1/05/2555

อนาคต “ศาลยุติธรรม”

อนาคต ศาลยุติธรรม[1]
                                                                          โดย ...โสต  สุตานันท์
                     
            ก่อนอื่นผู้เขียนขออนุญาตแสดงทรรศนะไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า   ผู้เขียนขอฟันธงโดยไม่มีความลังเลสงสัยใด ๆทั้งสิ้นว่า   หัวใจของศาลยุติธรรม  คือ   ผู้พิพากษา   ดังนั้น   อนาคตของศาลยุติธรรมจะเป็นอย่างไร  จะดีขึ้นหรือแย่ลง   จะยืนหยัดคงอยู่เป็นที่พึ่งของสังคม  หรือเป็นภาระ เป็นปัญหาของสังคม   หรือจะดำรงคงอยู่อย่างมีเกียรติ์มีศักดิ์ศรี  หรือ  ไร้เกียรติ์  ไร้ศักดิ์ศรี  ในสังคม หรือไม่  เพียงใด นั้น   ย่อมขึ้นอยู่กับ  ผู้พิพากษา  เป็นสำคัญ 
                        ปราชญ์ตะวันตกบางคน  เช่น   รุสโซ มองว่า    มนุษย์เกิดมาดีโดยธรรมชาติ  แต่สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างทำให้มนุษย์เลว   ดังนั้น  การแก้ไขปัญหาของสังคมจึงต้องพยายามทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ดี  มีภาวะสร้างสรรค์   ส่งเสริมสนับสนุนให้คนในสังคมมีความเจริญเติบโตทางจิตใจ  มีความรับผิดชอบ  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  มีความผูกพัน  มีความเสียสละ ฯลฯ   แต่ปราชญ์บางคน    เช่น   แมคเคียเวลลี มองว่า   มนุษย์เกิดมาไม่ดีโดยธรรมชาติ  กล่าวคือ  ธรรมชาติของมนุษย์มักจะเกียจคร้าน  อ่อนแอ  ขี้โกง  ขาดความรับผิดชอบ  นึกถึงแต่ตัวเอง ฯลฯ   จึงมีความจำเป็นต้องสร้างระบบ  สร้างระเบียบกฎหมายต่าง ๆมาควบคุมกำกับพฤติกรรมของมนุษย์ อย่างเข้มงวดและเคร่งครัด       
                      สำหรับปราชญ์ของไทยนั้น  ผู้เขียนเชื่อว่า  มีความลึกซึ้งมากกว่าปราชญ์ฝรั่งอย่างมาก  เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีการศึกษาและรวมรวมองค์ความรู้ต่าง ๆไว้อย่างเป็นระบบเท่านั้น  โดยปราชญ์ไทยในอดีต  น่าจะมองว่า  มนุษย์เกิดมามีทั้งดีและไม่ดีโดยธรรมชาติปะปนกันไป   โดยสังเกตจากคำพูดเปรียบเปรยที่พูดต่อ ๆกันมาอย่างยาวนาน  เช่น  ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น   เชื้อไม่ทิ้งแถว   สันดานโจร   ลูกเสือลูกตะเข้  ฯลฯ เป็นต้น    ผู้เขียนก็มีความเชื่อเช่นนั้น   คนบางคนเกิดมาดีโดยสายเลือด  แม้จะโชคร้ายไปเติบโตหรือมีชีวิตอยู่ในภาวะแวดล้อมที่เลวร้าย  ทำให้หลงผิดไปบ้าง แต่หากไม่ถลำลึก หรือผิดพลาดจนสายเกินแก้   ส่วนใหญ่ก็จะสามารถกลับเนื้อกลับตัวและเริ่มต้นชีวิตใหม่ไปในทางที่ดีได้  ในทางตรงข้าม  คนบางคนมีชีวิตเกิดมาท่ามกลางความพร้อม และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีทุกอย่าง  แต่กลับไม่รักดี เพราะมีเลือดชั่วโดยสันดาน
                       แต่อย่างไรก็ตาม  ในภาพรวมแล้ว   ผู้เขียนก็เชื่อว่า  ทุกสังคมน่าจะมีคนที่เกิดมาดีโดยธรรมชาติมากกว่าเกิดมาเลวโดยธรรมชาติ   เพราะมิฉะนั้น   มนุษย์เราคงไม่สามารถยืดหยัดและอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้  มาเป็นเวลานับพันนับหมื่นปีได้  
