1/05/2555

เหตุขัดข้องในการจัดการหรือแบ่งทรัพย์มรดก

เหตุขัดข้องในการจัดการหรือแบ่งทรัพย์มรดก[1]
                                                                                             โดย...โสต  สุตานันท์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา   ๑๗๑๓  บัญญัติว่า 
       “ ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
                 (๑) เมื่อเจ้ามรดกตาย  ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
                 (๒) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ   หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือ มีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
                 (๓) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
                     การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น  ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม  และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
                    จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว   จะเห็นว่า    ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น  มีเหตุแห่งการยื่นคำร้องอยู่หลายประการ   แต่จากประสบการณ์ในการทำงานของผู้เขียน  พบว่า   ในการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกต่อศาลนั้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์   ผู้ร้องมักอ้างเหตุผลทำนองเดียวกันว่า     ผู้ร้องมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก   เนื่องจากผู้ร้องไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับโอนทรัพย์มรดกแล้ว  เจ้าหน้าที่แจ้งว่า  ต้องไปยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกก่อน  จึงจะดำเนินการให้ได้       ซึ่งเหตุผลที่กล่าวอ้าง ดังกล่าว   ถือเป็นเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๗๑๓ (๒)    และเมื่อถึงวันนัดไต่สวนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะไม่มีบุคคลใดยื่นคำคัดค้านเข้ามา   ศาลก็จะไต่สวนพยานผู้ร้องไปฝ่ายเดียว  ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ร้องก็จะอ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว  โดยจะเบิกความถึงเหตุขัดข้องในการขอจัดการมรดกเพียงลอย ๆเหมือนกับข้ออ้างในคำร้องดังกล่าว  และมักจะนำหนังสือการได้รับความยินยอมจากทายาททุกคนมาแสดงต่อศาลว่า  ไม่มีทายาทคนใดขัดข้องในการที่ผู้ร้องยื่นขอจัดการมรดกต่อศาล   ซึ่งศาลก็จะมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามขอ  
                      จากลักษณะคำร้องขอและกระบวนการไต่สวนคำร้องรวมทั้งการมีคำสั่งของศาลดังกล่าว   มองดูเผิน ๆก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร  เพราะเมื่อศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว    ก็สมประโยชน์ของผู้ร้องและนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อจัดการโอนหรือแบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาทต่อไป  แต่หากคิดดูให้ดีแล้ว  จะเห็นว่ามีผลกระทบที่สำคัญตามมาอยู่  ๒  ประการ  คือ
ประการแรก    มีผลทำให้คดีร้องขอจัดการมรดกขึ้นสู่ศาลจำนวนมาก เพราะเมื่อเจ้ามรดกตาย  หากไม่มีการแบ่งทรัพย์สินให้ทายาทก่อนตาย  ก็จะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกทุกราย  ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า   ในแต่ละวันคดีจัดการมรดกรวมกันทั่วประเทศมีกี่คดี  แต่คิดว่าคงมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว   น่าจะถึงหลักพันคดี เมื่อคิดรวมทั้งปีก็คงเป็นจำนวนกว่าหมื่นคดี  ผลที่ตามมาก็คือ   ศาลต้องมีภาระในการบริหารจัดการคดีดังกล่าว   ต้องสูญเสียเวลา กำลังคนและงบประมาณไปไม่น้อย 
ประการที่สอง    ผู้ร้องต้องเสียค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความให้ดำเนินคดีแทน และต้องเสียเวลาในการไต่สวนอีก ซึ่งหากมองเฉพาะตัวบุคคลคงเป็นเรื่องเล็กน้อย  แต่ถ้ามองในภาพรวมแล้ว  ก็จะเห็นว่า  ประชาชนต้องสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายอย่างมากมาย    นอกจากนั้น  จากการสังเกตของผู้เขียน   พบว่ามีคดีจำนวนมาก ผู้ตายมีทายาทเพียงคนเดียวหรือสองคน    ทรัพย์สินของผู้ตายก็มีที่ดินเพียง  ๑- ๒   งาน  หรือมีทรัพย์สินอื่นเพียงเล็กน้อย       คดีหลายเรื่องจากการสังเกตการแต่งตัวหรือลักษณะการเบิกความของผู้ร้องแล้ว   รู้สึกหดหู่ใจ   เขาลำบากยากจนถึงขนาดนั้น   ทรัพย์สินมีนิดเดียว    ทำไมเขาต้องเสียเวลามาศาล   ทำไมเขาต้องเสียค่าจ้างทนายความเป็นเงินหลายพันบาทเพื่อจัดการทรัพย์สินอันน้อยนิดของเขา
         จากหลักกฎหมาย  ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติและปัญหาผลกระทบดังกล่าว   จึงมีประเด็นที่น่าคิดว่า   คำว่า   เหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมรดก   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๗๑๓(๒)   นั้น  มีขอบเขตความหมายแค่ไหน  เพียงใด  แท้จริงแล้วเหตุผลตามคำร้องดังกล่าวข้างต้น จะถือเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมรดกหรือไม่   ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว  ไม่ปรากฏว่า  เคยมีคดีใดที่วินิจฉัยว่า   การที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานใด  ไม่ยอมจัดการโอนทรัพย์มรดกให้ทายาทเจ้ามรดก  เป็นเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๗๑๓ (๒)    จึงได้ไปศึกษาค้นคว้าระเบียบกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย  ๓  หน่วยงาน  คือ   กรมที่ดิน   กรมการขนส่งทางบก และธนาคารต่าง ๆ   ผลการศึกษาพอจะสรุปได้ดังนี้  คือ
๑. กรมที่ดิน  -  มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  คือ 
        ๑.)  ประมวลกฎหมายที่ดิน  มาตรา  ๘๑  บัญญัติว่า  การขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกให้ผู้ได้รับมรดกนำหลักฐานสำหรับที่ดิน หรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐานในการได้รับมรดก   มายื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่กับบุคคลอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวนั้นได้
                เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐาน   และเชื่อได้ว่าผู้ขอเป็นทายาทแล้ว ให้ประกาศโดยทำเป็นหนังสือปิดไว้ในที่เปิดเผยมีกำหนดสามสิบวัน ณ สำนักงานที่ดิน เขตหรือที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอท้องที่  สำนักงานเทศบาล
ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่ซึ่งที่ดิน
ตั้งอยู่และบริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือส่ง
ประกาศดังกล่าว  ให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็นทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถจะทำ
ได้หากไม่มีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกโต้แย้งภายในกำหนดเวลาที่ประกาศและมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับมรดกแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานมีสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
                ในกรณีที่ทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกโต้แย้ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนคู่กรณีและเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ หรือสั่งให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบถ้าเปรียบเทียบไม่ตกลงให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งการไปตามที่เห็นสมควร
                 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งประการใดแล้ว  ให้แจ้งให้คู่กรณีทราบ   และให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องต่อศาล  ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากผู้นั้นมิได้ฟ้องต่อศาลและนำหนักฐานมายื่นฟ้องพร้อมสำเนาคำฟ้องเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับมรดกมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้ดำเนินการไปตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่ง
                 ในกรณีที่ทายาทได้ยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามความในวรรคสี่หรือทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกได้ฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับมรดกต่อศาลก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการได้มาโดยทางมรดก เมื่อผู้นั้นนำหลักฐานการยื่นฟ้องสำเนาคำฟ้องแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้พนักงาน
เจ้าหน้าที่ระงับการจดทะเบียนไว้ เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดประการใดก็ให้ดำเนินการไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น       

 ๒.)   กฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔  (พ.ศ. ๒๕๑๖)
-  ข้อ ๓   บัญญัติว่า   มรดกไม่มีพินัยกรรม  ให้พนักงาน
เจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐานและพิจารณาการเป็นทายาท   สิทธิในการรับมรดก และวันตายของเจ้ามรดก  โดยให้ผู้ขอแสดงบัญชีเครือญาติและหลักฐานอื่นประกอบด้วย
-  ข้อ ๔   บัญญัติว่า  การจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับ
อสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกไม่มีพินัยกรรม  และมีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกหลายคน  นอกจากจะต้องดำเนินการตามข้อ ๓  แล้ว  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ในกรณีที่ทายาทบางคนมาขอจดทะเบียนรับมรดกตามสิทธิ
ของตนหรือขอให้ลงชื่อทายาทอื่นที่มีสิทธิได้รับมรดกทุกคนตามที่ผู้ขอแสดงไว้ในบัญชีเครือญาติ  เมื่อไม่มีผู้โต้แย้งภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย
(๒)  ในกรณีที่ทายาทบางคนมาขอจดทะเบียนรับมรดกทั้งหมด 
ถ้าผู้ขอนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคำยินยอม หรือนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้นมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ ให้พนักงานเจ้าที่จดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้ขอไม่สามารถนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคำยินยอม  หรือไม่สามารถนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้นมาแสดงต่อพนักงานเจ้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศได้ ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยกคำขอเสีย
๒. กรมการขนส่งทางบก  - มีระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง  คือ
        ๑.)  ระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์  พ.ศ. ๒๕๓๑  ข้อ  ๓๖  ความว่า    การโอนรถโดยการรับมรดกที่ไม่มีพินัยกรรมและไม่มีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก  เมื่อได้รับคำขอโอนรถตามข้อ ๓๔  และตรวจสอบหลักฐานประกอบคำขอถูกต้องแล้ว  ให้ดำเนินการดังนี้
 (๑) ตรวจสอบรถ
             (๒) จัดทำหนังสือไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือพนักงานสอบสวนท้องที่ตามภูมิลำเนาของเจ้ามรดก  เพื่อขอความร่วมมือให้สอบปากคำบรรดาทายาทของเจ้ามรดก  พร้อมทั้งขอให้ดำเนินการประกาศรับโอนมรดกนั้นด้วย
            ถ้าปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่อาจดำเนินการสอบปากคำบรรดาทายาทและประกาศรับมรดกตามที่ขอความร่วมมือไปได้  ให้นายทะเบียนแจ้งให้ผู้รับโอนนั้นยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก  แล้วนำคำสั่งศาลมาเป็นหลักฐานประกอบการโอนรถ  โดยให้ดำเนินการเช่นเดียวกับการโอนรถโดยศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามข้อ ๓๔(๔)
            (๓)  เมื่อได้รับแจ้งผลการดำเนินการตาม (๒)  วรรคแรกแล้วให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมคำขอและค่าธรรมเนียมการโอนรถ
            (๔)  บันทึกรายการโอนในทะเบียนรถและใบคู่มือจดทะเบียนรถเสนอนายทะเบียนลงนาม
      ๒.)  หนังสือบันทึกข้อความ ที่ คค ๐๓๐๒ / ว.๒๐  ลงวันที่ ๑๐  กันยายน  ๒๕๒๕  และ ที่  คค  ๐๓๑๐ / ว.๒๕  ลงวันที่  ๒๙  มีนาคม   ๒๕๓๓   ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการโอนรถโดยการรับมรดกที่ไม่มีพินัยกรรมและไม่มีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ไว้ดังนี้  คือ
            (๑)  ให้ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกและต้องการรับโอนรถ  ยื่นคำขอโอนและรับโอนต่อนายทะเบียน  พร้อมเอกสารประกอบคำขอ  จากนั้นนายทะเบียนจะตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น  หากเห็นว่าถูกต้องจะมีหนังสือส่งไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง  ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต หรือพนักงานสอบสวนแห่งที่ที่ผู้ตายมีภูมิลำเนา  เพื่อขอความร่วมมือให้สอบปากคำทายาทและดำเนินการประกาศการรับโอนมรดก  เพื่อเปิดโอกาสให้ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถโต้แย้งหรือคัดค้าน  โดยกำหนดเวลาให้  ๓๐  วัน   
            (๒)   กรณีไม่มีบุคคลใดโต้แย้งหรือคัดค้านก็ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการโอนมรดกให้ทายาทตามคำขอต่อไป   แต่หากมีคนคัดค้านและไม่สามารถตกลงกันได้  หรือเจ้าหน้าที่ไม่อาจดำเนินการสอบปากคำบรรดาทายาทได้  ให้นายทะเบียนแจ้งให้ผู้รับโอนนั้นยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก  แล้วนำคำสั่งศาลมาเป็นหลักฐานประกอบการโอนรถ 
    ๓. ธนาคาร   จากการที่ผู้เขียนได้สอบถามข้อมูลไปยังธนาคารในต่างจังหวัดหลายแห่ง  ได้รับคำตอบทำนองเดียวกันว่า    สำนักงานใหญ่ไม่ได้ออกระเบียบหรือกำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีที่เจ้าของบัญชีเงินฝากเสียชีวิตและทายาทไปขอถอนเงินไว้อย่างชัดเจน  โดยจะกำหนดแนวทางไว้กว้าง ๆทำนองว่า  ให้เป็นดุลยพินิจของผู้จัดการธนาคารแต่ละแห่งว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร   ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีวิธีปฏิบัติคือ  กรณีเงินฝากมีจำนวนไม่มากนัก ( โดยเฉลี่ยไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ) ก็จะให้ทายาทของผู้ตายทุกคนไปที่ธนาคารและทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ หรือบางครั้งก็อาจขอความร่วมมือให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันไปเป็นพยานด้วย   แต่หากเงินฝากมีจำนวนมาก  ก็จะแนะนำให้ทายาทไปยื่นขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกก่อน  เว้นแต่ รายใดที่ผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่ธนาคารรู้จักเป็นการส่วนตัวและเห็นว่า ไม่น่าจะมีปัญหาใด ก็จะผ่อนผันอนุโลมให้ถอนเงินไปได้
        จากข้อระเบียบกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของทั้ง ๓  หน่วยงานดังกล่าว  จะเห็นว่า   กรณีกรมที่ดินกับกรมการขนส่งทางบกนั้น  ได้มีการกำหนดขั้นตอนแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน   ดังนั้น  หากทายาทผู้ตายไปติดต่อขอรับโอนทรัพย์มรดก  เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่กำหนด  ซึ่งทั้งสองกรมมีหลักการแนวทางทำนองเดียวกัน  คือ  จัดให้มีการประกาศการขอรับโอนมรดกก่อน  หากไม่มีบุคคลใดโต้แย้งคัดค้านก็จะต้องดำเนินการโอนมรดกให้ทายาทตามที่เขาขอมา  แต่หากมีคนคัดค้าน  เจ้าหน้าที่ต้องทำการตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริง  ถ้าคำคัดค้านฟังไม่ขึ้นอย่างชัดเจนก็อาจตัดสินใจโอนทรัพย์มรดกให้ทายาทไป  แต่หากยังไม่ชัดเจนก็ต้องยกคำขอและแนะนำให้ทายาทไปยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก   เจ้าหน้าที่ไม่น่าจะมีสิทธิปฏิเสธไม่ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้  
          อย่างไรก็ตาม  ก็ไม่ได้หมายความว่า  ทายาทผู้ตายจะต้องไปยื่นขอรับโอนมรดกจากหน่วยงานดังกล่าวก่อนทุกกรณี   ต่อเมื่อมีคนคัดค้านจึงไปยื่นขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเป็นลำดับขั้นตอนไป  แต่ทายาทอาจเลือกที่จะไปยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกก่อน จากนั้น จึงนำคำสั่งศาลไปขอรับโอนทรัพย์มรดกก็ได้  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น  ในการยื่นคำร้องต่อศาลนั้น   จะต้องมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกอย่างแท้จริง    เช่น   ทายาทไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะแบ่งทรัพย์มรดกให้ใครบ้าง จำนวนเท่าไหร่  หรือทรัพย์มรดกมีจำนวนมาก มีทั้งสิทธิเรียกร้องและหนี้สิน หรือ มีเหตุอื่นใดที่ทำให้การจัดแบ่งมรดกมีความยุ่งยากซับซ้อน  เป็นต้น  จะอ้างเหตุผลเพียงว่า  เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้ไม่ได้ 
           สำหรับธนาคารนั้น  แม้จะไม่มีแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน  แต่โดยหลักแล้ว   หากทายาทเจ้ามรดกสามารถตกลงกันได้และมีพยานหลักฐานชัดเจนว่า ไม่มีการปกปิดตัวทายาท  ก็น่าจะยินยอมให้ถอนเงินฝากไปได้ไม่ว่าจะเป็นเงินจำนวนเท่าใดก็ตาม   โดยอาจกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม  เช่น     ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  มีหนังสือแจ้งให้ทายาททุกคนทราบหรือ อาจจัดให้มีการปิดประกาศโดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากทายาทเจ้ามรดก  เป็นต้น 
              อาจมีข้อโต้แย้งว่า   หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้ว   ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในภายหลังก็ไม่พ้นศาลอยู่ดี    แต่ผู้เขียนก็เห็นว่า    เราต้องตั้งข้อสันนิษฐานว่า   ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนดี  คนที่มีเจตนาทุจริตคิดจะโกงญาติพี่น้องเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย  เมื่อคนส่วนใหญ่กว่า  ๙๐  เปอร์เซ็นต์  ไม่มีปัญหา    แล้วทำไมเราจะต้องนำหลักการหรือวิธีปฏิบัติที่ระแวงคนส่วนน้อยไม่กี่คนที่มีปัญหา   มาบังคับใช้กับคนส่วนใหญ่ให้ได้รับความเดือดร้อนเล่า    เราน่าจะสร้างกฎกติกาเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ก่อน   ส่วนคนส่วนน้อยที่มีปัญหา  เราก็ค่อยหยิบยกขึ้นมาว่ากันเป็นราย ๆไป
            กล่าวโดยสรุป   ผู้เขียนเห็นว่า   คำร้องขอจัดการมรดกที่อ้างเหตุผลเพียงว่า   ผู้ร้องไปติดต่อขอรับโอนทรัพย์มรดกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว   เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้นั้น   ไม่น่าจะถือว่า  เป็นเหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมรดก  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๗๑๓ (๒)    หากมีการยื่นคำร้องในลักษณะดังกล่าว  ศาลน่าจะมีคำสั่งไม่รับคำร้อง   ซึ่งจะมีผลทำให้เป็นการลดงาน  ลดเวลา และภาระค่าใช้จ่ายของศาลได้มากมาย  อีกทั้ง  ยังจะเป็นการช่วยเหลือดูแลประชาชนผู้ยากไร้ได้มากเลยทีเดียว    อย่างไรก็ตาม  เพื่อความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานของศาล และเพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง   เพราะหากศาลหรือผู้พิพากษาทั้งหลายปฏิบัติแตกต่างกัน  แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนกลับจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นไปอีก   เนื่องจากเมื่อประชาชนไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ ครั้นเมื่อไปขอพึ่งศาลแล้วศาลก็ปฏิเสธอีก   ประชาชนก็คงเคว้งคว้างไม่รู้จะทำอย่างไร
            ผู้เขียนจึงเห็นว่า  ศาลยุติธรรมน่าจะสร้างมาตรการแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ   ด้วยการออกเป็นระเบียบประธานศาลฎีกา  ว่าด้วยหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับฟ้องคดีจัดการมรดก   โดยอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  ๕  กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการรับฟ้องทำนองว่า    ผู้ร้องต้องระบุเหตุผลในคำร้องให้ชัดเจนว่า    มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกหรือในการแบ่งมรดกอย่างไร  แบ่งมรดกกันไม่ได้เพราะสาเหตุใด     หรือทายาทคนไหนที่มีปัญหา   ก็ระบุชื่อให้ชัดเจนว่า  เป็นใคร   มีปัญหาอย่างไร     
             อาจมีข้อโต้แย้งว่า   การออกระเบียบในลักษณะดังกล่าว  จะเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาหรือไม่  เพราะรัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๒๔๙  บัญญัติว่า  การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษา และ ตุลาการ  ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น   ปัญหานี้  ผู้เขียนเห็นว่า    รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว  น่าจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันผู้บริหารมิให้ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเรื่องเฉพาะคดีมากกว่า   กรณีการออกคำสั่งหรือแนวทางปฏิบัติในเรื่องใดที่ออกมาเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับทุกคนกับทุกคดี  เพื่อประโยชน์ของทางราชการโดยส่วนรวม   น่าจะเป็นเรื่องอำนาจทางการบริหารซึ่งผู้บริหารสามารถทำได้  
             ซึ่งที่ผ่านมาศาลยุติธรรมก็เคยออกระเบียบกำหนดแนวทางปฏิบัติในส่วนที่คาบเกี่ยวกับงานด้านคดีความหลายเรื่อง  เป็นต้นว่า   ระเบียบเกี่ยวกับการขอปล่อยชั่วคราว    ระเบียบเกี่ยวกับการออกหมายค้น  หมายจับ หรือหมายขัง   ระเบียบว่าด้วยแนวปฏิบัติในการนั่งพิจารณาคดีต่อเนื่อง  หรือ แม้กระทั่งศาลต่าง ๆทุกศาลผู้บริหารจะกำหนดบัญชีอัตราโทษ (ยี่ต๊อก)  ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้พิพากษาในการพิพากษาตัดสินคดี    ดังนั้น  การออกระเบียบตามที่ผู้เขียนเสนอดังกล่าว   จึงเป็นการใช้อำนาจในทางบริหารของประธานศาลฎีกาโดยมีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้อง   ไม่น่าจะเป็นเรื่องของการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาแต่อย่างใด  
              ปัญหาว่า  หากประชาชนไปยื่นขอรับโอนทรัพย์มรดกโดยไม่ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกก่อน  แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิเสธไม่ดำเนินการให้  จะทำอย่างไร   ผู้เขียนเห็นว่า  หากหน่วยงานนั้นเป็นหน่วยงานราชการ   ประชาชนย่อมสามารถไปพึ่งศาลปกครองได้  เพราะกรณีต้องถือว่า เป็นคำสั่งในทางปกครอง  ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. ๒๕๔๒  มาตรา  ๙     
             อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นห่วงกันว่า    ถ้าศาลปฏิเสธไม่รับคำร้องแทนที่จะเป็นการช่วยเหลือประชาชน   อาจจะส่งผลทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นกว่าเดิมอีกก็เป็นได้นั้น   เรื่องนี้  ผู้เขียนมีความเห็นว่า   สังคมในยุคปัจจุบัน  ประชาชนมีความรู้และการศึกษาดีขึ้น  อีกทั้งยังมีหน่วยงานของรัฐรวมทั้งองค์กรเอกชนต่าง ๆอีกมากมาย   ที่คอยควบคุม สอดส่องหรือตรวจสอบถ่วงดุลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ   ดังนั้น  จึงเชื่อว่า   ปัญหาในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในทำนองเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากประชาชนนั้น   สภาพการณ์ไม่น่าจะเลวร้ายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา   หรือหากจะยังมีอยู่   ผู้เขียนก็เห็นว่า   การแก้ไขปัญหาของสังคมนั้น   ต้องเน้นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวเป็นสำคัญ    โดยต้องยึดถือระเบียบกฎหมายอันเป็นกฎกติกาของสังคมเป็นแนวปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างเคร่งครัด    หากมีอุปสรรคปัญหาใด ๆเกิดขึ้น   ก็คงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอันที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่ยืดหยุ่นเกินไปนั้น  แม้จะมีจิตมีเจตนาที่ดี  แต่หากมองปัญหาภาพรวมในระยะยาวแล้ว   ผู้เขียนเห็นว่า  น่าจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี  อีกทั้งยังน่าจะเป็นการขัดขวางกระบวนการในการพัฒนาการของสังคมอีกด้วย./


[1] วารสารกฎหมาย มสธ. ปีที่  ๑๘ ฉบับที่ ๑  มิถุนายน  ๒๕๔๙นิตยสารบทบัณฑิตย์ เล่ม  ๖๒  ตอน ๒ มิถุนายน  ๒๕๔๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น