1/06/2555

รัฐธรรมนูญชีวิต

รัฐธรรมนูญชีวิต
                                        โดย...โสต  สุตานันท์

       ระบบดี           คนดี                 ย่อมดีแน่
         ระบบดี           คนแย่               ต้องแก้ไข
         ระบบแย่         คนดี                 มีทางไป
         ระบบแย่         คนไม่ไหว         บรรลัยเอย 

         รัฐธรรมนูญ ถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่วาง “ระบบ”  หรือกฎเกณฑ์กติกาหลักสำคัญของประเทศชาติ  หากสังคมใดมีรัฐธรรมนูญที่ดีมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติอย่างถูกต้องเหมาะสมและอย่างประสานสอดคล้องกลมกลืนกัน อีกทั้งมีสมาชิกในสังคมที่เป็น “คนดี” กอปรด้วยปัญญา มีคุณธรรมจริยธรรมและความรู้ความเข้าใจทั้งกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์อย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง สังคมนั้นย่อมมีแต่ความสงบสุข  ก่อให้เกิดสันติภาพและมีวิวัฒนาการไปในทางที่สร้างสรรค์ดีงามยิ่ง ๆขึ้นไป  
         เนื้อหาสาระในบทต่างๆก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์ปัญหาโดยเน้นมิติแง่มุมในเรื่องของระบบหรือโครงสร้างของกฎหมายที่ควรจะเป็นตามหลักการแนวคิดที่เรียกว่า  “นิติศาสตร์แนวพุทธ”  ในบทสุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอนำปัญหาเรื่องคนมาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน  ด้วยเหตุผลที่ว่า ถึงแม้เราจะมีระบบหรือกฎหมายที่ดีเลิศอย่างไร แต่หากคนยังเป็นปัญหาอยู่ย่อมเป็นเรื่องยากที่ความสงบสุขจะเกิดมีขึ้นในสังคมได้ อีกทั้งยังเห็นว่าในความเป็นจริงแล้วระบบที่ดีจะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมต้องเริ่มต้นที่คุณภาพของคนก่อน หากคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นคนดีมีปัญญา ระบบที่ดีก็จะเกิดมีขึ้นโดยอัตโนมัติ  ในทางตรงกันข้ามหากคนไม่มีความรู้เข้าถึงธรรมหรือแก่นแท้แห่งความจริงของธรรมชาติและขาดปัญญา ย่อมเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่ระบบดีจะเกิดขึ้นได้
         ทั้งนี้ ขอตั้งโจทย์ในการวิเคราะห์ไว้ว่า เราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องคนกันอย่างไร ?”    
         ธรรมชาติของชีวิตมนุษย์นั้น  เมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่ ก็จะร้องไห้ทันที หลังจากนั้นก็จะต้องต่อสู้ดิ้นรนตลอดชีวิต  ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหาและความทุกข์ยากต่าง ๆมากมายไม่ว่าจะยาก ดี มี จน อย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ที่เรียกว่าความแก่  ความเจ็บ และความกลัวตายนั้น ทุกคนต้องได้พบเจออย่างแน่นอนโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การศึกษาเรียนรู้ของพระพุทธเจ้าจึงเริ่มต้นจากคำว่า “ทุกข์”  และสุดท้ายก็ไปจบตรงที่คำว่า  “ความสิ้นทุกข์”  
         เมื่อพูดถึงคำว่า “ทุกข์” พุทธศาสนิกชนทั้งหลายย่อมนึกถึงคำว่า  “อริยสัจสี่” ซึ่งเป็นหลักหรือระบบใหญ่ที่ครอบคลุมกระบวนการใน การแก้ไขปัญหาทั้งมวล  อาจกล่าวได้ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญแห่งชีวิต” ของมนุษย์ก็ว่าได้  ในการนำหลักอริยสัจสี่ไปปรับใช้กับกระบวนการแก้ไขปัญหานั้น  ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการแก้ไขปัญหาเรื่องไฟไหม้ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ คือ
         ๑.  ทุกข์  คือ  ไฟไหม้  ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน
         ๒. สมุทัย  คือ  การสืบสาวหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์  ซึ่งกรณีไฟไหม้นี้ จะเห็นได้ว่า  มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ไฟลุกไหม้ตามกระบวนการของธรรมชาติ  คือ   เชื้อเพลิง ก๊าซอออกซิเจน  และมีอุณหภูมิที่สูงพอ     
         ๓. นิโรธ  คือ การเล็งจุดหมายหรือตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า  เราจะดับไฟโดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมชาติได้อย่างไร   ทั้งนี้  จะต้องสัมพันธ์กับความจริงและวิสัยของเราที่จะทำได้ด้วย  กล่าวคือ   เราจะเอาข้อให้ไม่มีออกซิเจน   ทำให้อุณหภูมิต่ำ  หรือจะให้ไม่มีเชื้อเพลิง หรือเอาทั้งสามอย่าง  เอาข้อไหนเด่น ข้อไหนรอง
         ๔. มรรค คือ วิธีการหรือหนทางในการจัดการดับทุกข์ เป็นขั้น ตอนของการวางวิธีปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดผลตามที่ตั้งจุดหมายไว้ในข้อนิโรธ   ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีรูปแบบวิธีการต่าง ๆมากมาย   เช่น ต้อง จัดซื้อรถดับเพลิง  มีถังเก็บน้ำ  ท่อสายยาง  บันได  การฝึกฝนพนักงานดับเพลิงให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความพร้อมในการทำงาน เป็นต้น 
