1/06/2555

ปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา

ปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา
                                                                                                                    โดย...โสต  สุตานันท์

        สมมุติว่า เรากับเพื่อนบ้านได้รับมรดกเป็นที่ดินคนละ ๑ แปลง ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน ของเรามี  ๑๐ ไร่ ของเพื่อนบ้านมี ๓ ไร่ ปรากฏว่า มีพื้นที่ส่วนหนึ่งกว้างประมาณ ๑๐ ซ.ม. ยาวตามแนวเขตที่ดินที่ติด                  ต่อกันคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑ ตารางวา เคยมีปัญหาโต้แย้งถกเถียงกันระหว่างบรรพบุรุษของทั้งสองฝ่ายตั้งแต่สมัยเรายังเป็นเด็ก โดยต่างฝ่ายต่างอ้างว่าที่ดินเป็นของตนเอง  คำถามก็คือว่าเราจะจัดการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวด้วยวิธีการอย่างไร ? ระหว่างการเจรจาต่อรองกันเอง  หาคนกลางเพื่อช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้ ยื่นฟ้องคดีต่อศาล หรือขับไล่อีกฝ่ายออกไปหากยังขัดขืนก็เดินหน้าแล้วฆ่ามันให้ตาย
        สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้เขียนคิดว่า อันดับแรกคงจะพยายามพูดคุยทำความเข้าใจกับญาติพี่น้องหรือสมาชิกในครอบครัวก่อนว่า ที่ดินมีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ได้มาก็คงไม่ก่อให้เกิด ประโยชน์อะไรมากนัก เราควรจะเสียสละด้วยการยกที่ดินให้เขาไปเลยจะดีหรือไม่ เพื่อปัญหาต่าง ๆจะได้ยุติลงในรุ่นของเราไม่สืบทอดต่อไปยังลูกหลานให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในภายภาคหน้ากันอีก เรามาช่วยกันปรับปรุงพัฒนาการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเราที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะดีกว่า หากเรายังต่อสู้ยืนยันว่าที่ดินเป็นของตนเอง นอกจากแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้ว ความสัมพันธ์ต่อกันที่ย่ำแย่ อยู่แล้วก็คงจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปอีก และอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งหรือคดีความในเรื่องอื่น ๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท การทะเลาะวิวาททำร้ายซึ่งกันและกันหรืออาจพลั้งพลาดก่อเหตุร้ายแรงถึงขั้นเอาชีวิตกันก็เป็นได้
        อย่างไรก็ตาม หากพูดคุยกันแล้วสมาชิกในครอบครัวไม่ตกลงยินยอมก็คงจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการเจรจาต่อรองกันก่อน หากยังไม่สำเร็จก็คงพยายามขอให้คนกลางที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับนับถือ ช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้ ถ้ายังไม่สำเร็จอีกก็คงต้องตัดสินใจฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งหากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดออกมาอย่างไร ก็คงต้องยอมรับคำตัดสินโดยดุษฎีไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะก็ตาม ผู้เขียนจะไม่เลือกใช้ วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลังบังคับหรือขับไล่อีกฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายใหญ่โตมากขึ้นไปอีก
        หากเราใช้แว่นขยายทางจิตหรือความคิดส่องดูปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวให้ใหญ่ขึ้นเป็นปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ วิธีการขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาก็น่าที่จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนเห็นว่ากรณีเรื่องเขาพระวิหาร เมื่อเราตัดสินใจนำข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลโลกให้ตัดสินชี้ขาดแล้ว เราก็ต้องยอมรับคำตัดสินนั้น เพราะเป็นหนทางที่เราเลือกเอง ส่วนปัญหาเรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนนั้น จากสถานการณ์ ณ ปัจจุบันเห็นว่าเราน่าจะผ่านขั้นตอนของการเจรจาต่อรองกันไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะเหตุว่าที่ผ่านมาได้เคยมีการพยายามเจรจาตกลงกันเองหลายครั้งหลายคราแต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะประสบผลสำเร็จ เนื่องจากการเจรจาต่อรองจะมีจุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่งคือ คู่กรณีมักจะไม่สามารถแยกอารมณ์ออกจากประเด็นปัญหาที่พิพาทกันได้ ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาในขั้นตอนต่อไปจึงน่าจะได้แก่ การนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยโดยมีคนกลางคอยช่วยเหลือ
