1/06/2555

ตุลาการภิวัตน์
                                            โดย...โสต  สุตานันท์

         หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่  ๑๙  กันยายน  ๒๕๔๙  เป็นต้นมา   องค์กรฝ่ายตุลาการได้เข้ามามีบทบาทต่อสังคมและการเมือง ไทยอย่างสูง   มีคำที่น่าสนใจคำหนึ่งซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและมีนัยยะที่สำคัญยิ่ง คือ  คำว่า   ตุลาการภิวัตน์   
         ผู้อ่านที่สนใจคงเคยได้ยินได้ฟังนานาทรรศนะเกี่ยวกับความหมายของคำดังกล่าวมาพอสมควร     ผู้เขียนขอไม่วิพากษ์วิจารณ์  ความคิดความเห็นของท่านทั้งหลายเหล่านั้นว่า  ถูกผิด เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร  แต่ขอนำเสนอความเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งภายใต้กรอบแนวคิดตามหลัก  “นิติศาสตร์แนวพุทธ”   
         ก่อนอื่นขอทบทวนหลักการแนวคิดเรื่องนิติศาสตร์แนวพุทธสักเล็กน้อย  คำสอนของพระพุทธเจ้าหรือที่เรียกว่า “ธรรมวินัย” นั้น แบ่งออกเป็น    ส่วน คือ คำว่า “ธรรม” ซึ่งหมายถึง ความจริงตามธรรมชาติหรือ “กฎธรรมชาติ”และคำว่า “วินัย”ซึ่งหมายถึง สิ่งที่มนุษย์จัดตั้งขึ้นเองหรือ “กฎมนุษย์”   ความต้องการของมนุษย์จะบรรลุผลที่แท้จริงและยั่งยืนได้  กฎมนุษย์ที่สร้างขึ้นมานั้นจะต้องสอดคล้อง สัมพันธ์และกลมกลืนกับกฎธรรมชาติ  
         มีปัญหาต้องพิจารณาประการแรกว่า   หลักการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยเป็นกฎมนุษย์ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือไม่  อย่างไร   ประเด็นนี้ เห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม  อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ความอยากหรือกิเลสความต้องการของมนุษย์ที่เรียกว่า “ตัณหา”นั้น  ส่วนใหญ่กว่า ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีที่สิ้นสุด  ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัด  แต่มนุษย์ก็เป็นสัตว์โลกที่มีสติปัญญา  สามารถฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้    ดังนั้น  ในการที่จะสร้างสังคมมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขจึงต้องเริ่มต้นด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำ  ต้องมีระบบการคานดุลตรวจสอบซึ่งกันและกันอย่างเหมาะสม   ต้องกำหนดกฎเกณฑ์กติการะหว่างกันให้ชัดเจนว่าแต่ละคนมีบทบาท  มีสิทธิ มีหน้าที่อย่างไร และจะมีการแบ่งสันปันส่วนทรัพยากร รวมทั้งสิ่งที่มีคุณค่าอื่น ๆในสังคมอย่างไรให้ถูกต้องเป็นธรรมสูงสุด  โดยนัยดังกล่าวการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ  บริหาร  และตุลาการ  จึงน่าจะเป็นหลักการในเบื้องต้นที่สอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติแล้ว 
         ปัญหาที่ต้องพิจาณาต่อไปคือ โดยที่ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ไม่เคยหยุดนิ่ง  เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาและทุกสรรพสิ่งก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นตามหลักแห่ง “ปฏิจจสมุปบาท” เราจะสร้างกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจทั้งสามฝ่ายอย่างไร  ให้สอดคล้องเหมาะสมกับความเป็นจริงแห่งกฎธรรมชาติดังกล่าว  ปัญหานี้ เห็นว่า   โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสามอำนาจควรที่จะมีหลักการสำคัญอย่างน้อย    ประการ  คือ
         ๑. ต้องบัญญัติเป็นหลักการไว้กว้าง ๆไม่มีรายละเอียดปลีกย่อยยืดยาวและมีความยืดหยุ่นสูง  สามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป   หลีกเลี่ยงการบัญญัติกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดตายตัว โดยไม่มีทางออกหรือข้อยกเว้นไว้เลย (รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีของรัฐธรรมนูญที่มีคุณลักษณะดังกล่าว   การที่มีอายุยืนยาวกว่าสองร้อยปี  ย่อมยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า น่าจะเป็นกฎมนุษย์ที่สอดคล้องสัมพันธ์เป็นอย่างดีกับกฎธรรมชาติ )
         ๒.  ต้องตั้งสมมุติฐานไว้ว่ามนุษย์มีสติปัญญา สามารถฝึกฝน   เรียนรู้และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้   กฎเกณฑ์กติกาที่ออกมาต้องมุ่งให้การสนับสนุน  ให้ความสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์และต้องมอบอำนาจ มอบดุลพินิจในการตัดสินใจให้พอสมควร   เราต้องให้เกียรติ์  ให้ความไว้วางใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์ในองค์กรทั้งสามฝ่าย ไม่ใช่ไปกำหนดบทบาททุกย่างก้าวให้เดินหรือคอยจ้องจับผิด  ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน  
