5/29/2555

การศึกษาแนวพุทธ


การศึกษาแนวพุทธ

ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวไว้ในหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” ว่า คำว่า “ธรรม” มีนัยความหมาย ๔ ความหมาย คือ
๑. ตัวธรรมชาติ  หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างหรือปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีชีวิต ไม่มีชีวิต เป็นรูปธรรม นามธรรม มองเห็น ไม่มองเห็น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สภาวธรรม” อาจกล่าวได้ว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ รวมถึงนิพพานก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง
                ๒. กฎธรรมชาติ หมายถึง กฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ ที่เรียกว่า “สัจธรรม”  เช่น กฎแห่งไตรลักษณ์  คือ ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป  กฎแห่งกรรม กฎแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก กฎแห่งการสืบพันธ์หรือพันธุกรรมต่าง ๆ  เป็นต้น
                ๓. การปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ หมายถึง สิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ต้องทำหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติไม่ได้  อย่างเช่น มนุษย์ต้องมีหน้าที่หายใจ กิน นอน ขับถ่าย ทำงานหาเลี้ยงชีพ หน้าที่ในฐานะพ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง รวมตลอดถึงหน้าที่ที่จะต้องพึงมีต่อสังคมส่วนรวม ประเทศชาติหรือต่อโลกต่อจักรวาล หากใครไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือทำหน้าที่บกพร่องก็จะไม่มีชีวิตอยู่รอดหรือไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้ อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาต้องทำหน้าที่เพราะเป็นหน้าที่ โดยหน้าที่และเพื่อหน้าที่
                ๔. ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ  นั้น ๆ ไม่มีอะไรที่ทำไปแล้ว จะไม่เกิดผลขึ้นมา ซึ่งโดยทั่วไปผลที่เกิดขึ้นจะมี ๒ แบบ คือ ด้านบวกหรือสิ่งที่พึงปรารถนาอันจะนำมาซึ่งความสุข กับด้านลบหรือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอันจะนำมาซึ่งความทุกข์ ตัวอย่างเช่น  หากมนุษย์ทำมาหากินด้วยการประกอบอาชีพสุจริต ทำแต่ความดี ผลตามธรรมชาติที่ออกมาย่อมเป็นด้านบวกก่อให้เกิดความสุข แต่หากประกอบมิจฉาชีพทำแต่ความชั่วผลตามธรรมชาติที่ออกมาย่อมเป็นด้านลบก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้น หลักการสำคัญสูงสุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์จึงได้แก่ การพยายามประพฤติปฏิบัติหรือแสดงท่าทีความสัมพันธ์ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบข้างทั้งหลายทั้งปวง โดยมุ่งก่อให้เกิดผลต่อชีวิตในด้านบวกหรือสิ่งที่พึงปรารถนาให้มากที่สุด
                คำถามก็คือว่า การจัดระบบการศึกษาของไทยที่ผ่านมามีความสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติที่ก่อให้เกิดผลในด้านบวกหรือไม่ อย่างไร โดยที่ปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และมีขอบเขตกว้างขวางอย่างมาก ด้วยเนื้อที่อันจำกัดนี้ ผู้เขียนขอนำประเด็นปัญหามาแลกเปลี่ยนความเห็นกับท่านผู้อ่าน ๒  เรื่อง คือ