         อาจสรุปกระบวนการอริยสัจได้ว่า ในข้อทุกข์และสมุทัยเป็นเรื่องพื้นเดิมของธรรมชาติตามความเป็นจริงของมันเอง ข้อนิโรธเป็นการเชื่อมต่อระหว่างจุดประสงค์ของมนุษย์กับความเป็นจริงของธรรมชาติว่า ในความเป็นจริงของธรรมชาตินั้น จุดหมายของเราคืออย่างนี้ อยู่ตรงนี้ จุดที่เราต้องการหรือสิ่งที่เราต้องการมันเป็นไปได้ในความเป็นจริงแค่นี้ ก็กำหนดหรือตั้งมันไว้ ส่วนข้อมรรคเป็นการโยงวิธีปฏิบัติของมนุษย์ไปเชื่อมต่อให้ได้ผลตามกระบวนการเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในข้อนิโรธ[1]
         เกี่ยวกับเรื่องทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์นี้ท่านเจ้าคุณได้กล่าวไว้อีกว่า  โดยทั่วไปปัญหาพื้นฐานสำคัญของมนุษย์จะมีอยู่     ประการ  คือ
           ๑. ปัญหาชีวิต ซึ่งแยกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ปัญหาสุขภาพร่างกาย  คือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆรวมทั้งความหิวโหยอดอยากด้วย และปัญหาด้านจิตใจ  คือ  ความเครียด  ความทุกข์ใจ  ความเหงา   ความว้าเหว่  ความวิตกกังวลใจ  ฯลฯ
           ๒. ปัญหาสังคม  คือ  ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์  เริ่มตั้งแต่การขัดแย้งระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่มชน ไปจนถึงสงครามระหว่างประเทศ  สงครามโลก
           ๓. ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ ความเสียหายเสื่อมโทรมของทรัพยา-กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[2] 
          จากที่กล่าวมา  ในทรรศนะของผู้เขียนมองว่าปัญหาหลักสำคัญที่สุดของมนุษย์น่าจะได้แก่ ปัญหาชีวิตด้านจิตใจ   เพราะหากมนุษย์โลกสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องจิตใจได้   ปัญหาชีวิตด้านร่างกาย  ปัญหาสังคม  และปัญหาสิ่งแวดล้อม ย่อมได้รับการเยียวยาแก้ไขตามมาโดยอัตโนมัติ  ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการแก้ไขปัญหาชีวิตด้านจิตใจของมนุษย์ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งมวล  ซึ่งหากนำกระบวนการตามหลักอริยสัจมาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาชีวิตด้านจิตใจของมนุษย์ก็น่าจะเป็นว่า
          ๑. ทุกข์  คือ ความเครียด  ความทุกข์ใจ  ความเหงา   ความว้าเหว่  ความวิตก กังวลใจ  หรือสภาวะบีบคั้น ติดขัด คับข้องใจของมนุษย์
          ๒. สมุทัย  คือ เหตุที่ทำให้เกิดความความทุกข์ ความคับข้องใจ ซึ่งเมื่อสืบสาวลงไปแล้ว ก็จะพบว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย  แต่เมื่อพูดครอบคลุมอย่างกว้าง ๆจะมีสาเหตุหลักอยู่ที่กิเลสของมนุษย์    ประการ  คือ [3]
              ๒.๑ ตัณหา  คือ  ความอยากได้ใคร่มีเพื่อตัวเอง  ความเห็นแก่ตัว  แสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน  เงินทองหรือสิ่งบำรุงบำเรอตนเองทั้งหลายทั้งปวง    
              ๒.๒ มานะ  คือ  ความอยากเด่นเป็นใหญ่  อยากมีอำนาจวาสนา มีเกียรติยศชื่อเสียง ปรารถนาจะครอบงำผู้อื่น   
              ๒.๓ ทิฏฐิ  คือ  การยึดติดในความเชื่อ ถือรั้นในลัทธินิยมอุดมการณ์ ไม่เปิดใจกว้างรับฟังใครและก่อทัศนคติแบบแบ่งแยก 
         ตัณหา-มานะ-ทิฏฐิ   เป็นตัวการทำให้เกิดอกุศลมูล คือ ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง และทำให้เกิดความกลัว ความหวาดระแวง  ความไม่ไว้ใจกัน  ท้ายที่สุดความขัดแย้งทั้งภายในจิตใจตัวเองและกับบุคคลอื่นก็จะตามมา
             ๓. นิโรธ คือ การเล็งจุดหมายหรือตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า เรา ต้องการสิ่งใด จะฝึกฝนพัฒนาจิตให้ลดละซึ่งกิเลสทั้ง ๓ ประการ       ดังกล่าวจนถึงขั้นไหน เช่น จะเอาเพียงแค่รักษาศีล ๕  บรรลุถึงขั้นโสดาบัน  สกทาคามี อนาคามี หรือบรรลุอรหันต์ถึงขั้นนิพพานเหมือนพระพุทธเจ้า และเราจะจัดการกับเหตุปัจจัยข้อใดเป็นสำคัญ  จะเน้นข้อตัณหา  มานะ หรือทิฏฐิ แต่โดยหลักการแล้วก็คงต้องทำพร้อมกันทั้งสามข้อ  เพียงแต่ว่าต้องสำรวจตัวเองว่ามีจุดอ่อนตรงไหนมากกว่าก็ต้องเน้นจัดการกับข้อนั้นมากเป็นพิเศษ   อย่างไรก็ตาม  เป้าหมายนั้นต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับความจริงและวิสัยของเราที่จะทำได้ด้วย เช่น ฐานะความเป็นอยู่  ความรับผิดชอบต่อครอบครัว สติปัญญา ความรู้ความสามารถ  สิ่งแวดล้อมรอบข้าง ฯลฯ เป็นต้น อีกทั้งควรจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป้าหมายให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆด้วย
          ๔. มรรค คือ วิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในข้อนิโรธดัง กล่าว มีชื่อเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์แปลว่า ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ หรือที่เรียกกันว่า มรรคมีองค์ ๘ อันประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ) สัมมาวาจา(วาจาชอบ) สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ) สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ(พยายามชอบ) สัมมาสติ(ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ(จิตมั่นชอบ)[4]  
