1/06/2555

พจนานุกรมรัฐธรรมนูญ

พจนานุกรมรัฐธรรมนูญ  [1]
                                                                                                                       โดย...โสต  สุตานันท์

        ต้องยอมรับความจริงกันว่าวิกฤตปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราทุกวันนี้   สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ผู้คนในสังคมมีความคิดความเห็นที่แตกต่างกัน  แน่นอนว่าหากความคิดความเห็นที่แตกต่างกันนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเป็นจริง ชอบด้วยเหตุผลย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์ในการที่จะพัฒนาไปสู่ความดีงามยิ่ง ๆขึ้นไป  แต่หากเกิดจากข้อมูลความรู้หรือความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนปัญหาย่อมเกิดขึ้น  
        กรณีข้อมูลความรู้ที่สามารถมองเห็นด้วยตาได้ยินด้วยหูนั้น คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก ด้วยความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยเหมือนเช่นปัจจุบันคงสามารถเสาะแสวงหาความรู้หรือพิสูจน์ความจริงกันได้ไม่ยาก  แต่ข้อมูลความรู้ที่ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์หรือใช้ปัญญาไตร่ตรองหาเหตุผลนั้น ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่หลวงของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้
        ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ราชประสงค์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า มีบ่อยครั้งที่คำพูด ข้อเขียน หรือภาพอันเดียวกัน แท้ ๆแต่คนไทยมีมุมมองความคิดความเห็นที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน หรือคำง่าย ๆอย่างเช่นคำว่า คนดี ก็ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยจะเห็นต่างกันได้อย่างมากมายขนาดนั้น คน ๆเดียวกันแท้ ๆกลุ่มคนเป็นแสนเป็นล้านเห็นว่าเป็นคนดี เป็นวีรบุรุษ ขณะที่กลุ่มคนเป็นแสนเป็นล้านอีกเช่นกันกลับมองว่า เป็นยักษ์ เป็นเปรต เป็นมาร
        ตอนนี้ดูเหมือนว่าความหมายของคำว่า คนดี ในความคิดเห็นของคนไทยส่วนใหญ่ก็คือ  คนที่สามารถตอบสนองผลประโยชน์ให้กับตัวเอง (ไม่ใช่ส่วนรวม) กับคนที่ตายไปแล้ว (เพราะเวลาไปงานศพทีไรจะเห็นมีการกล่าวสรรเสริญเยินยอคุณงามความดีของผู้ตายไว้อย่างน่าขนลุกขนพอง ทั้ง ๆที่ขณะยังมีชีวิตอยู่แทบไม่เคยมีใครเอ่ยถึงคุณงามความดีของเขาเลย)
        นอกจากนั้น ยังมีเรื่องสำคัญอื่น ๆอีกมากมายที่คนไทยถกเถียงกันในลักษณะที่เรียกว่า “พูดคนละเรื่องเดียวกัน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำสำคัญ ๆในรัฐธรรมนูญ เช่น  คำว่า ประชาธิปไตย ความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน    ธรรมาภิบาล เศรษฐกิจพอเพียง ความเป็นอิสระ นิติธรรม การกระจายอำนาจ การพัฒนา สมานฉันท์ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งคำว่า “รัฐธรรมนูญ”เอง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำความเข้าใจกันได้อย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง หากไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์โดยตรง ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวนับวันมีแต่จะสลับซับซ้อนและสั่งสมหมักหมมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ท่านอย่าได้แปลกใจเลยว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดปัญหาความแตกแยกร้าวฉานขึ้นในสังคมไทยอย่างรุนแรงเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้  แล้วเราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร ?
