธรรมภายใต้กฎเกณฑ์กติกาของกฎหมายบ้านเมืองอย่างมั่นคง แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ  ท้ายที่สุด ความขัดแย้งวุ่นวาย การต่อสู้ห้ำหั่นทำลายร้างกันอย่างรุนแรงก็จะเกิดขึ้น และเสียงปืนของทหารก็อาจดังกึกก้องขึ้นมากลบเสียงทั้งของคนดีและคนไม่ดี โดยยากที่จะหยั่งทราบได้ว่า คนที่ถืออาวุธปืนอยู่ในมือนั้นเป็นคนดีหรือไม่ดี และสังคมก็จะตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งวุ่นวายสับสนอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น
            จากสภาพปัญหาดังที่กล่าวมา  จึงเชื่อว่าปรากฏการณ์สำคัญที่จะเกิดมีขึ้นในโลกนับต่อแต่นี้ไปก็คือ การต่อสู้เรียกร้องให้รัฏฐาธิปัตย์เรียกอำนาจกลับคืนมา ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจนายทุนขนาดใหญ่อีกต่อไป ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ด้วยการจุดประกายของกลุ่มคนที่เรียกกันว่า “Occupy Wall Street และกำลังแผ่ขยายไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ คำถามก็คือว่า จะนำหลักคิดอุดมการณ์หรือแนวคิดทฤษฎีใดไปใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรื่องดังกล่าว เพราะลำพังการหยิบยกเอาปรากฏการณ์หรือการกล่าวอ้างถึงผลกระทบเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับขึ้นเป็นเครื่องมือต่อสู้ดังเช่นที่ปรากฏตามข่าว คงไม่มีประสิทธิภาพและทรงพลังมากพอที่จะต่อกรกับอำนาจอิทธิพลที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่เหนือรัฐได้อย่างแน่นอน
            ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ปัจจุบันระบบทุนนิยมเสรีที่ไร้ขอบเขตได้ถลำลึกและสร้างปัญหาใหญ่โตจนยากเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประหนึ่งจะคิดแก้ไขเยียวยาได้แม้แต่เฉพาะในประเทศของตนเอง  เพราะสภาพปัญหามีความโยงใยเกี่ยวพันกันไปทั่วโลก และคงเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จะทำให้ทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันหรือคิดร่วมมือร่วมใจเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว  เนื่องจากสภาพปัญหาของแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเมืองภายใน และไม่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไร ย่อมมีทั้งฝ่ายที่ได้เปรียบเสียเปรียบเสมอ คงไม่มีใครยอมใครง่าย ๆ  เพราะฉะนั้น โดยกลไกของระบบย่อมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากรัฐต้องตัดสินใจอุ้มกลุ่มธุรกิจนายทุนและส่งเสริมสนับสนุนการเสพย์บริโภคอย่างไม่บันยะบันยังกันต่อไป จนกว่ารัฐจะอุ้มไม่ไหวหรือประชาชนลุกฮือขึ้นใช้กำลังล้มล้างระบบหรือจนกว่าทรัพยากรธรรมชาติจะถูกทำลายไปจนหมดสิ้น 
            อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยเรานั้น เนื่องจากเรามีระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเล็กหากเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจโลก อีกทั้งประเทศเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์หลากหลายและยังมีปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆที่เอื้ออำนวยเกื้อกูล ดังนั้น หากเรารู้สึกตัว รู้ความจริง รู้ข้อมูลสภาพปัญหา การกลับตัวกลับใจใช้สติปัญญามองหาหนทางใหม่ที่ถูกต้องดีงาม ไม่หลงเดินตามหลังฝรั่งไปสู่ห้วงเหวลึกอันตรายเหมือนเช่นที่ผ่านมา สถานการณ์ตอนนี้ก็น่าจะยังไม่สายเกินแก้ ถึงแม้อาจจะต้องได้รับผลกระทบเสียหายไม่น้อยจากภัยสึนามิทางเศรษฐกิจก้อนโตมหึมาที่คาดว่าคงจะเกิดขึ้นภายในเวลาอันไม่ช้าไม่นานนี้อย่างแน่นอน แต่หากเราเตรียมพร้อมวางแผนตั้งรับให้ดี ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติปัญหาอันใหญ่หลวงไปได้
            ความเดือดร้อนเสียหายมากมายมหาศาลซึ่งเกิดจากมหาอุทกภัยที่ประเทศไทยเรากำลังประสบกันอยู่ในขณะนี้ หากคิดดูให้ดีตามหลักอิทัปปัจจยตาก็จะพบว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็มีผลสืบเนื่องมาจากอิทธิพลครอบงำของแนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจเสรีที่ไม่มีขอบเขตข้อจำกัดอันเหมาะสมนั่นเอง ดังนั้น เราน่าจะถือเอาวิกฤตปัญหาครั้งนี้มาเป็นโอกาสด้วยการระดมสมองระดมสติปัญญาของคนทั้งชาติ เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันทบทวนตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจังว่า ทิศทางอนาคตของเราจะเดินไปทางไหน อย่างไร  ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า หนทางรอดของเรามีอยู่เพียงวิถีทางเดียวเท่านั้น คือ การเดินตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า การพยายามกอบกู้หรือแก้ไขฟื้นฟูประเทศให้เป็นเหมือนเดิม แล้วเดินต่อไปในเส้นทางเดิมน่าจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมอีกต่อไป./

                                                                   ---------------------------



อนาคตสังคมไทย หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อนาคตสังคมไทย หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  [1]
                                                                                                         โดย...โสต  สุตานันท์

                         ไม่ว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ขณะนี้  จะมีกฎเกณฑ์ เงื่อนไขกติกาอย่างไร    จะผ่านการลงประชามติของประชาชนให้มีผลบังคับใช้หรือไม่  และไม่ว่านับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป   จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม    แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่า  จะต้องเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแน่นอนก็คือ   ประเทศไทยต้องมี  รัฐธรรมนูญฉบับที่  ๑๘  และรัฐต้องจัดให้มีการ  เลือกตั้ง     
                          ปัญหาก็คือว่า    หลังการเลือกตั้ง   สังคมไทยจะเป็นอย่างไร   จะดีขึ้น หรือแย่ลง    ความขัดแย้ง  ความร้าวฉาน  และปัญหาต่าง ๆที่เคยเกิดขึ้นในสังคม และยังคงเป็นอยู่ ณ  เวลานี้   จะมีโอกาสได้รับการแก้ไขเยียวยาให้บรรเทาเบาบางลง  หรือจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
                         ผู้เขียนไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย   แต่ก็เชื่อว่า   คนไทยทุกคนคงมีความรู้สึกไม่แตกต่างไปจากผู้เขียน   คือ   รู้สึกเป็นห่วง รู้สึกวิตกกังวล และยังมองไม่เห็นแสงสว่างสำหรับอนาคตเท่าไหร่นัก    เพราะนับตั้งแต่วันที่  ๑๙  กันยายน  ๒๕๔๙  เป็นต้นมา    ปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆในสังคมไทย  ดูเหมือนจะยังไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น    ซ้ำร้ายปัญหาในบางเรื่อง  ยังส่อเค้าว่า  จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทยในอนาคตมากขึ้นไปอีก 
                         จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เหมือนเช่นทุกวันนี้    ผู้เขียนคาดเดาว่า   หลังการเลือกตั้ง   ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะ   ปัญหาในเรื่องความขัดแย้งทางความคิดของสังคมไทยก็คงจะยังมีอยู่ต่อไป   เพราะตราบใด   ที่อำนาจและผลประโยชน์ของคนในสังคมแต่ละกลุ่ม แต่ละองค์กร แต่ละสถาบัน   ยังไม่สามารถประนีประนอมหรือประสานผลประโยชน์กันได้อย่างลงตัว   ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ที่ปัญหาจะได้รับการเยียวยาแก้ไข
                        ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง  ที่รู้สึกเป็นห่วงและวิตกกังวลกับอนาคตของชาติบ้านเมืองเหมือนเช่นคนไทยทุกคน    ผู้เขียนจึงขอเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะในการหาหนทางเยียวยาแก้ไขปัญหา  ดังจะกล่าวต่อไปนี้   คือ
              ก่อนอื่นผู้เขียนขอแสดงทรรศนะในเบื้องต้นก่อนว่า    ผู้เขียนเชื่อว่า  ทุกประเทศในโลกนี้  มีทั้งคนดีและคนไม่ดี  ประเทศไทยก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี   ทุกจังหวัดไม่ว่ากรุงเทพหรือต่างจังหวัด  ทุกอำเภอ ทุกตำบล  ทุกหมู่บ้าน  ก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี  หรือแม้กระทั่งตัวเราเองทุกคนก็มีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัว  บางครั้งเราก็รู้สึกว่า  เราเป็นคนดี มีน้ำใจอย่างมาก  แต่บางครั้งเราก็รู้สึกว่า   เราเป็นคนที่เห็นแก่ตัวอย่างมากเช่นกัน
             ผู้เขียนเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมี ๒  ฟากอยู่ในตัวเสมอ คือ ฟากมืดกับฟากสว่างหรือด้านดีกับด้านไม่ดี    ทุกคนมีรัก  โลภ   โกรธ  หลง มีกิเลส ตัณหา กันทั้งนั้น   คนดีหรือไม่ดีน่าจะวัดกันตรงที่ใครสามารถควบคุมตัวเอง  ควบคุมอารมณ์รัก  โลภ  โกรธ  หลง  ควบคุมกิเลส ตัณหา ไม่ให้แสดงออกมาได้มากกว่ากัน   ใครควบคุมตัวเองได้มากก็เป็นคนดีมาก   ใครควบคุมตัวเองได้น้อยก็เป็นคนดีน้อย  ซึ่งการที่มนุษย์แต่ละคนจะควบคุมตัวเองได้มากน้อยอย่างไรนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย เงื่อนไข ต่าง ๆมากมายหลายประการ
           ในมุมมองของผู้เขียน  เห็นว่า  ในทางโลกนั้น  หากเราจะแยกดีแยกชั่วกัน  ก็อาจจะแยกได้เพียงว่า  ใครดี  ใครชั่ว  มากน้อยกว่ากันเท่านั้น   คงไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนว่า   คนนี้เป็นคนดี  คนนั้นเป็นคนชั่ว  และความดี ความชั่วก็มีมากมายหลายเรื่อง หลายรูปแบบ  นักโทษที่อยู่ในคุกบางคนอาจจะซื่อสัตย์ต่อลูกเมีย  อาจยึดถือสัจจะมากกว่าผู้ทรงเกียรติ์ทั้งหลายบางคนก็เป็นได้
          ปัญหาว่า  เมื่อแผ่นดินไทยผืนนี้  มีทั้งคนดีและคนไม่ดีอาศัยอยู่ มีทั้งคนดีมาก  ดีน้อย  ชั่วมาก  ชั่วน้อย   ปะปนกันไป    แล้วเราจะทำอย่างไร     เราจะไล่คนชั่วออกจากประเทศไปหรือ  หากต้องการไล่คนชั่วออกไป   ถามว่า  ชั่วเท่าไหร่ล่ะ  ชั่วอย่างไรล่ะ เราถึงจะไม่ยอมให้เขาอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้   และที่สำคัญ  ใครจะเป็นคนตัดสินว่า  ใครชั่วมากชั่วน้อยอย่างไร และจะเอาเกณฑ์อะไรมาชี้วัดกัน   ในมุมมองของผู้เขียน   เห็นว่า  ถึงแม้คนบางคนจะชั่วจะเลวอย่างไร   เขาก็มีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในแผ่นดินผืนนี้   เราไม่มีสิทธิ์ไปขับไล่เขา  แต่หากเขาอยู่แล้ว  สร้างปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น  สังคมเราก็มีตัวบทกฎหมายที่สามารถใช้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการกับคนเหล่านั้นได้ 
          ผู้เขียนเห็นว่า  หลักการหรือแนวคิดในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น  น่าจะยึดหลักว่า   เราจะทำอย่างไรให้คนดีกับคนไม่ดีสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้โดยให้มีปัญหาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  (ขอไม่ใช้คำว่า  ไม่ให้มีปัญหา  เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้)    เราต้องไม่แยกดี แยกชั่ว   ถ้าเราพยายามแยกดีแยกชั่วเมื่อไหร่   แน่นอนว่า   ความขัดแย้ง  ความรุนแรง และความวิบัติย่อมตามมา  เพราะจริง ๆแล้ว  ไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองชั่วหรอก   ไม่เชื่อท่านลองไปถามนักโทษในเรือนจำดู จะมีซักกี่คนที่ยอมรับว่าตัวเองเลว  ตัวเองชั่ว ทุกคนมีข้อแก้ตัว  มีข้ออ้างถึงเหตุจำเป็นที่ทำผิดกันทั้งนั้น 
           ปัญหาสำคัญที่สุดของเราตอนนี้ คือ  ความแตกแยกในสังคม   ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องช่วยกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็คือ   การสร้างความปรองดอง  การสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนในชาติ   ผู้เขียนขอตั้งข้อสมมุติฐานว่า  ไม่ว่าเราจะแบ่งกลุ่มคนในสังคมออกเป็นกี่พวก กี่ฝ่าย ก็ตาม  แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า  ทุกกลุ่มทุกฝ่าย  มีทั้งคนดีมาก ดีน้อย  ดีปานกลาง   มีคนชั่วมาก  ชั่วน้อย และชั่วปานกลาง ปะปนกันไป     ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีคนที่มีอารมณ์ รัก  โลภ   โกรธ   หลง   มีโทสะ  โมหะ หรือมีกิเลส   ตัณหา  มากน้อยคละเคล้ากันไป  
             ดังนั้น  ผู้เขียนจึงขอเสนอทางออกว่า   ฝ่ายที่คิดว่าตนเองเป็นคนดี  ไม่ว่าจะดีมากหรือดีน้อย (ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า   ทุกฝ่ายต้องคิดว่าตนเองดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่งทั้งนั้น)   ต้องจับมือกับฝ่ายที่ตนเองเห็นว่า  เป็นคนชั่ว  เป็นคนไม่ดี เพื่อสงบศึกกันก่อน   จากนั้น  เราค่อยหันหน้ามาคุยกันว่า   ไหน ๆเราก็ต้องอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ ไม่สามารถแยกจากกันได้  เรามาช่วยกันคิด  ช่วยกันหาทางออกซิว่า   ในอนาคตเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร  เราจะสร้างกฎเกณฑ์กติกาอย่างไรในการอยู่ร่วมกัน   เพื่อให้มีปัญหาระหว่างกันน้อยที่สุด 
              สำหรับเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมานั้น   หากไม่ใช่ความผิด  ความชั่ว ที่ร้ายแรงอะไรนัก  พอจะให้อภัยกันได้  ก็ให้อภัยกันไป  แต่ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องที่ ร้ายแรง  ก่อให้เกิดความเสียหาย  ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง  ยากที่จะให้อภัยกันได้   ก็นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายหรือกระบวนการอื่นใดที่โปร่งใสและเป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้    จากนั้น  ก็ให้เรื่องมันดำเนินไปตามกระบวนการของมัน