                เรื่องแรก  ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกันจึงจะอยู่รอด และการพัฒนามนุษย์ก็ต้องอาศัยมนุษย์ด้วยกันเป็นสำคัญ รูปแบบการศึกษาที่จัดห้องเรียนให้เด็กที่เรียนเก่งอยู่ห้องเดียวกันและแยกเด็กที่เห็นว่าเรียนไม่เก่งไว้อีกห้องหนึ่งต่างหาก หรือสร้างกติกาเงื่อนไขให้เด็กที่เรียนเก่งกับเรียนไม่เก่งแยกกันอยู่คนละโรงเรียนนั้น หากมองเผินๆก็ดูเหมือนว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ของเด็กและก่อให้เกิดความสะดวกต่อการสอนของครู  แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า หลังเรียนจบทุกคนต้องใช้ชีวิตหรือทำงานร่วมกันกับทั้งคนเก่งและคนไม่เก่งและจะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอยู่เสมอตลอดเวลา  อีกทั้ง ยังเห็นว่าการเน้นให้คำจำกัดความของคำว่า “คนเก่ง”  คือ คนที่จำแม่นและคำนวณเก่งนั้น น่าจะเป็นการให้ความหมายที่คับแคบและผิวเผินเกินไป เพราะในความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์มีหลายมิติหลายแง่มุมทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพจิต สุขภาพกาย นิสัย ความประพฤติ ความเข้มแข็งอดทน มานะพยายาม วุฒิภาวะทางอารมณ์ ความชอบความถนัด ทัศนคติ มุมมอง  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คุณธรรมจริยธรรม คุณค่าที่สังคมกำหนด ฯลฯ
           จะว่าไปแล้วหากพิจารณาอย่างเป็นองค์รวมการที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่รอดหรือสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข การจำแม่นและคำนวณเก่งถือเป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งอันน้อยนิดเท่านั้น  แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยกลับให้ความสำคัญอย่างมากมายและส่งผลทำให้การจัดระบบการศึกษาในหลาย ๆเรื่องผิดเพี้ยนบิดผันไป ที่ถูกต้องแล้ว หากประสงค์ที่จะแบ่งกลุ่มประเภทคนเพื่อจัดระบบวางแผนการศึกษา การจัดแบ่งตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยอาศัยหลักเกณฑ์ในเรื่องของระดับศีลธรรมหรือการเข้าใจและเข้าถึงซึ่ง “ธรรม” ตามความหมายที่ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวไว้ข้างต้น น่าจะเป็นประโยชน์และสร้างสรรค์มากยิ่งกว่า
            จากที่กล่าวมาจึงเห็นว่า จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ถ้าเราจะจัดระบบการศึกษาให้คนเก่งมาก เก่งน้อย เก่งปานกลางหรือคนที่ถูกกล่าวหาว่าไม่เก่ง รวมทั้งคนที่มีฐานะรวยมาก รวยน้อย รวยปานกลางและคนจน ได้มีโอกาสเรียนด้วยกัน เพราะนั่นหมายถึง การทำให้เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงที่เขาจะต้องก้าวออกไปเผชิญตลอดชีวิตหลังเรียนจบ เขาจะได้เรียนรู้และเข้าใจว่าผู้คนทั้งหลายในสังคมซึ่งมีฐานะความเป็นอยู่และความรู้ความสามารถที่แตกต่างกันนั้น มีความรู้สึกนึกคิด มีคุณค่าความสำคัญ มีความชอบความถนัดหรือความต้องการที่แตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร และทุกคนในสังคมจะอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างไรจึงจะก่อให้เกิดความสงบสุข ไม่ใช่มองเห็นและเข้าใจโลกเพียงส่วนเดียวหรือแต่บางส่วนที่แตกต่างกัน ทั้ง ๆที่อยู่ในสังคมเดียวกัน (ซึ่งน่าจะเป็นต้นเหตุที่มาอันสำคัญประการหนึ่งของปัญหาเรื่องการแยกกลุ่ม แยกสี แยกฝ่าย ในสังคมไทยขณะนี้)
