1/06/2555

นิติธรรม (ชาติ) : นิติราษฎร์แถลง

นิติธรรม (ชาติ) : นิติราษฎร์แถลง  [1]     
                                         โดย...โสต  สุตานันท์         
       
         สืบเนื่องจากแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ในฐานะคนไทยคนหนึ่งซึ่งมีส่วนได้เสีย ขอนำประเด็นข้อเสนอดังกล่าวมาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน ๒ เรื่อง คือ การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ [2]  และ การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ [3]    
            เรื่องแรก  การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
         จากการศึกษาข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับผลในทางกฎหมายที่เกิดจากการรัฐประหาร พบว่ามีกระแสความเห็นแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆคือ
            กลุ่มแรก  เห็นว่า การรัฐประหารโดยใช้กำลังบังคับเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งความผิดตามกฎหมายย่อมมิอาจกลายเป็นความชอบด้วยกฎหมายไปได้ ตามหลักที่ว่า อำนาจหรือสิทธิย่อมไม่อาจบังเกิดขึ้นได้จากการกระทำผิด (Jus ex injuria non oritur)  หลังเกิดการรัฐประหาร เราไม่ได้อยู่กับกฎหมายอีกต่อไป อำนาจในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองสูงสุดไม่ได้เกิดจากกฎหมายเลย แต่ตกอยู่ในมือของผู้มีกำลังมากที่สุด ดังนั้น จึงต้องปฏิเสธผลทางกฎหมายของการรัฐประหารอย่างเด็ดขาดทุกกรณีไป
            กลุ่มที่สอง เห็นว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมืองหรือรัฏฐาธิปัตย์ มิฉะนั้น ประเทศชาติก็จะตั้งอยู่ในความสงบไม่ได้ ดังนั้น ประกาศ คำสั่ง และกฎหมายใด ๆที่เกิดจากการรัฐประหารจึงมีผลในทางกฎหมายโดยสมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาศาลไทยให้การยอมรับหลักการตามความเห็นนี้มาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๕/๒๔๙๖ , ๑๖๖๒/๒๕๐๕ และ ๑๒๓๔/๒๕๒๓ เป็นต้น
            กลุ่มที่สาม เห็นว่า คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจตรารัฐธรรมนูญใหม่แทนที่ยกเลิกไป เนื่องจากเป็นการอันจำเป็นที่ต้องทำต่อไปเพื่อให้การรัฐประหารสำเร็จผลตามความมุ่งหมาย และกฎหมายต่าง ๆที่ออกมานับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ย่อมมีผลในทางกฎหมายโดยสมบูรณ์ แต่กรณีประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารที่เกิดมีขึ้นในช่วงเวลาที่ยังมิได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้น ย่อมมีผลสิ้นไปนับแต่วันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลตามทฤษฎีนิติศาสตร์ที่ว่า ในช่วงที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะรัฐประหารไม่ได้อยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์อย่างแท้จริง โดยหลังการรัฐประหารสำเร็จ อำนาจอธิปไตยย่อมกลับคืนสู่พระมหากษัตริย์ทั้งในฐานะที่มีอำนาจนี้แต่เดิมมาและในฐานะที่เป็นประเพณีการปกครองแผ่นดินของประเทศไทย และด้วยเหตุผลทางพฤตินัยที่ว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อเสียงปืนเงียบสงบลง กฎหมายควรจะมีเสียงดังขึ้นเพื่อกอบกู้ฟื้นฟูเกียรติยศศักดิ์ศรีและความศักดิ์สิทธิ์กลับคืนมาบ้าง แม้จะไม่มากนักก็ตาม[4]
            สำหรับแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ดูเหมือนจะเห็นด้วยกับความเห็นของกลุ่มแรก แต่เข้าใจว่าด้วยปัญหาข้อจำกัดในทางปฏิบัติที่เป็นจริง จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาตามความเห็นของกลุ่มที่สาม
            ผู้เขียนไม่มีความรู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายมหาชน อีกทั้งยังเห็นว่า การวิเคราะห์ปัญหาโดยมุ่งเน้นมิติแง่มุมในเชิงทฤษฎีทางนิติศาสตร์มากเกินไป อาจทำให้เกิดความแข็งกระด้าง ไม่ยืดหยุ่นและหาทางออกร่วมกันได้ยาก  จึงขอแสดงความเห็นในเชิงสังคมวิทยาโดยมีข้อสังเกต ดังนี้ คือ
            ๑. หากเปรียบเทียบการเมืองการปกครองในบ้านเรานับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา กับการปลูกต้นไม้ขึ้นมาต้นหนึ่ง  ก็ต้องยอมรับความจริงกันว่า จะผิดจะถูกจะชั่วจะดีอย่างไร ต้นไม้ต้นนี้ก็เจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาแก่เราได้พึ่งพาอาศัยจนเติบใหญ่มาถึงทุกวันนี้ บางครั้งบางทีกิ่งก้านสาขาอาจจะหักตกใส่เพื่อนผองน้องพี่ของเราให้ได้รับบาดเจ็บล้มตายไปบ้าง แต่เราก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ โดยไม่เดือดร้อนลำบากอะไรมากนัก
            ถ้าไม่มีต้นไม้ต้นนี้ ก็ไม่แน่ว่าเราจะยังมีชีวิตความเป็นอยู่ หรือมีสิทธิเสรีภาพในเรื่องต่าง ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดความเห็นเหมือนเช่นทุกวันนี้หรือไม่ เราอาจจะเป็นเหมือนพม่า เขมร หรือประเทศอื่น ๆในโลกอีกหลายประเทศ ที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพดีเท่าเรา  ครั้นเมื่อถึงคราวที่ต้นไม้แก่ชราไปตามธรรมชาติ กิ่งก้านดอกใบร่วงโรยไร้ร่มเงา  เราจะใจร้ายใจดำด้วยการคิดตัดโค่นต้นไม้แล้วจุดไฟเผาทิ้งกระนั้นหรือ ?
