8/15/2555

ฮีโร่โอลิมปิก


ฮีโร่โอลิมปิก 
                                                                     โดย...โสต  สุตานันท์
ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์อธิบายไว้ในหนังสือ “พุทธธรรม” ว่า ความอยากหรือความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ความอยากที่มุ่งประสงค์เวทนา ต้องการสิ่งสำหรับเอามาเสพเสวยเวทนาหรือสิ่งที่จะปรนเปรอตัวตน ซึ่งต้องอาศัยอวิชชาคอยหล่อเลี้ยงและให้โอกาส พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องตัวตน เอาตนเป็นศูนย์กลางและนำไปสู่ปริเยสนาหรือการแสวงหา เรียกว่า “ตัณหา”
 อีกลักษณะหนึ่งเรียกว่า “ฉันทะ” หมายถึง ความอยากที่มุ่งประสงค์อัตถะ คือ ตัวประโยชน์หรือสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความจริง สิ่งที่ดีงามหรือภาวะที่ดีงาม ฉันทะก่อตัวขึ้นจากโยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิดหรือคิดถูกวิธี คิดตามสภาวะและเหตุผล เป็นภาวะกลาง ๆของธรรม ไม่ผูกมัดหรือยึดติดอยู่กับอัตตาตัวตน
 ตัวอย่างเช่น การกินอาหาร หากกินเพื่อมุ่งประสงค์เวทนา คือ ความอร่อย  โก้ แสดงฐานะ ถือเป็นความต้องการที่เรียกว่า ตัณหา  แต่หากกินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต คือ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ถือเป็นความต้องการที่เรียกว่า ฉันทะ  แน่นอนว่ามนุษย์ต้องกินเพื่อฉันทะเป็นหลัก หากใครกินเพื่อมุ่งตัณหาเป็นสำคัญก็จะเป็นการบั่นทอนหรือทำลายชีวิตของเขาเองเพราะนั่นหมายถึง ทรัพย์สินเงินทองที่ต้องสูญเสียไปและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆที่จะตามมา
 อย่างไรก็ตาม ท่านเจ้าคุณบอกว่าความต้องการในทางพระพุทธศาสนานั้น ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นตัณหาหรือฉันทะก็ต้องปล่อยวาง เพียงแต่ว่ากรณีตัณหา หากเกิดมีขึ้นเมื่อไหร่ก็ต้องละในทันที ต่างจากฉันทะที่ต้องพยายามทำให้สำเร็จก่อนจึงค่อยละวางภายหลัง
คำถามก็คือว่า การที่ประเทศไทยจัดส่งนักกีฬาไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้น แต่ละคนแต่ละฝ่ายมีจุดประสงค์ความต้องการเพื่ออะไร ?  เป็นความต้องการที่มีลักษณะเป็นฉันทะหรือตัณหา ?
จากการติดตามข้อมูลข่าวสารและสดับตรับฟังความคิดความเห็น รวมทั้งการกระทำของทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตัวนักกีฬาและพ่อแม่ญาติพี่น้อง โค้ช ผู้จัดการทีม นายกสมาคมต่าง ๆข้าราชการ นักการเมืองหรือประชาชนคนทั่วไป คงสรุปคำตอบได้ไม่ยากว่า ส่วนใหญ่เป็นความต้องการที่มีลักษณะเป็นตัณหา เพราะเป็นความคิดความรู้สึกที่พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องตัวตนและมุ่งประสงค์เวทนาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ทรัพย์สินเงินทองหรือเกียรติยศชื่อเสียงก็ตาม  ซึ่งท้ายที่สุดผลที่ตามมาก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการกินอาหารที่มุ่งประสงค์เพื่อตัณหาเป็นสำคัญ คือ เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ถามว่าก่อนการแข่งขันชีวิตความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของนักกีฬาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าคงเหนื่อยทั้งกายและใจอย่างมากในตลอดช่วงเวลา 4 ปี ของการเตรียมตัวฝึกซ้อม อีกทั้งเชื่อว่านักกีฬาส่วนใหญ่น่าจะรู้สึกเครียด กดดันและเป็นทุกข์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะความทุกข์ที่เกิดจากความกลัวการพ่ายแพ้หรือผิดหวัง  เพราะเดิมพันชีวิต เกียรติยศชื่อเสียงและเงินรางวัลล่อตาล่อใจช่างสูงเสียเหลือเกิน จะเหน็ดเหนื่อยลำบากอย่างไรก็คงต้องทนให้ถึงที่สุด
เคยมีเรื่องเล่ากันว่าในยุคสมัยที่อิวาน เลนเดิล อดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของโลกมีชื่อเสียง มีช่วงเวลาหนึ่งที่เขาได้แชมป์มาทุกรายการ ยกเว้นรายการเดียวคือ ยูเอสโอเพ่น  ปรากฏว่าปีนั้นเขาเข้าชิงชนะเลิศกับจิมมี่ คอนเนอร์ ในรายการดังกล่าว  ระหว่างการแข่งขันเลนเดิลเล่นได้ดีและมีคะแนนนำมาโดยตลอด แต่เมื่อถึงลูกสำคัญที่สุดเพราะหากทำได้ก็จะได้รับชัยชนะเป็นแชมป์ทันที ปรากฏว่าเขาตีพลาดทำไม่ได้ นับแต่วินาทีนั้นเขาก็ตีเสียตลอด จนกระทั่งแพ้ไปในที่สุด   ปีต่อมาเขาเข้าชิงชนะเลิศอีกกับไมเคิล ชาง ระหว่างการแข่งขันซึ่งสถานการณ์ขณะนั้นกำลังสูสีกันมาก ปรากฏว่าชางเป็นตะคริว และเมื่อชางหายจากการเป็นตะคริวกลับมาเล่นต่อ เลนเดิลก็ตีไม่ได้อีกและแพ้ชวดแช้มป์ไปอีกครั้งหนึ่ง    
หลังการพ่ายแพ้ทั้งสองครั้งดังกล่าว  เลนเดิลไปปรึกษาจิตแพทย์   จิตแพทย์ถามว่า ปกติเวลาซ้อมตีดีใช่ไหม ?  เลนเดิลตอบว่าใช่   แล้วเวลาแข่งทำไมตีไม่ได้ ?  เขาตอบว่ามันรู้สึกตื่นเต้น  จิตแพทย์ถามต่ออีกว่าทำไมตื่นเต้น ?  เขาตอบว่ามันกลัวแพ้  จิตแพทย์จึงแนะนำว่าแพ้หรือชนะมันเป็นผล  ผลมาจากเหตุคือ  การตีดีหรือไม่ดี  ถ้าตีดีก็มีโอกาสชนะ  ถ้าตีไม่ดีก็มีโอกาสแพ้   คุณควบคุมการตีของคู่ต่อสู้ไม่ได้ แต่สามารถควบคุมการตีของตัวเองได้  นอกจากนั้น การแพ้ชนะยังขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยเรื่องอื่น ๆอีกมากมายหลายประการ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ เมื่อลงแข่งขันทุกครั้งให้พยายามท่องไว้ในใจอยู่ตลอดเวลาว่าตีทุกลูกให้ดีที่สุด ๆ ๆ ๆ ห้ามคิดถึงผลแพ้ชนะโดยเด็ดขาด
ปีต่อมาเลนเดิลได้เข้าชิงชนะเลิศอีกครั้งหนึ่ง  คราวนี้พบกับจอห์น เเม็คเอนโร  ก่อนลงสนามเขาทำสมาธิและท่องในใจตลอดว่า  ตีทุกลูกให้ดีที่สุด  ๆๆๆ  แต่พอเดินลงสนามคนตบมือต้อนรับเสียงดังลั่น ทำให้เขาตื่นเต้นและลืมสิ่งที่ท่องไว้  ตีไปตีมาแพ้ไปก่อน 2  เซตรวด ถ้าแพ้อีกเซตเดียวก็จะไม่มีโอกาสแก้ตัวอีก  ขณะนั่งพักรอแข่งเซตที่  3 อยู่นั้น  เขานั่งทำใจและพูดกับตัวเองว่า คงแพ้อีกแล้ว  เมื่อคำว่าแพ้ผุดขึ้นในสมอง ทำให้เขาฉุกคิดถึงคำแนะนำของจิตแพทย์ขึ้นมาทันที   เอ๊ะแพ้มันเป็นผลนี่หว่า  ไปคิดถึงมันทำไม  จากนั้นเขาก็ออกไปเล่นในเซตที่ 3 ต่อ  และตั้งหน้าตั้งตาตีทุกลูกให้ดีที่สุด ๆๆๆ  ปรากฏว่ามารู้ตัวอีกทีตอนเเม็คเอนโร  เดินมาจับมือและตบหลังแสดงความยินดีกับชัยชนะของเขา
จากตัวอย่างดังกล่าว  จึงเห็นว่าการที่ทุกคนทุกฝ่ายในสังคมให้ความคาดหวังและตั้งรางวัลให้นักกีฬาสำหรับความสำเร็จที่จะได้รับ รวมทั้งให้การยกยกเชิดชูมากเกินขอบเขตแห่งความพอดี น่าจะเป็นการเพิ่มกิเลสความต้องการที่มีลักษณะเป็นตัณหาและสร้างอัตตาตัวตนของนักกีฬาให้ใหญ่โตมากผิดปกติ  กรณีจึงเป็นไปได้ยากยิ่งที่นักกีฬาจะมีสมาธิไม่วิตกกังวลคิดถึงแต่ผลแพ้ชนะไม่ว่าจะเป็นเวลาก่อนหรือระหว่างการแข่งขันก็ตาม
ถามต่อว่าเมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันจะมีนักกีฬาซักกี่คนที่ชนะมีโอกาสได้รับเหรียญรางวัล แน่นอนว่าย่อมมีสัดส่วนที่น้อยมาก  แล้วคนส่วนใหญ่ที่พ่ายแพ้ละเขาจะมีความรู้สึกอย่างไร แน่นอนว่าคำตอบที่ได้คือเสียใจและผิดหวังอย่างมาก บางคนอาจถึงขั้นคิดว่าเป็นความล้มเหลวของทั้งชีวิตเลยก็ว่าได้เพราะตั้งความหวังไว้สูงมาก  แล้วคนที่มีบาดแผลใหญ่หลวงในใจเช่นนั้นจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งคนที่ได้รับชัยชนะเป็นฮีโร่ก็คงมีเรื่องให้ยุ่งยากปวดหัวและเป็นทุกข์อยู่ไม่น้อย  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของการจัดการทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากที่ได้รับมาหรือการพยายามดำรงตนและใช้ชีวิตในสังคมหลังจากนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายอย่างแน่นอน เพราะเกียรติยศชื่อเสียงที่ผู้คนในสังคมยกย่องเชิดชูนั้นช่างยิ่งใหญ่อลังการเสียเหลือเกิน แล้วเมื่อกาลเวลาผ่านไปล่ะ ทรัพย์สินเงินทองและเกียรติยศชื่อเสียงมากมายที่ได้มาจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าย่อมเป็นไปตามกฎแห่งอนิจจัง ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป หากใครไม่คิดเตรียมการณ์วางแผนการใช้ชีวิตและเตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้าให้ดี ฉากสุดท้ายของชีวิตย่อมจบลงด้วยความเศร้า ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
 ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์บอกว่าสาระสำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนามนุษย์ตามหลักศาสนาพุทธได้แก่ การที่เราจะต้องพยายามหันเหหรือปรับเปลี่ยนความต้องการจากสิ่งเสพปรนเปรอตนที่มีลักษณะเป็นตัณหามาเป็นความต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตซึ่งเป็นฉันทะ ดังนั้น จึงเห็นว่าสังคมไทยน่าจะต้องรีบทบทวนหรือปรับวิธีคิดวิธีการกระทำกันใหม่ เราต้องไม่ลืมว่าปรัชญาสูงสุดของการเล่นกีฬาคือ การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย  เมื่อชนะก็ไม่ดีใจจนเกินเหตุ เมื่อแพ้ก็ไม่เสียใจเกินเหตุและหากใครผิดพลาดบกพร่องไม่ว่าเรื่องใดก็ต้องให้อภัยและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน  ความต้องการที่มีลักษณะเป็นฉันทะของการเล่นกีฬาคือ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงและเพื่อเป็นการสร้างความสมานสามัคคี สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คนในสังคมไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือต่างประเทศ ผลแพ้ชนะถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงไป
 ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ที่จะต้องประพฤติกระทำให้อยู่กันเป็นผาสุกทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม ดังนั้น สิ่งสำคัญสูงสุดที่นักกีฬาและทุกคนทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงจึงได้แก่ การทำหน้าที่ของตนเองให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด หากทุกคนทำหน้าที่หรือทำเหตุปัจจัยทุกอย่างให้สมบูรณ์พร้อม ผลสรุปในภาพรวมที่ออกมาย่อมดีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ความต้องการที่มีลักษณะเป็นฉันทะ ในทางตรงกันข้ามหากทุกคนทุกฝ่ายมุ่งเน้นแต่ผลการแข่งขันเพียงอย่างเดียวมากเกินไป ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องย่อมวิปริตปรวนแปรตามไปหมด ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาวงการกีฬาและสังคมประเทศชาติในระยะยาว
การไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของนักกีฬาทุกคนถือเป็นการทำหน้าที่ทั้งต่อตัวเองและสังคมส่วนรวม เมื่อทุกคนทำหน้าที่อย่างอย่างสมบูรณ์พร้อมหรือดีที่สุดแล้ว โดยหลักการที่ถูกต้องชอบธรรม ก็ควรจะได้รับการยกย่องเชิดชูและผลตอบแทนที่ไม่แตกต่างกัน แล้วเพราะเหตุใดเราจึงยกย่องเชิดชูและให้ผลตอบแทนเฉพาะกับคนที่ได้รับเหรียญรางวัลอย่างมากมายมหาศาล ขณะที่คนไม่ได้เหรียญแทบไม่ได้รับอะไรเลย
จุดมุ่งหมายสำคัญในการให้ทรัพย์ตามหลักศาสนาพุทธมี 4 ประการ คือ
1.            ให้เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ขาดแคลน
2.            ให้เพื่อบูชาคุณแก่ผู้มีพระคุณ เช่น บิดา มารดา
3.            ให้เพื่ออุปถัมภ์บำรุงศาสนาหรือแก่ผู้ทรงศีล เช่น พระสงฆ์
4.            ให้เพื่อขัดเกลากิเลสหรือกำจัดความยึดติดในทรัพย์ของผู้ให้
ถามว่าในอดีตที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การให้รางวัลแก่นักกีฬาของทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีจุดประสงค์เพื่ออะไร ?  การที่เราเลือกให้รางวัลมากมายเฉพาะแก่ผู้ที่ชนะได้รับเหรียญก็คงไม่ต่างจากวิธีคิดของนักพนันในบ่อนไก่ที่ว่า “ไม่มีใครอยากอุ้มไก่แพ้”  แล้วเราจะปล่อยให้คุณค่าของมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติมีความหมายเพียงเท่านี้หรือ ???

การไกล่เกลี่ยแนวพุทธ


การไกล่เกลี่ยแนวพุทธ
                                                                                                 โดย...โสต  สุตานันท์ [1]

              สืบเนื่องจากบทความผู้เขียนเรื่อง “การไกล่เกลี่ยแนวพุทธ&สากล”[2]  ซึ่งได้วิเคราะห์เปรียบเทียบถึงแนวทางการไกล่เกลี่ยแบบพุทธวิธีกับการไกล่เกลี่ยของต่างประเทศในบางแง่มุม ผู้เขียนเห็นว่าเกี่ยวกับเรื่องการนำหลักศาสนาพุทธไปปรับใช้กับการไกล่เกลี่ยนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากมาย โอกาสนี้ จึงขอนำเรื่องดังกล่าวมาศึกษาวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง
  ก่อนอื่นขอทบทวนสาระสำคัญของการไกล่เกลี่ยแนวพุทธสักเล็กน้อย หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับนำไปปรับใช้ในการไกล่เกลี่ย คือ“อริยสัจสี่”  ซึ่งมีระบบวิธีคิดสรุปโดยย่อได้ว่า เมื่อเกิดทุกข์ คือ ปัญหาข้อพิพาทหรือความขัดแย้ง ก็ต้องค้นหาสาเหตุที่มาของสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์เรียกว่าสมุทัย  ซึ่งในทางพระพุทธศาสนามองว่า สาเหตุหลักของทุกข์อยู่ที่กิเลสมนุษย์  3  ประการคือ  ตัณหา(อยากได้) มานะ(อยากใหญ่)และทิฏฐิ(ใจแคบ)  จากนั้นก็ต้องเล็งจุดหมายหรือตั้งเป้าหมายในการที่จะขจัดหรือลดตัณหา มานะ ทิฏฐิ ของคู่กรณีทุกฝ่ายให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เรียกว่า นิโรธ  โดยมีวิธีปฏิบัติหรือเทคนิควิธีการในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวเรียกว่า มรรค     
            การทำความเข้าใจกับแนวทางการไกล่เกลี่ยแบบพุทธวิธีดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่ปัญหาจะอยู่ที่ภาคปฏิบัติหรือขั้นมรรควิธี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เพราะตัณหา มานะ ทิฏฐิ ถือเป็นศัตรูตัวร้ายกาจและน่ากลัวที่สุดของมนุษยชาติ  ปัญหาใหญ่น้อยทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือภัยพิบัติต่าง ๆเช่น น้ำท่วม โลกร้อน ภัยแล้ง มลพิษ โรคระบาด ฯลฯ หากพิจารณาดูให้ดีก็จะพบว่ารากเหง้าแห่งปัญหาอันแท้จริงเกิดจากตัณหา มานะ ทิฏฐิ ของมนุษย์ทั้งสิ้น การที่จะขจัดหรือลดตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่เกิดขึ้นในใจของคู่กรณีที่พิพาทกันให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งและต้องอาศัยกลยุทธกลวิธีต่าง ๆอีกมากมาย
             ก่อนพูดถึงยุทธวิธีในภาคปฏิบัติเพื่อทำสงครามกับตัณหา มานะ ทิฏฐิ ขอหยิบยกคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุมาศึกษาอ้างอิง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการวิเคราะห์ ดังนี้
              ท่านพุทธทาสภิกขุเคยแสดงธรรมบรรยายไว้ในชุดที่เรียกว่าศึกษาพุทธศาสนาตามวิธีของวิทยาศาสตร์ โดยท่านอธิบายว่า ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้าจะมีอยู่ 2 ภาษา คือ ภาษาธรรมกับภาษาศีลธรรมหรือภาษาคนซึ่งมีนัยยะความหมายพอสังเขปดังนี้   คือ
              1. ภาษาธรรม  เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้พูดกับผู้มีปัญญาถึงขั้นที่จะหลุดพ้นได้ คือ พูดอย่างผู้รู้พูดกับผู้รู้หรือพูดสอนคนไม่รู้ให้กลายเป็นผู้รู้ ซึ่งเป็นการอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ ตามหลักธรรมชาติโดยแท้ ตัวอย่างเช่น กรรมจะมีจุดเริ่มต้นที่ ผัสสะ   คือ  เมื่ออายตนะข้างใน ได้แก่  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  กับอายตนะข้างนอก  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  ธัมมารมณ์ พบกันเข้า จะทำให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่าวิญญาณทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น ทางกายและทางใจ   ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  ตามสภาวธรรมของร่างกายและจิตใจ   เปรียบเสมือนการมีเมล็ดพืชอยู่เมื่อมีแผ่นดิน มีน้ำมีอากาศ มีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะหน่องอกขึ้นมาตามธรรมชาติ 
              เมื่อมีผัสสะแล้วก็จะมี  เวทนา   เกิดขึ้น  คือ  ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์  และหลังจากนั้นก็จะมีความอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น  ซึ่งก็คือ กิเลสตัณหา  นั่นเอง จากกิเลสตัณหา ก็จะเกิด อุปาทาน  คือ  ยึดมั่นถือมั่นไปตามความอยาก  แล้วจะทำให้เกิดจิตชนิดที่เรียกว่า ตัวฉัน หรือ   ตัวกู ของกู  ขึ้นมา  ฉันต้องการ ฉันอยากคิด  อยากทำ  อยากพูด   ฯลฯ   เกิดตัวฉันที่มีความรู้สึกอยาก  เกิดความคิดที่จะสนองความอยากความต้องการของตัวเองเรียกว่า มโนกรรม  จากนั้นก็อาจมีการแสดงออกด้วยการกระทำเรียกว่า กายกรรม และอาจมีการพูดที่เรียกว่า วจีกรรม 
               หลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น สามารถสรุปได้เพียงคำเดียวคือ การไม่มีตัวตน  หมายความว่า ความรู้สึกสุขทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เรียกว่า เวทนา นั้น  มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของสิ่งที่มีร่างกาย  มีชีวิต  มีจิตใจ  มีอะไรให้ปรุงแต่งนึกคิดได้   สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ของเรา  ไม่ใช่ของคนอื่น ไม่ใช่ของพระเจ้าหรือของใครทั้งสิ้น แต่เป็นกฎแห่ง  ปฏิจจสมุปบาท[3] คือ เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นหลักของวิทยาศาสตร์เปรียบเสมือนเราเห็นรถยนต์คันหนึ่งเป็นส่วน ๆไป  แล้วการปรุงแต่งของมันทำให้รถยนต์วิ่งไปได้  ส่วนประกอบทุกส่วนเมื่อมันทำการปรุงแต่งกันได้  มันก็เป็นรถยนต์ที่วิ่งไปได้โดยไม่ต้องมีรถยนต์  รถยนต์วิ่งไปแต่ไม่ต้องมีรถยนต์  