            ในการรัฐประหารเมื่อวันที่  ๑๙   กันยายน  ๒๕๔๙ ที่ผ่านมานั้น  ผู้เขียนเชื่อว่า   แท้จริงแล้วทหารคงไม่อยากทำหรอก     เพราะน่าจะรู้ดีว่า   ในโลกของยุคโลกาภิวัฒน์ ที่กระแสในเรื่องของประชาธิปไตยได้แผ่ขยายครอบคลุมไปทุกหย่อมหญ้า  ทหารคงไม่สามารถยึดกุมอำนาจไว้หรือพยายามสืบทอดอำนาจได้โดยง่ายเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา   ผู้เขียนไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ว่า  การปฏิวัติของทหาร มีความถูกต้อง  ชอบธรรม หรือไม่  อย่างไร  เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ประสงค์จะนำเสนอในบทความนี้    แต่ผู้เขียนก็ขอตั้งข้อสังเกตไว้ประการหนึ่งว่า   ไม่ว่าการปฏิวัติของทหารจะผิด จะถูกหรือไม่   อย่างไร   แต่จากการติดตามสถานการณ์บ้านเมืองก่อนการปฏิวัติ    ผู้เขียนมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่า    ทหารและบุคคลต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ   ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม  มีความบริสุทธิ์ใจ  มีความตั้งใจจริงที่ต้องการจะเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง        
                        ไหน ๆเรื่องก็ผ่านไปแล้ว    ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้  คงไม่มีประโยชน์อันใดที่เราจะมัวไปนั่งคิดถึงเรื่องในอดีตว่า  มันถูก หรือผิด อย่างไร     สิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญ คือ  เราจะจัดการกับอนาคตของเราอย่างไรมากกว่า  
             หากผู้อ่านย้อนคิดทบทวนถึงเหตุการณ์ต่าง ๆก่อนมีการปฏิวัติ  ก็จะเห็นว่า    การแสดงออกซึ่งความขัดแย้งในทางความคิด ความเห็นของคนในสังคมแต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่าย  ได้เริ่มก่อตัวขึ้นทีละเล็ก ละน้อย  และขยายตัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆเป็นลำดับ และมีหลายฝ่ายพยายามออกมาแสดงความคิด  ความเห็น เพื่อหาทางออก  เพื่อคลี่คลายปัญหา  แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความแตกแยกร้าวฉานได้ 
          หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า   การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์  ๒๕๔๙   เป็นโมฆะ  ความขัดแย้งในทางความคิดของคนในสังคมได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก  และส่อเค้าลางว่า   อาจจะเกิดการนองเลือด  เกิดสงครามการเมือง    ซึ่งก็มีหลายคน  หลายฝ่าย   พยายามเสนอแนวทางให้มีตัวกลางซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับนับถือ  เข้าไปช่วยเหลือไกล่เกลี่ยหาทางออกให้      แต่ก็ปรากฏว่า    แต่ละฝ่ายต่างก็แสดงออกถึงการไม่ยอมกัน มีทิฐิ  ตั้งเงื่อนไข และใช้วาจาเชือดเฉือนกันในทางการเมือง    จนท้ายที่สุดก็ไม่มีเวทีสำหรับการหันหน้าเข้าหากัน  เพื่อเจรจาหาข้อยุติได้  และต้องรบกวนถึงเบื้องพระยุคลบาท   โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงมีพระราชดำรัสให้คำแนะนำ  เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้   ดังที่ทราบกันอยู่  และสุดท้ายก็จบลงด้วยการปฏิวัติ
            จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น   ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว   ผู้เขียนเห็นว่า   หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ    หากความขัดแย้งในทางความคิดของคนในสังคมยังคงดำรงอยู่เหมือนเช่นทุกวันนี้  และเราไม่มีระบบรองรับ  เพื่อจัดการให้ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน  ไม่ว่าฝ่ายใด  ได้มีโอกาสหันหน้าเข้ามาปรึกษาหารือ หรือจับเข่าคุยกันได้     สังคมไทยก็อาจจะก้าวเดินไปสู่สถานการณ์ที่เรียกกันว่า วิกฤตที่สุด  อีกครั้งหนึ่ง   ซึ่งอาจจะเลวร้ายมากกว่าเหตุการณ์ก่อนการปฏิวัติเมื่อวันที่  ๑๙   กันยายน  ๒๕๔๙  ก็เป็นได้ 
             ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอว่า     ในการร่างกฎหมายรัฐธรรม   ควรที่จะบัญญัติหาทางออกในเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย     โดยน่าจะบัญญัติไว้ในทำนองว่า    หากเกิดปัญหาวิกฤติในเรื่องความขัดแย้งของคนในชาติอย่างรุนแรง   จนไม่สามารถหาทางออกตามกลไก  ตามกระบวนการ  ครรลองปกติของกฎหมายได้  ให้องค์กรหรือสถาบันหลักสำคัญ ๆของชาติ   เป็นต้นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ   บริหาร   ตุลาการ   ฝ่ายการศาสนา  หรือ องค์กรหรือสถาบันอื่นใดที่เห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็น     ให้ส่งผู้แทนเข้าไปเป็นคณะกรรรมการร่วมกันเพื่อเป็นตัวกลาง  ในการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างกลุ่มขัดแย้งต่าง ๆและช่วยกันพิจารณาหาทางออกให้กับสังคม        
            ผู้เขียนเห็นว่า   แม้บางครั้ง คำว่า  ความระเอียดรอบคอบ  จะใกล้เคียงกับคำว่า ความฟุ้งซ่านเกินเหตุ  จนยากจะแยกออกจากกันได้โดยง่าย    แต่เรื่องที่สำคัญและใหญ่หลวงเช่นนี้   เราน่าจะยึดหลักสุภาษิตที่ว่า   กันไว้   ดีกว่าแก้    เพราะหากเราปล่อยให้สถานการณ์ย่ำแย่แล้ว  เราอาจจะแก้ปัญหากันไม่ทัน ./ 
                                                --------------------------------------------------
หมายเหตุ   -    ต่อมาคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา  ๖๘  วรรคสอง  ว่า     ในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤต  เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง  ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ประธานวุฒิสภา  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ประธานศาลฎีกา  ประธานศาลปกครองสูงสุด และประโนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว      ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง  โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว     ผู้เขียนจึงได้ส่งความเห็นเพิ่มเติมไปยังสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้  คือ    
      ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวคิดที่ให้ผู้นำองค์กรต่าง ๆประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติ  ตามร่างรัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๖๘  วรรคสอง  แต่ผู้เขียนขอเสนอความเห็นและตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม  ดังนี้   คือ
๑.)      ควรกำหนดเจ้าภาพที่จะเรียกประชุมให้ชัดเจน   โดยอาจแบ่งการ
ประชุมเป็น  ๒   ขั้นตอน   คือ
ขั้นตอนแรก   -   เป็นการเรียกประชุมเพื่อพิจารณาลงมติก่อนว่า   
สถานการณ์ถึงขั้นวิกฤตที่จะต้องร่วมกันพิจารณาหาทางออกให้กับประเทศชาติหรือยัง
ขั้นตอนที่สอง  -   เป็นการเรียกประชุมหลังจากผ่านการพิจารณา
ขั้นตอนแรกแล้วว่า   สถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤตจริง
๒.)    ไม่ควรบัญญัติในลักษณะให้มติที่ประชุมมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
ได้ทันที   เพราะคงก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย    แต่ควรนำประเด็นตามความเห็นของมติที่ประชุมไปทำประชาพิจารณ์  หรือ ให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติก่อน     ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า  หากมติที่ประชุม  เป็นมติที่มีเหตุมีผล  และเป็นทางออกที่ดีของประเทศชาติได้   ก็เชื่อว่า   เสียงส่วนใหญ่ก็คงลงมติเห็นด้วย 
       หรือหากท้ายที่สุด  ประชาชนจะมีมติไม่เห็นด้วย   แต่อย่างน้อยก็เป็นการถ่วงเวลาไว้ระยะหนึ่ง  เพื่อให้ทุกคนได้หยุดคิด  ได้ระงับอารมณ์   ได้มีสติ  และได้มีโอกาสถกเถียงปัญหาร่วมกัน   เพื่อจะได้นำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาในวิถีทางอื่นต่อไป   
      นอกจากนั้น   กระบวนการดังกล่าว   ยังน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง   ในแง่ของการพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย





[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลงลงวันที่ ๓   เมษายน  ๒๕๕๐.

สังคมไทย กับ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สังคมไทย กับ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่[1]
                                                                      โดย...โสต  สุตานันท์

           มีนักปราชญ์  นักกฎหมายคนสำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังหลายท่าน   เคยกล่าวไว้ว่า    สังคมในอุดมการณ์ คือ  สังคมที่มีกฎหมายน้อยที่สุด  หรือหากไม่มีเลย  ก็จะเป็นสังคมในฝันที่มนุษย์โลกพึงปรารถนา   สังคมไหนพยายามออกกฎหมายมาบังคับใช้มาก ๆนั่นคือ  สัญญาณที่บ่งบอกว่า   สังคมนั้นกำลังมีปัญหามากขึ้นเรื่อย  ๆ จากสถานการณ์บ้านเมืองของเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้    คงไม่มีใครโต้แย้งว่า   แนวคิดดังกล่าวไม่เป็นความจริง
           กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี  พ.ศ. ๒๕๔๐   มีทั้งหมด  ๓๓๖   มาตรา   ซึ่งถือว่า   ค่อนข้างยาวมาก   หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของประเทศอื่น ๆในโลก   เข้าใจว่า  น่าจะอยู่ในอันดับต้น ๆ  นอกจากนั้น  กฎหมายลูกต่าง ๆของเราก็มีมากมาย  เฉพาะพระราชบัญญัติตอนนี้ก็มีอยู่กว่า  ๗๐๐ ฉบับ
            เพราะเหตุใด  กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงเขียนไว้ค่อนข้างยาว  ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า   สาเหตุสำคัญน่าจะเนื่องมาจาก     ผู้ร่างกฎหมายมีแนวคิดโดยตั้งข้อสมมุติฐานในเบื้องต้นว่า     คนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นคนไม่ดี    โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ นักการเมือง   ซึ่งจ้องแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ และมักใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกไม่ต้อง  กฎหมายรัฐธรรมนูญจึงถูกออกแบบมาในลักษณะไม่ไว้วางใจนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ    โดยสร้างองค์กรและกลไกต่าง ๆขึ้นมามากมาย  เพื่อคอยควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างใกล้ชิด   
          ในอดีตที่ผ่านมา   มีการโกงกันอย่างไร   ทำไม่ดีกันตรงไหน   ก็พยายามเขียนกฎหมายไปอุดช่องว่างมันไว้    ตอนร่างก็ระดมตัวแทนประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่า   จากหลายสาขาอาชีพมาช่วยกันร่าง  ที่เรียกกันว่า   สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  (ส.ส.ร. )  แต่ละคนก็มีความคิดความเห็นดี ๆกันทั้งนั้น    ในที่สุดก็นำความคิดดี ๆเหล่านั้น   มาลงไว้ในรัฐธรรมนูญซะยาวเหยียดอย่างที่เห็นกันนี่แหละ    
         นอกจากกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว  ยังมีตัวอย่างกฎหมายลูกอีกมากมาย   ที่ผู้ร่างสันนิษฐานว่า   เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่เป็นคนไม่ดี     อย่างเช่น    ตอนนี้  สังคมไม่ไว้ใจตำรวจ   ก็เลยออกกฎหมายมาเข้มงวดกวดขันกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ     คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมก็ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล  เพราะเกรงว่า  ตำรวจจะซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพ   
       หมายค้น หมายจับ ก็ออกเองไม่ได้เหมือนแต่ก่อน   ต้องให้ศาลออกให้   (นี่ถ้าต่อไปสังคมไม่ไว้ใจศาลอีก  ก็ไม่ทราบว่า  จะแก้กฎหมายให้ใครออกแทนดี)    ในการสอบสวนคดีก็ต้องให้มีทนายมานั่งเฝ้า   และขณะนี้  ก็มีหลายฝ่ายพยายามเสนอแนวคิดให้พนักงานอัยการหรือฝ่ายปกครองเข้าไปคานดุลตรวจสอบ โดยเข้าเป็นคณะพนักงานสอบสวนร่วมอีก  (ซึ่งในอดีตก็เคยทำกันมาแล้ว  และมีการแก้ไขกลับไปกลับมาหลายครั้ง )
        การที่เราไม่ไว้ใจคนในองค์กรใดก็เขียนกฎหมายออกมาควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของคนในองค์กรนั้น ๆ   มองดูเผิน ๆน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากศึกษาปัญหาในรายละเอียดจะพบว่า   ในทางปฏิบัติ การออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว     บ่อยครั้งก่อให้เกิดอุปสรรคปัญหามากมายต่อข้าราชการหรือบุคลากรในองค์กรต่าง ๆที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี  เพราะในความเป็นจริงแล้ว  งานที่รับผิดชอบแม้จะมีลักษณะเนื้องานหลัก ๆเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกัน   แต่เมื่อพิจารณาลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า  ปัญหาทุกเรื่องจะมีข้อเท็จจริงในรายละเอียดที่แตกต่างกัน  และแน่นอนว่า  ย่อมต้องใช้วิธีการในการแก้ไขปัญหาแตกต่างกันด้วย    
           แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ถูกบังคับด้วยกรอบของระเบียบกฎหมาย  ผลที่ตามมาก็คือ    เรื่องง่าย ๆก็จะกลายเป็นเรื่องยาก  เรื่องที่ยากอยู่แล้ว  ก็จะยิ่งยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก   เจ้าหน้าที่ที่ดี ๆจะทำงานด้วยความอึดอัด  หากใครกล้าแหกกฎระเบียบ เมื่อผิดพลาดขึ้นมาก็จะถูกลงโทษถูกสอบวินัย  สุดท้ายส่วนใหญ่ก็จะทำงานแบบปลอดภัยไว้ก่อน ทำงานไปวัน ๆเช้าชามเย็นชาม ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใด ๆ   ขณะเดียวกันคนที่ไม่ดี  ก็จะถือโอกาสนำระเบียบกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากนั้นไปแสวงหาผลประโยชน์   ผู้บังคับบัญชาบางคนก็ถือโอกาสนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งลูกน้องที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อตนเอง  ฯลฯ
          ในมุมมองของผู้เขียน  เห็นว่า   ที่ผ่านมาสังคมไทยเราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด   ในทรรศนะของผู้เขียนมองว่า   ในทุกองค์กรน่าจะมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี   ดังนั้น   ในการตรากฎหมายเราต้องตั้งข้อสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นว่า   คนส่วนใหญ่เป็นคนดี  มีความรับผิดชอบ  เราต้องพยายามออกกฎกติกาที่เอื้ออำนวย  ให้ความสะดวก  ให้การสนับสนุน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคนในองค์กรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องมอบอำนาจ มอบดุลพินิจในการตัดสินใจให้เขาพอสมควร   เราต้องให้เกียรติ์   ให้ความไว้วางใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเขา   ไม่ใช่ไปกำหนดบทบาททุกย่างก้าวให้เขาเดิน    แต่อย่างไรก็ตาม  หากเราให้อำนาจไปแล้ว   ถ้าบุคคลใดใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกไม่ต้อง  มีการทุจริต  คอรัปชั่น  เราต้องมีมาตรการจัดการที่รุนแรง  เด็ดขาด  และ เอาจริงเอาจัง 
         ที่ผ่านมาจะเห็นว่า   บางครั้งเราแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตามกระแสสังคมมากเกินไป    คนชั่วไม่กี่คนสร้างปัญหาแทนที่เราจะจัดการกับคนคนนั้นอย่างเด็ดขาดกลับไม่ดำเนินการ    มิหนำซ้ำหลายครั้งกลับพยายามช่วยเหลือกันอีก  แล้วพยายามแก้ปัญหาโดยการออกกฎหมายมาตรวจสอบควบคุมคนส่วนใหญ่ในองค์กรที่ไม่ได้สร้างปัญหา    
         อย่างเช่น   ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง   ผู้เขียนเห็นว่า   ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยส่วนใหญ่เป็นคนดี  คนที่มีปัญหาคือ  คนส่วนน้อย   ดังนั้น  โดยหลักการแล้ว  เราควรจะให้ฝ่ายปกครองเป็นองค์กรหลักในการจัดการเลือกตั้งต่อไป  เพราะมีความพร้อมในทุก ๆด้าน  อาจจะเสริมกระบวนการควบคุมตรวจสอบด้วยการออกกฎหมายให้องค์กรเอกชน   ตัวแทนนักการเมือง หรือองค์กรอื่นใดที่เห็นว่าเหมาะสมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และที่สำคัญต้องออกกฎกติกามาจัดการกับคนที่แหกคอก คนที่ไม่ดีอย่างเฉียบขาด  เอาจริงเอาจริง ( เช่น อาจตั้งแผนกคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งขึ้นในศาลฎีกา ทำนองเดียวกันกับ  การจัดตั้ง แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ก็ดูจะเข้าท่าไม่น้อย)   
         เพียงแค่นี้  ก็น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆให้บรรเทาเบาบางลงได้    การที่เราไม่ไว้วางใจฝ่ายปกครองตามกระแสความรู้สึกของสังคม  แล้วออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงให้  กกต.รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งแทน  ผลที่ออกมาเป็นอย่างไร   คนไทยทุกคนคงรู้ซึ้งในคำตอบได้เป็นอย่างดี
           อีกประเด็นหนึ่ง  ที่ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตไว้ ณ  ที่นี้  ก็คือ   กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี  พ.ศ. ๒๕๔๐   มีที่มาจากหลายประเทศ   คือ  เราเห็นว่า  ของประเทศไหนดีเราก็เอามาใช้หมด  โดยลืมคิดไปว่า   สภาพแวดล้อม  สังคม  วัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  การเมือง  ฯลฯ   ของเรากับของเขาไม่เหมือนกัน   
          หากจะเปรียบเทียบการสร้างบ้านกับการตรากฎหมายซึ่งเป็นกฎกติกาของสังคมแล้ว    โครงสร้างหลัก ๆของตัวบ้าน  เช่น   เสาบ้าน   พื้นบ้าน  ฝาบ้าน   ห้องต่าง ๆและหลังคา  ก็คงจะเปรียบเสมือนกฎหมายรัฐธรรมนูญ   ส่วนพื้นที่ใช้สอยในรายละเอียดปลีกย่อยลงไป รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่าง ๆภายในบ้าน ก็คงเปรียบเสมือนกฎหมายลูกต่าง ๆ  
            ปัญหาของเราตอนนี้ก็คือ    บ้านเราเป็นเมืองร้อน   แต่เราออกแบบบ้านเหมือนฝรั่งซึ่งเป็นเมืองหนาว    บ้านเรายากจนแต่เราสร้างบ้านเสียใหญ่โตทำด้วยวัสดุอย่างดีราคาแพง  โดยไปกู้เงินเขามาสร้าง    อุปกรณ์ เครื่องมือ  เครื่องใช้ต่าง ๆภายในบ้านของเรามีครบครัน  แต่บางอย่างเราไม่เคยนำมาใช้    บางอย่างใช้ไม่เป็น    และบางอย่างใช้อย่างไม่คุ้มค่าหรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ ฯลฯ   
            ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า  ความรู้  ความก้าวหน้าทางวิทยาการหรือเทคโนโลยีด้านต่าง ๆของต่างประเทศหลายเรื่อง  เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์  เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้จากเขา แต่บางสิ่งบางอย่างมันไม่จำเป็น เราก็ไม่น่าจะเอามา   เราน่าจะพยายามรักษาความเป็นเอกลักษณ์  รักษาจิตวิญญาณของเราให้คงไว้   หากจำเป็นต้องเอาของเขามา  ก็ไม่ใช่เอามาทั้งดุ้น เราต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง  ๆของสังคมในบ้านเมืองเรา   
       ณ  วันนี้  เวลานี้  เราต้องศึกษาตัวเราเองให้ถ่องแท้  ให้รู้แจ้งเห็นจริงก่อนว่า  ในอดีตเราเป็นใคร  มาจากไหน  ประวัติศาสตร์บ้านเมืองเรามีความเป็นมาอย่างไร    ปัจจุบันเราเป็นอย่างไร  เงื่อนไขปัจจัยทุกอย่างที่แวดล้อมตัวเราขณะนี้เป็นอย่างไร   และในอนาคตเราต้องการอะไร  เราจะเดินไปทางไหน   เราต้องมองทุกสิ่งทุกอย่างจากพื้นฐานของตัวเราเองเป็นหลักและคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาภายใต้เงื่อนไขหรือภาวะแวดล้อมที่เป็นจริงของสังคมเรา และภายใต้ภูมิปัญญาของเราเป็นสำคัญ  ไม่ใช่ไปลอกเลียนแบบใครเขา
                      ท้ายนี้  ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตเป็นบทสรุปส่งท้ายว่า   ที่ผ่านมา สังคมไทยเรานั้น   เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเรามักจะโทษนั่นโทษนี่ โดยเฉพาะโทษคนอื่นไว้ก่อน   โดยลืมมองสำรวจตัวเองว่า  เราเองเป็นคนที่มีส่วนก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่    อย่างไร   การทุจริต  การฉ้อราษฎร์- บังหลวง   แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  ถ้าไม่มีประชาชนหรือนักธุรกิจให้ความร่วมมือหรือให้การสนับสนุนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม   ตำรวจจราจรจะเรียกรับเงินไม่ได้  ถ้าประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดหรือหากทำผิดก็ยินดีชำระค่าปรับตามใบสั่ง    ทุกคนยอมรับว่าการตัดไม้ทำลายป่าเป็นต้นเหตุแห่งภัยพิบัติหลายประการโดยเฉพาะอุทกภัย และมองว่าคนตัดไม้ทำลายป่าเป็นคนไม่ดี  เป็นบ่อนทำลายชาติ  แต่คนส่วนใหญ่ก็ชอบซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้   ถามว่าถ้าไม่มีคนซื้อ จะมีคนตัดไม้ขายหรือไม่   ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า   นักอนุรักษ์ หรือเอ็น จี โอ  บางคน ในบ้านท่านจะมีเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้อยู่เต็มบ้านหรือเปล่า    
        มีคำกล่าวหนึ่งซึ่งผู้เขียนเคยได้ยินมานานแล้ว คือ  ตัวแทนคนกลุ่มไหนย่อมสะท้อนถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มนั้น     หากคิดไตร่ตรองดูให้ดี  จะเห็นว่ามีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย     ถ้าสังคมไหนคนส่วนใหญ่เห็นว่า   ประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อนประโยชน์ส่วนตน    คนที่ได้รับเลือกตั้งก็จะเป็นคนที่เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน    ในทางตรงข้ามหากสังคมไหนคนส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม  แน่นอนว่าตัวแทนของเขาก็น่าจะเป็นคนเช่นนั้นเช่นกัน 
      บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเคยได้ยินคนบ่นถึงพฤติกรรมของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าระดับใดในทางลบ     ผู้เขียนก็จะฉุกคิดถึงคำพูดดังกล่าวเสมอ   ก็เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมของเราเป็นอย่างนั้น (อาจรวมถึงคนบ่นด้วย)   คนอย่างนั้นถึงได้รับเลือกเข้าไป   ก็เพราะคนส่วนใหญ่เห็นแก่เงินเห็นแก่พวกพ้อง  ตัวแทนที่เลือกเข้าไปจึงจ้องแต่จะหาผลประโยชน์และเล่นพรรคเล่นพวก   แล้วเราจะไปโทษใครล่ะ ( ไม่ได้หมายความว่า  คนที่เห็นแก่เงิน เห็นแก่พวกพ้องเป็นคนไม่ดีทุกคน  แต่อาจจะเป็นเรื่องของอิทธิพลของลัทธิวัตถุนิยม  ที่เห็นเงินคือ พระเจ้า   ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์   หรือ วัฒนธรรมประเพณีที่สั่งสม หล่อหลอม แนวคิดที่ผิด ๆมาอย่างยาวนาน และไม่ยอมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากมาย ) 
         ผู้เขียนเห็นว่า   ที่ผ่านมาเรามัวแต่โทษซึ่งกันและกัน  หากคนไทยทุกคนย้อนกลับไปมองตัวเองสักนิดหนึ่งว่า   เรามีส่วนก่อให้เกิดปัญหาด้วยหรือไม่ อย่างไร   ถ้ามีก็ต้องเริ่มต้นแก้ไขที่ตัวเราเองก่อน    ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้  ทำได้อย่างนี้    ผู้เขียนก็เชื่อว่า  ปัญหาต่าง  ๆของบ้านเมืองที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้   ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะช่วยกันเยียวยาแก้ไข    แต่หากคนไทยยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม   ยังมีวิธีคิดเหมือนเดิม   เราก็จะวนเวียนอยู่กับวงจรปัญหาแบบเดิม ๆเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา  โดยไม่รู้จบ ไม่รู้สิ้น./
                                    ------------------------------------------