         จากกระบวนการแก้ไขปัญหาชีวิตด้านจิตใจของมนุษย์ดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะทำความเข้าใจกัน แต่ปัญหาใหญ่น่าจะอยู่ที่ขั้นมรรคหรือวิธีปฏิบัติที่เป็นจริงมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งและยุ่งยากซับซ้อนอย่างมากสำหรับปุถุชนคนธรรมดาที่ยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนาจิตอย่างถูกต้องเป็นลำดับขั้นตอนและต่อเนื่องจริงจัง  อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างอีกว่ามีสภาพที่เอื้อหรือเกื้อหนุนต่อการฝึกฝนพัฒนาหรือไม่ อย่างไร ถามว่าเมื่ออ่านศีล ๕ จบ  เราเข้าใจและคิดว่าทำได้หรือไม่  เชื่อว่าส่วนใหญ่คงตอบว่าเข้าใจเป็นอย่างดีและเห็นว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยที่จะประพฤติปฏิบัติตาม แต่ปรากฏว่าพอเอาเข้าจริง ๆจะมีพุทธศาสนิกชนกี่คนที่ทำได้   
          อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวย้ำยืนยันไปแล้วหลายครั้งหลายคราว่า  ในทางพระพุทธศาสนามองว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐมีสมองมีสติปัญญาและมีจิตเป็นประภัสสร สามารถฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้ และธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกันจึงจะอยู่รอด  อีกทั้งการพัฒนามนุษย์ก็ต้องอาศัยมนุษย์ด้วยกัน โอกาสนี้ จึงขอชักชวนกัลยาณมิตรทั้งหลายมาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นและเรียนรู้ซึ่งกันและกันในบางเรื่องบางประเด็นเพื่อเป็นการฝึกฝนพัฒนาจิตวิญญาณและเสริมสร้างปัญญาให้มีวิวัฒนาการก้าวหน้ายิ่ง ๆขึ้นไป  ด้วยการหยิบยกตัวอย่างเรื่องง่าย ๆใกล้ตัวมาวิเคราะห์วิจารณ์ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
         ๑. การมองโลกในแง่บวก ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีอยู่สองด้านเสมอคือ ด้านดีกับด้านไม่ดีหรือด้านบวกกับด้านลบ ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส  ผู้ชนะคือคนที่เห็นปัญหาเป็นโอกาส  ผู้แพ้คือคนที่เห็นโอกาสเป็นปัญหา   ทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นในชีวิตมักจะมีโอกาสแฝงตัวมาด้วยเสมอ พยายามมองหามันให้เจอแล้วท่านจะเป็นผู้ชนะตลอดกาล 
          ผู้เขียนเคยรับราชการมาแล้ว ๔ กระทรวง ในพื้นที่กว่า ๑๐ จังหวัด ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  เคยเห็นข้าราชการมากมายที่โอกาสดีมาเยือนถึงหน้าบ้านแต่เขากลับเห็นเป็นปัญหา หัวหน้าใช้ให้ทำงานเกินเวลาหรือนอกเหนือหน้าที่ไปบ้างแทนที่จะเห็นเป็นโอกาสในการแสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์กลับเห็นเป็นปัญหา อ้างโน่นอ้างนี่ไม่ยอมทำหรือทำแบบขอไปที พอสิ้นปีก็เลยได้แค่ ๑ ขั้นและมักจะพลาดโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งสำคัญ ๆครั้งแล้วครั้งเล่า  ขณะเดียวกันก็เคยเห็นข้าราชการหลายคนที่เห็นปัญหาเป็นโอกาส  เช่น  เป็นคนซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา รักความถูกต้องเป็นธรรม  ซึ่งคนประเภทนี้มักจะประสบปัญหาชีวิตราชการถูกกลั่นแกล้งรังแกเป็นประจำ แต่เขาเหล่านั้นก็มักจะแปรความบีบคั้นกดดันด้วยการถือโอกาสมุ่งศึกษาหาความรู้เรียนต่อเพิ่มเติม  ท้ายที่สุดก็สามารถสอบเลื่อนชั้นหรือเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ก้าวหน้ายิ่ง ๆขึ้นไปได้  
         บางคนเป็นทุกข์น้อยใจเนื่องจากลูกเรียนไม่เก่ง  แต่หากท่านลองสังเกตเพื่อนบ้านดูก็อาจจะพบว่า   มีหลายครอบครัวที่ลูกเรียนเก่ง ทุกคนมีหน้าที่การงานที่ดี แต่ปรากฏว่าพ่อแม่ที่แก่ชราต้องอยู่บ้านอย่างโดดเดี่ยวเงียบเหงา เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ค่อยจะได้เห็นหน้าดูแลกัน เพราะลูกๆมีภาระงานมากมายหรือไปทำงานต่างจังหวัดต่างประเทศกันหมด ขณะที่มีหลายครอบครัวที่ลูกเรียนจบแค่ชั้นประถมหรือมัธยม ทำไร่ไถนาหรือรับจ้างอยู่ที่บ้าน แต่ครอบครัวของพวกเขาก็ดูเหมือนจะอบอุ่นได้อยู่ใกล้ชิดพร้อมหน้าพร้อมตา คอยช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันเมื่อคราวเป็นทุกข์เดือดร้อน
         บางคนเป็นทุกข์เพราะสุขภาพไม่ค่อยดีมีโรคประจำตัวตั้งแต่เด็ก  แต่หากท่านสังเกตเพื่อนบ้านคนรู้จักก็อาจจะพบว่า  มีหลายคนที่เสียชีวิตไปก่อนท่านทั้งๆที่อายุไล่เลี่ยกันหรือน้อยกว่าและมีประวัติร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งนี้เพราะเหตุว่าคนที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมักจะตั้งอยู่ในความประมาท กิน เที่ยว  ดื่ม สูบ อดหลับอดนอนไม่หาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ ท้ายที่สุดโรคภัยไข้เจ็บก็มาเยือนหรือประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ขณะที่คนอ่อนแอมีโรคประจำตัวส่วนใหญ่มักจะคอยระมัดระวังดูแลรักษาสุขภาพตนเองเป็นอย่างดีและชอบทำบุญสร้างกุศล จึงทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวและเป็นสุขมากยิ่งกว่าได้   
