4/09/2555

การฟ้องคดีหมิ่นประมาท

การฟ้องคดีหมิ่นประมาท

๑. )     ต้องศึกษาข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องให้ดีก่อนตัดสินใจฟ้อง ประเด็นที่สำคัญ เช่น
-                            -  ผู้กระทำความผิดจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
-                     - บุคคลผู้ถูกดูหมิ่นไม่จำต้องมีความรู้โดยตนเองว่าถูกหมิ่นประมาท เช่น เด็กไร้เดียงสาหรือคนวิกลจริตก็ถูกหมิ่นประมาทได้
-                       - บุคคลธรรมดาที่ถูกหมิ่นประมาทต้องมีชีวิตอยู่ขณะมีการกระทำผิด หากผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทตายก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรสหรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ดำเนินคดีแทนได้ (ดู ปอ. ม.๓๓๓) กรณีใส่ความบุคคลที่ตายไปแล้ว หากน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรสหรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง  ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท (ดู ปอ.ม.๓๒๗)
-                   - บุคคลที่ถูกหมิ่นประมาทต้องระบุรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร แต่ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อออกมาตรง ๆเพียงแต่บุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นได้ฟังหรืออ่านแล้วรู้ว่าหมายถึงใครก็เข้าข่ายเป็นความผิดแล้ว
-                    - หากหมิ่นประมาทบุคคลหลายคนเป็นหมู่คณะต้องดูเป็นกรณี ๆไปว่า สามารถกำหนดรู้ได้หรือไม่ว่าหมายถึงใครบ้าง มีหลักเกณฑ์การพิจารณาคือ ถ้ากล่าวถึงกลุ่มคนยิ่งมากก็ยิ่งยากที่จะเข้าใจได้ว่าผู้กล่าวหมายถึงทุก ๆคนในกลุ่ม  เช่น กล่าวว่า “แพทย์ในจังหวัดแพร่ไร้คุณธรรม.....” ยังไม่น่าจะเป็นความผิดฐานนี้ เพราะคนทั่วไปคงไม่รู้สึกหรือคิดว่าแพทย์ทุกคนในจังหวัดแพร่เป็นคนไม่ดี  แต่ถ้ากล่าวว่า “แพทย์ในโรงพยาบาลเด่นชัยไร้คุณธรรม......” อย่างนี้ ถือว่าสามารถกำหนดรู้ตัวบุคคลได้อย่างชัดเจนแน่นอนแล้วว่าหมายถึงใครบ้าง
-                            - ผู้กระทำต้องใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม หากกระทำต่อผู้ถูกใส่ความโดยตรงอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานดูหมิ่นตาม ปอ.ม. ๓๙๓
-                         - วิธีการใส่ความ คือ แสดงข้อความให้ปรากฏ จะทำโดยวิธีใด ๆก็ได้ เช่น พูดด้วยวาจา เขียนเป็นหนังสือ วาดภาพ ปั้นรูป ทำกิริยาท่าทาง ใช้ภาษาใบ้หรือทำเครื่องหมายอื่นใด ฯลฯ
-                         - ถ้อยคำที่ว่า “โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง” ถือตามความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไป มิใช่ความเข้าใจของผู้พูดหรือผู้ฟังข้อความที่กล่าวนั้น
-                        -  คำกล่าวเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพ เช่น “อย่าเอาไม้ไปแหย่ขี้”  “เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำ”  “ทำไม่ชอบด้วยศีลธรรม” “ประพฤติเลวทรามที่สุดทั้งการกระทำและคำพูด” “เป็นเทศมนตรีไม่เห็นดีอะไร” หรือคำกล่าวว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น กล่าวหาว่าเป็นผีกะ ผีปอบ หรือคำด่าว่า เช่น “ไอ้เหี้ย” “ไอ้ชาติหมา” “ไอ้สัตว์เดรัจฉาน”  “อีร้อยควยอีดอกทอง” ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท (แต่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานดูหมิ่นตาม ปอ.ม.๓๙๓) แต่ถ้าการด่ามีการกล่าวข้อความที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียงรวมด้วย เช่น กล่าวว่า “อีชาติดอกทอง คบกับพี่กูที่ปากสระ ลูกของมึงคนหนึ่งเป็นลูกของผัวกู”  “อีส้องทำชู้กับผัวกู พ่อแม่มันคบกับสัตว์กับหมา” “อีร้อยควยอีดอกทอง มันเย็ดกับทั่วทั้งเมือง”  เป็นหมิ่นประมาท
