1/04/2555

ทางเลือกในการสรรหาคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ( ก.ต. )


ทางเลือกในการสรรหาคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ( .. )[1]
                                                                          โดย...โสต  สุตานันท์
           
            สืบเนื่องจากผู้เขียนได้อ่านบทความเรื่อง   ความคิดเห็นของผู้พิพากษาไทยกับทางเลือกในการสรรหาคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม  (..)  “  ในนิตยสาร  ดุลพาห  เล่ม ๒  ปีที่  ๕๐  พฤษภาคม สิงหาคม ๒๕๔๖   และเล่ม ๓  ปีที่  ๕๐   กันยายน ธันวาคม ๒๕๔๖   ซึ่งเขียนโดย   ท่านอินทิรา   ฉิวรัมย์     ในฐานะผู้พิพากษาคนหนึ่งซึ่งมีส่วนได้เสีย   จึงขอร่วมวงเสวนาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องดังกล่าวด้วยคนหนึ่ง   เผื่อว่าความเห็นของผู้เขียนอาจจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมบ้าง   อย่างน้อยที่สุดก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความคิดความเห็นของผู้เขียนจะมีส่วนช่วยก่อให้เกิดแนวความคิด  ความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย  อันจะนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงระบบหรือขั้นตอนวิธีการในการสรรหา  ก.ในอนาคต   ให้มีรูปแบบที่ดีที่สุด   เหมาะสมที่สุด  เป็นที่ยอมรับของทุกคนทุกฝ่ายต่อไป
             ก่อนอื่นต้องขอเรียนผู้อ่านในเบื้องต้นก่อนว่า   ผู้เขียนเป็นผู้พิพากษาธรรมดา ๆคนหนึ่ง   ไม่เคยมีเกียรติประวัติดีเด่นอะไร   ไม่ว่าจะด้านการศึกษาหรือด้านอื่นใด   ทั้งไม่ได้เรียนจบปริญญาโทหรือปริญญาเอกไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ   หากจะเปรียบเทียบ  บทความนี้คงเป็นการนำเสนอในรูปแบบทำนองภูมิปัญญาชาวบ้านมากกว่า      พูดถึงเรื่องการศึกษา  ผู้เขียนขออนุญาตนอกเรื่องสักเล็กน้อย   เนื่องจากก่อนเข้ามาเป็นผู้พิพากษา   ผู้เขียนเคยรับราชการมาแล้ว  ๓  กระทรวง  โดยส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในส่วนภูมิภาค   จากการสังเกตระบบราชการไทยมักจะมีปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง  คือ     ข้าราชการที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายหรือมีส่วนร่วมในการวางแผนงาน โครงการเรื่องต่าง  ๆส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่เรียนจบสูง ๆระดับปริญญาโท ปริญญาเอก  หลายคนจบจากต่างประเทศ     ปรากฏว่านโยบาย หรือแผนงานโครงการ   ต่าง ๆที่ท่านคิดขึ้นมามักจะมีต้นแบบหรือแบบอย่างมาจากต่างประเทศ  ซึ่งเมื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติแล้ว  หลายเรื่องก่อให้เกิดปัญหา   
               จากประสบการณ์ที่ผ่านมา   เกือบทุกหน่วยงาน   สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังประจำก็คือ   เสียงบ่นจากข้าราชที่อยู่ในส่วนของภาคปฏิบัติ   อาทิ เช่น   “  มันทำตามแผนไม่ได้   เรายังไม่พร้อม   มันไม่เหมาะสมกับนิสัยคนไทย    มันไม่สอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมสังคมไทย   ผู้เขียนแผนไม่รู้ซึ้งถึงรากเหง้าแห่งปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทย ของข้าราชการไทย   ฯลฯ  ”     ท้ายที่สุดโครงการนั้นก็ล้มเหลวหรือได้ผลไม่สมบูรณ์เต็มเม็ดเต็มหน่วย   เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว   ผู้เขียนมีตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ    ตอนเรียนจบเนติบัณฑิตใหม่ ๆผู้เขียนรู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก     คิดว่าบัดนี้เราเป็น    