          การทำเช่นนั้นนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้ว หากไม่ดูทิศทางลมหรือสภาพดินฟ้าอากาศให้ดี ต้นไม้นั้นอาจจะโค่นล้มทับหรือลุกลามเผาไหม้ทำให้เราได้รับบาดเจ็บล้มตายหรือทำให้ทรัพย์สินบ้านเรือนเสียหายอย่างหนักก็เป็นได้ เพราะต้นไม้ที่มีอายุถึง ๗๙ ปี ย่อมมีลำต้นที่ใหญ่โตและมีกิ่งก้านสาขาอยู่ไม่น้อย
            จะเป็นหนทางที่ถูกต้องดีงามกว่าหรือไม่  หากเราจะหาทางออกในการแก้ไขปัญหาด้วยการให้อภัยหรืออโหสิกรรมให้กับตราบาปที่เคยได้รับและแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อคุณความดีที่ท่านเคยสร้าง แล้วช่วยกันคิดหาหนทางในการนำเอาเนื้อไม้นั้นมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันก็ควรร่วมแรงร่วมใจช่วยกันปลูกต้นไม้ขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นที่พักพิงอาศัยให้ร่มเงาและปกป้องคุ้มครองให้เราอยู่รอดปลอดภัยต่อไป
            ๒. เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ประเทศไทยเรามีจำนวนครั้งในการรัฐประหารอันดับต้น ๆของโลกและมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นว่า การปกครองแบบเผด็จการโดยทหารยังดีเสียกว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยกลุ่มทุนนิยมสามานย์ แต่ประเทศของเราก็ไม่ได้ย่ำแย่เลวร้ายเหมือนเช่นประเทศที่มีการรัฐประหารบ่อยครั้งทั้งหลาย  ในทางตรงข้ามดูเหมือนว่าในภาพรวมแล้วเราอาจจะอยู่ดีมีสุขหรือเป็นทุกข์น้อยกว่าบางประเทศที่ไม่เคยมีการรัฐประหารเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำไป 
        เหตุผลสำคัญประการหนึ่งน่าจะเนื่องจากว่า ภายหลังการรัฐประหารส่วนใหญ่โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆคณะรัฐประหารจะรีบคืนอำนาจให้กับประชาชน  ด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อเปิดโอกาสให้มีตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง (แต่ก็มักจะสร้างกลไกของกฎหมายขยักอำนาจสำคัญบางส่วนไว้) ซึ่งคงจะมีสาเหตุจากหลายปัจจัยและการรัฐประหารแต่ละครั้งก็อาจไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความคิดความเห็นของแต่ละคนด้วยว่า จะพิจารณาหรือเลือกมองในแง่มุมไหน
            บางคนอาจมองว่าคณะรัฐประหารหวังดีต่อชาติบ้านเมือง จำเป็นจำใจต้องทำรัฐประหาร เมื่อนำพาสังคมผ่าทางตันก้าวพ้นวิกฤตปัญหาเฉพาะหน้าไปได้แล้วจึงคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่บางคนอาจมองว่าคณะรัฐประหารจำเป็นจำใจต้องรีบคืนอำนาจให้กับประชาชนเพราะรู้ดีว่าอย่างไรเสียก็คงไม่สามารถรักษาอำนาจไว้ได้ เนื่องจากถูกกระแสต่อต้านคัดค้านหรือกดดันจากสังคมไม่ว่าจะเป็นภายในหรือนอกประเทศ หรือบางคนอาจมองว่าสังคมไทยเราเป็นสังคมที่ยืดหยุ่น ประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัยและมีการรอมชอมกันค่อนข้างสูง แต่ไม่ว่าใครจะคิดจะมองอย่างไร ณ วันนี้เราก็ยังสามารถประคับประคองรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ได้
            ถามว่าหากในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีการรัฐประหารเลยแม้แต่ครั้งเดียว จะมีใครบ้างที่สามารถให้คำตอบได้ว่าประเทศไทยจะดีกว่าหรือแย่กว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราอาจเจริญก้าวหน้าเหมือนญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ (แต่หากความสุขความทุกข์สามารถชั่งเป็นกิโลได้ ผู้เขียนก็ไม่เชื่อว่าประชาชนของทั้งสองประเทศจะมีความสุขมากกว่าคนไทย) ขณะเดียวกันเราอาจจะตกอยู่ในสภาพเหมือนเช่นประเทศกรีซที่กำลังเผชิญวิกฤตปัญหาอย่างสาหัสสากรรจ์อยู่ในขณะนี้ เพราะดูเหมือนว่าที่ผ่านมานักการเมืองไทยจะนิยมชมชอบนโยบายที่เรียกว่าประชานิยมอยู่ไม่น้อย ถามว่าหากไม่มีการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา วันนี้คนไทยจะมีความรักใคร่สมานฉันท์กันเป็นอย่างดีหรือกลุ่มเสื้อสีต่าง ๆอาจเข้าต่อสู้ห้ำหั่นทำลายล้างกันจนบาดเจ็บล้มตายเป็นพันเป็นหมื่น ทำให้เรื่องราวลุกลามบานปลายใหญ่โตและก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานในหมู่พี่น้องร่วมชาติอย่างรุนแรงจนยากเกินจะเยียวยามากยิ่งกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้หรือไม่?
            แน่นอนว่าคงเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่ใครผู้ใดจะให้คำตอบได้ หากจะถกเถียงกันไม่ว่าอีกกี่ปีกี่ชาติก็คงไม่จบ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดซึ่งเราต้องยอมรับความจริงกันก็คือ  การรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมาไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆจากความคิดความเห็นของทหารหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยปราศจากเหตุปัจจัยแวดล้อมที่สัมพัทธ์หนุนเนื่องกันอย่างแน่นอน ทุกองคาพยพของสังคมย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเสมอไม่มากก็น้อยไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ตามหลักธรรมที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น   
            ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงจึงได้แก่ ความจริงที่เคยเกิดขึ้นและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนอยากจะมองโลกในแง่ดีว่า หากเปรียบเทียบระบอบประชาธิปไตยของไทยกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ การรัฐประหารแต่ละครั้งก็คงเปรียบเสมือนร่องรอยรูปวงปีของต้นไม้แต่ละวง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการหยุดชะงักการเจริญเติบโตในช่วงหน้าแล้งที่ขาดแคลนน้ำและอาหาร ซึ่งหากพิจารณาดูให้ดีก็จะพบว่า การเกิดขึ้นของรอบวงปีนั้นน่าจะมีส่วนช่วยทำให้เนื้อไม้มีความแข็งแกร่งและมีลวดลายที่สวยงามมากยิ่งขึ้น
            ๓. แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมมีอยู่หลาย  
วิธีการ การใช้กระบวนการทางศาลถือเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง กล่าวเฉพาะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนั้น กว่าห้าปีเศษที่ผ่านมาน่าจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการพยายามใช้ศาลเป็นเครื่องมือหลักสำคัญในการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและอันตรายอย่างยิ่ง บางครั้งบางทีนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้วยังจะกลายเป็นการสร้างปมปัญหาให้มีความสลับซับซ้อนและถลำลึกแก้ไขได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆเพราะเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะถอยหลังกลับ เนื่องจากโดยกระบวนการของกฎหมายทุกฝ่ายต้องถูกบังคับให้เดินหน้าต่อ ไม่อยากเดินก็ต้องเดินเพราะไม่มีทางเลือก แต่เมื่อเดินไปสุดทางแล้วก็อาจพบว่าเป็นทางตันหรือเจอหุบเหวลึกอันตราย ถึงตอนนั้นกาลอาจสายเกินกว่าจะเยียวยาแก้ไขและที่สำคัญในสถานการณ์บ้านเมืองที่มีการแยกสีแยกฝ่ายมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเหมือนเช่นทุกวันนี้ การดึงศาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากเกินไปน่าจะได้ไม่คุ้มเสียและก่อให้เกิดผลเสียระยะยาว เพราะไม่ว่าศาลจะตัดสินคดีอย่างไร ย่อมมีทั้งคนได้คนเสีย คนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่เสียประโยชน์หรือไม่เห็นด้วยก็จะกล่าวหาว่าศาลไม่เป็นกลางเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง สถานการณ์อาจเลวร้ายมากยิ่งขึ้นไปอีกก็เป็นได้
        เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่า การหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันฉันท์พี่น้อง เพื่อนฝูง ญาติมิตรหรือเพื่อนร่วมสุข ทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยการยึดถือธรรม ความจริง และสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นที่ตั้งและเป้าหมายร่วมกัน มุ่งมองไปยังอนาคตข้างหน้าเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ไม่จมปลัก ขุดคุ้ย หรือถกเถียงกันแต่เรื่องราวในอดีต น่าจะเป็นหนทางที่สร้างสรรค์ดีงามและเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหามากยิ่งกว่า

            เรื่องที่สอง การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
          หลักการเรื่อง นิติรัฐ มีวิวัฒนาการสืบต่อเนื่องจากยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งยุคสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐจะเป็นผู้มีบทบาทสูงสุดในการบัญญัติกฎหมายออกมาเพื่อบังคับใช้ในบ้านเมือง โดยส่วนใหญ่จะยึดโยงอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระเจ้าในรูปแบบต่าง ๆตามแนวคิดความเชื่อของแต่ละสังคม  ต่อมาด้วยสภาพปัญหาต่าง ๆมากมายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความแตกต่างเหลื่อมล้ำ การใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงและเอารัดเอาเปรียบกันอย่างรุนแรง ประกอบกับอิทธิพลแนวคิดของปราชญ์เมธีต่าง ๆในยุคสมัยนั้น ทำให้เริ่มมีการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และแผ่ขยายกระจายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
            เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในการแสดงออกถึงการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ การประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. ๑๗๗๖ และการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. ๑๗๘๙ โดยมีเครื่องมือสำคัญอันทรงพลังที่นำไปใช้เป็นธงนำในการต่อต้านและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คือ ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ  ทฤษฎีเสรีนิยมทางการเมือง และทฤษฎีเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งพอสรุปหลักการแนวคิดที่สำคัญได้ว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมามีอิสระและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เหนืออำนาจสูงสุดของมนุษย์ยังมีอีกสิ่งหนึ่งคือ ธรรมชาติ การปกครองบ้านเมืองต้องยืนอยู่บนหลักเหตุผลของธรรมชาติ มิใช่อยู่บนอำเภอน้ำใจของบุคคลใด เมื่อสิ่งใดเป็นสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ย่อมไม่อาจมีใครใช้อำนาจลบล้างหรือละเมิดได้ (เช่น สิทธิในชีวิต  การแสวงหาความผาสุก กรรมสิทธิ์ ความมั่นคงปลอดภัย การต่อต้านการกดขี่ข่มเหง เป็นต้น)  และรัฐบาลต้องมาจากความยินยอมของประชาชน มีอยู่เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากรัฐบาลล่วงละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของประชาชนหรือใช้อำนาจไม่ถูกต้องเหมาะสม ประชาชนย่อมมีสิทธิปฏิเสธการปกครองนั้นได้
            นอกจากนั้น ยังมีทฤษฏีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ แนวคิดเรื่องการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจด้วยการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น ๓ ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ทั้งนี้ เนื่องจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมนุษย์ทั่วโลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มนุษย์ทุกคนที่มีอำนาจย่อมนำไปสู่การใช้อำนาจเกินสมควรทั้งสิ้น เว้นแต่เขาจะพบกับข้อจำกัดของอำนาจ[5]
            ปรัชญาแนวคิดดังกล่าวถูกนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนครั้งแรกในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา อาจกล่าวได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการยึดถือ กฎหมาย เป็นหลักสำคัญในการปกครองบ้านเมืองแทนการยึดถือตัว บุคคล” เป็นหลักเหมือนเช่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และมีการถ่ายโอนอำนาจจากพระมหากษัตริย์หรือกลุ่มขุนนางชนชั้นสูงไปสู่ประชาชนทั้งประเทศ  ดังที่เรียกกันว่า การปกครอง ระบอบประชาธิปไตย ที่มีการยึดถือหลัก นิติรัฐ  เป็นหลักการสำคัญสูงสุดนั่นเอง
            ทั้งนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ก่อนที่รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องผ่านเหตุการณ์การต่อสู้ การถกเถียงแลกเปลี่ยนในเรื่องของอุดมการณ์ ปรัชญาแนวคิด รวมทั้งการระดมความคิดความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆมากมาย โดยกว่าที่องค์ความรู้จะตกผลึกและผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นพ้องต้องกัน จนสามารถร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จและมีผลบังคับใช้ได้ ก็เป็นเวลาถึงสิบปีเศษ นับแต่วันที่มีการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. ๑๗๗๖[6] 
            สำหรับประวัติศาสตร์ที่มาและวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญหรือหลักนิติรัฐในประเทศไทยนั้น ผู้เขียนขอไม่หวนย้อนไปกล่าวถึงเรื่องราวในอดีตกันอีก เพราะคิดว่านอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรมากนักแล้ว หากไม่ระมัดระวังให้ดีก็อาจเป็นการสร้างความแตกแยกร้าวฉานเพิ่มมากขึ้นไปอีก  อีกทั้งยังเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ทราบดีอยู่แล้ว  แต่สิ่งที่อยากจะชักชวนพี่น้องร่วมชาติให้ร่วมกันคิดร่วมกันทำก็คือ การมุ่งมองไปยังอนาคตว่า เราจะสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด (สำหรับคนไทย) และมีความมั่นคงถาวรกันได้อย่างไร
       ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของคณะนิติราษฎร์ที่เสนอให้มีการจัดทำ คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด เพราะคงเปรียบได้กับการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยให้งอกงามขึ้นมาแทนที่ คำประกาศของคณะรัฐประหาร” ที่แฝงตัวฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตและข้อพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางข้อเสนอดังกล่าว ดังนี้    
