1/06/2555

อนาคตสังคมไทย หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อนาคตสังคมไทย หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  [1]
                                                                                                         โดย...โสต  สุตานันท์

                         ไม่ว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ขณะนี้  จะมีกฎเกณฑ์ เงื่อนไขกติกาอย่างไร    จะผ่านการลงประชามติของประชาชนให้มีผลบังคับใช้หรือไม่  และไม่ว่านับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป   จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม    แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่า  จะต้องเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแน่นอนก็คือ   ประเทศไทยต้องมี  รัฐธรรมนูญฉบับที่  ๑๘  และรัฐต้องจัดให้มีการ  เลือกตั้ง     
                          ปัญหาก็คือว่า    หลังการเลือกตั้ง   สังคมไทยจะเป็นอย่างไร   จะดีขึ้น หรือแย่ลง    ความขัดแย้ง  ความร้าวฉาน  และปัญหาต่าง ๆที่เคยเกิดขึ้นในสังคม และยังคงเป็นอยู่ ณ  เวลานี้   จะมีโอกาสได้รับการแก้ไขเยียวยาให้บรรเทาเบาบางลง  หรือจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
                         ผู้เขียนไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย   แต่ก็เชื่อว่า   คนไทยทุกคนคงมีความรู้สึกไม่แตกต่างไปจากผู้เขียน   คือ   รู้สึกเป็นห่วง รู้สึกวิตกกังวล และยังมองไม่เห็นแสงสว่างสำหรับอนาคตเท่าไหร่นัก    เพราะนับตั้งแต่วันที่  ๑๙  กันยายน  ๒๕๔๙  เป็นต้นมา    ปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆในสังคมไทย  ดูเหมือนจะยังไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น    ซ้ำร้ายปัญหาในบางเรื่อง  ยังส่อเค้าว่า  จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทยในอนาคตมากขึ้นไปอีก 
                         จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เหมือนเช่นทุกวันนี้    ผู้เขียนคาดเดาว่า   หลังการเลือกตั้ง   ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะ   ปัญหาในเรื่องความขัดแย้งทางความคิดของสังคมไทยก็คงจะยังมีอยู่ต่อไป   เพราะตราบใด   ที่อำนาจและผลประโยชน์ของคนในสังคมแต่ละกลุ่ม แต่ละองค์กร แต่ละสถาบัน   ยังไม่สามารถประนีประนอมหรือประสานผลประโยชน์กันได้อย่างลงตัว   ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ที่ปัญหาจะได้รับการเยียวยาแก้ไข
                        ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง  ที่รู้สึกเป็นห่วงและวิตกกังวลกับอนาคตของชาติบ้านเมืองเหมือนเช่นคนไทยทุกคน    ผู้เขียนจึงขอเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะในการหาหนทางเยียวยาแก้ไขปัญหา  ดังจะกล่าวต่อไปนี้   คือ
              ก่อนอื่นผู้เขียนขอแสดงทรรศนะในเบื้องต้นก่อนว่า    ผู้เขียนเชื่อว่า  ทุกประเทศในโลกนี้  มีทั้งคนดีและคนไม่ดี  ประเทศไทยก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี   ทุกจังหวัดไม่ว่ากรุงเทพหรือต่างจังหวัด  ทุกอำเภอ ทุกตำบล  ทุกหมู่บ้าน  ก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี  หรือแม้กระทั่งตัวเราเองทุกคนก็มีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัว  บางครั้งเราก็รู้สึกว่า  เราเป็นคนดี มีน้ำใจอย่างมาก  แต่บางครั้งเราก็รู้สึกว่า   เราเป็นคนที่เห็นแก่ตัวอย่างมากเช่นกัน
             ผู้เขียนเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมี ๒  ฟากอยู่ในตัวเสมอ คือ ฟากมืดกับฟากสว่างหรือด้านดีกับด้านไม่ดี    ทุกคนมีรัก  โลภ   โกรธ  หลง มีกิเลส ตัณหา กันทั้งนั้น   คนดีหรือไม่ดีน่าจะวัดกันตรงที่ใครสามารถควบคุมตัวเอง  ควบคุมอารมณ์รัก  โลภ  โกรธ  หลง  ควบคุมกิเลส ตัณหา ไม่ให้แสดงออกมาได้มากกว่ากัน   ใครควบคุมตัวเองได้มากก็เป็นคนดีมาก   ใครควบคุมตัวเองได้น้อยก็เป็นคนดีน้อย  ซึ่งการที่มนุษย์แต่ละคนจะควบคุมตัวเองได้มากน้อยอย่างไรนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย เงื่อนไข ต่าง ๆมากมายหลายประการ