            ปัญหาก็คือว่า   ที่เราพูดกันว่า  คนดี กับ คนไม่ดี  นั้น   มีความหมายแค่ไหน   อย่างไร   ฟังดูเหมือนว่า  เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อย่างง่าย ๆ แต่หากคิดดูให้ดี  คิดอย่างลึกซึ้งแล้ว   ก็จะพบว่า   ในโลกของความเป็นจริงนั้น  ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพิจารณากัน    เริ่มตั้งแต่ตัวเราเองทุกคน   จะเห็นว่า  บางครั้งเราก็รู้สึกว่า  เราเป็นคนดี มีน้ำใจอย่างมาก  แต่บางครั้งเราก็รู้สึกว่า   เราเป็นคนที่เห็นแก่ตัวอย่างมากเช่นกัน   และความดี  ความไม่ดี  ก็มีอยู่มากมายหลายเรื่อง หลายรูปแบบ  นักโทษที่อยู่ในคุกบางคนอาจจะซื่อสัตย์ต่อลูกเมีย  อาจยึดถือสัจจะมากกว่าคนบางคนซึ่งสังคมให้การยอมรับว่า  เป็นผู้ทรงเกียรติ์ก็เป็นได้
           ในทรรศนะของ ผู้เขียนมองว่า มนุษย์ทุกคนมี ๒  ฟากอยู่ในตัวเสมอ คือ ฟากมืดกับฟากสว่างหรือด้านดีกับด้านไม่ดี    ทุกคนมีรัก  โลภ   โกรธ  หลง มีกิเลส ตัณหา กันทั้งนั้น   คนดีหรือไม่ดีน่าจะวัดกันตรงที่ใครสามารถควบคุมตัวเอง  ควบคุมอารมณ์รัก  โลภ  โกรธ  หลง  ควบคุมกิเลส ตัณหา ไม่ให้แสดงออกมาได้มากกว่ากัน   ใครควบคุมตัวเองได้มากก็เป็นคนดีมาก   ใครควบคุมตัวเองได้น้อยก็เป็นคนดีน้อย  ซึ่งการที่มนุษย์แต่ละคนจะควบคุมตัวเองได้มากน้อยอย่างไรนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย เงื่อนไข ต่าง ๆมากมายหลายประการ        ผู้เขียน  จึงเห็นว่า  ในทางโลกนั้น  หากเราจะแยกดีแยกชั่วกัน  ก็อาจจะแยกได้เพียงว่า  ใครดี  ใครชั่ว  มากน้อยกว่ากันเท่านั้น   คงไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนว่า   คนนี้เป็นคนดี  คนนั้นเป็นคนชั่ว 
ต้องยอมรับความจริงกันว่า   ผู้พิพากษาเราก็เป็นปุถุชนคนธรรมดากลุ่ม
หนึ่งในสังคม    ดังนั้น    ย่อมแน่นอนว่า   ในวงการของผู้พิพากษาเราจึงมีทั้งคนดีมาก  ดีปานกลาง  และดีน้อยปะปนกันไป
             เพื่อประกอบการแสดงความเห็นและข้อเสนอ   ผู้เขียนขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากล่าวอ้าง ดังนี้  คือ  
 ในบ้านเมืองนั้น   มีทั้งคนดีและคนไม่ดี   ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด   การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุข  เรียบร้อย  จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี  หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี  ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง  และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ   ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้   
                         จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว   ผู้เขียนขอตั้งโจทก์สำหรับทิศทางและอนาคตของศาลยุติธรรมไว้ว่า    เราจะทำอย่างไรให้คนดีมาก  ได้มีโอกาสเข้าไปมีบทบาทในการบริหารหรือกำหนดทิศทางขององค์กรได้    เราจะส่งเสริมเสริมสนับสนุน หรือ ให้กำลังใจ คนดีมากอย่างไร   ให้เขานำศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ในตัวเขามาสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรของเรา   เราจะทำอย่างไรให้คนที่มีความดี กับ ความไม่ดีอยู่ในตัวพอ ๆกัน   ได้มีโอกาสปรับปรุงพัฒนาตนเองให้มีความดีมากกว่าความไม่ดี    และเราจะทำอย่างไร   ให้คนที่มีดีน้อยกว่าความไม่ดี  ได้ปรับปรุงแก้ไขตนเอง  ไม่ให้เป็นปัญหา   ไม่ให้เป็นภาระแก่สังคมมากเกินไป   
                          ผู้เขียนขอเชิญชวนท่านผู้อ่านลองนึกคิดไตร่ตรอง  คิดทบทวนย้อนหลังถึงกระบวนการบริหารและปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับศาลเรา   เป็นต้นว่า   
                           -   กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาเป็นอิสระอย่างกว้างขวาง   แม้จะมีระบบคานดุลตรวจสอบตามระเบียบกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งมีประมวลจริธรรมเป็นเครื่องมือกำกับอีกส่วนหนึ่ง    แต่คำถามก็คือว่า   กลไกตามระบบคานดุลตรวจสอบดังกล่าวสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิแค่ไหน   เพียงใด     
                            - ในการคัดสรรผู้บริหาร  เราใช้ ระบบอาวุโส  อย่างเคร่งครัด    ซึ่งผู้เขียนยอมรับว่า     มีข้อดีมากกว่า ระบบความรู้ความสามารถ   อย่างแน่นอน   เพราะสำหรับสังคมไทยแล้ว    หากมีการนำระบบความรู้ความสามารถมาปรับใช้เมื่อใด   ผู้บริหารมักจะไม่สามารถแยกแยะความหมายของคำว่า  ความรู้ความสามารถ   กับ  คำว่า  อุปถัมภ์  ออกจากกันได้    แต่ผู้เขียนก็ขอตั้งคำถามว่า  ณ  เวลานี้  ระบบอาวุโส อย่างเดียว   เพียงพอแล้วหรือ ที่จะจัดการแก้ไขปัญหาขององค์กรที่ใหญ่โตและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างมากมายได้     ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะนำระบบความรู้ความสามารถมาปรับใช้กับระบบอาวุโส  ด้วยวิธีการอันชาญฉลาด  อย่างสอดคล้อง กลมกลืน  และมีประสิทธิภาพ   รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานในองค์กร 
                        -  เรายกเลิกระบบบัญชีเงินเดือนแบบเดิม   ซึ่งมีระบบการพิจารณาความดีความชอบ  ๒  ขั้น    เนื่องจากเห็นว่า   เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา  ไม่ให้ถูกครอบงำหรือแทรกแซง จากผู้บริหาร   ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง    แต่ก็ต้องยอมรับความจริงกันว่า   บัญชีเงินเดือนตามระบบใหม่  ได้เป็นบ่อเกิดของ  ความเฉื่อยชา   ในองค์กรเรา    ความชั่วไม่มี- ความดีไม่ปรากฏ  เช้าชามเย็นชาม  ก็ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน  เท่ากับคนที่มีผลงานดีเลิศ    ผู้เขียนเห็นว่า   ณ เวลานี้  ผู้พิพากษาที่ทำงานอย่างทุ่มเท  เสียสละ  และมีความมุ่งมั่นเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงนั้น    เป็นเรื่องของจิตสำนึก  เป็นเรื่องของอุดมการณ์ส่วนตัวโดยแท้   แทบจะไม่มีพลังผลักดัน  หรือ แรงจูงใจ  อันมาจากปัจจัยเงื่อนไขอย่างอื่นเลย    ซึ่งนับวันคนเหล่านี้   ก็จะเริ่มท้อถอย  เหนื่อยล้า และ อ่อนแรงลงเรื่อย ๆ เพราะนอกจากจะไม่มีปัจจัยในทางบวกช่วยสนับสนุน  ช่วยส่งเสริม ให้กำลังใจแล้ว   บ่อยครั้ง  ยังต้องได้รับผลกระทบ  และต้องทนรับกับแรงเสียดทาน หรือแรงกดดันต่าง ๆอีกมากมาย  โดยเฉพาะ มักจะถูกกล่าวหาว่า   เป็นคนเรื่องมาก  มีปัญหา หรือบ้าอำนาจ      ผู้เขียนเห็นว่า หากพิจารณาแนวคิดเรื่อง  ลำดับความต้องการของมนุษย์  ตามหลักทฤษฎีของมาสโลว์    ก็จะเห็นว่า   ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมได้พยายามสนองตอบความต้องการของผู้พิพากษาเพียงแค่  ความต้องการลำดับขั้นต่ำสุดของมนุษย์  คือ   ความต้องการด้านกายภาพ (physiological  needs)  เท่านั้น   ( เช่น  เรื่องเงินเดือน  เบี้ยเลี้ยง  บ้านพัก   เครื่องคอมพิวเตอร์  ฯลฯ )    ความต้องการในลำดับขั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่   ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย  (safety  needs)    ความต้องการความรักหรือสังคม (social  needs)   ความต้องการความนิยมนับถือในตนเอง (esteem    needs)  และความต้องการพัฒนาศักยภาพของตน  ( self – actualization)   แทบจะเรียกได้ว่า  ไม่มีการพยายามสนองตอบความต้องการเลย    หรือ อาจจะมีบ้าง  เช่น  ระบบการแต่งตั้งผู้บริหารในระดับต่าง ๆโดยเฉพาะตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  ซึ่งมีแนวคิดที่จะเปิดช่องเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาได้มีโอกาสสัมผัสตำแหน่งดังกล่าวให้มากที่สุด   แต่ก็เชื่อว่า   ผู้อ่านหลายท่านคงคิดเหมือนกับผู้เขียน คือ     เมื่อใคร ๆก็ได้เป็น  และเป็นแล้วก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก  เพราะมีเงื่อนไขข้อจำกัดมากมาย  บางตำแหน่ง โดยสภาพก็อยู่ได้เพียงแค่ ๑  ปี   ยังไม่ทันได้ศึกษาเรียนรู้งานครบก็หมดวาระเสียแล้ว    ผลที่ตามมาก็คือ  ความภาคภูมิใจในตัวเอง   การได้รับความยกย่องนับถือจากสังคม  ความรู้สึกมีเกียรติ์ มีศักดิ์ศรี ความต้องการทำงานตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้    ฯลฯ   ย่อมลดน้อยลงเรื่อย ๆเป็นธรรมดา   ตัวอย่างภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่น   เท่าที่ทราบ  สถิติของผู้สละสิทธิ์ไม่ออกหัวหน้าศาลจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆและหัวหน้าศาลใหญ่ ๆซึ่งในอดีตเป็นที่ใฝ่ฝันของผู้พิพากษาส่วนใหญ่   เพราะถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ์มีศักดิ์ศรีมากกว่าศาลเล็ก ๆ และเป็นหนทางที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ ๆในอนาคต  แต่ก็ปรากฏว่า  ขณะนี้     เท่าที่ได้สดับตรับฟัง  มีผู้พิพากษาจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากไปอยู่    เหตุผลหลักก็เพราะว่า   อยู่ไปก็เหนื่อยเปล่า  ไม่เห็นได้อะไรตอบแทนมากไปกว่าการอยู่ศาลเล็ก ๆและทำงานสบาย ๆ
                                                ฯลฯ
                        ประมาณ ๒-๓  ปี ที่ผ่านมา   ผู้เขียนได้มีโอกาสนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลท่านหนึ่ง  เกี่ยวกับปัญหาของศาล    ระหว่างสนทนาท่านได้พูดขึ้นประโยคหนึ่งว่า  หากศาลเรายังไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง  ยังคิดเหมือนเดิม และทำเหมือนเดิมอยู่   ไม่เกิน  ๑๐  ปี  เราจะล่มสลาย   แม้จะเป็นการพูดเปรียบเปรยที่เกินจริงมากไปหน่อย และเป็นการพูดคุยกันในวงสุรา  แต่ผู้เขียนก็รู้สึกใจหายอย่างไร  บอกไม่ถูก     ผู้เขียนเชื่อว่า   ผู้พิพากษาทุกท่านรู้ปัญหากันดีว่า   เหตุแห่งปัญหาต่าง ๆคืออะไร    แต่หากให้ทุกท่านถามตัวเองว่า   แล้วท่านจะมีส่วนช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาอย่างไร    หลายท่าน  แม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูงทุกตำแหน่ง  ก็คงจะให้คำตอบแก่ตัวเองว่า   โดยกลไกของระบบและเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆลำพังตัวท่านเองคงไม่สามารถช่วยเหลือแก้ไขอะไรได้มากนัก  คือ ทุกคนอยากทำ อยากช่วยเหลือองค์กร  แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  หรือ หากจะทำไปตามที่คิด  ก็เกิดความไม่มั่นใจ   เกรงว่าจะเข้าตัว  เกรงจะได้รับความเดือดร้อน  ได้ไม่คุ้มเสีย      คำถามก็คือว่า   แล้วเราจะให้ใครเป็นคนทำล่ะ    