1/05/2555

การประชาสัมพันธ์ศาล

การประชาสัมพันธ์ศาล
                                                             โดย....โสต    สุตานันท์

                         สืบเนื่องจากผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง  การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมด้วยกระบวนทัศน์ใหม่  ซึ่งจัดโดยสถาบันรพีพัฒนศักดิ์  ในช่วงระหว่างวันที่ ๒๓ ๒๕   พฤศจิกายน  ๒๕๕๒  ที่ผ่านมา  ปรากฏว่า  มีผู้เข้าร่วมประชุมมาจากหลายหน่วยงาน  ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระบวนการยุติธรรมโดยตรง  อันได้แก่ ตำรวจ  อัยการ  ศาลยุติธรรม  ศาลปกครอง    ทนายความ   คุมประพฤติ  และจากหน่วยงานหรือองค์กรเอกชนอื่น ๆเช่น   กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (ก.บ.ข.)  โครงการ  สสส.   มูลนิธิผสานวัฒนธรรม   โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม  มูลนิธิเด็ก  องค์กรต่าง ๆที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ฯลฯ เป็นต้น   
         ทั้งนี้  ลักษณะการประชุมจะเน้นการระดมสมองจากผู้เข้าร่วมประชุม  ไม่เน้นรูปแบบการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ   แต่จะมีวิทยากรชาวต่างประเทศที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการพัฒนาองค์กรที่ทันสมัย  เป็นผู้นำการพูดคุยด้วยเทคนิคการแลกเปลี่ยน และอภิปรายร่วมกันแบบ  World  Café  Caravan  และ Open   Space   Technology   ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างกระบวนทัศน์แบบใหม่อันเป็นที่นิยมในระบบบริหารงานแบบใหม่ในระดับสากล
               บทความนี้  ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดเนื้อหาสาระที่มีการประชุมสัมมนากัน    แต่ประเด็นที่อยากจะนำมาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับท่านผู้อ่านก็คือ   ปัญหาเกี่ยวกับภาพพจน์มุมมองหรือความรู้สึกของผู้คนในองค์กรอื่น  รวมทั้งประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรมของเรา    ทั้งนี้  เพราะเหตุว่า   โดยลักษณะรูปแบบของการประชุมสัมมนาตามวิธีการดังกล่าว  ได้ก่อให้เกิดการถกเถียง  อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นระหว่างกันอย่างเปิดกว้าง  ชนิดที่เรียกว่าไม่ต้องเกรงใจกัน  เพราะมีกฎกติกาสำคัญข้อหนึ่งคือ  ให้ทุกคนถอดหัวโขนออกให้หมด   ดังนั้น  ในระหว่างการประชุมสัมมนา รวมทั้งลูกติดพันที่นำไปถกเถียงกันต่อนอกเวลา  ผู้เขียนจึงได้ยินได้ฟังทัศนคติหรือแง่คิดมุมมองของผู้ร่วมประชุมที่มีต่อศาลยุติธรรมอย่างหลากหลาย  ซึ่งก็มีทั้งคำติและคำชม   แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งก็คือ  มีข้อตำหนิติติงหลายเรื่อง  ที่เป็นความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนไป  ซึ่งผู้เขียนก็ได้พยายามหาโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมประชุมตามแต่จังหวะเวลาจะเอื้ออำนวยและตามกำลังสติปัญญาอันจำกัดที่ผู้เขียนมีอยู่
            โอกาสนี้  จึงขอนำข้อตำหนิติติงและคำอธิบายชี้แจงของผู้เขียนที่มีต่อผู้เข้าร่วมประชุมในบางเรื่องบางประเด็น  มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ คือ 
            ๑.)   ความสัมพันธ์ระหว่างศาลกับประชาชน 
