1/05/2555

เหลียวหลังแลหน้า : ระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง

เหลียวหลังแลหน้า : ระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง[1]
                                                                                                                                            โดย...โสต  สุตานันท์

           นับถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่าห้าปีแล้ว  ที่ศาลยุติธรรมนำระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่องมาใช้    ณ เวลานี้   ผู้อ่านทุกท่านก็คงจะทราบกันดีว่า   ระบบดังกล่าวมีข้อดี  ข้อเสีย  ข้อเด่น  ข้อด้อย หรือ มีอุปสรรคปัญหาอะไรบ้าง   หลายท่านคงจะเห็นด้วยกับระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่องว่า  เราเดินมาถูกทางแล้ว  สมควรที่จะก้าวเดินต่อไป  แต่ก็เชื่อว่า  คงมีหลายท่านอีกเช่นกันที่เห็นว่า   เรากำลังเดินหลงทางและสมควรกลับไปทบทวนตั้งต้นกันใหม่ 
           สำหรับในทรรศนะของผู้เขียน   มองว่า   โดยภาพรวมแล้วระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่องน่าจะมีข้อดีมากกว่าระบบการนัดความแบบเดิม  ทั้งในแง่ของความสะดวก  รวดเร็ว  ความประหยัด หรือความถูกต้องเป็นธรรม  อย่างไรก็ตาม  ในโลกนี้คงไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์   ในดีย่อมมีเสีย ในเสียย่อมมีดี  จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนและข้อมูลที่ได้สดับตรับฟังมาพบว่า    ระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่องที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  ยังมีหลายจุดหลายประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่    เท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้มีดังนี้   คือ   
                       ๑.) การกำหนดวันนัดไม่สอดคล้องกับจำนวนพยานที่สืบในแต่ละวัน    บางครั้งน้อยเกินไปบางครั้งมากเกินไป  แต่ส่วนใหญ่จะกำหนดเผื่อไว้มากเกินไป   จึงส่งผลให้การนัดคดีของศูนย์นัดความในภาพรวมล่าช้าออกไปเรื่อย ๆ
          ๒.)   บางศาลไม่ได้กำหนดวันนัดรางพิเศษไว้  สำหรับคดีที่จำเลยไม่ได้ประกันตัว หรือ คดีสำคัญที่ควรเร่งรัดเป็นพิเศษ   โดยจัดให้มีการนัดคดีทุกประเภทปะปนรวมกันทั้งหมด   ทำให้คดีประเภทดังกล่าวล่าช้า    ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของจำเลย และภาพพจน์ของศาลอย่างมาก 
          ๓.)  การนัดสืบพยานแต่ละนัดจะมีการนัดเต็มวัน    หากกรณีพยานที่จะนำเข้าสืบมีความจำเป็นต้องใช้วันนัด  วันครึ่ง  สองวันครึ่ง  สามวันครึ่ง ฯลฯ  ก็จะเป็นปัญหาว่า  ถ้าปัดลงโดยกำหนดให้  วันเดียว   สองวัน  หรือสามวัน ฯลฯ  ก็จะน้อยเกินไป   แต่หากปัดขึ้นโดยกำหนดให้  สองวัน  สามวัน  หรือสี่วัน  ฯลฯ  ก็จะมากเกินไป   จากการสังเกตพบว่า  ส่วนใหญ่จะปัดขึ้น  ซึ่งหากสะสมรวบรวมกันมาก ๆก็จะทำให้สูญเสียวันนัดโดยใช่เหตุจำนวนมากเลยทีเดียว  
            ๔.) การนัดสืบพยานติดต่อกันทุกวัน   หากวันใดมีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับตัวพยาน  เช่น   ป่วย  หลงลืมวันนัด  หรือไม่ประสงค์จะไปเบิกความต่อศาลไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใด  ก็จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการคดีอย่างมาก    การติดตามตัวพยานให้มาเบิกความค่อนข้างฉุกละหุกและสร้างความอึดอัดให้กับทุกฝ่าย   เป็นต้นว่า  บางครั้งอาจเป็นพยานคู่ซึ่งคู่ความฝ่ายตรงข้ามขอให้นำตัวเข้าเบิกความในวันเดียวกัน   บางครั้งคู่ความประสงค์จะนำพยานปากนั้น ๆเข้าสืบก่อนพยานปากอื่นเพื่อประโยชน์ต่อรูปคดีของตนเอง   หรือบางครั้งพยานที่ไม่มาเป็นพยานโจทก์ปากสุดท้าย   ก็จะไม่สามารถสืบพยานจำเลยต่อไปได้  ฯลฯ   หากศาลจะตัดพยานก็อาจทำให้เสียความเป็นธรรมไป   ครั้นจะอนุญาตให้เลื่อนคดี  ก็จะส่งผลทำให้คดีต้องล่าช้าออกไปอีกเป็นเวลานาน
