1/06/2555

ที่มาของฝ่ายนิติบัญญัติ
                                    โดย...โสต  สุตานันท์  

        หลังจากหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง “ที่มาของฝ่ายบริหาร” มาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับท่านผู้อ่านไปแล้ว โอกาสนี้ขอนำประเด็นเรื่อง  “ที่มาของฝ่ายนิติบัญญัติ” มาพูดคุยกันต่อและแน่นอนว่าในบทต่อไปก็คงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องนำเสนอในประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง“ที่มาของฝ่ายตุลาการ” เพราะมิฉะนั้น ก็คงจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักแก้ว ๓ ประการ แห่งอำนาจอธิปไตย
         เกี่ยวกับเรื่องที่มาของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น  ผู้เขียนขอรวบรัดตัดตอนว่า จากประวัติศาสตร์มนุษย์โลกที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า  การ กำหนดกฎเกณฑ์กติกาของสังคมนั้นต้องให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมและวิธีการที่ดีที่สุดก็คือ การเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปช่วยกันคิดช่วย กันทำนั่นเอง  ดังนั้น จึงน่าจะสรุปได้ว่า“การเลือกตั้ง”ในระบอบประชาธิปไตยถือเป็น “กฎมนุษย์” ที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้อง สัมพันธ์กับ  “กฎธรรมชาติ”  เป็นอย่างดีแล้ว
        ถึงแม้ว่าบางยุคบางสมัยผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมอาจจะมีระดับการศึกษาหรือพัฒนาการด้านปัญญาไม่ดีพอ  ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎธรรมชาติ - กฎมนุษย์ อย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง  ทำให้ดูประหนึ่งว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งชั่วร้าย  แต่ผู้เขียนก็ยังยืนยันแนวคิดที่ว่าธรรม ชาติของมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความคิดมีสติปัญญา มีมันสมองต่างจากสัตว์อื่น สามารถฝึกฝนเรียนรู้ และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้  ซึ่งระบอบประชาธิปไตยมีกฎเกณฑ์กติกาที่เอื้ออำนวยต่อการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ได้เป็นอย่างดียิ่ง ต่างจากระบอบเผด็จการหรือระบอบอื่นใดที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม  ย่อมเป็นอุปสรรคปัญหาอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของสังคมมนุษย์  อาจกล่าวได้ว่าสังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่มีความหวัง มีอนาคตที่ยาวไกล โดยเป้าหมายสูงสุดก็คือสังคมในอุดมคติที่เรียกว่ายุคพระศรีอาริย์นั่นเอง ขณะที่สังคมเผด็จการนั้น  อาจจะดีสูงสุดในระดับหนึ่งหรือชั่วขณะเวลาหนึ่ง   แต่หลังจากนั้นก็จะมีแต่ทรงกับทรุดและไร้ซึ่งความหวัง
        เพราะฉะนั้น  ขอประชาชนคนไทยทั้งหลายจงมั่นใจในระบอบประชาธิปไตย  มั่นใจในการเลือกตั้ง อย่าวอกแวกหรือลังเลสงสัยใด ๆทั้งสิ้น และเมื่อมั่นใจในประชาธิปไตยแล้ว ก็ต้องมั่นใจในประชาชน  อย่าวิตกกังวลหรือดูหมิ่นดูแคลนว่าประชาชนไร้ซึ่งปัญญา เห็นแก่วัตถุ ทรัพย์สินเงินทองหรือมัวลุ่มหลงซึ่งกิเลสตัณหา   เพราะนั่นเป็นปัญหาที่เราจะต้องเรียนรู้และคิดหาทางแก้ไขร่วมกัน   ขอจงเชื่อเถิดว่าหากประชาชนคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ยอมฝึกฝนพัฒนาจิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม คิดถึงแต่อำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มพวกตนเอง มุ่งแต่เอา ชนะคะคานทำลายล้างกัน หรือไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับสังคมประชาธิปไตยที่ถูกต้อง  ท้ายที่สุด พวกเขาเหล่านั้นก็จะแพ้ภัยตัวเองและล้มหายตายจากสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ       