                    มีผู้เข้าร่วมประชุมหลายคน แสดงความเห็นว่า  ศาลไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเหมือนฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ   พร้อมทั้งมีข้อเสนอว่า  น่าจะให้ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งผู้เขียนก็ได้ชี้แจงให้ความเห็นไปว่า   คำว่า ประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึง  การเลือกตั้งเท่านั้น  อีกทั้งการกำหนดคุณสมบัติและขั้นตอน  วิธีการในการให้ได้มาซึ่งตำแหน่งผู้พิพากษา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในสังกัดศาลยุติธรรมทุกคน  ก็เป็นไปตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ออก  อย่างเช่น   ผู้พิพากษาต้องเรียนจบนิติศาสตร์บัณฑิต  เนติบัณฑิตไทย เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ โดยต้องผ่านการทดสอบความรู้ตามมาตรฐานที่กำหนด และต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรม ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย ฯลฯ ดังนั้น  หากใครต้องการเป็นผู้พิพากษาก็ต้องไปศึกษาเรียนรู้   ผ่านการทดสอบและการตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายดังกล่าว  และเมื่อเข้าไปทำหน้าที่แล้ว  ก็ยังต้องถูกควบคุมตรวจสอบการทำงานตามกฎกติกาของกฎหมายที่ออกโดยผู้แทนปวงชนอีกเช่นกัน แล้วอย่างนี้  จะมากล่าวหากันว่า  ศาลไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างไร
               สำหรับข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษานั้น  ผู้เขียนเห็นว่า    ความสำคัญสูงสุดของสถาบันศาลอยู่ที่การได้รับความยอมรับนับถือหรือความเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชน   องค์กรหรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมหากจะมีปัญหาในเรื่องความรู้ความสามารถ    ความซื่อสัตย์สุจริตหรือความยุติธรรม  ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือไปบ้าง   สังคมก็ยังพอทำใจทนรับได้  เพราะอย่างน้อยที่สุดสังคมก็ยังมีความรู้สึกว่า   ยังมีศาลสถิตยุติธรรมอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน    แต่ถ้าหากวันใด  ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจ  รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยในบทบาทหน้าที่ของศาลแล้ว  เชื่อได้เลยว่าสังคมนั้นจะสับสนวุ่นวายมากขึ้นเรื่อย  ๆ และคงจะล่มสลายไปในที่สุด   ต้องยอมรับความจริงกันว่า  โดยธรรมชาติของการเลือกตั้ง  ต้องมีคำว่า อุปถัมภ์  มีคำว่า ฐานเสียงตามมา  ผลก็คือ  ปัญหาเรื่องความเป็นกลางหรือความเชื่อมั่นศรัทธาในความเที่ยงตรงที่ประชาชนจะพึงมีต่อศาล   นอกจากนั้น  จากสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา   บรรดาผู้มีอำนาจอิทธิพลและเหล่านักการเมืองขี้ฉ้อทั้งหลายย่อมรู้ดีว่า  ศาลเป็นศัตรูหรือปัญหาสำหรับชีวิตเขา   หากเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาเมื่อใด    ย่อมแน่นอนว่า  พวกเขาเหล่านั้นต้องพยายามแทรกแซงหรือส่งนอร์มินีเข้ามาอยู่ในศาล   ถึงตอนนั้น   กล่องขนมบรรจุเงินล้านก็คงจะตกอยู่เกลื่อนศาล  และความอยุติธรรมก็คงจะแผ่ปกคลุมไปทุกหย่อมหญ้า
            ๒.)  ระบบคานดุลตรวจสอบการทำงานของศาล  
