1/05/2555

จิตวิวัฒน์กับอริยสัจสี่

จิตวิวัฒน์กับอริยสัจสี่
                                                             โดย..โสต  สุตานันท์

                         เมื่อพูดถึงคำว่า ทุกข์   พุทธศาสนิกชนทั้งหลายย่อมนึกถึงคำว่า  อริยสัจสี่  ซึ่งเป็นหลักหรือระบบใหญ่ที่ครอบคลุมกระบวนการในการแก้ไขปัญหาทั้งมวล    ในการนำหลักอริยสัจสี่ไปปรับใช้กับกระบวนการแก้ไขปัญหานั้น  ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกหรือพระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ. ปยุตโต)  ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการแก้ไขปัญหาเรื่องไฟไหม้ไว้ดังนี้ คือ
               ๑.)   ทุกข์    คือ  ไฟไหม้  ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน
               ๒.)  สมุทัย   คือ   การสืบสาวหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์   ซึ่งกรณีไฟไหม้นี้  จะเห็นได้ว่า   มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ไฟลุกไหม้ตามกระบวนการของธรรมชาติ  คือ   เชื้อเพลิง ก๊าซอออกซิเจน  และมีอุณหภูมิที่สูงพอ
                  ๓.)  นิโรธ    คือ  การเล็งจุดหมายหรือตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า  เราจะดับไฟโดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมชาติได้อย่างไร   ทั้งนี้  จะต้องสัมพันธ์กับความจริงและวิสัยของเราที่จะทำได้ด้วย  กล่าวคือ   เราจะเอาข้อให้ไม่มีออกซิเจน   ทำให้อุณหภูมิต่ำ  หรือจะให้ไม่มีเชื้อเพลิง หรือเอาทั้งสามอย่าง  เอาข้อไหนเด่น ข้อไหนรอง
                 ๔.)  มรรค    คือ   วิธีการหรือหนทางในการจัดการดับทุกข์   เป็นขั้นตอนของการวางวิธีปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดผลตามที่ตั้งจุดหมายไว้ในข้อนิโรธ   ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีรูปแบบวิธีการต่าง ๆมากมาย    เช่น  ต้องจัดซื้อรถดับเพลิง  มีถังเก็บน้ำ  ท่อสายยาง  บันได  การฝึกฝนพนักงานดับเพลิงให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและความพร้อมในการทำงาน   เป็นต้น 
                       เกี่ยวกับเรื่องปัญหาของมนุษย์นี้ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกได้กล่าวไว้อีกว่า  โดยทั่วไปปัญหาพื้นฐานสำคัญของมนุษย์จะมีอยู่   ๓  ประการ  คือ
                       ๑.) ปัญหาชีวิต  ซึ่งแยกเป็น  ๒  ส่วนได้แก่  ปัญหาสุขภาพร่างกาย  คือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆรวมทั้งความหิวโหยอดอยากด้วย และปัญหาจิตใจ  คือ  ความเครียด  ความทุกข์ใจ  ความเหงา   ความว้าเหว่  ความวิตกกังวลใจ ฯลฯ
                       ๒.) ปัญหาสังคม  คือ  ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์  เริ่มตั้งแต่การขัดแย้งระหว่างบุคคล  ระหว่างกลุ่มชน  ไปจนถึงสงครามระหว่างประเทศ  สงครามโลก 
                      ๓.)  ปัญหาสิ่งแวดล้อม  คือ  ความเสียหาย  เสื่อมโทรม ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
