1/05/2555

การใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสี่

การใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสี่[1]
                                                                                 โดย...โสต  สุตานันท์

                        กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่ผ่านมา  ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่อง อำนาจอธิปไตย   ไว้ทำนองเดียวกันว่า   อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย     ซึ่งคำว่า  อำนาจอธิปไตย นั้น  ก็เป็นที่เข้าใจกันมาโดยตลอดว่า  หมายถึง   การใช้อำนาจของทั้ง ๓  สถาบัน  อันได้แก่   อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ    ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ   หมายความว่า     แท้จริงแล้วอำนาจทั้งสามดังกล่าวเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคน   แต่ในทางปฏิบัติตามความเป็นจริง   เราคงไม่สามารถให้คนไทยทุกคนใช้อำนาจดังกล่าวโดยตรงได้    จึงมีความจำเป็นต้องมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นตัวแทนในการใช้อำนาจ  ภายใต้กระบวนการของระบอบประชาธิปไตย    ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา   ประชาชนได้มีส่วนในการใช้อำนาจเพียงแค่การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น    หลังจากนั้น    ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของตัวแทนที่ได้รับเลือกเข้าไปใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่   โดยประชาชนแทบจะไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจเลย    จนกระทั่ง   กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน  ปี  ๒๕๔๐   ได้อุบัติขึ้น     ประชาชนจึงได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนในการใช้อำนาจต่าง ๆได้โดยตรงมากขึ้น   เป็นต้นว่า 
-    การมีสิทธิ์เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน  เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยตรง  (มาตรา  ๑๗๐ )
-   การเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนเพื่อร้องขอให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลต่าง ๆที่ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร  นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ   หากเห็นว่า  มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจไปในทางที่ขัดต่อกฎหมาย  (มาตรา  ๓๐๓  และ ๓๐๔ )
-    การมีสิทธิอนุรักษ์  หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปะ หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นหรือของชาติ  และมีส่วนร่วมในการจัดการ  การบำรุงรักษา  และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (มาตรา  ๔๖ ) 
            นอกจากนั้น   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับชั่วคราว  พุทธศักราช   ๒๕๔๙   มาตรา  ๒๙   ยังบัญญัติเป็นหลักการไว้ว่า   เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ   ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้ออกเสียงประชามติว่า  จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ อย่างไร     อีกทั้งในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุดที่กำลังทำกันอยู่ในขณะนี้นั้น    ผู้เขียนก็เชื่อว่า    เนื้อหาสาระในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจต่าง ๆของประชาชนโดยตรง  น่าจะมีมากขึ้นกว่าเดิมยิ่งขึ้นไปอีก  หรืออย่างน้อย  ก็ไม่น่าจะน้อยกว่า  รัฐธรรมนูญฉบับปี  ๒๕๔๐  
            กล่าวโดยสรุปก็คือว่า   ณ  ปัจจุบันนี้   การใช้อำนาจของประชาชนนั้น   นอกจากจะใช้อำนาจโดยผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ   ฝ่ายบริหาร  และฝ่ายตุลาการ แล้ว   ประชาชนยังสามารถใช้อำนาจต่าง ๆได้โดยตรงอีกทางหนึ่ง    ซึ่งก็เป็นเหตุให้ผู้เขียนตั้งชื่อเรื่องบทความนี้ว่า  การใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสี่     ถึงตอนนี้ผู้อ่านคงหายสงสัยชื่อบทความของผู้เขียนแล้วว่า   ไม่ได้มีการเข้าใจผิดหรือพิมพ์ผิดพลาดแต่อย่างใด
