1/06/2555

ปฏิรูปประเทศไทย : ตามแนวทางวิถีแห่งพุทธ

ปฏิรูปประเทศไทย : ตามแนวทางวิถีแห่งพุทธ[1]
                                            โดย...โสต  สุตานันท์
                                                           
ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้มีประโยชน์มีคุณค่าอยู่ในตัวเสมอ   เชื้อโรคต่าง ๆแม้จะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์  แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสมดุลธรรมชาติในหลาย ๆด้าน  นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ในแง่ของการกระตุ้นหรือผลักดันให้มนุษย์ได้ศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้คนในสังคมอีกมากมายมหาศาล   หากสังคมไม่มีโจรผู้ร้าย   ตำรวจ   อัยการ  ผู้พิพากษา ทนายความ  และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ก็คงตกงาน  หากสังคมไม่มีคนชั่วหรือคนไม่ดีแล้วจะมีคนดีอย่างท่านผู้อ่านได้อย่างไร
ในท่ามกลางความทุกข์ ความขัดแย้ง ความวุ่นวายสับสนของสังคมที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้   ผู้เขียนรู้สึกดีใจและมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ขึ้นมาทันที  เมื่อได้ยินคำกล่าวที่ว่า ปฏิรูปประเทศไทย  ดังขึ้นในสังคม   ขอขอบคุณคนไทยทุกคนไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร  เป็นไพร่หรืออำมาตย์  เป็นคนชั่วหรือคนดี ที่มีส่วนก่อให้เกิดวาทกรรมดังกล่าวขึ้นมา
ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองต่อแต่นี้ไปจะเลวร้ายหรือก่อให้เกิดความเสียหาย มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายมากเพียงใดก็ตาม  แต่ก็เชื่อว่า  ท้ายที่สุดคนไทยจะต้องหันหน้าเข้าเจรจาตกลงกัน เพื่อหาทางออกให้กับสังคม  ผู้เขียนไม่เชื่อว่ามนุษย์พันธุ์ไทยแท้หรือพันธุ์ไทยผสมที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินแห่งนี้จะรบราเข่นฆ่าห้ำหั่นกันจนตายกันไปทั้งหมดข้างหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย   เพราะผู้เขียนมีความเชื่อตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีสมอง มีสติปัญญา สามารถฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามได้  และธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกันจึงจะอยู่รอด  อย่าว่าแต่สัตว์ประเสริฐอย่างมนุษย์เลย แม้แต่สัตว์เดียรัจฉานเช่นสุนัขยังรู้จักเอาตัวรอด  เพราะตั้งแต่เกิดมาผู้เขียนยังไม่เคยเห็นสุนัขกัดกันไม่เลิกจนตัวมันเองต้องบาดเจ็บถึงขั้นล้มตายเลย
กล่าวโดยสรุปก็คือ  ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า  อย่างไรเสียสักวันหนึ่งสังคมไทยจะต้องหันหน้าเข้ามาปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อ ปฏิรูปประเทศไทย กันอย่างจริงจัง ไม่อยากทำก็ต้องทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว  ส่วนวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ช้าเร็วอย่างไร  ก็คงต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่าง ๆตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ  ซึ่งผู้เขียนคงไม่มีข้อมูลความรู้เพียงพอที่จะสามารถคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าได้
ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้”  อีกทั้งในทางพระพุทธศาสนาก็มีการกล่าวถึงสังคมในยุค พระศรีอารยะเมตไตร  ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า  หมายถึงสังคมที่ประกอบไปด้วยมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์สูงสุดในทุก ๆด้าน ทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจและปัญญา  โอกาสนี้  จึงใคร่ขอเชิญชวนคนไทยทั้งหลายมาร่วมกันจินตนาการว่า  เราต้องการให้ภาพสังคมไทยในอนาคตเป็นอย่างไร  ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นการสร้างมโนภาพสังคมในอุดมคติให้แจ่มชัดและฝังแน่นอยู่ในหัวใจประชาชน อันจะเป็นโยชน์อย่างยิ่งในทางจิตวิทยา สำหรับใช้เป็นกุศโลบายในการพัฒนาสังคมให้ก้าวไปสู่ความดีงามยิ่ง ๆขึ้นไป   นอกจากนั้น  หากพิจารณาในแง่ของ พลังจิต  ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าสนใจไม่น้อยว่า  ถ้าคนไทยทั้งชาติมีจินตนาการ มีความคิดความฝันร่วมกันในการที่จะช่วยกันนำพาสังคมให้ก้าวไปสู่ความดีงามแล้ว  พลังจิตที่หลอมรวมกันขึ้นมานั้นจะมีอานุภาพมากมายมหาศาลแค่ไหน

เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่และมีขอบเขตกว้างขวาง อีกทั้งที่ผ่านมาสังคมไทยได้สั่งสมหมักหมม ปัญหาต่าง ๆไว้อย่างมากมายและยาวนาน   ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาสร้างฝันร่วมกับผู้อ่านในวันนี้  ก็คงจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปัญหาทั้งหมด  แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะมีส่วนในการช่วยจุดประกายความฝันให้แผ่ขยายออกไป จนมีพลังมากพอที่จะช่วยทำให้การปฏิรูปประเทศไทยประสบผลสำเร็จได้
๑.) การเมืองการปกครอง  -  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  อัตตา หิ อัตตโน นาโถ คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน  ดังนั้น  รูปแบบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดจึงน่าจะได้แก่ การกระจายอำนาจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   โดยการกระจายอำนาจที่สมบูรณ์สูงสุดก็คือ การให้ประชาชนทุกคนปกครองตนเอง    กฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาจะมีจุดประสงค์เพียงเพื่อเป็น ข้อหมายรู้ร่วมกัน  คือ  เป็นเพียงเครื่องหมายให้ผู้คนในสังคมได้รู้ว่าเราควรจะอยู่ร่วมกันอย่างไรเท่านั้นเอง  ไม่ใช่มีเจตนาใช้เป็น เครื่องบังคับ ให้ต้องปฏิบัติตามเหมือนเช่นทุกวันนี้ 
                ประเทศไทยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง  ดังนั้นการคิดยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร  ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างของบุคคลหรือชุมชนที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในการพึ่งพาตนเองปรากฏให้เห็นจำนวนไม่น้อย  ซึ่งหากเราใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศความฝันก็อยู่แค่เอื้อม   จะสังเกตเห็นได้ว่า  ที่ผ่านมาดูประหนึ่งว่าเหล่านักการเมืองทั้งหลายจะไม่ต้องการให้ประชาชนพึ่งตนเองได้  คนอย่างผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม หรือลุงผาย  สร้อยสระกลาง จึงเป็นสิ่งแปลกปลอมในสายตาของนักการเมืองไทย เพราะเขารู้ดีว่าหากประชาชนพึ่งตนเองได้เมื่อใด ความสำคัญของนักการเมืองเช่นเขาก็จะลดลง   นโยบายที่เรียกว่า ประชานิยม จึงได้รับการสนับสนุนและเฟื่องฟูมากยิ่งกว่านโยบาย  เศรษฐกิจพอเพียง อย่างเทียบกันไม่ได้    เพราะฉะนั้น  นักการเมืองในฝันของเราจึงควรจะได้แก่  นักการเมืองที่มีแนวคิดอุดมการณ์ไปในทางส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ไม่ใช่คิดแต่จะให้พึ่งพารัฐเหมือนเช่นทุกวันนี้   
                สำหรับรูปแบบแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองนั้น  นอกจากจะเน้นให้ความรู้ ให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อเป็นการเสริมสร้าง ปัญญา  แล้ว   เหตุปัจจัยในเรื่อง โครงสร้าง ของสังคมก็มีความสำคัญอย่างมาก   โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องสิทธิการถือครองที่ดิน  เพราะอาชีพพื้นฐานของคนไทยส่วนใหญ่ คือ เกษตรกรรม  ซึ่งหากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองแล้ว ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะพึ่งพาตนเองได้    สัดส่วนการถือครองที่ดินในปัจจุบัน ที่คนเพียงแค่ไม่ถึง  ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ จึงต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน   นอกจากนั้น  โครงสร้างที่สำคัญในเรื่องอื่น ๆเช่น  โครงสร้างภาษี   แหล่งทุน  กลไกตลาด ระบบสหกรณ์ ฯลฯ ก็ต้องได้รับการปฏิรูปขนานใหญ่พร้อม ๆกันไปด้วย
                ๒.)  การศึกษา -  ต้องยอมรับความจริงกันว่า  ปรัชญาแนวคิดและระบบการศึกษาในบ้านเมืองเราที่ผ่านมาผิดทิศผิดทางมาโดยตลอด   เริ่มตั้งแต่คนโบราณที่สั่งสอนลูกหลานให้เรียนหนังสือเพื่อไปเป็นเจ้าคนนายคน วัฒนธรรมแนวคิดที่เรียกว่า อำนาจนิยม จึงแผ่ขยายไปทุกหย่อมหญ้า  ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ยุควิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ก็มุ่งเรียนรู้เพื่อให้ได้ปริญญาบัตรสำหรับนำไปใช้เป็นใบเบิก ทางในการแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง  คือ เรียนเพื่อเพิ่มอัตตา เพื่อสนองกิเลสความต้องการของตนเองเป็นสำคัญ  คำว่า จิตสำนึกสาธารณะ ไม่เคยถูกปลูกฝังไว้ในหัวใจของผู้คน  รัฐเองก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตคนให้ออกไปเป็นทาสรับใช้ระบบทุนนิยม  เป็นมนุษย์เงินเดือน  คุณค่าของมนุษย์จึงถูกลดลงเหลือเพียงแค่เป็นชิ้นส่วนตัวหนึ่งของเครื่องจักรเท่านั้น     ผลที่ตามมาก็ดังปรากฏให้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้  คงไม่จำต้องยกตัวอย่างให้เจ็บปวดหัวใจกันอีก      
              ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  เคยกล่าวไว้ว่า กระบวนการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์นั้น จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบครบ ๓ ด้าน เรียกว่า ไตรสิกขา คือ พฤติกรรม  จิตใจ และปัญญา โดยหากมนุษย์สามารถพัฒนาตนจนเข้าถึงธรรมด้วยปัญญาและด้วยจิตใจแล้ว ก็จะส่งผลทำให้มีพฤติกรรมที่เข้าถึงธรรมตามไปด้วย  และเมื่อผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับการพัฒนาจนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบแล้ว  ความสงบสุขและสันติภาพย่อมเกิดขึ้นในโลก   ดังนั้น  ทิศทางของการศึกษาของไทยในอนาคตต้องสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวให้ได้
๓.) การศาสนา -  ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวไว้ว่า  “...ถ้ารู้จักการเมืองอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้ว จะเห็นว่า การเมืองก็คือ ธรรมะ  ระบบธรรมะที่จะช่วยให้มนุษย์อยู่เป็นปกติสุข เป็นสายหนึ่ง แขนงหนึ่งของธรรมะทั้งหลาย  เดี๋ยวนี้ธรรมะชนิดนี้หรือการเมืองชนิดนี้มีไม่ได้ในโลก เพราะว่ามนุษย์มันตกเป็นทาสของวัตถุ คือ ความสุขทางเนื้อหนัง...
อย่าไปเข้าใจว่า การเมืองไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือการเมืองไม่เกี่ยวกับพุทธบริษัท  การเมืองที่ถูกต้องต้องเกี่ยวข้องกับทุกคน...
ถ้ามองอย่างละเอียดแล้ว พูดได้เลยว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นจอมโจกของนักการเมือง คือ จะจัดโลกให้มีความสงบสุข...”
                จากแนวคิดความเห็นดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ข้อผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของสังคมไทยที่ผ่านมาก็คือ  เราได้พยายามกันศาสนาออกจากการเมืองมาโดยตลอด ทั้ง ๆที่เป็นเรื่องเดียวกัน   เพราะธรรมะ ก็คือ หน้าที่   สังคมจะสงบสุขและพัฒนาได้ สมาชิกในสังคมต้องทำหน้าที่โดยมีธรรมะแทรกกำกับอยู่ตลอดเวลาในทุก ๆเรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคมหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม   ดังนั้น  โจทย์สำหรับสังคมในฝันข้อนี้ก็คือ   เราจะทำอย่างไร เพื่อให้องค์ความรู้ทางโลกและทางธรรมประสานเป็นหนึ่งเดียว สามารถนำเอาองค์ความรู้ทางธรรมไปปรับใช้กับทางโลกได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน เหมาะสมลงตัว และมีประสิทธิภาพสูงสุด  ไม่ใช่อยู่คนละโลกเดียวกันเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ท้ายที่สุดนี้  ผู้เขียนขอนำประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง  เมื่อปลายปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง  การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมด้วยกระบวนทัศน์ใหม่”  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมมาจากหลายหน่วยงาน  ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรง และจากหน่วยงานหรือองค์กรเอกชนอื่น ๆ  ลักษณะการประชุมจะเน้นการระดมสมองจากผู้เข้าร่วมประชุม  ไม่เน้นรูปแบบการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ   แต่จะมีวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการพัฒนาองค์กรที่ทันสมัย  เป็นผู้นำการพูดคุยด้วยเทคนิคการแลกเปลี่ยน และอภิปรายร่วมกันแบบ  World  Café  Caravan  และ Open   Space   Technology   ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างกระบวนทัศน์แบบใหม่อันเป็นที่นิยมในระบบบริหารงานแบบใหม่ในระดับสากล 
 ตลอดเวลาการประชุม ๓ วันเต็ม ๆผู้เขียนรู้สึกทึ่งและประทับใจมาก ที่แต่ละคนมีความคิดความเห็น มีจินตนาการ มีข้อเสนอดี ๆมากมายหลายเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทย   หลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้เขียนรู้สึกอิ่มเอมใจ เต็มไปด้วยความหวัง   อย่างไรก็ตาม  เรื่องเศร้าก็เกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่เดินทางกลับ (เดินทางโดยรถบัสประมาณ ๓๐ คน)  กล่าวคือ  คนขับรถขับผิดช่องทาง ตำรวจจราจรจึงเรียกให้จอดข้างทาง  ทันทีที่ตำรวจเรียกให้หยุดรถปรากฏว่า  คนในรถซึ่งมีทั้งตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา กลุ่มเอ็นจีโอ ฯลฯ พูดกันเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ในทำนองทีเล่นทีจริงว่า  ให้ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายลงไปช่วยแสดงอำนาจบารมีให้เป็นที่ประจักษ์   ซึ่งในที่สุดก็มีตำรวจยศพันตำรวจเอกคนหนึ่งลงไปช่วยพูดคุยแก้ไขปัญหาให้  คนขับรถจึงไม่ต้องเสียค่าปรับเลยแม้แต่บาทเดียว  พูดง่าย ๆก็คือ ใช้เส้นนั่นแหละ ขณะกลับขึ้นรถนายตำรวจใหญ่ท่านนั้น ดูเหมือนจะเดินยืดอกอย่างภาคภูมิใจ อีกทั้งยังพูดในทำนองตำหนิหรือดูหมิ่นดูแคลนการทำหน้าที่ของตำรวจจราจรด้วยซ้ำไป  ยอมรับว่า อารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียนในขณะนั้น  รู้สึกใจหายหดหู่และสิ้นหวัง  เรื่องเล็กน้อยแค่นี้ เรายังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาของสังคมได้ ทั้ง ๆที่เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง   แล้วเรื่องใหญ่โตอื่น ๆอย่างเช่นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามที่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันฝันตลอด ๓ วันที่ผ่านมา  เราจะมีปัญญาทำได้อย่างไร  