                  มีผู้ให้ความเห็นว่า  ศาลทำงานอย่างเป็นเอกเทศ  ไม่มีกลไกในการคานดุลตรวจสอบเลย  ประเด็นนี้  ผู้เขียนได้ชี้แจงไปว่า  ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น  โดยกระบวนการของระบบ  ต้องถือว่า  ถูกตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาแทบจะทุกขั้นตอนก็ว่าได้    อย่างเช่น   การสืบพยานก็ต้องดำเนินการโดยเปิดเผยต่อหน้าคู่ความทุกฝ่ายและประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าไปดูได้   การสั่งคำร้อง  คำขอ หรือการใช้ดุลพินิจสั่งการในเรื่องต่าง ๆคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบสำนวนได้เสมอ   นอกจากนั้น    ยังมีการคานดุลตรวจสอบกันเอง  ไม่ว่าจะโดยองค์คณะ  การตรวจร่างคำพิพากษาของอธิบดี  รวมทั้งระบบทบทวนตรวจสอบจากศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาอีก   ในส่วนของการบริหารงานบุคคล ก็มีระบบตรวจสอบโดยเข้มงวดจากคณะกรมการตุลาการ (ก.ต.)  ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษาทั้งประเทศ     ซึ่งก็มีบางคนโต้แย้งว่า  กรณีการคานดุลตรวจสอบโดยคู่ความและประชาชนโดยเฉพาะในห้องพิจารณาคดีนั้น  เป็นเพียงรูปแบบพิธีการเท่านั้น  ในทางปฏิบัติที่เป็นจริง ไม่มีใครกล้าโต้แย้งการใช้อำนาจหรือดุลพินิจของศาล  ซึ่งผู้เขียนก็ตั้งข้อสังเกตไปว่า  นั่นไม่ใช่ปัญหาของระบบ  แต่เป็นปัญหาในเรื่องของคน  หากคู่ความไม่ว่าจะเป็นตัวความหรือทนาย และบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้อง  มีความรู้ความเข้าใจในระบบหรือกฎเกณฑ์กติกาของกฎหมายเป็นอย่างดี  ไปศาลด้วยมือที่บริสุทธิ์ และรู้จักปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองอย่างมีเหตุผล  ระบบการคานดุลตรวจสอบย่อมมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยอัตโนมัติ  ปัญหาอยู่ที่คน ก็ต้องแก้ที่คน  ไม่ใช่ไปโทษระบบ 
            ๓.)  การพิจารณาพิพากษาคดีแตกต่างกัน   
              มีคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งว่า  ทำไมคดีที่มีลักษณะการกระทำความผิดเหมือนกัน เช่น  คดีฉีกบัตรเลือกตั้ง  แต่ละศาลจึงตัดสินไม่เหมือนกัน บางศาลก็ลงโทษ บางศาลก็ยกฟ้อง  บางศาลจำคุกโดยไม่รอ บางศาลให้รอการลงโทษไว้   ผู้เขียนได้ชี้แจงตอบไปว่า   การพิจารณาพิพากษาคดี จะมีสาระสำคัญอยู่  ๓ ส่วน คือ  การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง  การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย  และการใช้ดุลพินิจลงโทษ  กรณีปัญหาข้อเท็จจริงนั้น  เป็นไปไม่ได้ที่คดีแต่ละเรื่องจะมีข้อเท็จจริงเหมือนกันหมด  เช่น การฉีกบัตรเลือกตั้ง บางกรณีอาจจะเป็นการฉีกบัตรที่ยังไม่ได้กาในช่องลงคะแนน  บางกรณีอาจกาแล้ว  บางกรณีอาจฉีกต่อหน้าเจ้าหน้าที่หรือในคูหาเลือกตั้ง แต่บางกรณีอาจเก็บใส่กระเป๋าไปฉีกในห้องน้ำ  บางกรณีฉีกเพราะกาผิดและจะขอบัตรไปกาใหม่  บางทีก็ฉีกเพราะเมาสุราหรือเพราะโกรธใครบางคน ฯลฯ  ดังนั้น การวินิจฉัยข้อเท็จจริงจึงย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา   สำหรับปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย  ก็ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกันที่นักกฎหมายจะมีความเห็นแตกต่างกัน  มิฉะนั้น จะมีศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไว้ทำไม   ส่วนประเด็นเรื่องการใช้ดุลพินิจลงโทษ  ผู้เขียนได้แสดงความเห็นแบบทีเล่นทีจริงว่า   ผู้พิพากษาจะตัดสินคดีอย่างไร  ขึ้นอยู่กับว่า  ผู้พิพากษาท่านนั้นกินข้าวเช้ากับอะไร   ซึ่งหมายถึงว่า  ประสบการณ์ชีวิตหรืออดีตที่มาของผู้พิพากษา ย่อมส่งผลต่อการใช้ดุลพินิจตัดสินคดีของผู้พิพากษาท่านนั้น ๆ  ซึ่งไม่มีผิด ไม่มีถูก  แต่ศาลก็มีระบบคานดุลตรวจสอบการใช้ดุลพินิจโดยกำหนดให้มีบัญชีอัตราโทษ (ยี่ต๊อก)  องค์คณะ  อธิบดี และศาลสูงอีก ๒ ศาล