                     จากที่กล่าวมาข้างต้น  จะเห็นได้ว่า   คำว่า จิตวิวัฒน์  ซึ่งหมายถึง   การทำให้จิตวิญญาณของมนุษย์มีวิวัฒนาการนั้น  ก็คือ การมุ่งเน้นแก้ไข ปัญหาชีวิต ของมนุษย์ในส่วนปัญหาด้าน จิตใจ นั่นเอง  ซึ่งย่อมแน่นอนว่า  หากมนุษย์โลกสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องจิตใจได้   ปัญหาชีวิตด้านร่างกาย  ปัญหาสังคม  และปัญหาสิ่งแวดล้อม ย่อมได้รับการเยียวยาแก้ไขตามมาโดยอัตโนมัติ  ดังนั้น  อาจกล่าวได้ว่า   การแก้ไขปัญหาชีวิตด้านจิตใจของมนุษย์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งมวล  ซึ่งหากนำกระบวนการตามหลักอริยสัจมาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาชีวิตด้านจิตใจของมนุษย์ก็จะได้ว่า
                     ๑.)   ทุกข์   คือ  ความเครียด  ความทุกข์ใจ  ความเหงา   ความว้าเหว่  ความวิตก กังวลใจ ฯลฯ ของมนุษย์
                     ๒.)  สมุทัย  คือ   เหตุที่ทำให้เกิดความเครียด  ความทุกข์ใจ ฯลฯ  ซึ่งเมื่อสืบสาวลงไปแล้ว  ก็จะพบว่า  มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย  แต่เมื่อพูดครอบคลุมอย่างกว้าง ๆ  จะมีสาเหตุหลักอยู่ที่กิเลสของมนุษย์  ๓  ประการ  คือ 
                           ๒.๑  ตัณหา  คือ  ความอยากได้ใคร่มีเพื่อตัวเอง  ความเห็นแก่ตัว  แสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน  เงินทอง หรือ สิ่งบำรุงบำเรอตนเองทั้งหลายทั้งปวง    
                          ๒.๒  มานะ  คือ  ความอยากเด่นเป็นใหญ่  อยากมีอำนาจวาสนา   มีเกียรติยศชื่อเสียง   ปรารถนาจะครอบงำผู้อื่น   
                          ๒.๓   ทิฏฐิ  คือ   ความยึดติดในความเชื่อ  ลัทธิ   ศาสนา  หรือแนวคิดอุดมการณ์ที่ยึดมั่นถือมั่นไว้  ไม่ยอมรับฟังความคิด  ความเห็นของคนอื่น  ก่อทัศนคติแบบแบ่งแยก 
               ตัณหา มานะ ทิฏฐิ   เป็นตัวการทำให้เกิดอกุศลมูล คือ ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  และทำให้เกิดความกลัว  ความหวาดระแวง  ความไม่ไว้ใจกัน  ท้ายที่สุด  ความขัดแย้งทั้งภายในจิตใจตัวเองและกับบุคคลอื่นก็จะตามมา
                      ๓.)  นิโรธ  คือ การเล็งจุดหมายหรือตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า  เราต้องการสิ่งใด   จะฝึกฝนพัฒนาจิตให้ลดละซึ่งกิเลสทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าว จนถึงขั้นไหน   เช่น  จะเอาเพียงแค่รักษาศีล ๕  บรรลุถึงขั้นโสดาบัน  สกทาคามี อนาคามี หรือ ถึงขั้นนิพพานเหมือนพระพุทธเจ้า  และเราจะจัดการกับเหตุปัจจัยข้อใดเป็นสำคัญ จะเน้นข้อตัณหา มานะ หรือทิฏฐิ แต่โดยหลักการแล้วก็คงต้องทำพร้อมกันทั้งสามข้อ  เพียงแต่ว่า  ต้องสำรวจตัวเองว่า  มีจุดอ่อนตรงไหนมากกว่า  ก็ต้องเน้นจัดการกับข้อนั้นมากเป็นพิเศษ   อย่างไรก็ตาม  เป้าหมายนั้นต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับความจริงและวิสัยของเราที่จะทำได้ด้วย เช่น ฐานะความเป็นอยู่  ความรับผิดชอบต่อครอบครัว สติปัญญา  ความรู้ความสามารถ  สิ่งแวดล้อมรอบข้าง ฯลฯ เป็นต้น อีกทั้งควรจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป้าหมายให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆด้วย
