1/06/2555

ท่าทีต่อกฎหมายของมนุษย์


ท่าทีต่อกฎหมายของมนุษย์ [1]

         เนื่องจากขณะนี้สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับร่างประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง “หลักเกณฑ์การดำเนิน การของรัฐในการสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันอย่างกว้างขวาง จึงขอถือโอกาสนี้นำแนวคิดตามหลักการ นิติศาสตร์แนวพุทธ ในอีกแง่มุมหนึ่งมาปรับวิเคราะห์กับปัญหาในเรื่องดังกล่าวดู จะถูกจะผิดจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ขอท่านผู้อ่านได้โปรดช่วยกันวิเคราะห์วิจารณ์ไปพร้อมกันเลยนะครับ
         ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์บอกว่า มนุษย์จะมีท่าทีต่อกฎหมายต่างกันเป็น ๓  ระดับ  คือ  [2]
         ท่าทีที่หนึ่ง    มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับ 
         ถือว่าเป็นความรู้สึกต่อกฎหมายในระดับที่ต่ำที่สุด หากสังคมใดมีมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกว่ากฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายในสังคมเป็นเครื่องบังคับแล้ว  กฎหมายหรือสังคมนั้นก็จะไม่ยั่งยืน
         ท่าทีที่สอง   มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องฝึกตน  
          เป็นท่าทีแบบพระพุทธศาสนาที่มองว่า กฎเกณฑ์กติกาที่สร้างขึ้นมา มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสภาพเอื้อในสังคม ที่จะเปิดโอกาสให้มนุษย์พัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีงาม  เพราะฉะนั้นคนจะมองว่ากฎเกณฑ์กติกาเป็นเครื่องฝึกตน  ดังที่เรียกว่า “สิกขาบท” คือเป็นข้อฝึกหรือข้อเรียนรู้ที่จะเอามาปฏิบัติด้วยจิตใจที่รู้สึกว่าจะฝึกตัวเองเพื่อก่อให้เกิดผลอันดีงาม  อันจะยังประโยชน์ต่อตัวมนุษย์ผู้ปฏิบัติเองและสังคมโดยส่วนรวมต่อไป
         ท่าทีที่สาม  มองว่ากฎหมายเป็นเพียงข้อหมายรู้ร่วมกัน  
         เป็นท่าทีของสังคมมนุษย์ที่มีการพัฒนาทางจิตใจและปัญญาในขั้นสูง  โดยมนุษย์จะเข้าใจว่ากฎเกณฑ์กติกาของสังคมนั้นมนุษย์วางขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อจะให้อยู่ร่วมกันด้วยดีและจะได้มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตที่ดีงามอย่างที่เราต้องการและอย่างที่มันควรจะเป็น  เพราะ ฉะนั้นกติกาเหล่านี้จึงเป็นเพียงเครื่องหมายให้รู้ว่าเราควรจะอยู่ร่วมกันอย่างไรเท่านั้นเอง 
         ท่านเจ้าคุณได้อธิบายขยายความอีกว่าปัญหาของสังคมที่ยังไม่พัฒนาเกิดจากการที่มนุษย์ส่วนใหญ่ในสังคมยังมองว่า กฎหมายเป็นเพียงเครื่องบังคับไม่ใช่เครื่องฝึกตนหรือข้อหมายรู้ร่วมกันซึ่งมีสาเหตุสำคัญอยู่    ประการ   คือ
         ประการแรก  แสดงว่ามนุษย์ยังไม่มีการศึกษา  
         ประการที่สอง แสดงว่ามีกฎหมายที่เป็นเครื่องบังคับเขาจริงคือ กฎหมายไม่เป็นธรรมนั่นเอง    
