1/04/2555

การบรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงคนหางาน

                                           
             

การบรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงคนหางาน[1]

                                                                                          โดย ... โสต สุตานันท์

               สืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๐๑๘ / ๒๕๓๓  (ประชุมใหญ่)   ได้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต  ตาม  พรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.. ๒๕๑๑ มาตรา  ๗ , ๒๗  (ซึ่งปัจจุปันคือ  พรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน  พ.. ๒๕๒๘  มาตรา  ๓๐ , ๘๒ และ การกระทำความผิดฐานฉ้อโกง  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๓๔๓  ไว้ดังนี้คือ
             คำฟ้องของโจทก์แม้จะได้บรรยายไว้ในตอนแรกว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันจัดหางานโดยเรียกรับค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนตามกฎหมายก็ตาม  แต่ในคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในตอนต่อมากลับกล่าวว่า  จำเลยทั้งสามกับพวกไม่ได้มีเจตนาและไม่มีความสามารถที่จะติดต่อผู้ใดไปทำงาน……” เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาจัดหางานอันถือว่าจำเลยทั้งสามไม่มีเจตนากระทำความผิดสำหรับกระทงนี้ กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้ได้
                 จากคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว   จะเห็นว่า  ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต  โดยการตัดฟ้องโจทก์ไปเลยทีเดียว  ไม่ได้วินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของคู่ความเลย  โดยศาลฎีกาเห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยมีข้อความแสดงให้เห็นว่า  จำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายนั้น  เป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด  เพราะบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา ๕๙  ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหายเสียแล้ว  จำเลยย่อมไม่อาจมีความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตได้  ซึ่งต่อมาก็มีคำพิพากษาของศาลฎีกาอีกหลายคดีที่วินิจฉัยในแนวเดียวกัน   เช่น คำพิพากษาศาลฎีกา ที่    ๘๗๙ / ๒๕๓๔ ,   ๖๑๙๖ / ๒๕๓๔   ,  ๕๓๘๕ / ๒๕๓๙   ,  ๕๒๙๒ / ๒๕๔๐   , ๑๙๒๕ / ๒๕๔๑ ,  ๑๙๘๘ / ๒๕๔๑  , ๔๗๔ / ๒๕๔๒ และ ๕๔๖๖ / ๒๕๔๒    อย่างไรก็ตาม   จากการปฏิบัติงานของผู้เขียนพบว่า    จนถึงขณะนี้   ในการบรรยายฟ้องของพนักงานอัยการส่วนใหญ่ก็ยังคงบรรยายฟ้องในแนวเดิมเช่นกัน  ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแต่อย่างใด    อันเป็นเหตุให้ผู้เขียนเกิดความสงสัย   จึงศึกษาแนวคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวว่า   ชอบด้วยเหตุและผลหรือไม่  อย่างไร   
                                 เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นและง่ายต่อการทำความเข้าใจ   ผู้เขียนขอหยิบยกรายละเอียดเหตุผลคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ตัดสินตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๑๘ / ๒๕๓๓ (ประชุมใหญ่)   ดังกล่าว  มาเป็นตัวอย่างในการศึกษาอีกซัก  ๑  คดี  คือ  คำพิพากษาศาลฎีกา  ที่  ๘๗๙ / ๒๕๓๔  ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  “………โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงว่า  จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยสามารถจัดหาคนไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ได้ มีงานให้ทำเป็นจำนวนมาก  รายได้และสวัสดิการดีและต้องการคนงานไทยเป็นจำนวนมาก  หากประสงค์จะไปทำงานจะต้องเสียค่าบริการแก่จำเลยคนละ ๑๕,๐๐๐  บาท  ซึ่งเป็นความเท็จเพราะความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถจัดหางานให้แก่คนงานในต่างประเทศได้  โดยมีเจตนาฉ้อโกงทรัพย์ของผู้เสียหายไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว  ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง  จึงมอบเงินให้จำเลยไปแล้วจำเลยนำเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตนและไม่สามารถจัดหางานให้ผู้เสียหายทำได้นั้น  แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะจัดหางานให้ผู้เสียหาย  จำเลยเพียงแต่อ้างการประกอบธุรกิจจัดหางานเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่าบริการจากผู้เสียหาย  การกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.. ๒๕๒๘  ………”  