      ไม่ว่าเราจะทำอะไรในโลกนี้  ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะมีผลกระทบต่ออีกสิ่งหนึ่ง   ดุจดั่งคำกล่าวที่ว่า  เราไม่สามารถเด็ดดอกไม้   โดยไม่ให้กระเทือนถึงดวงดาวได้  ”
ผู้เขียนเห็นว่า    ที่ผ่านมาสังคมไทยมักจะมองปัญหาแบบแยกส่วน   โดยไม่ค่อยจะคำนึงถึง  ภาพรวม  มากนัก    ปัญหาต่าง ๆของชาติบ้านเมืองจึงได้พอกพูน  สั่งสมมากขึ้นเรื่อย ๆเพราะเมื่อเราแก้ปัญหาหนึ่ง  ก็จะเกิดอีกปัญหาหนึ่งตามมาเสมอ
                    ผู้เขียนเห็นว่า  ที่ถูกต้องแล้ว  ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆนั้น เราต้องมองในภาพรวมทั้งหมดก่อน   แล้วพยายามคิดหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ  อย่างถี่ถ้วน รอบคอบ   ทั้งนี้   เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบในทางลบหรือในทางที่จะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมโดยส่วนรวม    หากเรามีกระบวนการวิธีคิด  กระบวนการตัดสินใจตามแนวทางดังกล่าว   ผู้เขียนเชื่อว่า   ปัญหาต่าง ๆในทุกภาคส่วนของสังคมก็คงไม่เดินมาถึงจุดที่เรียกกันว่า  เข้าขั้นวิกฤต เหมือนเช่นทุกวันนี้    
            การใช้อำนาจอธิปไตยก็เช่นกัน     หลายคนมักจะมองว่า    อำนาจแต่ละฝ่ายเป็นอิสระจากกัน ไม่ขึ้นแก่กันและกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าเป็นห่วงและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง    เพราะแท้จริงแล้ว    การใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายต่าง ๆไม่ว่าฝ่ายไหน   จะต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงสอดคล้องกันอย่างใกล้ชิด   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเอื้ออำนวย   สนับสนุนซึ่งกันและกัน   หรือการคานดุลตรวจสอบซึ่งกันและกัน    เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน   ผู้เขียนขอยกตัวอย่างความเกี่ยวพันในการใช้อำนาจอธิปไตยต่าง ๆดังจะกล่าวต่อไปนี้   คือ    
๑.)  ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร
           ในสังคมบ้านเมืองเรานั้น  เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เรามีกฎหมายที่ก้าวล้ำนำหน้าไม่ด้อยไปกว่านานาอารยประเทศต่าง  ๆ  แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งเช่นกันที่มาตรการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายในบ้านเมืองเราหลายเรื่องล้าหลังเป็นอย่างมาก    ฝ่ายนิติบัญญัติได้ออกกฎหมายดี ๆมากมายหลายฉบับ   แต่ฝ่ายบริหารได้นำกฎหมายดี ๆเหล่านั้น   เก็บไว้บนหิ้งบูชาโดยไม่นำมาบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์สมดังเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ   ซึ่งมีให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมาย  เช่น
           -   เราบัญญัติกฎหมายห้ามขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา   แต่ในทางปฏิบัติ  อดีตที่ผ่านมาเชื่อว่าแม้แต่ตำรวจเอง บางคนก็อาจเคยซื้อสลากเกินราคาที่กำหนดไว้  สินค้าของรัฐบาลเองเรายังไม่สามารถควบคุมได้   การที่จะหวังพึ่งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคคงเป็นเรื่องที่ห่างไกล   
            -  เราบัญญัติกฎหมายห้ามเด็กอายุไม่เกิน  ๑๘  ปี ซื้อสุรา ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง   แต่ผู้อ่านคงทราบดีว่า  ในทางปฏิบัติเราทำกันได้แค่ไหน  เพียงใด 
            -   เรามีกฎหมายควบคุมการค้าประเวณีบังคับใช้มาอย่างยาวนาน   แต่การค้าประเวณีก็ยังไม่ได้ลดน้อยลงไปกว่าเดิม   ในทางตรงข้ามน่าจะมีเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ   เพียงแต่มีการเปลี่ยนรูปแบบ  เปลี่ยนวิธีการ หรือสถานที่แตกต่างไปจากเดิมเท่านั้น 
                                                            ฯลฯ