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลง วันที่  ๑๒  ตุลาคม   ๒๕๔๙.

ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

             ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา  [1]
                                                                                                      โดย... โสต  สุตานันท์

      รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐  ได้บัญญัติหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการไว้ ในมาตรา  ๒๔๙   ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป  ๒  ประการ คือ  
           ประการแรก   -  ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวง ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น
           ประการที่สอง  -   การโยกย้ายผู้พิพากษาต้องได้รับความยินยอมจากตัวผู้พิพากษาที่จะถูกย้ายก่อน  เว้นแต่ เป็นการโยกย้ายตามวาระ  การเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น  หรืออยู่ระหว่างการถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา 
     จากบทบัญญัติดังกล่าว  ผู้เขียนมีข้อสังเกต  คือ
                       ๑.) ระหว่างอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีกับอำนาจหน้าที่ในทางบริหารนั้น   บางครั้งบางเรื่องมันเกี่ยวพันกันจนแยกไม่ออก    เราไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนว่า  อันไหนเป็นเรื่องอรรถคดี อันไหนเป็นเรื่องการบริหาร   เช่น    แนวปฏิบัติ
ในการพิจารณาคดีต่อเนื่อง   ระบบการนัดความ   แนวปฏิบัติในการพิจารณาคำขอปล่อยชั่วคราว  การตัดสินคดีตามบัญชีอัตราโทษ (ยี่ต๊อก)  หรือ นโยบายของผู้บริหารในเรื่องต่าง ๆอันเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี ฯลฯ  ผลที่ตามมาก็คือ  ความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ  ความสับสน  ความไม่แน่ใจ ของผู้บริหารศาลทุกระดับในการกำหนดนโยบายหรือแนว
ปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ    (เกี่ยวกับเรื่องนี้   ผู้เขียนเคยเขียนบทความเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวไว้ โดยเห็นว่า   ศาลยุติธรรมน่าจะกำหนดนโยบายหรือออกระเบียบปฏิบัติในทำนองว่า    กรณีการออกคำสั่งหรือแนวทางปฏิบัติในเรื่องใดที่ออกมาเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับทุกคน  ทุกคดี   ถือเป็นเรื่องอำนาจทางการบริหาร   แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติเฉพาะเรื่องเฉพาะคดีแล้ว  ต้องถือว่าเป็นเรื่องทางอรรถคดี    )      
        ๒.)  ความเป็นอิสระโดยปราศจากขอบเขต  นั้น  มีความสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกกล่าวหาว่า   เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ   นอกจากนั้น ในบางครั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ  ส่งผลให้การปฏิบัติงานของศาลขาดความเป็นเอกภาพ และไม่สอดคล้องกับการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ    เช่น
               ๒.๑  ในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์  ฝ่ายบริหารมุ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องการขับรถขณะเมาสุรา   เนื่องจากเห็นว่า  เป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและสร้างความเสียหายต่อสังคมและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างใหญ่หลวง    จึงมีนโยบายในการเข้มงวดกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดฐานขับรถขณะเมาสุราอย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ  ดังนั้น  โดยหลักแล้วศาลยุติธรรมก็ควรที่จะกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการตัดสินคดีให้สอดคล้องหรือคำนึงถึงนโยบายของฝ่ายบริหารดังกล่าวด้วย  เช่น   อาจใช้ดุลยพินิจลงโทษให้หนักขึ้น   เป็นต้น  ทั้งนี้  เพื่อให้การตัดสินคดีเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ   อันจะช่วยก่อให้เกิดพลังมากพอที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมหรือมีอิทธิพลต่อการชี้นำสังคมให้เดินไปในครรลองที่ถูกต้องดีงามได้    แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา     ศาลแต่ละแห่ง  แต่ละจังหวัด จะตัดสินคดีโดยอิสระ หนักบ้าง   เบาบ้าง  ตามความคิด ความเห็น หรือทรรศนะของผู้พิพากษาในแต่ละศาล
               ๒.๒   ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายลงโทษปรับในคดียาเสพติดไว้ค่อนข้างสูง  เนื่องจากเห็นว่า   การใช้มาตรการทางด้านทรัพย์สินน่าจะเป็นการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้ดีขึ้น    ดังนั้น   ศาลก็ควรจะบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย   โดยการให้ความสำคัญกับการบังคับโทษปรับอย่างจริงจังก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติให้ได้มากที่สุด  แต่ในทางปฏิบัติกลับปรากฏว่า  ที่ผ่านมา  เราได้ค่าปรับเฉพาะตัวเลขในคำพิพากษาเท่านั้น  เพราะส่วนใหญ่ศาลจะให้กักขังแทนค่าปรับ 
             ๒.๓   กรณีเกิดโรคระบาด  เช่น ไข้หวัดนก    โดยปกติแล้วทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติย่อมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ  ด้วยการออกกฎหมายหรือกำหนดมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวดและเด็ดขาด   เพราะถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง  มีผลกระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง   ดังนั้น   ในการตัดสินคดีของศาลก็ควรจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและเฉียบขาดด้วย   เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารทางอ้อมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น  แต่ในทางปฏิบัติ  ไม่เคยมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติหรือนโยบายในเรื่องดังกล่าวไว้ 
      ๓.)   กรณีมีปัญหาในเรื่องอัตรากำลังขาด  เช่น  ผู้พิพากษาลาคลอด   ลาป่วย  เข้ารับการศึกษาอบรม  หรือมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งอื่นใด  อันจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อทางราชการ   ผู้บริหารของศาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้   หากไม่มีผู้พิพากษาคนใดยอมย้ายหรือยอมไปช่วยราชการ  ที่ผ่านมา   อย่างมากผู้บริหารก็จะใช้วิธีการขอร้องกัน    ซึ่งไม่น่าจะเป็นระบบที่ถูกต้อง    ผู้เขียนเคยคิดเล่น ๆว่า   หากมีเหตุใดเหตุหนึ่งเกิดขึ้น  ทำให้ผู้พิพากษาในศาลจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งศาล  และไม่มีใครเสียสละยอมย้ายหรือไปช่วยราชการ   สำนักงานศาลยุติธรรมก็คงต้องประกาศปิดศาลจังหวัดนั้นไป

         เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา   ตามข้อสังเกตทั้ง  ๓  ประการดังกล่าว    ผู้เขียนจึงเห็นว่า  นอกจากรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้  ผู้พิพากษาหรือตุลาการ  มีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีแล้ว    น่าจะบัญญัติเป็นหลักการเพิ่มเติมอีกในทำนองว่า   ทั้งนี้  การใช้ดุลยพินิจที่เป็นอิสระนั้น  ให้คำนึงถึงความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานขององค์กร  รวมทั้ง ต้องมีความสัมพันธ์ สอดคล้องกับหลักการหรือแนวนโยบายของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารด้วย  โดยให้ตระหนักถึงความถูกต้องเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุดของสังคมโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ   
          ทั้งนี้   ทั้งนั้น  ก็เพื่อเป็นการกำหนดกรอบหรือขอบเขตของคำว่า  อิสระ  ให้ถูกต้อง เหมาะสม และชัดเจนยิ่งขึ้น     ทั้งยังจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  ต่อการแก้ไขปัญหาในภาคปฏิบัติ   โดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามข้อความที่เสนอดังกล่าว  จะเป็นกฎหมายแม่บท  ที่เปิดช่องเปิดโอกาสให้มีการออกกฎหมายลูกหรือให้ผู้บริหารศาลสามารถกำหนดนโยบาย หรือแนวทางปฏิบัติต่าง ๆเพื่อประโยชน์ในการอำนายความยุติธรรมแก่ประชาชนหรือเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพขององค์กรได้  
          นอกจากนั้น  ยังเห็นว่า   ควรที่จะบัญญัติให้อำนาจบุคคล หรือ คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง   เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่า    “ เรื่องใดเป็นอำนาจในทางอรรถคดี  เรื่องใดเป็นอำนาจในทางบริหาร ด้วย   ทั้งนี้  เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
         สำหรับเรื่องการโยกย้ายผู้พิพากษานั้น   ผู้เขียนเห็นว่า   เหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับปี  พ.ศ.  ๒๕๔๐   บัญญัติให้การโยกย้ายผู้พิพากษาต้องได้รับความยินยอมจากตัวผู้พิพากษาที่จะถูกย้ายก่อน    ก็มีจุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้พิพากษาถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่จากผู้บริหาร   ดังนั้น  หากการโยกย้ายมีจุดประสงค์อย่างชัดเจนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมแล้ว   โดยหลักผู้บริหารย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งย้ายได้ตามความเหมาะสม  ไม่มีเหตุผลใดที่จะไปจำกัดอำนาจของผู้บริหาร   เพราะมิฉะนั้นย่อมเกิดเหตุขัดข้องในการบริหารงาน    ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า    ควรบัญญัติเพิ่มเติมข้อยกเว้นในการโยกย้ายที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาอีกประการหนึ่ง  คือ     กรณีมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อประโยชน์ของทางราชการโดยส่วนรวม     อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้ดุลพินิจเป็นไปอย่างรอบคอบและเป็นธรรม  ก็อาจบัญญัติให้ต้องได้รับความเห็นชอบจาก  คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)  ก่อนก็ได้./

                ---------------------------------------------------------


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลงวันที่   ๑  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๐ .

ปรัชญาการเมือง กับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ

ปรัชญาการเมือง กับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ  [1]
                                                                                                           โดย...โสต  สุตานันท์

          ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครองนั้น    ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา  มี
นักปราชญ์  นักคิด  นักเขียน  คนสำคัญของโลก  ได้เสนอรูปแบบ ทฤษฎี หรือวิธีการแก้ไขปัญหาไว้มากมาย   ไม่ว่าจะเป็นโสกราติส  เพลโต  อริสโตเติล  แมคเคียเวลลี  ฮอบส์    จอห์นล็อค   รุสโซ  มาร์กซ์  เลนิน   เหมา เจ๋อ ตุง    ขงจื้อ  เหลาจื้อ ฯลฯ และบุคคลอันสำคัญยิ่งที่ลืมไม่ได้ ก็คือ  พระพุทธเจ้า   
                       หากผู้อ่านท่านใดเรียนจบทางด้านรัฐศาสตร์มา  ก็จะรู้ดีว่า   ปัญหาการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยหรือประเทศอื่นใดในโลก ณ ขณะนี้   ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับมนุษยชาติในอดีตเป็นพัน ๆปีมาแล้ว    ซึ่งไม่ว่าโลกเราจะก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีไปมากมายเพียงใดก็ตาม   แต่รูปแบบปัญหาหลัก ๆในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์โลก ไม่ว่าจะเป็นชาติ  ศาสนา  หรือ ภาษาใด  ก็จะยังคงเป็นอยู่เหมือนเดิมและเชื่อว่าคงจะเป็นอยู่ต่อไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย   คือ หนีไม่พ้นในเรื่องของรัก  โลภ  โกรธ  หลง กิเลส  ตัณหา  อำนาจ   ผลประโยชน์  ฯลฯ   
                       ผู้เขียนจึงเห็นว่า   ในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา  จึงควรที่จะศึกษารูปแบบหรือแนวคิดของปราชญ์ยุคต่าง ๆในอดีต  แล้วนำมาประมวล  ประยุกต์ หรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (  สำหรับทรรศนะของผู้เขียน มองว่า   แนวทางที่ดีที่สุดน่าจะได้แก่ การเดินสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา  ดังนั้น  ระบบที่ดีที่สุดน่าจะได้แก่  การนำหลักการตามระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมมาผสมผสานกับหลักการของระบบสังคมนิยมในสัดส่วนที่เหมาะสม  โดยเน้นให้ความสำคัญทั้งต่อปัจเจกชนและรัฐ)
          ในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น  ผู้เขียนเห็นว่า    เป็นอะไรที่สำคัญและลึกซึ้งอย่างมาก    เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎกติกาสูงสุดของมนุษย์ที่มาอยู่อาศัยร่วมกันเป็นสิบเป็นร้อยล้านชีวิต   รัฐธรรมนูญที่ดีจึงต้องมีคุณค่า  มีความหมาย  มีจิตวิญญาณและ มีอุดมการณ์ ที่สูงส่ง   การร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ เพียงแค่เรื่องของศาสตร์และศิลป์ธรรมดา   ดังนั้น  ผู้ร่างต้องมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมในทุก ๆด้าน  ไม่ใช่เพียงแค่มีความรู้หรือเรียบจบสูง ๆก็ร่างได้   ความรอบรู้ในเรื่องของสังคม    เศรษฐกิจ  การเมือง  ฯลฯ หรือศาสตร์ในทางวิชาการต่าง ๆ ถือเป็นเพียงคุณสมบัติขั้นพื้นฐานเท่านั้น 
           เหนือสิ่งอื่นใด  ผู้ร่างต้องต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ มีคุณธรรม จริธรรม มีจิตใจที่สูงส่ง  เป็นนักคิด  นักปราชญ์   นักจิตวิทยา ไม่ทะเยอทะยาน ( แต่อยากมี  อยากเป็นแบบคนมีสติ มีปัญญาและเมตตา)    มีความเป็นกลาง  มีสายตาที่ยาวไกล ไม่ฝักใฝ่การเมือง  หรืออยู่ในกลุ่มผลประโยชน์ใด  ฯลฯ     หากเราให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายมาช่วยกันร่าง   โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว  สุดท้าย เราก็จะได้เพียงแค่เอกสารชุดหนึ่งซึ่งบันทึกเงื่อนไขข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่อง  การต่อรองผลประโยชน์ และการต่อรองอำนาจระหว่างกัน   เท่านั้น  
                       ในโลกของความเป็นจริง   คงเป็นเรื่องยากที่จะเสาะหาบุคคลที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์เพียบพร้อมโดยไม่มีที่ติได้   แต่เราก็ต้องพยายามหาบุคคลที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้   อย่างน้อยที่สุดก็ต้องพยายามเสาะหาบุคคลที่มีคุณสมบัติดีเด่น  มีคุณสมบัติพิเศษในแต่ละด้านมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ   ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า  ในสังคมไทยเรามีคนดี ๆที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้เลือกอยู่ไม่น้อย
                       สำหรับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางด้านศาสตร์วิชาการแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีปัญหาเลย  เพราะบ้านเรามีคนเก่งอยู่มากมาย   แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ  เราค่อนข้างจะขาดผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะมาทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสานทางปัญญาให้มีการนำความรู้หรือศาสตร์ทางวิชาการต่าง ๆมาปรับใช้ในทางปฏิบัติหรือชีวิตจริงได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ   
                     ในอดีตเราเคยมี  พระพุทธทาสภิกขุ   แต่น่าเสียดายที่เราไม่ได้อาศัยบุญบารมีของท่านขณะมีชีวิตอยู่ให้มาช่วยกันรังสรรค์กฎหมายรัฐธรรมนูญของเราให้งอกงาม    ผู้เขียนเห็นว่า  ที่ผ่านมาสังคมไทยเราผิดพลาดอย่างหนึ่งคือ  เราแยกศาสนากับการเมืองออกจากกัน (แม้แต่พระภิกษุ สามเณร เราก็ไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง) ทั้ง ๆที่โดยธรรมชาติแล้วทั้งสองเรื่อง เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันจนไม่อาจแยกจากกันได้  
                     แต่โลกนี้ไม่มีคำว่าสายสำหรับคนที่มีปัญญา   ผู้เขียนเชื่อว่า  ณ  ปัจจุบันนี้   สังคมเราน่าจะยังพอมีผู้รู้  มีนักปราชญ์   มีนักการศาสนาที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณอยู่บ้าง  เราน่าจะพยายามค้นหา และขอให้ท่านเหล่านั้นมามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา  ก็คงจะดีไม่น้อย    อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเยียวยารักษาโรคทางจิตวิญญาณของสังคมไทย  ซึ่งกำลังอาการย่ำแย่อยู่ในขณะนี้  
         ผู้เขียนเห็นว่า   เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่ดีนั้น  ต้องเน้นหนักในเรื่องของ
ปรัชญา แนวคิด  อุดมการณ์  หรือจิตวิญญาณ เพื่อส่วนรวมเป็นสำคัญ    ส่วนเรื่องในทางปฏิบัตินั้น  ควรเขียนไว้เฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างแท้จริงเท่านั้นและต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกลมกลืนกับปรัชญาแนวคิดหรืออุดมการณ์หลัก    เหตุผลเพราะว่า    หากหลักการและเหตุผลตามรัฐธรรมนูญมีอุดมการณ์  มีเป้าหมายที่ถูกต้อง แน่วแน่ และชัดเจนแล้ว   การปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆไม่ว่าเรื่องใด  ย่อมดีตามไปด้วย   ในทางตรงข้าม   หากรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระที่สะเปะสะปะ   ไม่รู้ว่าอันไหนเป็นแก่นสาร  อันไหนเป็นเรื่องหลัก  อันไหนเป็นเรื่องรอง ปะปนกันไปหมด  ทั้งเรื่องที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม   การปฏิบัติย่อมไร้ทิศทางไปด้วย   
                            ผู้เขียนขอหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับปี  พ.ศ. ๒๕๔๐  ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่อง  สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค  มาเป็นตัวอย่างซัก  ๑  เรื่อง     รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ใน หมวด ๓  ตั้งแต่มาตรา  ๒๖ -  ๖๕   รวม  ๔๐  มาตรา   กล่าวเฉพาะมาตรา  ๓๐  บัญญัติไว้ว่า  บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย  และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน .............การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล  เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด  เชื้อชาติ  ภาษา เพศ อายุ....การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ ...............มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิ และเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม..........   
                         จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นว่า   รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญในเรื่องของความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก   ซึ่งโดยหลักการแล้ว   ประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในทุกเรื่องเท่าเทียมกัน   ส่วนข้อจำกัดตามมาตรการที่รัฐกำหนดขึ้น เป็นข้อยกเว้น   ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญ ๆหรือเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมเท่านั้น    แต่ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงปรากฏว่า   แม้แต่ในตัวรัฐธรรมนูญเองก็ได้บัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมากมาย  