         ปัญหาก็คือว่า เราจะรู้ได้อย่างไร เราจะเอากฎเกณฑ์กติกาอะไรมาตัดสินว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากกฎหมายไม่เป็นธรรมหรือเกิดจากประชาชนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่มีการศึกษา ในเรื่องนี้  ผู้เขียนเห็นว่าก็คงต้องย้อนกลับไปพิจารณาในเรื่องของกฎธรรมชาติ และกฎมนุษย์ดังที่กล่าวไว้ในบทที่ ๑ กล่าวคือ ต้องใช้ปัญญาในการพินิจพิจารณาให้ได้ก่อนว่า เรื่องนั้น ๆมีกฎธรรมชาติว่าอย่างไร ผลอันแท้จริงตามกฎธรรมชาติที่มนุษย์ต้องการคืออะไร  จากนั้นก็ไปพิจารณากฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาว่ามีความสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือไม่อย่างไร หากสอดคล้องส่งเสริมเกื้อหนุนกันย่อมแสดงว่า  กฎหมายนั้นมีความถูกต้องชอบธรรมแล้ว  แต่หากขัดแย้งกันก็แสดงว่า   กฎหมายนั้นไม่น่าจะเป็นธรรม   
         หลักคิดดังกล่าวนั้นฟังดูเหมือนง่ายแต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากมากที่จะพิจารณากัน  ต้องอาศัยบุคคลที่มีปัญญาอันสูงส่งอย่างแท้จริงที่จะสามารถมองเห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่ากฎธรรมชาติในแต่ละเรื่องเป็นอย่างไรและจะบัญญัติกฎมนุษย์หรือกฎหมายอย่างไรให้เหมาะสมหรือสอดคล้องกลมกลืนกับกฎธรรมชาติได้   แต่ผู้เขียนก็มั่นใจว่าหากเรามีความคิดความเข้าใจที่ถูกต้องและมีอุดมการณ์ มีจิตใจที่แน่วแน่มั่นคงอย่างแท้จริงแล้ว ก็คงไม่มีอะไรที่จะเกินขีดความ สามารถของมนุษย์ไปได้ เพราะในทางพระพุทธศาสนามองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐที่แตกต่างจากสัตว์โลกทั่วไป ไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัญชาติญาณเพียงอย่างเดียว  อีกทั้งยังมองว่ามนุษย์มีปัญญาสามารถฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้และที่สำคัญธรรมชาติได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดให้แก่มนุษย์เราเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาเรียนรู้นั่นก็คือ สมอง” นั่นเอง
         อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านเจ้าคุณได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ คือ  ท่านมองว่าแนวทางในการบัญญัติกฎหมายในสังคมมนุษย์มี    แนวทาง  คือ
         ประการแรก  ในระบบสังคมที่การปกครองเป็นจุดหมายในตัว  คือ  การปกครองเพื่อให้สังคมสงบเรียบร้อยก็จะเป็นการปกครองด้วยอำนาจหรือเน้นการใช้อำนาจ  กฎหมายก็จะมุ่งบังคับและควบคุมโดยเน้นการกำจัดคนชั่ว ด้วยการลงโทษคนทำความผิด
         ประการที่สอง ในระบบสังคมที่ถือคติว่าการปกครองเป็นการสร้างสังคมที่ดีขึ้นมา เพื่อเป็นสภาพที่เอื้อให้มนุษย์ได้พัฒนาตนเข้าสู่ชีวิตที่ดีงาม   การบัญญัติกฎหมายก็จะเน้นการศึกษา เน้นการสร้างและส่งเสริมคนดีมากกว่าการพยายามกำจัดคนชั่ว
         อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วสังคมในขณะหนึ่ง ๆย่อมมีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันหลากหลาย ดังนั้นการปกครองและกฎหมายจึงต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้านพร้อม ๆกันไป คือ ทั้งส่งเสริมคนดีและกำราบคนร้าย  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีจุดเน้นที่การสร้างและส่งเสริมคนดีเป็นสำคัญ เพราะวิถีทางนี้เป็นแนวทางที่สร้างสรรค์เป็นแนวทางที่มุ่งพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าไปสู่ความดีงามยิ่ง ๆขึ้นไป [3] 