           ในมุมมองของผู้เขียน  เห็นว่า  ในทางโลกนั้น  หากเราจะแยกดีแยกชั่วกัน  ก็อาจจะแยกได้เพียงว่า  ใครดี  ใครชั่ว  มากน้อยกว่ากันเท่านั้น   คงไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนว่า   คนนี้เป็นคนดี  คนนั้นเป็นคนชั่ว  และความดี ความชั่วก็มีมากมายหลายเรื่อง หลายรูปแบบ  นักโทษที่อยู่ในคุกบางคนอาจจะซื่อสัตย์ต่อลูกเมีย  อาจยึดถือสัจจะมากกว่าผู้ทรงเกียรติ์ทั้งหลายบางคนก็เป็นได้
          ปัญหาว่า  เมื่อแผ่นดินไทยผืนนี้  มีทั้งคนดีและคนไม่ดีอาศัยอยู่ มีทั้งคนดีมาก  ดีน้อย  ชั่วมาก  ชั่วน้อย   ปะปนกันไป    แล้วเราจะทำอย่างไร     เราจะไล่คนชั่วออกจากประเทศไปหรือ  หากต้องการไล่คนชั่วออกไป   ถามว่า  ชั่วเท่าไหร่ล่ะ  ชั่วอย่างไรล่ะ เราถึงจะไม่ยอมให้เขาอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้   และที่สำคัญ  ใครจะเป็นคนตัดสินว่า  ใครชั่วมากชั่วน้อยอย่างไร และจะเอาเกณฑ์อะไรมาชี้วัดกัน   ในมุมมองของผู้เขียน   เห็นว่า  ถึงแม้คนบางคนจะชั่วจะเลวอย่างไร   เขาก็มีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในแผ่นดินผืนนี้   เราไม่มีสิทธิ์ไปขับไล่เขา  แต่หากเขาอยู่แล้ว  สร้างปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น  สังคมเราก็มีตัวบทกฎหมายที่สามารถใช้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการกับคนเหล่านั้นได้ 
          ผู้เขียนเห็นว่า  หลักการหรือแนวคิดในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น  น่าจะยึดหลักว่า   เราจะทำอย่างไรให้คนดีกับคนไม่ดีสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้โดยให้มีปัญหาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  (ขอไม่ใช้คำว่า  ไม่ให้มีปัญหา  เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้)    เราต้องไม่แยกดี แยกชั่ว   ถ้าเราพยายามแยกดีแยกชั่วเมื่อไหร่   แน่นอนว่า   ความขัดแย้ง  ความรุนแรง และความวิบัติย่อมตามมา  เพราะจริง ๆแล้ว  ไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองชั่วหรอก   ไม่เชื่อท่านลองไปถามนักโทษในเรือนจำดู จะมีซักกี่คนที่ยอมรับว่าตัวเองเลว  ตัวเองชั่ว ทุกคนมีข้อแก้ตัว  มีข้ออ้างถึงเหตุจำเป็นที่ทำผิดกันทั้งนั้น 
           ปัญหาสำคัญที่สุดของเราตอนนี้ คือ  ความแตกแยกในสังคม   ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องช่วยกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็คือ   การสร้างความปรองดอง  การสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนในชาติ   ผู้เขียนขอตั้งข้อสมมุติฐานว่า  ไม่ว่าเราจะแบ่งกลุ่มคนในสังคมออกเป็นกี่พวก กี่ฝ่าย ก็ตาม  แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า  ทุกกลุ่มทุกฝ่าย  มีทั้งคนดีมาก ดีน้อย  ดีปานกลาง   มีคนชั่วมาก  ชั่วน้อย และชั่วปานกลาง ปะปนกันไป     ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีคนที่มีอารมณ์ รัก  โลภ   โกรธ   หลง   มีโทสะ  โมหะ หรือมีกิเลส   ตัณหา  มากน้อยคละเคล้ากันไป  
             ดังนั้น  ผู้เขียนจึงขอเสนอทางออกว่า   ฝ่ายที่คิดว่าตนเองเป็นคนดี  ไม่ว่าจะดีมากหรือดีน้อย (ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า   ทุกฝ่ายต้องคิดว่าตนเองดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่งทั้งนั้น)   ต้องจับมือกับฝ่ายที่ตนเองเห็นว่า  เป็นคนชั่ว  เป็นคนไม่ดี เพื่อสงบศึกกันก่อน   จากนั้น  เราค่อยหันหน้ามาคุยกันว่า   ไหน ๆเราก็ต้องอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ ไม่สามารถแยกจากกันได้  เรามาช่วยกันคิด  ช่วยกันหาทางออกซิว่า   ในอนาคตเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร  เราจะสร้างกฎเกณฑ์กติกาอย่างไรในการอยู่ร่วมกัน   เพื่อให้มีปัญหาระหว่างกันน้อยที่สุด 
              สำหรับเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมานั้น   หากไม่ใช่ความผิด  ความชั่ว ที่ร้ายแรงอะไรนัก  พอจะให้อภัยกันได้  ก็ให้อภัยกันไป  แต่ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องที่ ร้ายแรง  ก่อให้เกิดความเสียหาย  ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง  ยากที่จะให้อภัยกันได้   ก็นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายหรือกระบวนการอื่นใดที่โปร่งใสและเป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้    จากนั้น  ก็ให้เรื่องมันดำเนินไปตามกระบวนการของมัน
            ในการรัฐประหารเมื่อวันที่  ๑๙   กันยายน  ๒๕๔๙ ที่ผ่านมานั้น  ผู้เขียนเชื่อว่า   แท้จริงแล้วทหารคงไม่อยากทำหรอก     เพราะน่าจะรู้ดีว่า   ในโลกของยุคโลกาภิวัฒน์ ที่กระแสในเรื่องของประชาธิปไตยได้แผ่ขยายครอบคลุมไปทุกหย่อมหญ้า  ทหารคงไม่สามารถยึดกุมอำนาจไว้หรือพยายามสืบทอดอำนาจได้โดยง่ายเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา   ผู้เขียนไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ว่า  การปฏิวัติของทหาร มีความถูกต้อง  ชอบธรรม หรือไม่  อย่างไร  เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ประสงค์จะนำเสนอในบทความนี้    แต่ผู้เขียนก็ขอตั้งข้อสังเกตไว้ประการหนึ่งว่า   ไม่ว่าการปฏิวัติของทหารจะผิด จะถูกหรือไม่   อย่างไร   แต่จากการติดตามสถานการณ์บ้านเมืองก่อนการปฏิวัติ    ผู้เขียนมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่า    ทหารและบุคคลต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ   ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม  มีความบริสุทธิ์ใจ  มีความตั้งใจจริงที่ต้องการจะเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง        
                        ไหน ๆเรื่องก็ผ่านไปแล้ว    ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้  คงไม่มีประโยชน์อันใดที่เราจะมัวไปนั่งคิดถึงเรื่องในอดีตว่า  มันถูก หรือผิด อย่างไร     สิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญ คือ  เราจะจัดการกับอนาคตของเราอย่างไรมากกว่า  
             หากผู้อ่านย้อนคิดทบทวนถึงเหตุการณ์ต่าง ๆก่อนมีการปฏิวัติ  ก็จะเห็นว่า    การแสดงออกซึ่งความขัดแย้งในทางความคิด ความเห็นของคนในสังคมแต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่าย  ได้เริ่มก่อตัวขึ้นทีละเล็ก ละน้อย  และขยายตัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆเป็นลำดับ และมีหลายฝ่ายพยายามออกมาแสดงความคิด  ความเห็น เพื่อหาทางออก  เพื่อคลี่คลายปัญหา  แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความแตกแยกร้าวฉานได้ 
          หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า   การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์  ๒๕๔๙   เป็นโมฆะ  ความขัดแย้งในทางความคิดของคนในสังคมได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก  และส่อเค้าลางว่า   อาจจะเกิดการนองเลือด  เกิดสงครามการเมือง    ซึ่งก็มีหลายคน  หลายฝ่าย   พยายามเสนอแนวทางให้มีตัวกลางซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับนับถือ  เข้าไปช่วยเหลือไกล่เกลี่ยหาทางออกให้      แต่ก็ปรากฏว่า    แต่ละฝ่ายต่างก็แสดงออกถึงการไม่ยอมกัน มีทิฐิ  ตั้งเงื่อนไข และใช้วาจาเชือดเฉือนกันในทางการเมือง    จนท้ายที่สุดก็ไม่มีเวทีสำหรับการหันหน้าเข้าหากัน  เพื่อเจรจาหาข้อยุติได้  และต้องรบกวนถึงเบื้องพระยุคลบาท   โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงมีพระราชดำรัสให้คำแนะนำ  เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้   ดังที่ทราบกันอยู่  และสุดท้ายก็จบลงด้วยการปฏิวัติ
            จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น   ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว   ผู้เขียนเห็นว่า   หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ    หากความขัดแย้งในทางความคิดของคนในสังคมยังคงดำรงอยู่เหมือนเช่นทุกวันนี้  และเราไม่มีระบบรองรับ  เพื่อจัดการให้ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน  ไม่ว่าฝ่ายใด  ได้มีโอกาสหันหน้าเข้ามาปรึกษาหารือ หรือจับเข่าคุยกันได้     สังคมไทยก็อาจจะก้าวเดินไปสู่สถานการณ์ที่เรียกกันว่า วิกฤตที่สุด  อีกครั้งหนึ่ง   ซึ่งอาจจะเลวร้ายมากกว่าเหตุการณ์ก่อนการปฏิวัติเมื่อวันที่  ๑๙   กันยายน  ๒๕๔๙  ก็เป็นได้ 
             ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอว่า     ในการร่างกฎหมายรัฐธรรม   ควรที่จะบัญญัติหาทางออกในเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย     โดยน่าจะบัญญัติไว้ในทำนองว่า    หากเกิดปัญหาวิกฤติในเรื่องความขัดแย้งของคนในชาติอย่างรุนแรง   จนไม่สามารถหาทางออกตามกลไก  ตามกระบวนการ  ครรลองปกติของกฎหมายได้  ให้องค์กรหรือสถาบันหลักสำคัญ ๆของชาติ   เป็นต้นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ   บริหาร   ตุลาการ   ฝ่ายการศาสนา  หรือ องค์กรหรือสถาบันอื่นใดที่เห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็น     ให้ส่งผู้แทนเข้าไปเป็นคณะกรรรมการร่วมกันเพื่อเป็นตัวกลาง  ในการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างกลุ่มขัดแย้งต่าง ๆและช่วยกันพิจารณาหาทางออกให้กับสังคม        
            ผู้เขียนเห็นว่า   แม้บางครั้ง คำว่า  ความระเอียดรอบคอบ  จะใกล้เคียงกับคำว่า ความฟุ้งซ่านเกินเหตุ  จนยากจะแยกออกจากกันได้โดยง่าย    แต่เรื่องที่สำคัญและใหญ่หลวงเช่นนี้   เราน่าจะยึดหลักสุภาษิตที่ว่า   กันไว้   ดีกว่าแก้    เพราะหากเราปล่อยให้สถานการณ์ย่ำแย่แล้ว  เราอาจจะแก้ปัญหากันไม่ทัน ./ 
                                                --------------------------------------------------
หมายเหตุ   -    ต่อมาคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา  ๖๘  วรรคสอง  ว่า     ในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤต  เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง  ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ประธานวุฒิสภา  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ประธานศาลฎีกา  ประธานศาลปกครองสูงสุด และประโนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว      ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง  โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว     ผู้เขียนจึงได้ส่งความเห็นเพิ่มเติมไปยังสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้  คือ    
      ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวคิดที่ให้ผู้นำองค์กรต่าง ๆประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติ  ตามร่างรัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๖๘  วรรคสอง  แต่ผู้เขียนขอเสนอความเห็นและตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม  ดังนี้   คือ
๑.)      ควรกำหนดเจ้าภาพที่จะเรียกประชุมให้ชัดเจน   โดยอาจแบ่งการ
ประชุมเป็น  ๒   ขั้นตอน   คือ
ขั้นตอนแรก   -   เป็นการเรียกประชุมเพื่อพิจารณาลงมติก่อนว่า   
สถานการณ์ถึงขั้นวิกฤตที่จะต้องร่วมกันพิจารณาหาทางออกให้กับประเทศชาติหรือยัง
ขั้นตอนที่สอง  -   เป็นการเรียกประชุมหลังจากผ่านการพิจารณา
ขั้นตอนแรกแล้วว่า   สถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤตจริง
๒.)    ไม่ควรบัญญัติในลักษณะให้มติที่ประชุมมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
ได้ทันที   เพราะคงก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย    แต่ควรนำประเด็นตามความเห็นของมติที่ประชุมไปทำประชาพิจารณ์  หรือ ให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติก่อน     ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า  หากมติที่ประชุม  เป็นมติที่มีเหตุมีผล  และเป็นทางออกที่ดีของประเทศชาติได้   ก็เชื่อว่า   เสียงส่วนใหญ่ก็คงลงมติเห็นด้วย 
       หรือหากท้ายที่สุด  ประชาชนจะมีมติไม่เห็นด้วย   แต่อย่างน้อยก็เป็นการถ่วงเวลาไว้ระยะหนึ่ง  เพื่อให้ทุกคนได้หยุดคิด  ได้ระงับอารมณ์   ได้มีสติ  และได้มีโอกาสถกเถียงปัญหาร่วมกัน   เพื่อจะได้นำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาในวิถีทางอื่นต่อไป   
      นอกจากนั้น   กระบวนการดังกล่าว   ยังน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง   ในแง่ของการพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย





[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลงลงวันที่ ๓   เมษายน  ๒๕๕๐.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น