1/06/2555

วิธีคิดกระบวนระบบ (systems thinking)


วิธีคิดกระบวนระบบ (systems  thinking) [1] 

        สืบเนื่องจากผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า วิธีคิดกระบวระบบ หรือ  systems  thinking  เห็นว่า มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ  จึงขอนำแง่คิดมุมมองในบางประเด็นมาวิเคราะห์วิจารณ์และแลก เปลี่ยนความคิดความเห็นกับท่านผู้อ่าน
         เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจขอนำเสนอด้วยแผนภูมิภาพ    ภาพ   คือ
                                              ระดับปรากฏการณ์                        
                                                                  ระดับแนวโน้มและแบบแผน  (Pattern)
                                                                          ระดับโครงสร้าง (Structure)                                                                                                                     
                                                              ระดับภาพจำลองความคิด  (Mental   Model )  
                                                                                 ภาพที่  ๑ [1]




ปัญหา                                            คิดแก้ปัญหา
                       ลงมือแก้ปัญหา
      การเกิด  delay                           
                        เกิดปัญหาใหม่ 
ภาพที่ ๒  [2] 
         วิธีคิดกระบวนระบบมองระบบด้วยวิธีคิด ๔ ระดับ ซึ่งเปรียบ เสมือนภูเขาน้ำแข็ง   ตามภาพที่    อธิบายได้ดังนี้  คือ
          ๑. ระดับปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์   คือ  สิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นได้ด้วยสายตาหรือด้วยการรับรู้ในระดับเบื้องต้น เช่น เหตุการณ์ก่อความไม่สงบในภาคใต้  ไข้หวัดนก การทุจริตคอรัปชั่นหรือปรากฏการณ์เสื้อเหลือง - เสื้อแดง   เป็นต้น
         ๒.ระดับแนวโน้มและแบบแผน  คือ   ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทำให้เรามองเห็นแนวโน้มการเกิดของเหตุการณ์ได้ เช่น   ช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวนมาก     ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสถิติคดีอาญาจะเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  เป็นต้น 
         ๓. ระดับโครงสร้าง  คือ  สิ่งที่เป็นตัวกำหนดแบบแผนพฤติกรรมและสิ่งที่แสดงออกมาซึ่งปรากฏให้เห็น (ตามระดับ ๑ และ ๒)  เช่น โครงสร้างของเศรษฐกิจ การเมือง  สังคม หรือโครงสร้างของระเบียบ   กฎหมายต่าง  ๆเป็นต้น
         ๔.ระดับภาพจำลองความคิด คือ วิธีคิดของคน  โดยเฉพาะบุคคลที่มีบทบาทในการกำหนดโครงสร้างของสังคม (ตามระดับ ๓)  ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคน  เช่น  ศาสนา  ลัทธิ  ความเชื่อ  วัฒนธรรมประเพณี  ค่านิยม อุดมการณ์  ลักษณะนิสัยของชาติพันธุ์   ทฤษฎีหรือองค์ความรู้ต่าง ๆเป็นต้น
         จากคำอธิบายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า โดยทั่วไปเราจะมองเห็นปัญหาต่าง ๆได้ชัดเจนในระดับของปรากฏการณ์เท่านั้น  เปรียบเสมือนการมองเห็นภูเขาน้ำแข็งเฉพาะในส่วนที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล   หากเราต้องการมองเห็นภูเขาน้ำแข็งข้างใต้ลงไปก็คงต้องใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย   ขณะเดียวกันการที่เราจะสามารถมองเห็นปัญหาที่สลับซับซ้อนหรืออยู่ลึกลงไปจากระดับปรากฏการณ์ก็คงต้องใช้ ปัญญา เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือนำทาง
         ในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทยที่ผ่านมา  ผู้เขียนเห็นว่าส่วนใหญ่จะพยายามแก้ไขปัญหาโดยมองข้อเท็จจริงเพียงแค่    ระดับ  คือ  ระดับ ๑-๓  เท่านั้น   ส่วนระดับที่    ซึ่งเป็นระดับที่สำคัญที่สุดเพราะถือว่าเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาต่าง ๆแทบทุกเรื่อง สังคมเรากลับให้ความสนใจน้อยมาก ตัวอย่างเช่น  
- ปัญหาเรื่องไฟไหม้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือปัญหาเรื่องอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์หากไล่ระดับของปัญหาลงไปก็จะเห็นว่า   ต้นเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงเป็นเรื่องของความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี       วัฒนธรรม แต่เรามักจะมุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การซื้อรถดับเพลิงเพิ่มหรือเข้มงวดกวดขันกับคนขับรถเมาสุรา   เป็นต้น
              - ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องระบบการเลือกตั้ง   ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเราเคยทดลองใช้มาหลายรูปแบบ ทั้งแบ่งเขต  รวมเขต  เขตเดียวเบอร์เดียว หรือเขตเดียวหลายเบอร์  ท้ายที่สุด ปัจจุบันนี้ก็กลับไปใช้ของเดิมอีก  ซึ่งก็คาดว่าคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สำคัญ  คือ การทุจริตหรือซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้   ทั้งนี้  ก็เนื่องจากว่าแท้จริงแล้วปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวระบบกฎหมาย แต่เป็นปัญหาเรื่องวิธีคิดของคนในสังคมมากกว่า ซึ่งแทนที่เราจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วยการพยายามแก้ที่คน   กลับไปโทษระบบให้เป็นแพะรับบาปครั้งแล้วครั้งเล่า  
- ปัญหาเรื่องการอัพเกรดของนักศึกษาหญิง  ด้วยการยอมนอนกับอาจารย์ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวฉาวโฉ่ไปหลายครั้งนั้น   แท้จริงแล้วเป็นปัญหาของสถาบันครอบครัวและปัญหาของสังคมที่ละเลยคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งปัญหาค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับเกรดหรือใบ    ปริญญามากกว่าความรู้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องบางคนกลับเสนอให้แก้ไขปัญหาแบบตื้น ๆด้วยการปรับปรุงห้องพักอาจารย์ไม่ให้อยู่เป็นส่วนตัว ลับหูลับตาคนอื่น   ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เนื่องจากมีโรงแรมมากมายที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆมหาวิทยาลัยแล้ว  ยังส่งผลทำให้อาจารย์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนดีไม่มีปัญหาใดได้รับความเดือดร้อนไปด้วย
                                                 ฯลฯ
         วันก่อนระหว่างรับประทานอาหารเย็นกับครอบครัว ผู้เขียนได้ลองถามลูกชายเล่น ๆ (อายุ ๑๔  ปี) เกี่ยวกับเรื่องเขาพระวิหารซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่ามีความเห็นอย่างไร ลูกชายได้ถามกลับผู้เขียนว่า  หากเขาพระวิหารไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นมรดกโลกเราจะได้ประโยชน์อะไร หรือหากได้รับการพิจารณาเราจะเสียประโยชน์อะไร ผู้เขียนก็ตอบลูกชายไปเท่าที่จะคิดได้ในขณะนั้นโดยไม่ได้จริงจังอะไรมากนัก  อย่างไรก็ตาม ก็มีความรู้สึกว่า ตนเองได้ให้คำตอบกับลูกด้วยเหตุผลที่ไม่ค่อยจะชัดเจนซักเท่าไหร่ ต่อมาด้วยความที่มีข่าวติดต่อกันหลายวัน มีผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆนานา   ผู้เขียนจึงลองนำเรื่องดังกล่าวมาคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบอีกครั้งหนึ่งโดยถามตัวเองว่า สมมุติว่าเราจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีคิดตามวิถีทางแห่งพุทธ   ด้วยการแสดงมุทิตาจิตแจ้งไปยังเขมรว่า เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เขมรจะยื่นขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก  ขออวยพรให้ประสบผลสำเร็จตามที่หวัง   พร้อมทั้งแสดงออกถึงการให้อภัยเรื่องในอดีตและการเสียสละด้วยการแจ้งความประสงค์ไปยังเขมรอีกว่า เพื่อความสมบูรณ์ของมรดกโลกชิ้นนี้  ไทยขอบริจาคพื้นที่รอบ ๆเขาพระวิหารให้แก่เขมรเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนด้วย ทำอย่างนี้ แล้วเราจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อะไรบ้าง
         คำตอบที่ได้กับตัวเองก็คือ   เราน่าจะได้ประโยชน์หลายประการ  เป็นต้นว่า ความเป็นมิตร ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างไทยกับเขมร ซึ่งก็แน่นอนว่า  ย่อมส่งผลถึงประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือการประกอบธุรกิจค้าขายของคนไทยในเขมรด้วย และที่สำคัญที่ สุด ผู้เขียนเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะได้รับการยกย่องชมเชยจากชาว โลกที่เราคิดแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่สันติและสร้างสรรค์ และนั่นย่อมหมายถึง  เกียรติยศ  ศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน   อีกทั้งยังเห็นว่า  แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวน่าจะเป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศที่คลาสสิกที่สุดเรื่องหนึ่งอันจะได้รับการกล่าวขานและเป็นกรณีประวัติศาสตร์ให้ชาวโลกได้ศึกษาเรียนรู้กันอีกหลายร้อยหลายพันปีเลยทีเดียว ส่วนประโยชน์ที่จะสูญเสียไปนั้น จนถึงขณะนี้  ผู้เขียนก็ยังคิดไม่ออกว่ามีอะไรบ้าง แต่ก็คิดว่า หากจะมีก็คงเป็นเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่จะได้มาดังกล่าว
