1/06/2555

เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและสังคมโดยส่วนรวม

เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและสังคมโดยส่วนรวม [1]
                                                                                     โดย...โสต  สุตานันท์

         มีความเชื่อกันว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น มนุษย์ไม่เคยมีชีวิตอยู่คนเดียวโดด ๆโดยไม่ต้องอยู่กับใครเลย อย่างน้อยที่สุดเมื่อเกิดมาก็ต้องพึ่งพาอาศัยและมีสายสัมพันธ์กับแม่อย่างใกล้ชิด จากความสัมพันธ์ระหว่าง แม่กับลูก ก็ขยายเป็นความสัมพันธ์แบบผัวกับเมีย พี่กับน้อง ยายกับหลาน กลายเป็นเกลียวความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ครอบครัว ที่มีความใกล้ชิดกันโดยเชื้อสายและพักพิงอยู่อาศัยร่วมกันใน บ้าน แล้วแผ่ขยายวงกว้างออกไปจนเป็น “ระบบเครือญาติ (Kinship)”
        ดังนั้น สังคมหน่วยแรก จึงได้แก่ บ้าน หรือ “ครอบครัว” ซึ่งเป็นสังคมหน่วยเล็กที่สุดและไม่มีใครจงใจวางแผนก่อสร้างขึ้นมา แต่เป็น ระบบที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous)โดยค่อย ๆคลี่คลายขยายตัวเจริญขึ้นจากความจำเป็นโดยธรรมชาติทางกายภาพและจิตใจของมนุษย์เอง จึงเรียกว่าเป็น สังคมปฐมภูมิ (primary society) ความสัมพันธ์ในสังคมขนาดเล็กแบบนี้จะมีบรรยากาศใกล้ชิดสนิทสนมเป็นกันเอง เมื่อเกิดข้อขัดแย้งกันขึ้นก็จะหาทางปรองดองด้วยวิธีอะลุ้มอล่วยผ่อนสั้นผ่อนยาวต่อกัน กฎเกณฑ์ต่าง ๆจะมาจากศีลธรรมหรือขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่ใช่กฎหมายตายตัวที่บังคับกันอย่างเคร่งครัด แต่ก็มีการอบรมสั่งสอนว่ากล่าวพอสมควร ถ้าผู้น้อยกระด้างกระเดื่องก็จะถูกดุด่าว่ากล่าวทุบตีลงโทษกันบ้าง
        ต่อมาเมื่อครอบครัวขยายตัวมีลูกเกิดมาหลาย ๆคน จะอยู่ในที่เดียวกันย่อมไม่สะดวก จึงต้องแยกครอบครัวกันอยู่  ครอบครัวที่เชื้อสายเดียวกันรวมเรียกว่า โคตรตระกูล (clan)  ซึ่งยังมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติ แม้ความใกล้ชิดสนิทสนมจะน้อยลง แต่กฎเกณฑ์ความประพฤติที่ใช้ในครอบครัวแต่เดิมก็ยังคงใช้กันอยู่ เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคน สังคมระดับโคตรตระกูลจะขยายตัวออกไปเรื่อย ๆจนกลายเป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้นอีกระดับหนึ่งเรียกว่า ชนเผ่า (tribe) ความสัมพันธ์ของคนจะค่อย ๆห่างออกไป สิ่งที่เชื่อมคนในชนเผ่าให้มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันอยู่ก็คือ ภาษาที่ใช้พูด มีการถ่ายทอดความรู้ความคิดความจำให้แก่กัน รู้สำนึกว่าเป็นคนเชื้อสายเดียวกัน มีบรรพบุรุษเดียวกัน เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์เดียวกัน เมื่อมีความจำเป็นก็ช่วยเหลือร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดและความสุขสงบร่วมกัน กฎเกณฑ์ที่ใช้ในชนเผ่าก็คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมของปู่ ย่า ตา ยาย ที่รับสืบทอดกันมาแต่โบราณที่เรียกว่า The good old law  
        อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในสังคมชนเผ่าจะแตกต่างไปจากสังคมครอบครัวหรือโคตรตระกูล กล่าวคือ ความสนิทสนมความอะลุ้มอล่วยต่อกันจะมีน้อยลง เมื่อเกิดมีความขัดแย้งวิวาทกันก็จะต้องมีการชี้ขาดตัดสินอย่างเคร่งครัดและเอาจริงเอาจังมากขึ้น บางทีต้องมีการบังคับรุนแรงหรือลงโทษหนัก ศีลธรรมไม่พอใช้บังคับกับเหตุการณ์ มีความจำเป็นต้องตั้งกฎเกณฑ์การปกครองบังคับบัญชาขึ้นมาซึ่งก็คือ กฎหมาย นั่นเอง   สังคมชนเผ่าจึงเป็นสังคมใหญ่ที่มีการปกครองอย่างแท้จริง และมีวิวัฒนาการเรื่อยมากลายเป็น สังคมการเมือง (Political society) หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า รัฐ (State)  สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[2]   
        คำถามก็คือว่า กฎเกณฑ์กติกาของสังคมหรือกฎหมายที่ตราขึ้นมานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สำหรับใคร ก่อนตอบคำถามดังกล่าวขอหยิบยกแนวคิดความเห็นของปราชญ์เมธีคนสำคัญของโลกบางท่านมาอ้างอิงดังนี้ คือ
        โทมัส ฮอบส์ มองว่า ในสภาพธรรมชาติของมนุษย์จะมีลักษณะเป็นสัตว์เดียรัจฉาน มีธรรมชาติที่เห็นแก่ตัว เลว หยาบช้าและโหดร้าย ทุกคนต่างอยู่ในภาวะที่เกลียด กลัว ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน อยู่ในภาวะที่ทำสงครามแก่งแย่งแข่งขันและต่อสู้เข่นฆ่ากันอยู่ตลอดเวลาและในภาวะธรรมชาตินี้ไม่มีหลักความผิดถูกชั่วดี ไม่มีศีลธรรม ไม่มีกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิเหนือทุกสิ่ง ผลประโยชน์ของใครก็เป็นมาตรการแห่งความชอบธรรมสำหรับคนๆนั้น แต่ด้วยสัญชาตญาณในการอยู่รอดประกอบเข้ากับการที่มนุษย์มีความสามารถทางสติปัญญาระดับหนึ่งจึงทำให้เล็งเห็นได้ว่า การมีชีวิตภายใต้สภาพธรรมชาตินั้นเป็นชีวิตที่แสนสั้น เป็นทุกข์ และน่ารังเกียจ มนุษย์จึงยอมสละประโยชน์ตามธรรมชาติของตนเสียแล้วมาร่วมทำสัญญาเข้ากันเป็นสังคม เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
        จอห์น ล็อค อธิบายว่า สภาวะตามธรรมชาตินั้นเป็นสภาวะแห่งสันติภาพและความเสมอภาค และในสภาวะตามธรรมชาตินี้มนุษย์ทุกคนก็รู้จักกฎหมายธรรมชาติ อันเป็นสิ่งที่สอนให้มนุษย์รู้จักเคารพความเสมอภาคและความเป็นอิสระต่อกัน รู้ว่าแต่ละคนไม่ควรจะล่วงละเมิดชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สินของกันและกัน  ทั้งนี้ในสภาวะตามธรรมชาตินี้ เมื่อเกิดข้อขัดแย้งพิพาทกันขึ้นมนุษย์แต่ละคนย่อมมีอำนาจที่จะบังคับการตามสิทธิที่ตนมีตามธรรมชาติและลงโทษผู้กระทำผิดด้วยกำลังตนเอง อย่างไรก็ตาม การมีชีวิตอยู่ในสภาวะตามธรรมชาติเช่นนี้ ย่อมมีอันตราย มีข้อเสียและมีความไม่สะดวกหลายประการ ที่สำคัญคือ การใช้สิทธิในร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สินที่แต่ละคนมีตามธรรมชาตินั้นขาดความแน่นอนชัดเจนและมักจะมีการล่วงล้ำขอบเขตและกระทบกระทั่งสิทธิของผู้อื่นได้อยู่เสมอ อีกทั้งยังมีข้อด้อยในเรื่องการบังคับตามสิทธิและการลงโทษเมื่อมีการฝ่าฝืนกฎหมายธรรมชาติหรือล่วงละเมิดกันเกิดขึ้น เพราะการที่ทุกคนต่างต้องทำหน้าที่พิพากษาคดีพิพาทของตนเอง ย่อมอาจมีอคติทำการแก้แค้นทดแทนจนเกินความสมควรแก่เหตุได้ ดังนั้นเพื่อยุติความยุ่งเหยิงและความไม่สงบเรียบร้อยต่าง ๆที่มีอยู่ในสภาวะตามธรรมชาติ มนุษย์จึงเข้าทำสัญญาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นทำหน้าที่ปกครองเพื่อรักษาความยุติธรรมและความสงบเรียบร้อยในรูปของสัญญาประชาคม (Social Contract)
         ฌอง ชัค รุสโซ  เห็นว่า คนเราตามสภาพดั้งเดิมนั้น มีความดีความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไม่เป็นคนเอารัดเอาเปรียบ มีจิตใจสูง โอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัว คนในสภาพธรรมชาติเช่นนั้นดำรงชีวิตอยู่โดยประพฤติตนสอดคล้องกับธรรมชาติ และรุสโซก็สรุปทำนองเดียวกับล็อคว่า สภาวะตามธรรมชาตินั้นเป็นสภาวะที่มนุษย์ไม่มีความมั่นคงในชีวิตและเสรีภาพ คือ ไม่มีหลักประกันที่แน่นอน การจะมีหลักประกันเสรีภาพที่แน่นอนได้นั้น จำเป็นต้องมีการทำสัญญาประชาคม ในลักษณะที่แต่ละคนต่างยอมสละสิทธิและเสรีภาพที่ตนมีโดยไม่จำกัดในสภาพธรรมชาติเสีย แล้วยอมรับสภาพที่มีสิทธิเสรีภาพที่มีข้อจำกัดตามกฎหมายรัฐ แล้วให้รัฐทำหน้าที่รักษาความสงบและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของทุกคน[3]    
        พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้เคยแสดงธรรมเทศนาไว้ว่า พระพุทธศาสนามองมนุษย์ว่า เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและเป็นสัตว์ที่ฝึกหรือศึกษาได้ ซึ่งต่างจากสัตว์อื่นที่ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนรู้อะไรก็มีชีวิตอยู่รอดโดยอาศัยสัญชาตญาณช่วย เช่น ห่านออกจากไข่ตอนเช้า บ่ายก็ตามแม่ไปลงสระน้ำ ว่ายน้ำได้ หากินได้โดยไม่ต้องฝึก ขณะที่มนุษย์เมื่อเกิดมาต้องมีพ่อแม่คอยอุ้มชูเลี้ยงดูอยู่หลายปี ต้องฝึกนั่ง เดิน กิน นอน ขับถ่าย และศึกษาเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆถ้าไม่ฝึกฝนเรียนรู้ก็จะอยู่ไม่รอด ซึ่งถ้ามนุษย์ฝึกตนแล้วก็สามารถพัฒนาได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด ฝึกอย่างไรก็ได้อย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างไรก็ฝึกเอา  พระพุทธเจ้าจึงถือคติว่า ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ คือ ชีวิตแห่งการศึกษา อย่างไรก็ตาม การที่มนุษย์จะเรียนรู้หรือฝึกฝนพัฒนาตนเองให้สามารถสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงามขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องมีชีวิตที่ปลอดภัยและสังคมที่อยู่กันมีความสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้น สังคมจึงต้องมีวินัยทั้งในแง่ของการปกครองและกฎหมาย เพื่อสร้างสรรค์ความสงบเรียบร้อยอันเป็นสภาพเอื้อหรือเกื้อหนุนที่จะช่วยให้มนุษย์ทั้งหลายพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปให้สามารถบรรลุจุดหมายแห่งการมีชีวิตที่ดีงาม มีสันติสุขและเป็นอิสระได้ จนเข้าถึงประโยชน์สุขที่สูงสุด[4]
        จากประวัติศาสตร์ที่มาของสังคมมนุษย์และแนวคิดความเห็นของปราชญ์เมธีดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตัวของคนในสังคมเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้น คำตอบสำหรับโจทย์ข้างต้นที่ว่า กฎเกณฑ์กติกาของสังคมหรือกฎหมายที่ตราขึ้นมามีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สำหรับใครนั้น จึงได้แก่ “ก็เพื่อตัวมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลแต่ละคนในสังคมนั่นเอง” หรืออาจสรุปได้ว่า จุดหมายของสังคม ก็คือ จุดหมายของกฎหมาย แต่สุดท้าย จุดหมายของกฎหมายต้องสนองจุดหมายของชีวิตคน
        ขอตัดภาพมามองสังคมไทยเกี่ยวกับประเด็นคำถามคำตอบดังกล่าว เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ปุจฉาตามชื่อเรื่องที่ตั้งไว้ จะสังเกตเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดมีขึ้นในสังคมไทยให้ได้ยินได้เห็นกันจนชินหูชินตาคือ มีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านของเมืองทั้งที่เป็นข้าราชการ นักการเมือง รวมทั้งสื่อมวลชน ครูอาจารย์ นักวิชาการ กลุ่มเอ็นจีโอ ทั้งหลาย ฯลฯ ที่มักจะให้โอวาทหรือแสดงความคิดความเห็นเนื่องในโอกาสต่างๆในทำนองว่า “เราต้องยึดถือหรือคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและสังคมโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ” แต่ก็ปรากฏว่าท้ายที่สุดแล้วเมื่อถึงคราวที่จะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตัว ส่วนใหญ่คนที่พูดมักจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมาก่อนเสมอ
       ทุกวันนี้เราจึงเห็นคนที่ “พูดอย่าง ทำอย่าง” มีอยู่ดาษดื่นมากมายในสังคม และดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาด้วยซ้ำไป ผลที่ตามมาคือ ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ศิษย์ไม่เคารพครูอาจารย์ ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่นับถือผู้บังคับบัญชา และประชาชนไม่เชื่อมั่นศรัทธาผู้ปกครองบ้านเมือง ไปๆมาๆตอนนี้คนที่ชอบพูดถึงเรื่องส่วนรวมบ่อยๆจะถูกตั้งข้อระแวงสงสัยในพฤติกรรมมากยิ่งกว่าคนที่ไม่เคยพูดอะไรเพื่อแสดงความห่วงใยบ้านเมืองเสียอีก เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้สอนให้ผู้คนในสังคมมีความรู้สึกว่า คนที่ทำได้อย่างที่พูดมีน้อยเต็มที โดยส่วนใหญ่มักจะพูดเพียงเพื่อสร้างภาพให้ตัวเองดูดีมีความน่าเชื่อถือเท่านั้น ตอนนี้คำว่า “เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและสังคมโดยส่วนรวม” จึงดูเหมือนจะลางเลือนห่างไกลจากความคิดความรู้สึกของผู้คนในสังคมและใกล้จะกลายเป็นถ้อยคำภาษาที่ล้มละลายเข้าไปทุกที  แล้วเราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร ? 
        ในมุมมองผู้เขียนเห็นว่า นอกจากผู้มีส่วนรับผิดชอบในการปกครองบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารหรือตุลาการ  จะต้องทำหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทุกคนเป็นที่ตั้งแล้ว สิ่งสำคัญสูงสุดอีกประการหนึ่งก็คือ เราต้องทำให้ประชาชนเข้าใจและมองว่าประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตัวเป็นสิ่งเดียวกันให้ได้  เพราะหากประชาชนทุกคนคิดเช่นนั้นความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมย่อมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
        ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอว่า ต่อไปเราน่าจะปรับเปลี่ยนเรื่อง “การใช้ภาษา”กันใหม่ โดยหากเราต้องการสื่อความหมายให้ประชาชนตระหนักถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวมก็ควรจะใช้คำว่า “เพื่อประโยชน์ของพวกเราทุกคน”แทน หรือแม้กระทั่งถ้อยคำในระเบียบกฎหมายต่าง ๆรวมถึงรัฐธรรมนูญก็น่าที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงในทำนองเดียวกัน  การทำเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนในสังคมได้ฉุกคิดและไตร่ตรองว่า “ที่บอกว่าเพื่อประโยชน์ของพวกเราทุกคนนั้น แล้วพวกเขาแต่ละคนจะได้ประโยชน์อย่างไร” ซึ่งท้ายที่สุดทุกคนก็จะรู้ว่า การเห็นแก่ตัวที่ฉลาดที่สุดคือการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ของคนอื่นก่อน
       ถึงแม้ว่าบางเรื่องบางประเด็นจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้ทุกคนสามารถมองเห็นถึงประโยชน์อันแท้จริงร่วมกันได้ เพราะคำว่า “ประโยชน์” มีหลายมิติ หลายแง่มุม มีทั้งประโยชน์ระยะสั้น ระยะยาว ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม อีกทั้ง “ความต้องการ” ของมนุษย์ก็มีแตกต่างหลากหลายกันไปและปัญหาในบางเรื่องก็มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก ต้องอาศัยสติปัญญาไม่น้อยในการคิดวิเคราะห์ แต่ก็เห็นว่า หากเราเชื่อมั่นศรัทธาในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าข้างต้นที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และเมื่อมนุษย์ฝึกตนแล้วก็จะสามารถพัฒนาได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด”แล้ว เราก็ต้องมั่นใจในตัวมนุษย์คนไทยทุกคน
        ปัญหาขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าคนไทยฝึกไม่ได้แต่อยู่ที่ไม่ยอมฝึกต่างหาก โจทก์ข้อใหญ่สำหรับสังคมไทยจึงได้แก่ จะทำอย่างไรให้คนไทยทั้งชาติพยายามฝึกฝนฝนวิธีคิดในการมองประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ลึกซึ้งถึงแก่นหรือที่เรียกกันว่า คิดให้จบ ไม่ใช่คิดถึงแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น  ซึ่งในมุมมองผู้เขียนเห็นว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นได้คือ การมีรัฐบาลที่ดีมีประสิทธิภาพประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธา เพราะคำว่า ศรัทธา จะนำมาซึ่งความพร้อมในการให้ความร่วมมือ แต่การที่เราจะมีรัฐบาลเช่นนั้นได้ก็ต้องมีประชาชนที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวเองก่อน หาไม่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่เราจะได้รัฐบาลที่น่าเคารพเลื่อมใสศรัทธาได้./


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับลงวันที่   พฤศจิกายน  ๒๕๕๓.
[2]  สมยศ เชื้อไทย, กฎหมายมหาชนเบื้องต้น, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, ๒๕๕๐), หน้า ๘๓-๘๖.
[3]  ปรีดี เกษมทรัพย์, นิติปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ ๗ (กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์มาหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), หน้า ๑๙๙.
[4] พระพรหมคุณาภรณ์“นิติศาสตร์แนวพุทธ”, รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, ๒๕๔๘), หน้า  ๓๕.
                                             -------------------------------------
  “การที่คนเราทำอะไรนั้นเขาย่อมทำตามความรู้ที่เขามี เขาทำสิ่งนั้นก็เพราะเขาเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีแต่โดยที่คนเราก็มีกิเลสต่างกันดังนั้น หากเขาไม่ใช้เหตุผลไตร่ตรองให้ดี กิเลสอาจลวงให้เขาคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีทั้งๆที่ในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ได้ ไม่มีใครทำความชั่วทั้งๆที่ตัวรู้ว่าชั่ว ถ้าหากเขาทำชั่วก็เพราะตอนนั้นเขาเข้าใจผิดไปว่าสิ่งนั้นดี”                                                         
               โสกราติส
      ปราชญ์เมธีชาวเอเธนส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น