        มีปัญหาต้องพิจารณาว่า  เราจะกำหนดรูปแบบหรือระบบการเลือก ตั้งฝ่ายนิติบัญญัติกันอย่างไร  เพื่อให้ได้ตัวแทนที่ถูกต้องเหมาะสม ถูกที่ถูกตำแหน่ง สามารถทำหน้าที่ได้อย่างลงตัวหรือประสานสอดคล้อง กลมกลืนกันตามแนวทางแก้ไขปัญหาแบบ harmonize
       ก่อนอื่นขอตั้งโจทย์ไว้ว่า เราควรจะมีสภาเดียวหรือสองสภา ประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า จากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ตัวแทนที่มาจากสภาล่างหรือที่เรียกว่าส.ส.นั้นดูเหมือนจะมีปัญหาและข้อจำกัดอยู่มากมายหลายประการ อีกทั้งขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง  เพื่อความรอบคอบและความไม่ประมาทจึงคิดว่า ตัวแทนในสภาสูงหรือ ส.ว. ยังมีความจำเป็นอยู่
        โจทย์ข้อต่อไป คือ รูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส. ควรจะเป็นอย่างไร  ผู้เขียนเห็นว่า ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเขตเล็ก เขตใหญ่   เขตเดียวเบอร์เดียว แบ่งเขตรวมเบอร์หรือเรียงเบอร์ ฯลฯ น่าจะมีทั้งข้อดีข้อเสียของ ระบบ พอ ๆกัน  ซึ่งที่ผ่านมาเชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะทราบจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละระบบกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว  จึงขอไม่วิเคราะห์วิจารณ์ในรายละเอียด แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ ๒ ประการ คือ
        ประการแรก การที่รัฐธรรมนูญบังคับให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัด พรรคการเมืองนั้น น่าจะขัดกับหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ที่ถูกต้องน่าจะปล่อยให้พรรคการเมืองเกิด ขึ้นและเติบโตไปตามธรรมชาติมากกว่า  ไม่ควรที่กฎหมายจะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงมากเกินไป
        ประการที่สอง ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าเราจะเลือกใช้รูปแบบการเลือก ตั้งแบบใด “คน”  ย่อมเป็นปัจจัยหลักสำคัญเสมอต่อความสำเร็จหรือล้มเหลว ดังนั้น จึงต้องเน้นให้ความสนใจการแก้ไขปัญหาเรื่องคนอย่าง จริงจังมากเป็นพิเศษกว่าในอดีตที่ผ่านมา   ซึ่งการจัดการปัญหาเรื่องคนนั้น  ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้ตั้งข้อสังเกตและให้แนวทางไว้อย่างน่าสนใจพอสรุปได้ว่า “สังคมในขณะหนึ่ง ๆย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี มีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่างหลากหลาย  ดังนั้น   การปกครองและกฎหมายจึงต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้านพร้อม ๆกันไป   คือ  ทั้งส่งเสริมคนดีและกำราบคนร้าย   แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น  ต้องมีจุดเน้นที่การสร้างและส่งเสริมคนดีเป็นสำคัญ   เพราะวิถีทางนี้เป็นแนวทางที่สร้างสรรค์ เป็นแนวทางที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตและสังคมให้ก้าวหน้าไปสู่ความดีงามยิ่ง ๆขึ้นไป” [1]
        โจทย์ข้อสุดท้าย คือ ที่มาของ ส.ว. ควรจะเป็นอย่างไร ดังได้กล่าวไปแล้วในบทความผู้เขียนครั้งก่อนๆว่า  ตามหลักการแนวคิดแห่ง “นิติศาสตร์แนวพุทธ” นั้น  มองว่ากฎมนุษย์หรือกฎหมายที่ดีนั้น ต้องมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ  แต่ปัญหาก็คือว่าในเรื่องหนึ่งๆนั้น มีกฎธรรมชาติเข้าไปเกี่ยวข้องมากมายหลายกฎหลายลักษณะ ทั้งโดยตรงโดยอ้อมและมากน้อยแตกต่างกันไป  ดังนั้นโดย หลักการแล้วการออกกฎหมายจึงต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกันให้มากที่สุด เพื่อจะได้ร่วมกันคิดร่วมกันพิจารณาในทุกมิติแง่มุมของปัญหาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ
        จากหลักการแนวคิดดังกล่าว เมื่อนำไปพิจารณาประกอบกับแนว คิดเรื่องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย    จึงขอเสนอความเห็นเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ดังนี้ คือ
        โดยที่ระบบแต่งตั้งมีจุดเด่น คือ เปิดโอกาสให้สามารถเลือกสรร ส.ว. ได้อย่างหลากหลาย แต่ก็มีจุดอ่อนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและระบบอุปถัมภ์    ขณะที่ระบบเลือกตั้งมีจุดเด่นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่มีจุดอ่อนเรื่องคุณสมบัติของ ส.ว. ที่อาจไม่ครบถ้วนหลากหลายตามที่ต้องการ และปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง  ดังนั้น  จึงเห็นว่า ควรเดินทางสายกลางตามหลักธรรมคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา ด้วยการนำระบบแต่งตั้งกับระบบเลือกตั้งมาผสม ผสานกันให้เหมาะสมลงตัว
        ข้อเสนอก็คือ  ส.ว.  น่าจะมาจากตัวแทนของกลุ่มคนต่าง ๆในทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะประกอบอาชีพสาขาใด  เป็นเกษตรกร  ผู้ใช้แรงงาน  ข้าราชการพลเรือน  ครู ทหาร  ตำรวจ  อัยการ ศาล   ทนายความ  บุคลากรในมหาวิทยาลัย   พนักงานรัฐวิสาหกิจ   นักธุรกิจ  สื่อมวลชน  กลุ่มคนพิการ ฯลฯ  หรือแม้กระทั่งบุคลากรในสถาบันศาสนา  เพราะความรู้ทางวิชาการ วิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีด้านต่าง ๆนั้น เปรียบ เสมือนมีดดาบ ยิ่งรู้มากก็ยิ่งคมมาก  ซึ่งหากความรู้นั้นไม่มีหลักธรรมะคอยกำกับการนำไปปรับใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม  ย่อมก่อให้เกิดความผิดพลาดได้โดยง่ายและเป็นเรื่องที่น่าอันตรายอย่างยิ่ง
        สำหรับวิธีการให้ได้มาซึ่งตัวแทนของแต่ละกลุ่มนั้น  ควรมีกฎ เกณฑ์กติกาที่ยืดหยุ่นและอาจแตกต่างหลากหลายกันไปตามความเหมาะสม  อย่างเช่น  ตัวแทนของมหาวิทยาลัย อาจกำหนดให้ผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่  บุคคลที่ดำรงตำแหน่งบริหารตั้งแต่คณบดีขึ้นไปหรือบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ขึ้นไป   ทหาร ตำรวจ อาจกำหนดให้ผู้มีสิทธิ์สมัครมียศตั้งแต่นายพลตรีขึ้นไป   แล้วให้สมาชิกในองค์กรทั้งหมดเป็นผู้เลือกตั้ง   กลุ่มนักธุรกิจอาจเลือก ตั้งจากประธานหอการค้าจังหวัดต่างๆ  กลุ่มสื่อมวลชนอาจเลือกตั้งจากผู้บริหารหรือบรรณาธิการของสื่อแต่ละแขนง  เป็นต้น   ทั้งนี้ บางกลุ่ม บางอาชีพ อาจจะมีปัญหายุ่งยากในทางปฏิบัติอยู่บ้าง แต่หากเรายอมรับหลักการดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็คงไม่เหลือวิสัยที่จะมาช่วย กันคิดสร้างหากฎเกณฑ์กติกากัน
        กรณีตัวแทนที่มาจากกลุ่มข้าราชการนั้น บางท่านอาจมองว่าไม่ใช่ ตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงและอาจไม่เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนได้อย่างถูกต้อง แต่ผู้เขียนก็ขอแย้งว่า อย่าลืมว่า  ข้าราชการก็คือ ประชาชนเหมือนกัน และเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถ มีการศึกษาที่ดี  โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูงหรือข้าราชการบำนาญ  กว่าจะก้าวไปถึงจุดนั้นเขาได้สั่งสมพอกพูนความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆไว้อย่างมากมาย   การเปิดโอกาสให้ตัว แทนข้าราชการเข้าไปทำหน้าที่ในฐานะ ส.ว. จึงน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมไม่น้อย
        ผู้เขียนเชื่อว่า ระบบตามที่เสนอดังกล่าวน่าจะสามารถช่วยคัดสรร  กลั่นกรองในการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่มีคุณสมบัติที่ดี มีความเหมาะสมมาก กว่าระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  อย่างน้อยที่สุดก็เป็นหลักประกันได้ว่า   เราจะได้  ส.ว. ที่มีที่มาอย่างหลากหลายจากทุกกลุ่มสาขาอาชีพ    อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการระดมความคิดความเห็นในการกลั่นกรองกฎหมายในสภา
        สำหรับปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง  การเล่นพรรคเล่นพวกหรือระบบอุปถัมภ์นั้น  อย่างไรเสียเราก็ต้องยอมรับความจริงกันว่า คงจะอยู่คู่กับสังคมไทยไปอีกยาวนาน  ซึ่งก็คงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องร่วมกันคิดร่วมกันแก้ไขปัญหากันต่อไป  แต่อย่างน้อยการมีระบบที่ถูกต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ธรรมชาติ  ก็น่าจะเป็นจุดเริ่ม ต้นที่ดีต่อการคิดแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสังคมไปสู่สิ่งที่ดีงามและทำให้ผู้คนในสังคมได้มีความหวังขึ้นมาบ้าง
        ผู้เขียนไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายต่างประเทศ  จึงไม่ทราบว่าระบบตามที่เสนอข้างต้นจะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับประเทศใดในโลกบ้าง หากผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจก็ขอ ได้โปรดเขียนเป็นวิทยาทานให้ความรู้แก่ประชาชน และเพื่อแลก เปลี่ยนความคิดความเห็นระหว่างกันบ้างก็คงจะดีไม่น้อย
        อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายของต่างประเทศนี้   ผู้เขียนขอแสดงทรรศนะเป็นบทสรุปส่งท้ายว่า    การที่เราจะนำเอาหลักกฎหมายของต่างประเทศมาปรับใช้ในบ้านเมืองเรานั้น  ต้องพิจารณาใคร่ครวญดูให้ดี ควรคำนึงถึงเงื่อนไขปัจจัยและสิ่งแวดล้อมต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนรอบด้าน   หากเรานำมาใช้อย่างไม่ระมัดระวัง
บางครั้งบางทีก็อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีก็เป็นได้ ข้อกังวลห่วง ใยของผู้เขียนดังกล่าว ไม่ได้คิดขึ้นมาอย่างเลื่อนลอยไร้เหตุผล  แต่มีนักคิด นักปราชญ์ มีผู้รู้ที่สังคมให้การยอมรับนับถือหลายท่านเคยให้แง่คิดมุมมองและเตือนสติไว้ในที่ต่าง ๆมากมายหลายแห่ง ในที่นี้ ขอหยิบ ยกคำกล่าวของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์มาอ้างอิง ดังนี้ คือ
        “...เราต้องรู้จักตนเอง  ซึ่งหมายถึงว่า ต้องรู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง  โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าอะไรเป็นคุณค่าที่แท้จริง  อะไรเป็นสิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนแก้ไข  ควรทิ้ง หรือควรเสริมเพิ่มขึ้นมา   ในแง่ของวัฒนธรรมอื่น  ก็ต้องรู้จักว่าที่เขาเจริญนั้นเป็นอย่างไร  แยกแยะวิเคราะห์ออกดูว่า  ส่วนไหนแน่ที่เป็นความเจริญ  กันส่วนอื่นที่ไม่เป็นความเจริญออกไป   อะไรเป็นความเสื่อมท่ามกลางภาพของความเจริญนั้น และสืบค้นว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ  อะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมนั้น ๆของเขา   ไม่ใช่เห็นวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา  เมื่อยอมรับกันหรือนิยมกันแล้วว่า  อันนี้เป็นวัฒนธรรมของประเทศที่เจริญแล้ว ก็ต้องว่าดีและรับเอาไปเสียทั้งหมด  ซึ่งจะกลาย เป็นว่าไม่ได้ใช้สติปัญญากันเลย...” [2]