        บางคนเป็นทุกข์เพราะคิดว่าตนเองยากจนต่ำต้อยด้อยกว่าคนอื่น  แต่หากท่านลองคิดทบทวนดูให้ดีก็อาจจะพบว่า แท้จริงแล้วท่านมีเวลาให้กับครอบครัว มีเวลาเที่ยวเตร่พักผ่อนหรือได้กินอิ่มนอนเต็มมากยิ่งกว่านายกรัฐมนตรีหรือมหาเศรษฐีบางคนก็เป็นได้ และที่สำคัญก็คือ การได้มีโอกาสสัมผัสกับความทุกข์ยากลำบากนั้น นับได้ว่ามีความโชคดีแฝงอยู่ไม่น้อย เพราะยิ่งท่านทุกข์มากเท่าไหร่ โอกาสที่ดวงตาจะเห็นธรรมก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะทุกข์เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาเรียนรู้หรือฝึกฝนพัฒนาจิตได้ดีที่สุด
          ไม่เชื่อท่านลองพิจารณาดูชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะเป็นตัวอย่าง   ก่อนออกบวชพระองค์ท่านมีชีวิตอย่างสุขสบายอยู่ในวัง มีบ้านสามฤดู มีสนมนางกำนัล มีอำนาจทรัพย์สินเงินทองมากมาย เรียกว่าสุขสุด ๆแต่ท่านก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้  ต่อเมื่อท่านตัดสินใจหนีออกจากวังไปทนทุกข์ทรมานลำบากยากเข็ญแสนสาหัส เคยอดข้าวอดน้ำผอมโซจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดเรียกว่าทุกข์สุดๆ ท่านจึงได้พานพบกับหลักสัจธรรม ค้นพบความจริงแห่งธรรมชาติและตรัสรู้สู่นิพพาน รักษาสภาวะจิตที่เรียกว่าความว่างตลอดจนสิ้นอายุขัย  
         อย่างไรก็ตาม  การพยายามมองโลกในแง่ดีนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่การฝึกขั้นพื้นฐานเพื่อให้จิตมีพลังหรือมีกำลังใจที่เข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งหากไม่ระมัดระวังให้ดีก็อาจกลายเป็นการหลอกตัวเองหรือหลีกเลี่ยงหนีปัญหาไป ที่ถูกต้องแล้วต้องมองโลก“ตามความเป็นจริง” เมื่อเกิดปัญหาหรือความทุกข์ขึ้นก็ต้องพินิจพิจารณาตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” ใช้สติปัญญาพิเคราะห์ไตร่ตรองดูว่า  มีเหตุปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันบ้าง  เพราะเหตุใด และจะมีวิธีการแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ให้สอดคล้องเหมาะสมกับความเป็นจริงอันถูกต้องดีงามและก่อให้เกิดผลดีมากที่สุด
          ๒. การทำความดี  มีปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่ง  ซึ่งเชื่อว่าเป็นข้อสงสัยในใจของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคม คือ  คำถามที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั้น เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน เพียงใด เพราะเหตุใดจึงเห็นคนทำดีบางคนได้รับความทุกข์ยากลำบากหรือมีฐานะยากจนข้นแค้น  ขณะที่บางคนทำแต่ความชั่ว ทำแต่สิ่งไม่ดี เช่น ทุจริตคอรัปชั่นหรือประกอบอาชีพไม่สุจริตผิดกฎหมาย กลับมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย มีผู้คนนับหน้าถือตา มีอำนาจวาสนา  ยศถาบรรดาศักดิ์ และทรัพย์สินเงินทองมากมาย  คำถามนี้ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้เคยแสดงธรรมเทศนาไว้ภายใต้หัวข้อที่ชื่อว่า  ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ กรรมไม่ง้อใคร พอสรุปสาระสำคัญได้    ประการ คือ

        ประการแรก  พิจารณาในแง่ “ความต้องการ”
        ท่านเจ้าคุณอธิบายว่า ในการทำความดีนั้น หากมอง อย่างแคบ ก็จะมีเป้าหมายความต้องการเพียงเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง (อันที่จริง ก็ไม่ใช่การทำความดีอย่างแท้จริงเพราะมีความโลภซึ่งเป็นกรรมชั่วแฝงอยู่ด้วย) แต่หากมอง อย่างกว้าง  ก็จะมีเป้าหมายเพื่อสังคมโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ   แต่โดยที่คนกับสังคมย่อมแยกจากกันไม่ออก  หากสังคมใดเป็นสังคมที่ดี ผู้คนส่วนใหญ่มีคุณธรรมจริยธรรม มองความมุ่งหมายของการทำความดีอย่างกว้าง  ธรรมวาที ย่อมมีเสียง  ผลดีนั้นย่อมสะท้อนกลับไปหาคนในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลอย่างแน่นอน คนทำดีก็จะได้ดี ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากสังคม 
        ในทางตรงข้าม  หากสังคมใดแย่หรือมีความเสื่อมโทรม ผู้คนส่วนใหญ่มองเป้าหมายความต้องการอย่างแคบเพื่อตนเองมากกว่าส่วนรวม  อธรรมวาที ย่อมรุ่งเรือง และ ธรรมวาที จะเงียบเสียง  สังคมนั้นย่อมไม่ต้องการหรือยกย่องเชิดชูความดี ในท้ายที่สุดคนทำดีก็จะไม่ได้ดี และสังคมก็จะเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ แล้วล่มสลายไปในที่สุด    
         เพราะฉะนั้น  การทำความดีที่ถูกต้องจึงต้องมองความหมายอย่างกว้างเป็นสำคัญ  หน้าที่ของมนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อแสวงหาสิ่ง  ต่าง ๆเพื่อสนองกิเลสตัณหาของตนเองเท่านั้น แต่มีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาจิตใจตนเองไปสู่สิ่งที่ดีงามและทำเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมด้วย    หากใครทำความดีแล้วรู้สึกว่าไม่ได้ดี ย่อมแสดงว่า สังคมที่อาศัยอยู่นั้นกำลังเสื่อมโทรม เราต้องไม่ซ้ำเติมสังคมโดยอ้างเหตุผลตื้น ๆเพียงว่า  เมื่อทำดีไม่ได้ดี แล้วจะทำดีไปทำไม  ก็ในเมื่อเราไม่พยายามทำให้สังคมดี แล้วคนทำดีจะได้ดีได้อย่างไร