            ที่กล่าวมาก็เป็นปัญหาของฝ่ายบริหารที่ไม่มีศักยภาพพอที่จะบังคับใช้กฎหมายตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ     ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเกิดขึ้นในขณะนี้ คือ     ฝ่ายบริหารมักจะเข้าไปพยายามครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติ   แล้วผลักดันให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายมาบังคับใช้ในลักษณะที่ตัวเองต้องการ    จากนั้น  ก็อาศัยช่องว่างหรือช่องโหว่ของกฎหมายตามที่ได้เตรียมการณ์วางแผนไว้   ไปใช้ประโยชน์ในการทุจริตคอรัปชั่นหรือแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆซึ่งเรามักจะเรียกกันว่า   การทุจริตเชิงนโยบาย   ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวและเป็นอันตรายต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง    เพราะการทุจริตในลักษณะดังกล่าว     เป็นการทุจริตทั้งระบบในวงกว้าง  และจำนวนเงินหรือผลประโยชน์ที่ทุจริตกันก็มีจำนวนมากมายมหาศาล
๒.  ระหว่าอำนาจตุลาการกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
           แม้รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะบัญญัติไว้ว่า   ผู้พิพากษาหรือตุลาการ มีอิสระ
ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี   แต่ในการตัดสินพิพากษาคดีของศาลนั้น   มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารด้วย   การใช้อำนาจจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยส่วนรวม   ตัวอย่างเช่น
                       -   ในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์  ฝ่ายบริหารมุ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องการขับรถขณะเมาสุรา   เนื่องจากเห็นว่า  เป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและสร้างความเสียหายต่อสังคมและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างใหญ่หลวง    จึงมีนโยบายในการเข้มงวดกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดฐานขับรถขณะเมาสุราอย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ  ดังนั้น  โดยหลักแล้วฝ่ายตุลาการโดยศาลยุติธรรมก็ควรที่จะกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการตัดสินคดีให้สอดคล้องหรือคำนึงถึงนโยบายของฝ่ายบริหารดังกล่าวด้วย  เช่น   อาจใช้ดุลยพินิจลงโทษให้หนักขึ้น   เป็นต้น  ทั้งนี้  เพื่อให้การตัดสินคดีเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ   อันจะช่วยก่อให้เกิดพลังมากพอที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมหรือมีอิทธิพลต่อการชี้นำสังคมให้เดินไปในครรลองที่ถูกต้องดีงามได้   
             -  ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายลงโทษปรับในคดียาเสพติดไว้ค่อนข้างสูง  เนื่องจากเห็นว่า   การใช้มาตรการทางด้านทรัพย์สินน่าจะเป็นการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้ดีขึ้น    ดังนั้น   ศาลก็ควรจะบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย   โดยการให้ความสำคัญกับการบังคับโทษปรับอย่างจริงจังก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติให้ได้มากที่สุด 
            -   กรณีเกิดโรคระบาด  เช่น ไข้หวัดนก    โดยปกติแล้วทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติย่อมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ  ด้วยการออกกฎหมายหรือกำหนดมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวดและเด็ดขาด   เพราะถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง  มีผลกระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง   ดังนั้น   ในการตัดสินคดีของศาลก็ควรจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและเฉียบขาดด้วย   เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารทางอ้อมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น 
๓.  ระหว่างอำนาจของประชาชนกับอำนาจนิติบัญญัติ   อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
                   ๓.๑   ประชาชนกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร 