           ๕.)  การให้ฝ่ายจำเลยสืบพยานติดต่อกันไปทันทีหลังสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นนั้น   บางครั้งอาจทำให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบไม่ได้รับความเป็นธรรม   เพราะข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบบางอย่างฝ่ายจำเลยอาจไม่รู้หรือไม่คาดคิดมาก่อนล่วงหน้า   ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมวางแผนแนวทางต่อสู้คดีได้   
           ๖.)  กรณีถึงวันนัดแล้วจำเลยให้การรับสารภาพ หรือ มีการยอมความกัน หรือ สามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้   ก็จะมีการยกเลิกวันนัดที่เหลือไป   ทำให้สูญเสียวันนัดไปโดยใช่เหตุ   จะจัดให้พิจารณาคดีอื่นก็ไม่สามารถทำได้   เพราะระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป
          ๗.)  สภาพปัญหาโดยรวมของแต่ละศาลไม่เหมือนกัน  โดยเฉพาะในเรื่องของลักษณะประเภทและจำนวนคดี   หรือแม้กระทั่งปัญหาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของแต่ละคดีก็ไม่เหมือนกัน   ปัญหาบางเรื่องเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน  บางเรื่องมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาตามข้อมูลและสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่องที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน   ไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหาของศาลหรือของผู้พิพากษาที่รับผิดชอบคดีได้มากนัก    
                       
       เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาต่าง  ๆดังที่กล่าวมา  ผู้เขียนใคร่ขอเสนอแนวทางในการดำเนินการ  โดยเห็นสมควรปรับปรุงรูปแบบระบบการนัดความใหม่  ดังนี้  คือ 
 (๑.)    แบ่งคดีออกเป็น  ๓  ประเภท  ได้แก่ 
      ประเภทแรก  คดีอาญาที่จำเลยไม่ได้ประกันตัวและคดีเร่งรัดพิเศษอื่น  ๆ    ( เช่น  คดีเกี่ยวกับนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง ผู้มีอิทธิพล  คดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค การละเมิดสิทธิมนุษยชน การกระทำต่อเด็ก หรือคดีเกี่ยวกับปัญหาอื่นใด ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และประชาชนให้ความสนใจ  ฯลฯ )
                     ประเภทที่สอง  คดีจัดการพิเศษ เช่น   การนัดพร้อม  คดีขาดนัด  มโนสาเร่ ไม่มีข้อยุ่งยาก  สืบประกอบ   ประเด็น  ไต่สวนมูลฟ้อง  จัดการมรดก ฯลฯ     
                     ประเภทที่สาม   คดีอาญาและคดีแพ่งทั่วไปที่จำเลยให้การต่อสู้คดี  นอกเหนือจากคดีประเภทที่หนึ่งและสอง
   (๒. )  กำหนดวันนัดคดีทั้ง  ๓  ประเภท   ดังนี้ 
           คดีประเภทแรก  ให้กำหนดวันนัดไว้ประมาณสัปดาห์ละสองวัน (อาจมากกว่าหรือน้อยกว่าตามความเหมาะสมกับสภาพคดีของแต่ละศาล)   และแต่ละคดีต้องนัดติดต่อกันไปทุกสัปดาห์ (ให้ศูนย์นัดความรับผิดชอบ)  เพราะฉะนั้น  ในวันที่กำหนดไว้แต่ละสัปดาห์ดังกล่าว ผู้พิพากษาในศาลทุกคณะจะทำเฉพาะคดีประเภทแรกเท่านั้น 
            คดีประเภทที่สอง   ให้แต่ละศาลใช้ดุลพินิจกำหนดกันเองว่าจะเอาวันใด  เวลาไหนบ้าง และวันละกี่เรื่อง  โดยอาจเกลี่ยกันไปทุกวันก็ได้  เพราะคดีประเภทนี้ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่มากนัก