            ๔.)  บทบาทของศาลในการเสนอร่างกฎหมาย   
                    สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในมาตรา  ๑๔๒  บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติได้  ซึ่งมีบางคนไม่เห็นด้วย   โดยมีเหตุผลสำคัญ  ๓   ประการ คือ  
                                 ประการแรก -  ผิดหลักการแบ่งแยกอำนาจ
                    ประการที่สอง  - เกรงว่าศาลจะเสนอให้แก้ไขกฎหมายโดยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ขององค์กรตนเองเป็นสำคัญมากยิ่งกว่าผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมหรืออาจมีเจตนาซ่อนเร้นอื่นใดแอบแฝง
                    ประการที่สาม - ไม่มีประเทศใดในโลกที่ให้อำนาจศาลทำเช่นนั้นได้  
         ผู้เขียนได้แสดงความเห็นไป ดังนี้  คือ
                    ประการแรก  - กรณีเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ  ผู้เขียนเห็นว่า  การแก้ไขปัญหาต้องพิจารณาอย่างเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วน ในความเป็นจริงแล้วการใช้อำนาจของทั้งสามฝ่ายย่อมไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาด    ต้องมีความเชื่อมโยง  สอดคล้อง สนับสนุน และคานดุลตรวจสอบซึ่งกันและกัน   อาจกล่าวได้ว่า   รัฐธรรมนูญเป็นศูนย์รวมหรือเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างอำนาจทั้งสามฝ่ายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ส่วนการแบ่งแยกการใช้อำนาจของแต่ละฝ่ายนั้น    ก็มีจุดประสงค์เพียงเพื่อประโยชน์  เพื่อความสะดวก ในการบริหารประเทศเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า  แต่ละฝ่ายเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกันเลย      องค์กรศาลถือเป็นผู้ใช้กฎหมายโดยตรง  จึงย่อมรู้ดีว่า  กฎหมายแต่ละฉบับมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร  ส่งเสริมสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน   การให้ศาลมีส่วนในการร่างหรือคิดริเริ่มแก้ไขปรับปรุงกฎหมายจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อส่วนรวม
                        ประการที่สอง -  กรณีหวั่นเกรงกันว่า ศาลจะใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ   ผู้เขียนเห็นว่า ท้ายที่สุดแล้ว  อำนาจในการตัดสินใจที่จะให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หรือไม่  ก็ยังอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่ดี 
                        ประการที่สาม  -  ประเด็นเรื่องตัวอย่างกฎหมายของต่างประเทศ   ผู้เขียนเห็นว่า  แนวคิด ความเห็นดังกล่าว  ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาของสังคมไทยที่มักจะไม่เชื่อมั่นในภูมิปัญญาแนวคิดของคนไทยด้วยกันเอง  ในทางตรงกันข้ามกลับไปให้ความสำคัญกับแนวความคิดความเห็นของผู้คนในต่างประเทศมากยิ่งกว่า    สิ่งไหนที่เขาทำเขามีก็มักจะคิดว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ควรเอาแบบอย่างปฏิบัติตาม แต่ถ้าเขายังไม่ทำไม่มีก็มักจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า  น่าจะมีปัญหา  หากใครคิดริเริ่มเสนอขึ้นมาก็จะคัดค้านทันที  โดยไม่ได้คิดศึกษาตรวจสอบเพื่อให้รู้เขา รู้เรา อย่างถ่องแท้ชัดเจนเสียก่อน   ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีจุดเริ่มต้นเสมอ  แล้วทำไมเราไม่แสดงความเป็นผู้นำด้วยการคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆขึ้นมา และให้คนอื่นเขาเดินตามบ้างล่ะ ทำไมต้องคอยเดินตามคนอื่นเขาอยู่ร่ำไป