                   2.ภาษาศีลธรรมหรือภาษาคน เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้พูดกับปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปที่ยังมีตัวกูของกูอยู่   เหตุที่ต้องใช้ภาษาศีลธรรมในการเทศนาสั่งสอนก็เพราะพระพุทธเจ้าเห็นว่าคนในโลกกว่า  99 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่อยู่ในสภาวะที่พร้อมจะหลุดพ้นหรือสิ้นกรรมได้   จึงต้องมีระบบสำหรับคนส่วนใหญ่เหล่านี้  พระพุทธเจ้าจึงพูดถึงการมีบุคคล   มีสัตว์    มีผู้ทำกรรม  มีผู้ได้รับผลกรรม  มีดี มีชั่ว  และสอนว่าจงพยายามทำแต่ความดี ทำดีให้มาก  ทั้งนี้เพื่อว่าจะได้มีศีลธรรมในโลก  มนุษย์จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข   อย่างผาสุกตามแบบของชาวโลก    ซึ่งคำสอนในลักษณะเช่นนี้จะมีเหมือนกันในทุกศาสนาไม่ใช่การเรียนรู้ในเรื่องของกรรมตามหลักวิทยาศาสตร์  เป็นกรรมตามความเชื่อของบุคคลที่ยังยึดมั่นถือมั่นในเรื่องของตัวตนซึ่งเมื่อมีตัวตนก็จะเกิดกิเลส ตัณหา เกิดโลภะ โทสะ โมหะของตัวตนนั้นๆขึ้นมา ถ้าความอยากนั้นฉลาดหรือถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดการกระทำที่เรียกว่า ความดี แต่หากความอยากนั้นเป็นไปในทางไม่ดีก็จะเกิดการกระทำที่เรียกว่า ความชั่ว    
               นอกจากนั้น การใช้ภาษาศีลธรรมของพระพุทธเจ้ายังมีประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ   เพื่อจะได้ใช้ภาษาศีลธรรมในการอธิบายให้มนุษย์โลกได้รู้ได้เข้าใจในภาษาธรรมได้หรืออธิบายได้อีกนัยหนึ่งว่า   พระพุทธเจ้าใช้ภาษาที่มีตัวตนพูดอธิบายจนให้เข้าใจเรื่องที่ไม่มีตัวตน   พอคนเข้าใจเรื่องไม่มีตัวตนแล้ว  ทีหลังก็พูดด้วยภาษาที่เกือบจะไม่ต้องพูด คือ ภาษาเรื่องไม่มีตัวตน[4]
             จากคำสอนของท่านพุทธทาสดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการพูด “ภาษาธรรม” นั้น เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจใฝ่ศึกษาธรรมในขั้นสูง มีความแน่วแน่ตั้งใจที่จะมุ่งฝึกฝนพัฒนาจิตโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการหลุดพ้นหรือนิพพาน โดยคนที่จะสามารถพูดคุยภาษาธรรมเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งพอต้องมีพื้นฐานทางปัญญาที่ดีและเคยฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังมาพอสมควร ซึ่งในความเป็นจริงนับได้ว่ามีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างน้อยมาก กรณีจึงเป็นเรื่องยากที่จะนำภาษาธรรมไปปรับใช้ในกระบวนการไกล่เกลี่ยอย่างตรงไปตรงมาและได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังเห็นว่าการพูดภาษาธรรมน่าจะเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ที่บุคคลนั้น ๆมีจิตใจโน้มนำและมีความพร้อมที่จะฝึกฝนพัฒนาจิตอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ไม่น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ที่คู่กรณีกำลังถูกโลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำอย่างรุนแรง จนถึงขั้นทะเลาะขัดแย้งหรือฟ้องร้องคดีกัน
หากเปรียบเทียบกับการเล่นกีฬา การพูดภาษาธรรมก็คงเปรียบเสมือนการฝึกสอนนักกีฬาที่มีสภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์พร้อมเพื่อมุ่งไปแข่งขันกีฬาแห่งชาติหรือโอลิมปิก  ส่วนการพูดภาษาศีลธรรมก็คงเปรียบเสมือนการแนะนำให้ผู้ป่วยไข้เล่นกีฬาเพื่อให้หายจากอาการเจ็บป่วย  ซึ่งแน่นอนว่าคงใช้เทคนิควิธีการเหมือนกันไม่ได้ หรือหากเปรียบเทียบกับการเรียนหนังสือ การพูดภาษาธรรมกับคู่กรณีที่ทะเลาะขัดแย้งกันก็คงเปรียบเสมือนการนำเอาองค์ความรู้ระดับปริญญาเอกไปสอนเด็กชั้นประถมศึกษา ก็ตัวการใหญ่สำคัญที่ทำให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ หรือตัณหา มานะ ทิฏฐิ อันเป็นที่มาของความขัดแย้งก็คือ การยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนของเขาเอง  แล้วเราจะไปบอกเขาว่าตัวตนไม่มีจริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างไร  นอกจากเขาจะมองไม่เห็นและเข้าใจแล้วก็อาจจะเกิดอารมณ์พลุ่งพล่าน พาลหาเรื่องให้ผู้ไกล่เกลี่ยต้องเข้าไปเป็นคู่กรณีฝ่ายที่สามอีกก็เป็นได้
   เพราะฉะนั้น  จึงเห็นว่าภาษาที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการไกล่เกลี่ยจึงได้แก่ “ภาษาศีลธรรมหรือภาษาคน” แต่การนำไปปรับใช้ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงนั้น  คงต้องอาศัยกุศโลบาย เทคนิควิธีการ ศิลปในการใช้ถ้อยคำภาษา ทั้งภาษากายภาษาพูด หลักจิตวิทยา และองค์ความรู้อื่น ๆอีกมากมาย   ซึ่งที่ผ่านมานับได้ว่าสังคมไทยเรายังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังและกว้างขวาง โอกาสนี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเสนอตัวอย่างแนวทางในการนำภาษาศีลธรรมไปปรับใช้ในกระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อช่วยลดตัณหา มานะ ทิฏฐิ ของคู่กรณีที่พิพาทกัน ดังต่อไปนี้
            1. การใช้คำคม คติเตือนใจหรือคำพูดที่ช่วยกระตุกความคิดความรู้สึกต่าง ๆ ตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยนำไปปรับใช้ เช่น
·       คนเรานั้นชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน ไม่มีใครในโลกที่ทำถูกทั้งหมดโดยไม่มีผิดหรือทำผิดทั้งหมดโดยไม่มีถูกเลย
·       ไม่มีความขัดแย้งใดในโลกนี้ที่เกิดจากความผิดของฝ่ายเดียว
·       ความยุติธรรมที่แท้จริงนั้นหากจะเกิดมีขึ้นในโลก ก็ได้แก่การให้ความยุติธรรมต่อตัวเองด้วยการปล่อยวางและให้อภัย
·       อย่าไปทุกข์กับความเลวของคนอื่น แต่จงทุกข์เมื่อจิตของตัวเองถูกโลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำ
·       การให้ที่ได้บุญกุศลมากที่สุดคือการให้อภัย
·       คนเรานั้นยิ่งให้ก็มักจะยิ่งได้และจิตที่คิดจะให้ย่อมเป็นสุขมากกว่าจิตที่คิดแต่จะเอา
·       ผู้ชนะคือผู้ที่เห็นปัญหาเป็นโอกาส ผู้แพ้คือผู้ที่เห็นโอกาสเป็นปัญหา ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสแฝงมาด้วยเสมอ คราใดที่ชีวิตมีปัญหา พยายามมองหาโอกาสให้เจอแล้วท่านจะเป็นผู้ชนะตลอดกาล
·       ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการชนะใจตัวเอง ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกิเลสตัณหาหรืออิทธิพลความคิดความเห็นของบุคคลใด
·       มนุษย์ทุกคนเห็นแก่ตัวกันทั้งนั้น แต่การเห็นแก่ตัวที่ฉลาดที่สุดคือการเห็นแก่คนอื่นหรือส่วนรวมก่อน เพราะผลที่สุดประโยชน์สุขทั้งหลายจะย้อนกลับมาสู่ตัวเราเองเป็นเท่าทวีคูณ
·       ถ้าอยากมีความสุข ก็จงพยายามทำให้ญาติมิตรเพื่อนฝูงสังคมคนรอบข้างมีความสุขมาก ๆ 
·       เกียติยศศักดิ์ศรีนั้น จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดำรงตนหรือการกระทำของเราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูดดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทของใคร
·       เมื่อเราไม่ชอบคนเห็นแก่ตัว  มองว่าคนเห็นแก่ตัวไม่ดี และกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งเห็นแก่ตัว  เราก็ไม่ควรเป็นคนเห็นแก่ตัวเสียเอง  
·       ถ้าอยากพ้นทุกข์ อย่าพยายามหาความสุขทางกาย
              ข้อคิดคำคมเหล่านี้ หากนำไปปรับใช้อย่างถูกที่ถูกทาง ถูกจังหวะเวลาหรือโอกาสอันเหมาะสม ก็จะมีส่วนช่วยส่งผลทำให้การไกล่เกลี่ยประสบผลสำเร็จได้  อนึ่ง หากมีการศึกษาวิจัยหรือค้นคว้าแยกแยะว่าคำพูดไหนจัดอยู่ในหลักธรรมะข้อใด  เหมาะสมกับการนำไปใช้ในสถานการณ์อย่างไร  รวมทั้งส่งเสริมให้มีการคิดค้นถ้อยคำใหม่ ๆอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อยในการที่จะนำไปปรับใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการไกล่เกลี่ยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
             2. จิตวิทยากับบัวสี่เหล่าหรือจริตคน   พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบมนุษย์เสมือนบัวสี่เหล่าซึ่งมีระดับจิตใจและสติปัญญาแตกต่างกัน  อีกทั้งยังแบ่งนิสัยหรือจริตมนุษย์ออกเป็น 6 ประเภท คือ  ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต วิตกจริต ศรัทธาจริต และพุทธิจริต ดังปรากฏตามตาราง[5]

จริต
ลักษณะ
จุดแข็ง
จุดอ่อน
1.ราคะจริต
-บุคลิกดีมีมาด
-น้ำเสียงนุ่มนวลไพเราะ
-ติดในความสวย ความงาม ความหอม ความไพเราะ ความอร่อย
-ไม่ชอบคิด แต่ช่างจินตนาการเพ้อฝัน
-มีความประณีตอ่อนไหวและละเอียดอ่อน
-ช่างสังเกตเก็บข้อมูลเก่ง
- มีบุคคลิกหน้าตาเป็นที่ชอบและชื่นชมของทุกคนที่เห็น
-วาจาไพเราะ เข้าได้กับทุกคน
-เก่งในการประสานงาน การประชาสัมพันธ์ และงานที่ต้องใช้บุคลิกภาพ
-ไม่มีสมาธิ ทำงานใหญ่ได้ยาก
-ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
-ไม่มีความเป็นผู้นำ ขี้เกรง ใจคน ขาดหลักการ
-มุ่งแต่บำรุงบำเรอผัสสะทั้งห้าของตัวเอง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
-ชอบพูดคำหวานหูแต่ไม่จริง
-อารมณ์รุนแรงช่างอิจฉาริษยา ชอบปรุงแต่ง
2.โทสะจริต
-จิตขุ่นเคือง โกรธง่าย
-คาดหวังว่าโลกต้องเป็นอย่างที่ตัวเองคิด
-พูดตรงไปตรงมา
-ชอบชี้ถูกชี้ผิด เจ้าระเบียบ เคร่งกฎเกณฑ์
-แต่งตัวประณีตสะอาดสะอ้าน
-เดินเร็วตรงแน่ว
-อุทิศตัวทุ่มเทให้กับการงาน
-มีระเบียบวินัยสูง ตรงเวลา
-วิเคราะห์เก่ง มองอะไรตรงไปตรงมา
-มีความจริงใจต่อผู้อื่นสามารถพึ่งพาได้
-พูดคำไหนคำนั้น
-ไม่ค่อยโลภ
-จิตใจขุ่นมัวร้อนรุ่ม
-ไม่มีความเมตตา
-ไม่เป็นที่น่าคบค้าสมาคมของคนอื่นและไม่มีบารมี
-ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
-สร้างวจีกรรมเป็นประจำ
-มีโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย

3.โมหะจริต
-ง่วง ๆซึม ๆเบื่อ ๆเซ็ง ๆ
-ดวงตาดูเศร้า ๆซึ้งๆ
-พูดจาเบา ๆ นุ่มนวลอ่อนโยน
-ยิ้มง่าย อารมณ์ไม่ค่อยเสีย ไม่ค่อยโกรธใคร
-ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบทำตัวเป็นจุดเด่น
-เดินแบบขาดจุดหมาย ไร้ความมุ่งมั่น
-ไม่ฟุ้งซ่าน เข้าใจอะไรได้ง่ายและชัดเจน
-มีความรู้สึก มักตัดสินใจอะไรได้ถูกต้อง
-ทำงานเก่ง โดยเฉพาะงานประจำ
-ไม่ค่อยทุกข์หรือเครียดมากนัก
-เป็นคนดี เป็นเพื่อนที่น่าคบ ไม่ทำร้ายคน
-ไม่มีความมั่นใจ มองตัวเองต่ำกว่าความจริง โทษตัวเองเสมอ
-หมกมุ่นแต่เรื่องตัวเอง ไม่สนใจคนอื่น
-ไม่จัดระบบความคิดทำให้เสมือนไม่มีความรู้
-ไม่มีความเป็นผู้นำ ไม่ชอบเป็นจุดเด่น
-สมาธิอ่อนและสั้น เบื่อง่าย
-อารมณ์อ่อนไหวง่าย ใจน้อย
4.วิตกจริต
-พูดเป็นน้ำไหลไฟดับ
-ความคิดพวยพุ่งฟุ้งซ่าน อยู่ในโลกความคิด ไม่ใช่โลกความจริง
-มองโลกในแง่ร้ายว่าคนอื่นจะเอาเปรียบกลั่นแกล้งเรา
-หน้าจะบึ้ง ไม่ค่อยยิ้ม
-เจ้ากี้เจ้าการ อัตตาสูง คิดว่าตัวเองเก่ง
-อยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่อง
-ผัดวันประกันพรุ่ง
-เป็นนักคิดระดับเยี่ยมยอด มองอะไรทะลุปรุโปร่งหลายชั้น
-เป็นนักพูดที่เก่ง จูงใจคน เป็นผู้นำในหลายวงการ
-ละเอียดรอบคอบเจาะลึกในรายละเอียด
-เห็นความผิดเล็กเล็กความผิดน้อยที่คนอื่นไม่เห็น
-มองจุดเล็กลืมภาพใหญ่
-เปลี่ยนแปลงความคิดตลอดเวลา จุดยืนกลับไปกลับมาไม่รักษาสัญญา
-มีแต่ความคิดไม่มีความรู้สึก ไม่มีวิจารณญาณ ลังเลมักตัดสินใจผิดพลาด
-มักทะเลาะวิวาททำร้ายจิตใจ เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
-มีความทุกข์เพราะเห็นแต่ปัญหา แต่หาทางแก้ไม่ได้
5.ศรัทธาจริต 
-ยึดมั่นอย่างแรงกล้าในบุคคล หลักการคือความเชื่อ
-ย้ำคิดย้ำพูดในสิ่งที่ตนเองเชื่อถือและศรัทธา
-คิดว่าตัวเองเป็นคนดีน่าศรัทธา ประเสริฐกว่าคนอื่น เป็นคนจริงจังพูดมีหลักการ
-มีพลังจิตสูงและเข้มแข็ง
-พร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่น
-ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมไปสู่สภาพที่ดีกว่าเดิม
-มีพลังขับเคลื่อนมหาศาล
-มีลักษณะความเป็นผู้นำ
-หูเบา ความเชื่ออยู่เหนือเหตุผล ถูกหลอกได้ง่าย
-ยิ่งศรัทธามากปัญญายิ่งลดน้อยลง
-จิตใจคับแคบ ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง
-ไม่ประนีประนอม มองโลกเป็นขาวและดำ
-เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตนคิดว่าถูกต้อง สามารถทำได้ทุกอย่างแม้แต่ใช้ความรุนแรง
6.พุทธิจริต
-คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล
-มองเรื่องต่าง ๆตามสภาพความเป็นจริงไม่ปรุงแต่ง
-พร้อมรับความคิดที่แตกต่างไปจากของตนเอง
-ใฝ่เรียนรู้ช่างสังเกต
-มีความเมตตาไม่เอาเปรียบคน
-หน้าตาผ่องใส ตาเป็นประกายไม่ทุกข์
-สามารถเห็นเหตุเห็นผลได้ชัดเจนและรู้วิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆได้อย่างถูกต้อง
-อัตตาต่ำ เปิดใจรับข้อเท็จจริง
-จิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่จมปลักในอดีตและไม่กังวลในสิ่งที่จะเกิดในอนาคต
-พัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ
-เป็นกัลยาณมิตร
-มีความเฉื่อย ไม่ต้องการพัฒนาจิตวิญญาณ
-ชีวิตราบรื่นมาตลอด หากต้องเผชิญพลังด้านลบอาจเอาตัวไม่รอด
-ไม่มีความเป็นผู้นำ จิตไม่มีพลังพอที่จะดึงดูดคนให้คล้อยตาม

               เพราะฉะนั้น การใช้คำพูด ท่าทีหรือเทคนิควิธีการในการไกล่เกลี่ยสำหรับคู่พิพาทแต่ละคนแต่ละกรณีจึงควรแตกต่างกันไปด้วยตามความเหมาะสม ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่ได้จากการไกล่เกลี่ยพบว่าเทคนิควิธีการหรือคำพูดอย่างหนึ่ง ๆไม่อาจใช้ได้ผลกับคู่กรณีได้ทุกเรื่อง  ตัวอย่างเช่น
·        หากคู่กรณีมีทัศนคติไปในทางยอมรับในอำนาจนิยมการไกล่เกลี่ยในห้องพิจารณาคดีจะได้ผลมากกว่าการไกล่เกลี่ยในห้องที่จัดไว้ต่างหาก  ซึ่งต่างจากคนที่มีแนวคิดความเชื่อในเรื่องของหลักสิทธิเสรีภาพหรือความเสมอภาคเท่าเทียมกัน 
·        บางคนชอบผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นคนท้องถิ่นหรือพูดภาษาเดียวกันแต่บางคนไม่ค่อยให้ความเชื่อถือ
·        บางคนต้องแสดงท่าทางขึงขังเอาจริงเอาจังถึงจะได้ผล แต่บางคนชอบการปลอบประโลมแสดงความเห็นอกเห็นใจ
·        บางคนชอบคำพูดตรงไปตรงมา สั้นกระชับไม่ยืดเยื้อเยิ่นเย้อ  แต่บางคนต้องยกแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบาย
·        บางคนชอบสรรเสริญเยินยอแต่บางคนก็ไม่ชอบ                 
                ดังนั้น  จึงเห็นว่าหากมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง  ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกระบวนการไกล่เกลี่ย  เพราะจะช่วยทำให้สามารถแยกแยะได้ว่า คนประเภทไหน ลักษณะใด ควรจะใช้คำพูดหรือวิธีการอย่างไรถึงจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งบางครั้งบางทีหากผู้ไกล่เกลี่ยสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำและใช้คำพูดที่ตรงใจหรือโดนใจคู่กรณี ก็อาจทำให้การไกล่เกลี่ยประสบผลสำเร็จได้โดยง่าย ดังตัวอย่างการไกล่เกลี่ยของผู้พิพากษาท่านหนึ่งซึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า มีคดีเรื่องหนึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายที่สืบเนื่องมาจากการทำร้ายร่างกาย ระหว่างการไกล่เกลี่ยพบข้อมูลว่า ผู้เสียหายเป็นคนในพื้นที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่เล่าขานกันตั้งแต่อดีตว่าผู้คนในพื้นที่มีจิตใจเป็นนักเลง หลังจากสังเกตบุคลิกลักษณะและกริยาท่าทางของผู้เสียหาย รวมทั้งประเมินสถานการณ์แล้ว ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีมากกว่าตัวเงิน จึงตัดสินใจเสี่ยงดวงวัดใจด้วยการพูดในทำนองว่า ท่านเคยสัมผัสและรู้จักคุ้นเคยกับคนในพื้นที่เขตภูมิลำเนาผู้เสียหายเป็นอย่างดี ทราบดีว่าเป็นคนที่มีจิตใจเป็นนักเลง เปิดเผยจริงใจตรงไปตรงมาไม่เรื่องมาก ผู้เสียหายย้อนถามท่านในทันทีว่าท่านคิดอย่างนั้นจริงหรือ ท่านจึงตอบกลับยืนยันด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นพร้อมกับสบตาว่าจริง ผลปรากฏว่าคดีสามารถตกลงกันได้ภายในเวลาอันรวดเร็วหลังจากนั้น โดยผู้เสียหายยินยอมลดจำนวนเงินให้มากจนแทบไม่น่าเชื่อ
            3. การพูดความจริงและชี้ให้เห็นความจริง   สาระแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง คือ การพยายามเข้าถึงซึ่งความจริงและยึดถือความจริงเป็นหลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหา การคิดในแง่บวกหรือที่ฝรั่งเรียกว่า positive thinking นั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่การฝึกจิตขั้นพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อให้จิตมีพลังหรือมีกำลังใจที่เข้มแข็งเท่านั้น ซึ่งหากไม่ระมัดระวังให้ดีก็อาจกลายเป็นการหลอกตัวเองหรือหลีกเลี่ยงหนีปัญหาไป ที่ถูกต้องแล้วเราต้องมองโลก ตามความเป็นจริง  เมื่อเกิดปัญหาหรือความทุกข์ขึ้นเราต้องพินิจพิจารณาตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท หรือ “อิทัปปัจจยตา” ใช้สติปัญญาพิเคราะห์ไตร่ตรองดูว่า  มีเหตุปัจจัยใดเกี่ยวข้องบ้าง  เพราะเหตุใด และจะมีวิธีการแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร  
             ดังนั้น ในการไกล่เกลี่ย ผู้ไกล่เกลี่ยจึงต้องแสดงความจริงใจด้วยการ “พูดความจริง”ทุกเรื่องกับคู่พิพาทอย่างเปิดเผยโปร่งใส ตรงไปตรงมา  อย่าทำให้เขามีความรู้สึกว่าเรากำลังให้ข้อมูลหรือคำแนะนำอันเป็นเท็จหรือหลอกล่อบีบคั้นให้เขาทำยอม  นอกจากนั้น การพูดให้มีความสมบูรณ์ตามหลักพระพุทธศาสนายังมีองค์ประกอบที่สำคัญอีก 3 ข้อ คือ  พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถูกกาละเทศะ และพูดด้วยความมีเมตตา โดยเฉพาะการพูดให้ถูกกาละเทศะนั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์หรือชั่วโมงบินอยู่พอสมควร
. ความจริงอันสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้ไกล่เกลี่ยควรจะหยิบยกขึ้นมาพูดในการไกล่เกลี่ยทุกครั้ง คือ ความจริงเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียระหว่างการยุติปัญหาด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยกับการพิจารณาคดีโดยศาล ซึ่งแน่นอนว่า เราต้องพยายามชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการไกล่เกลี่ยและข้อเสียของการพิจารณาคดีโดยศาลเป็นสำคัญ  ดังตัวอย่างตามตาราง[6]
ตารางเปรียบเทียบการพิจาณาคดีกับการไกล่เกลี่ย

            การพิจารณาคดี
                        การไกล่เกลี่ย
    1. มุ่งต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาชนะคะคานกัน
๑.     มุ่งประสานผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