                           จากคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้    จะเห็นว่า  แม้การบรรยายฟ้องของโจทก์จะไม่มีข้อความที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “........  จำเลยไม่มีเจตนาหางานให้ผู้เสียหาย...........”   โดยเพียงแต่บรรยายฟ้องว่า “…….  ความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถจัดหางานให้แก่คนงานในต่างประเทศได้ …..”       ศาลฎีกาก็แปลความหมายฟ้องโจทก์ว่า   จำเลยไม่มีเจตนาหางานให้ผู้เสียหาย   แล้ววินิจฉัยเหมือนเช่นคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๐๖๘ / ๒๕๓๓ (ประชุมใหญ่คือ เห็นว่า  การกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต   
                 จากแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าว   มีข้อน่าสังเกตคือ  สมมุติว่าคดีหนึ่ง จากทางนำสืบของโจทก์  ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า   จำเลยมีเจตนาที่จะหางานให้ผู้เสียหายทำจริง ๆ ไม่ได้หลอกลวงหรือฉ้อโกงแต่ไม่สามารถส่งผู้เสียหายไปทำงานในต่างประเทศได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามและปรากฏว่าจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง   ศาลก็คงจะต้องยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ทั้งข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหาหลอกลวงหรือฉ้อโกง    ทั้ง ๆที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้และโจทก์ก็นำสืบได้   ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องและเป็นธรรม  
                  ผู้เขียนเห็นว่า   การที่โจทก์บรรยายฟ้องเหมือนเช่นคดีดังกล่าว   น่าจะแปลความประสงค์ของโจทก์ว่า   หากพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว  ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า   จำเลยมีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหายจริง   โจทก์ก็ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต   ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน  .๒๕๒๘  มาตรา   ๓๐ , ๘๒    แต่หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยไม่มีเจตนาที่จะหางานให้กับผู้เสียหายจริง  จำเลยเพียงแต่หลอกลวงโดยอ้างว่าสามารถหางานให้ผู้เสียหายทำได้ทั้ง ๆที่ไม่สามารถดำเนินการได้  โดยมีเจตนาเพื่อให้ได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้เสียหายเท่านั้น    โจทก์ก็ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๓๔๑ หรือ ๓๔๓ และฐานหลอกลวงผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน  .. ๒๕๒๘     มาตรา    ๙๑ ตรี    ทั้งนี้  ในทำนองเดียวกันกับการบรรยายฟ้องในข้อหาฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร   
                   ผู้เขียนเห็นว่า  หากศาลแปลความหมายฟ้องโจทก์เหมือนเช่นแนวคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว   ก็จะต้องยกฟ้องโจทก์ทั้งหมดโดยไม่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของคู่ความอีก    เพราะหากแปลความหมายเช่นนั้น   ก็ต้องแปลความในทางกลับกันว่า     การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยจัดหางานให้แก่คนหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต   ย่อมเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่า  จำเลยมีเจตนาหางานให้ผู้เสียหายจริง    ไม่ได้หลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายว่า  สามารถหางานให้ผู้เสียหายได้ทั้ง ๆที่ตัวเองไม่มีเจตนาหางานให้    การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๓๔๑  หรือ  ๓๔๓   และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน  .๒๕๒๘  มาตรา   ๙๑  ตรี    
                อาจมีคนโต้แย้งว่า   การกระทำความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตกับการกระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกง   จำเลยอาจกระทำความผิดทั้งสองฐานในขณะเดียวกันได้   ซึ่งต่างจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจร  ไม่มีทางที่จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสองฐานพร้อมกันได้เลย     แต่ผู้เขียนก็เห็นว่า   การที่จำเลยจะกระทำความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงในขณะเดียวกันได้นั้น     การหลอกลวงหรือฉ้อโกง  ต้องเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่หลอกลวงว่า  สามารถจัดหางานให้ได้ทั้ง ๆที่ตนเองไม่มีเจตนาหางานให้   กล่าวคือ    จำเลยมีเจตนาจะหางานให้ผู้เสียหายทำจริง ๆแต่     หลอกลวงในเรื่องข้อมูลต่าง ๆเกี่ยวกับงานที่ทำ  เช่น  หลอกว่าสามารถจัดหางานที่มีอัตราค่าจ้างสูงให้ได้    ทั้ง ๆที่งานที่หาให้มีอัตราค่าจ้างที่ต่ำ  หรือหลอกลวงว่างานที่ทำมีความปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ความจริงงานที่หาให้เป็นอันตรายอย่างมาก  ซึ่งหากผู้เสียหายรู้ก่อนก็จะไม่ตกลงทำสัญญาด้วย   เป็นต้น 