         ผู้เขียนยอมรับว่า สำหรับปุถุชนคนธรรมดาหรือมนุษย์โลกทั่วไปนั้น   ความรู้สึกที่เรียกว่า  ตัวกูของกู  เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจมนุษย์ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความหมาย  แต่คำว่าตัวกูของกูก็มีนัยยะอยู่    ด้าน   คือ ด้านบวกกับด้านลบ   อย่างไหนเป็นบวก อย่างไหนเป็นลบพิจารณาได้ไม่ยาก หากการแสดงออกหรือวิธีการให้ได้มาเพื่อตัวกูของกูนั้น เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและส่วนรวม ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนย่อมแสดงว่าเป็นด้านบวก แต่หากทำให้ตนได้ประ โยชน์ฝ่ายเดียวโดยคนอื่นหรือส่วนรวมเสียหายหรือทำให้ทั้งตัวเองและคนอื่นเดือดร้อนเสียหายทั้งสองฝ่ายย่อมเป็นด้านลบ    ตัวอย่างของการยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูที่มีคุณค่าในทางบวก เช่น ความสำนึกหวงแหนในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม  ศิลปะ วัฒนธรรม  ภาษา หรือการประหยัดพลังงาน  เป็นต้น   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องพึงตระหนักรู้อยู่เสมอว่าในทางพุทธนั้นไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบมันหนักทั้งคู่  เพียงแต่ว่าตัวกูของกูในด้านลบย่อมหนักกว่าตัวกู ของกูในด้านบวกมากมายหลายร้อยหลายพันเท่า   หนักไม่หนักผู้อ่านก็คงจะสัมผัสรับรู้ได้   ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเครียดกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง
         สำหรับภาพที่ ๒ อธิบายได้ว่า ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้มีความ      สัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเสมอ ดุจดั่งคำกล่าวที่ว่า “เราไม่สามารถเด็ดดอก ไม้โดยไม่ให้กระเทือนถึงดวงดาวได้”   ในการลงมือแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องนั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบถึงเรื่องอื่น ๆด้วยไม่มากก็น้อย   ทั้งแง่บวกและแง่ลบ   ดังนั้น  การพิจารณาแก้ไขปัญหาทุกเรื่องจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในภายหลังด้วย  ทั้งระยะสั้น  ระยะกลาง และระยะยาว   การตัดสินใจทุกครั้งต้องมีการพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนรอบคอบลึกซึ้ง มีข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน   มองปัญหาอย่างเป็นองค์รวมไม่แยกส่วน   ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อประโยชน์สำคัญ    ประการ คือ ประการแรก ช่วยให้เราตัดสินใจเลือกไปในทางที่มีข้อเสียน้อยที่สุด  และประการที่สอง  เราจะได้คิดหาวิธีป้องกันปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าได้    
         หากพิจารณาภาพที่    ควบคู่ไปกับภาพที่ ๑  ก็จะเห็นได้ว่า    ปัญหาแต่ละเรื่องนั้นมันเชื่อมโยงทับซ้อนกันอยู่มากหมายหลายเรื่องหลายประเด็น   ปรากฏการณ์เรื่องหนึ่ง ๆอาจสัมพันธ์กับโครงสร้างของกฎหมายหลายฉบับหรืออาจอธิบายด้วยทฤษฎีหลายทฤษฎี   ซึ่งแง่หนึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดผลในทางบวก แต่อีกแง่หนึ่งก็อาจจะส่งผลในทางลบ  ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อการตัดสินใจที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในสังคมยุคปัจจุบันที่ปัญหาต่าง ๆมีความสลับซับ ซ้อนเป็นอย่างยิ่ง   หากเราไม่ระมัดระวังให้ดีสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง” ตัวอย่างเช่น เกี่ยวกับเรื่องเหตุแห่งการยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๗ ที่เป็นปัญหากันอยู่ในขณะนี้  หากพิจารณาดูให้ดีจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วปัญหาการทุจริตเลือกตั้งหรือการซื้อสิทธิขายเสียงนั้น มีปัจจัยเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องมากมาย  ถามว่านักการเมืองอยากเสียเงินหรือไม่ ? และรู้หรือไม่ว่าการทำเช่นนั้นมันไม่ถูกต้อง ผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมาย  คำตอบคือไม่อยากเสียและรู้แน่นอนว่ามันผิด  แล้วทำไมถึงทำล่ะ ?  