                นอกจากนั้น ยังเห็นว่าการขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนาก้าวหน้าในด้านต่าง ๆจะมีพลานุภาพหรือประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เพียงใดนั้น สมาชิกทุกคนในสังคมย่อมมีบทบาทสำคัญ หากสังคมใดมีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวให้ความร่วมไม้ร่วมมือกันเรื่องยากก็จะเป็นเรื่องง่าย แต่หากสังคมใดมีแต่ความแตกแยกขัดแย้ง ขัดแข้งขัดขากันเรื่องง่ายก็จะเป็นเรื่องยาก ถามว่าการจัดระบบการศึกษาแบบแยกส่วนด้วยการพยายามทุ่มเททรัพยากรซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดเพื่อสนับสนุนหรือให้โอกาสคนส่วนน้อยที่เห็นว่าเป็นคนเก่งหรือสร้างกฎเกณฑ์เงื่อนไขให้คนที่มีฐานะร่ำรวยมากกว่าได้มีโอกาสมากยิ่งขึ้น แล้วละทิ้งเพิกเฉยหรือไม่สนใจดูแลคนส่วนมากที่อยู่ในฐานะด้อยกว่าเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้อยู่ในฐานะที่เสียเปรียบมากขึ้นไปอีก  กับการจัดระบบด้วยการพยายามให้ทุกคนทุกฝ่ายได้ก้าวเดินไปพร้อม ๆกัน ศึกษาเรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกัน มีอุปสรรคปัญหาอะไรก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไขประคับประคองกันไป เรียกว่าก้าวไปอย่างช้า ๆแต่มั่นคงและยั่งยืน สิ่งไหนจะดีกว่ากัน
เรื่องที่สอง  ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์กล่าวไว้ในหนังสือ“พุทธธรรม”ว่าความอยากหรือความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์จะมี ๒ ลักษณะ คือ ความอยากที่มุ่งประสงค์เวทนา ต้องการสิ่งสำหรับเอามาเสพเสวยเวทนาหรือสิ่งที่จะปรนเปรอตัวตน ซึ่งต้องอาศัยอวิชชาคอยหล่อเลี้ยงและให้โอกาส พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องตัวตน เอาตนเป็นศูนย์กลางและนำไปสู่ปริเยสนาหรือการแสวงหา เรียกว่า “ตัณหา”
               อีกลักษณะหนึ่งเรียกว่า “ฉันทะ” หมายถึง ความอยากที่มุ่งประสงค์อัตถะ คือ ตัวประโยชน์หรือสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความจริง สิ่งที่ดีงามหรือภาวะที่ดีงาม ฉันทะก่อตัวขึ้นจากโยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิดหรือคิดถูกวิธี คิดตามสภาวะและเหตุผล เป็นภาวะกลางๆของธรรมไม่ผูกกับอัตตาและนำไปสู่อุตสาหะหรือวิริยะ ฉันทะถือเป็นธรรมที่สำคัญมากโดยพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล”
               อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นตัณหาหรือฉันทะก็ต้องปล่อยวาง เพียงแต่ว่า กรณีตัณหานั้นหากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ต้องละในทันที ต่างจากฉันทะที่ต้องพยายามทำให้สำเร็จก่อนจึงค่อยละวางภายหลัง ทั้งนี้ ท่านเจ้าคุณได้ยกตัวอย่างไว้อย่างน่าสนใจคือ  ในการกินอาหาร ความต้องการที่เป็นสาระคือ ต้องการคุณภาพชีวิต เพื่อจะหล่อเลี้ยงให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี  แต่อีกด้านหนึ่งมนุษย์ต้องการกินอาหารดี ๆเพื่อเสพรส ความเอร็ดอร่อยหรือความโก้ แสดงฐานะ ซึ่งเป็นตัณหาและอาจกลับมาทำลายคุณภาพชีวิตมนุษย์ในท้ายที่สุด ท่านผู้อ่านลองนึกถึงตัวอย่างเรื่องอื่น ๆดู ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆหรือแม้กระทั่งการทำบุญทำกุศล หากพิจารณาดูให้ดีก็จะพบว่ามีทั้งความต้องการที่เรียกว่าฉันทะและตัณหาทั้งสิ้น
