1/06/2555

การเมืองใหม่


   การเมืองใหม่ [1]
                                                   โดย ... โสต  สุตานันท์

         นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕  เป็นต้นมา  สังคมไทยประสบกับเหตุการณ์ที่เรียกว่า วงจรอุบาศก์ มาโดยตลอด  กล่าวคือ หลังประชาชนเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาแล้ว   เหล่านักการเมืองที่ได้รับเลือกทั้งหลายซึ่งส่วนใหญ่มักจะถูกข้อครหานินทาหรือเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยจากสังคมว่าได้รับเลือกเข้าไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ อย่างไร  ก็จะพยายามใช้กลยุทธ์กลวิธีทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เสียงส่วนใหญ่ในการจัดตั้งรัฐบาล  มีการชิงไหวชิงพริบ เจรจาต่อรอง  แลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือแม้กระทั่งหักหลัง ให้ร้ายป้ายสี ทำลายล้างกัน เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่างูเห่าไปแล้วก็หลายครั้ง โดยไม่สนใจใยดีความรู้สึกของประชาชน   
         หลังจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว  ก็จะมีการบริหารราชการแผ่นดินไปซักระยะหนึ่ง  จากนั้น ก็จะเริ่มมีข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นในกระทรวงต่าง ๆเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ   ต่อมาก็จะเกิดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆในสังคมอย่างรุนแรง  ท้ายที่สุดทหารก็จะอดทนรนไม่ไหวหรือใช้เป็นเหตุผลข้ออ้างเข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล  แต่เมื่อยึดอำนาจได้แล้วทหารก็ไม่สามารถรักษาอำนาจและปกครองบ้านเมืองต่อไปได้   เนื่องจากจะถูกกระแสสังคมทั้งจากภายในและนอกประเทศกดดันให้คืนอำนาจแก่ประชาชน  โดยเฉพาะกระแสที่เกิดขึ้นจากคำว่า ประชาธิปไตย ในที่สุดทหารก็จำต้องปล่อยอำนาจออกจากมือ ยอมให้มีการเลือกตั้งกันใหม่   
         แต่ก็ปรากฏว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นหนังเรื่องเดิม   ประชาชนยังคิดเหมือนเดิม  นักการเมืองยังทำเหมือนเดิม  ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ได้ตัวแทนแบบเดิม ๆ รูปแบบแนวทางในการพยายามรวบรวมเสียงส่วนใหญ่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลก็ยังเป็นแบบเดิม  หลังจากนั้น ก็จะมีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นเหมือนเดิมและท้ายที่สุดทหารก็ยังคิดแก้ไขปัญหาด้วยการรัฐประหารเหมือนเดิม  เป็นวงจร     อุบาศก์อย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าและไม่มีหลักประกันอะไรที่จะยืนยันได้ว่าในอนาคตจะไม่เกิดขึ้นอีก
         จากสภาพปัญหาดังที่กล่าวมา  ส่งผลทำให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามกันมากขึ้นเป็นลำดับว่าการเมืองแบบเดิม ๆจะนำพาประเทศเราก้าวลงสู่หุบเหวหายนะและถลำลึกลงไปเรื่อย ๆหรือไม่  จนกระทั่งปัจจุบันได้เกิดวาทกรรมที่เรียกว่า  การเมืองใหม่ ขึ้นมาเพื่อเป็นโจทย์ให้ผู้คนในสังคมได้ขบคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการเมืองของประเทศใหม่ให้ก้าวพ้นจากการเมืองแบบเดิม ๆกันเสียที  
         โอกาสนี้   ผู้เขียนใคร่ขอร่วมวงเสวนาด้วยการนำคำว่า การเมืองใหม่  มาถกเถียงวิเคราะห์วิจารณ์และแลกเปลี่ยนความเห็นกับท่านผู้อ่านโดยยึดหลักปรัชญาแนวคิด นิติศาสตร์แนวพุทธ  เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ปัญหาและนำเสนอความเห็น  ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ 
         หากพิจารณาแนวคิดในเรื่องของ กฎธรรมชาติ และ กฎมนุษย์ ดังที่กล่าวไปแล้วในบทที่ ๑  แนวทางในการแก้ไขปัญหาน่าจะได้แก่ อันดับแรก  เราต้องพยายามจัดสร้างระบบกฎเกณฑ์ของมนุษย์   ให้สอดคล้องสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกลมกลืนกับระบบกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติก่อน   จากนั้นก็จัดระบบในการให้การศึกษาแก่มนุษย์ในสังคมเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์อย่างถูกต้องแท้จริง
         ปัญหาก็คือว่าในการสร้างกฎมนุษย์นั้นต้องอาศัยมนุษย์ด้วยกันเองเป็นคนสร้าง   ในความเป็นจริงคงไม่สามารถไปหาจดจารได้ที่กำแพงสวรรค์  บนแผ่นฟ้าหรือดาวดวงใดในจักรวาล  หากสังคมใด  ไม่มีมนุษย์ที่มีสติปัญญาอันเฉียบแหลม  มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งทะลุปรุโปร่งในกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ และมีความสามารถอย่างสูงส่งในการที่จะคิดจัดตั้งวางกฎมนุษย์ให้ประสานสอดคล้องกับความจริงแท้แห่งกฎธรรมชาติแล้ว  เป้าหมายที่ต้องการก็คงเป็นเรื่องเพ้อฝันลม ๆแล้ง ๆเท่านั้น  
