1/06/2555

ธรรมาธิปไตย

ธรรมาธิปไตย   [1]
                                                                                                              โดย...โสต  สุตานันท์

         ปัญหาใหญ่สำคัญเรื่องหนึ่งของการเมืองไทยที่กำลังถกเถียงกันอยู่เวลานี้ คือ เราจะเดินไปข้างหน้ากันอย่างไร ฝ่ายหนึ่งบอกว่า หากมีการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบบเดิมเราก็จะได้ ส.ส. คณะรัฐมนตรีและมีปัญหาต่าง ๆมากมายเหมือนเดิม แล้วเราจะเลือกตั้งกันไปทำไม ซึ่งดูเหมือนจะสอดคล้องกับคำกล่าวของอัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์ ที่ว่า ความวิกลจริต หมายถึง การทำสิ่งเดิม ๆซ้ำไปซ้ำมา และหวังให้ผลมันเปลี่ยนไป ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกลับยืนยันหนักแน่นมั่นคงว่า หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตย  จะชั่วจะดีอย่างไรเราต้องเคารพเสียงของประชาชน
        บทความนี้ผู้เขียนคงไม่แสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับฝ่ายไหน อย่างไร แต่ขอนำแง่คิดมุมมองเรื่อง การเมือง” ในมิติตามหลักแห่งศาสนาพุทธมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่น้องร่วมชาติ  เผื่อว่าอาจจะมีส่วนช่วยนำพาให้สังคมไทยได้พบกับแสงสว่างทางปัญญาและสามารถก้าวฟันฝ่าพ้นวิกฤตปัญหาต่าง ๆไปได้บ้าง โดยขอหยิบยกแนวคิดความเห็นของปราชญ์ทางด้านศาสนาพุทธ ๒ ท่าน มาศึกษาอ้างอิง ดังนี้
        ท่านแรก คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้แสดงความเห็นไว้ดังปรากฏในหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” พอสรุปสาระสำคัญได้ว่า  การเมือง คือ การจัดการหรือจัดระเบียบปฏิบัติให้คนในสังคมอยู่อาศัยร่วมกันอย่างสงบสุข การเมืองมี ๒ ระบบเท่านั้น คือ การเมืองบริสุทธิ์  หมายถึง การเมืองที่มีความมุ่งหมายอันบริสุทธิ์ของธรรมชาติหรือ ธรรม ซึ่งมีอยู่ ๔ ความหมาย  คือ ตัวธรรมชาติหรือ สภาวธรรมกฎธรรมชาติหรือ สัจธรรมหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติเรียกว่า ปฏิปัตติธรรมและผลที่ได้รับจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติเรียกว่า ปฏิเวธธรรมดังนั้น การเมืองจึงมีความเกี่ยวพันกับธรรมในสี่ความหมายดังกล่าวอย่างสนิทแน่นแฟ้นแยกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่สามคือ การปฏิบัติตามกฎธรรมชาติซึ่งถือเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อยกเว้น หากไม่ปฏิบัติความสงบสุขย่อมเกิดขึ้นในสังคมไม่ได้ เปรียบเสมือนหน้าที่ในการกิน ถ่ายหรือนอนหลับ หากไม่ทำย่อมไม่อาจมีชีวิตอยู่รอด
        อีกระระบบหนึ่งเรียกว่า ระบบคดโกง หรือการเมืองของคนพาล มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือกลุ่มพวกของตนเป็นสำคัญและประโยชน์ที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ประโยชน์อันแท้จริง เพราะเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา เป็นเรื่องทางเนื้อหนัง กิน กาม เกียรติ เน้นความสุขทางวัตถุธรรมเป็นเป้าหมายสูงสุด คำว่า สันติภาพ ในความหมายของนักการเมืองระบบนี้ คือ โลกทั้งโลกอยู่ภายใต้อำนาจของเขา เมื่อเขาเป็นผู้ครองโลกโดยสมบูรณ์แล้วความสงบสุขก็จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะเมื่อต่างคนหรือต่างพวกก็ต่างคิดจะครองโลก แล้วสันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
        สำหรับระบบการเมืองที่เรียกชื่อกันต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นเผด็จการ  ราชาธิปไตย สังคมนิยมหรือประชาธิปไตยนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงวิธีการเท่านั้นไม่ใช่หัวใจหรืออุดมคติ  เพราะคนในโลกนี้อยู่ในที่ต่างกัน มีจิตใจต่างกัน ย่อมทำอะไรเหมือนกันไม่ได้ อีกทั้งวิธีการที่ใช้ต้องเหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไร หากประกอบด้วยธรรมแล้ว ย่อมสามารถแก้ไขปัญหาและทำให้สังคมมีความสงบสุขได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้เผด็จการเพราะดำรงพระองค์อยู่เหนือวินัยแต่ด้วยความรักความเมตตา ด้วยความเป็นธรรม  เผด็จการของพระองค์จึงสำเร็จประโยชน์  ในทางตรงข้ามหากไม่ประกอบด้วยธรรมวิธีการไหนก็ใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะวิธีการที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้น หากไม่ประกอบไปด้วยธรรมจะเลวร้ายที่สุด เพราะเปิดหมดต่างคนต่างใช้กิเลสยื้อแย่งกัน  ประชาธิปไตยจึงเหมาะสำหรับคนที่มีธรรมะ ถ้าไม่มีธรรมะก็เป็นเครื่องทำลายโลก  เผด็จการยังจะดีเสียกว่า เพราะยังควบคุมกันได้บ้าง แต่ประชาธิปไตยจะควบคุมกันไม่ได้เลย
        การเมืองในโลกปัจจุบันเป็นระบบคดโกงไม่มีธรรมจึงเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายดังที่เห็นกันอยู่และจะมีปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ สภาไม่ใช่ที่ประชุมของสัตบุรุษแต่เป็นสถานที่ของกลุ่มคนบ้าที่มานั่งทะเลาะทุ่มเถียงกันไม่มีจุดหมายเพื่อความสงบสันติอย่างแท้จริง แย่งกันครองเมืองด้วยการต่อสู้กันอย่างดุร้ายยิ่งกว่าสัตว์ป่า พวกต่อต้านนายทุนก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า เมื่อสำเร็จแล้วตนเองจะกลายไปเป็นนายทุนเสียเองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือไม่ นักการเมืองระบบนี้อย่างดีที่สุดก็เป็นได้เพียงแค่ผู้หาประโยชน์ให้แก่ชาติของตนโดยไม่คำนึงถึงชาติอื่น ความสงบสุขจึงไม่เกิดขึ้นในโลก การแก้ไขปัญหาการเมืองจึงได้แก่ การทำให้คนในสังคมยอมรับว่า การเมืองคือศีลธรรม ศีลธรรมคือการเมือง ศีลธรรมไม่กลับมาก็แก้ปัญหาไม่ได้ ธรรมะกับการเมืองต้องอยู่ด้วยกันเป็นเนื้อเดียวกัน นักการเมืองที่ดีไม่ใช่เพียงแต่มีความตั้งใจจริง มีความซื่อสัตย์เท่านั้น ต้องมีความรู้เรื่องธรรมอย่างถูกต้องด้วยโดยหัวใจสำคัญของธรรมก็คือหลักอิทัปปัจจยตา นั่นเอง[2]
        ท่านที่สองคือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้แสดงธรรมบรรยายในหัวข้อเรื่อง รัฐศาสตร์แนวพุทธ ตอน จริยธรรมนักการเมือง สรุปสาระสำคัญได้ว่า จุดหมายของการเมืองการปกครองมี ๒ ระดับ คือ ระดับแรกได้แก่ การบริหารกิจการบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ประชาชนอยู่ดีกินดี ระดับที่สองคือ การสร้างสภาพเอื้อหรือเกื้อหนุนให้คนในสังคมได้มีโอกาสพัฒนาชีวิตไปสู่ความเจริญงอกงามทั้งด้านจิตใจและปัญญา รวมทั้งทำให้สังคมได้พัฒนาสร้างสรรค์สิ่ง ต่าง ๆมีความเจริญก้าวหน้าในอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมยิ่ง ๆขึ้นไป  ดังนั้น นักปกครองจะคิดเพียงแค่ให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขอยู่กันเรียบร้อยเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจและมองลึกลงไปให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายในระดับที่สองให้ได้ หากมองเพียงแค่ต้องการจัดการบ้านเมืองให้สงบ บางครั้งก็อาจทำให้การปกครองไปเน้นเรื่องอำนาจ หรือมิฉะนั้น ก็จะทำให้บ้านเมืองอยู่ในวังวนของความเจริญและความเสื่อม ตัวอย่างเช่น เมื่อมีความสามารถบริหารบ้านเมืองได้ดี ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความพร้อมทางเศรษฐกิจแล้ว คนก็จะลุ่มหลงเพลิดเพลินหันไปหมกมุ่นในการเสพบริโภค การบำรุงบำเรอ แล้วก็ละเลิงมัวเมาทำให้สังคมเสื่อมลง
        นักการเมืองที่ดีจึงต้องมี ปัญญา เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าวอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง และต้องมี จิตใจ ที่มุ่งมั่นต่อจุดหมายและใฝ่ดีต่อสังคม อยากให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าประชาชนมีชีวิตที่ดีงาม ซึ่งเป็นความอยากที่เป็นกุศลเรียกว่า ฉันทะ”  ไม่ใช่อยากเพื่อตนเองซึ่งเป็น ตัณหา  เมื่อมีความใฝ่ดีก็จะนำไปสู่การศึกษาหาความรู้และพัฒนาสติปัญญาให้แผ่ขยายลึกซึ้งยิ่ง ๆขึ้นไปจนเข้าถึง ธรรม ยึดถือธรรมเป็นใหญ่ในการปกครองบ้านเมือง เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่ก็จะเห็นแก่ธรรม เห็นแก่ความจริง ความถูกต้องดีงามและยึดถือตามหลักการหรือกฎกติการวมทั้งกฎหมาย ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์หรือพรรคพวกเรียกว่า ธรรมาธิปไตย หากไม่ยึดถือธรรมเป็นใหญ่ก็จะเอนเอียงหรือเขวออกไปกลายเป็นยึดถือเอาตัวตนหรือผลประโยชน์ของตนเป็นใหญ่เรียกว่า อัตตาธิปไตย หรือหากยึดถือเอาความนิยม คะแนนเสียงหรือความชอบใจพึงพอใจของคนจำนวนมากโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ก็จะกลายเป็น โลกาธิปไตย ไป
        อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ หลักการ กับ จุดมุ่งหมาย ต้องคู่ไปด้วยกัน การยึดถือแต่หลักการโดยลืมนึกถึงจุดมุ่งหมายในแง่หนึ่งอาจเป็นคนหนักแน่น แต่ก็จะติดอยู่กับที่วนเวียนอยู่กับหลักไม่เดินไปไหน ขณะเดียวกันถ้ามีจุดมุ่งหมายโดยไม่มีหลักการ ก็อาจจะกลายเป็นคนเลื่อนลอยได้แต่หวัง โดยไม่มีหลักประกันที่จะทำให้สำเร็จ นอกจากหลักการและจุดมุ่งหมายแล้วก็ควรจะมี วิธีการ ที่ฉลาดด้วย บางลัทธิถือว่า วิธีการใดก็ตามไม่ว่าจะดีหรือร้าย จะนุ่มนวลหรือรุนแรง ถ้าทำให้สำเร็จผลบรรลุเป้าหมายได้ก็ถือว่าดี แต่ในทางพุทธศาสนาสอนว่า เพื่อให้บรรลุจุดหมายที่ดีวิธีการต้องชอบธรรมด้วย คนที่จะใช้วิธีการที่ดีเพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีได้นั้น จึงถูกจำกัดขอบเขตให้แคบเข้า ทำงานได้ยากลำบากกว่าคนที่ไม่คำนึงถึงวิธีการว่าจะชอบธรรมหรือไม่ จะต้องมีสติปัญญาความสามารถพิเศษจริง ๆจึงจะทำได้สำเร็จ
        เมื่อมีธรรมาธิปไตยเป็นหลัก ตั้งตัวอยู่ในหลักได้แล้ว เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าวข้างต้น นักการเมืองหรือผู้ปกครองที่ดีต้องทำหน้าที่สำคัญดังนี้
           ๑. จัดการบำรุง คุ้มครองรักษาประชาชนให้อยู่ดีมั่นคงปลอดภัยและสร้างสภาพเอื้อหรือเกื้อหนุนให้เขาสามารถทำสิ่งที่ดีงาม สร้างสรรค์ ก้าวหน้าไปได้ในกิจการต่าง ๆเรียกว่า ธรรมิการักขา”       
           ๒. แก้ไข ป้องกัน กำราบ ปราบปราม ไม่ให้มีการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบธรรมเรียกว่า อธรรมการนิเสธนา
           ๓. จัดสรรปันทรัพย์ให้แก่คนยากไร้ ผู้ไม่มีเงินทอง ให้คนที่ยากจนขัดสนได้รับการเอาใจใส่ ให้มีทางทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นอยู่ได้ทั่วกันเรียกว่า ธนานุประทาน
            ๔. แสวงหาปัญญา รู้จักปรึกษาสอบถาม เข้าหาผู้รู้ผู้ทรงคุณ ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอและยิ่ง ๆขึ้นไป เรียกว่า ปริปุจฉา
         อนึ่ง กรณีข้อ ธนานุประทาน” ต้องพึงเข้าใจให้ดีว่า ความเจริญพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นเพียงปัจจัยเกื้อหนุนต่อการสร้างสรรค์ทำสิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป คือการมีความเจริญก้าวหน้าพัฒนาทางจิตใจ ปัญญา วัฒนธรรมและศิลปะวิทยาการ ถ้าสังคมเข้าใจว่าความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ความมั่งมีสิ่งเสพบริโภคเป็นจุดหมายเมื่อไร นั่นคือความเสื่อมของสังคม และกรณีข้อ ปริปุจฉา นั้น นอกจากนักการเมืองจะแสวงหาปัญญาให้ตัวเองแล้ว ยังจะต้องเกื้อหนุนให้ประชาชนมีการศึกษาด้วย เพราะชีวิตและสังคมจะดีงามและมีความสุขไม่ได้ หากคนไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะการปกครองแบบประชาธิปไตย เราให้ประชาชนเป็นใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจโดยถือเอาเสียงส่วนมากเป็นใหญ่ แต่เสียงส่วนใหญ่นั้นตัดสินความจริงหรือความดีงามไม่ได้ เพียงแต่ตัดสินความต้องการได้เท่านั้น คนแม้จะมากแต่ถ้าโง่ก็บอกว่าอะไรจริงไม่ได้ เช่น เมื่อร้อยปีมาแล้ว คนส่วนใหญ่ในโลกเป็นร้อยล้านพันล้านบอกว่าโลกแบน ขณะที่อาจมีคนเพียงคนเดียวที่รู้ความจริงว่าโลกกลม เป็นต้น  ความต้องการของประชาชนจะเกิดประโยชน์ดีงามแท้จริงได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความรู้ว่า อะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งคนที่จะรู้ว่าอะไรดีงาม จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ก็จะต้องเรียนรู้ศึกษา เมื่อใดการตัดสินใจของประชาชนซึ่งเลือกเอาสิ่งที่ต้องการนั้นไปตรงกับสิ่งที่จริง ดีงาม ถูกต้อง เป็นประโยชน์แท้จริง เมื่อนั้นก็เป็นความสำเร็จของประชาธิปไตย[3]
        จากแนวคิดความเห็นของปราชญ์ทั้งสองท่านดังกล่าว พอสรุปได้ว่าไม่ว่าจะใช้วิธีการเลือกตั้ง สรรหา หรือกระบวนการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้บริหารบ้านเมือง หากบุคคลที่ได้มานั้นไม่เข้าใจหลักการและจุดมุ่งหมายอย่างถูกต้อง ไม่เข้าถึงธรรมและยึดถือธรรมเป็นใหญ่ ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาและนำพาสังคมไปสู่ความเจริญงอกงามได้ กล่าวเฉพาะวิธีการที่เรียกว่าการเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตยนั้น หนทางเดียวที่เราจะได้ตัวแทนที่เข้าถึงธรรม ยึดถือธรรมเป็นใหญ่ในการปกครองบ้านเมืองก็คือ การแสวงหาปัญญาด้วยการศึกษาเรียนรู้เรื่องธรรมของประชาชนคนไทยทั้งชาติ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะท่านพุทธทาสภิกขุบอกว่า ธรรมะเป็นของละเอียดอ่อน เข้าใจและเข้าถึงได้ยาก แต่โดยที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์บอกว่า ในทางพระพุทธศาสนามองว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาได้ ซึ่งเมื่อมนุษย์มีความมุ่งมั่นเพียรพยายามที่จะฝึกอย่างจริงจังแล้วก็จะสามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีขีดจำกัดและไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงขั้นสูงสุดคือนิพพาน ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ย่อมมีความหวัง เพราะพวกเราคนไทยทุกคนเป็นสัตว์ประเสริฐที่เรียกว่ามนุษย์
        ก็ขอฝากเป็นแง่คิดสำหรับคนไทยทั้งชาติให้ช่วยกันขบคิดต่อว่า เราจะมีวิธีการสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้เรื่องธรรมกันอย่างไรให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพสูงสุด จะเป็นการดีหรือไม่ถ้าเราจะกำหนดให้มีการเรียนการสอนวิชาธรรมะในทุกระดับชั้นการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับปริญญาเอก จะเป็นไปได้หรือไม่หากจะกำหนดให้สถานีโทรทัศน์-วิทยุทุกแห่งทั่วประเทศถ่ายทอดรายการธรรมะอย่างพร้อมเพรียงกันทุกวันอย่างน้อยวันละ ๑ ชั่วโมง ในเวลา ๑๙ นาฬิกา โดยเชิญผู้รู้อย่างแท้จริงมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ และจะเป็นการสมควรหรือไม่ หากเราจะกำหนดให้นักการเมืองทุกคนที่ได้รับการเลือกตั้งต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับธรรมะและมีการทดสอบจริธรรมตามมาตรฐานที่กำหนดก่อนเข้ารับหน้าที่ ??????./


[1]ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๔. 
[2] พุทธทาสภิกขุ, ธรรมะกับการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ ๑ (กรุงเทพฯ:เพชรประกาย, ๒๕๔๙), หน้า ๗๙ ๒๕๕. 
[3] พระพรหมคุณาภรณ์, สลายความขัดแย้ง:นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ[Online], Available : http:// watnyanaves.net/th/book_detail/438, หน้า ๑๙๑-๒๑๐.
                                                 -------------------------------
กฎหมายที่แท้จริงคือ เหตุผลที่ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ  แผ่ซ่านไปในทุกสิ่งทุกอย่างสม่ำเสมอเป็นนิจนิรันดร์ เป็นกฎหมายที่ก่อให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องทำโดยคำสั่งหรือห้ามไม่ให้กระทำความชั่วโดยข้อห้าม เป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะต้องไม่พยายามที่จะบัญญัติกฎหมายให้ขัดแย้งกับกฎหมายนี้ กฎหมายนี้ไม่อาจที่จะถูกตัดทอนแก้ ไขหรือเพิกถอนยกเลิกเสียได้ อันที่จริงแล้วไม่ว่าวุฒิสภาหรือประชาชนก็ไม่มีอำนาจที่จะปลดเปลื้องเราให้พ้นจากบังคับของกฎหมายนี้และเราไม่จำต้องพึ่งบุคคลหรือสิ่งอื่นใดนอกจากตัวของเราเองที่จะเป็นผู้อธิบายให้เห็นว่า กฎหมายนั้นคืออะไร หรือตีความว่ากฎหมายนั้นมีความหมายว่าอย่างไร กฎหมายนี้ไม่เป็นอย่างหนึ่งที่กรุงโรมและเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เอเธนส์ เป็นอย่างหนึ่งในขณะนี้และเป็นอีกอย่างหนึ่งในสมัยอื่นๆ แต่ยังคงเป็นกฎหมายอันหนึ่งอันเดียวไม่เปลี่ยนแปลงเป็น    นิรันดรและผูกพันบังคับทุกชาติทุกภาษาทุกยุคทุกสมัย

                                                                                     ซิเซโร
                                                                               ปรัชญาเมธีชาวกรีก

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ20/3/55 20:49

    ขออนุโมทนา กับผู้เขียนด้วย
    หลัีงจากได้อ่านฉันได้รับความรู้มากหมาย ขอเป็นกำลังใจ ในการทำการนี้ต่อไป เพื่อประโยชน์เเก่สังคมมนุษย์
    สาธุ.........

    ตอบลบ