                     ๔.)  มรรค   คือ   วิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในข้อนิโรธดังกล่าว  ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ให้แนวทางไว้มากมายหลายประการ   เช่น   พรหมวิหาร  ๔   อิทธิบาท ๔  สังคหวัตถุ ๔  อปริหานิยธรรม  ๗  สัปปุริสธรรม  ๗        หลักทศพิศราชธรรม  ฯลฯ เป็นต้น
                                จากกระบวนการแก้ไขปัญหาชีวิตด้านจิตใจของมนุษย์ดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะทำความเข้าใจกัน  แต่ปัญหาใหญ่จะอยู่ที่ขั้นมรรคหรือวิธีปฏิบัติซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งและยุ่งยากซับซ้อนอย่างมากสำหรับปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปที่ยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนาจิตอย่างถูกต้อง  เป็นลำดับขั้นตอนและอย่างต่อเนื่องจริงจัง  ถามว่า  เมื่ออ่านศีล ๕ จบ  เราเข้าใจและคิดว่าทำได้หรือไม่  เชื่อว่าส่วนใหญ่คงตอบว่า  เข้าใจเป็นอย่างดีและเห็นว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยที่จะปฏิบัติตาม  แต่ปรากฏว่า  พอเอาเข้าจริง ๆจะมีพุทธศาสนิกชนกี่คนที่ทำได้      อย่างไรก็ตาม  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีสมอง มีสติปัญญา และมีจิตเป็นประภัสสร  สามารถฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้  และธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม   ต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกันจึงจะอยู่รอด  อีกทั้งการพัฒนามนุษย์นั้นก็ต้องอาศัยมนุษย์ด้วยกัน  โอกาสนี้  ผู้เขียนจึงขอชักชวนกัลยาณมิตรทั้งหลายมาร่วมถกปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ซึ่งกันและกันในบางเรื่องบางประเด็นเท่าที่หน้ากระดาษจะเอื้ออำนวย  เพื่อฝึกฝนพัฒนาจิตวิญญาณให้มีวิวัฒนาการก้าวหน้ายิ่ง ๆขึ้นไป   ด้วยการเริ่มต้นจากเรื่องง่าย ๆใกล้ตัว ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
๑.) การมองโลกในแง่บวก -  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีสองด้านเสมอคือ ด้านดีกับด้านไม่ดี 
ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส  ผู้ชนะคือ คนที่เห็นปัญหาเป็นโอกาส  ผู้แพ้คือคนที่เห็นโอกาสเป็นปัญหา   ทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นในชีวิตมักจะมีโอกาสแฝงตัวมาด้วยเสมอ   พยายามมองหามันให้เจอแล้วท่านจะเป็นผู้ชนะตลอดกาล   ผู้เขียนเคยรับราชการมาแล้ว ๔ กระทรวง  เคยเห็นข้าราชการมากมายที่โอกาสดีมาเยือนถึงหน้าบ้าน แต่เขากลับเห็นเป็นปัญหา  หัวหน้าใช้ให้ทำงานเกินเวลาหรือนอกเหนือหน้าที่แทนที่จะถือเป็นโอกาสในการแสดงฝีมือให้ประจักษ์กลับเห็นเป็นปัญหาอ้างโน่นอ้างนี่ ไม่ยอมทำหรือทำแบบขอไปที พอสิ้นปีก็เลยได้แค่ ๑ ขั้น  ขณะเดียวกันก็เคยเห็นข้าราชการหลายคนที่เห็นปัญหาเป็นโอกาส  เช่น  เป็นคนซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา รักความถูกต้อง  ซึ่งคนประเภทนี้ มักจะประสบปัญหาชีวิตราชการถูกกลั่นแกล้งรังแกประจำ  แต่เขาเหล่านั้นก็มักจะแปรความบีบคั้นถูกกดดันด้วยการถือโอกาสมุ่งศึกษาหาความรู้เรียนต่อเพิ่มเติม  ท้ายที่สุดก็สามารถสอบเลื่อนชั้นหรือเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ก้าวหน้ายิ่ง ๆขึ้นไป    บางคนเป็นทุกข์น้อยใจเนื่องจากลูกเรียนไม่เก่ง  แต่หากท่านลองสังเกตเพื่อนบ้านดูก็จะพบว่า   มีหลายครอบครัวที่ลูกเรียนเก่งทุกคนมีหน้าที่การงานที่ดี แต่ปรากฏว่า  พ่อแม่ที่แก่ชราอยู่บ้านอย่างโดดเดี่ยวเงียบเหงา เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ค่อยจะเห็นหน้า เพราะลูก ๆไปทำงานต่างจังหวัดกันหมด  ขณะที่มีหลายครอบครัวที่ลูกเรียนจบแค่ชั้นประถมหรือมัธยม ทำไร่ไถนา รับจ้างอยู่ที่บ้าน แต่พวกเขาก็ได้อยู่ใกล้ชิดพร้อมหน้าพร้อมตา ได้ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน   บางคนเป็นทุกข์เพราะสุขภาพไม่ค่อยดีมีโรคประจำตัวตั้งแต่เด็ก  แต่หากท่านสังเกตเพื่อนบ้านคนรู้จักก็จะพบว่า  มีหลายคนที่เสียชีวิตไปก่อนท่านทั้ง ๆที่อายุไร่เรี่ยกันหรือน้อยกว่าและมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็เพราะว่า  คนที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมักจะตั้งอยู่ในความประมาท กิน เที่ยว  ดื่ม สูบ อดหลับอดนอน ท้ายที่สุดโรคภัยไข้เจ็บก็มาเยือนหรือประสบอุบัติเหตุ  ขณะที่คนอ่อนแอ มีโรคประจำตัวมักจะคอยระมัดระวังดูแลสุขภาพตนเองเป็นอย่างดี ทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวได้   บางคนเป็นทุกข์เพราะคิดว่าตนเองยากจนต่ำต้อยด้อยกว่าคนอื่น  แต่ท่านลองคิดทบทวนดูซิว่า  ตั้งแต่เกิดมาเคยมีซักวันไหมที่ท่านกินข้าวไม่ครบสามมื้อและมีซักกี่คืนที่ท่านไม่มีเวลานอนหลับ  ไม่แน่ว่า บางทีท่านอาจจะกินอิ่มนอนเต็มมากยิ่งกว่านายกรัฐมนตรีหรือเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกก็เป็นได้  หรือหากมีใครบางคนคิดทบทวนดูแล้ว พบว่าตนเองทุกข์ยากแสนเข็ญเหลือเกิน อดมื้อกินมื้อ วัน ๆต้องทำงานแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน  ผู้เขียนก็ขอเป็นกำลังใจและให้แง่คิดว่า  นิพพานนั้นเป็นช่องว่างบาง ๆที่อยู่ระหว่างความทุกข์สุด ๆกับความสุขสุด ๆ  หากวันใดความทุกข์ถึงขีดสุดและท่านสามารถทนได้ เดินหน้าต่อ ท่านจะได้พบกับนิพพาน พบกับความว่าง ปราศจากความทุกข์ใด ๆ  จากนั้นหากท่านไม่พอใจกับสภาวะจิตที่ว่าง ท่านก็จะก้าวไปสู่แดนแห่งความสุข แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือ  คราใดเมื่อจิตท่านเผลอหรือหลงระเริงกับความสุข  ตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ช้าไม่นานความทุกข์ก็จะมาเยือนท่านอีกแน่นอน   ไม่เชื่อท่านลองพิจารณาดูชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะเป็นตัวอย่าง   