                   มีคำกล่าวหนึ่งซึ่งผู้เขียนเคยได้ยินมานานแล้ว คือ  ตัวแทนคนกลุ่มไหนย่อมสะท้อนถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มนั้น     หากคิดไตร่ตรองดูให้ดี  จะเห็นว่ามีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย     ถ้าสังคมไหนคนส่วนใหญ่เห็นว่า   ประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อนประโยชน์ส่วนตน    คนที่ได้รับเลือกตั้งก็จะเป็นคนที่เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน    ในทางตรงข้ามหากสังคมไหนคนส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม  แน่นอนว่าตัวแทนของเขาก็น่าจะเป็นคนเช่นนั้นเช่นกัน   บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเคยได้ยินคนบ่นถึงพฤติกรรมของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าระดับใดในทางลบ     ผู้เขียนก็จะฉุกคิดถึงคำพูดดังกล่าวเสมอ   ก็เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมของเราเป็นอย่างนั้น (อาจรวมถึงคนบ่นด้วย)   คนอย่างนั้นถึงได้รับเลือกเข้าไป   ก็เพราะคนส่วนใหญ่เห็นแก่เงินเห็นแก่พวกพ้อง  ตัวแทนที่เลือกเข้าไปจึงจ้องแต่จะหาผลประโยชน์และเล่นพรรคเล่นพวก   แล้วเราจะไปโทษใครล่ะ
            เนื่องจากตามระบอบประชาธิปไตย    ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะมีที่มาจากประชาชน    ดังนั้น    หากประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพ  ย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า  ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  น่าจะมีคุณภาพตามไปด้วย   ในทางตรงข้าม  หากประชาชนไม่มีคุณภาพ  ไม่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมที่มากพอ  ตัวแทนที่เลือกเข้าไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  ย่อมมีปัญหา  ย่อมขาดประสิทธิภาพตามไปด้วยเช่นกัน
        นอกจากนั้น  ผู้เขียนยังเห็นว่า   ประชาชนทุกหมู่เหล่าต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา  คอยสอดส่องดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารอย่างใกล้ชิด    หากพบเห็นการกระทำใดที่ไม่ถูกไม่ต้อง  ก็ต้องพยายามยื่นมือเข้าไปมีส่วนในการช่วยเหลือ  แก้ไขปัญหา   อย่างเช่น  กรณีประชาชนในกลุ่มที่เป็นข้าราชการ  ต้องไม่ยึดถือคำพูดที่ว่า  ไม่ฆ่าน้อง  ไม่ฟ้องนาย  ไม่ขายเพื่อน     เพราะแท้จริงแล้ว  คำพูดดังกล่าว   เป็นข้ออ้างของคนขี้ขลาด  ที่คิดถึงแต่ตัวเอง  โดยไม่คิดถึงส่วนรวม   ฉันไม่ฆ่าน้องไม่ว่ามันจะชั่วจะเลวจะทำให้ส่วนรวมเสียหายอย่างไรก็ตาม  เพราะเดี๋ยวสังคมจะมองว่า ฉันเป็นคนไม่มีน้ำใจ   ฉันไม่ฟ้องนาย  แม้ว่า ฉันจะเห็นอะไรผิด ๆทำให้ส่วนรวมเสียหายก็ตาม  เพราะเดี๋ยวสังคมจะมองว่า  ฉันเป็นคนขี้ฟ้อง ชอบให้ร้ายคนอื่น   ฉันไม่ขายเพื่อน  แม้เพื่อนมันจะชั่วจะเลวยังไงก็ตาม   เพราะเดี๋ยวสังคมจะมองว่าฉันเป็นคนที่ทรยศเพื่อนฝูงคบไม่ได้       ผู้เขียนเห็นว่า   หากทุกคนคิดอย่างนั้น  สังคมเราจะอยู่ได้อย่างไร
     ๓.๒    ประชาชนกับฝ่ายตุลาการ
                        มีคนเปรียบเทียบกันว่า   การทำหน้าที่ของนักกฎหมายก็เปรียบเสมือนกับการรักษาคนไข้ของแพทย์     แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง และสามารถรักษาคนไข้ให้หายได้   ก็ต่อเมื่อได้รู้ข้อเท็จจริงต่าง ๆเกี่ยวกับอาการป่วยของคนไข้     ดังนั้น   จึงเป็นหน้าของคนไข้ที่จะต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์  ปวดหัวก็ต้องบอกว่าปวดหัว   ไม่ใช่ไปบอกว่าปวดท้อง   เคยมีอาการแพ้ยา หรือมีโรคประจำตัวใด ก็ต้องบอกให้แพทย์ได้รับรู้   เพื่อแพทย์จะได้รักษาได้อย่างถูกต้อง     งานเกี่ยวกับด้านคดีความก็เช่นกัน     หากประชาชนคนใดถูกฟ้องต่อศาล   ก็ต้องบอกความจริงกับศาลว่า   พฤติการณ์การกระทำความผิดเป็นอย่างไร และเหตุใดตนเองถึงทำผิด    เพื่อศาลจะได้วินิจฉัยคดี หรือใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษได้อย่างถูกต้องหรือเหมาะสมกับความผิดที่ทำลงไป     อย่างเช่น   คดีฆ่าคนตาย   ส่วนใหญ่แล้ว  หากไม่ใช่มือปืนรับจ้าง    จำเลยกับคนตายต้องมีเรื่องทะเลาะขัดแย้งหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน    บางครั้งหากพูดความจริงกับศาลก็อาจไม่ต้องรับโทษเลยก็ได้  เพราะเป็นเรื่องของการป้องกันตัวโดยชอบตามกฎหมาย  หรืออาจได้รับโทษเพียงเล็กน้อย  เพราะเป็นเรื่องของการกระทำโดยบันดาลโทสะ    แต่ถ้าจำเลยไม่พูดความจริงต่อศาลและพยายามปกปิดความจริง   จำเลยอาจต้องได้รับโทษถึงขั้นประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตเลยก็ได้