นักกฎหมาย    เต็มตัวแล้ว  แต่ปรากฏว่า  อีกไม่กี่วันต่อมา   หลังจากผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเลี้ยง  สโมสรสันนิบาต “    ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจัดขึ้น    ความรู้สึกที่ว่า เราเป็นนักกฎหมายเต็มตัวแล้ว  เริ่มคลอนแคลน หวั่นไหว  ไม่ค่อยจะมั่นใจในตัวเองอีกต่อไป   เหตุผลเพราะว่า  งานวันนั้นมีการเลี้ยงอาหารฝรั่ง   เท่าที่สังเกตเพื่อน ๆที่นั่งร่วมโต๊ะเดียวกันประมาณ  ๑๐  คน  น่าจะไม่มีใครเคยกินอาหารฝรั่งชนิดเต็มรูปแบบ   มีอุปกรณ์ครบชุดมาก่อน  แน่นอนรวมทั้งผู้เขียนด้วย    ทั้งมีด ทั้งช้อน  ทั้งซ่อมวางเต็มไปหมด   ผู้เขียนคิดว่า งานเลี้ยงดังกล่าวคงมีเนติบัณฑิตหลายคนที่มีความรู้สึกเช่นเดียวกับผู้เขียน คือ  การกินอาหารมื้อนั้น เป็นการกินที่ยุ่งยากที่สุดและไม่อร่อยที่สุดในชีวิต    แต่ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่า  จะมีใครคิดมากเหมือนผู้เขียนหรือเปล่า   หลังจากงานเลี้ยงเลิก   ผู้เขียนถามตัวเองว่า   เอ๊ะนี่เราเป็น  นักกฎหมาย  หรือ   นักลอกเลียนแบบ ”  กันแน่   ประมวลกฎหมายต่าง  ๆเราก็ลอกเขามา  ตำรับตำราหลายเล่มแปลมาจากภาษาต่างประเทศ   ปรมาจารย์ด้านกฎหมายที่สอนเราหลายท่านก็เรียนจบมาจากต่างประเทศ   จุดประสงค์ในการจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภารวมทั้งรูปแบบการจัดงานเลี้ยงสโมสรสันนิบาต  เราก็เลียนแบบมาจากอังกฤษ   แม้กระทั่งอาหารบนโต๊ะเราก็เลียนแบบเขา   แล้วมีอะไรที่เป็นของเราบ้างนี่  
            ด้วยความเคารพและด้วยความเกรงใจเป็นอย่างสูง   ผู้เขียนไม่เห็นด้วยที่เราเลี้ยงอาหารฝรั่งในงานดังกล่าว     ผู้เขียนคิดว่าเราเป็นคนไทยเราต้องภูมิใจในความเป็นไทย    ต้องภูมิใจในชาติกำเนิด  ภูมิใจในบรรพบุรุษ    อาหารไทยมีรสชาดอร่อยโด่งดังไปทั่วโลก   ในงานที่สำคัญต่อชีวิตนักกฎหมายอย่างนั้น   ทำไมเราต้องไปกินอาหารฝรั่ง   จะอ้างว่า  เพื่อฝึกให้เนติบัณฑิตเข้าร่วมงานในสังคมชั้นสูงได้  ก็เป็นเหตุผลที่บางเบาไร้น้ำหนักเหลือเกิน   ที่สำคัญสถานการณ์อย่างนั้น   ไม่น่าจะใช่เวลาที่เราจะมาฝึกอะไรกัน   หากใครคิดจะฝึก  มีเวลา  มีสถานที่ที่จะให้ฝึกในภายหลังมากมาย    ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง  พิธีการหรือการกระทำใด ๆอาจเหมาะสมกับยุคสมัยนั้น ๆ  แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป  สถานการณ์เปลี่ยนไป  บางสิ่งบางอย่างอาจไม่เหมาะสมที่จะยึดถือเป็นแนวปฏิบัติอีกต่อไป    
             จากตัวอย่างในจุดเล็ก ๆดังกล่าว   โดยเนื้อหาสาระคงไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร  แต่หากคิดให้ลึกซึ้ง ผู้เขียนเห็นว่า   มันเป็นอุทาหรณ์ที่สะท้อนให้เห็นภาพของวิธีคิดและสะท้อนให้เห็นถึงเหตุแห่งปัญหาของสังคมไทยในหลาย ๆเรื่องได้ดีเลยทีเดียว      ผู้อ่านลองหลับตานึกดูภาพในเรื่องอื่น ๆดูซิ   เรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ   ศาลปกครอง   องค์กรอิสระต่าง ๆ   การพิจารณาคดีต่อเนื่อง  ฯลฯ     หรือแม้แต่เรื่องการสรรหา  ก.ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผู้เขียนจะแสดงความคิดเห็นต่อไปในบทความนี้     ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า    ความรู้  ความก้าวหน้าทางวิทยาการหรือเทคโนโลยีด้านต่าง ๆของต่างประเทศหลายเรื่อง   เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์   เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้จากเขา   แต่บางสิ่งบางอย่างมันไม่จำเป็น  เราก็ไม่น่าจะเอามา   เราน่าจะพยายามรักษาความเป็นเอกลักษณ์  รักษาจิตวิญญาณของเราให้คงไว้   หากจำเป็นต้องเอาของเขามา  ก็ไม่ใช่เอามาทั้งดุ้น   เราต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง  ๆของสังคมบ้านเรา  