         ประเด็นที่สอง  พิจารณาในแง่ของ “หลักการ”
         ในทางพระพุทธศาสนามองว่า  โดยธรรมชาติเหตุกับผลย่อมมีความสัมพันธ์กันเสมอ แต่เหตุกับผลที่ว่านั้น  ย่อมไม่ใช่เหตุเดี่ยวหรือผลเดี่ยว  เหตุอย่างหนึ่งอาจก่อให้เกิดผลมากมายหลายอย่าง ขณะที่ผลอย่างหนึ่งก็เกิดมาจากเหตุปัจจัยหลายอย่างเช่นกัน   คำว่า “กรรม” หรือการกระทำ ซึ่งเป็นเจตนาหรือเจตจำนงของมนุษย์นั้น  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรม (เหตุปัจจัย) เท่านั้น
        เพราะฉะนั้น  การทำกรรมดีจะก่อให้เกิดผลดีตามความต้องการของผู้กระทำหรือไม่ ย่อมอยู่ที่ว่ามีเหตุปัจจัยต่าง ๆพร้อมหรือไม่  เปรียบเสมือนเราต้องการต้นมะม่วง เราต้องนำเมล็ดพันธุ์ไปเพราะปลูกลงดินที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำ มีอากาศ มีแสงแดด มีอุณหภูมิที่เหมาะสมถูกต้องตามฤดูกาล หากปัจจัยต่าง ๆดังกล่าวไม่มีพร้อม  ต้นมะม่วงย่อมไม่อาจเกิดขึ้นตามความต้องการของเราได้ หรือใครต้องการความร่ำรวยก็ต้องรู้ว่าเหตุปัจจัยที่จะช่วยทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองมีอะไรบ้าง แล้วจัดการวางแผนไปตามนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น  การทำความดีจะก่อให้เกิดผลดีตามความต้องการก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยถึงพร้อมทุกอย่างที่จะทำให้เกิดผลดีนั้น ๆได้   
        นอกจากนั้น ท่านเจ้าคุณยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจอีกประการหนึ่งว่า  เป้าหมายที่ต้องการของมนุษย์จากการที่ตนเองได้กระทำสิ่งต่าง ๆไปนั้นไม่เหมือนกัน  เช่น บางคนต้องการความมั่งคั่งร่ำรวย บางคนต้องการคำยกย่องชื่นชมหรือเกียรติยศชื่อเสียง บางคนต้องการความสุขใจ มีชีวิตที่พัฒนางอกงาม  เป็นต้น  
        ดังนั้น  มนุษย์จึงต้องใช้ ปัญญา ในการศึกษาเรียนรู้ให้ได้ว่า  เหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ผลหรือความต้องการของตนเองในแต่ละเรื่องนั้น มีอะไรบ้าง  ถ้าไม่รู้ย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหวังได้   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องพึงตระหนักรู้ด้วยว่า เหตุปัจจัยต่าง ๆโดยเฉพาะ “ปัจจัยภายนอก” นั้น เราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถึงแม้เราจะมีปัญญาสามารถรู้แจ้งเห็นจริงได้โดยตลอด แต่ด้วยข้อจำกัดของเหตุปัจจัยในตัวของมันเอง เราย่อมไม่สามารถกระทำการใด ๆเพื่อให้ได้รับผลตามที่ต้องการได้ทุกเรื่อง  
        อย่างไรก็ตามกรณี ปัจจัยภายใน ซึ่งหมายถึง จิตใจของเราเองนั้น เราย่อมควบคุมได้  ดังนั้น หากเราทำความดีเพื่อความสุขใจ เพื่อฝึกฝนพัฒนาจิต หรือเพื่อต้องการให้ชีวิตดีงามยิ่ง ๆขึ้นไปแล้ว ความต้องการที่พึงประสงค์ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนโดยไม่มีเงื่อนไขข้อแม้ใด ๆทั้งสิ้น
         จากธรรมเทศนาของท่านเจ้าคุณดังกล่าว ในทรรศนะของผู้เขียนมองว่า ธรรมะ กับ หน้าที่หรือ การทำความดี เป็นสิ่งเดียวกัน พุทธศาสนิกชนที่ดีจึงต้องทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ที่สุด เพราะการทำหน้าที่ก็คือการปฏิบัติธรรม  ซึ่งสามารถทำได้ในทุกสถานที่ ทุกโอกาส ทุกเวลา หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า อุเบกขา ซึ่งหมายถึง การปล่อยวางหรือการวางเฉยนั้น น่าจะหมายถึง การปล่อยวางในสิ่งที่เราไม่มีหน้าที่หรือไม่สามารถควบคุมกำหนดได้เท่านั้น  ต้องไม่หมายความรวมถึง การละวางต่อการทำหน้าที่ของตนเองโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่อันพึงมีต่อตัวเอง หน้าที่ในฐานะพ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ข้าราชการ นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ รวมทั้ง หน้าที่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่จะต้องพึงมีต่อสังคมหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม  ส่วนการทำหน้าที่จะสามารถทำได้ดีหรือมากน้อยแค่ไหน เพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับศักยภาพและเหตุปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆของแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกันและไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลัก  สิ่งสำคัญสูงสุดคือ การทำหน้าที่นั้นครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่  หากใครละทิ้งหน้าที่ย่อมหมายถึงการละทิ้งธรรมะและหากใครบกพร่องต่อหน้าที่ย่อมหมายถึงการบกพร่องต่อการปฏิบัติธรรม คนที่บกพร่องต่อหน้าที่หรือการปฏิบัติธรรมย่อมไม่อาจเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบได้