ก่อนออกบวชพระองค์ท่านมีชีวิตอย่างสุขสบายอยู่ในวัง มีบ้านสามฤดู มีสนมนางกำนัล อำนาจ ทรัพย์สินเงินทองมากมาย เรียกว่า สุขสุด ๆแต่ปรากฏว่า ท่านไม่เดินหน้าต่อ จึงยังไม่พบกับนิพพานในขณะนั้น โดยท่านได้ตัดสินใจเดินบ่ายหน้าหนีออกจากวังไปทนทุกข์ทรมานลำบากยากเข็ญแสนสาหัส  เคยอดข้าว อดน้ำ ผอมโซ จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด เรียกว่า ทุกข์สุด ๆ และในที่สุดท่านก็ได้พบกับความว่าง พบกับนิพพาน และรักษาสภาวะจิตอยู่ตรงนั้นจนสิ้นอายุขัย  สมมุติว่าพระองค์ท่านเจอทุกข์แล้วทนไม่ได้ ตัดสินใจเดินกลับวังหรือท่านเดินหน้าสู้ต่อจนเจอกับนิพพานแต่ท่านยังไม่พอใจในสภาวะจิตเช่นนั้น ตัดสินใจก้าวเดินข้ามไปสู่แดนแห่งความสุข  ท่านก็คงไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและคงตกอยู่ในวัฏสงสาร เวียนว่ายตายเกิดต่อไป   อย่างไรก็ตาม  การพยายามมองโลกในแง่ดีนั้น   แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่การฝึกจิตขั้นพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งหากไม่ระมัดระวังให้ดีก็จะกลายเป็นการหลอกตัวเองหรือหลีกเลี่ยงหนีปัญหาไป ที่ถูกต้องแล้วเราต้องมองโลก ตามความเป็นจริง  เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเราต้องพินิจพิจารณาตามกฎเกณฑ์แห่ง ปฏิจจสมุปบาท ใช้สติปัญญาพิเคราะห์ไตร่ตรองดูว่า  มีเหตุปัจจัยใดเกี่ยวข้องบ้าง  เพราะเหตุใด และจะมีวิธีแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร
                           ๒.)  การทำความดี  -   เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงเคยได้ยินคำบ่นของผู้คนบ่อยครั้งในลักษณะปรับทุกข์ว่า  เป็นคนที่ ทำคุณคนไม่ขึ้น หรือบางทีท่านอาจจะเคยบ่นเสียเอง (ผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าเคย)  ความดี คือ อะไร  ท่านจะสังเกตเห็นว่า  บรรดาการกระทำทั้งหลายที่อยู่ในขอบเขตความหมายของคำว่า  ความดี นั้น เป็นเรื่องที่สอนให้คนลดความเป็นตัวตน   เป็นตัวกู  ของกู ให้น้อยลงทั้งสิ้น   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ทาน  การเสียสละ   การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ ขณะที่การกระทำต่าง ๆที่เรียกว่า  ความชั่ว  นั้น  เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เพิ่มอุปาทาน  เพิ่มความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น  เพิ่มความรู้สึกที่เรียกว่าตัวกู  ของกู ทั้งสิ้น   ดังนั้น  การทำความดี การเสียสละช่วยเหลือแบ่งปันให้คนอื่นนั้น ต้องพึงเข้าใจให้ถูกต้อง  หากเข้าใจผิด โดยมุ่งทำดีเพื่อหวังลาภ  ยศ  สรรเสริญ หรือผลตอบแทนใด ๆแล้ว ผลที่ได้ก็คงไม่ต่างไปจากการทำความชั่วมากนัก  เพราะเป็นเรื่องของการเพิ่มความรู้สึกในตัวตนเหมือนกัน   การให้ที่ถูกต้องผู้ให้ต้องไม่หวังผลตอบแทนใด ๆจากผู้รับ  ซึ่งเมื่อไม่หวังก็จะไม่มีทางผิดหวัง  ความรู้สึกที่ว่า ทำคุณคนไม่ขึ้น ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นในจิตใจได้อย่างแน่นอน    อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ  การทำความดี การเสียสละเพื่อสังคม เพื่อบ้านเพื่อเมืองนั้น  เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม  แต่ก่อนที่เราจะคิดรักบ้านรักเมือง เราก็ต้องฝึกรักตัวเองให้เป็นก่อน   เพราะหากยังรักตัวเองไม่เป็น  โอกาสที่การแสดงออกซึ่งความรักต่อชาติบ้านเมืองจะผิดเพี้ยนบิดผันย่อมมีอยู่สูงยิ่ง   หลายครั้งที่ผู้เขียนเคยเห็นภาพนักการเมืองระดับรัฐมนตรีหรือแกนนำมวลชนที่มีชื่อเสียงสูบบุหรี่  ยอมรับว่าความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาที่เคยมีอยู่มลายหายไปสิ้นและรู้สึกใจหายหดหู่   ก็แม้แต่ชีวิตของตัวเองยังรักไม่เป็นแล้วจะรักประเทศชาติ รักคนอื่น เป็นได้อย่างไร   เพราะฉะนั้น  สิ่งที่ต้องเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาก็คือ  การทำความดีที่ถูกต้องนั้น  ต้องไม่ทำร้ายสุขภาพจิต-สุขภาพกายของตนเอง  หากเราทำสิ่งใดแล้วรู้สึกว่าใจเป็นทุกข์ต้องสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า วิธีคิดหรือวิธีการเช่นนั้นน่าจะน่าไม่ถูกต้องเสียแล้ว ต้องรีบทบทวนตรวจสอบโดยด่วน  โดยสิ่งสำคัญสูงสุดที่พึงตระหนักก็คือ การคิดการทำเช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มตัณหา มานะ ทิฏฐิ ให้กับตนเองมากกว่าที่จะเป็นการช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริงหรือไม่ อย่างไร  นอกจากนั้น  การทำความดียังต้องคำนึงถึงสถานะหรือบทบาทหน้าที่ที่ถูกต้องเหมาะสมของตนเองในสังคมด้วย  อย่างเช่น  บทบาทของนักวิชาการ  ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ถือคบไฟส่องทาง ชี้นำสังคมให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง  หากนักวิชาการทิ้งคบไฟหันไปแบกขนสัมภาระ เสาะหาเสบียง  เข้าครัวทำอาหาร หรือทำหน้าที่อื่นใด   สังคมย่อมเดินผิดทิศ หลงทาง  เพราะไม่มีไฟส่องนำทาง  ผู้เขียนรู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ในอดีตที่ผ่านมามีนักวิชาการผู้มีความรู้ความสามารถสูงหลายท่าน ละทิ้งบทบาทหน้าที่ของตนเองไปทำงานด้านการเมือง  ผลที่ออกมาก็ดังที่ปรากฏให้เห็นกัน คือ ล้มเหลว  เพราะในทางปฏิบัติที่เป็นจริงนั้น  มีตัวแปร มีเงื่อนไข ปัจจัยต่าง ๆมากมาย  หากนักวิชาการนำหลักการแนวคิดทฤษฎีไปปรับใช้อย่างเคร่งครัดตรงไปตรงมาเป็นไม้บรรทัด  การต่อต้าน ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้น โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังมีจิตใจไม่วิวัฒน์    แต่หากนักวิชาการท่านใดยอมผ่อนปรน ยืดหยุ่น ก็จะถูกกล่าวหาว่า เปลี่ยนไป ไม่มีจุดยืน ละทิ้งอุดมการณ์ ทำให้ขาดความเลื่อมใสศรัทธา การทำงานย่อมไม่ได้ผล  สรุปก็คือ มีแต่เสียกับเสีย  แม้บางท่านจะถอนตัวออกมาแล้ว  แต่ความหวาดระแวง  ความเคลือบแคลงสงสัย  ก็ยังอยู่ในใจของผู้คน  ตอนนี้  สังคมไทยจึงหานักวิชาการที่เป็นหลักของบ้านเมือง  ประชาชนเชื่อมั่นในความเป็นกลาง