        ผู้เขียนเห็นว่าหนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ คือ การให้ “การศึกษา” แก่ประชาชน  ซึ่งกระบวนการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์นั้น ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์บอกว่า ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบครบ ๓ ด้าน เรียกว่า “ไตรสิกขา” คือ พฤติกรรม  จิตใจ และปัญญา   โอกาสนี้จึงใคร่ขอเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการศึกษาเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จซึ่งเป้าหมายดังกล่าววิธีหนึ่ง คือ  การจัดทำ  “พจนานุกรมรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมา  โดยรวบรวมถ้อยคำสำคัญ ๆต่าง ๆในรัฐธรรมนูญทั้งหมดไว้ พร้อมคำอธิบายที่ถูกต้องชัดเจน มีความหมายครอบคลุมสาระสำคัญทั้งหมด แต่สั้นกระชับและใช้ภาษาเข้าใจง่าย  จากนั้น ก็นำออกเผยแพร่และใช้เป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้ให้กับประชาชนอย่างเป็นระบบในทุกภาคส่วนของสังคมต่อไป
        อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมรัฐธรรมนูญจะมีความสมบูรณ์ได้ คงต้องอาศัยผู้รู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ร่วมกันใช้ปัญญาศึกษาอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งจนองค์ความรู้ตกผลึกอย่างแท้จริง หาไม่แล้วแทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาก็อาจกลายเป็นการสร้างปัญหาไป เพราะมัวติดหล่มถกเถียงกันในเรื่องความหมายของถ้อยคำต่าง ๆอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น
         ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยหยิบยกความหมายของคำว่า ความยุติธรรม[2] และคำว่า ประชาธิปไตย[3] มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้อ่านไปแล้ว  ในบทนี้ขอนำถ้อยคำในรัฐธรรมนูญมาศึกษาเรียนรู้ร่วมกันเพิ่มเติมอีกซัก    เรื่อง คือ คำว่า สิทธิเสรีภาพ  การพัฒนา และความเป็นอิสระเผื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำพจนานุกรมรัฐธรรมนูญที่อาจเกิดมีขึ้นในอนาคตได้บ้าง
        ๑. สิทธิเสรีภาพ  เกี่ยวกับความหมายของคำนี้ ขอหยิบยกคำกล่าวของนักปราชญ์บางท่านมาอ้างอิง ดังนี้ คือ
        ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เคยกล่าวไว้ว่า      “...เรื่อง “สิทธิ”  เรื่องการพิทักษ์ผลประโยชน์ส่วนตัวนี้ เป็นของจำเป็น  แต่ต้องรู้ด้วยว่า  มนุษย์เราไม่ได้อยู่แค่รักษาสิทธิ์ มนุษย์เราเป็นสัตว์ประเสริฐ  เหนือความเป็นผู้รักษาสิทธิ์และปกป้องตัวเอง ก็คือ  มนุษย์สามารถพัฒนาตัวขึ้นไปอีก   ให้เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นด้วย  เมื่อไรพ่อแม่เอาแต่รักษาสิทธิ์กับลูก  เมื่อนั้นลูกก็แย่ ลองสิ คุณแม่อยู่กับลูก ถ้าต่างฝ่ายก็ตั้งหน้าพิทักษ์ปกป้องเรียกร้องสิทธิ์ของตัว  ครอบครัวก็ยุ่งแน่ ๆ...
         ในด้านหนึ่ง เราอาจจะพูดว่า  สังคมอะไรกัน แม้แต่สิทธิพื้นฐานของคนก็ยังไม่ดูแลรักษา  แสดงว่าเป็นสังคมที่อ่อนด้อยอย่างยิ่ง  ขาดวัฒนธรรม ไม่มีอารยธรรมเสียเลย  แต่อีกด้านหนึ่ง  เราก็อาจจะพูดย้อนเติมให้สมบูรณ์ว่า  สังคมอะไรกันนี่  อยู่กันได้แค่จะคอยพิทักษ์รักษาและเรียกร้องสิทธิเท่านั้นเองหรือ จะเป็นสังคมที่ดีงามพัฒนาอารยธรรมแท้จริงที่มนุษย์อยู่อย่างเกื้อกูลกันไม่ได้หรือ...”