ผู้เขียนเชื่อว่า    ทุกท่านคงตอบคล้ายกันเหมือนกับเวลาที่ผู้บริหารในระดับต่าง ๆไปตรวจงาน    แทบจะทุกครั้งทุกคน  มักจะพูดเหมือนกันว่า   ทุกคนต้องเสียสละ  ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน  กิจการงานของศาลจึงจะสำเร็จลุล่วงได้      คำถามต่อไปก็คือว่า     แล้วจะให้ทุกคนทำอย่างไร  ที่ไหน และ เมื่อใด     แน่นอนว่า  คำตอบที่ได้ก็คงจะเหมือนกันอีกว่า   ทุกคนต้องเริ่มต้นที่ภาระหน้าที่ของตัวเองก่อน   ปฏิรูปวิธีคิด  วิธีการทำงาน  และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด  และควรเริ่มทำในทันที  ให้เร็วที่สุด     ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆแต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่ายเลย   เพราะมันมีปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆที่เกี่ยวข้องมากมาย    เอาล่ะ สมมุติว่า   ทุกคนตกลงพร้อมใจกัน  เริ่มแก้ไขปรับปรุงที่ตัวเองก่อน  ปัญหาก็คือว่า   แค่นั้นเพียงพอหรือยัง   คำตอบก็คือ   ยังไม่น่าจะเพียงพอ   เพราะแม้เราจะแก้ไขปัญหาเรื่อง  คน  ได้  แต่หาก ระบบ  ยังเป็นอุปสรรคปัญหาหรือไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหา  ก็คงเป็นเรื่องยากที่เราจะเดินไปสู่เป้าหมายตามที่ต้องการได้  
                        คงเป็นเรื่องที่เกินกำลังความสามารถ  เกินกำลังสติปัญญาของผู้เขียนที่จะคิดหาคำตอบที่สมบูรณ์  เบ็ดเสร็จ ได้    คงต้องพึ่งพาผู้อ่านทุกท่าน   ในการที่จะช่วยกันคิด  ช่วยกันทำ   ช่วยกันหาทางออก  ช่วยกันนำพาสำนักงานศาลยุติธรรมของเรา  ให้ก้าวเดินต่อไป  โดยไม่สะดุด หกล้ม   ก้าวเดินต่อไป อย่างมีเกียรติ์  มีศักดิ์ศรี   มีคุณค่า  มีประโยชน์ต่อสังคม   ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า   ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน  ให้ได้ 
                        อย่างไรก็ตาม   รูปแบบแนวทางหนึ่ง  ที่ผู้เขียนคิดได้ในขณะนี้   และเชื่อว่า   น่าจะมีส่วนช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆดังตัวอย่างที่กล่าวมาได้   ก็คือ   เราต้องสร้างกลไกระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพขึ้นมาควบคู่กับคำว่า  ความเป็นอิสระ  ด้วย    โดยยึดหลักการ  คือ  บุคคลใดที่มีความรับผิดชอบสูง  มีผลการปฏิบัติงานที่ดี  ควรได้รับการยกย่องเชิดชู  และควรได้รับรางวัลตอบแทนที่เหมาะสม  โดยเฉพาะในเรื่องความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน   ในทางตรงกันข้าม   หากบุคคลใดไม่มีความรับผิดชอบ   มีผลการปฏิบัติงานที่แย่   ต้องได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบต่อชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง     วิธีการหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้  คือ    การให้ความสำคัญกับสถิติผลการดำเนินคดีของผู้พิพากษาแต่ละคนอย่างจริงจัง โดยยึดหลักวิชาการทางสถิติที่เหมาะสมและเป็นธรรม    สถิติผลการดำเนินคดีที่ประเมินได้จะเป็นตัวชี้วัดศักยภาพของผู้พิพากษาแต่ละคนได้ดีที่สุด  หากบุคคลใดมีผลงานที่ย่ำแย่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานก็ควรจัดให้มีการฝึกอบรมหรือกำหนดมาตรการอื่นใดเป็นพิเศษ เพื่อพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม     หากยังไม่ดีขึ้นอีก   