1/06/2555

สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชาย – หญิง

สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชาย – หญิง [1]
                                         โดย...โสต  สุตานันท์
         สืบเนื่องจากบทความผู้เขียนเรื่อง การเมืองใหม่ ซึ่งลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่  ๒๓  กันยายน  ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา  ปรากฏว่า มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้กรุณาส่ง Email ไปยังผู้เขียน โดยตั้งข้อสังเกตไว้ ๓ ประการ ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจ จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับผู้อ่าน ดังนี้ คือ
         ๑. การร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดถือกรอบแนวคิดเรื่องกฎธรรมชาติ - กฎมนุษย์ ตามแนวทางแห่งศาสนาพุทธ จะถือเป็นการขัดต่อคำสอนของศาสนาอื่นหรือไม่ อย่างไร ? ประเด็นนี้  ผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าจะขัด  ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาอื่นมากนัก แต่ก็คิดว่า  ทุกศาสนาน่าจะสอนให้เคารพและสำนึกในบุญคุณแห่งธรรมชาติ  อีกทั้งหากใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งก็จะเห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าหรือศาสดาองค์ใด  ดูเหมือนจะไม่สามารถแยกออกจากพระธรรมชาติเจ้าได้เลย
         ๒. แนวคิดเรื่องกฎธรรมชาติ - กฎมนุษย์  จะขัดแย้งต่อปรัชญาแนวคิดของต่างประเทศหรือไม่ ? ประเด็นนี้ ผู้เขียนขอยืนยันว่าไม่ขัดอย่างแน่นอน   เพราะไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทฤษฎีของนักคิดนักปราชญ์ท่านใดในโลกนี้ แท้จริงแล้วตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์แห่งการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของกฎธรรมชาติ-กฎมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องภาวะธรรมชาติของมนุษย์ของโทมัส ฮอบส์  จอห์น ล็อค หรือรุสโซ แนวคิดเรื่องลำดับความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์ แนวคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจของมองเตสกิเออ  แนวคิดเรื่องกลไกตลาดเสรีของอดัม สมิธ หรือแนวคิดของปราชญ์ตะวันออกอย่างขงจื้อ  เล่าจื้อ  ซุนหวู่ ฯลฯ ก็ดูเหมือนจะแนบอิงอยู่กับธรรมชาติอย่างแนบแน่น
         ๓. แนวคิดเรื่องกฎธรรมชาติ - กฎมนุษย์  จะสามารถนำไปปรับใช้กับการร่างรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่าง ๆได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่  ?   คำตอบก็คือได้แน่นอน ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปนี้ 
          เรื่องที่ผู้เขียนจะนำมาปรับวิเคราะห์เป็นตัวอย่างได้แก่ เรื่องสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง โดยผู้เขียนขอหยิบยกหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการข่มขืนกระทำชำเรา ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา ๒๗๖  และ ๒๗๗ มาเป็นตัวอย่างสำหรับประกอบการพิจารณา  เนื้อหาสาระจะแบ่งออกเป็น    ส่วน  คือ  กฎมนุษย์   กฎธรรมชาติ  และการปรับวิเคราะห์ปัญหา จะถูกจะผิด จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ขอผู้อ่านลองพินิจพิจารณาไปพร้อมกัน

ส่วนแรก  - กฎมนุษย์
         แต่เดิมกฎหมายลักษณะอาญา  ร.ศ.  ๑๒๗  และประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติเป็นหลักการไว้ว่า  ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งไม่ใช่ภรรยาตนหรือกระทำชำเราเด็กหญิงซึ่งไม่ใช่ภริยาตนแม้เด็กหญิงนั้นจะยินยอมถือว่าเป็นความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย   ซึ่งแม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไปหลายครั้ง แต่หลักการสำคัญในเรื่องดังกล่าวก็ยังคงอยู่  จนกระทั่งมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเนื้อหาสาระสำคัญที่เปลี่ยนไป   ดังนี้ 