                  กล่าวโดยสรุปก็คือ  จำเลยจะกระทำความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงว่าสามารถจัดหางานให้ได้ทั้ง ๆที่ความจริงไม่มีเจตนาจะหางานให้ในขณะเดียวกันไม่ได้โดยเด็ดขาด    การที่โจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกว่าจำเลยจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและบรรยายฟ้องตอนหลังว่า   จำเลยมีเพียงเจตนาหลอกลวงหรือฉ้อโกงเอาทรัพย์สินผู้เสียหาย  ไม่ได้มีเจตนาหางานจริง    ซึ่งขัดแย้งกันในตัวอย่างชัดเจนนั้น    กรณีน่าจะเป็นเพราะเหตุว่า  โจทก์มีพยานหลักฐานที่โจทก์เชื่อว่า   จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานแต่โจทก์ไม่แน่ใจว่าจำเลยมีเจตนาหางานให้ผู้เสียหายหรือไม่    หากโจทก์มีพยานหลักฐานที่โจทก์เชื่อว่า  จำเลยมีเจตนาจัดหางานแต่หลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายด้วยเหตุผลอื่นเหมือนเช่นตัวอย่างดังกล่าว   โจทก์ย่อมไม่บรรยายฟ้องตอนหลังในทำนองว่า  จำเลยไม่ได้มีเจตนาหางาน   
                  เหตุผลน่าจะเป็นเพราะการไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานเป็นเรื่องที่หาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ง่ายแต่การที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยมีเจตนาหางานหรือไม่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ค่อนข้างยาก   โจทก์จึงบรรยายฟ้องเผื่อไว้   รอดูว่าจำเลยจะให้การหรือนำสืบต่อสู้คดีอย่างไรและศาลจะฟังข้อเท็จจริงว่าอย่างไร    หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางาน  แต่จำเลยมีเจตนาหางานให้ผู้เสียหายจริง   ไม่ได้หลอกลวงหรือฉ้อโกง  โจทก์ก็ประสงค์ให้ศาลโทษจำเลยฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต    ในทางกลับกันหากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า   จำเลยมีเจตนาหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหาย ไม่ได้มีเจตนาหางานจริง ๆมาแต่แรก   โจทก์ก็ประสงค์ให้ศาลลงโทษฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกง   ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า   การที่ศาลจะยกฟ้องโจทก์ในข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต  โดยการตัดฟ้องโจทก์เสียแต่แรกนั้น  ไม่น่าจะชอบด้วยเหตุและผล    ศาลน่าจะวินิจฉัยโดยรอฟังพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบในชั้นพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อน  
             เกี่ยวกับเรื่องนี้   มีข้อน่าสังเกตอีกว่า   หากโจทก์บรรยายฟ้องเช่นเดียวกับคดีดังกล่าว  แทนที่จำเลยจะให้การปฏิเสธ   แต่ให้การรับสารภาพตามฟ้อง  จะลงโทษจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่   กรณีเช่นนี้   มีความเห็นของอาจารย์ปริญญา  ดีผดุง  ซึ่งได้เขียนหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๑๘ / ๒๕๓๓ (ประชุมใหญ่ว่า  ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตได้  คงลงโทษได้เฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงเท่านั้น  และผู้หมายเหตุยังมีความเห็นต่อไปอีกว่า  แม้จำเลยจะให้การปฏิเสธ  หากศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตเสียตั้งแต่ในชั้นรับคำฟ้องก็น่าจะกระทำได้    
             ด้วยความเคารพ   ผู้เขียนเห็นว่า  ถ้าเป็นชั้นนั้น  หากจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต  แต่ปฏิเสธข้อหาหลอกลวงหรือฉ้อโกงโดยโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน   หรือจำเลยปฏิเสธทั้งสองข้อหา  แล้วศาลฟังข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยว่า   จำเลยไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานแต่มีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหายจริงไม่ได้หลอกลวงหรือฉ้อโกง    ก็คงต้องยกฟ้องโจทก์ปล่อยตัวจำเลยไป    ผลคดีออกมาเช่นนี้   ผู้เขียนเห็นว่า  เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกและคงยากที่จะอธิบายให้คู่ความหรือประชาชนเข้าใจได้   