                       คดีประเภทที่สาม    ให้แต่ละศาลใช้ดุลพินิจกำหนดกันเองว่าจะเอาวันใด  เวลาไหนบ้าง (แต่ต้องไม่ซ้ำกับวันนัดคดีประเภทแรก)  ทั้งนี้  ให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนบริหารวันนัดเอง  โดยอาจนัดติดต่อกันทุกวันหรือนัดแบบฟันหลอก็ได้ และจะนัดครั้งละเต็มวันหรือครึ่งวันก็ได้  แต่มีเงื่อนไขว่า  ช่วงระยะห่างระหว่างวันนัดแรกกับวันนัดสุดท้ายต้องไม่เกิน ๒  เดือน (หรือกำหนดเวลาตามที่แต่ละศาลจะเห็นสมควร)

                ผู้เขียนเห็นว่า  รูปแบบการนัดความตามที่เสนอดังกล่าว  น่าจะก่อให้เกิดผลดีหลายประการ  ดังนี้   คือ 
           ๑.)  คดีประเภทแรก  - จะได้รับการพิจารณาที่รวดเร็วขึ้น   เพราะมีการแยกออกมาจัดการต่างหากอย่างเป็นระบบ  การนำคดีทุกประเภทมาบริหารจัดการในระบบศูนย์นัดความทุกเรื่องเหมือนกันหมด  ต้องยอมรับว่า  เป็นการยากมากที่จะจัดการให้คดีประเภทดังกล่าวได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็วได้
                 ๒.)  คดีประเภทที่สอง -  สามารถกำหนดวันนัดได้ค่อนข้างยืดหยุ่นอย่างมาก   ตามความเหมาะสมแห่งสภาพข้อเท็จจริงของแต่ละศาล
                 ๓.)  คดีประเภทที่สาม  -    มีข้อดี   คือ
                        ๓.๑  เกี่ยวกับการนั่งพิจารณาคดีและการทำคำพิพากษา    
   -  เป็นหลักประกันว่า  ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีจะเป็นผู้จัดทำคำพิพากษาอย่างแน่นอน  เพราะผู้พิพากษามีวาระโยกย้ายปีละครั้ง   ไม่ได้ย้ายทุก  ๒  เดือน    (  กรณีคดีใดมีการนัดคร่อมในช่วงฤดูกาลโยกย้ายประจำปี   หัวหน้าศาลอาจพิจารณาเปลี่ยนเจ้าของสำนวนให้กับผู้พิพากษาที่ไม่ขอย้ายในปีนั้นก็ได้ )
  - ระบบตามที่เสนอหัวหน้าศาลสามารถจ่ายสำนวนให้กับผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนตัวจริงได้ตั้งแต่เริ่มต้นคดี   ดังนั้น  กระบวนการต่าง ๆที่สำคัญ ๆเช่น   การนัดแถลงเปิดคดี   การนัดตรวจพยานหลักฐาน  การชี้สองสถาน  ฯลฯ  ผู้พิพากษาที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว  จะเป็นบุคคลคนเดียวกันกับ ผู้พิพากษาที่สืบพยานและทำคำพิพากษา    จึงทำให้การบริหารจัดการคดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                ๓.๒   เกี่ยวกับการกำหนดวันนัด
                   -  การหาวันนัดมีความสะดวกและยืดหยุ่นมากขึ้น  เพราะไม่ต้องหาวันนัดที่ติดต่อกันทุกวัน
                   -  การใช้วันนัดแต่ละครั้งคุ้มค่ามากขึ้น   เพราะเราสามารถนัดคดีเฉพาะช่วงเช้าหรือช่วงบ่ายได้  หากเห็นว่า  การสืบพยานไม่จำเป็นต้องใช้เวลาทั้งวัน
                   -   หากวันนัดที่กำหนดไว้ไม่เพียงพอไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม  ก็สามารถหาวันนัดเพิ่มได้โดยง่าย   ในระยะเวลาที่ไม่ไกลเกินไป
                            ๓.๓   เกี่ยวกับการเบิกความของพยาน
                    -  การนัดคดีตามแบบที่เสนอ   น่าจะทำให้คดีเริ่มต้นได้เร็วขึ้น  ดังนั้น  โอกาสที่จะนำพยานปากสำคัญ ๆเข้าเบิกความก่อนในนัดแรก ๆย่อมเป็นไปได้สูง  การนัดแบบต่อเนื่องเหมือนขณะนี้  มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ไม่สามารถตามพยานสำคัญ ๆมาเบิกความได้  เช่น   พยานอาจย้ายที่อยู่  หรือเสียชีวิต เป็นต้น   นอกจากนั้นการได้ตัวพยานมาเบิกความได้เร็ว  ย่อมมีผลถึงการจดจำเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆของพยานด้วย