นอกจากนั้น ท่านเจ้าคุณยังเคยแสดงธรรมบรรยายในหัวข้อเรื่อง “เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ” ไว้อีกตอนหนึ่งว่า ในทางพุทธศาสนามองว่า ธรรมชาติของมนุษย์จะมีทั้ง “การแข่งขัน” และ “การร่วมมือ”  กรณีการแข่งขันจะมุ่งเน้นเพื่อสนองตัณหาหรือความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอเป็นสำคัญ ซึ่งโดยธรรมชาติของการแข่งขันมักจะต่อสู้กันอย่างเต็มที่ เพราะต่างคนต่างก็อยากได้เข้ามาหาตัวให้มากที่สุด ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเต็ม  สำหรับการร่วมมือนั้นจะมีทั้ง “ความร่วมมือเทียม” และ“ความร่วมมือแท้”  ความร่วมมือเทียม เช่น การยั่วยุให้ประชาชนมีความรู้สึกชาตินิยมเพื่อรวมหัวกันต่อต้านสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น  ส่วนความร่วมมือแท้ คือ การร่วมมือกันในความพยายามที่จะสนองความต้องการหรือคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต  ดังนั้น ธรรมชาติของมนุษย์จึงมีทางที่จะฝึกให้ร่วมมือกันได้ และการฝึกฝนพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่งก็คือ การที่จะหันเหให้มนุษย์เปลี่ยนจากการแข่งขันกันมาร่วมมือกันในการที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์
คำถามก็คือว่า ที่ผ่านมาการจัดระบบการศึกษาของไทยเป็นอย่างไร ? มุ่งสนองความอยากหรือความต้องการที่เรียกว่าฉันทะหรือตัณหา ?  มุ่งการแข่งขันหรือการร่วมมือ ? หากเป็นการร่วมมือเป็นความร่วมมือแท้หรือความร่วมมือเทียม ? เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงหาคำตอบกันได้ไม่ยาก
 กล่าวเฉพาะปัญหาเรื่องกระบวนการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการกันอย่างไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ การส่งเสริมสนับสนุนให้มีการแข่งขันกัน แทบจะหาคำว่าการร่วมมือไม่ได้เลยแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าความร่วมมือเทียม และดูเหมือนว่านับวันการต่อสู้แข่งขันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับและกำลังลุกลามบานปลายไปสู่ระดับชั้นมัธยมอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากไม่รีบคิดหามาตรการแก้ไข  ท้ายที่สุด เชื่อว่าปัญหาการแข่งขันคงจะฝังรากลึกลงไปเรื่อย ๆจนถึงระดับชั้นอนุบาลอย่างแน่นอน ต่อไปเพียงแต่รู้ว่าตั้งท้องก็คงต้องรีบคิดวางแผนติดต่อหาโรงเรียนให้ลูกไว้ล่วงหน้ากันแล้ว
เป้าหมายหลักสำคัญประการหนึ่งสำหรับการจัดระบบการศึกษาของไทยในอนาคตจึงได้แก่ “การลดการแข่งขัน” และ “เพิ่มการร่วมมือ” อย่างเช่น กระบวนการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยตามตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นกล่าวอ้างข้างต้นนั้น  รูปแบบวิธีการอย่างหนึ่งที่คิดว่าน่าจะช่วยลดการแข่งขันได้ คือ การจัดระบบสิทธิหรือโควต้าแก่นักเรียนชั้นมัธยมให้ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่าง ๆด้วยการพิจารณาให้สิทธิตามอัตราส่วนจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมทั้งหมดทั่วประเทศต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่ง โดยใช้ผลการเรียนในโรงเรียนเป็นเกณฑ์สำหรับการพิจารณาคัดเลือกเพียงอย่างเดียวไม่ต้องสอบแข่งขันอีก เช่น  สมมุติว่านักเรียนมัธยมทั่วประเทศมี ๒๐๐,๐๐๐ คน มหาวิทยาลัยทั้งหมดรับได้ ๑๐๐,๐๐๐ คน  โรงเรียน ก. มีนักเรียน ๕๐๐ คน ก็จะมีสิทธิได้เข้าเรียน ๒๕๐ คน โดยคนที่มีสิทธิเข้าเรียนได้แก่คนที่มีคะแนนลำดับที่ ๑-๒๕๐ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ โดยให้นักเรียนชั้นมัธยมทุกคนเรียนเหมือนกันหมดทุกวิชา ไม่แบ่งออกเป็นแผนต่าง ๆ แต่กรณีบางวิชาที่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้เป็นพิเศษสำหรับบางคณะในมหาวิทยาลัยเท่านั้น เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา  ไม่ควรกำหนดเนื้อหาให้เรียนอย่างละเอียดลึกซึ้งมากนัก ควรจัดระบบให้ไปเรียนอย่างเข้มข้นในระดับมหาวิทยาลัยปี ๑-๒  และอาจปรับลดระยะเวลาการเรียนชั้นมัธยมเหลือ ๕ ปี แล้วเพิ่มระยะเวลาในมหาวิทยาลัยเป็น ๕ ปี ก็ได้