            ๑. สิ่งที่เราต้องพึงตระหนักและให้ความสำคัญสูงสุดคือ นอกจากจะต้องเสาะหาเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยที่ดีที่สุดแล้ว ยังจะต้องจัดเตรียมดิน ปุ๋ย น้ำ และปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆที่เกี่ยวข้องให้พร้อม รวมทั้งต้องเตรียมการวางแผนในเรื่องของการดูแลรักษาในระยะยาวด้วย หากเมล็ดพันธุ์ไม่มีคุณภาพดีพอหรือไม่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศในบ้านเราและไม่มีการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อเนื่องจริงจังแล้ว ต้นไม้นั้นก็อาจแคระแกรน ไม่เติบโตงอกงาม หรืออาจเติบโตอย่างรวดเร็วแต่มีลำต้นกิ่งก้านสาขาที่เปราะบางหักง่ายหรือกลายเป็นต้นไม้มีพิษซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนเสียหายมากมายให้กับเราในภายหลังก็เป็นได้   
            ๒. จากการอ่านคำแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ในประเด็นที่ ๔ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ดูเหมือนว่าจะมีกลิ่นอายของโลกตะวันตกแฝงอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งจากสถานการณ์โลกที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ น่าจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าบ้านเมืองเขาก็กำลังเป็นปัญหากันอยู่ไม่น้อย  อีกทั้งยังเห็นว่า การนำข้อมูลความรู้ที่อยู่ไกลตัวมาปรับใช้นั้น แม้จะเป็นความรู้ที่ได้รับการยอมรับว่าดีเลิศ แต่หากไม่ระมัดระวังให้ดีหรือมีปัญญาที่ลึกซึ้งพอ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้
            ตัวอย่างเช่น การออกแบบก่อสร้างบ้านให้มีความมั่นคงแข็งแรงหรือการตัดเย็บเสื้อผ้าให้สวยงามนั้น เราคงไม่อาจนำรูปแบบวิธีการหรือวัสดุที่ใช้ซึ่งได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในประเทศเขามาปรับใช้ในบ้านเราให้เหมือนกันทั้งหมดได้ เพราะบ้านเราเป็นเมืองร้อน บ้านเขาเป็นเมืองหนาว อีกทั้งยังมีปัจจัยเงื่อนไขอื่น ๆอีกมากมายที่มีความแตกต่างกัน
            นอกจากนั้น ยังเห็นว่าปรัชญาแนวคิดของโลกตะวันตกอันเป็นรากฐานที่มาของระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้น จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล(แต่ละคน)และให้ความสำคัญสูงสุดเฉพาะประโยชน์ของมนุษย์  ซึ่งต่างจากปรัชญาแนวคิดในโลกตะวันออกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธที่สอนให้ลดอัตตาตัวตน มุ่งเน้นให้ความ สำคัญกับคนอื่นและสังคมส่วนรวม รวมตลอดถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยและมองปัญหาอย่างเป็นองค์รวมเชื่อมโยงถึงกันไม่แยกส่วน โดยมองว่ามนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าหรือแปลกแยกออกจากธรรมชาติ
             ถึงแม้ว่าใน “คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา” และ คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองฝรั่งเศส" จะมีการกล่าวถึงกฎหมายธรรมชาติและสิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) อยู่ด้วย แต่ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ก็เห็นว่า ไม่ตรงกับหลักธรรมในศาสนาพุทธ ตัวอย่างเช่น เรื่องสิทธิในที่ดิน หากมองเฉพาะในแง่ประโยชน์ของมนุษย์และในฐานะที่เป็นสิทธิของปัจเจกบุคคล เจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมสามารถใช้สอยหรือจัดการกับที่ดินของตนเองอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ ซึ่งหากไม่คำนึงถึงคนอื่นในสังคมหรือธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเลย ปัญหาต่าง ๆย่อมตามมา
         ขณะที่ศาสนาพุทธมองว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่มีสิทธิใด ๆ การกำหนดให้มีสิทธิต่าง ๆขึ้นมา เป็นเพียงกฎเกณฑ์สมมุติที่มนุษย์ตกลงกันเองเพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันเท่านั้น  สิทธิที่ว่านั้นเป็นเรื่องที่จะใช้อ้างกันได้เฉพาะในหมู่มนุษย์ จะเอาไปอ้างกับธรรมชาติไม่ได้ เราจะบอกว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของฉัน ทุกอย่างในที่นี้จะต้องเชื่อฟังฉัน ฉันปลูกอะไรก็จะต้องเจริญงอกงามตามคำสั่งฉันไม่ได้ หรือแม้กระทั่งสิทธิในชีวิต มนุษย์ก็ไม่มีสิทธิที่จะไปอ้างยันกับธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะไม่ยอมรับฟัง[7] ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีถึงการคำนึงถึงแต่สิทธิประโยชน์ของมนุษย์ โดยไม่สนใจให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
            ๓. ผลของแนวคิดทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ ทฤษฎีเสรีนิยมทางการเมือง และทฤษฎีเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ แบบตะวันตก ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกให้การยอมรับและเดินตามมากว่า ๒๐๐ ปี นั้น ได้ส่งผลกระทบเสียหายต่อสังคมโลกในยุคปัจจุบันอย่างมากมาย ตัวอย่างปัญหาที่สำคัญเช่น
            ๓.๑ การเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพส่วนตัวของปัจเจกบุคคลมากเกินไป ย่อมก่อให้เกิดความแตกต่างเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มคนที่มีศักยภาพหรือพื้นฐานฐานะความเป็นอยู่ดีหรือมีสายป่านที่ยาวไกลก็จะยิ่งได้เปรียบในลักษณะเป็นเท่าทวีคูณ ขณะที่คนซึ่งอยู่ในฐานะเสียเปรียบอยู่แล้วก็จะยิ่งเสียเปรียบย่ำแย่เป็นเท่าทวีคูณอีกเช่นกัน 
            ตัวอย่างเช่น  การซื้อที่ดินซึ่งมีราคา ๓ ล้านบาท คนรวยอาจจ่ายเงินตามราคา ๓ ล้านบาท เพราะซื้อเงินสด แต่คนที่มีฐานะด้อยกว่า อาจต้องจ่ายมากถึง ๔-๕ ล้านบาท เพราะต้องบวกดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารเข้าไปด้วย หรือคนที่มีร้านค้าหรือที่นาเป็นของตนเองย่อมได้เปรียบคนที่ทำมาหากินด้วยการเช่าอาคารร้านค้าหรือเช่าที่นาคนอื่นทำอย่างมากมาย ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ร้านขายของชำหรือร้านโชว์ห่วยขนาดเล็กจะทยอยล้มหายตายจากและสูญพันธ์ไปในที่สุด
            โอกาสทางการศึกษาก็ยิ่งนับวันจะห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน คุณธรรมจริยธรรมจะลดน้อยถอยลงเป็นสัดส่วนผกผันกัน คนที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นที่จะอยู่รอด มือใครยาวสาวได้สาวเอา ฯลฯ
            ท้ายที่สุดทุกคนจะอยู่ในสภาพอ่อนล้าเหนื่อยแรงและเป็นทุกข์  เพราะโดยสภาพเงื่อนไขของการต่อสู้แข่งขันทุกคนจะหยุดไม่ได้ หยุดเมื่อไหร่ก็แพ้เมื่อนั้น ขณะเดียวกันคนที่แพ้ก็จะกลายเป็นภัยคุกคามผู้ชนะในรูปแบบต่าง ๆไม่ให้มีโอกาสดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขได้  และที่สำคัญภายใต้ภาวะการณ์ของกฎเกณฑ์กติกาเช่นนี้ ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วรุนแรงและมากมายมหาศาล เพราะจะมีการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการเสพย์บริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัดและฟุ่มเฟือยไร้เหตุผล โดยไม่อาจหามาตรการ    ใด ๆมาทัดทานหรือระงับยับยั้งอย่างมีประสิทธิภาพได้  ผลที่สุดมนุษย์ทั้งโลกก็จะก้าวไปสู่ความพ่ายแพ้ร่วมกัน 