                  จริง ๆแล้วคงไม่มีใครผิดใครถูกหรอก   เพราะประสบการณ์ในการเรียนรู้  ในการดำเนินชีวิต  ในการแก้ไขปัญหา ของแต่ละคนมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน    ในมุมมองของผู้เขียน  วิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดน่าจะได้แก่  การพยายามสร้างระบบร่วมกันคิดร่วมกันทำที่มีประสิทธิภาพในระหว่างผู้กำหนดนโยบายกับผู้ปฏิบัติ   โดยต้องพยายามดึงเอาพลังสมองพลังปัญญาของบุคลากรทั้งหมดที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด   และที่สำคัญต้องพยายามสร้างระบบการตัดสินใจที่ชัดเจนแน่นอนภายใต้หลัก    ธรรมาภิบาล      ผสมผสานกับหลักการพื้นฐานของคำว่า    “  ประชาธิปไตย  ”     (ในความหมายและขอบเขตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย)

                           ออกนอกเรื่องไปเสียยาว   ขออนุญาตวกกลับมาพูดถึงเรื่องการสรรหา ก.. นะครับ    ในเบื้องต้นผู้เขียนขอแสดงทรรศนะก่อนว่า     ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีสองด้านเสมอ     คือ  มีทั้งข้อดีและข้อเสีย   ไม่มีอะไรที่ดีโดยไม่มีเสียและไม่มีอะไรเสียโดยไม่มีดี    แน่นอนว่าที่มาของ ก.. นั้น   ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง   เป็นโดยตำแหน่ง หรือมาจากการแต่งตั้ง ก็มีทั้งผลดีและผลเสีย  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไขหลายประการ  ซึ่งผู้เขียนขอไม่แสดงความเห็นในรายละเอียด ณ ที่นี้     จากหลักสัจธรรมดังกล่าว    ทำให้ผู้เขียนคิดถึงคำว่า               ทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา    แนวคิดของผู้เขียนก็คือ   เราจะนำรูปแบบวิธีการในการสรรหา  ก.แต่ละแบบมาผสมกลมกลืนกันอย่างไร  ให้เหมาะสมที่สุด  ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และมีข้อเสียน้อยที่สุด  เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่  สำหรับ ก.. ที่เป็นโดยตำแหน่ง  ๑   คน คือ ท่านประธานศาลฎีกา  และ ก..ที่มาจากการแต่งตั้งอีก ๒  คน  คือ  ผู้ทรงคุณวุฒิที่วุฒิสภาเป็นผู้เลือกนั้น    ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเหมาะสมแล้ว  ทั้งที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยปรากฏว่ามีประเด็นปัญหาต่อสาธารณชน   จึงไม่ขอแสดงความคิดเห็น    ที่มาของ  ก.. ที่ผู้เขียนอยากจะเสนอความคิดเห็นก็คือ   ก..ที่มาจากการเลือกตั้ง  ซึ่งเป็นที่สนใจวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมขณะนี้   ไม่ว่าจะในแวดวงสำนักงานศาลยุติธรรมเองหรือสังคมภายนอก
จากประสบการณ์ที่ได้พบและเคยได้ยินได้ฟังมา  รวมทั้งจากการอ่านผลการศึกษาวิจัยของท่าน     อินทิรา  ฉิวรัมภ์    พอจะสรุปสภาพปัญหาหลัก ๆของระบบการสรรหา  ก.ที่มาจากการเลือกตั้ง ในปัจจุบัน  ดังนี้   คือ
เนื่องจากปัจจุบันผู้พิพากษามีจำนวนมากกว่า  ๓,๐๐๐  คน  ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกไม่รู้จักผู้ที่มีสิทธิได้รับเลือกดีพอ   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว  ประวัติการทำงาน  นิสัย  ความประพฤติ  ตลอดจนคุณสมบัติด้านอื่น ๆ
เนื่องจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีจำนวนมากที่สุด   จึงเป็นเสียงชี้ขาดว่าใครจะได้รับเลือกเป็น  ก..   ซึ่งจากสภาพปัญหาตามข้อ ๑    จึงเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการ  “ บล็อกโหวต    หรือการจัดตั้งฐานเสียงขึ้น  ผลก็คือ  คนที่มีโอกาสได้รับเลือกอาจเป็น  นักเลือกตั้ง”  ไม่ใช่นักบริหารที่แท้จริง
การหาเสียงของผู้มีสิทธิได้รับเลือก  เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม  ขัดกับวัฒนธรรมองค์กร  ขัดกับประเพณีปฏิบัติของผู้พิพากษา   ทั้งยังเป็นบ่อเกิดของระบบอุปถัมภ์    ระบบบุญคุณต้องทดแทน    จะคิดจะตัดสินใจอะไรก็จะคำนึงถึงฐานเสียงของตัวเองก่อน
ก่อให้เกิดปัญหา   ผู้อาวุโสน้อยปกครองผู้อาวุโสมาก
          ผู้เขียนเห็นว่า     การเมืองเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากสังคมมนุษย์      มีมนุษย์ที่ไหนก็มีการเมืองที่นั่น    มันเป็นธรรมชาติ   เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการประสานผลประโยชน์   เป็นการจัดระเบียบสังคมให้มนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข และมันเป็นสัญชาติญาณของการเอาตัวรอดของสัตว์โลก    โดยเฉพาะสังคมที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย    จะเห็นภาพของการเมืองอย่างชัดเจน     ในทรรศนะของผู้เขียน   คำว่า  “  การเมือง      นั้น    ในมุมมองของคนในสังคมที่มีระดับการพัฒนาการทางจิตใจและปัญญาสูง  การเมืองจะมีความหมายในทางบวก     คือ   หมายถึง   การพยายามจัดสรรผลประโยชน์ในทุก ๆด้าน ทุก ๆเรื่อง ให้แก่ทุกคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมให้มากที่สุด   การตัดสินใจในเรื่องต่าง  ๆจึงต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียของทุกคนในสังคม    ไม่ใช่เน้นหนักเฉพาะเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือกลุ่มของตนเอง  หากเรื่องใดแม้ตนเองจะต้องเสียแต่ถ้าเกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมก็จำเป็นต้องยอมเสีย    หากยึดหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด   สุดท้ายทุกคนในสังคมก็จะได้มากกว่าเสีย   สังคมย่อมมีแต่ความสงบสุข  
            แต่ในทางตรงกันข้าม  ในมุมมองของคนในสังคมที่มีระดับพัฒนาการทางจิตใจและปัญญาไม่ดีเท่าที่ควร      ความหมายของคำว่า การเมือง จะเป็นไปในทางลบ   กล่าวคือ   หมายถึง  การพยายามแก่งแย่งแข่งขัน  พยายามช่วงชิงผลประโยชน์ให้ตนเองหรือกลุ่มของตนเองให้มากที่สุด  โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบหรือความเดือดร้อนของคนอื่น  ซึ่งเมื่อต่างคนต่างแย่งชิงเอาเปรียบกัน   ก็เป็นธรรมดาที่การแก่งแย่งแข่งขันย่อมรุนแรงขึ้นเรื่อย  ๆ   สุดท้ายทุกคนในสังคมก็จะเสียมากกว่าได้   สังคมย่อมมีแต่ความวุ่นวาย   ไม่สงบสุข    แน่นอนว่า  การเมือง “  ที่ทุกคนทุกสังคมปรารถนา คือ การเมืองที่มีความหมายในทางบวก   แต่ปัญหาก็คือว่า   ขณะที่ทุกคนประสงค์ให้การเมืองมีความหมายในเชิงบวกในเชิงสร้างสรรค์   แต่บางครั้ง บางเวลา  บางคนกลับพยายามประพฤติปฏิบัติในทางที่ก่อให้เกิดผลตรงกันข้าม
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า    “  ในบ้านเมืองนั้น   มีทั้งคนดีและคนไม่ดี   ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด   การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุข  เรียบร้อย  จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี  หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี  ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง  และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ   ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้         จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว     ผู้เขียนเห็นว่า   แม้  ระบบ”   กับ  ตัวบุคคล”   จะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  แต่การมีระบบที่ดีย่อมเป็นหลักประกันในเบื้องต้นว่า   จะช่วยส่งเสริมให้คนดีได้มีโอกาสเข้าไปบริหารบ้านเมืองในทุกระดับชั้นมากขึ้น     
