1/05/2555

ศาลยุติธรรมกับภารกิจในการผดุงรักษาความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศาลยุติธรรมกับภารกิจในการผดุงรักษาความยุติธรรม
และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน[1]
                                                                                                                     โดย...โสต  สุตานันท์
                        สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.  ๒๕๔๘   นี้   ท่านประธานศาลฎีกาได้กำหนดให้เป็น     “  ปีแห่งการพัฒนามาตรฐานระบบงานและศักยภาพบุคลากรศาลยุติธรรม     โดยวางเป้าหมายในการบริหารงานศาลยุติธรรมไว้  ๓  ด้าน   คือ 
            ๑.)  ด้านการอำนวยความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมและรวดเร็ว
            ๒.)  ด้านการพัฒนาระบบงาน  บุคลากรในส่วนสนับสนุนงานศาลยุติธรรม
            ๓.)  ด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน
                        บังเอิญวันก่อนผู้เขียนได้ยินท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันให้สัมภาษณ์นักข่าวเกี่ยวกับเรื่อง  หลักการบริหารงานราชการแผ่นดิน  ไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า   ในการบริหารงานนั้น  มีปัจจัยหลักอยู่  ๔  ประการ  คือ    man   money  material  และ  management     แต่ในอดีตที่ผ่านมาส่วนใหญ่ข้าราชการไทยเราคิดเป็นแต่คำว่า    man  money  และ  material  ส่วนคำว่า  management    ได้นำมาใช้น้อยมาก
                          ผู้เขียนไม่ได้ฝักใฝ่การเมือง    แต่รับฟังในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง   รู้สึกคล้อยตามและเห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง   เหตุผลเพราะว่า   จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเกือบ  ๒๐   ปี  ในชีวิตราชการในสังกัด   ๓   กระทรวง กับอีก  ๑  องค์กร (ศาลยุติธรรม)    พบว่า    แนวทางการทำงานของข้าราชการส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นจริง ๆ   คือ  เวลามีการเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นหรือพูดถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงานและแนวทางแก้ไข    ส่วนใหญ่ข้าราชการไม่ว่าระดับใดมักจะคิดถึงปัญหาในเรื่องของ   คน   เงิน  และ วัสดุอุปกรณ์  เป็นอันดับแรก  อาจกล่าวได้ว่าเป็นไปโดยอัตโนมัติก็ว่าได้  น้อยมากที่จะมีการคิดถึงปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ     เพื่อให้ภารกิจของศาลยุติธรรมในการผดุงรักษาความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีศักยภาพสูงสุด       เป็นไปตามเป้าหมายของ        ปีแห่งการพัฒนามาตรฐานระบบงานและศักยภาพบุคลากรศาลยุติธรรม     ตามที่ตั้งไว้ข้างต้น    ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอกลยุทธ์ในการบริหารจัดการกิจการงานของศาลยุติธรรมซัก  ๓   เรื่อง   ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้   คือ 

เรื่องแรก    -   ความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานของศาลยุติธรรม
                     สภาพปัญหา     -  ปกติในทางปฏิบัติของหน่วยงานราชการหรือองค์กรอื่นใด   หากผู้ปฏิบัติมีข้อสงสัยหรือมีเหตุขัดข้องใดในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรื่องการตีความระเบียบ กฎหมาย   จะมีการทำหนังสือหารือไปยังผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดเพื่อขอทราบแนวทางปฏิบัติ  เมื่อผู้บังคับบัญชามีความเห็นอย่างไร    ก็จะปฏิบัติไปตามนั้น   บางครั้งหากเป็นเรื่องสำคัญ   ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดก็มักจะเวียนหนังสือให้ทุกหน่วยงานในสังกัดได้ทราบและถือปฏิบัติในทำนองเดียวกัน    ทั้งนี้  เพื่อความเป็นเอกภาพขององค์กร    
                          แต่ในการปฏิบิติงานของศาลเรานั้น   จากการสังเกตุ  เวลาผู้พิพากษามีปัญหาในเรื่องการตีความระเบียบ- กฎหมาย   อันดับแรกมักจะไปค้นหาแนวคำพิพากษาศาลฎีกามาเทียบเคียงก่อน   หากไม่มีก็ไปศึกษาค้นคว้าหาตำรับตำราทางวิชาการต่าง ๆ     ถ้าไม่มีอีกก็จะใช้วิธีโทรศัพท์ปรึกษาหารือผู้รู้ที่เคารพนับถือ    ซึ่งก็คงเป็นธรรมดาที่บางครั้งก็ได้รับคำตอบที่แตกต่างหลากหลาย  เห็นด้วยบ้าง  ไม่เห็นด้วยบ้าง    ผลก็คือทำให้การปฏิบัติงานของศาลเราขาดความเป็นเอกภาพ  ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน    หลายเรื่องมีความเห็นที่แตกต่างกันมานานแล้ว   แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน และยังมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันอยู่ หรือ กรณีการแก้ไข  ป.วิอาญาใหม่ล่าสุดนี้  ก็ยังมีหลายประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันอยู่  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากต่อผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องมากมายหลายประการ   ผู้เขียนขออนุญาตไม่กล่าวถึงรายละเอียดไว้  ณ  ที่นี้    เพราะท่านผู้อ่านคงทราบถึงสภาพปัญหาดีอยู่แล้ว  
                         ในการสัมนาทางวิชาการแต่ละครั้ง    จากการสังเกตผู้พิพากษาส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญและไม่ค่อยจะให้ความสนใจซักเท่าไหร่    สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง  น่าจะเป็นเพราะว่า   ท้ายที่สุดแล้วเมื่อการสัมนาเสร็จสิ้นก็ไม่รู้ว่าตกลงเราจะเอากันอย่างไร        สุดท้ายท่านวิทยากรก็มักจะสรุปส่งท้ายว่า   ให้แต่ละศาล  แต่ละภาคไปประชุมปรึกษาหารือกันเองว่า  แต่ละเรื่องจะเอากันอย่างไร ความเห็นของวิยากรเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของท่านเท่านั้น  ”                          จริง  ๆแล้ว  ผู้เขียนเห็นว่าผู้พิพากษาเราเป็นนักปฏิบัติ  ไม่ใช่นักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย   ดังนั้น  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาข้อยุติร่วมกันให้ได้อย่างชัดเจนว่า    แต่ละเรื่องเราจะวินิจฉัยไปในแนวทางใด     ไม่ใช่ว่าเรื่องเดียวกันปฏิบัติกัน   ๒-๓  แนว   ขึ้นกับแต่ละศาลแต่ละภาคว่าจะเอากันอย่างไร   สุดท้ายความสับสนก็จะเกิดขึ้นกับประชาชน   เกิดขึ้นกับหมู่ผู้ปฏิบัติในองค์กรต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม      แน่นอนครับ   คำว่า  ความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี   เป็นหลักการที่สำคัญยิ่งในการปฏิบัติงานของผู้พิพากษา    แต่คำว่า   ความเป็นเอกภาพขององค์กร   ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน    หากผู้พิพากษาในศาลเดียวกันมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาในเรื่องที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกัน   โดยไม่สอดคล้องต้องกันแล้ว    คงยากที่ประชาชนจะเชื่อมั่นหรือให้ความเชื่อถือศรัทธาองค์กรของเรา

            จากสภาพปัญหาดังกล่าว   ผู้เขียนจึงเห็นว่า  ศาลยุติธรรมเราน่าจะสร้างระบบอะไรขึ้นมาซักอย่างหนึ่ง   เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเป็นเอกภาพ   สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการปฏิบัติงาน       
                        ข้อเสนอก็คือว่า     น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการอะไรขึ้นมาซักคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่บริหารงานด้านวิชาการโดยเฉพาะ     หากเปรียบเทียบกับ   ก.ต. ,  ก.ศ.  และ กบศ.  ก็จะเห็นว่า    เรามี  ก.ต.และ ก.ศ.  ทำหน้าที่บริหารงานบุคคล     มี  กบศ. ทำหน้าที่บริหารงานด้านธุรการ    ถ้าเรามี  กวช.  หรือคณะกรรมการวิชาการ  ขึ้นมาอีกคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่บริหารงานด้านวิชาการโดยเฉพาะน่าจะดีไม่น้อย      จริง ๆแล้วงานวิชาการด้านกฎหมายถือเป็นงานหลักที่สำคัญยิ่ง  อาจกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของศาลยุติธรรมเราเลยก็ว่าได้      แต่สำนักวิชาการของเราเล็กนิดเดียว    ที่ผ่านมาบทบาทหน้าที่ของสำนักวิชาการค่อนข้างจะน้อยไปซักนิดหนึ่ง      เวทีที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นทางวิชาการของเราก็มีแค่นิตยสารดุลพาหปีละ  ๓  เล่ม  และมีผู้พิพากษาเพียงไม่กี่ท่านที่มีโอกาสได้เขียนหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกา
                สำหรับบทบาทหน้าที่ของ   กวช.  หรือ คณะกรรมการวิชาการตามที่เสนอดังกล่าวนั้น   น่าจะมีบทบาทหน้าที่หลัก  ๒  ประการ  คือ
                    ประการแรก  -    มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้า    วิเคราะห์  วิจัย  หรือ ระดมความคิดเห็นจากผู้พิพากษา หรือ ผู้รู้ต่าง ๆ  ถึงปัญหาข้อกฎหมายต่าง ๆที่สำคัญ ตามที่ได้รับการหารือมาหรือคณะกรรมการเห็นเอง     จากนั้นก็มีมติหรือทำความเห็นออกมา   เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้พิพากษา  ในการปฏิบัติงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันต่อไป    อย่างไรก็ตาม    เพื่อไม่ให้มีผลกระทบถึงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนของผู้ปฏิบัติ    เราอาจจะกำหนดให้  กวช.  มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะกรณีที่ยังไม่มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเท่านั้น   เรื่องไหนที่มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่แล้ว   เราก็ไม่ไปแตะต้อง 
             ประการที่สอง  -    หากเห็นว่า  ตัวบทกฎหมายฉบับใดมีข้อบกพร่อง    หรือมีเหตุขัดข้องต่อการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน    กวช.ก็จะทำหน้าที่เป็นคลังสมองในการระดมความคิดเห็น   แล้วนำเสนอ  กบศ.    เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาผลักดันให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำการแก้ไขกฎหมายต่อไป    ทั้งนี้   ตามนัยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๓   มาตรา  ๑๗ (๒) 
                         ส่วนที่มาของ  กวช. นั้น   แนวทางหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นไปได้  คือ   ให้  ก.บ.ศ. เป็นผู้แต่งตั้ง  โดยอาศัยอำนาจตาม   พรบ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๓   มาตรา  ๑๗  (๗)        ซึ่งบัญญัติไว้ว่า   ก.บ.ศ.  มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารราชการศาลยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับงานบริหารราชการและงานธุรการของสำนักงานศาลยุติธรรม และให้มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลให้ทำการใด ๆแทนได้  
                     แต่อย่างไรก็ตาม    ก็มีข้อสังเกตว่า   เนื่องจากการทำงานของคณะกรรมการจะเป็นลักษณะงานด้านวิชาการโดยแท้จริง  ดังนั้น หากแต่งตั้งให้เป็นโดยตำแหน่งบางครั้งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้เหมือนกัน    ถ้าเป็นไปได้หากเปิดโอกาสให้มีการรับสมัคร  แล้วมีกระบวนการคัดเลือกที่เหมาะสม มีกติกาที่ชัดเจนและโปร่งใส   ก็น่าจะได้บุคคลากรที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากว่า   ที่สำคัญเราจะได้บุคคลที่เสียสละ  มีความตั้งใจทำงานด้านวิชาการอย่างแท้จริง    ซึ่งเรื่องตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำงานนี้   โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาใด  เพราะบุคลากรด้านวิชาการของศาลเราที่มีศักยภาพสูงและพร้อมที่จะเสียสละน่าจะมีให้เลือกมากมาย  ( หรือหากจัดให้มีการเลือกตั้งจากตัวแทนของทั้งสามชั้นศาลทำนองเดียวกันกับ  ก.ต.  หรือ   กบศ.  ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทันยุคทันสมัย    สร้างสีสรร และสร้างความน่าสนใจได้ไม่น้อย  ที่สำคัญน่าจะได้รับการยอมรับมากกว่าการแต่งตั้ง  )   
                        ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือว่า   อาจมีการตั้งกรรมการขึ้นมาหลายคณะก็ได้    โดยแบ่งตามสาขาวิชาไป    จากนั้นก็คัดเลือกจากบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกฎหมายแต่ละสาขาโดยเฉพาะเข้าไปทำงาน    ทั้งนี้  ทั้งนั้น   คงไม่จำเป็นต้องให้คณะกรรมการไปดำรงตำแหน่งประจำในสำนักวิชาการ    โดยให้ท่านทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม   เพียงแต่มีภาระหน้าที่พิเศษเฉพาะขึ้นมาอีกหน้าที่หนึ่ง  ทำนองเดียวกับ  ก.ต.  หรือ  ก.บ.ศ.      ทั้งนี้  ก็เพื่อว่าท่านจะได้นำความรู้  นำประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติงานโดยตรง  มาปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่งานด้านวิชาการได้อย่างลงตัว  
                     ผู้เขียนเห็นว่า  หากมีการตั้ง   กวช. ขึ้นมาจริงๆต่อไปรูปแบบในการสัมนาทางวิชาการ   คงจะเป็นไปในแนวทางที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมนาได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด   วิทยากรคงมีบทบาทหน้าที่เพียงแค่กำหนดประเด็นการสัมนา  แล้วรวบรวมความคิดความเห็นและคำถามต่าง ๆไปให้  กวช.  เพื่อพิจารณาตรวจสอบกลั่นกรองแล้วมีมติหรือความเห็นออกมา  ซึ่งรูปแบบดังกล่าว  น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนางานด้านวิชาการอย่างแท้จริง   ไม่ใช่เป็นไปในลักษณะของการบรรยายความรู้เหมือนเช่นการสัมนาที่ผ่านมา     
                         แน่นอนว่า   ถึงที่สุดแล้ว    ความเห็นของ  กวช.   คงไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย     แต่อย่างน้อย  การสร้างกระบวนการระดมความคิดเห็นและกระบวนการตัดสินใจ  ขึ้นมาอย่างเป็นระบบน่าจะช่วยให้การทำงานขององค์กรเรามีความเป็นเอกภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้   ( การใช้วิธีให้ความเห็นในลักษณะ ถาม ตอบ ของสำนักวิชาการหรือสำนักประธานศาลฎีกา ที่ทำกันอยู่ขณะนี้   จากการสังเกตุการตอบรับของผู้พิพากษารู้สึกว่าจะให้ความสำคัญหรือความน่าเชื่อถือไม่มากนัก   เพราะโดยรูปแบบไม่รู้ว่าเป็นความคิดความเห็นของใคร  มีกระบวนการในการจัดทำอย่างไร  และบางเรื่องก็ไม่มีความเห็นที่ชัดเจนว่า  ตกลงจะเอากันอย่างไร )   
                         ที่สำคัญหากคณะกรรมการสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว    บางทีมติหรือความคิดเห็นของกรรมการอาจจะได้รับการยอมรับไม่น้อยไปกว่า แนวคำพิพากษาของศาลฎีกาด้วยซ้ำไป   เพราะโดยระบบหรือโดยรูปแบบสามารถเปิดกว้างให้มีการระดมความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางและหลากหลายมากกว่า     และที่แน่ ๆก็คือ   การปฏิบัติงานของคณะกรรมการดังกล่าว    จะคล่องตัว   รวดเร็ว  และสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที    ทันเหตุการณ์   ได้มากกว่าศาลฎีกา    เพราะไม่ต้องรอให้คู่ความยื่นอุทธรณ์ ฎีกา ขึ้นไปก่อน     คณะทำงานสามารถหยิบยกปัญหาขึ้นมาพิจารณาได้ทันทีเมื่อมีข้อหารือเข้ามาหรือเห็นเองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา     นอกจากนั้น    ยังเห็นว่าปัญหาข้อกฎหมายในบางเรื่อง    โดยสภาพของความเป็นจริงหรือโดยสภาพของเงื่อนไขข้อจำกัดด้านกฎหมาย     ทำให้ปัญหาไม่มีโอกาสขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา  กวช. ก็น่าจะสามารถช่วยเหลือแก้ไขเยียวยาช่องว่างตรงนี้ได้เป็นอย่างดี
                    อนึ่ง    ผู้เขียนเห็นว่า   จริง ๆแล้ว  ประเทศไทยเราน่าจะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารงานยุติธรรมในระดับชาติขึ้น    โดยมีที่มาจากตัวแทนของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม   อันได้แก่    ศาล   อัยการ  ตำรวจ   ทนายความ   รวมทั้งตัวแทนของกรมต่าง  ๆในสังกัดกระทรวงยุติธรรม    ทั้งนี้  เพื่อทำหน้าที่ร่วมกันกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรมของชาติในภาพรวม   รวมทั้งช่วยเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานการปฏิบัติงานระหว่างองค์กรต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดให้สอดคล้องต้องกัน  เป็นไปในแนวทางเดียวกัน    ไม่ใช่ต่างคนต่างทำต่างคนต่างคิดเหมือนเช่นปัจจุบัน  
                         ตัวอย่างเช่น   ในการแก้ไข  ป.วิอาญา  ใหม่ล่าสุดที่ผ่านมา    จะเห็นว่า  มีการแก้ไขหลักกฎหมายที่สำคัญ ๆค่อนข้างมากและมีหลายเรื่องที่แต่ละหน่วยงานแต่ละองค์กรมีความคิดความเห็นที่แตกต่างกัน   ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากับเจ้าหน้าที่ในภาคปฏิบัติไม่น้อย  ดังนั้น   หากมีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้น    ก็น่าจะมีส่วนช่วยเหลือแก้ไขปัญหาได้บ้างไม่มากก็น้อย    อย่างไรก็ตาม   ข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่   เท่าที่ทราบได้มีการพูดถึงกันมานานแล้ว   แต่จนถึงขณะนี้  ก็ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน   ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้น  หรือจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่  
                         ดังนั้น   เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า  จึงเห็นว่าศาลยุติธรรมเราในฐานะผู้นำในกระบวนการยุติธรรม   น่าจะพยายามแสดงบทบาทภาวะผู้นำให้ปรากฏอย่างแจ้งชัด    เรื่องไหนเราเห็นอย่างไร   จะเอากันอย่างไร  ต้องว่ากันให้ชัดเจน และปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศอย่างเป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกัน   (โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติที่องค์กรอื่น ๆต้องปฏิสัมพันธ์กับศาลเรา)    ไม่ใช่ว่าแต่ละคน   แต่ละศาล  แต่ละภาค  ปฏิบัติไปคนละอย่างสองอย่าง      ผู้เขียนเชื่อว่า  โดยสถานะของศาลยุติธรรมเราซึ่งเป็นสถาบันที่สังคมให้การยอมรับเชื่อถือมาอย่างยาวนาน    หากเรามีความเห็นหรือกำหนดเงื่อนไขกติกาหรือแนวทางปฏิบัติเรื่องใดขึ้นมา     องค์กรอื่น ๆเขาพร้อมที่จะปฏิบัติตามพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว    ข้อเสนอให้มีการตั้ง  กวช.  ขึ้นมานอกจากจะทำให้การปฏิบัติงานของศาลเรามีความเป็นเอกภาพแล้ว   ยังจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในทางปฏิบัติขององค์กรอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของศาลเราอีกทางหนึ่งด้วย
                       
เรื่องที่สอง    -  บทบาทหน้าที่ของศาลยุติธรรม
                         หลักการแนวคิดในการบริหารงานเรื่องหนึ่ง  ซึ่งเป็นที่สนใจของนักบริหารยุคใหม่ในปัจจุบัน   คือ   คำว่า  การคิดนอกกรอบ     ดังนั้น  ผู้เขียนจึงเห็นว่า   บทบาทของศาลยุติธรรมเรา  ตามบริบทเดิมที่รอให้มีการฟ้องคดีเข้ามา  แล้วตัดสินคดีไป  ใครไม่เห็นด้วยก็อุทธรณ์ ฎีกาไป    อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการบริหารงานในยุคใหม่แล้ว     ข้อเสนอก็คือว่า   ศาลยุติธรรมเราน่าจะพยายามคิดหามาตรการหรือวิธีการในการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น   โดยน่าจะพยายามคิดหาวิธีการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาประชาชนในช่องทางอื่นด้วย  
                        จากแนวคิดดังกล่าว    ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอตัวอย่างแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานด้านคดีเรื่องหนึ่ง  คือ       เกี่ยวกับเรื่องคดีขอจัดการมรดก   ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้   คือ 
                        เนื่องจากปัจจุบันมีคดียื่นขอจัดการมรดกจำนวนมาก     รวมทั่วประเทศน่าจะวันละหลายร้อยหรือเป็นพันเรื่อง     จากการสังเกต   คดีหลายเรื่อง    ผู้ตายมีทายาทเพียงคนเดียวหรือสองคน    ทรัพย์สินของผู้ตายก็มีที่ดินเพียง  ๑- ๒  แปลง   หรือมีทรัพย์สินอื่นเพียงเล็กน้อย       คดีหลายเรื่องจากการสังเกตการแต่งตัวหรือลักษณะการเบิกความของผู้ร้องแล้ว   รู้สึกหดหู่ใจ   เขาลำบากยากจนถึงขนาดนั้น   ทรัพย์สินมีนิดเดียว    ทำไมเขาต้องเสียเวลามาศาล   ทำไมเขาต้องเสียค่าจ้างทนายความเป็นเงินหลายพันบาทเพื่อจัดการทรัพย์สินอันน้อยนิดของเขา    และทำไมศาลจะต้องเสียเวลา   เสียค่าใช้   เสียบุคลากร สำหรับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมากมาย   
                        จากสภาพปัญหาดังกล่าว     จึงเห็นว่า   เราน่าจะพิจารณาทบทวนความหมายของคำว่า   เหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมรดก    ตาม   ป.พ.พ.  ม.๑๗๑๓(๒)   กันใหม่     โดยตีความให้เคร่งครัดมากยิ่งขึ้น   คือ ต้องมีเหตุขัดข้องจริง ๆ    คดีจัดการมรดกทุกวันนี้    เชื่อว่าไม่ต่ำกว่า  ๙๐  เปอร์เซนต์    ทายาทเจ้ามรดกไม่มีปัญหาระหว่างกัน   เท่าที่เห็นเกือบทุกคดีทายาททุกคนไม่ขัดข้องในการที่ผู้ร้องจะยื่นขอจัดการมรดกกันทั้งนั้น     แล้วมันจะขัดข้องได้อย่างไร      จริง ๆแล้ว  เหตุขัดข้องมันเกิดจากเจ้าหน้าที่ขององค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้เขา   เหตุผลหลักก็คงจะเป็นเพราะ   เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เสี่ยงต่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง  จึงปัดภาระมาให้ศาล    
                         ปัญหาดังกล่าว   หากศาลยุติธรรมเราสร้างมาตรการแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ   ด้วยการออกเป็นระเบียบประธานศาลฎีกา  ว่าด้วยหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับฟ้องคดีจัดการมรดก   โดยอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  ๕    น่าจะช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ได้มากเลยทีเดียว  ทั้งยังเป็นการลดงาน  ลดเวลา และภาระค่าใช้จ่ายของศาลเราได้อีกมากมาย       ทั้งนี้   ตามระเบียบดังกล่าว  น่าจะกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกในทำนองว่า    ผู้ร้องต้องระบุในคำร้องให้ชัดเจนว่า    มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกหรือในการแบ่งมรดกอย่างไร  แบ่งมรดกกันไม่ได้เพราะสาเหตุใด     ทายาทคนไหนที่มีปัญหา   ก็ระบุชื่อให้ชัดเจนว่า  เป็นใคร   มีปัญหาอย่างไร        
                          หากระบุในคำร้องเพียงว่า   ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับโอนมรดกแล้ว  เขาไม่ยอมทำให้      เหมือนเช่นคำร้องทั่วไปในปัจจุบันนี้   เราก็ไม่รับฟ้อง    โดยตีความกฎหมายว่า    เหตุผลดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก      สำหรับปัญหากรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้นั้น    สำนักงานศาลยุติธรรมน่าจะปฏิบัติการในเชิงรุก    โดยการประสานงานทำความเข้าใจไป    หากหน่วยงานใดมีปัญหาติดขัดในแง่ของระเบียบกฎหมาย   สมควรที่จะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร    เราก็ควรจะชี้แจงให้คำแนะนำเขาไปตามความเหมาะสม  
                         นอกจากนั้น  ยังเห็นว่า   หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้  โดยไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ ประชาชนก็ยังมีช่องทางเรียกร้องความยุติธรรมได้จากศาลปกครองอีกทางหนึ่ง       อาจมีข้อโต้แย้งว่า    หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้ว   ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในภายหลังก็ไม่พ้นศาลอยู่ดี    แต่ก็เห็นว่า    เมื่อคนส่วนใหญ่กว่า  ๙๐  เปอร์เซนต์  ไม่มีปัญหา    แล้วทำไมเราจะต้องนำหลักการหรือวิธีปฏิบัติที่ระแวงคนส่วนน้อยไม่กี่คนที่มีปัญหา   มาบังคับใช้กับคนส่วนใหญ่ให้ได้รับความเดือดร้อนเล่า    เราน่าจะสร้างกฎกติกาเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ก่อน   ส่วนคนส่วนน้อยที่มีปัญหา  เราก็ค่อยหยิบยกขึ้นมาว่ากันเป็นราย ๆไป ./
                                   
เรื่องที่สาม     -   อำนาจในการบริหารกับอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี   
                         สืบเนื่องจาก   กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา  ๒๔๙   บัญญัติให้ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวง  ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น   ซึ่งดูเผิน ๆแล้วก็เป็นหลักการที่ดี   แต่ในทางปฏิบัติ ปรากฎว่าก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง  คือ    ระหว่างอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีกับอำนาจหน้าที่ในทางบริหารนั้น   บางครั้งบางเรื่องมันเกี่ยวพันกันจนแยกไม่ออก    เราไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนว่า  อันไหนเป็นเรื่องอรรถคดีอันไหนเป็นเรื่องการบริหาร   เช่น    ระเบียบว่าด้วยแนวปฏิบัติในการนั่งพิจารณาคดีต่อเนื่อง   การนัดคดีของศูนย์นัดความ  หรือ นโยบายของหัวหน้าศาลในเรื่องต่าง ๆอันเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี   ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาบางท่านเห็นว่า   ประธานศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไม่มีสิทธิก้าวก่ายการบริหารงานคดีความของท่าน   เพราะท่านเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ  หรือ กรณีเรื่องยี่ต๊อกของแต่ละศาล   มีปัญหาว่า   หากผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งตัดสินคดีโดยไม่สนใจยี่ต๊อกเลย  จะทำได้หรือไม่   อย่างไร
                        จากสภาพปัญหาดังกล่าว    จึงขอเสนอว่า   -   ศาลยุติธรรมน่าจะพยายามแบ่งแยกให้ชัดเจนว่า   เรื่องไหนเป็นอำนาจทางคดี  เรื่องไหนเป็นอำนาจทางบริหาร     อาจจะไม่สามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์    แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างปัจจุบัน    เพราะบางครั้งบางเรื่องเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาข้อขัดแย้งในหน่วยงาน ทั้งยังสร้างความลำบากใจให้กับผู้บริหารในระดับต่าง ๆมากพอสมควร  ที่สำคัญ  เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้การปฏิบัติงานของศาลเราขาดความเป็นเอกภาพ     จริง  ๆแล้ว   ผู้เขียนเห็นว่า    เจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๒๔๙    น่าจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันผู้บริหารมิให้ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเรื่องเฉพาะคดีมากกว่า
                          ดังนั้น   จึงเห็นว่า     หลักเกณฑ์เงื่อนไขการแบ่งอำนาจในเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นว่า    กรณีการออกคำสั่งหรือแนวทางปฏิบัติในเรื่องใดที่ออกมาเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับทุกคนกับทุกคดีน่าจะเป็นเรื่องอำนาจทางการบริหารซึ่งผู้บริหารสามารถสั่งการได้   หากบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามอาจเข้าข่ายผิดวินัยข้าราชการได้     แต่ถ้าเป็นการสั่งให้ปฏิบัติเฉพาะเรื่องเฉพาะคดีแล้ว   กรณีต้องถือว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี    ซึ่งผู้บังคับบัญชาไม่สามารถทำได้      ตัวอย่าง เช่น   ระเบียบเกี่ยวกับการพิจารณารับฟ้องคดีจัดการมรดก  ตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น    ต้องถือว่า  เป็นอำนาจทางการบริหาร   ซึ่งท่านประธานศาลฎีกาสามารถทำได้    ในทำนองเดียวกันกับ  การออกระเบียบฯเกี่ยวกับการออกหมายค้น หมายจับ  หรือการปล่อยชั่วคราว          
                 หรือกรณีเรื่อง  ยี่ต๊อก    ต้องถือว่า   เป็นอำนาจทางการบริหารของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่สามารถสั่งการได้   เพราะอย่างน้อยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  ๑๑   ก็บัญญัติไว้ว่า  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลต้องรับผิดชอบงานในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย    หากศาลเดียวกันผู้พิพากษาตัดสินคดีในลักษณะเดียวกันไปคนละอย่างสองอย่าง     คงทำให้งานราชการของศาลเรียบร้อยได้ยาก       ส่วนใหญ่ยี่ต๊อกมักจะกำหนดเงื่อนไขกติกาในทำนองว่า   หากคดีใดผู้พิพากษาจะตัดสินแตกต่างจากยี่ต๊อกให้ปรึกษาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลก่อน  ซึ่งจะเห็นว่า   เป็นการใช้อำนาจในเชิงโครงสร้างเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฎิบัติงานของศาลเป็นเอกภาพเท่านั้น   ไม่ใช่เป็นการแทรกแซงดุลพินิจในการตัดสินคดีแต่อย่างใด   เพราะเมื่อมีการปรึกษาคดีแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า  หัวหน้าศาลจะมีอำนาจสั่งให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีตามความเห็นของหัวหน้าได้   หัวหน้าศาลคงทำได้แค่ให้ความเห็น หรือคำแนะนำในฐานะผู้บริหารเท่านั้น   สุดท้ายก็คงเป็นดุลพินิจของเจ้าของสำนวนและองค์คณะที่จะต้องตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด    ความผิดของผู้  พิพากษา  หากจะมี  ก็คงอยู่ที่การไม่ยอมปรึกษาหัวหน้าตามที่ยี่ต๊อกกำหนดเงื่อนไขกติกาไว้    ไม่ใช่มีความผิดเพราะไม่เชื่อตามความเห็นของหัวหน้า
                นอกจากนั้น   ผู้เขียนยังมีความเห็นว่า   หากเรากำหนดหลักเกณฑ์การแยกอำนาจบริหารกับอำนาจทางอรรถคดีตามข้อเสนอดังกล่าว    ปัญหาเรื่องการแต่งตั้งให้ผู้พิพากษาอาวุโสไปเป็นกองเซ็นเซอร์ในศาลชั้นต้น   หรือการให้อำนาจอธิบดีหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีอำนาจตรวจร่างคำพิพากษา   ตามประเด็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันในขณะนี้    ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอีก   เพราะบทบาทหน้าที่ของผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้บริหารมีเพียงช่วยตรวจสอบรูปแบบ  ความสมบูรณ์หรือความเรียบร้อยของคำพิพากษา และให้ความเห็นหรือคำแนะนำในฐานะผู้ที่มีความรู้มีประสบการณ์มากกว่าเท่านั้น    ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้พิพากษาเองและต่อประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีความในศาลมากกว่าที่จะทำให้เกิดผลเสีย    บทบาทหน้าที่ดังกล่าว  จึงไม่ใช่การแทรกแซงดุลพินิจในทางอรรถคดี   เพราะเป็นกติกาที่บังคับใช้กับทุกคนทุกคดี และที่สำคัญ ถึงที่สุดแล้ว  ในส่วนของคำชี้ขาดสุดท้ายในผลแห่งคดี   ก็คงเป็นดุลพินิจของเจ้าของสำนวนและองค์คณะที่จะต้องตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด  ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้บริหารคงไม่มีอำนาจบังคับให้ตัดสินคดีตามความเห็นของตนได้   
                              ดังนั้น   จึงเห็นว่า   ภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ของตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน  ประธานศาลฎีกา   ก.ต.  หรือ  ก.บ.ศ.   น่าจะใช้อำนาจในทางบริหารนำระเบียบกฎหมายต่าง ๆที่เกี่ยวข้องมากำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้มีการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวได้   โดยไม่จำเป็นต้องเสนอแก้ไขกฎหมายให้ยุ่งยากอีก   แต่อย่างไรก็ตาม   เพื่อไม่ให้ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้บริหารเป็นเพียงเสือกระดาษ    จึงเห็นว่า  น่าจะสร้างกลไกในการตรวจสอบหรือในการทำงาน   โดยให้ท่านมีอำนาจบ้างตามสมควร   เช่น   หากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่เห็นด้วยกับความเห็นหรือคำแนะนำของท่าน    ก็อาจจะให้อำนาจท่านจัดทำบึนทึกความเห็นหรือข้อสังเกตุกลัดติดไว้ในสำนวนได้   เป็นต้น
                ท้ายที่สุดนี้    ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่า   ความเห็นของผู้เขียนตามข้อเสนอดังกล่าว   น่าจะสามารถนำไปปรับใช้ในทางปฏิบัติได้ไม่ยากและน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสำนักงานศาลยุติธรรม  ต่อประชาชน    ต่อสังคมโดยส่วนรวมไม่น้อยเลยทีเดียว     ในโอกาสนี้ผู้เขียนจึงใคร่ขอฝากข้อเสนอทั้ง  ๓  เรื่องดังกล่าวข้างต้น    ต่อคณะผู้บริหารงานศาลยุติธรรมและทุกท่าน  ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง    เพื่อกำหนดเป็นนโยบายและผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปด้วยนะครับ./ 


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ศาลยุติธรรม  ปีที่ ๕  ฉบับพิเศษ  ประจำเดือนมิถุนายน กันยายน ๒๕๔๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น