         คำถามก็คือว่า  แล้วสังคมไทยมีคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวหรือไม่    ผู้เขียนเชื่อว่าต้องมีแน่นอน   ถึงไม่มีวันนี้วันหน้าก็ต้องมี  โดยหากเรามีความรู้ความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับกรอบความคิดในเรื่องของกฎธรรมชาติ – กฎมนุษย์ อย่างถูกต้องและมีอุดมการณ์ มีจิตใจที่แน่วแน่มั่นคงอย่างแท้จริงแล้ว   ก็คงไม่มีอะไรที่จะเกินขีดความสามารถของมนุษย์ไปได้   เพราะตามแนววิถีแห่งพุทธมองว่ามนุษย์มีระดับจิตใจและสติปัญญาที่แตกต่างจากสัตว์โลกทั่วไป  ไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัญชาติญาณเพียงอย่างเดียว   อีกทั้งยังมองว่ามนุษย์มีปัญญาสามารถฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้และที่สำคัญธรรมชาติได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดให้แก่มนุษย์เราเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาเรียนรู้  นั่นก็คือ สมอง นั่นเอง
         จากที่กล่าวมา   ผู้เขียนจึงขอเสนอจุดตั้งต้นสำหรับแนวคิดในการสร้าง การเมืองใหม่  ด้วยการเริ่มต้นที่การแก้ไขปรับปรุงกฎมนุษย์ที่เรียกว่า   รัฐธรรมนูญ  ให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ   ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้  คือ
         ๑.  ตั้งคณะทำงานขึ้นมา    ชุด ได้แก่   ชุดแรก  มาจากกลุ่มนัก วิชาการ  นักปฏิบัติ  หรือนักเคลื่อนไหวทั่วไปในสังคม จากทุกสาขาอาชีพ   ชุดที่สอง  มาจากนักคิดนักปราชญ์ นักปรัชญาหรือนักการศาสนาที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมอย่างกว้างขวาง    ชุดที่สาม มาจากกลุ่มนักกฎหมายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมหาชน 
         ๒.  คณะทำงานชุดแรกมีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆและเก็บรวบรวมข้อมูล   ข้อเท็จจริง  ปรากฏการณ์ หรือสภาพปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในสังคม   รวมทั้งสำรวจสอบถามความคิดความเห็น ของประชาชนคนไทยในแง่มุมต่าง ๆ  ฯลฯ  จากนั้น ให้นำเสนอข้อมูลและความคิด ความเห็นที่ได้ไปยังคณะทำงานชุดที่สอง  เพื่อทำการคิดวิเคราะห์ว่าประเด็นปัญหาในแต่ละเรื่องมีกฎธรรมชาติที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้างและควรจะสร้างกฎมนุษย์อย่างไรให้สอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนกับกฎธรรมชาติในเรื่องนั้น ๆต่อมาก็จะเป็นหน้าที่ของคณะทำงานชุดที่สาม ในการที่จะนำหลักการแนวคิดของคณะทำงานชุดที่สองไปร่างเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมา   ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ในด้านเทคนิคเท่านั้น โดยต้องใช้ศิลปะในการใช้ภาษาให้มีนัยความหมายอย่างถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์แห่งหลักการแนวคิดที่คณะทำงานชุดที่สองได้ให้ไว้ 
         ๓. นำร่างรัฐธรรมนูญออกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจ  รวมทั้งจัดเวทีให้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นระหว่างกันอย่างกว้างขวางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ทั้งในสภาและนอกสภา   จากนั้นก็นำความคิดความเห็นที่ได้รับการสะท้อนกลับมา   ไปประกอบการพิจารณาเพื่อทบทวนปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งและเมื่อเห็นว่าถูกต้องสมบูรณ์แล้วก็ให้นำเสนอประชาชนเพื่อลงประชามติ    หากประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบก็ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป 
         ๔.  หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้และนำไปสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นจริงแล้วย่อมแน่นอนว่า ปัญหาหลักที่จะตามมาก็คือ  