                สำหรับระบบการสรรหา  ก.. ที่มาจากการเลือกตั้งในปัจจุบันนั้น     แม้กฎหมายจะบังคับใช้ได้ไม่นานนัก    แต่จากผลการศึกษาวิจัยของท่านอินทิรา   ฉิวรัมภ์   จะเห็นว่า   มีอุปสรรคปัญหาและข้อบกพร่องหลายประการด้วยกัน   ปัญหาบางเรื่องที่เกิดขึ้น   ดูเผิน ๆเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย   แต่ถ้าคิดดูให้ดี  คิดให้ลึกซึ้ง   จะเห็นว่ามันเป็นสัญญาณ่งบอกถึงปัญหาใหญ่หลวงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกไม่ช้า    ผู้เขียนจึงเห็นว่า   สำนักงานศาลยุติธรรมน่าจะทำการศึกษาและวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างจริงจัง  เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยมีพระราชดำรัสอีกตอนหนึ่งว่า   “……การดำรงรักษาชาติประเทศนั้น  มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ  หากแต่เป็นหน้าที่ของทุก  ๆฝ่าย  ทุก ๆคน  ที่จักต้องร่วมมือกระทำพร้อมกันไป  โดยสอดคล้องกัน   เกื้อกูลกัน และมีจุดมุ่งหมาย  มีอุดมคติร่วมกัน…….”   ( จากหนังสือ    แนวทางการปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาท  ”   ซึ่งกระทรวงการคลังจัดทำขึ้น  เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ  ๖  รอบ   ๕  ธันวาคม  ๒๖๕๔๒ )     ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอระบบและหลักเกณฑ์วิธีการในการสรรหา  ก.ที่มาจากการเลือกตั้งดังนี้   คือ

ผู้มีสิทธิเลือก  ก..   -  เห็นว่า     ผู้มีสิทธิเลือกแต่ละคนน่าจะมีสิทธิเลือกได้เฉพาะ      ก.. ที่เป็นตัวแทนของชั้นศาลที่ผู้มีสิทธิเลือกแต่ละคนดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น   กล่าวคือ   ผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งในศาลฎีกา   ก็มีสิทธิเลือกได้เฉพาะกลุ่ม  ก.. ที่เป็นตัวแทนของศาลฎีกา  ผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งในศาลอุทธรณ์   ก็มีสิทธิเลือกได้เฉพาะกลุ่ม  ก.. ที่เป็นตัวแทนของศาลอุทธรณ์   และ  ผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้นต้น   ก็มีสิทธิเลือกได้เฉพาะกลุ่ม     ก.. ที่เป็นตัวแทนของศาลชั้นต้น    นอกจากนั้นยังเห็นว่า     ผู้มีสิทธิเลือก   ก.ในแต่ละชั้นศาล  ควรจะแบ่งย่อยออกไปอีกเป็นกลุ่ม  ๆตามความเหมาะสม   โดยแต่ละกลุ่มก็จะมีสิทธิเลือกได้เฉพาะ  ก.. ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มตนเองเท่านั้น   ตัวอย่างเช่น   
ก.     ในชั้นศาลฎีกา   อาจกำหนดให้กลุ่มรองประธานศาลฎีกากับผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามีสิทธิเลือก  ก.. ได้   ๒   คน    และกลุ่มผู้พิพากษาศาลฎีกามีสิทธิเลือก  ก.ได้  ๒  คน  
ข.     ในชั้นศาลอุทธรณ์   อาจกำหนดให้กลุ่มอธิบดีและรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กับอธิบดีและรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคมีสิทธิเลือก  ก.. ได้ ๑  คน      กลุ่มผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ มีสิทธิเลือก  ก.. ได้  ๑  คน    และกลุ่มผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีสิทธิเลือก  ก.ได้อีก ๒  คน
ค.       ในศาลชั้นต้น   อาจกำหนดให้กลุ่มอธิบดีกับรองอธิบดี มีสิทธิเลือก  ก.. ได้ ๑  คน   กลุ่มผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  มีสิทธิเลือก  ก.. ได้  ๑  คน     กลุ่มผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ มีสิทธิเลือก  ก.. ได้  ๑  คน  และกลุ่มผู้พิพากษาทั่วไป มีสิทธิเลือก  ก.. ได้อีก  ๑  คน