         ถามต่อว่า ทำไมนักการเมืองที่ไม่ซื้อเสียงถึงไม่ได้รับเลือก   ทำไมประชาชนจึงยอมขายเสียง  ทำไมประชาชนไม่เลือกคนดี   ไม่ชอบคนดีหรืออย่างไร ?   ก็ไม่น่าจะใช่  หรือว่าไม่มีคนดีให้เลือกหรือไม่รู้ว่าใครเป็นคนดี  ฯลฯ  คำตอบที่ได้คงมีหลายแง่หลายมุม หลายมิติ  ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  กฎหมาย  กระบวนการยุติธรรม  ศาสนา  วัฒนธรรม  ประเพณี ความเชื่อ  การศึกษา   ฯลฯ   สุดท้ายก็คงสรุปได้ว่า  ทุกคนทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น    อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า  ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาโดยให้น้ำหนักไปที่กลุ่มนักการเมืองเป็นพิเศษและตัดสินใจผลิตยาแรงขึ้นมา  ซึ่งหากมีการนำไปใช้จริง ๆก็คงติดตามดูกันต่อไปว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน  อย่างไร  แต่ก็คาดว่าคงจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ตามมาอีกมากมายหลายเรื่องเลยทีเดียว
         ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้ว systems  thinking  ก็คือ วิธีคิด วิธีแก้ไขปัญหาตามแนวทางวิถีแห่งพุทธนั่นเอง    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลักอริยสัจสี่ หรือหลักธรรมที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท  ผู้เขียนเห็นว่า จริงๆแล้วสังคมไทยเรามีองค์ความรู้ดี ๆมากมาย  อาจจะมากกว่าและดีกว่าสังคมฝรั่งด้วยซ้ำไป   เพียงแต่เราไม่พยายามคิดหาวิธีการนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาบูรณาการจัดวางหรือ  สร้างระบบ เพื่อนำไปปรับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมและมีประ สิทธิภาพเท่านั้น   เปรียบเสมือนยารักษาโรค บ้านเรามีสมุนไพรที่เป็นยามากมาย  แต่เราไม่รู้ว่าจะกินปริมาณเท่าไหร่  เอาตัวไหนผสมกับตัวไหนสัดส่วนอย่างไรหรือจะมีวิธีสกัดตัวยาออกมาอย่างไรให้มีประ สิทธิภาพสูงสุด   ท้ายที่สุดฝรั่งก็เอาของดีบ้านเราไปปรับปรุงผสมสูตร  แล้วนำกลับมาขายให้เราด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว   ตำรับตำราหรือหนังสือของนักเขียนฝรั่งที่โด่งดังทั้งหลายในหลายศาสตร์หลายสาขาหากคิดดูให้ดีก็จะเห็นว่า เป็นเรื่องของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น หนังสือที่มีชื่อว่า The Secret ซึ่งกล่าวถึงกฎแห่งการดึงดูดว่าใครคิดอย่างไรก็จะได้หรือเป็นอย่างนั้น ชีวิตคือภาพสะท้อนของสิ่งที่แต่ละคนคิด คิดดีสิ่งดี ๆก็จะเข้ามาในชีวิต คิดไม่ดีสิ่งร้าย ๆก็จะเข้ามาแทน เพราะฉะนั้นหากต้องการให้ชีวิตดีมีความสุขจงขอ(ต่อจักรวาล) เชื่อ(ว่าสิ่งนั้นเป็นของคุณแล้ว) และรับ(ด้วยการสร้างความรู้สึกปลาบปลื้มยินดี) แล้วจักรวาลจะจัดสิ่งเหล่านั้นให้คุณเองนั้น[4] แท้จริงแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยสัมพันธ์ตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาตินั่นเอง ดังปรากฏตามคำสอนของหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ว่า เธอจงระวังความคิดของเธอ เพราะความคิดของเธอจะกลายเป็นความประพฤติของเธอ เธอจงระวังความประพฤติของเธอ เพราะความประพฤติของเธอจะกลายเป็นความเคยชินของเธอ เธอจงระวังความเคยชินของเธอ เพราะความเคยชินของเธอจะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ เพราะอุปนิสัยของเธอจะกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต  หรือหนังสือที่เขียนถึงแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องระบบทุนนิยมเสรีที่กำลังเปลี่ยนไปในแนวทางที่เน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากสังคมโลกในขณะนี้ก็ล้วนเป็นวิธีคิดแบบพุทธทั้งสิ้น ถามว่าคนไทยรู้ไหม ? คำตอบคือรู้แน่นอน  ถามต่อว่ารู้แล้วทำไมไม่พยายามเป็นผู้นำในการคิดหาวิธีการนำสิ่งดี ๆเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ล่ะ  ทำไมต้องรอเดินตามก้นฝรั่งอยู่ร่ำไป ก็คงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำและช่วยกันหาคำตอบกันต่อไป./



[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม  ๒๕๕๑ และ วารสาร ศาลยุติธรรมปริทัศน์  ปีที่ ๑ ฉบับที่    สิงหาคม  ๒๕๕๐ .
[2] ปิยนาท  ประยูร Systems Thinking  วิธีคิดกระบวนระบบ , พิมพ์ครั้งที่   (กรุงเทพฯ:  พิสิษฐ์ ไทย ออฟเซต , ๒๕๔๘)  ,หน้า  ๖๑.
[3] เรื่องเดียวกัน , หน้า ๑๐๐.
[4] Rhonda Byrne, The Secret เดอะซีเคร็ตพิมพ์ครั้งที่ ๕๗ (กรุงเทพ : อมรินทร์, ๒๕๕๑), หน้า ๔-๖๕.
                             ---------------------------
            ...สมัยที่ผมยังรับราชการอยู่ เคยถูกส่งไปอบรมวิชาการบริหาร ณ ที่นั้นอาจารย์ได้สอนถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาตามแนวที่ฝรั่งสอนกันอยู่ในเมืองนอกว่า  ขบวนการแก้ปัญหามี ๔ ขั้นตอน ขั้นตอนแรกต้องกำหนดตัวปัญหาให้แน่นอนก่อนว่า ปัญหาที่เราจะแก้นั้นคืออะไร หรืออะไรคือตัวปัญหา ขั้นตอนที่สองต้องหาเหตุของปัญหาให้ได้  ขั้น ตอนที่สามต้องวางเป้าหมายที่เราต้องการในการแก้ปัญหาหรือผลที่จะได้รับนั่นเอง ขั้นตอนที่สี่ก็คือวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เมื่ออาจารย์กล่าวจบทุกคนที่เข้ารับการอบรมก็ยอมรับว่าเป็นวิธีการแก้ ปัญหาที่ดี แต่ผมกลับแปลกใจว่า ทำไมวิธีการของฝรั่งนั้นจึงช่างตรงกันกับวิธีการของพระพุทธในเรื่องอริยสัจสี่เสียเหลือเกิน...นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า บางทีของที่อยู่กับตัวเรา เราไม่เห็นคุณค่า ต้องไปให้ฝรั่งสอนเสียก่อน...
                                                        ศาสตราจารย์โสภณ  รัตนากร
                                                                อดีตประธานศาลฎีกา


[1] ปิยนาท  ประยูร , Systems Thinking  วิธีคิดกระบวนระบบ , พิมพ์ครั้งที่  ๒ (กรุงเทพฯ:  พิสิษฐ์ ไทย ออฟเซต , ๒๕๔๘)  ,หน้า  ๖๑.
[2] เรื่องเดียวกัน , หน้า ๑๐๐.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น