 ถึงแม้วิธีการเช่นนี้จะยังมีการแข่งขันกันอยู่แต่ขอบเขตของการแข่งขันจะแคบและลดน้อยลงอย่างมาก และน่าจะเป็นการแข่งขันที่เรียกว่า fair มากที่สุด เพราะทุกคนอยู่ภายใต้เงื่อนไขกติกาที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งต่างจากระบบในปัจจุบันที่มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างและได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างมาก  นอกจากนั้น  แนวทางดังกล่าวยังน่าจะก่อให้เกิดผลดีและมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญในหลาย ๆเรื่อง เช่น ปัญหาการแย่งกันเข้าโรงเรียนดัง รวมทั้งปัญหาเรื่องเงินใต้โต๊ะ เงินแป๊ะเจี๊ยะซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อให้เกิดมะเร็งร้ายในสังคมจะหมดไปทันที นักเรียนจะให้ความสำคัญกับการเรียนในห้องเรียนมากขึ้น เพราะอนาคตไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกวดวิชาเป็นสำคัญอีกต่อไป เด็กต่างจังหวัดต่างอำเภอจะมีความหวัง มีกำลังใจและมีความกระตือรือร้นในการเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะมีโอกาสที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังได้ไม่น้อยไปกว่าคนในกรุงเทพฯหรือในเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันครูทั่วประเทศก็จะมีกำลังใจในการสอนมากขึ้นอีกเช่นกัน เพราะนักเรียนเก่ง ๆจะกระจายอยู่ในทุกโรงเรียน ปัญหาเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ฐานะไม่ดีนักจะบรรเทาเบาบางลงไป เพราะลูกหลานเรียนอยู่ในโรงเรียนใกล้บ้าน  เป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี ความแตกต่างเหลื่อมล้ำในสังคมจะลดลงไป และที่สำคัญจะช่วยทำให้ความเครียดของคนไทยลดลงทั้งแผ่นดินในทันที ฯลฯ
อาจมีคนโต้แย้งว่าแนวทางดังกล่าวจะส่งผลทำให้ได้คนที่ไม่มีคุณภาพหรือระดับสติปัญญาที่ดีพอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสเรียน ทำงาน สอนหนังสือ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอีกกว่าสิบจังหวัด ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ในภาพรวมแล้วศักยภาพความรู้ความสามารถและระดับสติปัญญาของผู้คนในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดไม่แตกต่างกัน โรงเรียนต่างจังหวัดหลายแห่งที่พัฒนาตัวเองจนโดดเด่นขึ้นมาไม่ด้อยไปกว่าโรงเรียนดัง ๆทั้งหลาย ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ยืนยันความเห็นดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
แนวทางข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างรูปแบบวิธีการในภาพรวมอย่างกว้าง ๆเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีทั้งข้อดีข้อเสียและมีปัญหาอุปสรรคในรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย แต่หากเรามี “หลักการ” และ “เป้าหมาย” ที่ถูกต้องชัดเจน มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับความหมายของคำว่า “ธรรม” เป็นอย่างดีแล้ว ในส่วนของ “วิธีการ” ย่อมไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป./