9/06/2555

สิทธิการใช้ชื่อสกุลและคำนำหน้านามของหญิงไทย


                                            สิทธิการใช้ชื่อสกุลและคำนำหน้านามของหญิงไทย

        เนื้อหาบทที่ผ่านมา ผู้เขียนได้หยิบยกหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการข่มขืนกระทำชำเรา  มาเป็นตัวอย่างในการศึกษาวิเคราะห์หลักการแนวคิดที่เรียกว่า “นิติศาสตร์แนวพุทธ” ไปแล้ว  เพื่อเป็นการยืนยืนว่า  หลักการแนวคิดดังกล่าวสามารถนำไปปรับใช้ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมได้    ในบทนี้จึงขอนำหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง “สิทธิการใช้ชื่อสกุลและคำนำหน้านามของหญิงไทย”  มาปรับวิเคราะห์เป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง   โดยขอแบ่งเนื้อหาสาระออกเป็น ๓ ส่วน เช่นกัน  คือ  กฎมนุษย์   กฎธรรมชาติ  และ การปรับวิเคราะห์ปัญหา
         กฎมนุษย์
         ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล  พ.ศ.  ๒๕๐๕  แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ
ที่  ๓ (พ.ศ. ๒๕๔๘)  และพระราชบัญญัติคำนำหน้าหญิง  พ.ศ. ๒๕๕๑   ได้บัญญัติเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ชื่อสกุล และการใช้คำนำ หน้านามของหญิงที่มีหรือเคยมีสามีไว้โดยสรุปดังนี้  คือ 
          ๑. คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตนก็ได้ [1]
          ๒. หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว  จะใช้คำนำหน้านามว่า  นาง  หรือ  นางสาว ก็ได้ตามความสมัครใจ [2]
          ๓. หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว  หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า  นาง  หรือ  นางสาว   ก็ได้ตามความสมัครใจ [3]  
      กฎธรรมชาติ
         เกี่ยวกับเรื่องนี้มีกฎธรรมชาติสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อธิบายที่มาของความรู้สึกที่เป็นตัวตนของมนุษย์หรือที่ท่านพุทธทาสภิกขุ เรียกว่า ตัวกู ของกูไว้ว่า  มีจุดเริ่มต้นที่ ผัสสะ   คือ  เมื่ออายตนะข้างใน  ได้แก่  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  กับอายตนะข้างนอก  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส   โผฏฐัพพะ  ธัมมารมณ์  พบกันเข้า จะทำให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่าวิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ   ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ    ตามสภาวธรรมของร่างกายและจิตใจ เปรียบเสมือนการมีเมล็ดพืชอยู่  เมื่อมีแผ่นดิน มีน้ำ มีอากาศ มีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะหน่องอกขึ้นมาตามธรรมชาติ 
         เมื่อมีผัสสะแล้ว  ก็จะมี  เวทนา   เกิดขึ้น  คือ  ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์  และหลังจากนั้น ก็จะมีความอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น  ซึ่งก็คือ กิเลส ตัณหา  นั่นเอง    จากกิเลส  ตัณหาก็จะเกิด อุปาทาน  คือ  ยึดมั่นถือมั่นไปตามความอยาก  แล้วจะทำให้เกิดจิตชนิดที่เรียกว่า  ตัวฉัน  หรือ   ตัวกู ของกู  ขึ้นมา  ฉันต้องการ ฉันอยากคิด  อยากทำ  อยากพูด   ฯลฯ   เกิดตัวฉันที่มีความรู้สึกอยาก  เกิดความคิดที่จะสนองความอยากความต้องการของตัวเองเรียกว่า มโนกรรม  จากนั้นก็อาจมีการแสดงออกด้วยการกระทำเรียกว่า  กายกรรม และอาจมีการพูดที่เรียกว่า  วจีกรรม 
          หลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น  สามารถสรุปได้เพียงคำเดียวคือ   การไม่มีตัวตน    หมายความว่า    ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เรียกว่า เวทนา นั้น  มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของสิ่งที่มีร่างกาย  มีชีวิต  มีจิตใจ  มีอะไรให้ปรุงแต่งนึกคิดได้   สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ของเรา  ไม่ใช่ของคนอื่น   ไม่ใช่ของพระเจ้า หรือของใครทั้งสิ้น    การที่จะทำให้กรรมสิ้นไปนั้น  ต้องจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า  ตัวตน  ให้ได้   หากไม่เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า ตัวกู ของกู  เมื่อใด  จิตนั้นก็จะอยู่เหนือวิสัยที่จะมีกรรมได้ และ เมื่อนั้นก็จะสิ้นกรรม บรรลุสู่นิพพาน  เป็นพระอรหันต์  ไม่มีดี  ไม่มีชั่ว  ไม่มีบาป  ไม่มีบุญ ไม่มีดำ  ไม่มีขาว ฯลฯ [4]  
        การปรับวิเคราะห์
         จากกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์ดังกล่าว    จะเห็นได้ว่าการที่หญิงซึ่งสมรสแล้วต้องการเรียกร้องสิทธิในการเลือกใช้นามสกุลของตนเอง และมีสิทธิใช้คำนำหน้าว่า นาง หรือ นางสาว  ก็ได้นั้น     ปฏิเสธไม่ได้ว่า   เป็นการเพิ่มอัตตา เพิ่มความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในตัวกู ของกูมากขึ้น     ซึ่งเป็นแนวคิดที่สวนทางกับแนวทางการพัฒนาจิตตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ   กฎหมายในลักษณะดังกล่าวไม่น่าจะสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาตินั่นเอง  ซึ่งผลสุดท้ายก็จะไม่สามารถให้ประโยชน์ที่แท้จริงยั่งยืน  ตามความต้องการของมนุษย์ได้ 
         ถามว่าการบัญญัติกฎหมายไว้เช่นนั้น   หากหญิงใดประสงค์จะใช้สิทธิตามที่กฎหมายให้ไว้  จะก่อให้เกิดประโยชน์อันใดกับหญิงนั้นหรือสังคมโดยส่วนรวมบ้าง   นอกจากความรู้สึกภาคภูมิใจหรือหยิ่งทะนงตนในการที่ได้ใช้นามสกุลบรรพบุรุษของตนเองหรือความรู้สึก ดี ๆที่เกิดขึ้นจากการพยายามหลอกทั้งตัวเองและสังคมว่า   ฉันยังเป็นโสด ทั้ง ๆที่มีสามีหรือเคยมีสามีมาแล้ว   นอกเหนือจากนี้  ดูเหมือนจะยังประโยชน์อะไรไม่ได้เลย  ซ้ำร้ายยังน่าจะก่อให้เกิดปัญหาและข้อยุ่งยากต่าง ๆตามมาอีกมากมาย  ตัวอย่างเช่น   
         ๑. ทำให้ครอบครัวขาดความเป็นเอกภาพและรู้สึกไม่มั่นใจซึ่งกันและกัน  บางครั้งเพียงแค่คิดจะเริ่มต้นใช้ชีวิตร่วมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยการพากันไปจดทะเบียนสมรส ก็อาจมีเรื่องให้ทะเลาะโต้เถียงกันว่า  จะใช้นามสกุลใครดี   ซึ่งย่อมแน่นอนว่า  ฝ่ายที่ยอมแพ้ก็คงรู้สึกไม่พอใจบ้างไม่มากก็น้อย   หรือหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็คงต้องใช้นามสกุลของใครของมัน  ซ้ำร้ายกว่านั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย เป็นคนใจร้อน มีทิฐิสูง  ก็อาจถึงขั้นเลิกร้างกันไปเสียก่อนที่จะมีการเริ่มต้นก็เป็นได้  
         ในการตัดสินใจใช้ชีวิตคู่  ร่วมหอลงโรงกันนั้น   เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  ครอบครัวจะเป็นสุขได้ทั้งสองฝ่ายต้องมีความรัก ความปรารถนาดี  มีน้ำใจ ให้อภัย เสียสละ ฯลฯให้กันและกัน   ถ้าหากเพียงแค่การยอมใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่สามารถทำใจหรือยอมเสียสละได้   ก็คงเป็นไปได้ยากที่ครอบครัวจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข   ที่กล่าวเช่นนี้ มิใช่เพราะเหตุว่า ผู้เขียนเป็นผู้ชาย  ยืนยันได้ว่า   หากมีกฎหมายบัญญัติบังคับให้สามีต้องใช้นามสกุลของภรรยา  ก็จะยินยอมน้อมรับปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ โดยไม่มีปัญหาใด ๆทั้งสิ้น
     ๒. ก่อให้เกิดความรู้สึกใหม่ในครอบครัว ซึ่งมิใช่สิ่งที่จะรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขในครอบครัว  หากแต่มีความโน้มเอียงไปในทางสร้างความแตกแยกร้าวฉานในครอบครัว คือ  ไม่ว่าเรื่องใดในระหว่างสามีกับภริยาจะต้องให้เท่าเทียมกัน จะมีความรู้สึกที่ว่า “นี่ของฉัน นั่นของเธอนะ  ฉันไม่เกี่ยว”  แทนที่จะกล่าวร่วมกันด้วยความภาคภูมิใจว่า    “นี่ของเราทั้งสองคนด้วยกันนะ”  เรื่องนี้อาจจะนำไปสู่ความรู้สึกที่ว่า “ถือเงินกันคนละถุง”  ซึ่งเป็นปัญหาและเหตุแห่งการหย่าร้างมากที่สุดเหตุหนึ่งในโลกตะวันตก [5]
         ๓. นอกจากจะเป็นปัญหาระหว่างสามีภรรยาแล้ว   ลูกเองตอนเล็ก ๆก็คงจะรู้สึกสับสนอยู่ไม่น้อยว่า   ทำไมนามสกุลพ่อกับแม่ของเพื่อน ๆเหมือนกัน (ปัจจุบันน่าจะเป็นส่วนใหญ่)   แต่ของพ่อแม่ตนเองทำไมถึงไม่เหมือนกัน   และเมื่อลูกบรรลุนิติภาวะขึ้นมา  ก็อาจต้องการอยากเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของแม่บ้าง เพราะเห็นว่านามสกุลพ่อเชยหรือเซาะกราว[6]เหลือเกินหรือมองว่าต้นตระกูลของพ่อช่างยากจนต่ำต้อยอะไรเช่นนั้น   หรือบางทีก็อาจเป็นความต้องการของแม่เองที่อยากจะให้ลูกใช้นามสกุลที่ไพเราะเพราะพริ้งหรือมีชื่อเสียงโด่งดังของตัวเองบ้าง  หลังจากที่เสียสิทธิให้ลูกใช้นามสกุลพ่อมานานถึง ๒๐ ปี [7]  ถึงคราวนี้ ครอบครัวก็อาจจะมีปัญหาให้ทะเลาะขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง
         ๔.  การที่กฎหมายเดิมบัญญัติให้หญิงใช้นามสกุลของสามี  และบัญญัติให้หญิงที่สมรสแล้วใช้คำนำหน้านามว่า  นาง  นั้น    น่าจะมีเจตนารมณ์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เพื่อให้คนในสังคมได้รับรู้สถานภาพของหญิงว่าเป็นเช่นไร  พูดง่าย ๆก็คือ  จะได้รู้ว่ามีลูกมีผัวหรือเคยมีแล้วหรือยัง    ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการติดต่อสัมพันธ์หรือการก่อนิติกรรมสัญญาใด ๆกับบุคคลอื่น (บางกรณีต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส)  การให้หญิงมีสามียังมีสิทธิใช้คำนำหน้านามว่า  นางสาว  และยังมีสิทธิใช้นามสกุลตัวเองอยู่นั้น  อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของชายที่คิดหมายปอง หรือคิดจะลงหุ้นค้าขาย ทำนิติกรรมสัญญาใด ๆด้วย  โดยหญิงนั้นอาจมีเจตนาปกปิดหรือชายเข้าใจผิดคิดไปเองก็เป็นได้  
         กรณีปัญหาเรื่องชายเข้าใจผิดคิดหมายปองนั้น  นอกจากจะเป็นต้นเหตุอย่างหนึ่งของการเป็นชู้ คิดนอกใจกันแล้ว    ยังอาจส่งผลไปถึงการนำสืบพิสูจน์พยานในคดีบางเรื่อง  เช่น กรณีฝ่ายชายถูกสามีหญิงฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนด้วยเหตุเป็นชู้หรือล่วงเกินในทำนองชู้สาว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๕๒๓[8]  ซึ่งชายผู้ถูกฟ้องอาจต่อสู้ว่าไม่ทราบว่าหญิงมีสามีแล้วก็เป็นได้     นอกจากนั้น การระบุสถานภาพของหญิงไว้เป็นหลักฐานอย่างถูกต้องชัดเจน สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายนั้น   ยังน่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการจัดเก็บสถิติ หรือการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆเกี่ยวกับประชากรอีกทางหนึ่งด้วย      
         จริง ๆแล้ว  ผู้เขียนเห็นว่า   น่าจะมีการแก้ไขกฎหมายให้ชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน  ด้วยการกำหนดให้มีการใช้คำนำหน้านามของชายที่สมรสแล้วกับชายที่ยังเป็นโสด  ให้มีความแตกต่างกันคงจะดีกว่า    ทั้งนี้  ก็ด้วยเหตุผลสำคัญทำนองเดียวกันกับการกำหนดคำนำหน้านามหญิงดังกล่าวข้างต้น  กล่าวคือ   เพื่อสังคมจะได้รับรู้ถึงสถานภาพที่แท้จริงของชายว่าเป็นอย่างไร   อย่างน้อยที่สุด  ก็น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการจดทะเบียนสมรสซ้อนได้บ้างไม่มากก็น้อย
          ๕.  เป็นที่ยอมรับกันในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า    การที่ชายหญิง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันในทางเครือญาติแต่งงานกัน   ลักษณะเด่นและลักษณะด้อยจะถูกถ่ายทอดให้กับบุตรโดยตรง   ทำให้โอกาสในการถ่ายทอดยีนด้อยหรือโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่รุ่นลูกโดยขาดยีนเด่นที่จะมาปิดลักษณะที่ไม่พึงประสงค์จะมีอยู่สูง ผลก็คือ  บุตรอ่อนแอ  ไม่แข็งแรง   ดังนั้น  โดยหลักการแล้ว  เพื่อให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติดังกล่าว   กฎมนุษย์ที่บัญญัติขึ้นมาควรที่จะกำหนดให้ญาติพี่น้องทุกคนใช้นามสกุลเดียวกันทั้งหมด     ทั้งนี้  เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนที่เป็นญาติกันได้แต่งงานกันโดยต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าเป็นญาติกันมาก่อน   เนื่องจากสภาพสังคมในยุคปัจจุบัน ญาติพี่น้องอาจห่างเหิน ไม่ได้ผูกพันใกล้ชิดกันเหมือนสมัยก่อน   อีกทั้ง  ยังมีผู้คนละทิ้งถิ่นฐานไปทำมาหากินในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศมากมาย   โอกาสที่คนเป็นญาติกันจะไปรู้จักคบหาแต่งงานกันโดยไม่ทราบว่าเป็นญาติกันย่อมเป็นไปได้     แต่หากมีนามสกุลเหมือนกันเสียแล้ว  ย่อมสามารถป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ (อย่างน้อยก็ป้องกันได้ในส่วนสายเลือดทางพ่อ  หากกำหนดให้ทุกคนในครอบครัวใช้นามสกุลพ่อ)
     ที่กล่าวมาก็เป็นตัวอย่างในบางแง่มุมของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการที่เราบัญญัติกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติตามหลักศาสนาพุทธอย่างถูกต้อง    ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพหรือความเสมอภาคระหว่างชายหญิงนี้   ผู้เขียนมีประเด็นที่อยากจะนำมาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับท่านผู้อื่นเพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่ง คือ  ในอดีตมีคำเปรียบเปรยบทบาทชายหญิงในสังคมไทยมาอย่างยาวนานว่า    ชายเปรียบเสมือนช้างเท้าหน้า   ส่วนหญิงเปรียบเสมือนช้างเท้าหลัง   ซึ่งก็หมายความว่า    ฝ่ายชายมีหน้าที่นำพาครอบครัวเดินไปข้างหน้า   ส่วนหญิงก็มีหน้าที่สนับสนุนเดินตามไปข้างหลัง เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางร่วมกัน    อย่างไรก็ตาม   หากทิศทางที่ฝ่ายชายกำลังนำพาไปนั้น   เป็นเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นอันตราย    ฝ่ายหญิงก็มีสิทธิ์ที่จะหยุดไม่ก้าวเดินตาม   และตักเตือนแนะนำให้ฝ่ายชายเปลี่ยนทิศทางเดินใหม่  เมื่อเห็นว่าถูกต้องปลอดภัยดีแล้ว  จึงค่อยเดินตาม   หรือในบางครั้งหากจำเป็นฝ่ายหญิงก็อาจต้องเดินถอยหลังและขอร้องหรือบังคับให้ฝ่ายชายก้าวถอยหลังตามสักระยะหนึ่ง   เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและมองเห็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว   ก็มอบหน้าที่ให้ฝ่ายชายเดินนำหน้าและฝ่ายหญิงเดินตามต่อ   ส่งเสริม ประคับประคอง  แนะนำ ตักเตือน ให้กำลังใจซึ่งกันและกันไปเรื่อย ๆจนถึงจุดหมายปลายทาง 
         ปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวในสังคมทุกวันนี้  ก็คือ
          ๑.   ช้างเท้าหน้าเดินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง   ช้างเท้าหลังเห็นผิดด้วย หรือไม่เห็นด้วยแต่เพิกเฉยไม่แนะนำตักเตือน  ยังคงเดินตาม   ผลก็คือ   พากันเดินลงเหวทั้งสองฝ่าย
         ๒.  ช้างเท้าหน้าเดินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง    ช้างเท้าหลังไม่เห็นด้วยจึงหยุดเดินตามหรือก้าวถอยหลัง   แต่เท้าหน้าดื้อดึงจะเดินไปข้างหน้าให้ได้  ผลก็คือ  การทะเลาะขัดแย้ง  เกิดปัญหาในครอบครัว 
         ๓.   ช้างเท้าหน้าเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง   แต่ช้างเท้าหลังไม่เห็นด้วย  จึงไม่ยอมเดินตามหรือพยายามก้าวถอยหลัง   ผลก็คือ  การทะเลาะขัดแย้ง  เกิดปัญหาในครอบครัว
         ๔.  ช้างเท้าหลังอยากจะเดินนำหน้า    เพราะคิดว่า ตัวเองทำได้ดีกว่า    หรือบางทีช้างเท้าหน้าก็อยากจะเดินตามหลัง  เพราะไม่มั่นใจในภาวะผู้นำของตนเอง  ผลก็คือ การขัดแข้งขัดขา  ทะเลาะขัดแย้งกัน      
         โจทย์ก็คือ   เราจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร ?     ก่อนอื่นเห็นสมควรวิเคราะห์ก่อนว่า  กฎมนุษย์ที่ว่า   ชายเป็นช้างเท้าหน้า   หญิงเป็นช้างเท้าหลัง นั้น   สอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือไม่  อย่างไร    เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ปัญหา ขออ้างอิงกฎธรรมชาติที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม  ดังนี้  คือ
 ๑. ธรรมชาติทางด้านสรีระร่างกายและจิตใจของชายกับหญิงมี
ความแตกต่างกัน  เช่น   ปกติส่วนใหญ่ชายจะมีร่างกายที่แข็งแรง มีความกล้าหาญ และกล้าตัดสินใจมากกว่าหญิง     แต่ในเรื่องของความละเอียดปราณีตหรือความอ่อนโยน ส่วนใหญ่หญิงจะมีมากกว่าชาย  นอกจากนั้น ฮอร์โมนในร่างกายของชายหญิงหลายชนิดก็มีมากน้อยแตกต่างกัน 
         ๒. ธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  แม่จะเป็นฝ่ายอุ้มท้อง และมีหน้าที่ในการดูแลเลี้ยงดูลูกเมื่อคลอดออกมาอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งเติบใหญ่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้   ส่วนพ่อนั้น บางชนิดก็ไม่สนใจดูแลเลย  บางชนิดก็เพียงแค่ช่วยหาอาหารให้   
         ๓. มนุษย์เป็นสัตว์สังคม   ซึ่งท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ เคยกล่าวไว้ว่า   ธรรมชาติของมนุษย์มีภาวะหรือสถานะ  ๒  อย่างในเวลาเดียวกัน คือ   ในสถานะที่เป็น  ชีวิต   ซึ่งเป็นธรรมชาติ  อยู่ในธรรมชาติ และเป็นไปตามกฎธรรมชาติ   และในสถานะที่เป็น  บุคคล   ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ร่วมในสังคม  มีความสัมพันธ์ต่อกันโดยขึ้นต่อเจตจำนง     ตัวอย่าง เช่น  การรับประทานอาหาร คนจะกินอาหารทั้งในฐานะที่เป็นบุคคลและกินในฐานะที่เป็นชีวิต  คือ  มีทั้งการกินเพื่อสนองความต้องการของบุคคล (เช่น อร่อย  โก้ แสดงฐานะ)   และการกินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต เพื่อให้สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง  ซึ่งแน่นอนว่าคุณค่าที่แท้จริงของอาหาร คือ เพื่อสนองความต้องการของชีวิต [9]
         จากกฎธรรมชาติดังกล่าว   จึงเห็นว่า  การมอบบทบาทให้ฝ่ายชายมีหน้าที่หลักในการทำมาหาเลี้ยงครอบครัว  และมอบหน้าที่หลักให้ฝ่ายหญิงในการดูแลครอบครัวอยู่เบื้องหลัง  โดยเฉพาะบทบาทในการเลี้ยงดูลูก และคอยเป็นหางเสือในการคัดท้ายหัวเรือให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องปลอดภัย   น่าจะเป็นการแบ่งหน้าที่ที่สอดคล้องกับกฎธรรมชาติแล้ว ส่วนปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากช้างเท้าหน้าหรือเท้าหลัง   ก็คงต้องไปพิจารณากฎธรรมชาติในเรื่องอื่น ๆที่เกี่ยวข้องว่าเป็นอย่างไร และควรจะสร้างกฎมนุษย์อย่างไร    พูดง่าย ๆก็คือ ปัญหาอยู่ตรงไหนก็ต้องแก้ตรงจุดนั้น     ช้างเท้าหน้ามันเดินไม่ดี   เราก็ต้องพยายามแก้ไขปรับปรุงที่เท้าหน้า    ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยให้เท้าหลังไปเดินแทนเท้าหน้า หรือให้เท้าหน้าเดินตามหลัง   ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับธรรมชาติ กรณีไม่ใช่ประเด็นปัญหาในเรื่องของคุณค่าหรือความสำคัญว่าใครมีมากกว่าหรือเหนือกว่าใคร แต่เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมชาติ  หากเปรียบเทียบกับการเล่นฟุตบอล ก็จะเห็นว่า   ผู้รักษาประตูก็ต้องอยู่เฝ้าประตู  การยิงประตูก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศูนย์หน้า  หากผู้รักษาประตูวิ่งออกไปยิงประตูแล้วใครจะทำหน้าที่เฝ้าประตูแทน  
         นอกจากนั้น ยังมีความเห็นอีกว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของครอบครัวในสังคมทุกวันนี้ก็คือ   ฝ่ายหญิงคิดว่าตนเองมีความรู้ความสามารถในเรื่องการทำงานไม่แพ้ชาย   จึงอยากพิสูจน์ตัวเอง   อีกทั้งยังมีทรรศนะให้ความสำคัญกับสถานะที่เป็น  บุคคล  มากกว่าสถานะที่เป็น  ชีวิต  กล่าวคือ   มองความสำเร็จของชีวิตจากปัจจัยภายนอก   โดยยึดถือฐานะ  ตำแหน่ง  วัตถุ  ทรัพย์สิน เงินทอง ซึ่งเป็นค่านิยมของโลกตะวันตกเป็นตัวชี้วัด     แทนที่จะมองความสำเร็จจากปัจจัยภายใน  คือ  การมีจิตใจที่สงบสุข  มีความรักความอบอุ่นในครอบครัว    ผลก็คือ  เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับหน้าที่การงาน หมดไปกับการเข้าสังคม  ซึ่งย่อมแน่นอนว่า เวลาที่ให้กับครอบครัวโดยเฉพาะลูกย่อมลดน้อยลงเป็นธรรมดา    บางคนแม้แต่จะให้น้ำนมลูกก็แทบไม่มีเวลา  เพราะเป็นห่วงงาน  ห่วงรายได้ ห่วงความก้าวหน้า   เวลาส่วนใหญ่ของลูกจึงอยู่กับคนใช้หรือคนรับจ้างดูแล   นับวันมนุษย์จึงใกล้จะกลายพันธุ์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ    
          จะสังเกตเห็นว่า   มีครอบครัวของ หญิงเก่ง ในสายตาของสังคมจำนวนมากที่ประสบกับความล้มเหลวหรือมีปัญหาหย่าร้างกัน ดังปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมาย     ซึ่งท้ายที่สุดคนรับกรรมมากที่สุดก็คือ  “ลูก”   และเมื่อโตขึ้นก็มักจะกลายเป็นปัญหาของสังคมไปในที่สุด   
         ลองหลับตานึกถึงภาพของครอบครัวที่แต่ละวัน  ตื่นเช้าพ่อออกไปทำงานนอกบ้าน   ลูกไปโรงเรียน   แม่อยู่ดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน   ตกตอนเย็น พ่อและลูกกลับบ้าน  แม่คอยดูแลต้อนรับ และสอบถามทุกข์สุข  หากใครมีปัญหาอะไรก็ปรึกษาหารือให้กำลังใจซึ่งกันและกัน  เสาร์อาทิตย์หรือปิดเทอม ก็หมั่นหาเวลาพากันไปเที่ยวพักผ่อน หรือพากันไปเยี่ยมเยียนปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง   อย่างนี้ ครอบครัวจะอบอุ่นเป็นสุขมากแค่ไหน  และโอกาสที่พ่อจะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน  ลูกจะประสบผลสำเร็จในการเล่าเรียนย่อมมีอยู่สูง  ซึ่งแน่นอนว่าแม่ย่อมรู้สึกภาคภูมิใจและเป็นสุขไปด้วย  เพราะในโลกนี้จะมีอะไรยิ่งใหญ่มากไปกว่าการสร้างคนให้เป็นคนดีและมีความสำเร็จในชีวิต  และเมื่อทุกครอบครัวอบอุ่น  สังคมในภาพรวมก็ย่อมสงบสุข    
          ในทางกลับกัน   หากตื่นเช้าทั้งพ่อและแม่ต่างออกไปทำงาน  ลูกไปโรงเรียนกับรถรับส่งหรืออยู่โรงเรียนกินนอน ตอนเย็นพ่อแม่กลับบ้านมืดค่ำทุกวัน   เสาร์อาทิตย์ ทั้งสองฝ่ายต่างนำงานกลับไปทำที่บ้าน  หรือบ่อยครั้งต้องออกไปทำงานนอกเวลาอีก   สุดท้ายก็ไม่มีใครดูแลใคร   ต่างคนต่างบ่นว่าเหนื่อย   อ้างว่าไม่มีเวลา   แม้ทั้งสองฝ่ายจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานไม่แพ้กัน   มีบ้านใหญ่โต   มีรถคันหรู   แต่ก็ทะเลาะกันบ่อยครั้ง  ลูกเริ่มมีปัญหา   สามีเริ่มเบื่อบ้าน  ภรรยาบ่นน้อยใจ   ท้ายที่สุด  ทุกคนก็จมอยู่กับกองทุกข์  และบางครั้งก็อาจจบลงด้วยการหย่าร้าง   ถามว่า สถานะของ บุคคล ในเรื่องของชื่อเสียง  เกียรติยศ   ตำแหน่ง  หรือ ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้   จะมีประโยชน์อะไร   เมื่อสถานะที่เป็น  ชีวิต  คือ  ความสงบสุขในครอบครัว  ล้มเหลวเสียแล้ว   
      อย่างไรก็ตาม โดยที่ “ การเปลี่ยนแปลง” เป็นสัจธรรมแห่งธรรมชาติ  ดังนั้น เมื่อสภาวะการณ์หรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป    บางครั้งมนุษย์ก็มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกฎมนุษย์ตามเพื่อให้สัมพันธ์สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย   แต่ทั้งนี้  ทั้งนั้น   มนุษย์ต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่า   สิ่งต้องการที่แท้จริง คือ   ความเป็นจริงตามธรรมชาติ  ไม่ใช่ตามสิ่งสมมติ   อย่างเช่น   เมื่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป    ทั้งคนทำสวนและคนงานรับจ้างทำสวนก็ต้องปรับตัว  ก่อนหน้านั้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอาจจะได้ผลผลิตที่ดีสามารถดำรงชีพอยู่ได้   เนื่องจากสภาพดินและน้ำยังอุดมสมบูรณ์  รวมทั้งสภาพอากาศก็ยังเหมาะสม อีกทั้งค่าครองชีพและค่าจ้างแรงงานก็ค่อนข้างต่ำ    แต่ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นสภาพดิน  น้ำ  อากาศ   สภาพเศรษฐกิจ  สังคม ได้เปลี่ยนไป    หากยังคิดเหมือนเดิมทำเหมือนเดิมก็คงอยู่ไม่ได้     คนทำสวนอาจจะต้องเปลี่ยนพื้นที่เป็นไร่นาสวนผสม   ส่วนค่าจ้างที่ให้คนงานนั้น   แทนที่จะให้เป็นเงินทั้งหมด  ส่วนหนึ่งก็อาจอยู่ในรูปของการแบ่งปันผลผลิตให้กินให้ใช้   ที่สำคัญต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า     เป้าหมายในชีวิตของทั้งสองฝ่าย คือ  เพื่อต้องการสถานะที่เป็น ชีวิต เป็นอันดับแรก  คือ  การดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข   มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี     ส่วนสถานะที่เป็น  บุคคล  คือ   ฐานะความร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก  ซึ่งเป็นสิ่งสมมุตินั้น  ถือเป็นเป้าหมายรองลงไป  ซึ่งยิ่งเราให้ความสำคัญกับมันน้อย  สถานะที่เป็นชีวิตก็จะยิ่งสมบูรณ์มากขึ้นเป็นสัดส่วนผกผันกัน
           กรณีบทบาทชายหญิงในครอบครัวก็เช่นกัน  หากเปรียบกับการเล่นฟุตบอล   ถ้าจะให้ดีทุกคนในทีมควรจะต้องฝึกเล่นให้เป็นหลายตำแหน่ง   บางครั้งบางจังหวะก็อาจสับเปลี่ยนตำแหน่งกันเล่นได้หรือกรณีเพื่อนร่วมทีมบางคนบาดเจ็บหรือทำผิดกฎกติกาถูกไล่ออก   ก็ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งเล่นกันใหม่ให้เหมาะสม   แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าเป็นการทำหน้าที่ชั่วคราวเฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น   ในสถานการณ์ปกติทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ในตำแหน่งของตนเองให้ดีที่สุด
          ยุคนี้สมัยนี้     มนุษย์ไม่ได้ทำมาหากินด้วยการเก็บหาของป่าหรือออกล่าสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพเหมือนแต่ก่อน    มีอาชีพ มีวิธีการทำมาหากินเกิดขึ้นมากมายในสังคม   อีกทั้ง  ยังมีการแก่งแย่งแข่งขันกันค่อนข้างสูง  เนื่องจากจำนวนมนุษย์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว  ขณะที่ทรัพยากร ธรรมชาติก็มีอยู่อย่างจำกัด และนับวันก็ถูกทำลายลดน้อยลงไปเรื่อย  ๆ ดังนั้น  ในบางครั้งบางครอบครัว บทบาทหน้าที่ของสามี ภรรยา ก็อาจจำต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์    กรณีมีความจำเป็นทั้งสองฝ่ายควรจะต้องทำหน้าที่แทนซึ่งกันและกันได้   แต่ในภาวะปกติต่างฝ่ายต่างก็ต้องรับผิดชอบหน้าที่หลักของตนเองเป็นสำคัญ  คือ  สามีอยู่กองหน้าทำงานหาเลี้ยงครอบครัว  ส่วนภรรยาอยู่กองหลังคอยดูแลลูกและเป็นกองกำลังสนับสนุนสามีในเรื่องต่าง ๆ   หากกองหน้าฝีเท้าไม่ค่อยจะดีนัก  กองหลังก็อาจจะออกไปช่วยบ้างตามสมควร  แต่จะละทิ้งหน้าที่หลักไปเลยคงจะไม่ได้     เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละทิ้งหน้าที่หลักของตนเอง หรือสับเปลี่ยนหน้าที่กันทำแบบผิดฝาผิดตัว ผิดจุดผิดตำแหน่ง  ย่อมแน่นอนว่า การทะเลาะขัดแย้ง  ความแตกแยกร้าวฉานในครอบครัวย่อมตามมา และนำไปสู่ปัญหาของสังคมโดยส่วนรวมในที่สุด
          บางท่านอาจมองว่า ความคิดความเห็นของผู้เขียนโบราณคร่ำครึ ล้าสมัย แต่หากเรายอมรับความจริงและพยายามตั้งสติคิดใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างแยบคายลึกซึ้ง ตามวิธีการที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ”[10] แล้ว ก็คงจะมองเห็นได้ไม่ยากว่า  ที่สถาบันครอบครัวของสังคมไทยเกิดวิกฤตปัญหาต่าง ๆมากมายเหมือนเช่นทุกวันนี้มีต้นเหตุมาจากอะไร และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่เข้าใจในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ หรือความเสมอภาคอย่างถูกต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาตินั่นเอง
          ท้ายที่สุดนี้  ผู้เขียนขอหยิบยกแนวคิดความเห็นของท่านศาสตราจารย์ธานินทร์  กรัยวิเชียร มาเสนอต่อท่านผู้อ่านเพื่อพิจารณาว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร โดยท่านศาสตราจารย์ธานินทร์ ได้เคยเสนอความเห็นให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐  เป็นว่า [11]
          “ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
            ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน...
            มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลอื่นหรือส่งเสริมความปรองดองและความสงบสุขในครอบครัวระหว่างสามีกับภริยา ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”./



                                     















พระพุทธศาสนาสอนให้แก้ปัญหาทั้งด้านนอกด้านใน ทั้งทางสังคมและทางจิตใจของบุคคล คือมีคำสอนขั้นศีลเป็นด้านนอก และขั้นจิตและปัญญาเป็นด้านใน แต่เนื้อหาคำสอนของพระองค์จะเน้นด้านแก้ปัญหาทางจิตใจมากกว่าปัญหาทางสังคม ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า โดยความคงตัวแห่งธรรมชาติของมนุษย์ ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตด้านในหรือปัญหาทางจิตใจเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ล้วน ๆมากที่สุด คือ มนุษย์ทุกถิ่นฐานกาลสมัย มีธรรมชาติของปัญหาทางจิตใจเหมือน ๆกัน ถึงจะต่างสังคมหรือสังคมจะต่างยุคสมัย ธรรมชาติทางจิตปัญญาของมนุษย์ก็ยังคงเป็นอย่างเดิม คือ มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ที่มีโลภ โกรธ หลง รักสุข เกลียดทุกข์อย่างเดียวกัน
ส่วนปัญหาด้านนอกเกี่ยวกับสังคมมีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวด้วยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อยังเป็นมนุษย์ก็จะมีลักษณะปัญหาเช่นนั้น แต่ส่วนอื่น ๆนอกจากนั้นเกี่ยวข้องกับปัจจัยอย่างอื่น ๆในสภาพแวดล้อมซึ่งแตกต่างกันไปในส่วนรายละเอียดได้อย่างมากมายตามกาละและเทศะ โดยอาศัยความเป็นจริงเช่นนี้จึงเป็นธรรมดาอยู่เองและเป็นอย่างที่ควรจะเป็นว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภายในทางจิตปัญญาเป็นหลักและมีคำสอนด้านนี้มากมาย ส่วนการแก้ปัญหาภายนอก ด้านคำสอนระดับศีลทรงสอนแต่หลักกลาง ๆที่เนื่องด้วยธรรมชาติของมนุษย์ เช่น การไม่ควรทำร้ายเบียดเบียนกันทั้งทางชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน สิ่งหวงแหน ด้วยกายหรือด้วยวาจา และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นต้น ส่วนรายละเอียดนอกเหนือจากนั้น เป็นเรื่องแตกต่างกันไปตามปัจจัยอื่น ๆในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องของต่างถิ่นต่างยุคสมัยไม่มีเหมือนกัน เป็นเรื่องของมนุษย์ที่รู้หลักการทั่วไปของการแก้ปัญหาแล้วจะพึงวางหลักเกณฑ์วิธีการจัดการแก้ไขตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้น ๆไม่ใช่เรื่องที่จะไปวางบทบัญญัติไว้ให้มนุษย์เป็นการตายตัว
เป็นการไม่สมเหตุผลที่จะให้พระพุทธเจ้าทรงวางระบบที่มีรายละเอียดไว้พร้อมให้แก่ชุมชนอื่น โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่เป็นตัวแปรของต่างถิ่นต่างสมัยนั้น ๆผู้ที่เข้าใจสาระสำคัญของหลักการนี้แล้ว ย่อมจะจัดวางระบบสำหรับจัดการกับปัญหาและเรื่องราวในสังคมแห่งยุคสมัยของตนได้เอง...

                                                                 พระพรหมคุณาภรณ์


[1] พระราชบัญญัติชื่อบุคคล  พ.ศ.  ๒๕๐๕  มาตรา  ๑๒.
[2] พระราชบัญญัติคำนำหน้าหญิง  พ.ศ. ๒๕๕๑  มาตรา  ๕.
[3] พระราชบัญญัติคำนำหน้าหญิง  พ.ศ. ๒๕๕๑  มาตรา  ๖.
[4]  พุทธทาสภิกขุ.  เรื่องกรรมในมุมมองของพุทธทาส. พิมพ์ครั้งที่ ๑  (กรุงเทพมหานคร : เพชรประกาย , ๒๕๔๘ ) , หน้า  ๒๓ ๔๑.
[5] ธานินทร์  กรัยวิเชียร, “เหตุผลในกฎหมาย”, ๗๒ ปี โสภณ  รัตนากร,๒๕๔๖, หน้า ๖๒.
[6] ภาษาเขมร แปลว่า บ้านนอก.
[7]  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา   ๑๕๖๑ บัญญัติว่า  บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา    ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ  บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดา”.
[8] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๕๒๓ บัญญัติว่า
          “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา ๑๕๑๖(๑) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
          สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
          ถ้าสามีหรือภริยายอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา ๑๕๑๖(๑) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้”
            เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ มี ๑๐ ข้อ  โดยมาตรา ๑๕๑๖ (๑)  บัญญัติเหตุฟ้องหย่าไว้ว่า “ สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ ”.

[9] พระพรหมคุณาภรณ์ (ปอ.ปยุตฺโต), นิติศาสตร์แนวพุทธ, รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, ๒๕๔๘), หน้า ๘๕
[10] โยนิโสมนสิการ หมายถึง  การทำในใจให้แยบคาย  คือ การรู้จักคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบถี่ถ้วน ไม่มองเห็นสิ่งต่าง ๆอย่างตื้น ๆผิวเผิน ซึ่งมีอยู่ ๑๐ วิธี (ดูรายละเอียดในบทที่ ๒๒).
[11] ธานินทร์  กรัยวิเชียร, “เหตุผลในกฎหมาย”, ๗๒ ปี โสภณ  รัตนากร,๒๕๔๖, หน้า ๖๔.