         Johan  Galtung  เคยให้ความเห็นเปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจว่า การมีจิตใจที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเน้นแต่ในเรื่อง สิทธิมนุษยชน  โดยไม่เหลียวมองเรื่อง หน้าที่  ก็มีสภาพเหมือนการอ่านสัญญาประกันภัยเพียงด้านเดียวที่มองข้ามตัวหนังสือเล็ก ๆ( ที่มีความสำคัญ ) ในอีกด้านหนึ่งของหน้ากระดาษ ” 
         นอกจากนั้น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๒๙ ก็มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า บุคคลทุกคนมีหน้าที่ต่อประชาคม อันเป็นที่เดียวซึ่งบุคลิกภาพของตนจะพัฒนาได้อย่างเสรีและเต็มความสามารถ    ...ในการใช้สิทธิและเสรีภาพ บุคคลทุกคนต้องอยู่ในบังคับของข้อจำกัดเพียงเท่าที่ถูกกำหนดโดยกฎหมายเท่านั้น  เพื่อความมุ่งประสงค์ให้ได้มาซึ่งการยอมรับและการเคารพโดยชอบในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดอันยุติธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชาชาติและสวัสดิการโดยทั่ว ๆไป ในสังคมประชาธิปไตย...
        จากตัวอย่างแนวคิดความเห็นดังกล่าว นัยยะความหมายที่สำคัญของคำว่า “สิทธิเสรีภาพ” น่าจะได้แก่ การที่บุคคลใช้สิทธิกระทำการใดๆภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม สอดคล้องสัมพันธ์
กับกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ โดยต้องคำนึงถึงหรือเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น รวมทั้งยังต้องตระหนักถึงภาระหน้าที่หรือความรับผิดชอบของตนเองที่จะต้องพึงมีต่อประเทศชาติหรือสังคมโดยส่วนรวมควบคู่กันไปด้วย
         ๒. การพัฒนา เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอนำประสบการณ์ในการทำงานเรื่องหนึ่งมาเป็นตัวอย่างประกอบ คือ ในการพิจารณาคดีเรื่องหนึ่ง จำเลยเป็นเจ้าอาวาสถูกฟ้องข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท โดยทำก้นบุหรี่ตกใส่ที่นอนแล้วไฟลุกลามไหม้กุฏิ   ระหว่างสืบพยานทั้งสองฝ่ายมีกองเชียร์มาเต็มห้อง   โดยชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเป็นพวกผู้ใหญ่บ้าน  อีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกเจ้าอาวาส ปรากฏว่าตอนสืบพยานฝ่ายจำเลยมีพยานปากหนึ่งเบิกความช่วยเหลือจำเลยในทำนองว่า   จำเลยเป็น “พระนักพัฒนา” แต่ก็ไม่ได้อธิบายขยายความอะไรต่อไปอีก  ผู้เขียนเลยถามพยานว่าที่ว่าเป็นพระนักพัฒนานั้น หมายความว่าอย่างไร   ดูเหมือนว่าพยานจะไม่รู้สึกลังเลสงสัยใด ๆรีบเบิกความอธิบายถึงสรรพคุณจำเลยเสียยาวเหยียด เป็นต้นว่าหาเงินเข้าวัดเก่ง  สร้างกุฏิ  สร้างศาลา   สร้างถาวรวัตถุต่าง ๆมากมาย  แต่ไม่ปรากฏว่า มีผลงานในเรื่องของการเผยแผ่ธรรมะเลย  หนำซ้ำจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่อัยการโจทก์นำสืบก็พบว่า จำเลยมีพฤติการณ์ทั้งดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แถมยังเป็นเกย์ชอบตุ๋ยเด็กวัดอีกต่างหาก  และเงินทองที่หามาได้ ไม่ว่าจะมาจากการทอดกฐินผ้าป่าหรือการบริจาคอื่นใด ก็มักจะมีการหักเปอร์เซ็นต์ไว้ส่วนหนึ่ง ในลักษณะที่เรียกว่า วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่งและเจ้าอาวาสอีกส่วนหนึ่ง
        จากตัวอย่างที่กล่าวมา  น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดของผู้คนในสังคมไทยได้เป็นอย่างดีว่า   คำว่า“การพัฒนา”ของคนไทยที่ผ่านมา   ส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นในเรื่องของ “วัตถุ ทรัพย์สินเงินทอง” เป็นสำคัญ  ซึ่งแนวทางการพัฒนาเช่นนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า  ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อสังคมในภาพรวมอย่างมากมายในทุก ๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายลงไป  
        เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่า นัยยะความหมายของคำว่า “การพัฒนา ที่ถูกต้อง  ควรที่จะคำนึงถึงหรือมุ่งเน้นในเรื่องของ “ปัจจัยภายใน” ซึ่งหมายถึง คุณธรรมจริธรรมหรือการฝึกฝนพัฒนาจิตของผู้คนในสังคมเป็นสำคัญ  ส่วน“ปัจจัยภายนอก” ซึ่งหมายถึง เรื่องวัตถุทรัพย์สินเงินทองนั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องรองและจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนด้วย                       
        ๓. ความเป็นอิสระ  รัฐธรรมนูญของไทยบัญญัติคำว่า อิสระ ไว้ในหลายที่หลายแห่ง โดยเฉพาะในหมวดที่เกี่ยวกับศาลและองค์กรอิสระต่าง ๆ ปัญหาก็คือว่า คำว่าอิสระในรัฐธรรมนูญมีขอบเขตความหมายแค่ไหนเพียงใด
        แม้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจะให้ความหมายของคำว่า อิสระ ไว้ว่า เป็นใหญ่ เป็นไทแก่ตัว ไม่ขึ้นแก่ใคร ไม่สังกัดใคร แต่ตามรัฐธรรมนูญคงไม่อาจให้ความหมายเช่นนั้นได้  เพราะในทางปฏิบัติที่เป็นจริงย่อมไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดในระบอบประชาธิปไตยที่จะสามารถดำรงอยู่หรือทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระโดยไม่ขึ้นแก่ใครเลย
        แต่เดิมรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า   อำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ  พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา  ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล”  ซึ่งการบัญญัติในลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวไปว่า อำนาจต่าง ๆเหล่านั้นเป็นเอกเทศไม่ขึ้นแก่กันและองค์กรต่าง ๆที่รัฐธรรมนูญระบุชื่อไว้นั้นก็มีความรู้สึกหวงแหนในลักษณะของความเป็นเจ้าของอำนาจนั้น ๆโดยเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญได้ยกอำนาจนั้นให้แก่ตนเป็นสิทธิเด็ดขาดแล้วตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ  จนเป็นอุปสรรคปัญหามากมายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน   นักนิติศาสตร์จึงต้องอธิบายทำความเข้าใจในประเด็นนี้ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าอำนาจอธิปไตยย่อมเป็นหนึ่งเดียว  ส่วนหลักการแยกอำนาจนั้นเป็นเรื่องของการแบ่งหน้าที่หรือภารกิจให้องค์กรต่างๆไปทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น  ซึ่งต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว    โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  ๒๕๔๐  และ  ๒๕๕๐  ในมาตรา    บัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย  พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี และศาล  ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดของ “บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”  ก็จะพบว่า   นอกจากรัฐธรรมนูญจะแยกองค์กรตามแนวทางของหลักการแบ่งแยกอำนาจแล้ว ยังกำหนดให้องค์กรต่าง ๆมีการประสานงานกันและควบคุมซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจของรัฐอีกด้วย[4]   
        นอกจากนั้น จะสังเกตเห็นได้ว่าคำว่าอิสระที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการเน้นรับรองความเป็นอิสระขององค์กรมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของบทบาทหน้าที่เฉพาะตัวบุคคล[5] ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมีเจตนารมณ์อันสำคัญเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานภายในขององค์กรมิให้ถูกบุคคลหรือองค์กรภายนอกอื่นใดเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง เว้นแต่ ๒ องค์กรเท่านั้น คือ ศาลและอัยการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาและพนักงานอัยการไว้อย่างชัดเจน  อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนอีกเช่นกันว่า ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและพนักงานอัยการดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ได้ปล่อยให้เป็นอิสระอย่างไม่มีขอบเขตแต่อย่างใด[6] 