            นอกจากนั้น    ผู้เขียนยังเห็นว่า    สิ่งสำคัญสูงสุดอีกประการหนึ่งที่จะช่วยส่งผลทำให้ฝ่ายตุลาการสามารถตัดสินคดีความได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมก็คือ  ข้อเท็จจริงตามคำให้การของพยานที่เคยให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนหรือที่เบิกความต่อศาล     หากพยานที่เกี่ยวข้อง   พูดความจริง   แน่นอนว่า   การตัดสินคดีของศาลย่อมถูกต้อง   แต่หากพยานให้การเท็จ  พยายามปกปิดความจริง   ก็แน่นอนเช่นกันว่า  ย่อมต้องส่งผลต่อการตัดสินคดีของศาลไม่มากก็น้อย  บางครั้งอาจถึงขนาดทำให้การตัดสินคดีของศาลผิดพลาดไปเลยก็เป็นได้
            กล่าวโดยสรุปก็คือ   ในการใช้อำนาจอธิปไตยนั้น    ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติ   บริหาร  ตุลาการ หรือ ประชาชน   ต้องมีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน   หากการใช้อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่ออำนาจของฝ่ายอื่น ๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   อย่างเช่น   การปฏิวัติหรือรัฐประหารที่ผ่านมา  จะเห็นว่า  มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน  คือ      ประชาชนมีปัญหาเรื่องการศึกษา   เรื่องของความเข้าใจหรือจิตสำนึกในอุดมการณ์ประชาธิปไตย  อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม   จึงส่งผลให้ตัวแทนของประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มีลักษณะปัญหาในทำนองเดียวกันดังกล่าวด้วย    เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารสร้างปัญหาให้กับชาติบ้านเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ  จนถึงขั้นวิกฤต   ฝ่ายทหารก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าไปยึดอำนาจ  ซึ่งก็แน่นอนว่า   ย่อมส่งผลกระทบถึงฝ่ายตุลาการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   เพราะส่วนใหญ่แทบทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ   ฝ่ายบริหารมักจะถูกกล่าวหาว่า   ทุจริต  หรือประพฤติมิชอบเสมอ   จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่า   เป็นจริงหรือไม่  อย่างไร     อย่างไรก็ตาม  ในโลกของยุคโลกาภิวัฒน์  ซึ่งค่านิยมของคำว่า  ประชาธิปไตย   ได้แผ่ขยายครอบคลุมไปทุกหย่อมหญ้า  เมื่อทหารยึดอำนาจได้แล้ว   จึงไม่สามารถรักษาอำนาจไว้ได้   ท้ายที่สุดก็ต้องจำยอมมอบอำนาจคืนให้กับประชาชน     แต่เมื่อประชาชนยังไม่พร้อมและยังมีปัญหาอยู่  ก็จะเลือกตัวแทนที่มีปัญหาอีกเช่นเดิม   และสุดท้ายก็เข้าไปสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายทหารใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจอีก   จนอาจกล่าวได้ว่า   เป็นวงจรอุบาทก์ของสังคมไทยเลยก็ว่าได้     
                    ดังนั้น   จึงเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยทุกคน  ทุกภาคส่วน   ทุกสถาบัน  ทุกองค์กร    ในการที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา   ร่วมมือร่วมใจกัน  และก้าวเดินไปพร้อม ๆกัน  ส่งเสริมสนับสนุน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน   และขณะเดียวกันก็ต้องคานดุลตรวจสอบซึ่งกันและกันไปด้วย  สังคมไทยจึงจะอยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข และยั่งยืนตลอดไป./


[1]  ลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ศาลยุติธรรมปริทัศน์  ปีที่ ๑  ฉบับที่ ๗  กรกฎาคม  ๒๕๕๐.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น