              ๔.๑  กฎมนุษย์บางข้ออาจไม่ถูกต้องหรือสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติอย่างที่เราคิด   อีกทั้งยังมีกฎธรรมชาติบัญญัติไว้ข้อหนึ่งว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน นอกจากการเปลี่ยนแปลง  ทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป  กฎมนุษย์จึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และสิ่งแวดแล้วที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย   ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องจัดตั้งวางระบบหรือกระบวนการในการ แก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญในอนาคตไว้อย่างถูกต้องเหมาะสม   ซึ่งโดยหลักการแล้วก็น่าจะมีรูปแบบวิธีการทำนองเดียวกันกับการร่างครั้งแรกดังกล่าวข้างต้น  อย่างไรก็ตาม หากประเด็นใดไม่ใช่เรื่องที่สำคัญอย่างแท้จริงก็อาจตัดขั้นตอนการลงประชามติออกไป โดยให้ทั้งสองสภาทำหน้าที่แทนก็ได้
              ๔.๒  ถึงแม้หลักการตามรัฐธรรมนูญจะมีความสัมพันธ์ สอดคล้องกับกฎธรรมชาติเป็นอย่างดี   แต่หากมนุษย์ยังขาดการศึกษา ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์ที่ดีพอ    ความวุ่นวายสับสนและปัญหาต่าง ๆย่อมเกิดขึ้นตามมาอีก   ดังนั้น   จึงต้องมีการปฏิรูประบบการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนอย่างขนานใหญ่ในทุกภาคส่วนของสังคมโดยเฉพาะในครอบครัวและโรงเรียน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการศึกษาเรียนรู้   หากเรามีการเริ่มต้นที่ดีก็เท่ากับว่าสำเร็จไปแล้วกึ่งหนึ่ง 
         อย่างไรก็ตาม  โดยที่ขณะนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของทั้งสองสภาในการที่จะพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  ๒๙๑ ดังนั้นในการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญตามแนวทางความเห็นข้างต้นก็คงจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวเสียก่อน   เพราะฉะนั้นก้าวแรกที่ต้องขยับก่อนจึงเป็นหน้าที่ของ ฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนก้าวต่อไปก็คงจะเป็นบทบาทของ ประชาภิวัฒน์
         ท้ายที่สุดนี้   ผู้เขียนขอฝากแง่คิดต่อสังคมไทยว่าโดยที่ปัญหาของสังคมโลกทุกวันนี้มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก อีกทั้งปัญหาหลายเรื่องในบ้านเมืองเราก็มีการสั่งสมหมักหมมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน   ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอนในการที่จะคิดแก้ไขปัญหากัน   บางครั้งบางเรื่องอาจต้องใช้เวลาพอสมควร   สังคมไทยจึงต้องมีความอดกลั้นอดทนเป็นอย่างสูง  โดยยึดถือคติที่ว่า  ความอดทนนั้นแม้จะเหนื่อยและหนัก   แต่ผลของมันย่อมหอมหวานเสมอ และที่สำคัญประชาชนคนไทยต้องหันหน้าเข้าหากัน  มีความรู้รักสามัคคี   ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ร่วมกันระดมมันสมองระดมสติปัญญา  เพื่อหาทางออกในการแก้ไขวิกฤตปัญหาให้กับบ้านเมือง
         นอกจากนั้นสังคมไทยต้องพยายามมองโลกในแง่บวก   โดยมองว่ามนุษย์ทุกคนมีปัญญา สามารถฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้  อีกทั้งต้องมองว่าคนไทยทุกคนเป็นเพื่อนร่วมทาง เป็นเพื่อนร่วมชีวิต  ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน  เราต้องรู้จักเสียสละ ให้อภัย    รู้จักเห็นอกเห็นใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากเราให้ได้ หากวันนี้เรายังมีทิฐิมานะ มีแต่ความโกรธความแค้น ความเกลียดชัง  แยกกลุ่มแยกฝ่าย โทษกันไปโทษกันมา มุ่งแต่จะคอยทำลายล้างเอาชนะคะคานกันแล้ว  ก็คงจะเป็นการพ้นวิสัยที่เราจะก้าวพ้นจากวิกฤตปัญหาไปสู่มิติใหม่ของสังคมที่เรียกว่า  การเมืองใหม่  ได้. /



[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับลงวันที่  ๒๓  กันยายน  ๒๕๕๑
                                                                --------------------------------------
           “...ถ้ารู้จักการเมืองอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้ว จะเห็นว่า การเมืองก็คือ ธรรมะ  ระบบธรรมะที่จะช่วยให้มนุษย์อยู่เป็นปกติสุข เป็นสายหนึ่ง แขนงหนึ่งของธรรมะทั้งหลาย  เดี๋ยวนี้ธรรมะชนิดนี้หรือการเมืองชนิดนี้มีไม่ได้ในโลก เพราะว่ามนุษย์มันตกเป็นทาสของวัตถุ คือ ความสุขทางเนื้อหนัง...
อย่าไปเข้าใจว่า การเมืองไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือการเมืองไม่เกี่ยวกับพุทธบริษัท  การเมืองที่ถูกต้องต้องเกี่ยวข้องกับทุกคน...
ถ้ามองอย่างละเอียดแล้ว พูดได้เลยว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นจอมโจกของนักการเมือง คือ จะจัดโลกให้มีความสงบสุข...” 
                                                                   พุทธทาสภิกขุ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น