                         อย่างเช่น  การกำหนดคุณสมบัติและข้อต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครเป็น  ส.ส.  ส.ว.  หรือผู้มีสิทธิได้รับการเลือกสรร  เป็น ก.ก.ต.   ป.ป.ช.  หรือ  ส.ต.ง.  ฯลฯ เป็นต้น    เอาเข้าจริง ๆสิทธิของประชาชนที่พอจะเท่าเทียมกันอยู่บ้างก็คงจะมีเฉพาะสิทธิในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น   คือ เราเอาข้อยกเว้นมาเป็นหลัก  เอาหลักไปเป็นข้อยกเว้นไปเสียหมด   ซึ่งหากเรายึดถืออุดมการณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือความเสมอภาพในวิถีทางที่ถูกต้อง ที่เป็นหลักสากลแล้ว   เราก็น่าจะบัญญัติเป็นหลักการไว้สั้น ๆเพียงว่า บุคคลผู้มีสิทธิสมัครหรือมีสิทธิได้รับการเลือกสรรในตำแหน่งต่าง ๆดังกล่าว   ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ  มีคุณธรรมจริยธรรม  มีคุณวุฒิ วัยวุฒิและคุณสมบัติต่าง ๆเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆเท่านั้น  ไม่ใช่ไปบัญญัติจำกัดเรื่องอายุ  อาชีพ ภูมิลำเนา  การศึกษา ฯลฯ และเรื่องต้องห้ามอื่น ๆอีกมากมายไว้ในรัฐธรรมนูญรกรุงรังเต็มไปหมด  อ่านไปอ่านมาเหมือนกับกำลังอ่านระเบียบการสมัครสอบเข้ารับราชการของ ก.พ.
                       เอาแค่เรื่องวุฒิการศึกษาอย่างเดียว  รัฐธรรมนูญถูกฉีกไปแล้ว   ตอนนี้ก็ยังถกเถียงกันไม่จบ  ผู้เขียนถามว่า   ในความเป็นจริง  ณ ปัจจุบันนี้  จะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น  ส.ส. หรือ ส.ว. ซักกี่คน  ที่ยังไม่จบชั้นปริญญาตรี   หรือหากจะมี  ถ้าบุคคลนั้นได้รับเลือกตั้ง  เขาก็ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน  เขาต้องมีดี มีความรู้ความสามารถอยู่ไม่น้อย  เพราะมิฉะนั้น  คนส่วนใหญ่ก็คงไม่เห็นพ้องต้องกันเลือกเขามา     แล้วเราจะหาเหตุผล  หาหลักปรัชญาแนวคิด หรือหลักทฤษฎีใดมาอธิบายได้ว่า   เพราะเหตุใดเราถึงไปจำกัดสิทธิของเขา  
            ผู้เขียนเห็นว่า หากเราบัญญัติเป็นหลักการกว้าง ๆไว้ดังข้อความที่ยกตัวอย่างดังกล่าว บุคคลที่ติดยาเสพติด  บุคคลล้มละลาย  เด็กอายุ  ๑๐ ปี  คนแก่อายุ  ๙๙   ปี   คนอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้   คนสัญชาติแอฟริกัน  หรือแม้กระทั่งคนที่มีภรรยาน้อย  ๔- ๕  คน  ฯลฯ  ย่อมไม่มีคุณสมบัติอย่างแน่นอน  โดยเราไม่จำเป็นต้องไปเขียนห้ามเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในกฎหมายใด ๆอีก 
           หากเราพยายามเขียนไว้เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาถกเถียงกันในภายหลัง  เชื่อได้เลยว่า  กฎหมายเราจะยาวอย่างมากและในทางปฏิบัติจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถเขียนครอบคลุมได้ทุกเรื่อง  อย่างไรก็ตาม  หากเราเห็นว่าประเด็นใดเรื่องใดมีความจำเป็นต้องกำหนดไว้  เพื่อประโยชน์หรือเพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ  อย่างเช่น เรื่องคุณสมบัติหรือข้อต้องห้ามบางประการของผู้สมัครดังกล่าว   เราก็ควรจะนำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูกต่าง ๆมากกว่า   การนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนอกจากจะเป็นการสร้างปัญหาและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแล้ว   ยังส่งผลทำให้รัฐธรรมของเราด้อยศักดิ์ศรี ด้อยคุณค่า  ขาดความขลัง ขาดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปอย่างมากเลยทีเดียว 
             กล่าวโดยสรุป  ผู้เขียนเห็นว่า ในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนั้น ควรบัญญัติไว้เฉพาะเนื้อหาสาระหลัก ๆที่สำคัญ ๆอย่างแท้จริงเท่านั้น อันได้แก่  เรื่องอุดมการณ์ของชาติ   ศาสนา  พระมหากษัตริย์  อำนาจอธิปไตย  ลัทธิการปกครอง สิทธิเสรีภาพของประชาชน  และโครงสร้างหลักในการบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวม     ควรหลีกเลี่ยงการบัญญัติในเรื่องที่เกี่ยวกับทางปฏิบัติ และเนื้อหาสาระในรายละเอียดปลีกย่อย ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรหรือสถาบันต่าง ๆที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ออกกฎหมายลูกในภายหลังกันเอาเอง
         ท้ายนี้  ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตเป็นบทสรุปส่งท้ายเพื่อฝากเป็นแง่คิดสำหรับท่านผู้อ่าน   ๒  เรื่อง  คือ  
เรื่องแรก  -   ผู้เขียนเห็นว่า   แท้จริงแล้วที่ผ่านมาปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เกิดจาก คน  มากกว่า  ระบบ  หรือตัวบทกฎหมายหมาย   ในภาพรวมแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐  เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมากฉบับหนึ่ง  แต่ปัญหาเกิดจากคนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมากกว่า   ผู้เขียนไม่ขอพูดในรายละเอียด  เพราะเชื่อว่าทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว  แต่ขออนุญาตยกตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนซักเรื่องหนึ่ง คือ เกี่ยวกับเรื่อง  หวยใต้ดิน-บนดิน    
       รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐  มาตรา ๗๓  บัญญัติไว้ว่า  รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น.......รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต  จากบทบัญญัติดังกล่าว  หากเรายึดถือหลักการ แนวคิด ที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ   เราก็จะตั้งโจทก์ไว้ว่า   การพนันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง   เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย  ขัดกับหลักธรรมของศาสนาและก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมมากมายมหาศาล   ดังนั้น   คำตอบที่ได้ก็คือ  เราต้องพยายามลดการเล่นการพนันทุกชนิดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เช่น  พยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา   ปัญหาอยู่ที่การศึกษา   อาชีพ  ผู้มีอิทธิพล  ตำรวจ ฯลฯ  ก็ต้องแก้ที่ต้นตอ   อย่างน้อยที่สุด  หากแก้ไม่ได้  ก็อย่าให้มันเพิ่มขึ้นอีกก็ยังดี   โดยถือคติว่า  ว่ายต่อไปแม้จะยังไม่เห็นฝั่ง   
         แต่ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ผู้ใช้รัฐธรรมนูญกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม  โดยไปตั้งโจทก์ไว้ว่า    การพนันเป็นเรื่องธรรมดา  เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน  ยังไง ๆก็แก้ปัญหาไม่ได้  และเห็นว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน   คำตอบที่ได้ก็คือ  อย่ากระนั้นเลย   ไหน ๆก็ห้ามไม่ได้แล้ว อนุญาตให้เล่นกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปเสียเลยและเพื่อให้ได้เงินมากที่สุด  ต้องพยายามหาเทคนิควิธีการให้คนเล่นหวยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  จึงเป็นบ่อเกิดแห่งแนวคิดเรื่อง  รางวัลแจ๊คพ็อต  ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้     ผลเสียหายจึงเกิดขึ้นต่อสังคมไทยอย่างมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม   ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า  แนวทางแก้ไขปัญหาของสังคมไทยในอนาคตจึงต้องเน้นการแก้ปัญหาที่คนเป็นสำคัญ  ไม่ใช่ไปเน้นที่ ระบบ หรือ กฎหมายเหมือนเช่นที่ผ่านมา 
    เรื่องที่สอง      ผู้เขียนเห็นว่า   การเมือง   เป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากสังคมมนุษย์      มีมนุษย์ที่ไหนก็มีการเมืองที่นั่น    มันเป็นธรรมชาติ   เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการประสานผลประโยชน์   เป็นการจัดระเบียบสังคมให้มนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข และมันเป็นสัญชาติญาณของการเอาตัวรอดของสัตว์โลก    โดยเฉพาะสังคมที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย    จะเห็นภาพของการเมืองอย่างชัดเจน    
     ในทรรศนะของผู้เขียน  คำว่า  การเมือง     นั้น    ในมุมมองของคนในสังคมที่มีระดับการพัฒนาการทางจิตใจและปัญญาสูง  การเมืองจะมีความหมายในทางบวก     คือ   หมายถึง   การพยายามจัดสรรผลประโยชน์ในทุก ๆด้าน ทุก ๆเรื่อง ให้แก่ทุกคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมให้มากที่สุด   การตัดสินใจในเรื่องต่าง  ๆจึงต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียของทุกคนในสังคม    ไม่ใช่เน้นหนักเฉพาะเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือกลุ่มของตนเอง  หากเรื่องใดแม้ตนเองจะต้องเสียแต่ถ้าเกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมก็จำเป็นต้องยอมเสีย    หากยึดหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด   สุดท้ายทุกคนในสังคมก็จะได้มากกว่าเสีย   สังคมย่อมมีแต่ความสงบสุข  
            ในทางตรงกันข้าม   มุมมองของคนในสังคมที่มีระดับพัฒนาการทางจิตใจและปัญญาไม่ดีเท่าที่ควร      ความหมายของคำว่า การเมือง จะเป็นไปในทางลบ   กล่าวคือ   หมายถึง  การพยายามแก่งแย่งแข่งขัน  พยายามช่วงชิงผลประโยชน์ให้ตนเองหรือกลุ่มของตนเองให้มากที่สุด  โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบหรือความเดือดร้อนของคนอื่น  ซึ่งเมื่อต่างคนต่างแย่งชิงเอาเปรียบกัน   ก็เป็นธรรมดาที่การแก่งแย่งแข่งขันย่อมรุนแรงขึ้นเรื่อย  ๆ   สุดท้ายทุกคนในสังคมก็จะเสียมากกว่าได้   สังคมย่อมมีแต่ความวุ่นวาย   ไม่สงบสุข  
           แน่นอนว่า การเมือง“  ที่ทุกคน ทุกสังคม ปรารถนา คือ การเมืองที่มีความหมายในทางบวกในทางที่สร้างสรรค์   แต่การที่จะได้มาซึ่งสังคมในอุดมการณ์ดังกล่าว   ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ   ในโลกของความเป็นจริง   ไม่มีพระเอกคนใดที่จะขี่ม้าขาวมาช่วยเราได้หรอก   พวกเราต้องช่วยกันเอง   ก็ขอภาวนาให้สังคมไทยตื่นจากความฝันเสียทีเถิด./ 


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลง วันที่ ๘ พฤศจิกายน  ๒๕๔๙.