1/06/2555

ที่มาของฝ่ายบริหาร

ที่มาของฝ่ายบริหาร [1]
                                      โดย...โสต  สุตานันท์ 

         สืบเนื่องจากบทความผู้เขียนเรื่อง “การจัดการความขัดแย้งในสังคม” ซึ่งลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน  ๒๕๕๒  ที่ผ่านมา  ปรากฏว่ามีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งได้กรุณาส่ง Email ไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เขียน โดยท่านตั้งข้อ สังเกตไว้ว่า “เหรียญมีสองด้าน compromise มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ควรใช้ส่วนที่เป็นประโยชน์ของ compromise เพื่อมุ่งไปสู่ harmony  สังคมต้องรู้จักประนีประนอม ถอยกันบ้าง อภัยกันบ้าง แล้วหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน ซึ่งจะทำให้ปัญหายุ่งยากยิ่งขึ้น”  ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งและได้เรียนชี้แจงตอบกลับไปว่า เจตนาที่ผู้เขียนหยิบยกคำว่า   compromise  และ harmonize  ขึ้นมาวิเคราะห์ในบทความครั้งก่อน ก็เพื่อจะได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงเหตุแห่งปัญหาของสังคมไทยในภาพกว้างเท่านั้น  ไม่ได้หมายความว่า ผู้เขียนมองว่าการ  compromise  เป็นสิ่งไม่ดีและขอถือโอกาสเสริมความเห็นท่านไว้ ณ ที่นี้ว่า วิธีการ compromise ที่ถูกต้องนั้น  ต้องมุ่งแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว  โดยคำนึงถึงปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆอย่างครบถ้วนรอบด้านในลักษณะเป็นองค์รวม ไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งคราวไป อาจกล่าวได้ว่าการ compromise ที่ถูกต้องมีเหตุผลถือเป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาแบบ harmonize นั่นเอง  ตัวอย่างเช่น การยอมถอยคนละก้าวนั้น  หากเป็นการถอยไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม ถูกที่ถูกทาง ถูกตำแหน่งของตนเอง ย่อมเกิดการลงตัวเข้ากันได้ดีและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย แต่หากถอยไปอยู่ในจุดที่ไม่ควรจะอยู่ก็เท่ากับว่าเป็นการทิ้งเชื้อแห่งปัญหาค้างคาไว้ 
         จุดไหนที่เหมาะสมไม่เหมาะสม ควรอยู่หรือไม่ควรอยู่ ผู้เขียนเคยแสดงทรรศนะไว้ในบทความเรื่อง “ความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย” ซึ่งลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลงวันที่  ๒๗   ตุลาคม   ๒๕๕๒  โดยได้ให้ความเห็นไว้ตอนหนึ่งว่า “คำว่า ศักดิ์ศรี สิทธิ  เสรีภาพ และความเสมอภาคนั้น ไม่ได้หมายความว่า  มนุษย์ทุกคนจะต้องมีสิ่งต่าง ๆเหมือนกันหรือเท่าเทียมกันหมด ที่ถูกต้องแล้วน่าจะหมายความว่าทุกคนมีศักดิ์ศรี มีสิทธิ มีเสรีภาพ และมีความเสมอภาค ตามภาวะตามปัจจัย  ตามเงื่อนไขแห่งธรรมชาติ ที่บุคคลนั้น ๆควรจะพึงมี”  และอีกตอนหนึ่งว่า  “การสร้างกฎเกณฑ์กติกาเพื่อให้มนุษย์แต่ละคนมีศักดิ์ศรี มีสิทธิ  เสรีภาพ และความเสมอภาค  ตามภาวะปัจจัย ตามเหตุตามผลที่บุคคลนั้น ๆควรจะพึงมีในมุมมองความหมายของผู้เขียน ก็คือ   การเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพหรือกระทำกิจกรรมใด ๆได้โดยอิสรเสรี ตามความรู้ความสามารถหรือความชอบความถนัดของแต่ละคน  รวมทั้งต้องสร้างคุณค่าหรือผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆสำหรับการงานอาชีพหรือกิจกรรมนั้น ๆให้เหมาะสมเป็นธรรม ชอบด้วยเหตุผล  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านั้นต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น  อีกทั้งต้องไม่ส่งผลกระทบเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย....”
         ที่กล่าวมาอาจมีลักษณะเป็นนามธรรมมากเกินไป วันนี้จึงขอยก ตัวอย่างวิธีการแก้ไขปัญหาแบบ harmonize  ที่เป็นรูปธรรม ด้วยการหยิบยกปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่มาของฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีขึ้น มาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนความเห็นกับท่านผู้อ่านดังนี้ คือ
         ก่อนอื่นขอแสดงทรรศนะไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า  ผู้เขียนเชื่อว่า  คนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกสี ทุกพรรค ฯลฯ รักชาติรักแผ่นดิน  ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าทุกคนรักตัวเองด้วย    อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดูให้ดีก็จะพบว่าการรักชาติกับรักตัวเองนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน  เพราะองค์ประกอบสำคัญของรัฐชาติอย่างหนึ่งคือคน ถ้าไม่มีคนย่อมไม่มีชาติให้รักได้  แต่วิธีคิดวิธีการแสดงออกซึ่งการรักชาติรักตนเองนั้น  ย่อมแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆมากมาย  บางคนมองแค่วันนี้วันพรุ่งนี้  บางคนมองถึงเดือนหน้า ปีหน้า สองปี สี่ปีหน้า  บางคนมองไกลถึงสิบปี ยี่สิบปีหรือชาติหน้า   ผู้เขียนไม่เชื่อว่าจะมีใครที่รักชาติอย่างเดียวโดยไม่รักตัวเอง หรือรักตัวเองอย่างเดียว โดยไม่ห่วงชาติบ้านเมือง 
         โจทย์ก็คือว่าเราจะทำอย่างไรให้การรักชาติกับรักตัวเองประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันอย่างลงตัวไม่มีหรือไม่เหลือความขัดแย้ง พูดง่าย ๆก็คือ  จะทำอย่างไรให้ทั้งตนเองและทุกคนในชาติมีความสุขหรือได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม  ไม่ใช่ตนเองได้ถ่ายเดียว แต่คนอื่นเดือดร้อน  หรือยอมให้คนอื่นได้แต่ตนเองเดือดร้อน 
         แน่นอนว่า  ผู้เขียนเชื่อว่านักการเมืองทุกคนรักชาติรักแผ่นดิน และก็เชื่อว่านักการเมืองทุกคนรักตนเอง  อยากมีเกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน เงินทอง อยากมีอำนาจวาสนา อยากเป็นรัฐมนตรี  แต่การเป็นรัฐมนตรีนั้นต้องไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือเสียโอกาส  ผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงกฎเกณฑ์กติกาอันเป็นที่มาของคณะรัฐมนตรีและสภาพปัญหาในรายละเอียด    เพราะคิดว่าที่ผ่านมาสังคมไทยได้เรียนรู้มามากเกินพอด้วยซ้ำไป  แต่ขอสรุปรวดรัดว่าด้วยกลไกของระบบที่ผ่านมา ทำให้เราได้คณะรัฐมนตรีที่ไม่สอดคล้องเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ไม่ใช่นักบริหารรัฐกิจมืออาชีพอย่างแท้จริง  จะเห็นได้ว่าหลายครั้งที่เราได้นักเลือกตั้ง นักเจรจาต่อรอง นักพนัน ได้บุคคลที่มีความรู้ความ สามารถหรือความถนัดในทางค้าขาย  โฆษณาประชาสัมพันธ์  โต้วาที ฯลฯ หรือบุคคลที่มีศักยภาพเหมาะสมกับการบริหารงานในระดับจังหวัดหรือท้องถิ่นมาเป็นรัฐมนตรี   ผลก็คือนอกจากจะทำให้ส่วน รวมเสียหายแล้ว  ตัวรัฐมนตรีเองก็อยู่ในตำแหน่งอย่างไม่มีความสุข  ไร้เกียรติ์  ไร้ศักดิ์ศรี เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมหรือแม้กระทั่งผู้ ใต้บังคับบัญชาเองไม่ยอมรับ  ลองคิดดูซิว่าการสั่งงานหรือการนั่งเป็นประธานที่ประชุมเพื่อพิจารณาถกเถียงกันในเรื่องที่ตนเองไม่มีความรู้หรือการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนในต่างประเทศ โดยที่ตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องภาษาเป็นอย่างดีมันอึดอัดลำบากใจมากแค่ไหน   เรียกว่าเป็นทุกขลาภ หลอกทั้งตัวเองและสังคมไปวัน ๆ บางครั้ง บางทีก็พลาดพลั้งถึงกับติดคุกติดตารางไปก็มี ดังปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างกันมาแล้ว    
           เวลานี้  เราต้องยอมรับความจริงกันว่า ระบบที่เป็นอยู่ถึงทางตันแล้ว  ไม่ว่าจะมีการยุบสภา ลาออกและเลือกตั้งใหม่กันอีกกี่ครั้ง  หากกฎเกณฑ์กติกายังเป็นเหมือนเดิม  ก็เชื่อว่าคงไม่มีอะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายสถานการณ์น่าจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปอีก   ผู้เขียนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทบทวนตรวจสอบ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กติกากันใหม่ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป  หาไม่แล้วกาลอาจสายเกินแก้ 
         โอกาสนี้  จึงใคร่ขอเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องดัง กล่าว โดยขอตั้งโจทย์ไว้ว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้คณะรัฐมนตรีที่ดีมีศักยภาพเหมาะสมกับการบริหารงานในระดับชาติ  ซึ่งแน่นอนว่า ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งประชาธิปไตย  เพราะคงไม่มีใครที่จะพิจารณาแต่งตั้งรัฐมนตรีได้ดีที่สุดเท่ากับประชาชน วิธีการก็คือ  กำหนดให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นคณะผู้บริหารประเทศให้ชัดเจน (นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกกระทรวง)  โดยบุคคลตามบัญชีจะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่สังกัดก็ได้    แล้วให้ประชาชนตัดสินใจเลือกตั้งคณะผู้บริหารโดยตรงตามบัญชีรายชื่อที่เสนอต่อสาธารณชน   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐต้องเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือดูแล หรือควบคุมการหาเสียงเลือกตั้งของคณะผู้สมัครให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ถูกต้องเป็นธรรม มิให้มีการได้เปรียบ เสียเปรียบซึ่งกันและกัน  กิจกรรมใดที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เช่น การหาเสียงทางโทรทัศน์ วิทยุ  สื่อสิ่งพิมพ์ หรือการจัดเวทีปราศรัย รัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีหลักมีเกณฑ์ที่ชัดเจน  โดยวิธีการช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของตัวเงินเสมอไป อาจขอความร่วมมือไปยังสื่อสารมวลชลแขนงต่างๆให้ช่วยกันเสียสละหรือขอให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมแรงร่วมใจกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าสถานการณ์ ณ ขณะนี้ คนไทยทุกคนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้กับชาติบ้านเมือง
         รูปแบบแนวทางตามที่เสนอดังกล่าว น่าจะมีข้อดีหลายประการ คือ 
          ๑. เปิดโอกาสให้คนเก่งคนดีสามารถเสนอตัวให้ประชาชนเลือกเข้าไปบริหารชาติบ้านเมืองได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่าแท้จริงแล้วคนเก่งคนดีทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมไทย ก็อยากจะเสียสละด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เหตุผลสำคัญที่ไม่ลง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ ว่าระบบที่เป็นอยู่ไม่เอื้ออำนวย   ระบบที่ไม่ดีย่อมกีดกันไม่ให้คนเก่งคนดีมีโอกาสได้รับเลือก   ระบบที่มีปัญหาย่อมเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของคนเก่งคนดี    หากมีการสร้างระบบการเลือกตั้ง  สร้างระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ดีมีประสิทธิภาพ   ก็เชื่อว่าจะมีคนเก่งคนดีมากมายที่พร้อมจะเสนอตัวอาสาเข้ามาช่วยเหลือรับใช้สังคม  รูปแบบตามที่เสนอน่าจะเปิดโอกาสให้คนเก่งคนดี สามารถรวมตัวกันเพื่อเสนอตัวให้เป็นทางเลือกของประชาชนได้โดยง่ายกว่าที่ผ่านมา   อันจะก่อให้เกิดคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาล  เพราะใน ทางการเมืองนั้นหากเราได้ผู้นำสูงสุดที่เป็นคนเก่งคนดีมีคุณธรรมสูง   ย่อมส่งผลทำให้เราได้ผู้นำระดับรองลงไปในทุกลำดับชั้นเป็นคนดีมีคุณภาพตามไปด้วย  อาจกล่าวได้ว่าถ้าเราได้นายกรัฐมนตรีเป็นคนดี ท้ายที่สุดเราก็จะได้นักการภารโรงที่ดีตามไปด้วยเช่นกัน  เพราะนายก รัฐมนตรีที่ดีย่อมเลือกคณะรัฐมนตรีที่ดี  รัฐมนตรีที่ดีย่อมเลือกปลัดกระทรวงที่ดี ไล่เรียงลำดับลงไปจนถึงอันดับสุดท้าย ผลที่ตามมาก็คือ  ความร่มเย็นเป็นสุขของเหล่าประชาราษฎรอย่างถ้วนหน้า ในทางตรงกันข้ามหากเราได้นายกรัฐมนตรีไม่ดี  มีคณะรัฐมนตรีที่มีปัญหา  เหล่าปวงประชาย่อมได้รับความเดือดร้อนกันทุกย่อมหญ้า  เพราะบ้าน เมืองจะเต็มไปได้ด้วยพวกกังฉินที่มีอำนาจ  คนดีจะต้องแอบเดินอยู่ตามตรอกขณะที่พวกขี้ครอกจะเดินกร่างอยู่เต็มถนน 
          ๒. คณะผู้สมัครไม่ต้องใช้ทุนในการหาเสียงหรือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆในทางการเมืองมากนัก   เพราะรัฐให้การช่วยเหลือดูแลในเรื่องหลักๆไปแล้ว จึงน่าจะเป็นอิสระและไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการครอบ งำของกลุ่มทุนต่าง ๆ ระบบส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมสนับสนุนคนเก่งคนดี  เพราะท้ายที่สุดก็จะถูกครอบงำหรือถูกกดดันให้ออกไปจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่
           ๓. ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นอิสระจากกันค่อนข้างชัด เจน โดยระบบคงเป็นไปได้ยากที่ฝ่ายบริหารจะเข้าไปครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติได้โดยง่ายเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา ผลก็คือ การคานดุลตรวจ สอบจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
           ๔. ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกได้อย่างถูกต้องตรงตามความต้องการของตนเอง เพราะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าคณะผู้บริหารที่เสนอตัวให้เลือกเป็นใครบ้าง  มีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีความรู้ความ สามารถแค่ไหน เพียงใด    อีกทั้งหลังเลือกตั้งเสร็จจะไม่ปรากฏภาพที่น่าเบื่อหน่าย คือ  การแย่งกันเป็นรัฐมนตรีของเหล่านักการเมืองอีกต่อ ไป   เพราะแต่ละกลุ่มแต่ละพรรคได้มีการเจรจาตกลงหรือถกเถียงกันจนได้ข้อยุติก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแล้ว
            ๕.การจัดสรรงบประมาณจะถูกต้องเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นเพราะ ที่ผ่านมาสิ่งที่ฝ่ายบริหารมักจะถูกข้อครหาเป็นประจำคือ    เน้นการจัด สรรงบประมาณให้กับเขตหรือจังหวัดที่เป็นฐานเสียงของส.ส.ในพรรค รัฐบาลเป็นสำคัญ ระบบใหม่ตามที่เสนอน่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาดัง กล่าวได้   เพราะคณะผู้บริหารมาจากฐานเสียงของประชาชนในภาพ รวมทั้งประเทศ  อีกทั้งยังน่าจะช่วยสร้างความสมานฉันท์ให้กับผู้คนในชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย
             ๖. การเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา มีพลังเงียบจำนวนมากที่ไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกลางหรือคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้มีการศึกษาที่ดี    เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นเพราะว่า เขาไม่รู้จะเลือกใคร  เนื่องจากเห็นว่าไม่มีผู้สมัครคนใดที่มีคุณสมบัติดีพอให้เลือกหรือเลือกไปคนที่ตัวเองลงคะแนนให้ก็คงไม่ได้รับเลือกอยู่ดี  เพราะสู้อำนาจอิทธิพลเงินตราไม่ได้  รูปแบบตามที่เสนอน่าจะช่วยดึงพลังเงียบ ดังกล่าวให้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงได้ไม่น้อยเลยทีเดียวและน่าจะส่งผลต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการเมืองไทยไปในทางที่ดีขึ้น  เหตุผลเพราะว่ากลุ่มคนดังกล่าวน่าจะมีความเป็นอิสระและมีวิจารณ ญาณที่ดี จึงน่าจะลงคะแนนอย่างมีเหตุผลไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน   ขณะที่กลุ่มคนซึ่งเกิดจากการจัดตั้ง  เกิดจากระบบอุปถัมภ์หรือยอมให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง  น่าจะมีการลงคะแนนในลักษณะกระจัดกระจายแบ่งกันไปตามฐานเสียงหรือกำลังเงินของแต่ละพรรคแต่ละกลุ่ม  ซึ่งเมื่อพลังเงียบดังกล่าวรวมตัวกับพลังของคนส่วนใหญ่ที่เป็นกลาง อยากให้สังคมสงบสุข ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างสุดขั้ว  ก็น่าจะส่งผลทำให้ประชาธิปไตยของเราก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง
          ๗. ช่วยป้องกันการปฏิวัติ  เหตุผลเพราะว่าหากยุคใดสมัยใดผู้ คนส่วนใหญ่ในสังคมหลงผิดตัดสินใจเลือกคณะผู้บริหารที่ไม่ดีไปสร้างวิกฤตปัญหาให้กับชาติบ้านเมือง  โดยกลไกของระบบที่เสนอก็ยัง พอมีช่องทางที่จะเพรียกหาคนเก่งคนดีให้เข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาได้ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งระบอบประชาธิปไตย  โดยไม่จำต้องใช้วิธีการรัฐประหารแล้วเชิญคนเก่งคนดี (ตามความเห็นของคณะรัฐประหาร) มากอบกู้บ้านเมือง   ถึงแม้คณะผู้บริหารที่สร้างปัญหาจะไม่ยอมยุบสภา หรือลาออกแต่เราก็คงอดทนรออย่างมากที่สุดไม่เกิน     ปี    
         หากสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ โดยฐานะตำแหน่งและ บทบาทหน้าที่ของผู้เขียนคงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะแสดง ออกซึ่งความคิดความเห็นดังที่กล่าวมา  เพราะเป็นเรื่องที่มีคนได้คนเสีย  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองโดยตรง  ซึ่งย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีคนเห็นต่าง และเกิดข้อถกเถียงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   แต่ในภาวะที่ไม่ปกติเหมือนเช่นปัจจุบันผู้เขียนเห็นว่าเวลาเราเหลือน้อยเต็มทีแล้ว  คนไทยทุกคนต้องช่วยกันคิดช่วย กันหาทางออก  เปรียบเสมือนเรือรั่วกำลังจะจม  เราต้องช่วยกันวิดน้ำ ช่วยกันอุดรูรั่วก่อน  จะคิดว่าไม่ใช่กงการอะไรของตัวเองหรือไม่อยากไปก้าวก่ายหน้าที่คนอื่นคงจะไม่ได้  เพราะหาไม่แล้ว ถึงที่สุดเราอาจ จะไม่มีโอกาสแม้กระทั่งการได้ทำหน้าที่หลักของตัวเอง  เพราะเรือได้จมลงสู่ใต้ก้นมหาสมุทรเสียแล้ว  
         ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอฝากมายังประชาชนคนไทยทุกท่านที่ได้อ่าน บทความนี้  ไม่ว่าจะเป็นท่านที่มีอำนาจ มีตำแหน่ง  มีชื่อเสียงบารมีเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคม หรือเป็นประชาชนคนธรรมดาทั่วไปตลอด ทั้งสื่อมวลชนทั้งหลายว่า   หากท่านเห็นด้วยกับหลักการแนวคิดตามความเห็นของผู้เขียนดังกล่าวข้างต้น   ก็ขอได้โปรดช่วยกันหยิบยกไปวิเคราะห์วิจารณ์หรือนำไปถกเถียงต่อยอดแลกเปลี่ยนความคิด ความเห็นระหว่างกัน   เพื่อจะได้ช่วยกันหาหนทางในการแก้ไขปัญหาให้กับชาติบ้านเมืองของพวกเราทุกคนให้พ้นจากวิกฤตอันใหญ่หลวงครั้งนี้ให้ได้ต่อไป  อนึ่ง หากประชาชนคนส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย  ก็ขอภาวนาให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตยด้วยเถิด ขออย่าได้มีการปฏิวัติรัฐประหารกันอีกเลย./                


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับลงวันที่ ๓๐  ธันวาคม ๒๕๕๒
                                                ----------------------------------------

บันทึกเพิ่มเติม 
        หลังจากผู้เขียนส่งบทความลงพิมพ์เผยแพร่แล้ว  ปรากฏว่า  บังเอิญได้อ่านพบงานเขียนของศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์  สมุทวณิช  เรื่อง “ผ่าทางตันการเมืองไทย” ซึ่งเสนอให้มีการเลือกตั้งคณะผู้บริหารประเทศโดยตรงและมีเนื้อหาสาระเชิงวิชาการอย่างแท้จริง รวมทั้งยังชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียโดยละเอียด  ตัวอย่างข้อดีที่น่าสนใจประการหนึ่ง  เช่น  เป็นการแก้ไขปัญหาเรื้อรังของการเมืองไทยที่มีการจัดคณะรัฐบาลตามโควตาของพรรคร่วมรัฐบาล หรือกลุ่มย่อยภายในพรรคภายหลังการเลือกตั้ง โดยเมื่อจัดตั้งคณะรัฐบาลแล้ว ประชาชนไม่ศรัทธาไม่สนับสนุน  ตลอดจนเกิดปัญหาของการต่อรองระหว่างกลุ่มย่อยกับหัวหน้าคณะรัฐบาล ท่านใดสนใจเปิดอ่านได้ที่   http://fpps.or. th/elibrary/download/book32.pdf
         นอกจากนั้น ในเวลาต่อมาหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ หน้า ๑๑ ได้ลงบทสัมภาษณ์ของท่านศาสตราจารย์ศรีราชา  เจริญพาณิช  เกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ซึ่งมีเนื้อหาสาระบางส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นตามข้อเสนอของผู้เขียนด้วย   จึงขอนำบางส่วนบางตอนมาเผยแพร่ต่อ  ดังนี้ คือ
         คำถาม  แล้วมีแนวทางใดที่จะแก้ไขวงจรอุบาทว์ทางการเมืองได้ไหม
        คำตอบ มองตามกรอบรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่า ควรจะเริ่มจาก
        ๑. ควรเขียนให้สั้น กำหนดเฉพาะโครงเรื่องในหลักการต่าง ๆเอาไว้  ส่วนรายละเอียดไปกำหนดในกฎหมายลูก
        ๒. นักการเมืองไม่ควรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันเป็นผู้ยกร่าง เพราะมีแนวโน้มจะร่างบทบัญญัติที่ตอบสนองต่อตัวเองและพวกพ้อง ควรมอบหน้าที่ให้นักวิชาการหรือคนกลางอื่นๆและกำหนดห้ามอดีตส.ส.ร. มาเล่นการเมืองไว้ด้วย
        ๓. ปฏิรูปการเมืองใหม่ในลักษณะแยกอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติให้ชัดเจน คือ คนที่เป็น ส.ส.จะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเดียว ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็ให้ลงสมัครเป็นทีมงานคณะรัฐมนตรีเลย เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาเลือกคนที่เขาเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถให้เข้ามาทำงานได้ เท่ากับว่ารัฐบาลก็จะมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน ซึ่งอาจจะมีข้อรังเกียจเหมือนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช เคยเขียนไว้ว่า เลือกประธานาธิบดีไปแข่งกับในหลวง แต่การปรับเปลี่ยนวิธีการให้ได้มาซึ่งรัฐบาลนี้ก็เพื่อขจัดระบบการเมืองในปัจจุบันที่การให้ตำแหน่งฝ่ายบริหารนั้นเป็นการตอบสนองพวกพ้องมากกว่าส่วนรวม และประเทศก็ได้คนที่มาเป็นรัฐมนตรีมีคุณสมบัติไม่เหมาะกระทรวง ขณะที่ ส.ส.ก็จ้องแต่จะก้าวไปเป็นรัฐมนตรีทำให้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ สำหรับผมเห็นว่าการเป็นส.ส.และรัฐมนตรีในเวลาเดียวกันก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะเมื่อตัวเองเป็นส.ส. ก็ต้องมีหน้าที่ออกกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันก็ไปสวมหมวกเป็นรัฐบาลที่จะออกมาเพื่อประโยชน์แก่ตัวเองอีก การใช้อำนาจ ๒ อย่างในเวลาเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหา
        คำถาม ไม่กลัวถูกมองว่าสนับสนุนระบอบประธานาธิบดีหรือ
        คำตอบ  มันอาจจะคล้ายกัน แต่อยากให้เรียกว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองดีกว่า เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี กรณีสหรัฐอเมริกาลองสังเกตดูว่า การเลือก ส.ส. ของคนอเมริกันมีแนวโน้มว่า เขาจะเลือกผู้สมัครคนละพรรคกับประธานาธิบดี เพื่อให้เกิดการตรวจสอบซึ่งกันและกัน แนวคิดที่ผมอยากเห็นการปฏิรูปการเมืองในลักษณะนี้ก็คงต้องกลับไปทำให้คนไทยฉลาดขึ้น การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องเดินควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมืองใหม่ ผมไม่รู้ว่าถูกหรือผิด แต่ก็คิดเองว่าน่าจะถูกและดีกว่าสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีแต่ความสิ้นหวัง เป็นแผ่นเสียตกร่องซ้ำแล้วซ้ำอีก เรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่มันมุ่งสู่ความฉิบหายแค่ไหน ก็น่าจะมาลองแนวทางใหม่กันบ้าง./   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น