1/05/2555

อำนาจในการออกหมายค้น - หมายจับ

อำนาจในการออกหมายค้น - หมายจับ  [1]
                                                          โดย ...โสต   สุตานันท์

           แต่เดิมผู้มีอำนาจออกหมายจับและหมายค้น  ได้แก่  ศาล  พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจชั้นผู้ใหญ่  ดังที่บัญญัติไว้ใน  ป.วิ.อาญา  มาตรา  ๕๘ (เดิม)   ต่อมาหลังรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๔๐  มีผลบังคับใช้   ผู้มีอำนาจออกหมาย  ได้แก่  ศาลเพียงองค์กรเดียวเท่านั้น  ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี  ๒๕๔๐    มาตรา  ๒๓๗,๒๓๘     รัฐธรรมนูญ ฉบับปี  ๒๕๕๐  มาตรา  ๓๒,๓๓  และ    .วิ.อาญาที่แก้ไขใหม่  มาตรา ๕๘   คำถามก็คือว่า   หลักการดังกล่าว  เป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ และก่อให้เกิดผลดี ผลเสีย มากน้อยอย่างไร 
                    ประเด็นคำถามดังกล่าว  ผู้เขียนมีข้อสังเกต  คือ  หากพิจารณาในแง่ของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งประกอบด้วย  อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ   ก็จะเห็นว่า   ศาลเป็นสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการ  คือ  การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี   ดังนั้น  โดยหลักแล้ว   ศาลน่าจะเริ่มเข้าไปมีบทบาทตั้งแต่มีการฟ้องคดีเป็นต้นไป     กระบวนการต่าง ๆก่อนฟ้องคดีนั้น   น่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ของฝ่ายบริหาร     การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลมีอำนาจออกหมายค้น-หมายจับ   จึงน่าจะขัดกับหลักของการใช้อำนาจอธิปไตยในเบื้องต้น     ซึ่งนอกจากจะไม่ถูกต้องในแง่ของหลักการแล้ว   หากมองปัญหาอย่างลึกซึ้ง  จะพบว่า   การให้ศาลมีหน้าที่ออกหมายค้น-หมายจับนั้น   ในระยะยาวจะส่งผลให้ ความขลัง   ความศักดิ์สิทธิ์    ความเลื่อมใสศรัทธาที่ประชาชนจะพึงมีต่อศาลลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในบทบาทหน้าที่หลักของศาล คือ  การตัดสินพิพากษาคดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  
                    เหตุผลก็เพราะว่า    ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงของบ้านเรานั้น  ต้องยอมรับความจริงว่า   ที่ผ่านมาสถิติในการค้นพบสิ่งผิดกฎหมายหรือวัตถุสิ่งของตามหมายค้นของศาลนั้น  มีอัตราที่ค่อนข้างต่ำมาก  และบุคคลที่ถูกจับตามหมายจับของศาล  ส่วนหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อย  ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ถูกพิพากษาให้ลงโทษ   นอกจากนั้น   ก็ต้องยอมรับความจริงอีกเช่นกันว่า   มาตรฐานในการสืบสวนหรือการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจหรือหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอต่อศาล ในการยื่นคำร้องขอออกหมายโดยเฉพาะหมายค้นนั้น  ในภาพรวมแล้ว ถือว่า  ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างมาก   ซึ่งสาเหตุของปัญหานั้น  มีมากมายหลายประการ   คงไม่สะดวกที่จะกล่าว ณ ที่นี้  แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า   ทุกท่านทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการขอออกหมายในภาคปฏิบัติ  ย่อมรู้ปัญหากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว    
                      ตัวอย่างภาพสะท้อนของการลดความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลอย่างหนึ่ง    ที่ผู้เขียนเคยได้ยินได้ฟังมาก็คือ   ขณะนี้  มีปฏิกิริยาไม่พอใจในการที่เจ้าหน้าที่สรรพสามิตนำหมายของศาลไปค้นสุราผิดกฎหมายจากชาวบ้านอย่างกว้างขวาง  บางแห่งถึงขนาดฉีกหมายศาลทิ้งก็มี   นอกจากนั้น   กรณีคดีที่สื่อมวลชนขนานนามว่า  คดียุทธตู้เย็น    คดีผู้กองณัฐ    หรือ คดีกบฏพันธมิตร   ก็มีหลายคนหลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสังเกตหรือตั้งคำถามต่อศาลว่า   มีระบบการกลั่นกรอง ตรวจสอบ หรือการใช้ดุลพินิจในการออกหมายที่ถูกต้อง  เหมาะสม  หรือไม่   เพียงใด
                        ปัญหาดังกล่าวเป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมานำเสนอในเนื้อที่อันจำกัดนี้    จริง ๆแล้วยังมีปัญหาอื่น ๆอีกหลายประเด็น  กล่าวโดยสรุปก็คือ   ในทางปฏิบัติที่เป็นจริง  การปกป้อง  คุ้มครอง สิทธิเสรีภาพของบุคคลก็ยังคงมีปัญหาอยู่  เพราะแท้จริงแล้ว   ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ว่า  ใครเป็นผู้มีอำนาจออกหมาย   แต่น่าจะอยู่ที่เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามหมายมากกว่า     ขณะเดียวกันการให้ศาลมีอำนาจออกหมายแต่เพียงองค์กรเดียวยังส่งผลกระทบต่อความสะดวก รวดเร็วและความคล่องตัวของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอีกด้วย   ผลก็คือ  ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปราบปรามผู้กระทำความผิดที่ลดลง 
                   จากสภาพปัญหาดังกล่าว   ผู้เขียนจึงเห็นว่า   จะดีกว่าไหม  หากมีการปรับแก้กฎหมายให้องค์กรใด  องค์กรหนึ่ง  เช่น   กรมการปกครอง หรือ สำนักงานอัยการสูงสุด   เป็นผู้มีหน้าที่พิจารณาอนุญาตออกหมาย  และสร้างระบบให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง    โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่เห็นว่าได้รับผลกระทบหรือถูกละเมิด  ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ทบทวน หรือตรวจสอบความถูกต้องของคำสั่งได้  (ทำนองเดียวกันกับเรื่องการร้องขอให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา  ๙๐ )    และหากพบว่าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นจริง  ก็อาจให้อำนาจศาลกำหนดมาตรการหรือมีคำสั่งใด ๆเพื่อเยียวยาแก้ไขความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามความเหมาะสม 
                   ผู้เขียนเชื่อว่า    แนวทางดังกล่าว   น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ ประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม  เพราะผู้พิจารณาอนุญาตออกหมายย่อมต้องระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้โดยง่าย   ขณะเดียวกันกระบวนการในการดำเนินการขอออกหมายก็น่าจะสะดวก  รวดเร็ว และคล่องตัว มากกว่า ไปยื่นขอต่อศาล./ 


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ศาลยุติธรรมปริทัศน์ ปีที่  ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒  ธันวาคม ๒๕๕๑ - มกราคม ๒๕๕๒.

1 ความคิดเห็น: