1/05/2555

การสืบมรดกกับการรับมรดกแทนที่กัน

                                          การสืบมรดกกับการรับมรดกแทนที่กัน[1]                                                                 
                                                                                                  โดย...โสต  สุตานันท์
           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   มาตรา  ๑๖๓๙  บัญญัติว่า   ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  ๑๖๒๙  (๑) (๓) (๔)  และ (๖)  ถึงแก่ความตาย   หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย  ๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย    จากบทบัญญัติดังกล่าว   มีปัญหาสำคัญประการหนึ่งซึ่งมีการถกเถียงกันมานานแล้วว่า  สิทธิในการรับมรดกแทนที่ของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้น  จะมีได้เฉพาะกรณีถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย หรือมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ทั้งกรณีถูกกำจัดก่อนและถูกกำจัดหลังเจ้ามรดกตาย   ซึ่งที่ผ่านมามีความเห็นที่แตกต่างกัน  ๓   ความเห็น  พอสรุปได้  คือ
            ความเห็นแรก  เห็นว่า   แม้มาตรา  ๑๖๓๙  จะบัญญัติไว้ว่า  ทายาทที่จะถูกรับมรดกแทนที่ได้จะต้องเป็นทายาทที่ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น  แต่มาตรา   ๑๖๐๗  ก็บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกมีสิทธิสืบมรดกต่อไป  ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้กว้าง ๆ   ดังนั้น  จึงถือเสมือนว่า มาตรา  ๑๖๐๗  เป็นบทยกเว้นมาตรา  ๑๖๓๙   ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่ได้ไม่ว่าทายาทนั้นจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตายก็ตาม   ทั้งนี้  ได้ยกตัวอย่างสนับสนุนความเห็น  คือ  การถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายบางกรณี  เช่น  ฆ่า หรือพยายามฆ่า  เจ้ามรดก  ตาม มาตรา ๑๖๐๖(๑)    ถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากกว่าการถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตาย    อันเนื่องมาจากการปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก  ตามมาตรา  ๑๖๐๕    ดังนั้น  จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามมิให้ ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตาย  มิให้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ 
        ความเห็นที่สอง  เห็นว่า เมื่อมาตรา  ๑๖๓๙   ได้บัญญัติถึงสิทธิในการรับมรดกแทนที่ไว้เป็นการเฉพาะอย่างชัดเจนแล้ว   ก็ต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้กล่าวคือ   การรับมรดกแทนที่จะมีได้ ๒ กรณีเท่านั้น  คือ  กรณีทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตายก่อนเจ้ามรดก และ กรณีทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย    กรณีทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกถูกกำจัดมิให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตาย  จึงไม่อาจมีการรับมรดกแทนที่ได้ 
       ความเห็นที่สาม  เห็นว่า  เพื่อความเป็นธรรม   ควรปรับใช้กฎหมายโดยหากเป็นการถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายก็ปรับเข้ากับ มาตรา  ๑๖๓๙   แต่หากถูกกำจัดมิให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตาย  ก็ปรับเข้ากับ  มาตรา  ๑๖๐๗    ซึ่งก็หมายความว่า   ทายาทผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสามารถรับมรดกแทนที่ได้ทั้ง  ๒  กรณี  ไม่ว่าถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตาย
       ปัญหาเรื่องดังกล่าว   ผู้เขียนก็รู้สึกสงสัยมานานแล้วว่า   จริง ๆแล้วความเห็นที่ถูกต้องคืออะไร   แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง   พอดีผู้เขียนได้รับการติดต่อให้เป็นอาจารย์สอนเสริมให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  วิชากฎหมายแพ่ง  ๓  (ครอบครัว มรดก)  ประจำภาคการศึกษาที่  ๑/๒๕๔๘  ที่ผ่านมา   จึงได้ถือโอกาสศึกษาค้นคว้าและนำประเด็นปัญหาดังกล่าวมาพินิจพิเคราะห์โดยละเอียดอย่างจริงจัง   ซึ่งในที่สุดผู้เขียนก็ได้ความเห็นเพิ่มขึ้นมาอีกความเห็นหนึ่ง   จึงขอนำเสนอต่อท่านผู้อ่านเพื่อพิจารณาว่า  เห็นด้วยหรือไม่  อย่างไร    ผู้เขียนขออนุญาตเรียกว่า  ความเห็นที่สี่ ก็แล้วกัน   รายละเอียดความเห็นมีดังนี้   คือ
                       ความเห็นที่สี่     -  ผู้เขียนเห็นว่า  คำว่า  สืบมรดก   ตาม  มาตรา  ๑๖๐๗  กับ  มาตรา  ๑๖๑๕  และ มาตรา  ๑๖๑๖    กับคำว่า   การรับมรดกแทนที่ตาม มาตรา๑๖๓๙  นั้น กฎหมายเขียนแยกกันไว้คนละลักษณะกัน  แสดงว่า   ต้องการให้มีผลบังคับใช้แตกต่างกัน    จากการสังเกต  มาตรา  ๑๖๐๗ และ มาตรา  ๑๖๑๖  จะเห็นว่า   กฎหมายบัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันว่า     ทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกหรือทายาทผู้สละมรดก ไม่มีสิทธิในส่วนทรัพย์สินอันผู้สืบสันดานของตนได้รับมา  ในอันที่จะจัดการและใช้ได้   จึงย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า   ขณะได้รับมรดกมา   ทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกหรือทายาทผู้สละมรดกยังไม่ตาย     ส่วนตาม  มาตรา  ๑๖๓๙   นั้น  จะเห็นว่า  กฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า   เมื่อทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตายไปแล้ว   และใครมีสิทธิจะรับมรดกแทนได้บ้าง      ดังนั้น    ในความเห็นของผู้เขียน    จึงเห็นว่า   การสืบมรดก  กับ  การรับมรดกแทนที่  เป็นคนละเรื่องกัน   จะนำมาพิจารณาปะปนกันไม่ได้      ผู้เขียนขอแยกวิเคราะห์ทั้ง  ๒  กรณี ดังกล่าว  ดังนี้  คือ
                        ๑.) เกี่ยวกับเรื่อง การสืบมรดก    -    จากการตรวจสอบ  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   บรรพ ๖  ว่าด้วยเรื่องมรดก  ได้บัญญัติให้มีการสืบมรดกได้  ๒  กรณี คือ   กรณีทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกถูกกำจัดมิให้รับมรดก ตาม มาตรา ๑๖๐๗   กับ กรณีทายาทสละมรดก  ตาม  มาตรา  ๑๖๑๕   ส่วนการที่ทายาทถูกตัดมิให้รับมรดก  กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้สืบมรดกได้    ซึ่งจากการสังเกตจะเห็นว่า   การถูกกำจัดมิให้รับมรดก กับ การสละมรดก นั้น  เป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเอง  ไม่เกี่ยวกับเจตนาของเจ้ามรดกเลย    ซึ่งผู้ร่างกฎหมายคงเห็นว่า   การกระทำของทายาทนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว  ไม่น่าจะให้มีผลกระทบต่อลูกหลาน  คือ   พ่อแม่ไม่ดีโดยลูกหลานไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยเลย   จะให้มารับบาปเคราะห์ด้วยได้อย่างไร     ส่วนกรณีการตัดมิให้รับมรดกนั้น  จะเห็นว่า   เป็นเจตนาของเจ้ามรดกเองที่ประสงค์จะตัดมิให้ทายาทคนนั้น ๆได้รับมรดก   ดังนั้น  จึงเข้าใจว่า   ผู้ร่างคงเคารพเจตนาของเจ้ามรดก  (ซึ่งถือว่าเป็นพระเอกของกฎหมายบรรพนี้  )    เพราะเมื่อเจ้ามรดกตัดไม่ให้ทายาทคนใดมีสิทธิได้รับมรดกแล้ว   ย่อมแสดงว่า   เขาไม่สนใจใยดีครอบครัวนั้นแล้ว    กฎหมายจึงไม่ได้บัญญัติให้สืบมรดกกันได้
                        ๒.)  เกี่ยวกับเรื่อง การรับมรดกแทนที่  -    ขอแยกวิเคราะห์เป็น  ๒  กรณี   คือ
                            กรณีแรก   -  กรณีไม่มีการถูกกำจัด  ถูกตัด  หรือการสละมรดกเลย    เมื่อทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกคนใดตาย   ผู้สืบสันดานก็มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ไป  อันนี้เป็นหลักเกณฑ์ธรรมดา  ตรงตามตัวบทไม่มีปัญหาใด
                            กรณีที่สอง  -  กรณีมีทายาทถูกกำจัด    ถูกตัด  หรือสละมรดก    ผู้เขียนมีความเห็นว่า  โดยสภาพของการถูกกำจัด  ถูกตัด  หรือ สละ  มิให้รับมรดกนั้น  ย่อมมีผลเมื่อเจ้ามรดกตายแล้วเท่านั้น   เพราะตราบใดที่เจ้ามรดกยังไม่ตายย่อมยังไม่มีกองมรดกเกิดขึ้น    กล่าวเฉพาะกรณีการกำจัดมิให้รับมรดกนั้น   จริง ๆแล้ว   ตาม  มาตรา  ๑๖๐๕  และ  มาตรา  ๑๖๐๖   เป็นเพียงเหตุแห่งการถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกเท่านั้น  ซึ่งบางกรณีก็เกิดขึ้นก่อนเจ้ามรดกตาย บางกรณีก็เกิดภายหลัง  แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง  ผลของการถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก  ย่อมเกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายเท่านั้น  ดังนั้น  การถูกกำจัด  ตัด หรือสละมรดกจะมีผลก็ต่อเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า   ขณะเจ้ามรดกตาย   ผู้ถูกกำจัด  ถูกตัด  หรือสละมรดกยังมีชีวิตอยู่     หากขณะเจ้ามรดกตาย  บุคคลดังกล่าวได้ตายไปก่อนแล้ว   ย่อมไม่มีตัวทายาทที่จะให้กำจัด  ตัด หรือสละมรดกได้      การพิจารณาจัดแบ่งมรดกก็ต้องยึดหลักธรรมดาทั่วไปเหมือนเช่นกรณีแรก คือ  ผู้สืบสันดานของทายาทที่ตายไปแล้ว   ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้      ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า   มาตรา  ๑๖๓๙  ไม่ได้พูดถึงเรื่อง  การสละมรดก  หรือ การตัดมิให้รับมรดกไว้เลยว่ารับมรดกแทนที่ได้หรือไม่    สาเหตุก็น่าจะเนื่องมาจากเหตุผลดังที่กล่าวมา    เพราะเมื่อทายาทคนนั้นตายไปก่อนแล้ว  จะสละหรือถูกตัดไม่ให้รับมรดกได้อย่างไร     ตัวอย่างสนับสนุนความเห็นของผู้เขียนที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ   มาตรา ๑๖๑๙   ซึ่งบัญญัติว่า  ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้      การที่  มาตรา  ๑๖๓๙  บัญญัติถึงเรื่องการถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกไว้นั้น    น่าจะมีสาเหตุเนื่องมาจากว่า    การถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกนั้น  มีสาเหตุหลายประการ   บางกรณีก็เกิดก่อนบางกรณีก็เกิดหลังเจ้ามรดกตาย  ดังนั้น  เพื่อความชัดเจนจึงเขียนเน้นย้ำไปว่า   แม้เหตุที่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกจะเกิดขึ้นก่อนเจ้ามรดกตาย   ผู้สืบสันดานของทายาทก็มีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้     ส่วนกรณีเหตุที่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกเกิดขึ้นหลังเจ้ามรดกตายนั้น    ก็ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่า  ขณะเจ้ามรดกตาย  ผู้ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกยังมีชีวิตอยู่   จึงต้องไปพิจารณาเรื่องการสืบมรดกตาม  มาตรา  ๑๖๐๗    ไม่ใช่เรื่องการรับมรดกแทนที่     นอกจากนั้น  ผู้เขียนยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกคือ   ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๖๔๑  บัญญัติไว้ว่า  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  ๑๖๒๙  (๒)  หรือ (๕)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้ามีทายาทในลำดับเดียวกันยังมีชีวิตอยู่  ก็ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตกได้แก่ทายาทนั้นเท่านั้น  ห้ามมิให้มีการรับมรดกแทนที่กันต่อไป   ซึ่งจะเห็นว่า  คำว่า  ... ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย...     นั้น   เขียนไว้เหมือนกับ มาตรา  ๑๖๓๙   และผู้เขียนก็เห็นว่า  คำว่า ถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายในมาตรา  ๑๖๔๑    ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกันกับมาตรา  ๑๖๓๙  ดังที่ผู้เขียนได้ให้ความเห็นไว้ข้างต้น  กล่าวคือ  หมายถึง    เหตุที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกเกิดขึ้นก่อนเจ้ามรดกตาย     ไม่ใช่ผลของการถูกกำจัดมิให้รับมรดก     เพราะถ้าเราแปลความกฎหมายตามตัวอักษรโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยแปลความหมายกลับกัน    ก็ย่อมแสดงว่า   การถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตาย    สามารถมีการรับมรดกแทนที่ทายาทลำดับ  ๒  และ  ๕  ได้     ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  