ไม่เคลือบแคลงสงสัยในเบื้องหลังของคำพูดหรือการแสดงความคิดความเห็นใด ๆได้ยากยิ่ง  ถึงตรงนี้ ผู้เขียนขอแสดงความชื่นชมสมาชิกของกลุ่มจิตวิวัฒน์และนักวิชาการท่านอื่น ๆอีกหลายท่านที่มีความหนักแน่น มั่นคงในอุดมการณ์  มุ่งทำหน้าที่ในบทบาทของนักวิชาการอย่างซื่อสัตย์ อดทน และเสียสละ โดยไม่เห็นแก่อำนาจ  วาสนา หรือ ลาภ ยศ สรรเสริญใด ๆ  และขอถือโอกาสสื่อสารทำความเข้าใจกับนักการเมืองบางท่านที่ชอบพูดท้าทายให้นักวิชาการไปลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย   โดยการที่ท่านพูดเช่นนั้นก็คงเปรียบเสมือนนักมวยท้าให้ผู้ฝึกสอน  คนพากย์ หรือนักวิจารณ์กีฬามวย ไปชกมวยแข่งขันกัน
            ๓.) การกินอยู่หลับนอน   - ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฏก เคยแสดงปาฐกถาธรรมไว้ว่า   ธรรมชาติของมนุษย์มีภาวะหรือสถานะ  ๒  อย่างในเวลาเดียวกัน คือ เป็นชีวิต    ซึ่งเป็นธรรมชาติ    อยู่ในธรรมชาติ และเป็นไปตามกฎธรรมชาติ  โดยแยกออกเป็น  ๒  ด้าน คือ  กายและใจ  อันจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยปัญญา  และ เป็นบุคคล   ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ร่วมในสังคม  มีความสัมพันธ์ต่อกันโดยขึ้นต่อเจตจำนง     ดังนั้น  การมองคนต้องมองทั้งสองด้าน  ให้ประสานโยงถึงกัน ทั้งด้านที่เป็นบุคคลในสังคมและด้านที่เป็นชีวิตในธรรมชาติ  ซึ่งโดยหลักแล้วต้องเน้นความสำคัญในการมองคนให้ถึงแก่นแท้ของชีวิตในธรรมชาติมากกว่า   เช่น  การรับประทานอาหาร คนจะกินอาหารทั้งในฐานะที่เป็นบุคคลและในฐานะที่เป็นชีวิต  คือ  มีทั้งการกินเพื่อสนองความต้องการของบุคคล (  อร่อย  โก้ แสดงฐานะ ฯลฯ)   และการกินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต ( ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ )   แน่นอนว่าคุณค่าที่แท้จริงของอาหารคือ เพื่อสนองความต้องการของชีวิต  ดังนั้น  หากมนุษย์ไม่เข้าใจ  มุ่งกินเพื่อสนองความต้องการของบุคคลเป็นหลัก    ก็จะเป็นการบั่นทอนหรือทำลายชีวิตของเขาเองเพราะนั่นหมายถึง ทรัพย์สินเงินทองที่สูญเสียไปและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆที่จะตามมา    ท่านทั้งหลายลองสำรวจตัวเองดูซิว่า  การกิน การนอน  การแต่งตัว  การซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ฯลฯของท่านมีลักษณะอย่างไร  มุ่งเน้นสถานะเพื่อบุคคลมากกว่าเพื่อชีวิต  จนทำให้การดำเนินชีวิตขาดสมดุล ไม่เหมาะสมสอดคล้องกับรายได้หรือฐานะความเป็นอยู่ของตนเองหรือไม่  อย่างไร   
                        ๔.)  การอนุรักษ์ภาษา ประเพณี  ศิลปะ  วัฒนธรรม  -   ผู้เขียนเป็นคนพื้นเพทางภาคเหนือ  มีอยู่วัน
หนึ่งขณะฟังวิทยุในรถยนต์ มีบทพูดโฆษณาตอนหนึ่งความว่า  กำเมือง ถ้าคนเหนือบ่อู้แล้วใฝจะอู้  ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดถึงครอบครัวคนเคยรู้จักหลายคนที่สอนให้ลูกพูดภาษาไทยกลางตั้งแต่เริ่มหัดพูด โดยไม่สอนฝึกพูดภาษาท้องถิ่น  มองเผิน ๆดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากคิดดูให้ดีอย่างลึกซึ้งก็จะพบว่า  เป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของกิเลสในข้อ มานะ ให้แก่ลูกตั้งแต่เด็ก  อันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตจิตใจและอนาคตของเด็กอย่างมาก  ชีวิตคนเรานั้น ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน วันนี้สุข พรุ่งนี้ทุกข์  วันนี้สมหวัง พรุ่งนี้ผิดหวัง สลับสับเปลี่ยนกันไป  วันเวลาใดที่มีความสุขก็คงไม่มีปัญหาอะไร  แต่คราใดที่ชีวิตเป็นทุกข์ ประสบกับความผิดหวัง  โดยธรรมชาติคนเราจะคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว เป็นอันดับแรก   หากใครมีครอบครัวที่อบอุ่น มีความรักใคร่กลมเกลียว ก็ถือเป็นโชคดีอย่างยิ่ง  กลับไปเลียแผลใจที่บ้าน ขอกำลังใจจากผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่ ญาติพี่น้องที่เคารพนับถือสักพักหนึ่ง  เมื่อจิตใจได้รับการฟื้นฟูเข้มแข็งขึ้นก็ออกไปเผชิญต่อสู้ชีวิตในโลกกว้างต่อไป    แต่หากใครไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีความภาคภูมิใจในรากเหง้าที่มาของตนเอง  โดยแม้แต่ภาษาของบรรพบุรุษยังคิดว่า เป็นสิ่งที่น่าอับอาย ไร้คุณค่า  ลองคิดดูซิว่า  เมื่อชีวิตเป็นทุกข์ขึ้นมา จะหันหน้าไปพึ่งพาหรือขอกำลังใจจากใครที่ไหนได้   เกี่ยวกับเรื่องนี้จะสังเกตเห็นว่า  คนจีนมีกุศโลบายที่แยบยลอย่างมาก ด้วยการสร้างประเพณีการกราบไหว้บรรพบุรุษขึ้นมา  ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อรากฐานความมั่นคงและขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต    นอกจากภาษาแล้ว ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมทั้งหลาย  ก็ทำนองเดียวกัน  คือ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ มีอิทธิพลต่อชีวิตของเราอย่างมากมาย    ขอได้โปรดช่วยกันรักษาไว้เถิด อย่าคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าอาย หรือ คร่ำครึโบราณล้าสมัยเลย
                                 แน่นอนที่สุดว่า   ความคิด  ความเห็น ของผู้เขียนในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นดังกล่าวข้างต้น  ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของท่านผู้อ่านใน  ๓  ลักษณะ คือ  เห็นด้วย  ไม่เห็นด้วย  และรู้สึกเฉย ๆ  อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ขอแลกเปลี่ยนแง่คิดมุมมองกับท่านผู้อ่านเป็นบทสรุปส่งท้ายว่า  การเห็นด้วยที่ดีต้องไม่มี ฉันทะ แฝงอยู่   การไม่เห็นด้วยที่ถูกต้องคือต้องมองด้วยจิตที่ปราศจาก โทสะ  และการรู้สึกเฉย ๆจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยถ้าเฉยเพราะ โมหะ    พึงเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และวางเฉย  หลังจากที่ท่านได้ใช้ความรู้ ความคิด ความรู้สึก และใช้สติปัญญาไตร่ตรองหาเหตุผลอย่างถี่ถ้วนรอบคอบแล้ว  เพราะนั่นคือกระบวนการวิธีคิดของบุคคลที่ได้ชื่อว่า  มีจิตที่วิวัฒน์แล้ว./

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น