        ๕.)  การพิจารณาคดีล่าช้า อีกทั้งผู้พิพากษาก็ดุ
                     ปัญหาทั้ง ๒ เรื่องนี้ รู้สึกจะได้ยินบ่อยครั้งมากกว่าเรื่องอื่น ซึ่งผู้เขียนยอมรับว่า ไม่รู้จะชี้แจงหรืออธิบายอย่างไรดี   จึงทำได้เพียงแค่เล่นมุกตลกแบบฝืด ๆไปว่า  เหตุที่คดีล่าช้า  ก็เนื่องจากประชาชนอยากทะเลาะขัดแย้งกันเอง  ทำให้มีคดีจำนวนมาก แล้วจะมาโทษศาลฝ่ายเดียวได้อย่างไร  อีกทั้งศาลต้องพิถีพิถัน ตัดแต่ง ประดิษฐ์ประดอยคำพิพากษาให้มีความสมบูรณ์สวยงามและถูกต้องเป็นธรรมให้มากที่สุด จึงต้องใช้เวลาบ้างเป็นธรรมดา    ส่วนเรื่องผู้พิพากษาดุนั้น  ก็เนื่องจากท่านคงจะเข้มงวด กวดขัน เอาจริงเอาจัง และคาดหวังกับการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนมากเกินไป จึงก่อให้เกิดความเครียด และบางครั้งบางที เมื่อท่านเห็นว่า  บุคคลใดไม่ให้ความร่วมมือหรือเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการอำนวยความยุติธรรม  ก็อาจจะอารมณ์เสีย  พลั้งเผลอดุด่าไปบ้าง แต่ก็ถือว่าท่านมีเจตนาดี
                   ที่กล่าวมาก็เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของปัญหาที่ผู้เขียนได้รับรู้รับทราบมาจากการประชุมสัมมนาในช่วงเวลาสั้น ๆ  นอกจากนั้น  ยังมีปัญหาสำคัญในเรื่องอื่น ๆอีกมากมายที่ผู้เขียนเคยได้ยินได้ฟังมาจากแหล่งข้อมูลอื่น  ซึ่งบางครั้ง บางทีก็รู้สึกตกใจอย่างมาก ที่พบว่าประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายหรือบทบาทหน้าที่ของศาลเลย  แม้แต่เรื่องสำคัญใกล้ตัวที่ประชาชนทั่วไปควรจะพึงทราบ   ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิด ๆและมีทัศนคติในภาพลบต่อองค์กรศาล   อีกทั้ง  ยังเปิดช่องเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดี บิดเบือนข้อมูลต่อประชาชน เพื่อหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในทางการเมือง  อย่างเช่น  เคยมีนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง  อ่านข่าวกรณีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตในสี่จังหวัดภาคใต้ว่า  ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้อง  และผู้เขียนเคยได้ยินนักจัดรายการวิทยุคนหนึ่งพูดว่า   ขณะนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ปิดสถานีของเราแล้ว ซึ่งจริง ๆแล้ว น่าจะเป็นเรื่องคำสั่งในทางปกครอง  หรือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวการพิจารณาคดีอาญาต่อหน้าจำเลย ซึ่งผู้เขียนเคยอ่านบทสัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์ของนักการเมืองคนหนึ่งที่หลบหนีคดีหมิ่นสถาบันฯอยู่ต่างประเทศ  โดยเขาให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า   มีการพยายามถ่วงคดีของเขาให้ล่าช้า  อยากให้คดีจบเร็ว ๆจะได้กลับมาต่อสู้เพื่อพี่น้องประชาชนในเมืองไทย  ก็คุณไม่กลับมาแล้วมันจะจบได้อย่างไร  ฯลฯ   