                กล่าวโดยสรุปก็คือ   ผู้เขียนเห็นว่า    การสืบมรดก  กับ  การรับมรดกแทนที่  เป็นคนละเรื่องกัน     การสืบมรดกจะมีได้  ๒  กรณี  คือ   การถูกกำจัดมิให้รับมรดก ตาม  มาตรา  ๑๖๐๗   กับ การสละมรดก  ตาม มาตรา  ๑๖๑๕   ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ  ขณะเจ้ามรดกตาย   ผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดก หรือผู้สละมรดก ยังมีชีวิตอยู่   ส่วนกรณีถูกตัดมิให้รับมรดกนั้น   ไม่สามารถสืบมรดกได้  เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้    สำหรับ การรับมรดกแทนที่  นั้น    จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ  ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก    และผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ทุกกรณี   โดยไม่ต้องไปพิจารณาถึงเรื่องการถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก  การตัดไม่ให้รับมรดกหรือการสละมรดกเลย   ทั้งนี้    เนื่องจากโดยสภาพตามความเป็นจริง  การถูกกำจัด  ถูกตัด หรือการสละมรดก  จะมีได้ก็ต่อเมื่อขณะเจ้ามรดกตาย   ทายาทผู้ถูกกำจัด  ถูกตัดหรือสละมรดกยังมีชีวิตอยู่  ซึ่งจะต้องไปพิจารณาถึงเรื่องการสืบมรดก ไม่ใช่การรับมรดกแทนที่ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น  กล่าวเฉพาะการถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกนั้น   ต้องแปลความหมายในมาตรา  ๑๖๓๙  ที่ว่า  ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกก่อนตาย   ว่า  หมายถึง เหตุที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก  ไม่ใช่ผลของการถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก  และไม่ว่าเหตุแห่งการถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตาย   ผู้สืบสันดานของทายาทเจ้ามรดกย่อมมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ได้    ( จากเหตุผลดังที่กล่าวมาผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๘/๒๕๒๐  ซึ่งวินิจฉัยว่า  การที่ผู้สืบสันดานจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทมีอยู่  ๒ กรณี  ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  ๑๖๓๙   และไม่มีกฎหมายมาตราใดบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานที่จะเข้าแทนที่การรับมรดกของทายาทโดยธรรมที่ถูกตัดมิให้รับมรดก  ดังนั้น  เมื่อทายาทโดยธรรมผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตายก่อนเจ้ามรดก   ผู้สืบสันดานของทายาทผู้นั้นย่อมไม่มีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่ได้ )
      เราต้องไม่ลืมว่า  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเรามีต้นร่างมาจากกฎหมายต่างประเทศ  โดยเฉพาะในส่วนของบรรพ ๖  ว่าด้วยมรดกนี้   ก็มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๒๔๗๘   โดยมาตราต่าง ๆดังที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่เคยได้รับการปรับปรุงแก้ไขเลย  แน่นอนว่า   การแปลความหมายจากต้นร่างเดิมซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ  ย่อมต้องมีโอกาสผิดเพี้ยนไปบ้างไม่มากก็น้อย   ซึ่งก็มีปัจจัยเงื่อนไขหลายประการที่อาจก่อให้เกิดความผิดพลาดเช่นนั้นได้   ดังนั้น   ในการตีความกฎหมายบางมาตราที่ไม่ชัดเจน  เราคงต้องพยายามค้นหาเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายให้ได้  แล้วนำมาบังคับใช้ให้ถูกต้องและเป็นธรรมมากที่สุด   เพราะกฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรมแต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดความยุติธรรมเท่านั้น./


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร ดุลพาห  เล่ม ๓  ปีที่ ๕๒  กันยายน  -  ธันวาคม  ๒๕๔๘
และวารสารกฎหมาย  มสธ. ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น