         ๑. แก้ไขถ้อยคำในมาตรา ๒๗๖ วรรคแรก ที่ว่า  “ ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิง” เป็น “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น”  ดังนั้นต่อไปผู้ชายก็อาจถูกข่มขืนกระทำชำเราได้ไม่ว่าโดยชายหรือหญิง
         ๒. เพิ่มคำจำกัดความของคำว่า กระทำชำเรา ไว้ในมาตรา  ๒๗๖ วรรคสอง และมาตรา  ๒๗๗ วรรคสองว่า หมายถึง  การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำ   กระทำกับอวัยวะเพศ  ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นหรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น”  ดังนั้น การกระ ทำชำเราจึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะการร่วมประเวณีอีกต่อไป
         ๓.  ตัดคำว่า  ซึ่งมิใช่ภริยาตน  ในมาตรา ๒๗๖ วรรคแรกออก   ดังนั้น  สามีจึงอาจมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภรรยาตนเองได้ 
         ๔. แก้ไขถ้อยคำในมาตรา  ๒๗๗ วรรคแรก ที่ว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กหญิง”  เป็น “ผู้ใดกระทำชำเราเด็ก ” ดังนั้น เด็กชายจึงอาจถูกกระทำชำเราได้
         ทั้งนี้ ได้มีการให้เหตุผลในการแก้ไขปรับปรุงไว้ว่า “เพื่อให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิ  เสรีภาพ  และความเสมอภาค  รวมทั้งเพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ 

ส่วนที่สอง  - กฎธรรมชาติ
         เกี่ยวกับเรื่องนี้มีกฎธรรมชาติสำคัญที่เกี่ยวข้อง  คือ 
           ๑. ธรรมชาติทางด้านสรีระร่างกายของชายส่วนใหญ่จะมีความแข็งแกร่งมากกว่าหญิง
          ๒. หญิงตั้งครรภ์ได้   ชายตั้งครรภ์ไม่ได้
           ๓. อารมณ์ทางเพศของชายและหญิง  โดยธรรมชาติน่าจะมีความแตกต่างกัน โดยชายน่าจะไวต่อความรู้สึกในอารมณ์ทางเพศมาก กว่าหญิง  เพราะบางครั้งแม้จะอยู่ในอารมณ์โกรธ เกลียดหรือกลัวก็สามารถมีอารมณ์ทางเพศและร่วมเพศได้ ขณะที่หญิงนั้นน่าจะมีอารมณ์ทางเพศได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพจิตใจที่พร้อมจะสนองตอบเท่านั้น 
           ๔. ลักษณะอวัยวะเพศของชายและหญิงแตกต่างกันกล่าวคือ ชายสามารถร่วมเพศกับหญิงได้เสมอเมื่อมีอารมณ์ทางเพศ แม้หญิงจะไม่พร้อมหรือไม่มีอารมณ์ทางเพศก็ตาม  ในทางตรงข้ามหากชายไม่มีอารมณ์ทางเพศ อวัยวะเพศก็จะไม่แข็งตัว  แม้หญิงจะมีอารมณ์ทางเพศ   ก็ไม่สามารถร่วมเพศกับชายได้ 
          ๕.   การสืบพันธุ์ถือเป็นธรรมชาติของสัตว์โลก ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการดำรงเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไป   กิจกรรมทางเพศจึงเป็นความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งไม่น่าจะต่างจากการดื่มน้ำ รับประทานอาหารหรือกิจกรรมอื่น ๆ

ส่วนที่สาม  - การปรับวิเคราะห์
         จากกฎธรรมชาติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโอกาสที่หญิงจะข่มขืนกระทำชำเราชายในความหมายปกติธรรมดาคงเป็นไปได้น้อยมาก     อีกทั้งในความเป็นจริงของสังคม  ด้วยปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆมากมายคงเป็นเรื่องยากมากอีกเช่นกันที่หญิงจะคิดข่มขืนชายหรือแม้จะเกิดขึ้นจริงก็คงไม่น่าจะทำให้ชายได้รับความเสียหายอะไรมากนัก  เพราะการเสียตัวของชายไม่น่าจะเป็นเรื่องที่น่าอับอายขายหน้าอะไร ประกอบกับชายก็ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้  ดังนั้น เจตนารมณ์ดั้งเดิมของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเพศจึงมุ่งประสงค์ที่จะปกป้องคุ้มครองเพศหญิงเป็นสำคัญ      การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าว  จึงไม่น่าจะสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ  ผลที่ตามมาก็คงจะเป็นไปตามที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้กล่าวไว้ คือ กฎมนุษย์นั้นย่อมไม่สามารถให้ประโยชน์ที่แท้จริงยั่งยืนตามความต้องการของมนุษย์ได้ ตัวอย่างปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่   