ก็อาจใช้มาตรการแทรกแซงที่เหมาะสม  เช่น   ลดลำดับอาวุโส   การไม่พิจารณาเลื่อนลำดับชั้น  หรือการไม่พิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้บริหาร  เป็นต้น  แต่หากบุคคลใดมีสถิติผลงานที่ดีเลิศ  ก็ควรได้รับการสนับสนุนให้รับผิดชอบงานที่สำคัญ ๆหรือส่งเสริมให้เป็นผู้บริหารระดับสูงยิ่ง ๆขึ้นไปในอนาคต    แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น    สิ่งสำคัญสูงสุดก็คือ   เราต้องพยายามสร้างเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการประเมินผลและกฎกติกาในการลงโทษหรือสนับสนุนที่เหมาะสม  เป็นธรรม  ชัดเจนแน่นอน และโปร่งใสให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
             นอกจากนั้น  ผู้เขียนยังเห็นว่า  เราน่าจะปฏิรูประบบการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งผู้บริหารกันใหม่   โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการประเมินคุณสมบัติในด้านอื่น ๆนอกเหนือจากผลการทำงานด้านคดีความ  ซึ่งผู้เขียนได้เสนอไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว    เป็นไปได้ไหม    แทนที่เราจะให้ผู้บังคับบัญชาทำการประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาทางเดียว   แต่เราสร้างระบบให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีสิทธิ์ประเมินผู้บังคับบัญชาได้   รวมทั้งสร้างระบบให้เพื่อนผู้พิพากษาด้วยกันประเมินระหว่างกันเองด้วยอีกส่วนหนึ่ง     ผู้เขียนคิดว่าถ้าเราทำอย่างนี้ได้    นอกจากจะได้ข้อมูลที่รอบด้านและได้ข้อมูลที่เป็นของจริงหรือใกล้เคียงกับความจริงแล้ว   ยังมีผลพลอยได้อีก คือ  เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน  โดยน่าจะช่วยทำให้การอยู่ร่วมกันในหมู่ผู้พิพากษาเป็นไปในลักษณะประนีประนอมและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากขึ้น    เพราะทุกคนต้องทำการประเมินและถูกประเมินซึ่งกันและกัน    อีกทั้งยังน่าจะเป็นการป้องปรามการใช้อำนาจของผู้บริหารที่เกินขอบเขตได้อีกทางหนึ่งด้วย     ส่วนปัญหาในเรื่อง รูปแบบ วิธีการ  ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมิน นั้น    ผู้เขียนเห็นว่า  ถ้าเรายอมรับหลักการนี้ได้  ก็คงไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่กำหนดเงื่อนไข กติกา กัน   
                   ท้ายที่สุดนี้   ผู้เขียนขอฝากเป็นแง่คิดต่อท่านผู้อ่านทุกท่านว่า   อนาคตของศาลยุติธรรมจะเป็นอย่างไร   คงไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ได้    แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมั่นใจก็คือว่า    หากผู้พิพากษา  ซึ่งเป็นหัวใจของศาลยุติธรรมมีความเข้มแข็ง   อนาคตของศาลยุติธรรมเราย่อมมีความสดใสอย่างแน่นอน    โจทก์ก็คือว่า  เราจะทำอย่างไรให้หัวใจของเรามีความเข้มแข็ง  มีประสิทธิภาพสูงสุด     ผู้เขียนเห็นว่า   หนทางสำคัญที่จะช่วยนำพาให้เราไปสู่คำตอบของโจทก์ดังกล่าวได้ ก็คือ    เราต้องกล้าเผชิญกับความเป็นจริง  เราต้องกล้าตำหนิติติงและจัดการเรื่องราวภายในบ้านของเราด้วยตัวพวกเราเอง     เพราะหากเราไม่จัดการกันเอง   ไม่ช้าก็เร็ว เขาต้องเข้ามาจัดการแทนเราอย่างแน่นอน ./ 


[1] วารสาร ศาลยุติธรรมปริทัศน์  ปีที่ ๑ ฉบับปฐมฤกษ์  มกราคม  ๒๕๕๐.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น