         มีปัญหาต่อไปว่า  หากเราสร้างกฎมนุษย์ตามคุณลักษณะที่ดีดังกล่าวแล้ว   สังคมยังมีปัญหาวุ่นวายไม่สงบสุขอยู่เราจะทำอย่างไร    ปัญหานี้  ขอหยิบยกความเห็นของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์เกี่ยวกับเรื่อง “ท่าทีต่อกฎหมายของมนุษย์”  ซึ่งได้กล่าวรายละเอียดไปแล้วในบทที่ ๒  มาประกอบการวิเคราะห์  โดยท่านได้ให้ความเห็นไว้  พอสรุปได้ว่า มนุษย์จะมีท่าทีต่อกฎหมายต่างกันเป็น ๓ ระดับ  คือ หนึ่ง มองว่ากฎหมายเป็น เครื่องบังคับ”   สอง มองว่ากฎหมายเป็น เครื่องฝึกตน และสาม มองว่ากฎหมายเป็นเพียง ข้อหมายรู้ร่วมกัน   เหตุที่สังคมไม่พัฒนา มีปัญหาวุ่นวาย  เกิดจากการที่มนุษย์ส่วนใหญ่ในสังคมยังมองว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องบังคับ ไม่ใช่เครื่องฝึกตนหรือข้อหมายรู้ร่วมกัน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ    ประการ คือ มนุษย์ยังไม่มีการศึกษา และกฎหมายไม่เป็นธรรม     
         จากความเห็นของท่านเจ้าคุณดังกล่าว  จะเห็นว่าถ้าเรามั่นใจว่า  เราสร้างกฎมนุษย์ที่ถูกต้องสอดคล้องกับกฎธรรมชาติหรือมีกฎหมายที่เป็นธรรมแล้ว หากสังคมยังมีปัญหาอยู่ย่อมแสดงว่า “มนุษย์ขาดการศึกษา”  อาจกล่าวได้ว่าข้อผิดพลาดในการออกกฎหมายเป็นปัญหาของ  “ระบบ”   ส่วนการขาดการศึกษาเป็นปัญหาในเรื่องของ “คน”   ซึ่งเมื่อพิจารณาตามหลักอริยสัจสี่แล้ว  ปัญหาอยู่ตรงไหนก็ต้องแก้ตรงจุดนั้น  ปัญหาอยู่ที่คนก็ต้องแก้ที่คนไม่ใช่ไปคิดแก้ระบบ และต้องใช้วิธีแก้ให้ถูกต้องด้วย  กล่าวคือ   ต้องมุ่งเน้นแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาคนให้มีการศึกษา  ให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ทั้งกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์  ไม่ใช่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือบังคับ
         อารัมภบทมาเสียยืดยาว   ผู้อ่านคงสงสัยว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับชื่อเรื่องที่ตั้งไว้  ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า คำว่า “ตุลาการภิวัตน์”  น่าจะมีที่มาจากเหตุผลที่ว่า  ในสังคมโลกยุคปัจจุบันมนุษย์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสิ่งสมมุติมากเกินไป  ยึดถือวัตถุ สิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ ผลประโยชน์ ฯลฯ เป็นเป้าหมายแห่งความสำเร็จของชีวิต   เมื่อประกอบกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด   สมมุติให้ทุกคนเท่าเทียมกัน  มือใครยาวสาวได้สาวเอา   ผู้ที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นที่จะอยู่รอด ฯลฯ   ผลที่ตามมาก็คือ มีการพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มพวกตัวเอง   การเข้าครอบครองอำนาจรัฐจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของกลุ่มผลประโยชน์ทั้งหลาย    ซึ่งหากวิถีทางแห่งการพยายามให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐนั้นเป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาของสังคมที่วางไว้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร  แต่ปรากฏว่า ในหลายประเทศมีปัญหา กลุ่มผลประโยชน์เข้าไปแทรกแซงอำนาจรัฐจนเกินขอบเขตโดยเฉพาะในส่วนของอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ  ซ้ำร้ายไปกว่านั้นในบางประเทศอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติได้ถูกแทรกแซงจนถึงขั้นที่เรียกว่า  กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สามารถแสดงบทบาทคานดุลตรวจสอบกันได้อีกต่อไป    สิ่งที่ตามมาคือการทุจริตคอรัปชั่นที่น่าสะพรึงกลัว  มีขอบเขตกว้างขวางดังที่เรียกกันว่า  “การทุจริตเชิงนโยบาย”   นั่นเอง  ในสถานการณ์ที่สังคมถูกเมฆหมอกอันหนาทึบแห่งกิเลสครอบงำเช่นนี้  ย่อมเกิดภาวะมืดบอดทางปัญญา“ระบบ” ย่อมเสื่อมทรุดและ“คน” ย่อมเสื่อมทราม
         จากสภาวการณ์ดังกล่าว   ฝ่ายตุลาการซึ่งโดยลักษณะของบทบาทหน้าที่และกลไกของระบบต้องถือว่า  ถูกแทรกแซงได้ยากกว่าอีกสองฝ่าย  จึงจำต้องรับภาระหนักในการเข้าไปเยียวยาแก้ไขปัญหาให้กับสังคม ไม่อยากทำก็ต้องทำ  เพราะโดยโครงสร้างแล้วถือเป็นภาระหน้าที่ที่สังคมมอบหมายให้  ปัญหาก็คือว่าบทบาทหน้าที่ที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์นั้นควรจะเป็นอย่างไร และมีขอบเขตแค่ไหน  เพียงใด
         ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า  บทบาทของฝ่ายตุลาการในฐานะตุลาการภิวัตน์ น่าจะทำได้เพียงวิธีการเดียวเท่านั้น คือ  การบังคับใช้กฎหมายด้วยการ “ตีความกฎหมาย” และ “ใช้ดุลพินิจ” ให้ถูกต้องเป็นธรรมสูงสุด   โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  ในภาวะปกตินั้นโดยหลักการแล้วฝ่ายตุลาการต้องปรับใช้กฎหมายไปตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกมา  ด้วยการยึดถือตัวบทกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด  ฝ่ายตุลาการต้องเคารพการตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติว่าได้ออกกฎหมายโดยกลั่นกรองตรวจสอบและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบแล้ว   แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ  ในสถานการณ์ที่สังคมมีปัญหาวิกฤต ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีความอ่อนแอ  ฝ่ายตุลาการต้องมีความกล้าหาญในการตีความกฎหมายมากขึ้น   โดยยึดถือหลักที่ว่า  “กฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม  แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดความยุติธรรมเท่านั้น”  บางครั้งเพื่อความเป็นธรรมก็อาจตีความขยายหรือแคบไปบ้าง หากกฎหมายนั้น  คลุมเครือไม่ค่อยชัดเจน หรือในบางครั้งหากมีความจำเป็นอย่างยิ่งก็อาจถึงขั้นสร้างหลักกฎหมายขึ้นมาใหม่ได้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีให้กับสังคม โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานของคุณธรรมจริยธรรมและความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น การตีความกฎหมายให้ขัดแย้งกับตัวบทกฎหมายที่มีนัยความหมายอย่างชัดแจ้ง  ปราศจากข้อสงสัยใด ๆย่อมไม่อาจทำได้  ส่วนการใช้ดุลพินิจตัดสินคดี เช่น การกำหนดโทษในคดีอาญา หรือการกำหนดค่าเสียหายในคดีแพ่งนั้นก็ต้องสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย  บางครั้งอาจหนักมากกว่าปกติแต่บางครั้งก็อาจเบากว่าปกติ 
          ตัวอย่างบทบาทหน้าที่ตุลาการภิวัตน์ของศาล เช่น กรณีศาลปก ครองกลางได้วินิจฉัยไว้ในคดีคลิตี้ตามคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๔/๒๕๔๗ หมายเลขแดงที่ ๖๓๗/๒๕๕๑ ว่า สิทธิของบุคคลในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพตามมาตรา  ๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช ๒๕๔๐ ย่อมได้รับการคุ้มครอง ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายออกมาเพื่อรับรองการใช้สิทธิของบุคคลในเรื่องดังกล่าวก็ตาม  ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลสนับสนุนที่ว่าเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติไม่ยอมทำหน้าที่ ฝ่ายตุลาการก็ต้องตีความกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ[1]
         อย่างไรก็ตาม  บทบาทของ  “ตุลาการภิวัตน์”  จะสามารถสัมฤทธิ์ผลได้แค่ไหน เพียงใด นั้น  คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไขที่สำคัญ   คือ
         ๑. ลักษณะกฎหมายโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญต้องบัญญัติไว้เฉพาะหลักการกว้าง ๆ มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ผูกมัดตายตัวโดยไม่มีทางออก ดังกล่าวไว้ข้างต้น  ทั้งนี้  เพื่อจะได้เปิดช่องเปิดโอกาสให้ฝ่ายตุลาการสามารถใช้บทบาทตุลาการภิวัตน์ได้โดยไม่มีตัวหนังสือเป็นอุปสรรค
          ๒. ฝ่ายตุลาการต้องมีบุคลากรที่มีศักยภาพสูง  โดยนอกจากจะมีความรู้ความสามารถในเรื่องของตัวบทกฎหมายอย่างดีเยี่ยม และมีคุณธรรมจริยธรรมที่สูงส่งแล้ว   ยังจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  ฯลฯ  รวมทั้ง ต้องมีความกล้าหาญ และมีปฏิภาณไหวพริบในการปรับใช้กฎหมายได้อย่างชาญฉลาดและแยบยล  นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมซึ่งเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาด้วย  แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น คงไม่จำเป็นต้องถึงขนาดมีความรอบรู้กฎหมายของประเทศต่าง ๆทั่วโลก  เพราะบางครั้งการเรียนรู้เรื่องของคนอื่นมากเกินไป  ก็อาจทำให้หลงลืมหรือละเลยในการที่จะเอาใจใส่เรียนรู้เรื่องของตนเอง   สุดท้ายก็อาจสับสนหลงทาง  ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาย่อมชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่า การลอกเลียนความคิดของต่างประเทศนั้น  หลายเรื่องใช้ไม่ได้ผลในบ้านเมืองเรา  ขอเพียงแค่ให้มีความรู้ความเข้าใจและเข้าถึงซึ่งกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติและกฎมนุษย์อย่างลึกซึ้งถ่องแท้และเข้าใจสังคมไทย  เข้าใจความคิดความรู้สึก  ความต้องการอันแท้จริงของคนไทย ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการแก้ไขปัญหาให้บรรเทาเบาบางลงไป
         ๓. ประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีความรู้ความเข้าใจและให้การยอมรับสนับสนุน  รวมทั้งมีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ 
         อนึ่ง  กรณีบุคลากรของฝ่ายตุลาการซึ่งออกไปทำหน้าที่อยู่ในองค์กรฝ่ายต่าง ๆเช่น  สำนักงาน ก.ก.ต. , ป.ป.ช. ,  ค.ต.ส. หรือตำแหน่งในฝ่ายบริหารและบทบาทหน้าที่อื่น ๆของฝ่ายตุลาการ
นอกเหนือจากการทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีในระบบปกติ  เช่น  การทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหาบุคคลให้ไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระทั้งหลาย  การพิจารณาออกใบเหลืองใบแดง สิทธิในการเสนอร่างกฎหมาย  เป็นต้น  ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าจะอยู่ในขอบเขตความหมายของคำว่า  “ตุลาการภิวัตน์” เพราะเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่บทบาทความรับผิดชอบหลักของสถาบันฝ่ายตุลาการโดยแท้  บางเรื่องก็น่าจะเป็นการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับสังคมเท่านั้น
         นอกจากนั้น  ยังเห็นว่าการพัฒนาปรับปรุงหรือเร่งรัดให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพก็ไม่น่าจะใช่ตุลาการภิวัตน์เช่นกัน  โดยน่าจะเป็นเพียงเรื่องของการปฏิรูประบบงานตามปกติเท่านั้น   แต่ก็ต้องยอมรับความจริงกันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเงื่อนไขปัจจัยที่สำคัญยิ่งในอันที่จะช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนให้การใช้กระบวนการตุลาการภิวัตน์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ./


[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า  สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพและในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ  แต่ขณะนั้นฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่ได้ออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในรายละเอียด ซึ่งต่อมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธ ศักราช ๒๕๕๐ มาตรา   ๖๗  วรรคหนึ่ง  ได้บัญญัติหลักการใหม่ โดยตัดข้อความที่ว่า  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ออก และใช้ข้อความใหม่แทนว่า ตามความเหมาะสม
                                  --------------------------------
   A  good  jude  decides  according  to  justice and right , and  prefers  equity  to  strict  law. 
             ผู้พิพากษาที่ดีย่อมวินิจฉัยคดีตามหลักความยุติธรรมและความถูกต้อง และถือความยุติธรรมสำคัญกว่ากฎหมาย 
              RATIO EST  LEGES  ANIMA , MUTATA  LEGES RAIIONE  MUT ATUR  ET  LEX.
             The reason is the soul of law , the reason of law being  changed , the law is also changed.
             เหตุผล คือ วิญญาณแห่งกฎหมาย  เมื่อเหตุผลแห่งกฎหมายบทใดเปลี่ยนแปลงไป  กฎหมายบทนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
                                                                    สุภาษิตกฎหมาย
               
                 Reason is the life of the law, nay the common law itself is nothing else but reason…
                เหตุผล คือ ชีวิตของกฎหมาย  กฎหมายจารีตประเพณีโดยตัวมันเอง  มิใช่อะไรอื่นนอกจากเหตุผล  กฎหมายก็คือ สมบูรณภาพแห่งเหตุผลนั่นเอง
                                                                       Sir Edward Coke
                                                           ผู้พิพากษานามอุโฆษชาวอังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น