1/06/2555

ปฏิรูปประเทศไทยตามแนวทางวิถีแห่งพุทธ : ปัญหาเศรษฐกิจ

ปฏิรูปประเทศไทยตามแนวทางวิถีแห่งพุทธ : ปัญหาเศรษฐกิจ   [๑]
                                                                                                                     โดย...โสต  สุตานันท์

                คราวก่อนผู้เขียนได้ชักชวนผู้อ่านร่วมกันจินตนาการเพื่อปฏิรูปสังคมไทยในอนาคตไปแล้ว ๓ เรื่อง คือ  การเมืองการปกครอง การศึกษา และการศาสนา (น.ส.พ.มติชน ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓) วันนี้ ขอนำปัญหาเรื่อง “เศรษฐกิจ” มาสร้างฝันร่วมกันต่อ
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา  แปลว่า  ความหิวเป็นโรคร้ายแรงที่สุด สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ที่หนักหน่วงที่สุด คนที่ถูกความหิวครอบงำ มีความทุกข์จากความหิว แม้จะแสดงธรรมให้เขาฟัง เขาก็จะไม่สามารถเข้าใจได้  เพราะฉะนั้น ปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจ จึงนับได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคมมนุษย์  
             อย่างไรก็ตาม ถามว่าปัจจุบันมีประชาชนคนไทยที่มีฐานะยากจนถึงขั้นอดอยากหิวโหย ขาดแคลนข้าวปลาอาหาร อดมื้อกินมื้ออยู่หรือไม่ คำตอบคือ มีแน่นอน แต่ก็เชื่อว่า น่าจะน้อยมาก เพราะประเทศไทยค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจของเราก็ได้รับการพัฒนาก้าวหน้ามามากพอสมควร เรียกว่า ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเดือดร้อนเรื่องปัจจัยสี่ในระดับขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเหมือนเช่นในอดีต  หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ในเรื่องอาหารการกินนั้น ส่วนใหญ่มีมากเกินพอด้วยซ้ำไป เพราะดูเหมือนว่า ขณะนี้ปัญหาเรื่องเด็กอ้วนจะน่าเป็นห่วงมากกว่าเด็กผอม
                ถามต่อว่า  เมื่อคนไทยส่วนใหญ่มีอยู่มีกิน ไม่มีปัญหาเรื่องความหิวเข้าครอบงำ  แล้วทำไมศีลธรรมหรือคุณธรรมจริยธรรมของผู้คนในสังคมจึงเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆทำไมการพัฒนาจิตใจของผู้คนจึงมีลักษณะไปในทางที่ผกผันสวนทางกับความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ
             ปัญหาดังกล่าว ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้เคยแสดงธรรมบรรยายในหัวข้อเรื่อง “เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ” ไว้ตอนหนึ่งพอสรุปได้ว่า  “พุทธศาสนาแยกความต้องการของมนุษย์เป็น ๒ ประเภท คือ ความต้องการสิ่งเสพเปรอปรน คือ ตัณหา ซึ่งเป็นความต้องการที่ไม่จำกัด  กับความต้องการคุณภาพชีวิต คือ ฉันทะ  ซึ่งเป็นความต้องการที่มีขอบเขตจำกัด ตัวอย่างเช่น การกินอาหาร ความต้องการที่เป็นสาระคือ ต้องการคุณภาพชีวิต เพื่อจะหล่อเลี้ยงให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี  แต่อีกด้านหนึ่งมนุษย์ต้องการกินอาหารดี ๆเพื่อเสพรส ความเอร็ดอร่อยหรือความโก้ แสดงฐานะ ซึ่งเป็นตัณหา และอาจกลับมาทำลายคุณภาพชีวิตมนุษย์ในท้ายที่สุด
        ในแง่เศรษฐศาสตร์ เขาบอกว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมีการแข่งขันกัน  แต่ในทางพุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์นั้นมีธรรมชาติทั้งแข่งขันและร่วมมือ  ซึ่งความร่วมมือนั้นจะมีทั้งความร่วมมือแท้และความร่วมมือเทียม กรณีการแข่งขันนั้นจะเป็นการแข่งขันกันเพื่อสนองตัณหาหรือความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอ ซึ่งโดยธรรมชาติของการแข่งขันมักจะมีการแข่งกันอย่างเต็มที่ เพราะต่างคนต่างก็อยากได้เข้ามาหาตัวให้มากที่สุด ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเต็ม อย่างไรก็ตาม  อาจมีการนำธรรมชาติของการแข่งขันมาใช้เป็นแรงจูงใจให้คนร่วมมือกันเพื่อจะแข่งขันกับอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น อาจจะยั่วยุให้ประชาชนมีความรู้สึกชาตินิยมเพื่อรวมหัวกันต่อต้านสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น  ซึ่งถือเป็นความร่วมมือเทียม
         ส่วนความร่วมมือแท้ก็คือ การร่วมมือกันในความพยายามที่จะสนองความต้องการคุณภาพชีวิต  ดังนั้น ธรรมชาติของมนุษย์จึงมีทางที่จะฝึกให้ร่วมมือกันได้ และการฝึกฝนพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่งก็คือ การที่จะหันเหให้มนุษย์เปลี่ยนจากการแข่งขันกันมาร่วมมือกันในการที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์
         นอกจากนั้นท่านเจ้าคุณยังได้กล่าวถึงเรื่อง “การผลิต” ไว้อย่างน่าสนใจอีกว่า “ ในทางเศรษฐศาสตร์ การผลิต เป็นคำพูดที่ลวงตาและลวงสมอง ในการผลิตเราคิดว่าเราทำอะไรให้เกิดขึ้นใหม่ แต่แท้ที่จริงมันเป็นการแปรสภาพ คือ แปรสภาพอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง จากวัตถุอย่างหนึ่งไปเป็นวัตถุอีกอย่างหนึ่ง จากแรงงานอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง การแปรสภาพนี้เป็นการทำให้เกิดสภาพใหม่โดยทำลายสภาพเก่า เพราะฉะนั้น ตามปกติของการผลิตจึงมีการทำลายด้วยเสมอไป
         ถ้าเศรษฐศาสตร์จะเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้ว จะคิดถึงแต่การผลิตอย่างเดียวไม่ได้ การผลิตแทบทุกครั้งจะมีการทำลายด้วย การทำลายในบางกรณีเรายอมรับได้ แต่บางอย่างก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ฉะนั้นจึงมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับการผลิตในทางเศรษฐกิจนี้ เช่นว่า การผลิตบางอย่างเป็นการผลิตที่มีค่าเท่ากับการทำลาย ซึ่งจะมีปัญหาว่าควรจะผลิตดีหรือไม่ ในบางกรณีเราอาจต้องมีการงดเว้นการผลิตและการงดเว้นการผลิตนั้นก็เป็นกิจกรรมที่เสริมคุณภาพชีวิตได้ด้วย
         ในเศรษฐศาสตร์แบบใหม่นี้ จะพิจารณาคนด้วยการผลิตหรือไม่ผลิตเท่านั้นไม่ถูกต้อง เพราะการผลิตมีทั้งผลในทางบวกและทางลบ มีทั้งผลในทางเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและในทางทำลายคุณภาพชีวิต การไม่ผลิตอาจจะเป็นการกระทำหรือเป็นกิจกรรมที่ดีทางเศรษฐกิจก็ได้   เราต้องพิจารณาเรื่องการผลิตโดยแยกออกอย่างน้อยเป็น ๒ ประเภท คือ การผลิตที่มีค่าเท่ากับการทำลาย เช่น การผลิตที่เป็นการทำลายทรัพยากรและทำให้สภาพแวดล้อมเสีย  กับการผลิตเพื่อการทำลาย เช่น การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นต้น          
         อีกประการหนึ่ง คือ ในเศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรมนี้ การผลิตมีความหมายแคบ มองเฉพาะในแง่ที่จะเอามาซื้อขายกันได้ เป็นเศรษฐกิจแบบการตลาด  เพราะฉะนั้น อาตมาอยู่ที่วัด ทำโต๊ะ ทำเก้าอี้ขึ้นมาชุดหนึ่ง เอามานั่งทำงาน เศรษฐศาสตร์บอกว่าไม่ได้ผลิต
        คนหนึ่งขึ้นเวทีแสดงจำอวดตลกจี้เส้น ทำให้คนหายเครียด บันเทิงใจ จัดการแสดงโดยเก็บเงิน เราบอกว่ามีการผลิตเกิดขึ้น การจัดแสดงจำอวดเป็นการผลิต  แต่อีกคนหนึ่งอยู่ในสำนักงานหรือสถานศึกษา เป็นคนที่มีอารมณ์แจ่มใส คอยพูดคอยทำให้เพื่อนร่วมงานร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ จนกระทั่งไม่ต้องมีความเครียด ไม่ต้องไปดูจำอวด แต่เราไม่พิจารณาพฤติกรรมของคนผู้นี้ว่าเป็นการผลิต”
          จากหลักการแนวคิดดังกล่าว โจทย์ก็คือเราจะทำอย่างไรให้สังคมไทยสร้าง “ความร่วมมือแท้” และมองการผลิตในความหมายอย่างกว้าง ระมัดระวังมิให้มีการผลิตที่มีผลในทางลบหรือทำลาย โดยมีเป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ “เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของมนุษย์”
         ประเทศไทยมีประชากรจำนวนมากถึงประมาณ ๖๔ ล้านคน มีเนื้อที่มากถึง ๕๑๓,๑๑๕  ตารางกิโลเมตร แต่ละภาคแต่ละจังหวัดมีทรัพยากร มีสินค้า มีแหล่งท่องเที่ยว มีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลายกันมากมาย  เพราะฉะนั้น เราจึงมีปัจจัยความพร้อมในทุก ๆด้าน ที่จะนำมาบริหารจัดการเพื่อสร้างความร่วมมือแท้และจัดระบบเศรษฐกิจให้สังคมไทยพึ่งพาตนเองได้ไม่ยาก  โดยหากเราสร้างกลไกการผลิต การตลาด การจำหน่ายสินค้า การท่องเที่ยว ฯลฯ ให้มีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันอย่างเป็นระบบ มีความสมดุลและทั่วถึงกันในทุกจังหวัดทุกพื้นที่ ระบบเศรษฐกิจของเราก็จะสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้โดยไม่จำต้องพึ่งพาอาศัยต่างประเทศมากนัก และที่สำคัญแนวทางการพัฒนาเช่นนี้จะมีความมั่นคงยั่งยืนและสามารถสนองความต้องการคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศได้เป็นอย่างดี
         ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า  ระบบเศรษฐกิจของเราได้ผูกติดขึ้นอยู่กับต่างประเทศมากเกินไป ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและไม่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุน การค้าขายหรือการท่องเที่ยว เพราะมีเหตุปัจจัยเสี่ยงที่เราไม่สามารถควบคุมได้มากมาย  อีกทั้งยังต้องยอมรับความจริงว่า ศักยภาพในการแข่งขันหรืออำนาจในการต่อรองกับต่างประเทศของเรามีไม่มากนัก นอกจากนั้น ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการที่ต่างประเทศเข้ามาอาศัยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เราควรจะต้องตระหนักเป็นพิเศษ  หรือแม้แต่เรื่องการท่องเที่ยว หากพิจารณาดูให้ดีก็จะพบว่า เรามีต้นทุนมากมายที่ต้องสูญเสียไปเพื่อแลกกับแผ่นกระดาษที่เรียกกันว่า “เงินตรา”  เราเคยคิดกันบ้างไหมว่า  คนต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในบ้านเมืองเรานั้น  เราต้องจัดหาโรงแรมที่พัก อาหาร น้ำ คนให้บริการ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆอีกมากกมายให้กับพวกเขา  ไหนจะเรื่องของขยะและของเสียต่างๆที่เราจะต้องจัดการอีก  สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนเป็นที่มาแห่งปัญหาอันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ไม่แน่ว่าหากเราคิดคำนวณถึงผลได้ผลเสียโดยละเอียดในความหมายทางเศรษฐ-ศาสตร์อย่างกว้างแล้ว ตัวเลขที่สวยหรูของรายได้ที่ได้จากการท่องเที่ยวในแต่ละปีอาจจะติดลบด้วยซ้ำไป                  
          ที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่า  ผู้เขียนมีแนวคิดที่จะให้ปิดประเทศ  การติดต่อสัมพันธ์หรือการค้าขายกับต่างประเทศถือเป็นสิ่งจำเป็น แต่เราต้องรู้เขารู้เราและจัดวางสร้างระบบในการยืนอยู่บนสังคมโลกให้เหมาะสมและอย่างชาญฉลาด สมเกียรติ์สมศักดิ์ศรี  ตัวอย่างเช่น  ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เราต้องเน้นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ โดยต้องคำนึงถึงประเพณีวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว 
        ส่วนเรื่องการค้าขายนั้นเราต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและสอดคล้องเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานและศักยภาพของเรา  อย่างเช่น สินค้าทางด้านการเกษตรบางชนิด การมุ่งผลิตสินค้าโดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อนำไปจำหน่ายป้อนตลาดต่างประเทศโดยผ่านพ่อค้าคนกลางเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมานั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่หรือคุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเรื่องอื่นๆตามมาอีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะให้เกษตรกรทั้งประเทศทำการเกษตรแบบไร่นาส่วนผสมพออยู่พอกินโดยไม่ให้มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเลย เพราะหากเป็นเช่นนั้น คนประกอบอาชีพอื่นๆคงไม่มีอะไรกิน หรือกรณีที่เกิดปัญหาภัยพิบัติต่างๆก็คงจะไม่มีอาหารเพียงพอที่จะช่วยเหลือแบ่งปันกันได้  แล้วเราจะหาทางออกกันอย่างไร
        ปัญหาดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่า  เราควรกำหนดยุทธศาสตร์ในภาพรวมของทั้งประเทศให้ชัดเจน โดยต้องทำการศึกษาวิจัยและรวบรวมสถิติข้อมูลต่าง ๆที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนถูกต้อง  เป็นต้นว่า ความต้องการอาหารหรือสินค้าการเกษตรประเภทต่างๆของคนทั้งประเทศเป็นอย่างไร  ศักยภาพการผลิตของเกษตรกรในแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร   พื้นที่ไหนเหมาะสมที่จะปลูกพืชผลหรือผลิตสินค้าชนิดใด ฯลฯ รวมทั้งศึกษาถึงข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตและตลาดความต้องการของต่างประเทศด้วย  จากนั้น ก็นำข้อมูลที่ได้มาวางแผนว่า  เกษตรกรกลุ่มไหน จำนวนเท่าใด ควรปลูกพืชผลหรือผลิตสินค้าชนิดใด มากน้อยอย่างไร พร้อมกันนั้นก็ทำการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายระบบกลไกตลาดขึ้นมาให้เพียงพอและเหมาะสมกับปริมาณสินค้าที่ผลิตขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่กลไกตลาดในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับต่างจังหวัดหรือต่างภาค และเมื่อตลาดภายในประเทศมีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันอย่างสมบูรณ์แล้ว หากเกษตรกรรายใดกลุ่มใดมีศักยภาพสูงพอที่จะผลิตเพื่อการส่งออกได้ ก็ต้องสร้างระบบการผลิตและกลไกตลาดให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับตลาดในต่างประเทศต่อไป   แนวทางเช่นนี้ นอกจากจะส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจของเราพึ่งตนเองได้แล้ว  ยังเป็นการช่วยกระจายรายได้และลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้เป็นอย่างดี  เพราะโดยระบบในตัวมันเองย่อมมีทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายในทุกระดับชั้นไล่เรียงกันไปตั้งแต่ขนาดเล็กสุดจนถึงใหญ่สุด   ไม่ใช่มีแต่กลุ่มชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ กับกลุ่มพ่อค้าคนกลางหรือนายทุนขนาดใหญ่เพียงแค่ ๑-๒ เปอร์เซ็นต์ เหมือนเช่นทุกวันนี้
         อนึ่ง ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จได้ รัฐต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายความต้องการเพื่อ พัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็น คุณค่าแท้ เป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อ สนองความอยากเสพสิ่งปรนเปรอตน ซึ่งเป็น คุณค่าเทียม อีกทั้ง ต้องชี้ให้ประชาชนเห็นถึงโทษของ การแข่งขัน และประโยชน์ของการสร้าง ความร่วมมือแท้ให้ได้ อย่างเช่น  หมู่บ้านหรือชุมชนต่าง ๆในปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะไปหาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆในเมืองหรือตามห้างสรรพสินค้า  ทั้งๆที่สินค้าหลายชนิดสามารถผลิตหรือหาซื้อได้ในหมู่บ้าน ผลที่ตามมาก็คือ เงินทองรั่วไหลออกจากหมู่บ้านไปเรื่อย ๆ การแลกเปลี่ยนหมุนเวียนหรือการซื้อขายสินค้าในหมู่บ้านลดลง  ผลที่สุดทุกคนในหมู่บ้านก็จะได้รับความเดือดร้อน  เพราะเจ้าของร้านค้าในหมู่บ้านอาจเลิกกิจการหรือสินค้าที่นำมาวางจำหน่ายมีไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากเจ้าของร้านขาดทุน พืชผักสินค้าที่ชาวบ้านปลูกหรือผลิตขึ้นเองก็จะขายไม่ออกเพราะคนในหมู่บ้านไม่ยอมซื้อหรือขาดกำลังซื้อ การปลูกหรือผลิตในหมู่บ้านย่อมลดลงหรือเลิกไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน ชาวบ้านแต่ละคนต้องเสียเวลารวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหาซื้อสินค้าที่ไกลออกไป และฐานะความเป็นอยู่ของทุกคนก็จะย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ   แต่หากคนในหมู่บ้านคิดใหม่ทำใหม่ สร้างความร่วมมือแท้ขึ้นมา  โดยทุกคนพยายามหาซื้อสินค้าจากร้านค้าหรือที่ผลิตได้ในหมู่บ้านให้มากที่สุด  จำนวนร้านค้าและการผลิตย่อมมีเพิ่มมากขึ้น นั่นย่อมหมายถึงการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในหมู่บ้าน  เมื่อเจ้าของร้านค้าและผู้ผลิตในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้นก็จะมีเงินกลับไปซื้อสินค้าของคนในหมู่บ้านตอบแทนซึ่งกันและกันเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว    ผลที่สุดทุกคนทุกฝ่ายก็จะเป็นผู้ชนะ การผลิตและการติดต่อค้าขายก็จะขยายใหญ่โตขึ้นไปเรื่อย ๆอย่างเป็นธรรมชาติ./






                                   
        

        


[๑] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับลงวันที่  ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น