แต่หากศาลแปลความหมายฟ้องโจท์เหมือนเช่นที่ผู้เขียนให้ความเห็นดังกล่าวข้างต้น   กรณีเช่นนี้ก็จะไม่มีปัญหา   โดยถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลต้องสอบถามให้ได้ความชัดเจนก่อนว่า  จะให้การรับสารภาพฐานใด   เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานใดก็พิพากษาลงโทษจำเลยฐานนั้น   และถ้าจำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองฐาน   ก็ต้องวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบ   พยานหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใด  ก็พิพากษาลงโทษจำเลยฐานนั้นไป   อย่างนี้น่าจะชอบด้วยเหตุและผลมากกว่า  
                มีปัญหาอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กรณีโจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหาฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑  แต่ต่อมาผู้เสียหายได้ขอถอนคำร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้  ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา ๓๙()   กรณีเช่นนี้  หากโจทก์บรรยายฟ้องและศาลวินิจฉัยเหมือนคำพิพากษาศาลฎีกา   ที่ ๖๐๑๘/๒๕๓๓  (ประชุมใหญ่)    หรือคำพิพากษาศาลฎีกา  ๘๗๙/๒๕๓๔  ก็คงต้องยกฟ้องโจทก์ในข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายคดีฐานฉ้อโกงไป   ไม่สามารถเอาผิดกับจำเลยได้ 
                    มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๘๔/๒๕๓๘  ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า   ........ ตามฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนบรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดทั้งสองฐานแยกกันมา โดยฐานฉ้อโกงโจทก์บรรยายในข้อ . ว่า  จำเลยทั้งสองกับพวกได้บังอาจร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสี่ว่า  จำเลยทั้งสองกับพวกสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งสี่ไปทำงานยังประเทศสิงคโปร์ได้อันเป็นเท็จ  ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกไม่สามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งสี่ไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ได้   จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสี่ให้มอบเงินค่าติดต่อจัดหางาน  ค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่น ๆแก่จำเลยทั้งสองกับพวกและโดยการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสี่หลงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองกับพวกสามารถจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งสี่ทำในประเทศสิงคโปร์ได้ ผู้เสียหายทั้งสี่จึงมอบเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจำนวนคนละ ๒๐,๐๐๐  บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกไป และฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตโจทก์บรรยายฟ้องในข้อ . ว่า   จำเลยทั้งสองกับพวกบังอาจร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนงานเพื่อไปทำงานต่างประเทศและจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่  ซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ โดยจำเลยทั้งสองกับพวกเรียกและรับค่าบริการเป็นเงินตอบแทนจากผู้เสียหายทั้งสี่คนละ ๒๐,๐๐๐  บาท โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง  เห็นว่า  ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ข้อ . แม้จะมีข้อความว่าจำเลยทั้งสองกับพวกไม่สามารถจัดให้ผู้เสียหายทั้งสี่ได้ทำงานในต่างประเทศตามที่จำเลยทั้งสองกับพวกกล่าวอ้าง  แต่ก็ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจจัดหางานตามที่บรรยายไว้ในข้อ การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องจึงเป็นความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต.............   ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคำพิพากษาศาลฎีกา ที่  ๘๗๙ / ๒๕๓๔  ก็จะเห็นว่า  การบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีมีนัยความหมายแทบจะไม่แตกต่างกันเลย     แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่    ๘๗๙ / ๒๕๓๔   กลับวินิจฉัยว่า   .....แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะจัดหางานให้ผู้เสียหาย..........  ขณะที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๔/๒๕๓๘ วินิจฉัยว่า .....แต่ก็ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจจัดหางาน.......    
