1/06/2555

ที่มาของฝ่ายตุลาการ
                                    โดย...โสต  สุตานันท์

         ก่อนวิเคราะห์ถึงที่มาของฝ่ายตุลาการ ขอพูดถึงภารกิจของฝ่ายตุลาการก่อนว่า มีบทบาทหน้าที่และกระบวนการขั้นตอนในการทำงานอย่างไรบ้าง   
         เป็นที่ทราบกันดีว่า ฝ่ายตุลาการหรือสถาบันศาลมีหน้าที่หลักสำคัญ คือ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวง โดยศาลในประเทศไทยจะมีอยู่    ศาล คือ  ศาลยุติธรรม  ศาลปกครอง  ศาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญ
         ทั้งนี้  ในการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดหรือพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลต่างๆดังกล่าว จะมีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่  ๓ ส่วน คือ
         ๑. การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อมีการสืบพยานหรือรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงในคดีแล้วเสร็จ   ศาลจะต้องวินิจฉัยก่อนเป็นอันดับแรกว่า ข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีนั้นรับฟังเป็นยุติว่าอย่างไร พูดง่าย ๆก็คือ ต้องสืบหาข้อเท็จจริงให้ได้ก่อนว่า ใคร ทำอะไร  ที่ไหน  อย่างไร และเมื่อใด
         ๒. การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย   เมื่อฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้ว ก็จะนำข้อเท็จจริงนั้นไปปรับวินิจฉัยเข้ากับตัวบทกฎหมายว่าใครผิด ใครถูกอย่างไร เป็นไปตามกฎหมายฉบับใด มาตราไหน
         ๓. การใช้ดุลพินิจตัดสินชี้ขาดหรือการลงโทษ โดยทั่วไปจะมีกฎหมายบัญญัติไว้ ๒ ลักษณะ  คือ
            ๓.๑ ให้ศาลใช้ดุลพินิจตัดสินภายใต้ขอบเขตหรือเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด  เช่น  กฎหมายที่มีโทษทางอาญาทั่วไป ส่วนใหญ่มักจะกำหนดอัตราโทษจำคุกหรือปรับขั้นต่ำ - ขั้นสูงไว้ ศาลต้องใช้ดุล พินิจลงโทษภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด หรือการใช้ดุลพินิจรอการลงโทษ ลดโทษ การใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย การกำหนดค่าเสียหายในทางแพ่ง ฯลฯ จะมีกฎหมายกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนว ทางสำหรับศาลในการใช้ดุลพินิจตามแต่จะเห็นสมควร
          ๓.๒ บังคับให้ศาลต้องตัดสินไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ไม่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่น เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙  และการผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑  เพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา  ๖๕  กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  ๓๒ บัญญัติให้ศาลต้องริบเสียทั้งสิ้น หรือกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคสี่ และมาตรา  ๒๓๗ วรรคสอง ก็มีผู้ให้ความเห็นกันว่า  เป็นบทบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคนั้นเป็นระยะเวลาห้าปี  จะใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เป็นต้น
         จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ดีมีคุณภาพนั้น  จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ มีประสบการณ์สูง จึงจะสามารถทำความเข้าใจและวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้อง   อีกทั้ง ยังต้องมีความแม่นยำและเชี่ยวชาญแตกฉานในเรื่องการตีความกฎหมาย รวมทั้งจะต้องมีศิลปะในการนำกฎหมายไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องได้อย่างชาญฉลาดและแยบยล   นอกจากนั้น การใช้ดุลพินิจตัดสินชี้ขาดคดีก็ต้องมีความเหมาะสม ต้องมีความรู้ความเข้าใจในปรัชญาแนวคิดเกี่ยวกับการลงโทษหรือเจตนารมณ์เบื้องหลังของกฎหมายแต่ละฉบับอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งและที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ  ต้องมีความเป็นกลางปราศจากอคติทั้งสี่ คือ ฉันทาคติ  โมหะคติ โทสาคติ และภยาคติ  