            ๓.๒ การเปิดโอกาสให้มีสิทธิเสรีภาพหรือแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวางโดยไม่มีการจำกัดขอบเขตที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่คำนึงถึง หน้าที่ ในการเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น (ซึ่งควรจะต้องพึงตระหนักอยู่เสมอเมื่อคำว่า สิทธิเสรีภาพ ผุดขึ้นในสมอง)นั้น ก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญตามมา คือ มีการรุกล้ำล่วงเกินสิทธิเสรีภาพของกันและกันเพิ่มมากขึ้นและทวีความรุนแรงเป็นลำดับ ซึ่งแน่นอนว่า การพยายามตอบโต้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตนเองของแต่ละคนย่อมมีมากขึ้นและยิ่งทวีความรุนแรงอีกเช่นกัน 
            ผลที่ตามมาคือ ความขัดแย้งบาดหมาง การกระทบกระทั่ง การต่อสู้ทำลายล้างกันของผู้คนในสังคมจะมีมากขึ้นและแผ่ขยายลุกลามออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากสังคมใดไม่รีบปรับปรุงแก้ไข ก็จะก้าวไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า มิคสัญญีกลียุค บ้านเมืองไร้ขื่อแป ในท้ายที่สุด 
            นอกจากนั้น ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ สภาพการณ์ดังกล่าว จะส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน หรือ  กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” และความเชื่อมั่นของผู้คนในสังคมที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จะค่อย ๆเสื่อมคลายลงไปเรื่อย ๆ เหตุผลเพราะว่า ในทุกสังคมย่อมมีทั้งคนดีมาก ดีน้อย ดีปานกลาง มีคนชั่วมาก ชั่วน้อย ชั่วปานกลาง มีคนดีในแง่มุมหนึ่งแต่ไม่ดีในอีกแง่มุมหนึ่ง หรือไม่ดีในแง่มุมหนึ่งแต่ดีในอีกแง่มุมหนึ่ง และในโลกนี้ย่อมไม่มีใครที่ไม่เคยผิดพลาด มีปมด้อย ข้อเสียหรือมลทินด่างพร้อย  ซึ่งปกติส่วนใหญ่คนที่มีสัดส่วนน้ำหนักแห่งคุณความดีมากกว่ามักจะหน้าบางและอ่อนไหวง่าย ขณะที่คนซึ่งมีสัดส่วนความชั่วมากกว่ามักจะหน้าหนาไร้ยางอาย
            เมื่อเกิดการเผชิญหน้าต่อสู้กันในเรื่องของการรุกล้ำและการปกป้องสิทธิเสรีภาพของกันและกัน คนดีมากกว่าจึงมักจะเลือกวิถีแห่งชัยชนะด้วยการยอมเสียสละ ให้อภัยและปล่อยวางหรือถือคติที่ว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง  ไม่อยากเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ หรือ หมากัดอย่ากัดตอบ (แต่ในสายตาของผู้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการยอมแพ้) เสียงของคนดีในสังคมจึงค่อย ๆเงียบลง ๆ ขณะเดียวกันเสียงของคนชั่วจะเริ่มดังขึ้น ๆเรื่อย ๆ โดยใช้จุดอ่อนของมนุษย์ส่วนใหญ่คือ กิเลสความต้องการที่เรียกว่า ตัณหา เป็นเครื่องมือในการเสาะแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ผลที่สุด เหล่ากังฉินย่อมครองเมืองเรืองอำนาจ ความเดือดร้อนเสียหายและความ อยุติธรรมก็จะแผ่ขยายปกคลุมไปทุกหย่อมหญ้า
         อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศอาจมีกลุ่มคนดีจำนวนหนึ่งซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากยิ่งกว่าที่กล้าหาญชาญชัยลุกขึ้นมากู่ตะโกนร้องด้วยเสียงอันดังและต่อสู้ตอบโต้สิ่งที่เห็นว่าชั่วร้าย โดยไม่เกรงกลัวภัยอันตรายใด ๆ แต่ผลที่มักจะตามมาก็คือ พลังความคิดเชิงลบจะค่อย ๆแทรกซึมครอบงำสะสมเข้าไปในความคิดและจิตใจของเขาเหล่านั้นทีละเล็กละน้อยๆ เมื่อถึงจุด ๆหนึ่งก็จะไม่สนใจวิธีการว่ามีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ขอให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จเป็นพอ  มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ตั้งปณิธานแน่วแน่ที่จะยืนหยัดต่อสู้ตามครรลองอันถูกต้องชอบธรรมภายใต้กฎเกณฑ์กติกาของกฎหมายบ้านเมืองอย่างมั่นคง แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ  ท้ายที่สุด ความขัดแย้งวุ่นวาย การต่อสู้ห้ำหั่นทำลายล้างกันอย่างรุนแรงก็จะเกิดขึ้น และเสียงปืนของทหารก็อาจดังกึกก้องขึ้นมากลบเสียงทั้งของคนดีและคนไม่ดี โดยยากที่จะหยั่งทราบได้ว่า คนที่ถืออาวุธปืนอยู่ในมือนั้นเป็นคนดีหรือไม่ดี และสังคมก็จะตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งวุ่นวายสับสนอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น
                ๓.๓ ในยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จะมีขอบเขตกว้างขวางเหนือสิทธิเสรีภาพของเอกชนมากมาย  จึงมีนักคิดนักปราชญ์พยายามใช้ปัญญาเสาะแสวงหาเครื่องมือที่จะนำไปใช้ต่อสู้กับพลังอำนาจรัฐ ซึ่งในที่สุดก็สามารถค้นพบสิ่งวิเศษที่เรียกกันว่า ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ  ทฤษฎีเสรีนิยมทางการเมือง และทฤษฎีเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งที่ผ่านมาก็นับได้ว่าเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ที่ทรงพลานุภาพอย่างยิ่ง
         อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไปสองร้อยกว่าปี แนวคิดทฤษฎีดังกล่าวเริ่มกลายเป็นตัวปัญหาไปเสียแล้ว เพราะสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน องค์กรเอกชนหรือบุคคลสมมุติที่เรียกกันว่า นิติบุคคล มีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐมากมาย บริษัทข้ามชาติหลายแห่งมีมูลค่าทรัพย์สินเงินทองมากกว่างบประมาณแผ่นดินในหลายประเทศ สามารถควบคุมกลไกเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศต่าง ๆทั่วโลกได้เกือบทั้งหมด แม้แต่ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองของประเทศในโลกเสรีทั้งหลายก็มีที่มาหรือได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจนายทุนขนาดใหญ่กันทั้งสิ้น ความมั่นคงของกลุ่มธุรกิจนายทุนจึงหมายถึงความมั่นคงของรัฐ
            นั่นจึงเป็นที่มาของเหตุผลที่ว่า เพราะเหตุใด ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงต้องตัดสินใจใช้เงินภาษีอากรไปปกป้องอุ้มนายทุน ไม่ยอมให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆล้มละลาย  และเพราะเหตุใดรัฐบาลไทยจึงทุ่มเทสรรพกำลังสุดชีวิตเพื่อปกป้องคุ้มครองนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆให้รอดพ้นจากมหันตภัยน้ำท่วมและเมื่อไม่สามารถป้องกันรักษาไว้ได้เราจึงเห็นภาพรองนายกรัฐมนตรีไทยยืนร้องไห้กอดกับนักธุรกิจญี่ปุ่น
            ปรากฏการณ์สำคัญที่จะเกิดมีขึ้นในโลกนับต่อแต่นี้ไปก็คือ การต่อสู้เรียกร้องให้รัฏฐาธิปัตย์เรียกอำนาจกลับคืนมา ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจนายทุนขนาดใหญ่อีกต่อไป ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ด้วยการจุดประกายของกลุ่มคนที่เรียกกันว่า Occupy Wall Street และกำลังแผ่ขยายไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
            คำถามก็คือว่า จะนำหลักคิดอุดมการณ์หรือแนวคิดทฤษฎีใดไปใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรื่องดังกล่าว เพราะลำพังการหยิบยกเอาปรากฏการณ์หรือการกล่าวอ้างถึงผลกระทบเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับขึ้นเป็นเครื่องมือต่อสู้ดังเช่นที่ปรากฏตามข่าว คงไม่มีประสิทธิภาพและทรงพลังมากพอที่จะต่อกรกับอำนาจอิทธิพลที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่เหนือรัฐได้อย่างแน่นอน
        ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจเสรีที่ไร้ขอบเขตได้ถลำลึกและสร้างปัญหาใหญ่โตจนยากเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประหนึ่งจะคิดแก้ไขเยียวยาได้แม้แต่เฉพาะในประเทศของตนเอง  เพราะสภาพปัญหามีความโยงใยเกี่ยวพันกันไปทั่วโลก และคงเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จะทำให้ทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันหรือคิดร่วมมือร่วมใจเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว  เนื่องจากสภาพปัญหาของแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเมืองภายใน และไม่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไร ย่อมมีทั้งฝ่ายที่ได้เปรียบเสียเปรียบเสมอ คงไม่มีใครยอมใครง่าย ๆ 
            เพราะฉะนั้น โดยกลไกของระบบย่อมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากรัฐต้องตัดสินใจอุ้มกลุ่มธุรกิจนายทุนและส่งเสริมสนับสนุนการเสพย์บริโภคอย่างไม่บันยะบันยังกันต่อไป จนกว่ารัฐจะอุ้มไม่ไหวหรือประชาชนลุกฮือขึ้นใช้กำลังล้มล้างระบบ หรือจนกว่าทรัพยากรธรรมชาติจะถูกทำลายไปจนหมดสิ้น 
            ๔. แท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นระบอบเสรีประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เผด็จการหรือระบอบอื่นใดในโลก ต่างก็มีเป้าหมายเหมือนกันทั้งสิ้น คือ การสร้างความผาสุกให้กับทุกคนในสังคม หากจะแตกต่างกันก็เพียงแต่วิธีจัดการเท่านั้น[8]
            การให้ความสำคัญสูงสุดกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลตามระบอบเสรีประชาธิปไตย ย่อมส่งผลทำให้ทุกคนในสังคมมีหลักประกันในอันที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองมิให้ถูกล่วงละเมิดไม่ว่าจากรัฐหรือบุคคลอื่นใด ความสงบสุขย่อมเกิดมีขึ้น ขณะเดียวกันการให้ความสำคัญสูงสุดกับสิทธิประโยชน์ของส่วนรวมในระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ โดยจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของปัจเจกบุคคลบ้าง ย่อมส่งผลทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกันอย่างเกินขอบเขต ความสงบสุขในสังคมย่อมเกิดมีขึ้นอีกเช่นกัน
            อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อสังเกตคือ กรณีระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์นั้น โดยที่ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีศักยภาพความรู้ความสามารถ มีความคิดความเห็นและความต้องการบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างกัน อีกทั้งในความเป็นจริงการอยู่ร่วมกันในสังคมย่อมมีความจำเป็นต้องแบ่งหน้าที่กันทำ บทบาทของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไปโดยปริยาย ในโลกแห่งความเป็นจริงจึงเป็นไปได้ยากมากที่รัฐจะสามารถบริหารจัดการให้ทุกคนในสังคมได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันหรือทำให้รู้สึกพึงพอใจกับความเสมอภาคเท่าเทียมที่รัฐจัดให้ ประกอบกับธรรมชาติของมนุษย์ย่อมรักความเป็นอิสระ ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความรู้ความสามารถของตนให้ได้มากที่สุดอย่างเต็มศักยภาพ ไม่ต้องการตกอยู่ภายใต้อำนาจหรือการบังคับบงการของผู้ใด
            ดังนั้น ระบอบดังกล่าวจึงต้องพยายามปรับตัวมาโดยตลอด ด้วยการเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าหวั่นเกรงอย่างมากว่า ท้ายที่สุดปัญหาต่าง ๆก็คงจะตามมาไม่ต่างไปจากประเทศในโลกเสรีประชาธิปไตย เพราะจะมีการกระตุ้นส่งเสริมการเสพย์บริโภคอย่างไร้ขอบเขต ทรัพยากรจะถูกทำลายอย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะจีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศใหญ่หากมีปัญหาเมื่อไหร่ก็คงได้เดือดร้อนเสียหายกันไปทั่วโลก
            สำหรับระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้น นับได้ว่าเป็นระบอบที่สนองกิเลสความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เรียกว่า ตัณหาได้ดีที่สุด ซึ่งดูเผิน ๆเหมือนจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพลวงตาและฉาบด้วยยาพิษ ปัญหาวิกฤติต่าง ๆที่เกิดขึ้นในโลกขณะนี้ ดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวไว้ในข้อ ๓. น่าจะเป็นประจักษ์พยานที่ยืนยันถึงภัยอันตรายได้เป็นอย่างดี แต่ก็ดูเหมือนว่าผู้คนส่วนใหญ่ในโลกเสรีประชาธิปไตยรวมทั้งประเทศไทยราจะยังไม่ค่อยรู้สึกตัวกันมากนัก
            จากที่กล่าวมาจึงเห็นว่า ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดน่าจะได้แก่ ระบอบที่มีดุลยภาพที่เหมาะสมลงตัวระหว่างสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลแต่ละคนกับการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยอำนาจรัฐ โดยยึดถือแนบอิงเกี่ยวพันกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด  ซึ่งสูตรหรือสัดส่วนที่เหมาะสมลงตัวของแต่ละสังคมหรือในแต่ละช่วงเวลาแม้ในสังคมเดียวกันย่อมไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆมากมาย  ดังนั้น การคิดหาสูตรเพื่อสร้างดุลย-ภาพในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสติปัญญาของสังคมมนุษย์ในทุกประเทศตลอดเวลาตราบเท่าที่มนุษย์ยังไม่สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปจากโลก
            ๕. ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเล็กหากเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจโลก อีกทั้งประเทศเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์หลากหลายและยังมีปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆที่เอื้ออำนวยเกื้อกูล ดังนั้น หากเรารู้สึกตัว รู้ความจริง รู้ข้อมูลสภาพปัญหา การกลับตัวกลับใจใช้สติปัญญามองหาหนทางใหม่ที่ถูกต้องดีงาม ไม่หลงเดินตามหลังฝรั่งไปสู่ห้วงเหวลึกอันตรายเหมือนเช่นที่ผ่านมา สถานการณ์ตอนนี้ก็น่าจะยังไม่สายเกินแก้ ถึงแม้อาจจะต้องได้รับผลกระทบเสียหายไม่น้อยจากภัยสึนามิทางเศรษฐกิจก้อนโตมหึมาที่คาดว่าคงจะเกิดขึ้นภายในเวลาอันไม่ช้าไม่นานนี้อย่างแน่นอน แต่หากเราเตรียมพร้อมวางแผนตั้งรับให้ดี ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติปัญหาอันใหญ่หลวงไปได้
            ความเดือดร้อนเสียหายมากมายมหาศาลซึ่งเกิดจากมหาอุทกภัยที่ประเทศไทยเรากำลังประสบกันอยู่ในขณะนี้ หากคิดดูให้ดีตามหลักอิทัปปัจจยตาก็จะพบว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็มีผลสืบเนื่องมาจากอิทธิพลครอบงำของแนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจเสรีที่ไม่มีขอบเขตข้อจำกัดอันเหมาะสมนั่นเอง ดังนั้น เราน่าจะถือเอาวิกฤตปัญหาครั้งนี้มาเป็นโอกาสด้วยการระดมสมองระดมสติปัญญาของคนทั้งชาติ เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันทบทวนตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจังว่า ทิศทางอนาคตของเราจะเดินไปทางไหน อย่างไร  ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า หนทางรอดของเรามีอยู่เพียงวิถีทางเดียวเท่านั้น คือ การเดินตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า การพยายามกอบกู้หรือแก้ไขฟื้นฟูประเทศให้เป็นเหมือนเดิม แล้วเดินต่อไปในเส้นทางเดิมน่าจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมอีกต่อไป