    2. มุ่งขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีต
๒.   มุ่งมองอนาคตเพื่อคิดหาทางออกร่วมกัน
    3. มุ่งความถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลัก
๓.    มุ่งความพึงพอใจของคู่กรณีเป็นสำคัญ
    4. มุ่งความสมหวังเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการโดย
         เน้นประโยชน์ด้านวัตถุ ทรัพย์สิน เงินทอง
๔.    มุ่งแสวงหาความสุขด้านจิตใจ เน้นการเสียสละ เข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน
    5. มุ่งแก้แค้น เพิ่มความแตกแยกร้าวฉาน
๕.    มุ่งแก้ไขฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
    6. บังคับให้ยอม (ตามคำพิพากษา)
๖.     ยอมให้บังคับ (ตามที่ตกลงกัน)
    7. เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง
๗.    ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

 อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงคงเป็นเรื่องไม่เหมาะกับกาละเทศะหรือสถานการณ์หากเราจะพูดอธิบายทุกข้อโดยละเอียดในระหว่างการไกล่เกลี่ย คงต้องเลือกหยิกยกประเด็นขึ้นพูดตามเหตุผลของเรื่องแล้วแต่กรณีไปและต้องอาศัยจังหวะเวลาสอดแทรกที่เหมาะสม รวมทั้งต้องใช้ศิลปะการพูดอยู่พอสมควร นอกจากนั้น ควรพยายามคิดหาตัวอย่างประกอบเพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนด้วย ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียตามตารางในข้อ 3-5 ดังนี้
              การพิจารณาคดีโดยศาลจะมุ่งถึงความถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลัก โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง ส่วนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะมุ่งความถูกใจของคู่กรณีเป็นสำคัญ โดยให้ทั้งสองฝ่ายใช้ใจของตัวเองเป็นเครื่องกำหนดความยุติธรรม ซึ่งมีข้อสังเกตคือกฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดความยุติธรรมเท่านั้น บางครั้งบางทีกฎหมายกับความยุติธรรมก็ไปด้วยกันไม่ได้หรือเมื่อนำไปปรับใช้ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงกฎหมายที่คิดว่าเป็นธรรมนั้น ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความยุติธรรมเสียเอง ขณะที่การไกล่เกลี่ยจะมีความยืดหยุ่นสูง สามารถช่วยหาทางออกให้คู่กรณีได้อย่างหลากหลายกว้างขวางแทบไม่มีข้อจำกัด  
ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๓๓ บัญญัติเป็นหลักการไว้ว่า ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ซึ่งน่าจะเป็นหลักกฎหมายที่ชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องเป็นธรรมเป็นอย่างดี แต่สมมุติว่า ครอบครัวหนึ่งมีลูก ๒  คน คนโตไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเนื่องจากพ่อแม่มีฐานะค่อนข้างยากจน ต้องทนทุกข์ลำบากช่วยพ่อแม่หาเงินเพื่อส่งน้องเรียนจนจบปริญญาตรีมีหน้าที่การงานและครอบครัวที่ดี  ขณะที่พี่ยังยากจนลำบากอยู่เหมือนเดิม ปรากฏว่าหลังพ่อแม่เสียชีวิต มีทรัพย์มรดกเพียงเล็กน้อย แต่พี่น้องทั้งสองไม่สามารถตกลงแบ่งมรดกกันได้   หากนำเรื่องขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ศาลก็ต้องตัดสินคดีให้แบ่งทรัพย์มรดกคนละกึ่งหนึ่ง จะตัดสินเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คำถามก็คือว่าเกิดความยุติธรรมต่อทายาทผู้พี่หรือไม่ ? และปัญหาอะไรจะตามมาหลังศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว  ต่อปัญหาดังกล่าว หากเรื่องราวยุติลงด้วยการไกล่เกลี่ย ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ความยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นในใจของคู่กรณีได้มากยิ่งกว่าและที่สำคัญอาจช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องให้คืนดีดังเดิมหรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายย่ำแย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งสิ่งดีๆหรือประโยชน์สุขเช่นนี้คำพิพากษาของศาลทำให้ไม่ได้
             4. เรื่องเล่าหรือนิทานต่าง ๆ   ซึ่งมักจะแฝงคติเตือนใจหรือหลักธรรมไว้อย่างแยบยลและลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นนิทานชาดก นิทานอิสป หรือนิทานพื้นบ้าน หากนำไปปรับใช้ให้ถูกเรื่อง ถูกคน ถูกจังหวะโอกาส ก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือทำให้การไกล่เกลี่ยประสบผลสำเร็จได้ ตัวอย่างเช่น  ข้อพิพาทเกี่ยวกับคดีในครอบครัว อาจหยิบยกนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ที่จะต้องประพฤติกระทำให้อยู่กันเป็นผาสุกทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม มาเป็นตัวอย่างประกอบ ดังนี้ 
            ขณะนกเป็ดน้ำฝูงใหญ่กำลังบินอยู่เหนือทะเล เพื่ออพยพลงไปทางใต้ในตอนกลางฤดูหนาวของวันหนึ่ง มีนกหนุ่มตัวหนึ่งเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา มันเห็นว่าชีวิตนกไม่เห็นมีอะไรดีเลย วัน ๆมีแต่กวักปีกบินอยู่ตลอดเวลา ประเดี๋ยวก็อพยพไปทางใต้ประเดี๋ยวก็อพยพไปทางเหนือ เป็นภาวะจำเจซ้ำซากน่าเบื่อหน่ายเป็นที่สุด ทันใดนั้นมันจึงตัดสินใจหยุดบินเสียด้วยการหุบปีกเข้ากระชับกับลำตัว ทำให้ร่างของมันลอยละลิ่วลงสู่ท้องทะเลกระทบกับผิวน้ำอย่างแรงแล้วจมหายไป นกแก่ที่เป็นจ่าฝูงเห็นเข้า มันได้เปล่งอุทานออกมาเบา ๆว่า การบินเป็นหน้าที่โดยธรรมชาติของนก คุณค่าของนกอยู่ที่การบิน ถ้านกหยุดบินนกก็ไม่เป็นนกอีกต่อไป [7]
            ชีวิตคนเราก็เปรียบเหมือนกับนก คือ ต้องทำหน้าที่ตามธรรมชาติของตนเองให้ดีที่สุด เป็นตำรวจก็ต้องมีหน้าที่จับกุมคนร้าย เป็นครูก็ต้องมีหน้าที่สอนหนังสือ เป็นชาวนาก็ต้องมีหน้าที่ทำนา เป็นผู้พิพากษาก็ต้องมีหน้าที่ทำสำนวนคดี  เป็นพ่อแม่ก็ต้องมีหน้าที่เลี้ยงดูลูก เป็นลูกก็ต้องมีหน้าที่ทดแทนพระคุณผู้บุพการี เป็นสามีหรือภรรยาก็ต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลซึ่งกันและกัน ฯลฯ หากใครละทิ้งหน้าที่ย่อมหมายถึงการละทิ้งธรรมะและหากใครบกพร่องต่อหน้าที่ย่อมหมายถึงการบกพร่องต่อการปฏิบัติธรรม คนที่ละทิ้งหรือบกพร่องต่อหน้าที่ย่อมไม่อาจเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบได้และชีวิตก็จะมีแต่ความทุกข์มากกว่าความสุข
             เพราะฉะนั้น คู่กรณีทุกฝ่ายต้องต้องคิดทบทวนดูว่าปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากตนเองละเลยหรือบกพร่องต่อการทำหน้าที่หรือไม่ อย่างไร และควรจะหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันได้อย่างไร
            5. อุทาหรณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นในสังคม ก็สามารถนำไปปรับใช้เป็นตัวอย่างประกอบสำหรับการไกล่เกลี่ยได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างเกี่ยวกับพิษภัยที่เกิดจากความโลภหรือการแสวงหาอำนาจผลประโยชน์ทรัพย์สินเงินทองโดยมิชอบ ซึ่งสังคมไทยเรามีตัวอย่างที่น่าสนใจอันควรหยิบยกขึ้นเป็นอุทาหรณ์สอนใจได้มากมาย
            6. องค์ความรู้ต่างประเทศ  ต้องยอมรับความจริงกันว่า ต่างประเทศมีองค์ความรู้ดี ๆมากมาย ที่เราควรนำมาใช้เป็นแบบอย่าง อีกทั้ง ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าประเทศต่าง ๆที่ได้รับการยอมรับว่าเจริญแล้ว โดยเฉพาะโลกตะวันตกจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแต่หากพิจารณาดูให้ดีก็จะพบว่า หลายเรื่องมีหลักการแนวคิดที่ตรงกันหรือสอดคล้องสัมพันธ์กับหลักศาสนาพุทธอย่างน่าประหลาดใจ
           ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอายุยืนนานกว่าสองร้อยปี จะเห็นได้ว่ามีลักษณะสำคัญคือ กำหนดหลักการไว้กว้าง ๆมีความยืดหยุ่นสูงไม่ผูกมัดตายตัว สามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้ง ยังให้ความเชื่อมั่นหรือไว้วางใจในตัวมนุษย์ว่าจะสามารถใช้ดุลพินิจตีความกฎหมายได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 8 วรรค 18[8] ซึ่งมีผู้รู้ให้ความเห็นว่ามีลักษณะเป็น “อำนาจโดยนัย (implied power)” ที่ให้รัฐบาลกลางมีอำนาจเหนือรัฐบาลมลรัฐเพื่อความบูรณาภาพอย่างแท้จริง  เนื่องจากรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาไม่มีการกล่าวถึงอำนาจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามกาลสมัย เช่น อำนาจในเรื่องการตั้งธนาคารชาติ , การซื้อดินแดน , การจัดระเบียบการพานิชระหว่างมลรัฐ การส่งผู้ร้ายข้ามเขตมลรัฐ  ฯลฯ รัฐบาลกลางก็จะใช้อำนาจโดยนัยตามมาตราดังกล่าว ออกกฎหมายมาใช้บังคับโดยอ้างถึง“ความจำเป็นและเหมาะสม”ได้ เช่น การออกกฎหมายให้อำนาจแก่หน่วยงานรัฐบาลกลางอย่าง FBI ให้มีเขตอำนาจทั่วประเทศ เป็นต้น[9]  อันเป็นหลักการที่สอดคล้องตรงกันกับหลักศาสนาพุทธที่ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายมีการเกิดดับ ๆอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดคงที่ยั่งยืนโดยไม่เปลี่ยนแปลง ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป และยังมองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีสมอง มีสติปัญญา สามารถฝึกหรือศึกษาเรียนรู้และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้ ซึ่งการฝึกหัดพัฒนาของมนุษย์นั้น สามารถทำได้อย่างแทบไม่มีขีดจำกัดหรือไม่มีที่สิ้นสุด[10]