                       เหตุผลที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๔/๒๕๓๘  วินิจฉัยเช่นนั้น  ผู้เขียนเข้าใจว่า  น่าจะเป็นเพราะ  คดีดังกล่าวจำเลยได้ถอนคำร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกง  ซึ่งมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญาฐานดังกล่าวมาฟ้องระงับไป       ดังนั้น หากศาลแปลฟ้องโจทก์เหมือนเช่นคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่   ๘๗๙ / ๒๕๔๒  ก็จะต้องยกฟ้องโจทก์ในข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต     ไม่สามารถลงโทษจำเลยได้  ทั้ง ๆที่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าจำเลยกระทำความผิด   ศาลฎีกาคงเห็นว่า  หากยกฟ้องปล่อยจำเลยไปโดยไม่มีความผิดอะไรเลยก็ดูกระไรอยู่  
                      เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน  ผู้เขียนขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๒๘๔/๒๕๓๘    ดังนี้คือ   คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต  ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน  .. ๒๕๒๘  มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง และฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑  ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง   
                   จำเลยอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยให้ลงโทษเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงส่วนความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ยกฟ้อง (เข้าใจว่าศาลอุทธรณ์คงจะตัดสินโดยมีเหตุผลตามแนวคำวินิจฉัยคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๖๐๑๘/๒๕๓๓  (ประชุมใหญ่) และคำพิพากษาศาลฎีกาอื่น ๆดังกล่าวข้างต้น)   
                      โจทก์และจำเลยฎีกา  ศาลชั้นต้นรับฎีกาโจทก์แต่มีคำสั่งไม่รับฎีกาจำเลยเนื่องจากเห็นว่าต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง  จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา  ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งโจทก์แถลงว่า  ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกง  เนื่องจากจำเลยใช้เงินคืนให้แล้ว   ศาลฎีกาจึงให้จำหน่ายคดีสำหรับความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๓๔๑   และพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต  ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน .. ๒๕๒๘ มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง  โดยให้เหตุผลว่าฟ้องโจทก์ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่า  จำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหาย ดังกล่าวข้างต้น    ก็ต้องถือว่าโชคดีที่คดีดังกล่าวโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องโดยระบุไว้อย่างชัดเจนว่า    จำเลยไม่ได้มีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหาย   เหมือนเช่นคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๑๘/๒๕๓๓ (ประชุมใหญ่)    มิฉะนั้นศาลก็คงต้องยกฟ้องโจทก์ปล่อยคนผิดให้ลอยนวลไป  
                   แต่อย่างไรก็ตาม  หลังจากนั้น   ในปีต่อมา ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๘๕ / ๒๕๓๙   วินิจฉัยเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกา ที่  ๘๗๙ / ๒๕๓๔ อีก    ทั้ง ๆที่คดีดังกล่าวโจทก์ก็บรรยายฟ้องในทำนองเดียวกัน และเนื่องจากคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๓๘๕ / ๒๕๓๙ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่จำเลยให้การรับสารภาพ   ส่วนข้อหาฉ้อโกงได้จำหน่ายคดีไป  เพราะผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์   คดีจึงมีประเด็นขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต  ไม่มีประเด็นเรื่องฉ้อโกง   เมื่อศาลฎีกายกฟ้องข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตไป  จึงไม่อาจเอาผิดจำเลยได้    
                 อนึ่ง    โดยที่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน  .. ๒๕๒๘   มาตรา  ๙๑  ตรี  ซึ่งบัญญัติไว้ว่า    ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง  ต้องระวางโทษ.........    อันเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้   และจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  ๓๔๑    ดังนั้น  ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว   แม้ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงไปก็สามารถลงโทษจำเลยตามมาตรา ๙๑ ตรีได้   หากโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษมาด้วย   (คำพิพากษาศาลฎีกา  ที่ ๑๙๒๕ / ๒๕๔๑ )
             เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า  หากโจทก์ไม่บรรยายฟ้องเหมือนเช่นคดีต่าง ๆตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น  แล้วจะให้โจทก์บรรยายฟ้องอย่างไร   เพราะถ้าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระความทำผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตข้อหาเดียว  ไม่ได้ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงด้วย  หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายโดยไม่ได้เจตนาหางานให้ผู้เสียหายทำแต่แรก   ศาลก็ต้องยกฟ้องโจทก์ ( ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกา ที่  ๓๗๔๖ / ๒๕๔๑  และ ๓๓๐๙ / ๒๕๔๓ ) ในทางกลับกันถ้าโจทก์ฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงโดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะไม่หางานให้ผู้เสียหายแต่เพียงข้อหาเดียว   หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยมีเจตนาหางานให้ผู้เสียหายจริง ไม่ได้หลอกลวงหรือฉ้อโกงตามฟ้อง  ศาลก็ต้องยกฟ้องเช่นกัน   หรือจะให้โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและกระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอย่างอื่นที่ไม่ใช่หลอกว่า  หางานทำให้ได้ทั้ง ๆที่ไม่มีเจตนาจะหางานให้ทำ โดยตัดข้อความว่า  ความจริงจำเลยไม่มีเจตนาจะจัดหางานให้ผู้เสียหาย  ออก  โจทก์ก็คงไม่แน่ใจในพยานหลักฐานที่โจทก์มีอยู่  เพราะคดีส่วนใหญ่ผู้เสียหายที่ถูกหลอกยังไม่ได้ไปทำงานต่างประเทศเลย   จึงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่า  ข้อมูลเกี่ยวกับงานที่จำเลยบอกผู้เสียหายเป็นความจริงหรือไม่  ที่สำคัญหากโจทก์บรรยายฟ้องเช่นนี้แล้ว   ถ้าต่อมาศาลฟังข้อเท็จจริงว่า   จำเลยไม่ได้มีเจตนาหางานให้ผู้เสียหายแต่แรก  แน่นอนว่าศาลคงพิพากษายกฟ้องข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต   ส่วนข้อหาหลอกลวงหรือฉ้อโกง   ผู้เขียนก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า  จะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่  กรณีจะถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  ๑๙๒   วรรค หรือไม่   เพราะโจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาหางานให้ผู้เสียหายทำ  แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่า  จำเลยไม่มีเจตนาหางานให้แต่แรก 
              มีคดีเรื่องหนึ่งคือ คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๘๑๑ / ๒๕๔๐  ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  “................ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต      จำเลยทั้งสองกับพวกสามารถกระทำความผิดต่อเนื่องในคราวเดียวกันได้  กล่าวคือ     การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไปด้วยการเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นการตอบแทนจากคนหางาน โดยจำเลยทั้งสองกับพวกมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางก่อนที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะไปหลอกลวงประชาชน  รวมทั้งผู้เสียหายทั้งหกให้ไปสมัครงานกับจำเลยทั้งสองและพวก  การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกมีความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.๒๕๒๘ มาตรา ๔ , ๓๐ วรรคหนึ่ง และ ๘๒  สำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง  ส่วนการที่จำเลยทั้งสองกับพวกไปหลอกลวงบรรดาประชาชนรวมทั้งผู้เสียหายทั้งหกผู้ซึ่งประสงค์จะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศให้ไปสมัครงานกับจำเลยทั้งสองและพวกด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า  จำเลยทั้งสองและพวกสามารถจัดส่งคนงานหางานรวมทั้งผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานยังต่างประเทศในตำแหน่งงานและอัตราค่าจ้างตามที่คนหางานและผู้เสียหายทั้งหกต้องการได้  ทั้งที่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองและพวกไม่สามารถที่จะจัดส่งบรรดาคนหางานและผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานยังต่างประเทศได้  เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งหกและประชาชนซึ่งเป็นคนหางานหลงเชื่อว่า  ข้อความเท็จที่จำเลยทั้งสองและพวกหลอกลวงเป็นความจริง  ต่างพากันมอบเงินค่าบริการจัดหางานเป็นการตอบแทนให้แก่จำเลยทั้งสองและพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองและพวกดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  ๓๔๓ วรรคแรก  ประกอบด้วย มาตรา ๘๓  สำเร็จแยกต่างหากจากความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง  ........” 