         จากแนวทางความเห็นของท่านเจ้าคุณดังกล่าว หากนำไปเปรียบ เทียบกับแนวคิดของปราชญ์เมธีตะวันตกก็จะเห็นได้ว่า ท่าทีของมนุษย์ที่มีต่อกฎหมายตามท่าทีที่หนึ่งคือ มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับนั้น  น่าจะตรงกับแนวคิดของปราชญ์ในกลุ่มที่มองว่า มนุษย์เกิดมาไม่ดีโดยธรรมชาติ  ตัวอย่างเช่น
        อริสโตเติล อธิบายเรื่องการปกครองภายใต้กฎหมายไว้ในหนังสือ Politics ว่า การให้อำนาจแก่กฎหมายเสมือนหนึ่งเป็นการให้อำนาจแก่พระผู้เป็นเจ้าหรือตัวเหตุผลหรือแก่ธรรมะ แต่การให้อำนาจแก่บุคคลเป็นการให้อำนาจแก่สัตว์เดียรัจฉาน เพราะความปรารถนาของคนนั้นมีลักษณะเดียรัจฉาน แม้คนที่ดีที่สุดที่อยู่ในอำนาจก็มักเสียคนเพราะกิเลสตัณหา [4]
         โทมัส ออปส์ อธิบายว่า มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติมีลักษณะเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือ มีธรรมชาติที่เห็นแก่ตัวเลวและโหดร้าย ด้วยเหตุนี้ ในภาวะธรรมชาติของมนุษย์จึงตกอยู่ในภาวะที่เกลียด กลัว และไม่
ไว้ใจซึ่งกันและกัน ทุกคนต่างอยู่ในภาวะที่ทำสงครามต่อสู้เข่นฆ่ากันอยู่ตลอดเวลา ในภาวะธรรมชาติเช่นนี้จึงไม่มีหลักความผิด-ถูก ชั่ว-ดี ไม่มีศีลธรรม ไม่มีกฎหมาย[5]
         มาเคียเวลลี อธิบายว่า  มนุษย์ทุกคนมีลักษณะเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน และไม่มีใครที่จะรักษาสัจจะกับใคร มนุษย์จะทำดีก็ต่อเมื่อถูกบังคับมิฉะนั้นมนุษย์ก็จะทำชั่วอย่างเลี่ยงไม่พ้น ดังนั้น การจะตั้งตนเป็นใหญ่รวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นได้นั้น ไม่อาจทำได้ด้วยการอาศัยหลักธรรม โดยที่การมีอำนาจทางการเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้ช่วงชิงและการเอาชนะผู้อื่น ผู้ที่ประสงค์จะได้มาซึ่งอำนาจหรือต้องการรักษาอำนาจให้มั่นคง จึงไม่ควรผูกพันตนไว้กับหลักศีลธรรม มโนธรรม พระผู้เป็นเจ้าหรือกฎหมายธรรมชาติ [6]      
           หรือแม้กระทั่ง มงเตสกิเออ ซึ่งเป็นเจ้าของทฤษฎี หลักการแบ่งแยกอำนาจ (separation of power) ที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบการเมืองปกครองของประเทศทั้งหลายในโลกมาจนถึงยุคปัจจุบัน ก็ดูเหมือนจะมีความเห็นค่อนไปในทางที่ไม่ไว้ใจพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ  ตัวอย่างเช่น คำกล่าวที่ว่า มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม  ย่อมมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ไปในทางที่ผิดและจะใช้มันไปจนสุดขอบเขตที่จะใช้ได้  ด้วยเหตุนี้เองแม้แต่สิ่งดีงามทั้งหลายก็ยังจำเป็นต้องมีขอบเขตของมันเช่นกัน และการที่จะป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด  จำเป็นที่จะต้องมีการจัดระเบียบในเรื่องนี้โดยให้อำนาจหนึ่งยับยั้งอีกอำนาจหนึ่ง 
          นอกจากนั้น  มงเตสกิเออ ยังชี้ให้เห็นในหนังสือเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย เล่ม ๑๑ บทที่ ๖ ซึ่งเป็นข้อความที่มีการอ้างอิงกันอย่างกว้างขวางเมื่อมีการกล่าวถึงแนวความคิดของเขา  ซึ่งมีใจความว่า    ในแต่ละรัฐย่อมมีอำนาจ    แบบด้วยกัน กล่าวคือ อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ หากมีการรวมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารอยู่ในบุคคลคนเดียวหรือองค์กรใช้อำนาจรัฐระดับสูงเพียงองค์กรเดียวแล้ว  