          อย่างไรก็ตาม การนำเอาข้อมูลความรู้ที่อยู่ไกลตัวมาปรับใช้นั้น แม้จะเป็นความรู้ที่ได้รับการยอมรับว่าดีเลิศ แต่หากไม่ระมัดระวังให้ดีหรือมีปัญญาลึกซึ้งพอ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เปรียบเสมือนการออกแบบก่อสร้างบ้านให้มีความมั่นคงแข็งแรงหรือการตัดเย็บเสื้อผ้าสวมใส่ เราคงไม่อาจนำรูปแบบวิธีการหรือวัสดุที่ใช้ซึ่งได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในประเทศตะวันตกมาปรับใช้ในบ้านเราให้เหมือนกันได้ทั้งหมด เพราะบ้านเราเป็นเมืองร้อน บ้านเขาเป็นเมืองหนาว อีกทั้งยังมีปัจจัยเงื่อนไขอื่น ๆอีกมากมายที่มีความแตกต่างกัน
 สำหรับเรื่องการไกล่เกลี่ยนั้น ผู้เขียนขอหยิบยกเทคนิควิธีการไกล่เกลี่ยของต่างประเทศที่เรียกว่า “การไกล่เกลี่ยแบบเน้นความต้องการที่แท้จริง (Interest-based Mediation)  มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ดังนี้
              หลักการสำคัญของวิธีการไกล่เกลี่ยแบบเน้นความต้องการที่แท้จริง คือ การช่วยคู่พิพาทให้เข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริงและเหตุผลเบื้องหลังของข้อพิพาท รวมทั้งความต้องการอันแท้จริงของคู่พิพาทแต่ละฝ่าย แล้วช่วยกันระดมความคิดความเห็นเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดร่วมกัน[11]  ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือ คำว่า “ความต้องการ” นั้น มีขอบเขตความหมายอย่างไร ?
หากนึกถึงปราชญ์ตะวันตกที่เคยศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงคิดถึง Abraham Maslow นักจิตวิทยาอันมีชื่อเสียงชาวยิวซึ่งเกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกา Maslow กล่าวถึงความต้องการของมนุษย์ว่า มนุษย์จะมีความต้องการเป็นลำดับขั้นจากต่ำสุดไปสูงสุด เมื่อความต้องการในระดับหนึ่งได้รับการตอบสนองแล้ว มนุษย์ก็จะมีความต้องการอื่นในระดับที่สูงขึ้นต่อไป โดยลำดับความต้องการจะมี 5 ขั้น คือ  
          (1) ความต้องการด้านร่างกาย (physiological  needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อากาศ น้ำดื่ม การพักผ่อน       เป็นต้น
          (2) ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (safety needs) มีที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ  ปราศจากความกลัวการสูญเสียและภยันตรายทั้งปวง  เช่น  ความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความต้องการความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน เป็นต้น
          (3) ความต้องการความผูกผันหรือการยอมรับจากสังคม (affiliation or acceptance needs
คือ ต้องการเป็นมิตรกับผู้อื่น  ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือหมู่คณะ ต้องการให้และได้รับซึ่งความรัก ต้องการได้รับการยอมรับและความชื่นชมจากบุคคลอื่น
          (4ความต้องการการยกย่องหรือความภาคภูมิใจในตัวเอง (self - esteem needs)  คือ ความต้องการให้ผู้อื่นยกย่องนับถือตัวเอง ความต้องการมีเกียรติ์มีศักดิ์ศรีและสถานะทางสังคม  เช่น  รางวัลเกียรติคุณ   ตำแหน่งบริหาร เป็นต้น
          (5) ความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ( self - actualization) ต้องการเป็นเอกลักษณ์ส่วนตน ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มความสามารถ ต้องการทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ[12] 
           สำหรับความต้องการของมนุษย์ในมุมมองของศาสนาพุทธ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้อธิบายไว้ในหนังสือพุทธธรรม สรุปได้ว่า ความอยากหรือความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์มี 2 ลักษณะ คือ ความอยากที่มุ่งประสงค์เวทนา ต้องการสิ่งสำหรับเอามาเสพเสวยเวทนาหรือสิ่งที่จะปรนเปรอตัวตน ซึ่งต้องอาศัยอวิชชาคอยหล่อเลี้ยงและให้โอกาส พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องตัวตน เอาตนเป็นศูนย์กลางและนำไปสู่ปริเยสนาหรือการแสวงหา เรียกว่า “ตัณหา”
           อีกลักษณะหนึ่งเรียกว่า “ฉันทะ” หมายถึง ความอยากที่มุ่งประสงค์อัตถะ คือ ตัวประโยชน์หรือสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความจริง สิ่งที่ดีงามหรือภาวะที่ดีงาม ฉันทะก่อตัวขึ้นจากโยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิดหรือคิดถูกวิธี คิดตามสภาวะและเหตุผล เป็นภาวะกลาง ๆของธรรม ไม่ผูกกับอัตตาและนำไปสู่อุตสาหะหรือวิริยะ ฉันทะถือเป็นธรรมที่สำคัญมากโดยพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล” [13]
            ตัณหากับฉันทะมีข้อแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ธรรมชาติความต้องการของมนุษย์ที่เรียกว่าตัณหานั้นจะไม่มีขอบเขตจำกัด  ดุจดั่งคำกล่าวของมหาตมะคานธี ที่ว่าโลกมีทรัพยากรเพียงพอที่จะเเบ่งปันให้เเก่มนุษย์ทุกคนตามที่จำเป็น เเต่มีไม่เพียงพอที่จะสนองความโลภของคนเเม้เพียงคนเดียว ขณะที่ธรรมชาติความต้องการของมนุษย์ที่เรียกว่าฉันทะจะมีขอบเขตอันจำกัดที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น มนุษย์เรานั้นจะกินอาหารโดยมีจุดประสงค์ความต้องการทั้งสองอย่างทับซ้อนกันอยู่  คือ กินเพื่อสนองตัณหา (อร่อย  โก้ แสดงฐานะ ฯลฯ) ซึ่งมีขอบเขตไม่จำกัดและกินเพื่อคุณภาพชีวิต (หล่อเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรง มีสุขภาพดี) ซึ่งมีขอบเขตจำกัด แน่นอนว่าหลักการที่ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ คือ มนุษย์ต้องมุ่งกินเพื่อฉันทะเป็นหลัก หากใครกินเพื่อมุ่งตัณหาเป็นสำคัญก็จะเป็นการบั่นทอนหรือทำลายชีวิตของเขาเองเพราะนั่นหมายถึง ทรัพย์สินเงินทองที่ต้องสูญเสียไปและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆที่จะตามมา
เพราะฉะนั้น สาระสำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนามนุษย์จึงได้แก่ การที่เราจะต้องพยายามหันเหหรือปรับเปลี่ยนความต้องการจากสิ่งเสพปรนเปรอตนที่มีลักษณะเป็นตัณหามาเป็นความต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตซึ่งเป็นฉันทะ  อย่างไรก็ตาม ความต้องการในทางพระพุทธศาสนานั้น ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นตัณหาหรือฉันทะก็ต้องปล่อยวาง เพียงแต่ว่ากรณีตัณหา หากเกิดมีขึ้นเมื่อไหร่ก็ต้องละในทันที ต่างจากฉันทะที่ต้องพยายามทำให้สำเร็จก่อนจึงค่อยละวางภายหลัง[14]
          จากแนวคิดความเห็นของ Maslow และคำสอนของพระพุทธเจ้าดังกล่าว มีข้อสังเกตดังนี้ 
          ประการแรก ความต้องการตามทฤษฎีของ Maslow จะมีลำดับเป็นขั้น ๆ ขอสมมุติเรียกว่า ความต้องการ “แนวตั้งหรือแนวดิ่ง” ขณะที่ความต้องการตามหลักศาสนาพุทธจะเป็นไปในลักษณะ “แนวนอน”  ซึ่งมีข้อแตกต่างกันคือ การแสวงหาความต้องการในแนวตั้งนั้นจะมีลำดับก่อนหลัง คือ ได้ลำดับ 1 ก่อน จึงค่อยคิดแสวงหาลำดับ 2 เมื่อได้ลำดับ 2 แล้วจึงแสวงหาลำดับ 3-4-5  ไล่เรียงกันไป ซึ่งหากพิจารณาสาระความต้องการทั้ง 5 ลำดับแล้ว ก็อาจสรุปได้ในแง่มุมหนึ่งว่า คนเรานั้นต้องช่วยเหลือตัวเองสร้างหลักสร้างฐานให้มั่นคงก่อน จึงค่อยคิดช่วยเหลือคนอื่นหรือสังคม แต่ก็ดูเหมือนจะหมิ่นเหม่อย่างยิ่งกับคำพูดที่ว่า “รวยก่อนแล้วค่อยคิดทำความดี” ซึ่งเชื่อว่าในสังคมไทยน่าจะมีคนที่มีแนวความคิดเช่นนี้อยู่ไม่น้อย ขณะที่ความต้องการตามหลักคิดแบบพุทธนั้น จะไม่แบ่งเป็นลำดับขั้นเหมือน Maslow เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือมีฐานะตำแหน่งชนชั้นในสังคมสูงต่ำอย่างไร ย่อมมีสิทธิแสวงหาความต้องการทั้งที่เป็นฉันทะและตัณหาได้เสมอ
          ประการที่สอง ความต้องการตามความเห็นของ Maslow ทั้ง 5 ลำดับ เป็นการพูดรวม ๆกันไป โดยไม่ได้แยกแยะว่าเรื่องไหนเป็นด้านบวกหรือสร้างสรรค์ เรื่องไหนเป็นด้านลบหรือทำลาย ซึ่งต่างจากความต้องการแบบพุทธที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการแตกต่างกันไปด้วย กล่าวคือ ตามหลักศาสนาพุทธจะสอนว่า การกระทำการใด ๆให้บรรลุซึ่ง “เป้าหมาย” นั้น นอกจากจะมี “หลักการ” ที่ถูกต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติแล้ว ยังต้องอาศัย “วิธีการ” ที่ชอบธรรมด้วย การพูดถึงความต้องการแบบรวม ๆโดยไม่แยกแยะว่า สิ่งไหนดีสิ่งไหนร้าย ย่อมสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะมุ่งยึด เป้าหมายเป็นที่ตั้งโดยไม่สนใจวิธีการว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ บางลัทธิถือว่า วิธีการใดก็ตาม ไม่ว่าจะดีหรือร้าย จะนุ่มนวลหรือรุนแรง ถ้าช่วยทำให้ประสบผลสำเร็จเป็นใช้ได้ทั้งนั้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นแนวคิดที่อันตรายอย่างยิ่ง [15]  หรือคำกล่าวที่ว่า “แมวขาวหรือแมวดำไม่สำคัญขอให้จับหนูได้เป็นพอ” หากนำไปปรับใช้ผิดที่ผิดเวลา ก็อาจส่งผลกระทบเสียหายใหญ่หลวงตามมาในภายหลังได้ ซึ่งในสังคมไทยสามารถคิดหาตัวอย่างกันได้ไม่ยาก ภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ จากการทำโพลสำรวจความเห็นของคนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนพบว่า การยอมรับในพฤติกรรมของนักการเมืองที่ว่า “โกงไม่เป็นไรขอให้มีผลงานหรือทำงานเก่ง” ดูเหมือนจะมีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ
           ประการที่สาม หากพิจารณาดูให้ดีก็จะเห็นได้ว่า ความต้องการตามความเห็นของ Maslow จะติดยึดพัวพันอยู่กับตัวตนหรือตัวกูของกูเป็นสำคัญ โดยแม้แต่ความต้องการสูงสุดในขั้นที่ 5 ก็ยังผูกติดอยู่กับตัวตนอย่างแนบแน่น ซึ่งต่างจากคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นเชิง เพราะมุ่งสอนให้มนุษย์พยายามลดอัตตาตัวตนให้มากที่สุดไม่ว่าด้านดีหรือด้านร้ายด้านบวกหรือด้านลบ เพราะสิ่งที่พระองค์ท่านได้ตรัสรู้ก็คือ ตัวตนทำให้เกิดทุกข์ อาจกล่าวได้ว่า ความต้องการลำดับสูงสุดของพระพุทธเจ้าคือ “ความต้องการเพื่อไม่ต้องการอะไร”  ประเด็นปัญหาใหญ่สำคัญ คือ ความต้องการสูงสุดตามความเห็นของ Maslow ลำดับที่ 5 นั้น หากเป็นการมุ่งเน้นไปในทางความต้องการที่เรียกว่า “ตัณหา” ย่อมเป็นเรื่องที่น่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะคำว่าผลสำเร็จในเป้าหมายชีวิตนั้น มีขอบเขตความหมายที่กว้างไกลและไร้ขอบเขต ซึ่งหากคิดดูให้ดีก็จะเห็นได้ว่า สงครามโลก การต่อสู้เข่นฆ่าหรือแย่งชิงอำนาจของมนุษย์โลกทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบัน  สาเหตุสำคัญน่าจะสืบเนื่องมาจากความต้องการในลำดับที่ 5 ตามแนวคิดของ Maslow นั่นเอง
               จากข้อสังเกตทั้ง 3 ประการ ดังกล่าว จึงเห็นว่า การที่จะคิดนำเอาแนวทางการไกล่เกลี่ยของต่างประเทศที่เรียกว่าการไกล่เกลี่ยแบบเน้นความต้องการที่แท้จริงมาปรับใช้ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์แท้จริงนั้น อันดับแรกเราต้องแยกแยะให้ได้ก่อนว่า สิ่งไหนเป็นความต้องการที่เรียกว่าฉันทะ สิ่งไหนเรียกว่าตัณหา จากนั้นก็ต้องพยายามชี้ให้คู่พิพาทเห็นประโยชน์ของความต้องการที่เป็นฉันทะและชี้ให้เห็นโทษหรือพิษภัยของความต้องการที่เป็นตัณหาให้ได้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักอริยสัจสี่ดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ  เป็นการพยายามทำให้ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ของคู่พิพาทลดลง อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องหมิ่นประมาท หากสิ่งสำคัญที่โจทก์หรือผู้เสียหายต้องการคือ การเรียกร้องเกียรติยศศักดิ์ศรีกลับคืนมาหรือต้องการแก้แค้นให้อีกฝ่ายหนึ่งถูกลงโทษ ย่อมถือได้ว่าเป็นความต้องการที่มีลักษณะเป็นตัณหาเพราะพัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับตัวตน เอาตัวตนของตัวเองเป็นศูนย์กลางของสิ่งทั้งปวง การแก้ไขปัญหาด้วยการฟ้องคดีนอกจากจะไม่สมประโยชน์ตามที่ต้องการแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงตามมาหลายประการ เพราะการฟ้องร้องและต่อสู้คดีกันก็เปรียบเสมือนการสาดโคลนเข้าหากัน สุดท้ายก็จะสกปรกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนกันไปทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะผู้เสียหายมักจะโดนหนักยิ่งกว่า  เนื่องจากในช่วงระหว่างการดำเนินคดีไม่ว่าจะอยู่ในชั้นตำรวจ อัยการหรือศาล คำกล่าวหรือการกระทำใด ๆที่คิดว่าทำให้ตนเองเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังนั้น จะถูกนำมาฉายซ้ำให้เจ็บปวดหัวใจครั้งแล้วครั้งเล่า และหากผลคดีในท้ายที่สุดศาลยกฟ้องก็จะยิ่งเจ็บหนักมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ หรือแม้จะชนะคดีแต่สิ่งที่ได้รับก็คงจะมีเพียงแค่ความสะใจเพียงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น  อีกทั้งคดีประเภทนี้ศาลมักจะพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกเสียเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนั้น  ยังจะต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่าย รวมทั้งย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตสุขภาพกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นความเสียหายที่ไม่อาจคิดคำนวณเป็นตัวเงินได้ ระหว่างการดำเนินคดีก็อาจมีการด่าว่ากระทบกระทั่งกันไปมา โดยเฉพาะในการสืบพยานชั้นศาลทั้งสองฝ่ายมักจะพยายามขุดคุ้ยเอาความชั่วร้ายหรือสิ่งที่น่าอับอายขายหน้าของอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาประจานอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส  ซึ่งสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่เรื่องราวจะลุกลามบานปลาย ก่อให้เกิดคดีแตกลูกแตกหลานออกไปไม่ว่าจะเป็นคดีฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ นำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งถึงขั้นคิดฆ่าเอาชีวิตกันก็มี  เรียกว่า คดีความ จบแต่ คดีแค้น ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความยังไม่จบตามไปด้วย
แต่หากสิ่งที่โจทก์หรือผู้เสียหายต้องการ คือ ความสงบสุขสันติหรือต้องการยุติเรื่องราวความขัดแย้งบาดหมางระหว่างกันให้สิ้นสุดลง ย่อมเป็นความต้องการด้านฉันทะ เพราะเป็นการมุ่งถึงตัวประโยชน์หรือสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแห่งชีวิต ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ การปล่อยวาง ให้อภัยและแผ่เมตตา และพยายามมองให้เห็นถึงซึ่งความจริงที่ว่า ชีวิตคนเรานั้นหากดำรงตนหรือประพฤติกระทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม เกียรติยศศักดิ์ศรีย่อมเกิดมีขึ้นในตัวอย่างแน่นอนโดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องมีใครนำมาหยิบยื่นให้และเมื่อเกิดมีขึ้นแล้วย่อมไม่มีคำพูดหรือการกระทำใด ๆของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะสามารถพรากมันออกไปจากชีวิตเราได้ ถึงใครไม่รู้เราก็รู้อยู่แก่ใจเราเองดี  ในทางตรงกันข้ามหากที่ผ่านมาเราดำรงตนหรือประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ไม่ถูกไม่ต้องไม่ดีไม่งาม ต่อให้คนครึ่งค่อนโลกกราบไหว้ทุกวัน เกียรติยศศักดิ์ศรีที่แท้จริงย่อมไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องรีบปรับปรุงแก้ไขตัวเองโดยเร็วที่สุด
             อาจสรุปได้ว่า การไกล่เกลี่ยแบบเน้นความต้องการที่แท้จริงของต่างประเทศกับแนวทางตามพุทธวิธีมีหลักการเช่นเดียวกัน คือ มุ่งค้นหาความต้องการอันแท้จริงของคู่พิพาทและสนองความต้องการนั้นให้ตรงจุดตรงเป้าหมาย  แต่แนวทางตามพุทธวิธีจะมีจุดเด่นที่ชัดเจน คือ การมุ่งเน้นสนองความต้องการด้านฉันทะเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่สร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริงและสมบูรณ์ยั่งยืนมากยิ่งกว่า  ต่างจากการพยายามสนองความต้องการที่เป็นตัณหาซึ่งบางครั้งบางทีอาจเป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าชั่วครั้งชั่วคราวหรือเป็นการกลบปัญหาหรือทิ้งเชื้อแห่งปัญหาค้างคาไว้ เพื่อรอการปะทุขึ้นใหม่ในวันข้างหน้า  เพราะแม้การไกล่เกลี่ยจะประสบผลสำเร็จสามารถตกลงยอมความกันได้ แต่กิเลสที่มีอยู่ในใจคนไม่ได้ยุติตามข้อตกลงไปด้วย
                ท้ายที่สุดนี้ ขอจบบทความด้วยคำปาฐกถาพิเศษของท่านศาสตราจารย์โสภณ  รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งเคยกล่าวไว้เนื่องในโอกาสที่ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มีอายุครบ 90 ปี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน  2540  ดังนี้
...สมัยที่ผมยังรับราชการอยู่ เคยถูกส่งไปอบรมวิชาการบริหาร ณ ที่นั้นอาจารย์ได้สอนถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาตามแนวที่ฝรั่งสอนกันอยู่ในเมืองนอกว่า  ขบวนการแก้ปัญหามี 4 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกต้องกำหนดตัวปัญหาให้แน่นอนก่อนว่า ปัญหาที่เราจะแก้นั้นคืออะไร หรืออะไรคือตัวปัญหา ขั้นตอนที่สองต้องหาเหตุของปัญหาให้ได้ ขั้นตอนที่สามต้องวางเป้าหมายที่เราต้องการในการแก้ปัญหาหรือผลที่จะได้รับนั่นเอง ขั้นตอนที่สี่ก็คือวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้        เมื่ออาจารย์กล่าวจบทุกคนที่เข้ารับการอบรมก็ยอมรับว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดี แต่ผมกลับแปลกใจว่า ทำไมวิธีการของฝรั่งนั้นจึงช่างตรงกันกับวิธีการของพระพุทธเจ้าในเรื่องอริยสัจสี่เสียเหลือเกิน...นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า บางทีของที่อยู่กับตัวเรา เราไม่เห็นคุณค่า ต้องไปให้ฝรั่งสอนเสียก่อน...