         ๑. การที่กฎหมายให้คำนิยามคำว่า “กระทำชำเรา โดยให้หมาย ความรวมถึงการใช้อวัยวะเพศกระทำต่อทวารหนัก หรือช่องปาก และการใช้สิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่อวัยวะเพศกระทำต่ออวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นด้วย อีกทั้งยังแก้ไขถ้อยคำที่ว่า ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิง  เป็น ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น  นั้น คาดว่าในอนาคตคงมีประเด็นปัญหาให้ต้องถกเถียงกันอีกมากมายว่า การกระทำนั้น ๆถือเป็นการกระทำชำเราหรือไม่ อย่างไร   นอกจากนั้น การให้คำนิยามของคำว่า  กระทำชำเรากว้างเกินไป  บางครั้งแทนที่จะเป็นการคุ้มครองผู้เสียหายกลับจะเป็นการทำร้ายจิตใจผู้เสียหายซ้ำเติมยิ่งขึ้นไปอีก  อย่างเช่น  หญิงถูกบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย  ใช้วัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าเล็กหรือใหญ่สอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศหรือทวารหนัก   ย่อมได้รับการประทับตราจากกฎหมายแล้วว่าถูกข่มขืนกระทำชำเรา  ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรงและไม่เป็นผลดีต่อผู้เสียหายสำหรับความรู้สึกของคนทั่วไปในสังคม   
         จริง ๆแล้วหากมุ่งจะคุ้มครองผู้เสียหายไม่ว่าชายหรือหญิง  เด็กหรือผู้ใหญ่  เกย์หรือทอม ในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมหรือผิดธรรมชาติ  เราก็มีประมวลกฎหมายอาญามาตราอื่นๆที่สามารถนำไปปรับใช้ได้อยู่แล้วคือ หมวดความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกายและความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพชื่อเสียง  หากเห็นว่าโทษเบาไปหรือลักษณะการกระทำไม่ครอบคลุมเหมาะสมอย่างไรก็ควรจะไปปรับปรุงแก้ไขตามบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวมากกว่า ไม่น่าที่จะนำมาพิจารณาปะปนกับบทบัญญัติในเรื่องของการข่มขืนกระทำชำเรา 
         ๒. การที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ตัดคำว่า  ซึ่งมิใช่ภริยาตน  ในมาตรา ๒๗๖ วรรคแรก ออก ก่อให้เกิดผลคือ ต่อไปหากสามีหรือภรรยาไม่ยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งร่วมประเวณี ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปบัง คับขืนใจให้ร่วมประเวณีก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายได้      จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า การที่กฎหมายเข้าไปยุ่งกับชีวิตครอบครัวประชา ชนถึงในมุ้งเช่นนี้ จะก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่า คำว่า ไฟในอย่านำออก  ไฟนอกอย่านำเข้า   ถือเป็นคติเตือนใจที่ดีของคนโบราณ  สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตครอบครัวได้เสมอไม่ว่ายุคใดสมัยใด  สามีภรรยาก็เหมือนลิ้นกับฟัน   ปกติทั่วไปหากมีการทะเลาะขัดแย้งกัน   ถ้าไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรมากมายก็จะมีกลไกทางอารมณ์ กลไกภาย ในครอบครัวและเครือญาติที่คอยช่วยให้สามารถปรับความเข้าใจกันได้อยู่แล้ว 
         ในชีวิตครอบครัวนั้น  การที่ฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะร่วมเพศกับอีกฝ่ายหนึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร   อย่างน้อยที่สุดย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าฝ่ายนั้นยังมีความรู้สึกเสน่ห์หาหรือผูกพันรักใคร่กันอยู่    หากมีความรู้สึกเกลียดหรือคิดจะแยกทางกันแล้ว ก็คงไม่คิดจะทำอะไร   อย่าว่าแต่กระทำชำเราเลย  แม้แต่หน้าก็อาจจะยังไม่อยากมองด้วยซ้ำไป ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จึงน่าจะเป็นกรณีฝ่ายหนึ่งละเลยไม่ยอมร่วมเพศกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยหันไปร่วมเพศกับบุคคลที่สามมากกว่า   นอกจากนั้นยังเห็นว่า การควบคุมอารมณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเปิดโอกาสให้คนใจร้อน วู่วามหรือไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีพอ เข้าไปพึ่งพากฎหมายได้ง่ายเกินไปน่าจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี    บางครั้งแค่หลบไปนั่งสงบสติอารมณ์ซัก  ๒-๓ วันหรือไปปรึกษาหารือพ่อแม่ญาติพี่น้องเพื่อขอคำแนะนำหรือช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้เรื่องก็จบ   การตัดสินใจเดินไปหาตำรวจแทนที่จะช่วยทำให้เรื่องราวจบลงด้วยดี อาจลุกลามบานปลายใหญ่โตกลายเป็นข่าวอื้อฉาวและอาจมีคดีอื่นตามมาหรือถึงขั้นต้องหย่าร้างกันไปเลยก็เป็นได้ ซึ่งคนที่ต้องรับเคราะห์กรรมหนักที่สุดก็คือลูกและผลที่สุดก็จะกลายเป็นปัญหาให้กับสังคมต่อไป  จากประสบการณ์ในการทำงานของผู้เขียนที่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยซึ่งเป็นเด็ก เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการทำคำพิพากษาพบว่า กว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์จำเลยมีปัญหาครอบครัวพ่อแม่หย่าร้างกันทั้งนั้น
         ๓. การแก้ไขถ้อยคำในมาตรา  ๒๗๗ วรรคแรก ที่ว่า  ผู้ใดกระทำชำเราเด็กหญิง  เป็น ผู้ใดกระทำชำเราเด็ก ก่อให้เกิดผลตามมาคือ ต่อไปหากเด็กหญิงและเด็กชายที่มีอายุไม่เกิน  ๑๕  ปี  สมัครใจใช้อวัยวะเพศของตนสัมผัสกับอวัยวะเพศ ปากหรือทวารหนักของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อสนองความใคร่ซึ่งกันและกันไม่เพียงแต่เด็กชายเท่านั้นที่มีความผิด  เด็กหญิงนั้นก็มีความผิดฐานกระทำชำเราเด็กชายด้วย   นอกจากนั้น กรณีเด็กชายอายุไม่เกิน  ๑๕   ปี กับหญิงอายุเกิน ๑๕ ปี (แม้แต่เพียงวันเดียว )หากสมัครใจกระทำการใด ๆต่อกัน  อันอยู่ในขอบเขตความหมายของคำว่า กระทำชำเราแล้ว ฝ่ายหญิงย่อมเป็นคนผิด ขณะที่เด็กชายไม่ผิดแต่อย่างใด[2]   ผลกฎหมายออกมาเช่นนี้  ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างประหลาด  เพราะเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเรานั้นโดยหลักเราต้องมุ่งคุ้ม ครองฝ่ายหญิงเป็นสำคัญดังเหตุผลที่กล่าวข้างต้น  การพยายามสร้างความเท่าเทียมกันหรือการไม่เลือกปฏิบัติระหว่างหญิงชายในกรณีเช่น นี้ แทนที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับเพศหญิงมากขึ้น  กลับกลายเป็นว่าไปทำร้ายเพศหญิงเสียมากกว่า
         จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าว  ผู้เขียนจึงขอตั้งคำถามกับสังคมไทยว่า การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา  ๓๐  วรรคสอง  บัญญัติไว้ว่า  ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน นั้น   ถือเป็นกฎมนุษย์ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือไม่  อย่างไร และสังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจความหมายของคำว่า สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง แค่ไหน  เพียงใด   หากมีคนตั้งคำถามว่าแล้ว หน้าที่ล่ะ  ทำไมไม่บัญญัติให้เท่าเทียมกัน  เราจะตอบเขาว่าอย่างไร  แล้วคนที่ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้ล่ะเราจะกำหนดสิทธิหน้าที่เขาอย่างไร   เราจะยอมให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้โดยเห็นว่าเป็นความประสงค์ของธรรมชาติที่ต้องการควบคุมไม่ให้มนุษย์โลกมีมากเกินไปจนขาดสมดุล หรือถือว่าเป็นเรื่องที่ขัดกับกฎธรรมชาติ เพราะอาจทำให้มนุษย์สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ได้   และประการสุดท้ายจะเป็นการดีกว่าหรือไม่  หากเราจะแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐ วรรคสอง เป็นว่า  ชายหญิงมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกัน ภายใต้เงื่อนไขกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติอันถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรม และแก้ไขวรรคสี่ตามความเห็นของท่านศาตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นว่า มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลอื่นหรือความปรองดองและความสงบสุขในครอบครัวระหว่างสามีภรรยา ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม[3]
         ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอเชิญชวนผู้อ่านทดลองนำหลักกฎหมายอื่นๆมาปรับวิเคราะห์ดูว่า มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือไม่ อย่างไร หรืออาจนำเรื่องง่าย ๆที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายมาคิดวิเคราะห์ดูเล่น ๆก็ได้  เช่น  การกิน อยู่ หลับ นอน  การแต่งตัว หรือแม้แต่การหายใจเข้าออก[4] แล้วท่านจะพบว่าแท้จริงแล้ว ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นกับตัวเราและสังคมนั้น  มีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจหรือไม่สนใจและการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาตินั่นเอง อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะฝากไว้เป็นแง่คิดก็คือ ผู้เขียนเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญโดยนำเรื่องการเมือง อำนาจ และผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายมาเป็นตัวตั้งเพื่อเจรจาต่อรองกันนั้น โอกาสที่จะทำให้เกิดการทะเลาะขัดแย้งกันย่อมมีอยู่สูงยิ่ง เพราะเป็นกระบวนการที่มีพื้นฐานแนวคิดเพื่อสนองกิเลสตัณหาหรือความอยากมีอยากได้ของมนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้  อย่างมากที่สุดก็อาจจะใช้วิธีประนีประนอมโดยพบกันครึ่งทางดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วหลายครั้งหลายหน  แต่ปัญหาก็จะยังคงคาราคาซังและหมักหมมอยู่เพื่อรอวันประทุต่อไป   แต่หากเราร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบแนวคิดกฎธรรมชาติ-กฎมนุษย์ แล้ว  ผู้ เขียนเชื่อว่าจะเป็นการถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่ปัญญาอย่างแท้จริง เพราะทุกฝ่ายจะพูดกันด้วยเหตุด้วยผลไม่แยกพวกแยกหมู่ มุ่งสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันคือ เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของทุกคน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนใดหรือกลุ่ม
ใดกลุ่มหนึ่ง   และที่สำคัญผู้เขียนเชื่อว่าหลักการแนวคิดดังกล่าวจะเป็นหนทางในการที่จะนำพาสังคมก้าวเดินไปสู่สังคมในฝันที่เรียกว่า ยุคพระศรีอารยะเมตไตรนั่นเอง./



[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับลงวันที่  ๑๐    ธันวาคม  ๒๕๕๑      
[2] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า  ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท...
[3] ธานินทร์ กรัยวิเชียร, “เหตุผลในกฎหมาย”, หนังสือที่ระลึกครบรอบ ๗๒ ปี โสภณ รัตนากร, ๒๕๔๖, หน้า ๖๔.
[4] มีผู้รู้อธิบายว่า หลักการหายใจที่ถูกต้อง คือ  ต้องหายใจช้า ลึก ยาวและหายใจเข้าท้อง คือ หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องยุบ ซึ่งมีวิธีการฝึก คือ นอนหงาย วางมือหนึ่งไว้บนออก อีกมือหนึ่งวางบนสะดือ หายใจช้า ลึก ยาว ให้ท้องป่องขึ้น โดยหน้าอกยังไม่ยก  เมื่อท้องป่องเต็มที่จึงหายใจเพิ่มเข้าสู่ระดับอกตาม เมื่อหายใจออกค่อย ๆลดลมหายใจจากหน้าอกให้แฟบลง แล้วไล่ลงมาจนท้องแฟบ ทำซ้ำอย่างนี้จนจับลักษณะการหายใจได้.
                                                                  ------------------------------------------------
       “...เรื่อง สิทธิ  เรื่องการพิทักษ์ผลประโยชน์ส่วนตัวนี้ เป็นของจำเป็น  แต่ต้องรู้ด้วยว่า  มนุษย์เราไม่ได้อยู่แค่รักษาสิทธิ์ มนุษย์เราเป็นสัตว์ประเสริฐ  เหนือความเป็นผู้รักษาสิทธิ์และปกป้องตัวเอง ก็คือ  มนุษย์สามารถพัฒนาตัวขึ้นไปอีก   ให้เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นด้วย  เมื่อไรพ่อแม่เอาแต่รักษาสิทธิ์กับลูก  เมื่อนั้นลูกก็แย่ ลองสิ คุณแม่อยู่กับลูก ถ้าต่างฝ่ายก็ตั้งหน้าพิทักษ์ปกป้องเรียกร้องสิทธิ์ของตัว  ครอบครัวก็ยุ่งแน่ ๆ...
         ในด้านหนึ่ง เราอาจจะพูดว่า  สังคมอะไรกัน แม้แต่สิทธิพื้นฐานของคนก็ยังไม่ดูแลรักษา  แสดงว่าเป็นสังคมที่อ่อนด้อยอย่างยิ่ง  ขาดวัฒนธรรม ไม่มีอารยธรรมเสียเลย  แต่อีกด้านหนึ่ง  เราก็อาจจะพูดย้อนเติมให้สมบูรณ์ว่า  สังคมอะไรกันนี่  อยู่กันได้แค่จะคอยพิทักษ์รักษาและเรียกร้องสิทธิเท่านั้นเองหรือ จะเป็นสังคมที่ดีงามพัฒนาอารยธรรมแท้จริงที่มนุษย์อยู่อย่างเกื้อกูลกันไม่ได้หรือ...
                                                        พระพรหมคุณาภรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น