-                   -  ข้อความที่หมิ่นประมาทนั้น ไม่คำนึงว่าจะเป็นความจริงหรือความเท็จ สาระสำคัญคือ ให้ดูว่าข้อความที่กล่าวนั้นน่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ บางเรื่องยิ่งจริงก็ยิ่งหมิ่นประมาท (ซึ่งต่างจากการฟ้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๓ ที่บัญญัติว่า คำกล่าวนั้นต้องฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง) เพียงแต่ว่าจำเลยอาจไม่ต้องรับโทษ (ยังมีความผิดอยู่) หากพิสูจน์ได้ว่าคำกล่าวนั้นเป็นความจริง แต่ศาลจะให้พิสูจน์ได้ก็ต่อเมื่อไม่ใช่การใส่ความในเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์นั้นต้องเป็นประโยชน์แก่ประชาชน (ดู ม.๓๓๐) 
-                     -  การกล่าวข้อความหมิ่นประมาท แม้เป็นการกล่าวตามผู้อื่น เช่น เขาเล่าว่าอย่างนั้นหรือมีข่าวลือว่าอย่างนั้นหรือสงสัยว่าจะเป็นอย่างนั้น หรือแม้แต่จะกล่าวด้วยว่าตนเองไม่เชื่อหรือไม่เป็นจริงตามที่กล่าวมา ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะกล่าวอ้างหรือแก้ตัวให้พ้นผิดได้
-                         -  ข้อยกเว้นไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดู ปอ. ม. ๓๒๙ และม. ๓๓๑
ฯลฯ                                                                                   

๒.) ขั้นตอนการดำเนินคดี
         ระบบกฎหมายไทยเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายเลือกดำเนินคดีได้ ๒ ทาง คือ
         ๒.๑  ฟ้องคดีเองต่อศาลโดยตรง –  เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดี กฎหมายบังคับให้ศาลต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อน โดยส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยพร้อมแจ้งวันนัดให้ทราบ ในชั้นนี้จำเลยจะไปศาลหรือไม่ไปก็ได้ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ว่ายังมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น แต่จำเลยมีสิทธิแต่งตั้งทนายความเข้าไปซักค้านพยานโจทก์ได้   (วิ.อาญา ม.๑๖๒ (๑) และ ม.๑๖๕ วรรคท้าย )  ศาลจะประทับฟ้องไว้พิจารณาก็ต่อเมื่อเห็นว่าคดีมีมูล (วิ.อาญา ม.๑๖๗) เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว ก็จะส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกตัวจำเลยไปศาล หากจำเลยไม่ยอมไปก็จะออกหมายจับ  เมื่อจำเลยปรากฏตัวต่อหน้าศาลแล้ว  ศาลจะสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการกฎหมายบัญญัติให้ศาลตั้งทนายขอแรงให้ (วิ.อาญา ม.๑๗๓) จากนั้นศาลจะสอบคำให้การจำเลย หากให้การรับสารภาพ ศาลสามารถตัดสินคดีได้ในวันนั้นได้ทันทีโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์จำเลยก่อน เพราะเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกไม่ถึง ๕ ปี (ดู วิ.อาญา ม.๑๗๖) แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจก่อน แล้วนัดฟังคำพิพากษหลังจากนั้นประมาณ ๑ เดือน ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำข้อมูลเกี่ยวกับประวัติจำเลยและพฤติการณ์ข้อเท็จจริงในคดีไปประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยให้เหมาะสม  หากจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจะกำหนดวันนัดสืบพยานทั้งสองฝ่ายต่อไป เมื่อสืบพยานเสร็จก็จะพิพากษาไปตามรูปคดี หากฝ่ายใดไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์-ฎีกา ภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่กำหนด (ดู วิ.แขวง ม.๒๒,๒๒ ทวิ และ ป.วิอาญา ม.๑๙๓ ทวิ,๑๙๓ ตรี,๒๑๘-๒๒๑)