เสรีภาพย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้  เนื่องจากย่อมเป็นที่เกรงกันว่ากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวนั้นหรือสภาซีเนทเพียงสภาเดียวนั้น จะออกกฎหมายทรราชเพื่อใช้บังคับมันแบบทรราช นอกจากนี้แล้ว เสรีภาพก็ไม่อาจจะเกิดได้เช่นกัน  หากมิได้มีการแยกอำนาจตุลาการออกมาจากอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร  หากตุลาการรวมอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติก็จะทำให้อำนาจเหนือชีวิตและเสรีภาพของพลเมืองเป็นไปตามอำเภอใจเพราะตุลาการเป็นผู้ตรากฎหมายเสียเอง  หากตุลาการเป็นพวกเดียวกับฝ่ายบริหารก็จะทำให้ตุลาการมีอำนาจแบบผู้กดขี่  ทุกอย่างย่อมสูญเสียไปหากมนุษย์คนเดียวกันหรือองค์กรเดียวกันของผู้ถืออำนาจหรือของขุนนางหรือแม้กระทั่งของประชาชนสามารถใช้อำนาจทั้งสามประการนี้ได้ กล่าวคือ มีอำนาจที่จะตรากฎหมาย  ดำเนินการให้เป็นไปตามมติสาธารณะและตัดสินคดีอาชญากรรมหรือความขัดแย้งระหว่างปัจเจกบุคคล” [7]
          ขณะที่ท่าทีของมนุษย์ที่มีต่อกฎหมายตามท่าทีที่สองและที่สาม คือมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องฝึกตนและข้อหมายรู้ร่วมกันนั้น น่าจะตรงกับแนวคิดของปราชญ์ตะวันตกในกลุ่มที่มองว่า มนุษย์เกิดมาดีโดยธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น
         คำสอนของ สำนักสโตอิค ในสมัยกรีก  เรื่อง ลัทธิสากลนิยม (Cosmopolitanism) อธิบายว่า เมื่อโลกและจักรวาลล้วนแต่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันเดียวกันและมนุษย์ทุกผู้ทุกนามต่างก็ได้ประกายแห่งเหตุ ผลจากเหตุผลสากลมนุษย์ ทุกคนจึงเป็นสิ่งที่มีเหตุผลและรู้ศีลธรรมตนเอง รู้ผิดชอบชั่วดีเหมือน ๆกัน มีคุณภาพและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน[8]
         จอห์น ล็อค  อธิบายว่า สภาวะตามธรรมชาตินั้น เป็นสภาวะแห่งสันติภาพและความเสมอภาคและในสภาวะตามธรรมชาตินี้มนุษย์ทุกคนก็รู้จักกฎหมายธรรมชาติ อันเป็นสิ่งที่สอนให้มนุษย์รู้จักเคารพความเสมอภาคและความเป็นอิสระต่อกัน รู้ว่าแต่ละคนไม่ควรจะล่วงละเมิดชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สินของกันและกัน [9]
        ฌอง ชัค รุสโซ อธิบายว่า  คนเราตามสภาพธรรมชาติดั้งเดิมนั้นมีความดีความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไม่เป็นคนเอารัดเอาเปรียบ มีจิตใจสูง โอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัว คนในสภาพธรรมชาตินั้นดำรงชีวิตอยู่โดยประพฤติตนสอดคล้องกับธรรมชาติ [10]
         ผลจากแนวคิดทฤษฎีที่แตกต่างกันดังกล่าว ก่อให้เกิดหลักการแนวคิดในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ๒ รูปแบบ กล่าวคือ  กลุ่มที่มองว่า มนุษย์เกิดมาไม่ดีโดยธรรมชาติ จะมีแนวคิดไปในทางที่ว่าต้องควบคุมมนุษย์อย่างใกล้ชิดด้วยการบังคับให้ปฏิบัติตามกฎ  ระเบียบ  ข้อบังคับที่วางไว้อย่างเคร่งครัดและคอยติดตามตรวจสอบพฤติกรรมอยู่ตลอด เวลา ในมุมมองเช่นนี้ มนุษย์จึงมีคุณค่าเสมือนเป็นเพียงเครื่องจักรตัวหนึ่งเท่านั้น  ส่วนกลุ่มที่มองว่ามนุษย์เกิดมาดีโดยธรรมชาตินั้น จะยกย่องให้เกียรติมนุษย์ทุกคน พยายามสร้างบรรยากาศหรือสภาวะแวด ล้อมในสังคมให้มนุษย์มีความเจริญเติบโตทางจิตใจ มีความพึงพอใจกับงาน ได้รับการยอมรับ มีส่วนร่วม มีความรับผิดชอบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  มีความผูกพัน มีความเสียสละ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อมนุษย์จะได้เดินไปสู่เป้าหมายของชีวิตในวิถีทางที่ดีงามยิ่ง ๆขึ้นไป [11] 