            จากสภาพปัญหาดังกล่าว  ผู้เขียนจึงเห็นว่า  มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาลเราต้องให้ความสำคัญกับงานด้านประชาสัมพันธ์และจะต้องปฏิบัติการในเชิงรุกให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่  ทั้งนี้ เพื่อจะได้ลดภาพลบและสร้างภาพบวกในสายตาของประชาชนที่มีต่อศาล โจทก์ก็คือว่า  จะมีวิธีการแนวทางอย่างไร  เพื่อให้การประชาสัมพันธ์มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
            ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ปอ ปยุตโต)  เคยแสดงธรรมเทศนาไว้ จับใจความสาระสำคัญได้ว่า   การที่คนอื่นมาพูดด่าว่าหรือตำหนิติเตียนเรา   เราต้องรับฟังอย่างตั้งใจและนึกขอบคุณเขา  เพราะกว่าเขาจะคิดค้นเสาะหาข้อบกพร่องหรือสิ่งไม่ดีในตัวเราได้ บางครั้งต้องอดหลับอดนอนใช้เวลาหลายวันหลายคืน  เราต้องนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์  ด้วยการนำไปพินิจพิจารณาโดยละเอียด   สิ่งไหนที่เห็นว่าเขาเข้าใจผิด คิดคลาดเคลื่อนไป  ก็หาโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจในจังหวะเวลาที่เหมาะสม  แต่ถ้าสิ่งไหนเป็นความจริง  เราก็ต้องพยายามปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้น    จากแง่คิดคำสอนดังกล่าว   หากนำมาปรับใช้กับการประชาสัมพันธ์ ก็จะเห็นได้ว่า  การประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้องสมบูรณ์ต้องกอปรด้วยทั้งสองทาง คือ การประชาสัมพันธ์ภายนอกและการประชาสัมพันธ์ภายในองค์กร  กรณีการประชาสัมพันธ์ภายนอกก็คือ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร  สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับองค์กรให้สาธารณะชนได้รับทราบ  ซึ่งควรยึดหลักการแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา คือ   พูดความจริง  มีประโยชน์  ถูกกาลเทศะ และมีเมตตา  ส่วนการประชาสัมพันธ์ภายใน ก็หมายถึง  การนำภาพสะท้อนหรือมุมมองความเห็นจากบุคคลภายนอก  มาเผยแพร่ให้คนภายในองค์กรได้รับรู้  เพื่อจะได้ช่วยกันคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาองค์กร   ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดที่ว่า   การแสดงความจงรักภักดีต่อองค์กรที่ดีที่สุดก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์องค์กร เพื่อคนในองค์กรจะได้รู้ตัวว่า  ประชาชนคิดอย่างไร และปัญหาอยู่ตรงไหน อันจะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆขึ้นไป   แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ  การวิพากษ์วิจารณ์นั้นต้องเป็นไปในลักษณะที่สร้างสรรค์และหากไม่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างแท้จริง  ก็ควรจะพูดจากันภายในบ้านระหว่างหมู่พวกเรากันเอง  ไม่ควรจะโพนทะนา ป่าวประกาศให้ชาวบ้านเขารับรู้ โดยต้องถือคติที่ว่า ไฟในอย่างนำออก ไฟนอกอย่านำเข้า     ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งต่าง ๆดังที่กล่าวมา จะเกิดขึ้นได้ผู้บริหารองค์กรต้องมีแนวนโยบายที่ชัดเจน   ต้องสร้างระบบงานประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพ ทั้งการประชาสัมพันธ์ภายนอกและการประชาสัมพันธ์ภายใน  ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีเวทีแสดงความคิดความเห็นของสมาชิกในองค์กรอย่างหลากหลายและกว้างขวาง และที่สำคัญสูงสุดก็คือ ต้องได้รับความร่วมแรง ร่วมใจจากสมาชิกในองค์กร  เพราะท้ายที่สุดแล้ว  ผู้ที่สามารถทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์องค์กรได้ดีที่สุด ก็คือ ทุกคนในองค์กรนั่นเอง./ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น