                 คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้  มีข้อสังเกตคือ  แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงเช่นเดียวกับการบรรยายฟ้องในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๗๙/๒๕๓๔ และ ๕๓๘๕/๒๕๓๙  ดังกล่าวข้างต้น  คือ บรรยายฟ้องในความหมายทำนองว่า  จำเลยไม่มีเจตนาหางานให้ผู้เสียหายแต่แรก  แต่ศาลฎีกาก็พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต     ไม่ได้ยกฟ้องด้วยการตัดฟ้องโจทก์เสียแต่แรกเหมือนเช่นคดีดังกล่าว   แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีก็จะเห็นว่า  ในการบรรยายฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น   ผู้เขียนเข้าใจว่า  โจทก์น่าจะบรรยายฟ้องในทำนองว่า   “……  จำเลยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง……”   ขณะที่คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๘๗๙ / ๒๕๓๔และ  ๕๓๘๕ / ๒๕๓๙  โจทก์น่าบรรยายฟ้องข้อหาดังกล่าวในทำนองว่า   “…….จำเลยจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย  โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง……….”   
                 ดังนั้น  ผู้เขียนจึงเห็นว่า  การบรรยายฟ้องเหมือนเช่นคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๘๑๑ / ๒๕๔๐  จึงเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่น่าสนใจ  เพราะหากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ก็สามารถลงโทษจำเลยได้ทั้งข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหาฉ้อโกง  โดยถือว่าเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น  หากจำเลยให้การปฏิเสธ  โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ว่า   ก่อนที่จำเลยจะหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายว่า  สามารถหางานให้ได้ทั้ง ๆที่ไม่มีเจตนาจะหางานให้   จำเลยได้ประกอบธุรกิจโดยมีเจตนาหางานให้กับประชาชนทั่วไปมาก่อน    มิฉะนั้น ก็จะไม่สามารถลงโทษจำเลยฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตได้
              อนึ่ง    น่าคิดว่า หากโจทก์บรรยายฟ้องในทำนองเดียวกันกับคดีลักทรัพย์หรือรับของโจร  เช่น  บรรยายฟ้องว่า      เมื่อวันที่……..จำเลยเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง  หรือมิฉะนั้นตามวัน เวลาดังกล่าว  จำเลยไม่ได้มีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหาย  แต่มีเจตนาหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ……..”   ศาลฎีกาจะวินิจฉัยคดีอย่างไร   ซึ่งหากมี   ก็คงต้องรอดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกากันต่อไป./


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร บทบัณฑิตย์ เล่มที่ ๕๘ ตอน    ๓  กันยายน  ๒๕๔๕   และวารสารกฎหมาย มสธ. ปีที่   ๑๔  ฉบับที่ ๒  ธันวาคม  ๒๕๔๕.      

                                              


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น