        คำว่า “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Mediation” นั้น เป็นถ้อยคำภาษาที่สังคมไทยรู้จักคุ้นเคยกันมาอย่างยาวนาน แต่จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวกลับพบว่า สังคมไทยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง  โดยแม้เพียงแค่ความหมายของคำว่า “การเจรจาต่อรอง” กับคำว่า “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังมองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจความแตกต่าง
        เหตุการณ์ที่อดีตนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับแกนนำ นปช. ๓ คน คือ นายวีระ มุกสิกะพงศ์  นายแพทย์เหวง โตจิราการและนายจตุพร พรหมพันธุ์ ออกทีวีร่วมกันเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่ราชประสงค์เมื่อปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นหลักฐานบ่งชี้ยืนยันได้ดีที่สุด  เพราะจากการที่ได้ติดตามดูผู้เขียนรู้สึกงง ๆว่า  กระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการดังกล่าว เขาเรียกว่าอะไร คือไม่มีปรากฏอยู่ในตำรา จะว่าเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็ไม่ใช่ เพราะไม่เห็นมีคนกลางคอยช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้ จะว่าเป็นการเจรจาต่อรองก็คงไม่ใช่ เพราะปกติการเจรจาต่อรองกันเองนั้น คู่กรณีมักจะพยายามหาสถานที่อันเงียบสงบ ปลอดจากผู้คน สร้างบรรยากาศดี ๆเพื่อพูดคุยกัน แต่นี่เล่นนั่งเผชิญหน้ากันออกทีวีถ่ายทอดสดให้ผู้คนได้ยินได้ฟังกันทั่วโลก ผลที่ตามมาก็อย่างที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่  
      โอกาสนี้จึงขอนำกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการที่เรียกว่า “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” ในบางแง่มุมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้อ่าน เผื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของสังคมหรือชาติบ้านเมืองได้บ้าง
        การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หมายถึง วิธีการระงับข้อพิพาทซึ่งมีคนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียกับข้อพิพาทเรียกว่า “ผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator)” ทำหน้าที่คอยประสานความเข้าใจระหว่างคู่กรณีที่พิพาทกัน เพื่อเสาะแสวงหาหนทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมีหลักการที่สำคัญคือ การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นสิทธิของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายว่าจะตกลงกันหรือไม่ อย่างไร ผู้ไกล่เกลี่ยไม่มีอำนาจบังคับหรือกำหนดผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นให้เป็นไปในแนวทางหนึ่งแนวทางใดโดยเฉพาะได้ [1]
        ในทางวิชาการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะมีเทคนิควิธีการต่าง ๆมากมาย แต่มีวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลเรียกว่า “การไกล่เกลี่ยแบบเน้นความต้องการที่แท้จริง (Interest – based Mediation)” ซึ่งมีแนวทางสำคัญคือ หลังจากทำให้คู่กรณีทุกฝ่ายได้รับรู้และเข้าใจถึงสภาพปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น รวมทั้งทราบถึงเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างครบถ้วนรอบด้านแล้ว สิ่งที่จะต้อง ดำเนินการต่อไปก็คือ การพยายามค้นหาความต้องการที่แท้จริงของคู่พิพาทว่าจริง ๆแล้วแต่ละฝ่ายต้องการอะไร เมื่อทราบถึงความต้องการที่แท้จริงแล้ว ย่อมสามารถคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดตรงประเด็น[2] ตัวอย่างเช่น นาย ก. ฟ้องนาย ข. กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖  พร้อมกับเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๓ เป็นเงินจำนวน ๑ ล้านบาท แต่หลังจากเจรจาไกล่เกลี่ยกันแล้วกลับพบว่าแท้จริงแล้ว นาย ก.ไม่ได้ต้องการให้นาย ข.ติดคุกหรือต้องการเงินเลย เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นญาติกันและนาย ก.ก็มีฐานะร่ำรวยอยู่แล้ว อีกทั้งยังรู้ดีว่าแม้ศาลจะพิพากษาให้ชนะคดีตามฟ้อง นาย ข.ก็ไม่มีเงินชำระให้อยู่ดีเพราะมีฐานะยากจน สิ่งที่นาย ก.ต้องการอาจมีเพียงแค่การกล่าวคำขอโทษหรือการแสดงออกซึ่งความสำนึกผิดอย่างแท้จริงของนาย ข. เท่านั้น เป็นต้น