            จากข้อสังเกตและข้อพิจารณาทั้งห้าประการดังกล่าว  ผู้เขียนมีความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ดังนี้
            ๑.คำประกาศที่จะจัดให้มีขึ้นนั้น น่าจะยึดถือปรัชญาแนวคิดตามหลักการคำสอนของศาสนาพุทธเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในบ้านเมืองเรา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวถึงกฎธรรมชาติไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุมกว้างขวางในทุกเรื่องทุกประเด็น เรียกว่า นิยาม ๕” อันได้แก่ อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม[9] ซึ่งหากมีการศึกษาอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งก็จะพบว่า หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีวิชาใดในโลกที่สูงกว่า[10] และหากเรามีปัญญาสามารถนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาจัดสรรวางระบบแบบแผนขึ้นในสังคมได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนและถูกต้องเหมาะสมลงตัว คำว่า นิติรัฐ กับ นิติธรรม ก็จะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน ถึงวันนั้นสังคมโลกตะวันตกก็คงจะต้องเป็นฝ่ายหันกลับมาเดินตามหลังเราแทนอย่างแน่นอน
        อนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนามองว่า หลักการปกครองบ้านเมืองที่ดีต้องยึดถือธรรมเป็นใหญ่ เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่ก็จะเห็นแก่ธรรม เห็นแก่ความจริง ความถูกต้องดีงามและยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งเรียกว่า ธรรมาธิปไตย หากไม่ยึดถือธรรมเป็นใหญ่ก็จะเอนเอียงหรือเขวออกไปกลายเป็นยึดถือเอาตัวตนหรือผลประโยชน์ของตนเป็นใหญ่เรียกว่า อัตตาธิปไตย หรือหากยึดถือเอาความนิยม คะแนนเสียงหรือความชอบใจพึงพอใจของคนจำนวนมากโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ก็จะกลายเป็น โลกาธิปไตยไป [11] 
          ดังนั้น หากจะตั้งชื่อประกาศไว้ว่า คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบธรรมเสรีประชาธิปไตย” ก็จะเป็นการดีไม่น้อย ซึ่งหมายถึงว่า สิทธิเสรีภาพของมนุษย์และหลักการเรื่องมติเสียงส่วนใหญ่นั้น ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งธรรม(ชาติ) คำนึงถึงความจริงและความถูกต้องดีงามเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา
         แน่นอนว่า แนวทางการปกครองแบบ “ธรรมาธิปไตย” เป็นหนทางที่ไม่ง่ายนัก เพราะต้องอาศัยพลังปัญญาอย่างมากในการคิดวิเคราะห์เพื่อค้นหาหลักความจริงและความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันของเหตุปัจจัยต่าง ๆตาม กฎธรรมชาติ” อีกทั้งยังต้องพยายามคิดสร้างวางระบบระเบียบที่เรียกว่า กฎมนุษย์ ให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์เป็นอย่างดีกับกฎธรรมชาติอีกด้วย นอกจากนั้น แนวทางดังกล่าวยังขัดแย้งสวนทางกับกิเลสความต้องการของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่เรียกว่า ตัณหา อย่างชัดเจน แต่ก็เห็นว่า การเริ่มต้นที่ดีย่อมเท่ากับว่าสำเร็จไปแล้วกึ่งหนึ่ง และการยึดถือธรรมเป็นใหญ่ในการปกครองบ้านเมืองนั้นจะไม่มีคำว่าตกต่ำหรือถอยหลังอย่างแน่นอน มีแต่จะนำพาให้การเมืองก้าวหน้าไปสู่ ระบบบริสุทธิ์ มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับ อัตตาธิปไตย หรือ โลกาธิปไตย” ที่จะนำพาไปสู่ ระบบคดโกง อันเลวร้ายมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ[12]
            ๒. ต้นไม้ประชาธิปไตยจะเจริญงอกงามได้นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในความหมาย ปรัชญาแนวคิด รวมทั้งกระบวนการขั้นตอนของประชาธิปไตยอย่างถูกต้องและถ่องแท้ลึกซึ้ง ซึ่งเรื่องนี้นับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับสังคมไทย โดยแม้แต่อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดของคณะนิติราษฎร์ก็เคยเขียนบทความยอมรับว่า ประชาธิปไตยคืออะไรอาจเป็นคำถามที่ตอบยาก...[13] ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนทุกฝ่ายที่จะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ช่วยกันศึกษาค้นคว้าหาความรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึงกันต่อไป
       ทั้งนี้ทั้งนั้น แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดก็คงหนีไม่พ้นหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธอีกเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปราชญ์ทางด้านศาสนาหลายท่านที่เขียนหนังสือดี ๆไว้ให้ศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านพุทธทาสภิกขุและท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งจะว่าไปแล้วลำพังผลงานของทั้งสองท่านดังกล่าว ก็เป็นข้อมูลความรู้ที่มากเกินพอด้วยซ้ำไป ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เมื่อไหร่เราจะมีดวงตาเห็นธรรมคิดริเริ่มนำสิ่งที่มีคุณค่าวิเศษซึ่งวางอยู่ข้างกายนมนานมาปรับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังกันเสียที
         ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากแง่คิดกับพี่น้องร่วมชาติว่าผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ทั้งฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าและฝ่ายที่ถูกกล่าว หาว่าเป็นจารีตนิยมล้าหลังนั้น ต่างก็ปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น แต่แนวคิดความเห็นในการแก้ไขปัญหาอาจแตกต่างกันไปบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่งสำหรับธรรมชาติของมนุษย์ โจทก์ใหญ่สำคัญสำหรับสังคมไทยตอนนี้คือ เราจะปรับ เปลี่ยนวิธีคิดและปรับปรุงแก้ไขกระบวนการหรือโครงสร้างทางการเมืองกันอย่างไร เพื่อแปรให้ความเห็นต่างนั้นเป็นพลังที่สร้าง สรรค์ช่วยนำพาให้สังคมก้าวไปสู่ความเจริญงอกงาม ไม่ใช่เป็นพลังแห่งความชั่วร้ายที่ใช้ทิ่มแทงหรือห้ำหั่นทำลายล้างกันเหมือนเช่นที่ผ่านมา และในทรรศนะของผู้เขียนมองว่าศัตรูตัวฉกาจที่แท้จริงของทั้งสองฝ่ายและของสังคมไทยร่วมกันในอนาคต คือ ความยากจนขาดแคลนองค์ความรู้เรื่องประชาธิปไตย (ที่ถูกต้องสมบูรณ์) ความเลวร้ายของเหล่านักการเมืองขี้ฉ้อ ข้าราชการกังฉิน  นักธุรกิจขี้โกง (บางคน)  และภัยคุกคามจากธรรมชาติที่นับวันมีแต่จะโหดร้ายรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่ความคิดความเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างกันของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน./
-----------------------------------
[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๔.
[2] ตามแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ประเด็นที่ ๑ ความว่า “ รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้
       ๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
       ๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
       ๓.  ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)  เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
       ๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง  
       ๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๓ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ ๔ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด  และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้
       ๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ”.
[3] ตามแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ประเด็นที่ ๔ ความว่า รัฐธรรมนูญแห่งราช- อาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย   
          
๑.คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “หมวด ๑๖ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” 
         ๒.คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง    
         ๓. เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ  “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” แม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้ 
         ๔. คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่นคงตลอดกาล
         ๕. หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ ”.
[4] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม ๒ การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชนและพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย,พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๘), หน้า ๒๓๘-๒๕๓.
[5] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม ๑ วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่าง ๆ, พิมพ์ครั้งที่ ๙ (กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๐), หน้า ๔๘-๘๑.
[6] รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาประกาศใช้ในปี ค.ศ. ๑๗๘๗.
[7] พระพรหมคุณาภรณ์, “นิติศาสตร์แนวพุทธ”, รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ ๖ (กรุงเทพฯ:วิญญูชน, ๒๕๔๘), หน้า ๒๕-๒๗.
[8] พุทธทาสภิกขุ, ธรรมะกับการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ ๑ (กรุงเทพฯ:เพชรประกาย, ๒๕๔๙), หน้า ๑๐๒.
[9]  ดูรายละเอียดในบทที่ ๑.
[10] สัญญา ธรรมศักดิ์,  กฎหมายและศาสนา ข้อสอบไล่วิชาทุกข์, พิมพ์ครั้งที่ ๑ (กรุงเทพฯ:สายธาร, ๒๕๕๐), หน้า ๒๓.
[11] พระพรหมคุณาภรณ์, สลายความขัดแย้ง:นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ[Online], Available : http://watnyanaves.net/th/book_detail/438, หน้า ๑๙๘-๑๙๙.
[12] พุทธทาสภิกขุ, ธรรมะกับการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ ๑ (กรุงเทพฯ:เพชรประกาย, ๒๕๔๙), หน้า ๗๙.
[13] ปิยบุตร แสงกนกกุล, “นิติรัฐ ประชาธิปไตยและตุลาการภิวัตน์ หลัง ๒๕ เม.ย. ๒๕๔๙[Online], Available : http://prachatai.com/journal/2009/02/20030,หน้า ๓๓.
                                  ----------------------------
    คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา      
(๔ กรกฎาคม ๑๗๗๖)

            “ เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นที่ประชาชนชาติหนึ่งจำต้องเลิกล้มความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เคยมีกับประชาชนอีกชาติหนึ่ง เพื่อที่จะแยกทางเดินและเป็นอิสระเท่าเทียมกับชาติทั้งหลายในโลกตามสิทธิในกฎหมายธรรมชาติและกฎของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น จึงจำต้องประกาศสาเหตุซึ่งทำให้ตัดสินใจประกาศเอกราช เพื่อให้มนุษยชาติทั้งหลายได้รับรู้
              เราทั้งหลายเชื่อมั่นโดยปราศจากข้อสงสัยในความจริงที่ว่า  มนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยเท่าเทียมกันและพระผู้สร้างได้ให้สิทธิบางประการที่ไม่อาจลบล้างได้กับมนุษย์เหล่านี้  ซึ่งในบรรดาสิทธิเหล่านี้ มีสิทธิในชีวิต  เสรีภาพ  และสิทธิในการแสวงหาความผาสุก  รัฐบาลทั้ง หลายตั้งขึ้นก็เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเหล่านี้และอำนาจอันเป็นธรรมของรัฐบาลทั้งหลายนั้น  ก็มาจากความยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครอง  ทุกครั้งที่รูปแบบการปกครองใดก็ตาม กลับทำลายจุดมุ่งหมายดังกล่าวแล้วนี้  ประชาชนมีสิทธิที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองนั้นหรือทำลายเสีย  แล้วสถาปนารูปแบบการปกครองใหม่ขึ้นตามหลักการและรูปแบบที่ประชาชนเห็นว่าเหมาะที่สุดที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงและผาสุกได้
        ความรอบคอบได้สอนให้เรารู้ว่า รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาช้านานแล้วนั้น ไม่ควรถูกเปลี่ยนโดยเหตุเพียงเล็กน้อยหรือเหตุชั่วคราวและประสบการณ์ทั้งหลายที่มีมาทุกยุคได้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์พร้อมที่จะอดทนและวางเฉยกับความชั่วร้ายที่ยอมรับได้ ดีกว่าที่จะทำลายรูปแบบการปกครองที่ตนเองคุ้นเคยมาช้านาน แต่เมื่อมีการใช้อำนาจเกินความเหมาะสม มีการแย่งอำนาจจากประชาชนไป และเกิดขึ้นต่อเนื่องสม่ำเสมอมาเป็นเวลาช้านาน  โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันเพื่อให้ประชาชนตกอยู่ใต้อำนาจทรราชอันล้นพ้นนั้น จึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนที่จะปฏิเสธการปกครองนั้นเสียและหันไปสู่ความมั่นคงใหม่ในอนาคต  โดยการหามาตรการคุ้มครองป้องกันใหม่...”  


                คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองฝรั่งเศส
                              (๒๖ สิงหาคม ๑๗๘๙)

       ผู้แทนของพลเมืองฝรั่งเศสซึ่งรวมกันเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้ เห็นว่าการไม่ให้ความสำคัญ การละเลย หรือการดูถูกสิทธิทั้งหลายของมนุษยชน(แต่ละคน) เป็นที่มาเพียงประการเดียวของความหายนะของสังคมและการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล ดังนั้น ผู้แทนเหล่านี้จึงลงมติให้ประกาศอย่างเป็นทางการในประกาศฉบับนี้ ถึงสิทธิตามธรรมชาติที่ไม่มีใครลบล้างได้ และศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์แต่ละคน เพื่อให้คำประกาศฉบับนี้ ซึ่งมีอยู่ในใจของสมาชิกทุกคนของสังคม สามารถเตือนสติสมาชิกทุกคนนั้น ให้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ทั้งหลายของเขาและเพื่อให้มีการนำการกระทำของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารมาเทียบเคียงกับวัตถุประสงค์ของสถาบันทางการเมืองทุกสถาบันและเพื่อให้สิทธิเหล่านี้ได้รับการเคารพโดยองค์กรเหล่านั้นและในท้ายที่สุด เพื่อให้คำร้องเรียนและเรียกร้องของพลเมืองซึ่งมีรากฐานอยู่บนหลักการง่าย ๆแต่ไม่สามารถโต้เถียงได้ นำมาซึ่งการเคารพรัฐธรรมนูญและความผาสุกร่วมกันของทุกคน ดังนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงรับรองและประกาศสิทธิต่อไปนี้ของมนุษย์และพลเมืองแต่ละคน ภายใต้การคุ้มครองของพระผู้เป็นเจ้า...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น