         โจทย์ก็คือว่า เราจะมีกระบวนการเลือกสรรกลั่นกรองผู้พิพากษาหรือตุลาการที่มีคุณสมบัติที่ดีดังกล่าวได้อย่างไร    มีหลายประเทศที่ให้ ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้งและที่ผ่านมาก็มีนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า  ศาลไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเหมือนฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ   พร้อมทั้งมีข้อเสนอว่าน่าจะให้ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้งเพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย   ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับหลักการแนวคิดดังกล่าว  แต่ก็มีเงื่อนไขข้อแม้ว่าสังคมนั้นต้องประกอบด้วยประชากรที่มีคุณภาพสูง มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์หรือก้าวหน้ามากพอสมควร   คำถามก็คือว่าประชาธิปไตยของไทยเราที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ?  ปัญหาวิกฤตทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คงเป็นคำตอบที่ดีได้โดยไม่ต้องไปเสียเวลาคิดหาเหตุผลมาอธิบายขยายความให้เจ็บปวดหัวใจกันอีก 
         ผู้เขียนเห็นว่า  ความสำคัญสูงสุดของสถาบันศาลอยู่ที่การได้รับความยอมรับนับถือหรือความเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชน   องค์กรหรือสถาบันอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมหากจะมีปัญหาในเรื่องความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริตหรือความยุติธรรม ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือไปบ้าง  สังคมก็ยังพอทำใจทนรับได้  เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ยังมีความรู้สึกว่า ยังมีศาลสถิตยุติธรรมอีกแห่งหนึ่งที่เป็นที่พึ่งสุดท้าย   แต่ถ้าหากวันใด ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจ  รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยในบทบาทหน้าที่ของศาลแล้ว  เชื่อได้เลยว่าสังคมนั้นจะสับสนวุ่นวายมากขึ้นเรื่อยๆและคงจะล่มสลายไปในที่สุด   
         ต้องยอมรับความจริงกันว่า  โดยธรรมชาติของการเลือกตั้งต้องมีคำว่าพรรคพวก หัวคะแนน มีคำว่าฐานเสียงตามมา  ดังนั้น หากให้ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอนก็คือ ปัญหาเรื่องความเป็นกลางและความเชื่อมั่นศรัทธาในความเที่ยงตรงที่ประชาชนจะพึงมีต่อศาล  นอกจากนั้น  จากสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา  บรรดาผู้มีอำนาจอิทธิพลและเหล่านักการเมืองขี้ฉ้อทั้งหลายย่อมรู้ดีว่า ศาลเป็นศัตรูหรือปัญหาสำหรับชีวิตเขา  หากเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาเมื่อใด ย่อมแน่นอนว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องพยายามแทรกแซงหรือส่งนอร์มินีเข้าไปอยู่ในศาล  ถึงตอนนั้นกล่องขนมบรรจุเงินแสนเงินล้านก็คงจะตกอยู่เกลื่อนศาลและความอยุติธรรมก็คงจะแผ่ขยายปกคลุมไปทุกหย่อมหญ้า  
         ส่วนปัญหาเรื่องความเชื่อมโยงกับประชาชนนั้น ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า คำว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ได้หมายถึง การเลือกตั้งเท่านั้น อีกทั้งการกำหนดคุณสมบัติและขั้นตอน วิธีการ ในการให้ได้มาซึ่งตำแหน่งผู้พิพากษาก็เป็นไปตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ออก อย่างเช่น ผู้พิพากษาต้องเรียนจบนิติศาสตร์บัณฑิต  เนติบัณฑิตไทย เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ โดยต้องผ่านการทดสอบความรู้ตามมาตรฐานที่กำหนดและต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรม ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย ฯลฯ ดังนั้น หากใครต้องการเป็นผู้พิพากษาก็ต้องไปศึกษาเรียนรู้ ผ่านการทดสอบและการตรวจสอบคุณ สมบัติตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายดังกล่าว และเมื่อเข้าไปทำหน้าที่แล้ว  ก็ยังต้องถูกควบคุมตรวจสอบการทำงานตามกฎกติกาของกฎหมายที่ออกโดยผู้แทนปวงชนอีกเช่นกัน แล้วอย่างนี้จะบอกว่าผู้พิพากษาไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างไร