                  -   กรณีวันนัดวันใดมีเหตุสำคัญทำให้พยานไม่สามารถมาเบิกความตามกำหนดนัดหรือมีเหตุจำเป็นทำให้พนักงานอัยการ ทนาย หรือศาล ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในวันนัดได้  เช่น   ป่วย   เกิดอุบัติเหตุ   ติดราชการ  หรือมีเหตุสุดวิสัยอื่นใด  ก็สามารถเลื่อนคดีไปพิจารณาในวันนัดต่อ ๆไปที่เหลือได้  หากคดียังไม่แล้วเสร็จ  ก็สามารถหาวันนัดเพิ่มได้โดยง่ายและไม่ไกลเกินไป    ซึ่งต่างจากระบบปัจจุบัน  หากมีปัญหาดังกล่าว  ต้องยอมรับว่า  แก้ปัญหาได้ยากมาก  ทั้งยังเป็นการกดดันการทำงานของทุกฝ่ายอีกด้วย  
        ๔.)    เนื่องจากระบบตามที่เสนอไม่มีการนัดคดีติดต่อกันทุกวัน  ดังนั้น  หลังสืบพยานโจทก์เสร็จ     จำเลยจึงมีเวลาในการเตรียมการวางแผนแนวทางในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่    อันจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น 
        ๕.)   กรณีถึงวันนัดแล้วจำเลยให้การรับสารภาพ หรือ มีการยอมความกัน หรือ คดีสามารถตกลงประนีประนอมกันได้   ซึ่งจะมีการยกเลิกวันนัดไป   ศาลสามารถนำวันนัดที่เหลือไปบริหารจัดการคดีอื่น ๆได้                        
      ๖.)  เป็นการป้องกันมิให้คู่ความที่ไม่สุจริต  วางแผนใช้ศาลเป็นเครื่องมือเพื่อหวังผลทางคดี หรือหาประโยชน์โดยมิชอบอื่นใด    เช่น  อาจมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างแยบยลเพื่อบีบให้ศาลใช้ดุลพินิจเลื่อนคดีไป  หรือมีความจำเป็นต้องตัดพยานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  เป็นต้น 
                    ๗.)  รูปแบบตามที่เสนอ   สามารถนำไปปรับใช้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องไปรื้อระบบเดิมหรือไปยกเลิกวันนัดต่อเนื่องที่ได้กำหนดไว้ทั้งหมด      โดยคดีที่นัดไว้เดิมก็อาจให้คงไว้และพิจารณาคดีไปตามวัน เวลาที่กำหนด   ส่วนระบบใหม่ก็อาจเริ่มนัดได้นับตั้งแต่วันถัดจากวันนัดวันสุดท้ายของระบบเดิมเป็นต้นไป  หรือหากมีความจำเป็นต้องยกเลิกหรือปรับปรุงวันนัดคดีที่นัดไว้เดิมในบางส่วน   ก็น่าจะสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหายุ่งยากอะไรมากนัก   เพราะระบบที่เสนอมีกรอบในการดำเนินการที่ชัดเจนและมีความยืดหยุ่นอย่างมาก 
                          
                        อย่างไรก็ตาม   เนื่องจากระบบตามที่เสนอค่อนข้างจะยืดหยุ่นและให้อำนาจศาลหรือผู้พิพากษามีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการคดีอยู่มากพอสมควร    ดังนั้น   เพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุก ๆด้าน   จึงเห็นว่า  ควรที่จะมีการสร้างระบบในการคานดุลตรวจสอบ รวมทั้งระบบการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมควบคู่กันไปด้วย     
                       นอกจากแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการปรับปรุงรูปแบบการนัดความใหม่ตามที่เสนอดังกล่าวแล้ว     ผู้เขียนใคร่ขอเสนอมาตรการเสริมเพิ่มเติม  เพื่อให้ระบบการพิจารณาคดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นอีก  ๒  ประการ     คือ 
๑.)   จากการสังเกตพบว่า   ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา  ศาลจะกำหนดให้มีวัน
นัดตรวจพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อาญา  มาตรา   ๑๗๓/๑   หรือ จัดให้มีการชี้สองสถานน้อยมาก  เหตุผลสำคัญประการหนึ่งน่าจะเนื่องมาจากการขาดความพร้อมของคู่ความที่ไม่ค่อยจะให้ความสนใจและให้ความร่วมมือมากนัก   อีกทั้งศาลเองก็ไม่มีมาตรการเชิงรุกใด ๆสำหรับการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวเลย    ผู้เขียนเห็นว่า  การกำหนดให้มีวันนัดตรวจพยานหลักฐานและการชี้สองสถานนั้น   หากเรานำกฎหมายมาปรับใช้อย่างจริงจังตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว   เชื่อว่า   จะสามารถช่วยทำให้การบริหารจัดการคดีมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นไม่น้อยเลยทีเดียว   โดยเฉพาะในเรื่องของการกำหนดพยานหลักฐานที่จะนำเข้าสืบและการกำหนดจำนวนวันนัดสืบพยาน   ซึ่งจะมีความกระชับชัดเจนและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น   
                ๒.)   จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนพบว่า    มีคดีจำนวนไม่น้อย  เมื่อถึงวันนัดสืบพยานปรากฏว่า   จำเลยแถลงขอให้การรับสารภาพ  หรือ แถลงว่าคดีสามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้แล้ว    รวมทั้งยังมีคดีอีกจำนวนหนึ่งที่ผู้เขียนได้พยายามไกล่เกลี่ยในห้องพิจารณา  ซึ่งคิดว่าน่าจะมีช่องทางหรือโอกาสที่จำเลยจะให้การรับสารภาพหรือยอมความกันได้   แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของเวลา  จึงทำให้ไม่สามารถพูดคุยกันในรายละเอียดได้มากนัก    ท้ายที่สุดก็มีความจำเป็นต้องให้สืบพยานสู้กันไป   บางคดีเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่หากมีเวลามากพอ  คดีก็คงจะจบลงได้โดยไม่ต้องสืบพยานให้เสียเวลา     จากข้อเท็จจริงดังกล่าว   ผู้เขียนจึงเห็นว่า   หากเราจัดให้มีโครงการนำคดีที่นัดต่อเนื่องไว้ทุกเรื่องเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยของศาล และดำเนินการไกล่เกลี่ยคดีกันอย่างจริงจังแล้ว   ก็เชื่อว่า    จะมีคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพและคดีที่มีการตกลงยอมความกันจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว    ซึ่งเราสามารถนำวันว่างที่ยกเลิกไปมาบริหารจัดการคดีอื่น ๆให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นได้ 
                        ปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้น   อันเนื่องมาจากการนำระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่องมาบังคับใช้นั้น   ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญอย่างมาก   ผู้เขียนเห็นว่า การพิจารณาคดีตามระบบการนัดความแบบเดิมนั้น   หากเกิดปัญหาคดีล่าช้าขึ้น   ก็น่าจะส่งผลกระทบในวงแคบเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้น ๆเท่านั้น   โดยไม่กระทบกระเทือนถึงระบบในภาพรวมมากนัก  การเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยุ่งยากอะไร หากมีความจริงจังและจริงใจอย่างแท้จริง    แต่ตามระบบการนัดความแบบต่อเนื่องนั้น   ทุกท่านคงทราบดีว่า   ถ้าฟันเฟืองตัวหนึ่งตัวใดมีปัญหา  ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อทั้งระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   ถ้าคดีจะล่าช้าก็คงช้ากันหมดทั้งศาล  และการที่จะเข้าไปปรับแก้ปัญหานั้นก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากอยู่ไม่น้อยเพราะมีปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆที่เกี่ยวข้องมากมาย     หากวันใดคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องในวันนี้  แล้วศาลกำหนดให้นัดสืบพยานในสามปีห้าปีข้างหน้า    ย่อมแน่นอนว่า   ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติก็คงจะยื่นมือเข้ามาช่วยจัดการแทนเราอีกครั้งหนึ่ง./  


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร ดุลพาห   เล่ม  ๓  ปีที่ ๕๕  กันยายน  -ธันวาคม  ๒๕๕๑.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น