       อนึ่ง พึงมีข้อสังเกตว่าสังคมไทยเรานั้นมีปัญหาสับสนหลงผิดในเรื่องของบทบาทหน้าที่อยู่ไม่น้อย คนบางคนแม้แต่การทำหน้าที่ต่อตัวเองหรือครอบครัวยังไม่สามารถทำได้ดีเลย กลับเสนอตัวอาสาเข้าไปทำหน้าที่เพื่อสังคมหรือรับใช้บ้านเมือง ก็แม้แต่ตัวเองและครอบครัวก็ยังไม่รักและไม่ซื่อสัตย์เลย แล้วจะไปรักและซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติได้อย่างไร  และเป็นตลกร้ายที่น่าเศร้าที่สุดคือ มีผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยที่คิดว่าโกงไม่ว่าขอให้ทำงานหาเงินเก่งเป็นใช้ได้ และเปิดโอกาสให้คนขี้โกงเหล่านั้นด้วยการเลือกให้เป็นตัวแทนเข้าไปมีอำนาจปกครองชาติบ้านเมือง ผลที่ออกมาก็ดังปรากฏให้เห็นกันอยู่ซึ่งคงไม่จำต้องยกตัวอย่างมาพูดให้เจ็บปวดหัวใจกันอีก
        บางคนมีหน้าที่หลักอย่างหนึ่งแต่ชอบที่จะไปทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง เช่น บทบาทของนักวิชาการซึ่งเปรียบเสมือนผู้ถือคบไฟส่องทาง ชี้นำสังคมให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงาม หากนักวิชาการทิ้งคบไฟหันไปแบกขนสัมภาระ เสาะหาเสบียง  เข้าครัวทำอาหาร เป็นยามรักษาความปลอดภัยหรือทำหน้าที่อื่นใดที่ไม่ใช่บทบาทหน้าที่หลักของตนเอง   สังคมย่อมเดินผิดทิศหลงทาง  เพราะไม่มีผู้ถือคบไฟส่องนำทางให้
        ผู้เขียนรู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ในอดีตผ่านมามีนักวิชาการผู้มีความรู้ความสามารถสูงหลายท่านละทิ้งบทบาทหน้าที่หลักของตนเองไปทำงานด้านการเมืองหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการเมือง  ผลที่ออกมาก็ดังที่ปรากฏให้เห็นกัน คือ ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่  เพราะในทางปฏิบัติที่เป็นจริงนั้น มีตัวแปรมีเงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆมากมาย  หากนักวิชาการนำหลักการแนวคิดทฤษฎีไปปรับใช้อย่างเคร่งครัดตรงไปตรงมาเป็นไม้บรรทัด  การต่อต้าน ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้น โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังมีจิตใจไม่วิวัฒน์    แต่หากนักวิชาการท่านใดยอมผ่อนปรนยืดหยุ่นก็จะถูกกล่าวหาว่าเปลี่ยนไปไร้จุดยืนละทิ้งอุดมการณ์ ทำให้ขาดความเลื่อมใสศรัทธา การทำงานย่อมไม่ได้ผล  สรุปก็คือ มีแต่เสียกับเสีย  แม้บางท่านจะถอนตัวออกมาแล้ว  แต่ความหวาดระแวง  ความเคลือบแคลงสงสัยก็ยังอยู่ในใจของผู้คน  ตอนนี้  สังคมไทยจึงหานักวิชาการที่เป็นหลักของบ้านเมือง  ประชาชนเชื่อมั่นในความเป็นกลาง ไม่เคลือบแคลงสงสัยในเบื้องหลังของคำพูดหรือการแสดงความคิดความเห็นใด ๆได้ยากยิ่ง   
         ถึงตรงนี้ ผู้เขียนขอแสดงความชื่นชมนักวิชาการบางท่านที่ยังมีความหนักแน่นมั่นคงในอุดมการณ์  มุ่งทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองอย่างซื่อสัตย์เสียสละตรงไปตรงมา โดยไม่เห็นแก่ลาภยศตำแหน่งหรือชื่อเสียงใด ๆ  และขอถือโอกาสนี้สื่อสารทำความเข้าใจกับนักการเมืองบางท่านที่ชอบพูดท้าทายให้นักวิชาการไปลงสมัครรับเลือกตั้งว่า การที่ท่านพูดเช่นนั้นก็คงเปรียบเสมือนนักมวยท้าให้ผู้ฝึกสอน  คนพากย์ หรือนักวิจารณ์กีฬามวยไปขึ้นเวทีชกมวยแข่งขันกัน ก็คงมีแต่คนบ้ากับคนเมาเท่านั้นแหละที่กล้ารับคำท้าของท่าน
        ๓. การกินอยู่หลับนอน ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์เคยแสดงปาฐกถาธรรมไว้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีภาวะหรือสถานะ ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน คือ เป็นชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติ อยู่ในธรรมชาติและเป็นไปตามกฎธรรมชาติ  โดยแยกออกเป็น ๒ ด้านคือ กายและใจ อันจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยปัญญา และ เป็นบุคคล” ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ร่วมในสังคม มีความสัมพันธ์ต่อกันโดยขึ้นต่อเจตจำนง ดังนั้น การมองคนต้องมองทั้งสองด้านให้ประสานโยงถึงกันทั้งด้านที่เป็นบุคคลในสังคมและด้านที่เป็นชีวิตในธรรมชาติ  ซึ่งโดยหลักแล้วต้องเน้นความสำคัญในการมองคนให้ถึงแก่นแท้ของชีวิตในธรรมชาติมากกว่า 
           ตัวอย่างเช่น  การรับประทานอาหาร คนจะกินอาหารทั้งในฐานะที่เป็นบุคคลและในฐานะที่เป็นชีวิต  คือ  มีทั้งการกินเพื่อสนองความต้องการของบุคคล (อร่อย  โก้ แสดงฐานะ ฯลฯ)   และการกินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต (ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ)   แน่นอนว่าคุณค่าที่แท้จริงของอาหารคือ เพื่อสนองความต้องการของชีวิต  ดังนั้น  หากมนุษย์ไม่เข้าใจ  มุ่งกินเพื่อสนองความต้องการของบุคคลเป็นหลัก    ก็จะเป็นการบั่นทอนหรือทำลายชีวิตของเขาเองเพราะนั่นหมายถึง ทรัพย์สินเงินทองที่สูญเสียไปและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆที่จะตามมา[5] 
         อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้คนในสังคมกลับพบว่า ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นสถานะเพื่อบุคคลมากกว่าเพื่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกิน การนอน การแต่งตัว การเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ฯลฯ ผลที่ตามมาก็คือ การดำเนินชีวิตขาดสมดุล ก่อให้เกิดปัญหาและความทุกข์ทั้งต่อชีวิตตนเอง ครอบครัวและสังคมส่วนรวม
          ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับคำกล่าวที่ว่า การดำเนินชีวิตที่ถูก ต้องดีงามนั้น ต้อง “อยู่อย่างเล็ก ทำอย่างใหญ่” ไม่ใช่ “อยู่อย่างใหญ่  ทำอย่างเล็ก” ซึ่งหมายถึงว่าการดำรงชีวิตส่วนตัวต้องอยู่อย่างเรียบง่ายธรรมดาให้มากที่สุด คือ อยู่อย่างเล็ก ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆต้องให้มีภาระน้อยที่สุด  การทำตัวอย่างนี้จะทำให้เรามีเวลา มีสมอง มีทรัพยากรเหลือมากพอที่จะคิดทำอย่างใหญ่  คือ ทำเพื่อประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ คนรอบข้างหรือสังคมส่วนรวมได้  ในทางตรงกันข้ามหากเราดำรงชีวิตส่วนตัวโดยอยู่อย่างใหญ่ก่อน   ชีวิตทั้งชีวิตก็คงจะยุ่งยากปวดหัวกับสิ่งใหญ่ ๆทั้งหลายที่เสาะหามา คงไม่มีเวลา  ทรัพยากร มันสมองหรือแรงกายแรงใจเหลือพอสำหรับการคิดเผื่อแผ่แบ่งปันให้ใครได้ 
         จะสังเกตเห็นว่าผู้คนในสังคมทุกวันนี้มักจะพยายาม “อยู่อย่างใหญ่ ทำอย่างเล็ก” เสียเป็นส่วนใหญ่ คำว่า“น้ำใจ”คำว่า “ส่วนรวม” จึงค่อยๆเลือนหายไปจากหัวใจของคนไทยทีละเล็กละน้อย  ขณะที่ความเครียด ความทุกข์ การแก่งแย่งแข่งขันได้แผ่ขยายปกคลุมไปทุกหย่อมหญ้า   
         บางท่านอาจโต้แย้งว่า“อยู่อย่างใหญ่  ทำอย่างใหญ่”ไม่ได้หรือ ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่าเป็นไปได้ยากมากหากไม่มีพื้นฐานฐานะที่ร่ำรวยหรือมีบุญบารมีที่สูงส่งอย่างแท้จริงมาก่อน เพราะเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ   คนเราพอเริ่มต้นชีวิตด้วยการอยู่อย่างใหญ่แล้ว ย่อมหมายถึงการเห็นแก่ตัว ยิ่งอยู่อย่างใหญ่มากก็จะเห็นแก่ตัวมาก แล้วไอ้ความเห็นแก่ตัว  ไอ้ความโลภของมนุษย์นี่  ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่ามันไม่มีที่สิ้นสุด โอกาสที่จะคิดทำอย่างใหญ่จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย   เพราะหากคิดทำอย่างใหญ่เมื่อใดก็มักจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนตัวในทันที การทำอย่างใหญ่ของคนอยู่อย่างใหญ่ส่วนใหญ่จึงมักจะแฝงด้วยการคิดแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างมีนัยความหมายอันสำคัญและลึกซึ้งเสมอ    
          ๔. การอนุรักษ์ภาษา ประเพณี  ศิลปะ  วัฒนธรรม  ผู้เขียนเป็นคนพื้นเพทางภาคเหนือ มีอยู่วันหนึ่งขณะฟังวิทยุในรถยนต์ มีบทพูดโฆษณาตอนหนึ่งความว่า “กำเมือง ถ้าคนเหนือบ่อู้ แล้วไผจะอู้”  ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดถึงครอบครัวคนเคยรู้จักหลายคนที่สอนให้ลูกพูดภาษา ไทยกลางตั้งแต่เริ่มหัดพูดโดยไม่สอนฝึกพูดภาษาท้องถิ่นเลย มองเผินๆดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากคิดดูให้ดีอย่างลึกซึ้งก็จะพบว่า เป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของกิเลสในข้อ “มานะ” ให้แก่ลูกตั้งแต่เด็ก อันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตจิตใจและอนาคตของเด็กอย่างมาก (รวมถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการพูดภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทยด้วย)
        ชีวิตคนเรานั้น ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน วันนี้สุขพรุ่งนี้ทุกข์ วันนี้สมหวัง พรุ่งนี้ผิดหวัง สลับสับเปลี่ยนกันไป  วันเวลาใดที่มีความสุขก็คงไม่มีปัญหาอะไร  แต่คราใดที่ชีวิตเป็นทุกข์ ประสบกับความผิดหวัง  โดยธรรมชาติคนเราจะคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัวเป็นอันดับแรก   หากใครมีครอบครัวที่อบอุ่น มีความรักใคร่กลมเกลียว ก็ถือเป็นโชคดีอย่างยิ่ง  กลับไปเลียแผลใจที่บ้าน ขอกำลังใจจากผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่ ญาติพี่น้องที่เคารพนับถือสักพักหนึ่ง  เมื่อจิตใจได้รับการฟื้นฟูเข้มแข็งขึ้นก็ออกไปเผชิญต่อสู้ชีวิตในโลกกว้างต่อไป แต่หากใครไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีความภาคภูมิใจในรากเหง้าที่มาของตนเอง  โดยแม้แต่ภาษาของบรรพบุรุษยังคิดว่า เป็นสิ่งที่น่าอับอายไร้คุณค่า  ลองคิดดูซิว่าเมื่อชีวิตเป็นทุกข์ขึ้นมาจะหันหน้าไปพึ่งพาหรือขอกำลังใจจากใครที่ไหนได้
          เกี่ยวกับเรื่องนี้จะสังเกตเห็นว่า  คนจีนมีกุศโลบายที่แยบยลอย่างมากด้วยการสร้างประเพณีการกราบไหว้บรรพบุรุษขึ้นมา  ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อรากฐานความมั่นคงและขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต   
          นอกจากภาษาแล้ว ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมทั้งหลายก็ทำนองเดียวกัน  คือ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ มีอิทธิพลต่อชีวิตของเราอย่างมากมาย ขอได้โปรดช่วยกันรักษาไว้เถิด อย่าคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าอาย หรือคร่ำครึโบราณล้าสมัยเลย
          จากหลักการแนวคิดตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งประเด็นตัวอย่างที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์วิจารณ์ดังที่กล่าวไปแล้วทั้งหมด  คำตอบสำหรับโจทย์ที่ตั้งไว้ข้างต้นที่ว่า เราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องคนกันอย่างไรนั้น ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า  น่าจะมีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น คือ การให้ “การศึกษา” แก่มนุษย์  ซึ่งกระบวนการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์นั้น จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบครบ ๓ ด้าน เรียกว่า “ไตรสิกขา” [6] คือ พฤติกรรม  จิตใจ และปัญญา แยกขาดจากกันไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะเบื้องหลังพฤติกรรมที่แสดงออกมามีเจตนาภายในจิตใจเป็นตัวกำหนด และพฤติกรรมจะตื้นเขินคับแคบหรือลึกซึ้งกว้างขวางเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับปัญญาเป็นสำคัญ
         ขณะเดียวกันจิตใจจะมีความสุขได้ก็ต้องอาศัยพฤติกรรมที่ดำเนินการไปตามความต้องการหรือถูกใจ และจิตใจจะโปร่งโล่งสบายได้ก็ต้องอาศัยปัญญาอันเฉลียวฉลาดที่สามารถล่วงรู้และเข้าใจปัญหารวมทั้งวิธีจัดการกับปัญหาได้เป็นอย่างดี ส่วนปัญญาก็เช่นกัน จะพัฒนาหรือทำงานได้ผลดีก็ต้องอาศัยจิตใจที่เข้มแข็ง มีสมาธิ สงบมั่นคงแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย พร้อมกันนั้นในการแสวงหาปัญญาก็ต้องใช้พฤติกรรมเกื้อหนุนและเป็นเครื่องมือ เช่น การค้นคว้ารวบรวมข้อมูล การรู้จักดู รู้จักฟัง รู้จักพูด รู้จักติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม เป็นต้น[7]   
         เมื่อมนุษย์สามารถพัฒนาตนจนเข้าถึงธรรมด้วยปัญญาและด้วยจิตใจแล้ว ก็จะส่งผลทำให้มีพฤติกรรมที่เข้าถึงธรรมตามไปด้วย และเมื่อผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับการพัฒนาจนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ความสงบสุขและสันติภาพย่อมเกิดขึ้นในโลกตราบชั่วกาลนาน./


[1] พระพรหมคุณาภรณ์สลายความขัดแย้ง:นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ,  [Online], Available : http://watnyanaves. net/th/ book_detail/438, หน้า ๓๑ -๓๓.
[2] เรื่องเดียวกัน ,  หน้า  ๓๗. 
[3] เรื่องเดียวกัน ,  หน้า  ๔๙ 
[4] พระพรหมคุณาภรณ์ , พุทธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ (กรุงเทพฯ:มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๒), หน้า ๖๐๑.
[5]พระพรหมคุณาภรณ์“นิติศาสตร์แนวพุทธ”, รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย (กรุงเทพฯ : วิญญูชน ,๒๕๔๘) ,หน้า  ๘๕ .
[6] ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์อธิบายไว้ในหนังสือ พุทธธรรมว่า ไตร- สิกขาเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากมรรค  เป็นระบบปฏิบัติที่มุ่งในแง่การใช้งาน คือ นำเอาองค์ประกอบทั้งหลายของมรรคออกมาจัดเป็นกระบวนวิธีปฏิบัติที่มีขั้นตอนต่าง ๆเพื่อใช้องค์มรรคเหล่านั้นให้สำเร็จผลอย่างเป็นงานเป็นการในชีวิตจริง เสมือนดั่งว่า เมื่อแจกแจงให้รู้แล้วว่าเครื่องมือที่จะต้องใช้มีอะไรบ้างแล้ว ก็มาจัดลำดับการใช้เครื่องมือเหล่านั้นว่า จะใช้เครื่องมืออะไร ตอนไหน อย่างไร (หน้า ๖๐๗-๖๐๘).
[7] พระพรหมคุณาภรณ์, รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย, หน้า ๓๙ ๔๐.       
                                                   -------------------------
       คนกับสัตว์ต่างกันเพราะอะไรต่างกันเพราะเหตุอย่างเดียว คือ ความมีธรรมะ ภาษิตแต่บรมโบราณไม่รู้ว่าแต่ครั้งไหนในประเทศอินเดียซึ่งเป็นต้นตอของวัฒนธรรมสายนี้ที่มา ถึงประเทศไทยเรา เขาก็กล่าวไว้เป็นกลางทั่วไป แม้ไม่เกี่ยวกับศาสนาว่า  การหาอาหารกิน การแสวงความสุขจากการนอน การรู้จักขี้ขลาดวิ่งหนีภัย และการประกอบกรรมระหว่างเพศนี้มีอยู่ได้เสมอกันระหว่างคนกับสัตว์.....แต่ว่าธรรมะเท่านั้นที่ทำความแตกต่างระหว่างคนจากสัตว์ ปราศจากธรรมะแล้ว คนกับสัตว์ก็เหมือนกัน”                                                  
          “...ถ้าคนแต่ละคนมีศีลธรรม บุคคลก็เป็นหน่วยหนึ่งของสังคมนั้น ๆ หากว่าหน่วยแต่ละหน่วยของสังคมมีความปกติ มีความสงบ มีศีลธรรม ก็หมายถึงสังคมนั้นย่อมจะต้องมีความปรกติ มีศีลธรรมด้วย  เมื่อสังคมแต่ละสังคมมีปรกติ มีศีลธรรม มีความสงบสุขกันทุก ๆสังคม หรือทุกประเทศแล้ว ก็ย่อมทำให้โลกนี้มีความสงบ...
         ...เกิดมาในโลกแล้ว ต้องมีส่วนที่จะทำให้โลกนี้มีสันติสุข   สันติภาพ ตามพระพุทธประสงค์...
                                                                                                                
                                                                            พุทธทาสภิกขุ      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น