         กล่าวโดยสรุปก็คือ   ผู้เขียนเห็นว่าการเลือกตั้งฝ่ายตุลาการไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงสำหรับสังคมไทย ณ ขณะนี้  แล้วเราจะมีวิธีการให้ได้มาซึ่งฝ่ายตุลาการกันอย่างไร ?  ขอแสดงความเห็นโดยแบ่งออกเป็น ๒  ส่วน    คือ
         ๑. ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร  จากการตรวจสอบพบว่ามีกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้พิพากษาหรือตุลาการคล้าย ๆกัน คือ  การสอบคัดเลือก  การทดสอบความรู้และการคัดเลือกพิเศษ  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะถูกต้องเหมาะสมดีแล้ว  แต่ก็ขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมไว้ ๓  ประการ คือ
         ๑.๑ ในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น หากศาลฟังข้อเท็จจริงผิด พลาดคลาดเคลื่อน ย่อมส่งผลทำให้การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและการใช้ดุลพินิจตัดสินชี้ขาดผิดเพี้ยนไปด้วย   ทำนองเดียวกันกับแพทย์รักษาคนไข้   ถ้าวิเคราะห์อาการคนไข้ผิดพลาดก็จะทำให้การรักษาหรือการสั่งยาผิดพลาดไปด้วยเช่นกัน จะสังเกตเห็นได้ว่าหลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงอย่างมาก โดยจะมีการตั้งคณะลูกขุน (Jury) ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่รับฟังและวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงโดยเฉพาะ  แต่ของไทยเราไม่มี  ดังนั้น จึงเห็นว่าควรเน้นพิจารณาคุณสมบัติให้ได้บุคคลที่มีความรอบรู้และประสบการณ์ชีวิตให้มากขึ้น ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับฟังและวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง อย่างเช่นคุณสมบัติในเรื่องอายุของผู้พิพากษา หรือตุลาการควรกำหนดให้มีวัยวุฒิสูงพอสมควร อย่างน้อยน่าจะไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี
          ๑.๒ การแก้ไขปัญหาตามหลักศาสนาพุทธนั้นต้องพิจารณาอย่าง เป็นองค์รวม เชื่อมโยงถึงกัน ไม่แยกส่วน  ดังนั้น การที่จะสามารถนำข้อเท็จจริงไปปรับกับข้อกฎหมายและใช้ดุลพินิจตัดสินคดีได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  นอกจากจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องตัวบทกฎหมายเป็นอย่างดีแล้ว  ยังต้องอาศัยองค์ความรู้จากศาสตร์สาขาอื่นด้วย ถึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเห็นว่าควรที่จะกำหนดคุณสมบัติของผู้พิพากษาหรือตุลาการให้ต้องเรียนจบปริญญาตรีสาขาอื่นนอกจากกฎหมายอีก ๑ สาขา เป็นอย่างน้อย
          ๑.๓ ปัญหาเรื่องการใช้ดุลพินิจในการตัดสินชี้ขาดคดีนั้น  ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากเพราะเป็นผลชี้ขาดท้ายสุด  แม้ว่าการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจะถูกต้องสมบูรณ์สูงสุด  แต่หากการใช้ดุลพินิจไม่สมเหตุสมผลหรือไม่เหมาะสมได้สัดส่วน ย่อมส่งผลทำให้กระบวนการทั้งหมดล้มเหลวโดยสิ้นเชิง   ทั้งนี้  หลักการสำคัญสูงสุดในการใช้ดุลพินิจก็คือ ต้องมีความเป็นกลางปราศจากอคติทั้งปวง  ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆเพราะการใช้ดุลพินิจจะมีความผูกพันแนบอิงอยู่กับจิตใจ  ทัศนคติ แนวคิดและความรู้สึกของผู้ตัดสินอย่างแนบแน่นลึกซึ้ง  โดยสิ่งดังกล่าวจะถูกสั่งสมหล่อหลอมมาตั้งแต่เกิด   จึงมีการเปรียบเปรยในลักษณะประชดประชันแต่แฝงนัยความหมายไว้อย่างน่าคิดว่า  ผู้พิพากษาจะตัดสินคดีอย่างไรขึ้นอยู่กับว่า กินข้าวเช้ากับอะไร ซึ่งหมายถึงว่า ประสบการณ์ชีวิตหรืออดีตที่มาของผู้พิพากษาจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการใช้ดุลพินิจตัดสินคดี   ดังนั้น หากบุคคลใดไม่ระมัดระวังให้ดีหรือไม่ได้รับการฝึกฝนพัฒนาจิตอย่างถูกต้องและมากพอ  ก็อาจถูกอคติเข้ารบกวนแทรกแซงหรือครอบงำได้โดยง่าย  ซึ่งบางครั้งบางทีก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอาจไม่รู้ตัว  ตัวอย่างเช่น   ผู้พิพากษาที่มีครอบครัวดีมีความอบอุ่น ภรรยาเป็นกุลสตรี เป็นแม่ศรีเรือนที่มีคุณสมบัติดีพร้อม  ก็อาจมีแนวโน้มที่จะตัดสินคดีเกี่ยวกับสามีทำร้ายร่างกายภรรยาด้วยการลงโทษจำเลยสถานหนักมากยิ่งกว่าบุคคลที่มีภรรยาซึ่งมีคุณสมบัติไม่ค่อยจะดีนัก หรือผู้พิพากษาที่มีฐานะยากจนมาก่อนโอกาสที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษปรับสถานเบากว่าผู้พิพากษาที่ครอบครัวมีฐานะร่ำรวยย่อมเป็นไปได้สูง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าใครจะตัดสินคดีอย่างไร  ก็คงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าผิดหรือถูก เพราะคำว่า “ดุลพินิจ”  ก็มีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูก แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสม ซึ่งย่อมเป็นธรรมดาที่อาจมีความเห็นแตกต่างกันได้  
         อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ชี้วัดการใช้ดุลพินิจที่ดีที่สุดน่าจะได้แก่ ความ รู้สึกหรือความเห็นของ “วิญญูชน”ส่วนใหญ่ในสังคม (บุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปกติ)   ดังนั้น  จึงเห็นว่าไม่ว่าจะใช้กระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้พิพากษาหรือตุลาการอย่างไร  ควรมีการทดสอบการใช้ดุลพินิจด้วย  ไม่ใช่เน้นทดสอบความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเพียงด้านเดียว  อย่างเช่น  อาจทดสอบด้วยการนำคำพิพากษาที่ตัดสินไปแล้วให้อ่าน  โดยตัดย่อหน้าสุดท้ายที่ว่า  พิพากษาว่า......” ออก แล้วให้ผู้ถูกทดสอบใช้ดุลพินิจว่า  หากเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนจะตัดสินคดีนั้นอย่างไร  ด้วยเหตุผลแนวคิดใด  วิธีการเช่นนี้ เชื่อว่าจะช่วยทำให้สามารถคัดสรรกลั่นกรองบุคคลที่มีดุลพินิจเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของวิญญูชนในสังคมได้เป็นอย่างดีวิธีหนึ่ง
         ๒. ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวพันกับอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองของคนทั้งชาติ  อีกทั้งจากสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมามีข้อครหานินทามาโดยตลอดว่า  การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญถูกแทรกแซง ครอบงำจากฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มผู้มีอำนาจอิทธิพลต่าง ๆ ซึ่งจะจริงหรือไม่ คงยากที่จะตอบได้  แต่สิ่งแน่นอนที่เกิดขึ้นก็คือ ความรู้สึกไม่มั่นใจ ความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยในบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่ง ดังเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้นจึงเห็นว่านอกจากความรู้ความสามารถและประสบการณ์แล้ว  คุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งของผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ คือ  “ความเป็นกลาง”  
         อย่างไรก็ตาม  ดังได้กล่าวไปแล้วว่าความเป็นกลางนั้นจะผูกพันเชื่อมโยงกับคำว่า “อคติ” และ “ดุลพินิจ” อย่างแนบแน่นลึกซึ้ง  ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือใดที่จะตรวจวัดได้ชัดเจน  อย่างดีที่สุดก็ใช้มาตรฐานความเห็นของ “วิญญูชน” ส่วนใหญ่เป็นตัวชี้วัด   แต่ในสภาพของสังคมที่สับสนในความหมายของคำต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นคำว่า  ประชาธิปไตย  ความยุติธรรม  การพัฒนา สิทธิ เสรีภาพฯลฯ หรือแม้กระทั่งคำง่าย ๆที่ว่า ความดี” ก็ยังถกเถียงทะเลาะกันไม่จบ  คนๆเดียวกันแท้ ๆคนเป็นล้านบอกว่าเป็นคนดี เป็นวีรบุรุษ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนเป็นหลักล้านอีกเช่นกัน กลับมองว่าเป็นยักษ์ เป็นเปรต เป็นมารร้าย เรียกว่า ต่างฝ่ายต่างพูดคนละเรื่องเดียวกัน  ถ้าไม่ทะเลาะทำร้ายกันจนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย ก็คงเป็นเรื่องแปลก เพราะฉะนั้น หากมีการกล่าวอ้างความเห็นของวิญญูชน ก็คงจะมีคำถามตามมาว่า เป็นวิญญูชนกลุ่มไหน ในมุมมองความเห็นของใคร              
         จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าคำว่าความเป็นกลางนั้นเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก  ขึ้นอยู่กับมุมมองความเห็นและเงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆมากมาย ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ก็คือ การพยายามสร้างกระบวนการให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการที่เปิดเผย โปร่งใสให้มากที่สุด และต้องพยายามคัดสรรบุคคลที่มีประวัติดี มีประสบการณ์ มีชื่อเสียงบารมีสูง เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนในสังคม  ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้กับประชาชน โดยหากกระบวนการเริ่มต้นได้รับการเชื่อถือยอมรับ ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใด ๆแล้ว ก็เท่ากับว่าสำเร็จไปแล้วกึ่งหนึ่ง จึงขอเสนอแนวทางดังนี้ คือ
         ๑. ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้บังคับบัญชาหรือผู้นำสูงสุดขององค์กรหรือสถาบันหลักสำคัญต่างๆของชาติ เป็นต้นว่า นายกรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทน ราษฎร  ประธานวุฒิสภา  ผู้นำฝ่ายค้าน   ประธานศาลฎีกา  ประธานศาลปกครองสูงสุด  อัยการสูงสุด  ประธานสภาทนายความ  ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและตัวแทนจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นต้น  เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมแล้ว ก็ให้นำรายชื่อผู้ได้รับเลือกเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
           ๒. สำหรับบุคคลที่มีสิทธิได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ควรมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ และมีชื่อเสียงบารมีอย่างแท้จริงและควรให้มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เน้นเฉพาะผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เท่านั้น  เนื่องจากการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาหรือตุลาการจะมีทั้งการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลายศาสตร์หลายสาขาดังได้กล่าวไปแล้ว   จึงมีความเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเลือกสรรมาจากกลุ่มบุคคลที่เคยเป็นอดีตผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในองค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ ดังกล่าวในข้อ ๑. รวมทั้งอดีตตำแหน่งอื่น ๆที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น  อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือผู้บัญชาการเหล่าทัพต่าง ๆ  อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  อดีตรัฐมนตรี   อดีตปลัดกระทรวงต่าง ๆ เป็นต้น 
         แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ต้องกำหนดเงื่อนไขข้อแม้ที่เหมาะสมด้วย โดย เฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง และเพื่อ ให้ได้กลุ่มบุคคลที่มีคุณสมบัติหลากหลายอย่างแท้จริง  ก็คงจำเป็นที่จะต้องกำหนดสัดส่วนที่มาของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านให้ชัดเจนตามความเหมาะสม นอกจากนั้นควรมีการปรับเปลี่ยนกระ บวนการรูปแบบในการจัดทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นไปในลักษณะร่วมกันคิดร่วมกันทำอย่างแท้จริงและมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว  ไม่ใช่ต่างคนต่างเขียนคำวินิจฉัยของตนเอง แต่ก็ควรเปิดช่องให้มีการทำความเห็นแย้งได้  เพื่อให้โอกาสสาธารณชนได้รับทราบความคิดความเห็นของตุลาการเสียงข้างน้อยและเพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ
           ๓. จุดอ่อนที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยประการหนึ่งคือกระบวนการในการให้ได้คนมาทำหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆมักจะใช้วิธีการเปิดให้ลงสมัคร ไม่ว่าจะเป็นการสมัครรับเลือกตั้งหรือการสมัครในระบบสรรหา  ซึ่งต้องยอมรับความจริงกันว่าคนที่สมัครนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีความอยากหรือความต้องการมากกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งหากความอยากนั้นเป็นการอยากเพื่อต้องการทำความดี ต้องการทำเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมที่เรียกว่า ฉันทะ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นความอยากเพื่อสนองกิเลสความต้องการในเรื่องของอำนาจผลประโยชน์หรือเกียรติยศชื่อเสียงของตนเองที่เรียกว่า ตัณหาเป็นสำคัญ ย่อมเป็นเรื่องที่น่าอันตรายอย่างยิ่ง  