                                                ------------------------------


[1] ผู้พิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่.
[2] โสต สุตานันท์, “การไกล่เกลี่ยแนวพุทธ & สากล”, นิตยสาร “ดุลพาห”  เล่ม 3 ปีที่ 58 กันยายน – ธันวาคม  2554, หน้า 181-200.
[3] ท่านเจ้าคุณพระพรมหคุณาภรณ์ อธิบายไว้ในหนังสือ “พุทธธรรม” หน้า 79-150 พอสรุปได้ว่า หลัก “ปฏิจจสมุปบาท” แสดงความจริงของธรรมชาติให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มีลักษณะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ ทุกสิ่งเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย มีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน มีอยู่โดยความสัมพันธ์ ด้วยอาศัยปัจจัย ไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว ไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน ไม่มีมูลการณ์หรือต้นกำเนิดเดิมสุด อาการที่สิ่งทั้งหลายปรากฏเป็นรูปต่างๆมีความเจริญความเสื่อมเป็นไปต่าง ๆนั้น แสดงถึงสภาวะที่แท้จริงของมันว่าเป็นกระแสหรือกระบวนการอันประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่าง ๆที่สัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยกัน กระแสแห่งเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งทั้งหลายปรากฏและดำเนินไปได้ก็เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันและสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน  ภาวะที่ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป เรียกว่า อนิจจตา ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยเกิดสลาย มีความกดดันขัดแย้งแฝงอยู่ ไม่สมบูรณ์ในตัว เรียกว่า ทุกขตา และภาวะที่ไร้ตัวตนที่แท้จริงของมันเอง เรียกว่า อนัตตา
             สำหรับคำว่า “อิทัปปัจยตา” นั้น ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ภาวะที่มีอันนี้ ๆเป็นปัจจัย , ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย , กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย , กฎที่ว่าเมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้ก็ดับ , เป็นอีกชื่อหนึ่งของหลักปฏิจจสมุปบาทหรือปัจจยาการ”  นอกจากนั้น ท่านเจ้าคุณยังกล่าวอ้างอิงไว้ในหนังสือ “แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาและลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา” หน้า 9 ตอนหนึ่งว่า “...เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ตอนจะออกประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ทรงพระดำริซึ่งมีความตอนนี้ในพระไตรปิฎกบอกว่า  อธิคโต โข มยายํ  ธมฺโม  ธรรมที่เราบรรลุนี้ ทุรนุโพโธ  เป็นของที่รู้ตามได้ยาก กล่าวคือ หนึ่ง...อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท สอง...นิพาน...” และหน้า 98 ความว่า “..หลักธรรมที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทหรือเรียกเต็มว่าอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท...”  ดังนั้น ปฏิจจสมุปบาทกับอิทัปปัจจยตาจึงเป็นเรื่องเดียวกันหรือมีนัยยะความหมายอันเดียวกัน             
              อย่างไรก็ตาม  ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ปฏิจจสมุปบาท จะใช้สำหรับเป็นหลักพิจารณาเรื่องการเกิดและการดับทุกข์ของมนุษย์หรือใช้อธิบายวงจรของกรรมหรือวัฏฏะสงสารอันเป็นปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ในชีวิตมนุษย์เท่านั้น ส่วนอิทัปปัจจยตา จะใช้ในความหมายที่กว้างกว่า โดยใช้อธิบายถึงธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุอธิบายไว้ในหนังสือ “พระพุทธะองค์จริง” หน้า 37  ตอนหนึ่งว่า   เท่าที่นิยมใช้อยู่ในพระบาลีนั้น มันมีว่า ถ้าใช้คำว่าอิทัปปัจจยตา ก็หมายถึงทุกสิ่ง เป็นรูปธรรมนามธรรมตามธรรมชาติ แต่ถ้าใช้คำว่าปฏิจจสมุปบาทแล้ว จะกันเอามาแต่เฉพาะเรื่องของความทุกข์ที่มีในคนเท่านั้นแหละ ....และในหนังสือ “การควบคุมกระแสแห่งชีวิต” หน้า 43 ตอนหนึ่งว่า  อาการปฏิจจสมุปบาท ถ้ามันเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิต รู้สึกเป็นทุกข์ได้ ก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท; แต่ถ้าเป็นอาการทั่วไปๆของสิ่งไม่มีชีวิต เราเรียกว่าอิทัปปัจจยตา. อิทัปปัจจยตามันกว้าง ปรุงแต่งเกิดขึ้น ปรุงแต่งเกิดขึ้น ปรุงแต่งเกิดขึ้นของอะไร - ของอะไรก็ได้; แต่ถ้าว่าปรุงแต่งเกิดขึ้น...ปรุงแต่งเกิดขึ้นของสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ รู้สึกได้ นี่เรียกปฏิจจสมุปบาท; ระวัง, พูด 2 คำนี้ให้ถูกต้อง : ถ้าพูดกับสิ่งที่มีชีวิตเป็นทุกข์ได้ ก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ; ถ้าพูดกับอะไรก็ได้ : ก้อนหิน ดินทรายก็ได้, มันมีอาการปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นลำดับเหมือนกัน : อย่างนั้นเรียกว่า     อิทัปปัจจยตา.
[4]  พุทธทาสภิกขุ , เรื่องกรรมในมุมมองของพุทธทาส (กรุงเทพฯ : เพชรประกาย, 2548) ,หน้า  102.  
[5] อนุสร จันทพันธ์ และบุญชัย โกศลธนากุล.  “จริต 6 ศาสตร์ในการอ่านใจคน” . พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง, 2546) , หน้า 10.

[6] นพพร โพธิรังสิยากร,  การจัดการความขัดแย้งกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท, (กรุงเทพ : บริษัทธนาเพรส จำกัด, 2550), หน้า 72.
[7] แสง จันทร์งาม, เกร็ดธรรม “ประมวลข้อคิดทางปรัชญา-ศาสนา” เพื่อความสว่าง สะอาด สงบ สุขแห่งชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ 6 (เชียงใหม่:หจก.ธนุชพริ้นติ้ง, 2547) หน้า 1.
[8]  รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา มาตรา 8 วรรค 18  บัญญัติไว้ว่า  “ The Congress shall have Power - To make all Laws which shall be necessary and proper for carrying into Execution the foregoing Powers, and all other Powers vested by this Constitution in the Government of the United States, or in any Department or Officer thereof ”.
[9]  โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2555, หน้า 6.     
[10] ระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), เล่าเรียน-ทำงานกันไปชีวิตได้อะไร, (กรุงเทพ : บริษัทพิมพ์สวย จำกัด, 2550), หน้า 3.
[11] การไกล่เกลี่ยแบบเน้นความต้องการที่แท้จริง (Interest-based Mediation):ทำไมต้องเน้น “ความต้องการที่แท้จริง”, เทคนิค จิตวิทยาและการสื่อสาร สำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท, (กรุงเทพ : บริษัทธนาเพรส จำกัด, 2550), หน้า 5-9.
[12] สำนักบริการข้อมูลและสารสนเทศ, “ทฤษฏีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์”. [Online, Available : http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=2421.0, 13 พฤษภาคม 2555.
[13] พระพรหมคุณาภรณ์, พุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 11(กรุงเทพ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2552), หน้า 486.
[14] พระพรหมคุณาภรณ์, สลายความขัดแย้ง:นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ,  [Online], Available : http://watnyanaves.net/th/book_detail/438, หน้า 238 .
[15] พระพรหมคุณาภรณ์, “รัฐศาสตร์แนวพุทธ ตอนจริธรรมนักการเมือง”  [Online], Available : http://www.openbase.in.th/node/8662, หน้า 200, 13 พฤษภาคม 2555.