         คำถามก็คือว่า แล้วสังคมไทยมองกฎหมายในท่าทีแบบไหน หากพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐  ซึ่งมีการสร้างองค์กรต่าง ๆขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการตรวจสอบซึ่งกันและกันมากมายและพิจารณาถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากการพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย การพยายามแทรกแซงกลไกการตรวจสอบขององค์กรต่างๆอย่างกว้าง ขวางแล้ว  ก็คงพอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่าในภาพรวมแล้วสังคมไทยน่าจะมีท่าทีต่อกฎหมายในระดับที่เรียกว่า มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับเท่านั้น ซึ่งท่าทีแบบนี้ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพระพรหมคุณาภรณ์ได้กล่าวไว้ว่า ในท้ายที่สุดกฎเกณฑ์กติกานั้นก็จะไม่ยั่งยืน   เหตุการณ์ในวันที่  ๑๙ กันยายน  ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา ย่อมเป็นเครื่องยืนยันถึงความเห็นของท่านเจ้าคุณได้เป็นอย่างดี 
         กล่าวเฉพาะประเด็นปัญหาเกี่ยวกับประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งเป็นตุ๊กตาเพื่อนำมาวิเคราะห์ตามหลักการแนวคิดของ  “นิติศาสตร์แนวพุทธ” ดังกล่าวไว้แต่แรกนั้น   มาถึงตรงนี้  ผู้เขียนเชื่อว่า  ผู้อ่านก็คงจะได้รับคำตอบอย่างไม่ต้องลังเลสงสัยใด ๆเลยว่าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมองกฎเกณฑ์กติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างไร ในระดับไหน  จากเนื้อหาสาระตามร่างประกาศฯและ จากท่าทีของฝ่ายต่างๆที่แสดงความคิดความเห็นผ่านสื่อสารมวลชน แขนงต่าง ๆในขณะนี้จะเห็นได้ว่า  เนื้อหาสาระตามร่างฯส่อแสดงให้เห็นว่าผู้ออกกฎหมายเน้นการใช้อำนาจ  เน้นการมุ่งบังคับควบคุมและเน้นการกำจัดคนชั่ว   ขณะที่ฝ่ายผู้ปฏิบัติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมองว่า   ตนเองกำลังถูกบีบบังคับให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ได้มองว่า  กฎหมายเป็นเครื่องฝึกตนหรือเป็นเพียงข้อหมายรู้ร่วมกัน ในสภาพ การณ์เช่นนี้ผู้อ่านก็คงคาดเดาได้ไม่ยากอีกเช่นกันว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมาย ระหว่างการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับการพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือปรากฏการณ์อารยะขัดขืน     และอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวกฎหมายในอนาคตระหว่างความคงอยู่ของกฎหมายอย่างยาวนานกับความไม่ยั่งยืนของกฎหมาย  