        ต้องยอมรับความจริงกันว่า  รัฐธรรมนูญของไทยเราตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบัน  เนื้อหาส่วนใหญ่มีหลักการแนวคิดมาจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น   ผลที่ออกมาก็ดังที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่ คือ   ประชาธิปไตยของเราล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด    แม้หลายคน (รวมทั้งผู้เขียน)  มักจะเน้นย้ำให้ความเห็นอยู่เสมอว่า    แท้จริงแล้ว ปัญหาหลักเกิดจากคนไม่ใช่ระบบหรือกฎหมาย  แต่ก็เป็นเรื่องที่อดคิดไม่ได้ว่า  หากคนไทยไร้คุณภาพ มีคุณลักษณะที่ย่ำแย่ดังที่กล่าวขานกันจริง ทำไมเราจึงสามารถดำรงเผ่าพันธุ์และยืนหยัดพัฒนามาได้จนถึงทุกวันนี้   หรือแม้หากว่าคนไทยส่วนใหญ่จะห่วยแตกจริง  แต่คนกับระบบก็เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่แยกออกจากกันไม่ได้  อย่างไรเสียก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า  ปัญหาใหญ่น้อยทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้น  ส่วนหนึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากตัวระบบกฎหมาย    จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาค้นคว้าหรือวิจัยดูว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นที่เราลอกเลียนแบบมาจากต่างประเทศนั้น  มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติและเหมาะสมกับประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปหรือสภาพของสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน  อย่างไร ?                                              


[1]พระพรหมคุณภรณ์ “นิติศาสตร์แนวพุทธ”, รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย (กรุงเทพฯ : วิญญูชน ,๒๕๔๘) ,หน้า  ๙๑.
[2] พระพรหมคุณาภรณ์ .  “ศิลปศาสตร์แนวพุทธ”, (กรุงเทพฯ : สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสซิ่ง), ๒๕๕๑, หน้า ๔๘.
                                                     --------------------------------------------
   “...สัตบุรุษ คือ ผู้รักความสงบ รู้ความสงบ แสวงหาความสงบ เป็นอยู่ด้วยความสงบ สงบตามทางธรรม ...สภา คือ ที่ประชุมแห่งสัตบุรุษ ...เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต  ที่ใดไม่มีสัตบุรุษในที่นั้นไม่เรียกว่า สภา
        ...ที่ประชุมไหนมีแต่เอะมะเทิ่งของบุคคลที่เห็นแก่ตัว เถียงกันน้ำลายเป็นฟองเพื่อรักษาประโยชน์หรืออะไรของตัวแล้ว ที่นั่นไม่ใช่สภา แม้จะปิดป้ายตัวโต ๆว่าสภาก็ตาม
        ...นักการเมืองเขาบูชาดี เด่น ดัง แล้วก็เพื่อกิน เพื่อกาม เพื่อเกียรติ์ ไม่มีคำว่าสะอาด สงบ หรือพระเจ้าในความคิดนึก...เพราะว่าเขาเป็นทาสของผลประโยชน์...ทำให้การเมืองแยกตัวออกไปจากศีลธรรมยิ่งขึ้นทุกที จนไม่มีที่เหลือให้ศีลธรรมเข้าไปแทรกอยู่ในการเมืองบ้าง ถ้าเขาประชุมกัน ๓๐ ชั่วโมง เขาไม่เคยพูดถึงคำว่า ศีลธรรมเลย...
     ถ้าอยากได้นักการเมืองที่แท้จริง คือประกอบด้วยธรรมะก็ต้องให้ธรรมะสร้าง..ถ้าผู้เลือกนักการเมืองมีธรรมะก็ย่อมจะต้องเลือกคนที่มีธรรมะด้วยกันเข้าไปเป็นนักการเมือง เมื่อได้คนที่มีธรรมะเป็นนักการเมืองแล้ว เขาก็ย่อมเข้าไปแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้เป็นไปตามธรรมะ ก็ได้ชื่อว่า เป็นการสร้างนักการเมืองที่ดีได้...
                                                                               พุทธทาสภิกขุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น