         ดังนั้น จึงเห็นว่า วิธีการให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น  นอกจากจะเปิดให้มีการสมัครเข้ารับการคัดเลือกแล้ว  ควรใช้วิธีการติด ต่อทาบทามบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างแท้จริงอีกทางหนึ่งด้วย โดยอาจจัดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดำเนินการโดยเฉพาะ เมื่อติดต่อทาบทามหาบุคคลที่เหมาะสมได้แล้วก็จัดส่งรายชื่อไปให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่อง จากว่าคนที่อยากมีอยากเป็นมากเกินไปนั้น  แนวโน้มที่จะคิดทำเพื่อสนองกิเลสตัณหาของตนเองย่อมมีอยู่สูง ขณะที่คนรู้จักพอ ไม่พยายามเสาะแสวงหาอำนาจผลประโยชน์หรือเกียรติยศชื่อเสียงนั้น มักจะเป็นของจริงเป็นทองแท้ หากมีความจำเป็นต้องทำหน้าที่ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะตำแหน่งใดก็มักจะมีความรับผิดชอบสูงและมุ่งทำเพื่อส่วนรวมเป็นสำคัญมากยิ่งกว่า ไม่เชื่อท่านลองสังเกตการทำหน้าที่ของบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ๆของชาติบ้านเมืองในอดีตที่ผ่านมาซึ่งถูกขอร้องให้ไปดำรงตำแหน่ง ส่วนใหญ่มักจะทำหน้าที่ได้ดีเป็นที่ยอมรับของสังคมมากกว่าคนที่ใฝ่กระสันหรือไขว่คว้าหาตำแหน่งให้ตนเองอย่างมากมาย           
           ผู้เขียนเชื่อว่า  ด้วยตำแหน่งอันสำคัญและทรงเกียรติของคณะ กรรมการสรรหาและด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ รวมทั้งประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดในองค์กรหรือสถาบันหลักสำคัญของชาติของผู้มีสิทธิได้รับเลือก น่าจะส่งผลทำให้เราได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดีมีคุณภาพ สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมเกียรติ์สมศักดิ์ศรีมีความเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับนับถือและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน   หากคนระดับนี้ยังเชื่อใจไม่ได้ ยังสร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหัวใจประชาชนอยู่  ย่อมแสดงว่ากลไกที่มาของตำแหน่งทั้งหลายมีปัญหา  ก็คงต้องคิดแก้ไขให้ตรงจุด  โดยตั้งโจทย์ใหม่ว่าเราจะมีวิธีการอย่างไร  เพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงขึ้นไปดำรงตำแหน่งที่สำคัญของชาติบ้านเมือง ซึ่งท้ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของประชาชนคนไทยทุกคน./
                                                ----------------------------------
 “...ใครก็ตามที่ลงโทษอย่างรุนแรงจนเกินไป  ประชาชนก็จะรังเกียจ ส่วนผู้ที่ลงโทษอย่างอ่อนโยนจนเกินไปก็จะถูกดูแคลน...ใครก็ตามที่ลงโทษโดยการพิจารณาอย่างสมควรก็จะเป็นที่เคารพนับถือ...เพราะการลงโทษทัณฑ์เมื่อกระทำไปด้วยการพินิจพิจารณาที่สมควรแล้วก็จะทำให้ประชาชนอุทิศตนให้กับความถูกต้องและการงานซึ่งเป็นบ่อเกิดของสินทรัพย์และความผาสุก ในขณะเดียวกันการลงโทษทัณฑ์ที่กระทำไปโดยไม่สมควร ไม่ว่าจะเป็นเพราะอิทธิพลของความโลภและความโกรธ อันเนื่องมาจากความเขลา ย่อมจะนำไปสู่ความโกรธเคือง แม้แต่ในหมู่ของฤาษีชีไพรหรือผู้แสวงหาความสันโดษในป่า โดยไม่ต้องกล่าวถึงชาวบ้านชาวเมืองธรรมดา ๆด้วยซ้ำ
                                                                                คัมภีร์อรรถศาสตร์ของเกาฏิลยะ     

1 ความคิดเห็น:

  1. หาที่มาจุดเด่นๆ ของหัวข้อนี้ไม่ค่อยเข้าใจเลยค่ะ ((((ใช่ข้อความนี้รึป่าวค่ะ)))))ดังนั้น จึงเห็นว่า วิธีการให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะเปิดให้มีการสมัครเข้ารับการคัดเลือกแล้ว ควรใช้วิธีการติด ต่อทาบทามบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างแท้จริงอีกทางหนึ่งด้วย โดยอาจจัดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดำเนินการโดยเฉพาะ เมื่อติดต่อทาบทามหาบุคคลที่เหมาะสมได้แล้วก็จัดส่งรายชื่อไปให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

    ตอบลบ