           ในการฟ้องร้องดำเนินคดีนั้นผู้เสียหายจะดำเนินการด้วยตัวเองโดยไม่ว่าจ้างทนายความก็ได้  แต่ทางที่ดีควรว่าจ้างทนายความช่วยเหลือ แม้จะเรียนจบด้านกฎหมายมาก็ตาม เพราะกระบวนการพิจารณาคดีในศาลนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนและมีเทคนิคแง่มุมต่าง ๆมากมาย อีกทั้งยังเห็นว่า การเป็นคดีความก็เปรียบเสมือนผงเข้าตาตัวเอง ต้องให้คนอื่นช่วยเขี่ยออกให้ หากพยายามเอาออกเองดีไม่ดีตาอาจบอดได้
            ๒.๒ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการให้ – คดีจะเริ่มต้นด้วยการที่ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา  เมื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีในเบื้องต้น หากเห็นว่ามีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาน่าจะได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงก็จะออกหมายเรียกให้ไปพบ หากไม่ยอมไปพนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไปพบตามหมายเรียกหรือถูกจับตัวได้ตามหมายจับ พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ในชั้นนี้ “ผู้ถูกกล่าวหา” จะได้รับการเลื่อนยศเป็น “ผู้ต้องหา” ซึ่งผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพ ปฏิเสธหรือไม่ยอมให้การใด ๆก็ได้ กับทั้งมีสิทธิต่าง ๆตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา ๗/๑ และมีสิทธิยื่นขอปล่อยชั่วคราวหรือที่เรียกกันว่าขอประกันตัวต่อพนักงานสอบสวนได้  แต่หากพนักงานสอบสวนไม่อนุญาตก็จะนำตัวผู้ต้องหาไปขอผัดฟ้องหรือฝากขังต่อศาลตาม ป.วิ.อาญา ม. ๘๗ หรือ ม.๑๓๔ วรรคท้าย หรือ ตาม พรบ.จัดตั้งศาลแขวงฯ ม.๗ แล้วแต่กรณีว่าผู้ต้องหาจะเข้ามอบตัวเองหรือถูกจับตามหมายจับและคดีจะอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงหรือศาลจังหวัด
            หลังจากพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีแล้วเสร็จ ถ้าเห็นควรสั่งฟ้อง ก็จะส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณากลั่นกรองตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง หากพนักงานอัยการเห็นด้วยกับพนักงานสอบสวนก็จะนำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องคดีต่อศาล (ดู วิ.อาญา ม.๑๔๒-๑๔๓)  เมื่อศาลรับฟ้องแล้ว ผู้ต้องหาจะได้รับการเลื่อนยศเป็น “จำเลย” ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีสิทธิประโยชน์ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา  ม.๘  จากนั้นศาลจะสอบคำให้การจำเลย แล้วดำเนินการต่อไปเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในข้อ ๒.๑  ซึ่งต่อมาหากศาลพิพากษาว่าจำเลยทำผิดตามฟ้องจริง และพิพากษาให้จำคุก จำเลยก็จะได้รับการเลื่อนยศเป็น “นักโทษ” แต่หากให้รอการลงโทษและคุมความประพฤติไว้จำเลยจะได้รับตำแหน่งเป็น “ผู้ถูกคุมความประพฤติ” (ดู ปอ.ม.๕๖)  แต่หากศาลยกฟ้อง ก็จะถูกปลดออกตำแหน่งทั้งหมดกลายเป็นประชาชนคนธรรมดา

๓.) ข้อคิดเตือนใจ
            ในทางพระพุทธศาสนามองว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นไปตามกฎธรรมดา คือ มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่และไม่ยั่งยืน  คำพูดหรือการกระทำใด ๆที่เรียกว่า หมิ่นประมาท รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆของผู้ใส่ความ ผู้ถูกใส่ความ และบุคคลอื่น ๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าใครก็ตาม  เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะเลือนหายไปกับกาลเวลาตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป แม้แต่ชีวิตตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าจะดับสูญไปเมื่อใด  แล้วใยเราจะมัวไปจมปลักอยู่กับกองทุกข์ หลงยึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้จับต้องได้ ที่ผู้คนสมมุติเรียกกันว่า ชื่อเสียง เกียรติยศ ศักดิ์ศรี เล่า  เอาล่ะถึงแม้ในทางโลกสิ่งเหล่านี้จะยังถือว่ามีความสำคัญอยู่สำหรับปุถุชนคนธรรมดาที่ยังไม่หลุดพ้น แต่ก็เห็นว่า ชีวิตคนเรานั้นหากดำรงตนหรือประพฤติกระทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม เกียรติยศศักดิ์ศรีย่อมเกิดมีขึ้นในตัวอย่างแน่นอนโดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องมีใครนำมาหยิบยื่นให้ และเมื่อเกิดมีขึ้นแล้วย่อมไม่มีคำพูดหรือการกระทำใด ๆของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะสามารถพรากมันออกไปจากชีวิตเราได้ ถึงใครไม่รู้เราก็รู้อยู่แก่ใจเราเองดี  ในทางตรงกันข้ามหากใครดำรงตนหรือประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งเลวร้าย ต่อให้คนครึ่งค่อนโลกกราบไหว้ทุกวัน เกียรติยศศักดิ์ศรีที่แท้จริงย่อมไม่อาจเกิดมีขึ้นได้
            การฟ้องคดีหมิ่นประมาทนั้นก็เปรียบเสมือนการสาดโคลนเข้าหากัน สุดท้ายก็สกปรกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนกันไปทั้งคู่  โดยเฉพาะผู้เสียหายมักจะโดนหนักยิ่งกว่า  เพราะในช่วงระหว่างของการดำเนินคดีไม่ว่าจะในขั้นตอนของตำรวจ อัยการ หรือศาล คำกล่าวหรือการกระทำใด ๆที่คิดว่าทำให้ตนเองเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังนั้น จะถูกนำมาฉายซ้ำให้เจ็บปวดหัวใจครั้งแล้วครั้งเล่า และหากผลคดีในท้ายที่สุดศาลยกฟ้องก็จะยิ่งเจ็บหนักมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ หรือแม้จะชนะคดีแต่สิ่งที่ได้รับก็คงจะมีเพียงแค่ความสะใจเพียงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น  อีกทั้งคดีประเภทนี้ส่วนใหญ่ศาลจะพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกไว้ (ซึ่งส่วนตัวมีความเห็นว่า คดีหมิ่นประมาทบางเรื่องไม่ควรที่จะรอการลงโทษ โดยเฉพาะพวกนักการเมือง  เพราะเป็นการสร้างตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานขึ้นในสังคมอีกด้วย) 
นอกจากนั้น  ระหว่างการดำเนินคดีก็อาจมีการด่าว่ากระทบกระทั่งกันไปมา โดยเฉพาะในการสืบพยานชั้นศาลทั้งสองฝ่ายมักจะพยายามขุดคุ้ยเอาความชั่วร้ายหรือสิ่งที่น่าอับอายขายหน้าของอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาประจานอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส  ซึ่งสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่เรื่องราวจะลุกลามบานปลาย ก่อให้เกิดคดีแตกลูกแตกหลานออกไปไม่ว่าจะเป็นคดีฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ นำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งถึงขั้นคิดฆ่าเอาชีวิตกันก็มี เรียกว่า “คดีความ” จบแต่ “คดีแค้น” ยังไม่ยอมจบกันง่าย ๆ  
เพราะฉะนั้น หากใครคิดจะฟ้องคดีหมิ่นประมาทก็ขอให้คิดไตร่ตรองให้จงหนักเพราะนอกจากอาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่าง ๆตามมาดังกล่าวแล้ว ยังจะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตสุขภาพกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจคิดคำนวณเป็นตัวเงินได้  ขอจงโปรดระลึกอยู่เสมอว่า ความยุติธรรมที่แท้จริงนั้นหากจะมีอยู่ในโลกก็ได้แก่การให้ความยุติธรรมแก่ตัวเองด้วยการปล่อยวาง ให้อภัยและแผ่เมตตา ในโลกนี้ไม่มีชัยชนะอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการชนะใจตัวเองและการให้ที่ได้บุญกุศลมากที่สุดก็คือการให้อภัยนั่นเอง./