        จากที่กล่าวมาจึงมีความเห็นว่า แท้จริงแล้วแทบไม่มีความจำเป็นใด ๆเลยที่จะบัญญัติถ้อยคำที่ว่า อิสระ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะอย่างไรเสียทุกคนทุกองค์กรก็ต้องทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่ละคนแต่ละองค์กรย่อมไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงซึ่งกันและกันได้ ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดให้อำนาจไว้ หากจะมีประโยชน์อยู่บ้างก็คงจะเป็นไปในแง่ของผลทางจิตวิทยาที่ช่วยเตือนสติบุคคลหรือองค์กรอื่นใดโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองให้พึงตระหนักไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของฝ่ายอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตรวจสอบการกระทำความผิดหรือการทุจริตคอรัปชั่นทั้งหลาย
        อย่างไรก็ตาม โดยที่คำว่า อิสระ เป็นถ้อยคำภาษาที่ค่อนข้างศักดิ์สิทธิ์และทรงคุณค่าอย่างมากในระบอบประชาธิปไตย และไหน ๆก็มีการนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว จึงเห็นสมควรให้ยังคงไว้ แต่ก็เห็นว่าเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นควรที่จะกำหนดขอบเขตความหมายให้ครอบคลุมถึง ความเป็นอิสระภายในจิตใจ ของปัจเจกบุคคลแต่ละคนด้วย กล่าวคือ ในการทำหน้าที่ของทุกคนทุกฝ่ายนั้น ต้องพึงตระหนักรู้อยู่เสมอว่าต้องกระทำการทุกสิ่งทุกอย่างโดยอิสระปราศจากการถูกแทรกแซงหรือครอบงำจิตใจจากกิเลสตัณหาหรืออคติทั้งปวง ต้องทำหน้าที่ด้วยความกระหายอยากในความต้องการทางบวกที่เรียกว่า ฉันทะ เท่านั้น เพราะนี่คือหนทางในการฝึกฝนพัฒนาจิตและช่วยนำพาสังคมไทยให้ก้าวไปสู่สิ่งที่สร้างสรรค์ดีงามอย่างแท้จริง./


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับลงวันที่  ๒๕ กันยายน  ๒๕๕๓. 
[2] ดูรายละเอียดในบทที่ ๗.
[3] ดูรายละเอียดในบทที่ ๙.
[4] บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ:โครงการ
ตำราและเอกสารประกอบการสอนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๑), หน้า ๔๓๕.
[5] ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๗ วรรคสาม , ๒๒๒ วรรคสาม , ๒๒๗ วรรคสาม , ๒๓๕ วรรคสาม , ๒๔๒ วรรคหก , ๒๕๑ วรรคสาม , ๒๕๔ วรรคสอง , ๒๕๕ วรรคห้า และ ๒๕๘ วรรคสี่ บัญญัติไว้ทำนองเดียวกันว่า  “ให้สำนักงาน....เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ.
[6] รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๗ วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า
        “ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย” 
    มาตรา ๒๕๕ วรรคแรกและวรรคสอง บัญญัติไว้ว่า    
        “พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้และตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการและกฎหมายอื่น
         พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม”.
                                                  -------------------------------


        “...สิ่งที่ผู้ปกครองต้องทำก่อนอื่นใด คือ  การแก้ไขภาษาให้ถูกต้อง ...สุภาพชนเมื่อได้ยินสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ ควรสงวนท่าทีไว้ก่อน ถ้าภาษาไม่ถูกต้องย่อมหมายความว่า สิ่งที่พูดไม่สอดคล้องกับความหมายของคำพูดนั้น  เมื่อสิ่งที่พูดไม่ตรงกับความหมายของคำพูด ก็หมายความว่า สิ่งที่ควรกระทำจะไม่เกิดขึ้น ถ้าสิ่งที่ควรกระทำมิได้ถูกกระทำ  พิธีกรรมและดนตรีจะไม่เจริญรุ่งเรือง ถ้าพิธีกรรมและดนตรีไม่เจริญรุ่งเรืองบทลงโทษสถานหนักและเบาย่อมบังคับใช้ไม่ได้ผล และถ้าบทลงโทษสถานหนักและเบาออกนอกลู่นอกทาง ประชาชนจะไร้ที่อยู่ ด้วยเหตุนี้ สุภาพชนใช้ภาษาแต่ที่ถูกต้องในการเจรจา และกล่าวเฉพาะสิ่งซึ่งเหมาะสมในเชิงปฏิบัติ การพูดจาของสุภาพชนจะไม่เกิดจากเหตุบังเอิญเลย..../
                                                                               ขงจื้อ
                                                                                                                                       นักปราชญ์ชาวจีน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น