        จากเทคนิคแนวทางดังกล่าว หากนำมาปรับใช้กับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทปัญหาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา ผู้เขียนเชื่อว่า ผลที่สุดความต้องการที่แท้จริงของทั้งสองประเทศไม่น่าจะใช่การทำสงครามหรือต้องการให้อีกฝ่ายหนึ่งบาดเจ็บล้มตายหรือวิบัติล่มจมอย่างแน่นอน สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องการน่าจะได้แก่ ความสัมพันธ์อันดีต่อกันและกัน เพราะนั่นย่อมหมายถึง ความสงบสุขและประโยชน์ในด้านต่าง ๆของผู้คนทั้งสองประเทศซึ่งมีอยู่มากมาย เมื่อทราบถึงความต้องการที่แท้จริงแล้ว สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือว่า จะมีวิธีการในทางปฏิบัติอย่างไรเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและให้ได้มาซึ่งความต้องการ ร่วมกันดังกล่าว สมมุติว่า ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเรื่องนี้ ประเด็นที่คิดว่าคงจะหยิบยกขึ้นมาพูดเพื่อเสนอเป็นข้อมูลหรือเป็นแง่คิดสำหรับการตัดสินใจของทั้งสองฝ่าย คือ
        ๑. หากพิจารณาแก้ไขปัญหาตามแนวทางวิถีแห่งพุทธ คำว่า “รักชาติ” คำว่า “ชาตินิยม” หรือวาทกรรมที่ว่า “เราจะไม่ยอมสูญเสียแผ่นดินให้ใครแม้แต่ตารางนิ้วเดียว”นั้น ถือเป็นแนวคิดที่เพิ่มอัตตาตัวตนหรือที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่า “ตัวกู ของกู” ทั้งสิ้น ซึ่งสวน ทางกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง เพราะพระพุทธองค์ทรงสอนว่า ตัวตนทำให้เกิดทุกข์ ยิ่งสร้างตัวตนให้ใหญ่โตมากเท่าไหร่ ความทุกข์ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงควรที่พยายามก้าวข้ามอัตตาตัวตน แล้วมองให้เห็นถึงประโยชน์อันแท้จริงร่วมกันที่อยู่เหนือขึ้นไปให้ได้
        นอกจากนั้น ยังเห็นว่าแท้จริงแล้วการแบ่งเขตแดนก็มีประโยชน์เพียงเพื่อเป็นการสมมุติหรือกำหนดให้เป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกันว่า เราจะอยู่อาศัยบนโลกผืนนี้อย่างสงบสุขร่วมกันได้อย่างไรเท่านั้น เพราะโลกไม่ใช่สมบัติของใครที่จะมีสิทธิอ้างเป็นเจ้าของได้ ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตายจากไปทั้งสิ้น
        ๒. ผู้เขียนนึกถึงเหตุการณ์สมัยเด็ก ๆที่มีหัวโจกขีดเส้นแบ่งบนพื้นดินแล้วให้เด็กสองกลุ่มยืนอยู่คนละฟาก จากนั้นก็ยุให้ทั้งสองฝ่ายพยายามข้ามเส้นแบ่งแล้วทะเลาะชกต่อยกัน  ถามว่าในยุคสมัยก่อนเกิดรัฐชาติ ประเทศต่าง ๆในโลกรวมทั้งไทยกับกัมพูชามีเส้นแบ่งเขตแดนกันหรือไม่ คำตอบคือไม่มี วันดีคืนดีปรากฏว่ามีอาคันตุกะจากแดนไกลข้ามน้ำข้ามทะเลมาแล้วนำแผนที่มาวางกางลงบนโต๊ะ จากนั้นก็ขีดเส้นแบ่งว่าฝั่งนี้ของไทยฝั่งนี้ของกัมพูชาโดยไม่คำนึงถึงภูมิประเทศและภูมิสังคมที่เป็นจริง จากนั้นเขาก็กลับบ้านไป  กาลเวลาผ่านมากว่าร้อยปีแล้วท่านยังจะเอาแผนที่เหล่านั้นมาทะเลาะถกเถียงกันอีกหรือทำไมท่านไม่หันหน้ามาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผลด้วยสติปัญญา มองไปข้างเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันโดยคำนึงถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมหรือข้อมูลที่เป็นจริงในปัจจุบันเล่า
         ๓. ทิศทางแนวโน้มสังคมโลกในอนาคต จะพยายามลดความสำคัญของคำว่ “เขตแดน”ให้น้อยลงเรื่อย ๆเพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมามนุษย์ได้เรียนรู้ว่า การให้ความสำคัญกับเขตแดนมากเกินไปเป็นอุปสรรคปัญหาอย่างมากต่อการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกันและไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศในหลาย ๆด้าน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปซึ่งปัจจุบันผู้คนในประเทศกลุ่มสมาชิกสามารถเดินทาง ประกอบอาชีพหรือกระทำกิจกรรมอื่นใดตามที่ตกลงกันได้อย่างอิสระเสรีเสมือนหนึ่งว่าเป็นคนประเทศเดียวกัน บางประเทศตกลงกันอย่างชัดเจนว่า จะไม่ปักปันเขตแดนในบางพื้นที่ เช่น ทะเลสาบ โดยให้สิทธิประชาชนทั้งสองประเทศใช้ประโยชน์ร่วมกัน บางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์กับเบลเยี่ยม ประชาชนสามารถปลูกสร้างบ้านคร่อมเขตแดนพื้นที่ทั้งสองประเทศได้โดยไม่มีปัญหาใด คำถามก็คือว่าการที่ประเทศของท่านกำลังรบราฆ่าฟันเรื่องเขตแดนกันอยู่ในปัจจุบัน ไม่รู้สึกอับอายชาวโลกเขาบ้างหรืออย่างไร ?
        ๔. จากแนวคิดความเห็นตามข้อ ๑    ดังกล่าว ทางออกที่เป็นไปได้น่าจะมีอยู่ ๒ ทาง คือ ทางแรก ทั้งสองฝ่ายน่าจะตกลงแบ่งเขตแดนกันใหม่โดยไม่ต้องไปสนใจแผนที่ฉบับไหนหรือเหตุการณ์ใด ๆในอดีตทั้งสิ้น  มองและเดินไปข้างหน้าเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่สดใส อย่าจมปลักอยู่กับอดีตที่ข่มขื่นและก้าวเดินถอยหลัง  โดยแนวทางในการแบ่งควรที่จะยึดถืออ้างอิงสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเป็นหลักในการพิจารณา นั่นก็คือ การใช้แนวสันปันน้ำหรือแนวร่องน้ำนั่นเอง ทางที่สอง กำหนดให้พื้นที่ทับซ้อนทั้งหมดเป็นพื้นที่สันติภาพ ไม่ให้ตกเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วเจรจาตกลงกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม เช่น อาจสร้างให้เป็นศูนย์กลางการประชุมหรือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆที่เกิดขึ้นในเอเชียหรือทั้งโลก จัดเป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายหรือศูนย์กลางการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมกันของทั้งสองประเทศ เป็นต้น
        ๕. หากผู้นำหรือตัวแทนของทั้งสองฝ่ายที่เข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยยังลังเลหรือไม่มั่นใจว่า ประชาชนในประเทศของตนเองจะเห็นด้วยกับแนวทางข้อเสนอตามข้อ ๔ หรือไม่ ก็คงจะแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายไปจัดทำประชามติกันก่อน ซึ่งถึงแม้จะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปบ้าง แต่ก็คิดว่าน่าจะคุ้มเกินคุ้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื่อว่าผลที่ออกมาน่าจะทำให้ประชาชนในทั้งสองประเทศรู้สึกภาคภูมิใจว่า แท้จริงแล้วเพื่อนผองน้องพี่ส่วนใหญ่ของตนเองไม่ได้โง่อย่างที่คิด
        ท้ายที่สุดนี้  ผู้เขียนขอยืนยันแนวคิดความเห็นตามที่กล่าวไปแล้วในบทก่อนหน้านี้ว่า แท้จริงแล้วประโยชน์ของประเทศชาติหรือสังคมโดยส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตัวของปัจเจกบุคคลแต่ละคนเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้น หากประโยชน์หรือเป้าหมายความต้องการของบุคคลใดขัดแย้งกับประโยชน์หรือความต้องการอันแท้จริงของสังคมส่วนรวมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น อันได้แก่ การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีซึ่งกันและกันระหว่างทั้งสองประเทศแล้ว  ย่อมแสดงว่าแนวคิดความเห็นของท่านน่าจะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเสียแล้ว ซึ่งเมื่อประโยชน์ของประเทศชาติเสียหายก็ย่อมแน่นอนว่าท่านเอง ก็คงจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ./

[1] พรรณยง พุฒิภาษ, “กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก”, การจัดการความขัดแย้งกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท, (กรุงเทพฯ : บริษัทธนาเพรส จำกัด, ๒๕๕๐)หน้า ๔๗.
[2] ศูนย์ความรู้การระงับข้อพิพาททางเลือก สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม, “การไกล่เกลี่ยแบบเน้นความต้องการที่แท้จริง (Interest – based Mediation):ทำไมต้องต้องเน้นความต้องการที่แท้จริง”, เทคนิค จิตวิทยาและการสื่อสารสำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท, (กรุงเทพฯ : บริษัทธนาเพรส จำกัด, ๒๕๕๐)หน้า ๓.
                                               ----------------------------------------


   สวรรค์ยืนยงและพิภพดำรงอยู่  เหตุที่ยืนยงและดำรงอยู่ก็เพราะสวรรค์พิภพมิได้มีอยู่เพื่อตัวเอง ฉะนั้นจึงดำรงอยู่นาน
         ฉันใดก็ฉันนั้น นักปราชญ์ย่อมเก็บตัวไว้ข้างหลังและนักปราชญ์จึงอยู่ข้างหน้า  นักปราชญ์ย่อมละลืมตนเองเสีย เขาจึงมีผู้จดจำไว้
        มิใช่เพราะเขาไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรอกหรือที่ประโยชน์ส่วนตัวเขาจึงเกิดมีขึ้น

                                                                                                    เล่าจื๊อ
                                                                                          นักปราชญ์จีน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น