         ท้ายที่สุดนี้   ผู้เขียนขอฝากท่านผู้อ่านช่วยกันคิด  ช่วยกันวิเคราะห์ต่อว่ากฎธรรมชาติที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงหรือเป็นพื้นฐานของคำว่า  ประชาธิปไตย มีว่าอย่างไร  ผลอันแท้จริงตามกฎธรรมชาติที่มนุษย์ต้องการในการอยู่ร่วมกันในสังคมคืออะไร และกฎเกณฑ์กติกาทั้ง หลายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว   ซึ่งมนุษย์คนไทยได้บัญญัติขึ้นมานั้นมีความสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือไม่ อย่างไร หากไม่สอดคล้องมันควรจะเป็นอย่างไร และขอได้โปรดช่วยกันวิเคราะห์อีกว่าเหตุที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมองกฎหมายในลักษณะเป็นเครื่องบังคับนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร  เกิดจากกฎหมายไม่เป็นธรรมหรือเกิดจากคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอหรือเกิดจากทั้งสองอย่าง  แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร หากท่านสามารถคิดออกได้ นั่นย่อมแสดงว่าท่านเป็นบุคคลที่มีปัญญาอันสูงส่ง อันจะเป็นที่พึ่งที่หวังของคนไทยทั้งชาติและจะเป็นปราชญ์เมธีคนสำคัญคนหนึ่งของโลกในอนาคตอย่างแน่นอน./



[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับลงวันที่   ๓ มกราคม  ๒๕๕๑
[2]  พระพรหมคุณาภรณ์ , “นิติศาสตร์แนวพุทธ”, รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย (กรุงเทพฯ : วิญญูชน ,๒๕๔๘) ,หน้า ๗๔.
[3] เรื่องเดียวกัน , หน้า ๙๐.
[4] สมยศ  เชื้อไทย, นิติปรัชญาเบื้องต้น, พิมพ์ครั้ง ๙ (กรุงเทพฯ:วิญญูชน, ๒๕๔๘), หน้า ๘๑.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๒๖.
[6] ปรีดี เกษมทรัพย์, นิติปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ ๗ (กรุงเทพฯ:คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘), หน้า ๑๖๗.
[7] บุญศรี  มีวงศ์อุโฆษ, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ:โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๕๕๑), หน้า ๔๓๐-๔๓๑.
[8] ปรีดี เกษมทรัพย์, นิติปรัชญา, หน้า  ๑๒๓.
[9]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๐๘.
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๑๗.
[11] อุทัย  เลาหวิเชียร, “มนุษยนิยม ประชาธิปไตย และการพัฒนาองค์กร” , เอกสารการสอนชุดวิชา การบริหารและการพัฒนาองค์การ  มหาวิทยาลัยสุโขทัย  ธรรมาธิราช หน่วยที่  ,หน้า  ๑๐๔.
                                           --------------------------------
กฎหมายธรรมชาติ คือ บัญชาของเหตุผลอันถูกต้องที่ชี้ว่าการกระทำอันหนึ่งว่ามีความต่ำทรามในทางศีลธรรมหรือมีความจำเป็นในทางศีลธรรม ทั้งนี้โดยพิจาณาว่า คุณภาพของการกระทำนั้นเป็นไปตามธรรมชาติหรือขัดแย้งกับธรรมชาติที่มีเหตุผลของมนุษย์”                    
                                                                             ฮูโก โกรเชียส
                                                                      นักกฎหมายและนักปราชญ์ชาวดัตซ์

         “...ถ้าปกครองประชาชนด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ และรักษาระเบียบด้วยการลงโทษ ประชาชนจะหลบหนีท่านและสูญเสียความเคารพในตนเอง แต่ถ้าปกครองด้วยพลังจริยธรรมและรักษาระเบียบด้วยพิธีกรรม ประชาชนจะสามารถรักษาความเคารพในตนเองและมาหาท่านด้วยใจอิสระ...
                                             ขงจื๊อ
                                                นักปราชญ์จีน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น