                    จากตัวอย่างประสบการณ์ที่เล่ามาดังกล่าว   ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดถึงคำกล่าวของท่านมหาตมะคานธี ที่ว่า  หากต้องการเปลี่ยนแปลงโลก  จงเปลี่ยนแปลงตนเอง   ดังนั้น  ระหว่างที่รอคณะกรรมการหรือคณะอะไรก็แล้วแต่ที่จะมีการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่คิดอ่านในการ ปฏิรูปประเทศไทยในอนาคต   ผู้เขียนขอเชิญชวนคนไทยทั้งหลายมาร่วมกันเตรียมตัวเตรียมใจในการที่จะมีส่วนร่วมปฏิรูปประเทศไทยด้วยการเริ่มต้น ปฏิรูปตัวเอง ก่อน   หยุดตำหนิกล่าวโทษให้ร้ายคนอื่น  หันกลับมาสำรวจตรวจสอบตัวเอง หากพบข้อผิดพลาดบกพร่องก็ให้รีบแก้ไขโดยเร็วไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่  และตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองในทุก ๆด้านอย่างครบถ้วนสมบูรณ์สูงสุด   ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า  หากคนไทยส่วนใหญ่พร้อมใจกันคิดเริ่มต้นเช่นนี้  การปฏิรูปประเทศไทยจะประสบผลสำเร็จได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว   แต่หากคนไทยยังคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม  ชี้หน้าด่าโทษ ว่ากล่าวให้ร้ายแต่คนอื่นเหมือนเดิม  โดยไม่หันมาพิจารณาตรวจสอบตัวเองเลย  ไม่ว่าจะอีกกี่ร้อยกี่พันปีก็คงไม่สามารถปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นผลสำเร็จได้./        



[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับลงวันที่  ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓.

------------------------------
        ธรรมะ คือ หน้าที่ที่จะต้องประพฤติกระทำให้อยู่กันเป็นผาสุกทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม
                                                                               พุทธทาสภิกขุ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น