           เหตุผลง่าย  ๆก็คือ  คนในแต่ละกลุ่มย่อมรู้จักคนในกลุ่มตัวเองเป็นอย่างดีว่า   ใครเป็นอย่างไร  มีความรู้ความสามารถแค่ไหน   มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สมควรจะเลือกเป็นตัวแทนหรือไม่    เพราะรู้จักใกล้ชิดกันมาตลอด     เหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ    ไม่ว่าจะเป็น ก..ชุดใด  เราจะได้ตัวแทนจากแต่ละกลุ่มที่แน่นอนชัดเจน    ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการระดมความคิดเห็นและการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม     หรือแม้แต่ในเรื่องเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียเฉพาะของแต่ละกลุ่ม   ตัวแทนของคนกลุ่มไหนก็น่าจะสะท้อนถึงปัญหาและความต้องการของคนกลุ่มนั้นได้ดีที่สุด   โดยเฉพาะตัวแทนในกลุ่มผู้พิพากษาชั้นผู้น้อยของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่   ผู้เขียนคิดว่า  มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะมี  เพราะโลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก    บางครั้งผู้ใหญ่กับเด็กอาจมีมุมมองปัญหาที่แตกต่างกัน  บางครั้งผู้ใหญ่ที่พ้นจุดของปัญหาที่ตนเองได้รับผลกระทบไปแล้ว   อาจไม่เห็นความสำคัญของปัญหา    ตัวแทนของผู้พิพากษาชั้นผู้น้อยจึงมีประโยชน์ในการสะท้อนถึงปัญหาต่าง ๆความต้องการต่าง ๆให้ผู้ใหญ่ได้รับทราบ    และที่สำคัญผู้เขียนคิดว่า  น่าจะเป็นการสร้างบุคลากรหนุ่ม  ๆ  สร้างคนรุ่นใหม่ รุ่นต่อรุ่น ให้มีโอกาสได้เรียนรู้   ได้สร้างสมประสบการณ์ในการทำงาน   เพื่อเตรียมคนสำหรับทดแทนคนรุ่นเก่าที่พ้นตำแหน่งไป
.    ผู้มีสิทธิได้รับเลือกเป็น  ก..    -  เห็นว่า    ควรจะเปิดให้สมัครรับเลือกตั้งไปเลย   เหตุผลเพราะว่า    เพื่อจะได้มีความชัดเจน    ผู้เลือกจะได้รู้และมั่นใจว่า  คนที่เขาเลือกมีความเต็มใจ  สมัครใจที่จะทำงาน   อีกทั้งจำนวนคนที่เป็นตัวเลือกจะได้แคบเข้ามา  คะแนนจะได้ไม่กระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตกเหมือนที่ผ่านมา    สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครนั้น  เห็นว่า   ทุกคนในแต่ละกลุ่มควรจะมีสิทธิสมัครได้  เว้นแต่   ก.. ที่เป็นตัวแทนผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นในกลุ่มผู้พิพากษาทั่วไป    อาจกำหนดเงื่อนไขเรื่องอาวุโสในการทำงานตามความเหมาะสม   เช่น   อาวุโส ๑๐๐  คนแรก  หรือ  คนที่มีอายุราชการ  ๙   ปี  หรือ  ๑๐  ปี ขึ้นไป  เป็นต้น
การหาเสียง  -   จากการศึกษาวิจัยของอาจารย์อินทิรา   ฉิวรัมภ์     ผลสรุปออกมาอย่างชัดเจนว่า   ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้มีการหาเสียงไม่ว่าจะในรูปแบบใด     เหตุผลสำคัญก็คือ    การหาเสียงเป็นบ่อเกิดของระบบอุปถัมภ์   ระบบบุญคุณต้องทดแทน   เพราะเป็นธรรมดาที่หากใครหาเสียงไว้อย่างไร   ถ้าได้รับเลือกก็ต้องทำตามที่หาเสียงไว้      ซึ่งหากเรื่องที่หาเสียงเป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมก็ดีไป      แต่หากเรื่องนั้นเป็นประโยชน์ต่อเฉพาะคน  เฉพาะกลุ่ม แต่เกิดผลเสียต่อส่วนรวมก็จะเป็นเรื่องเสียหาย      จากการสังเกตการเลือกตั้งในประเทศไทยไม่ว่าจะในระดับใด     การหาเสียงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด   ก็คือ  การเสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อผู้มีสิทธิเลือกเฉพาะกลุ่มเฉพาะคนโดยตรง      หากเป็นการหาเสียงในลักษณะขายนโยบายในภาพรวมไม่เฉพาะเจาะจงแล้ว   ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้สั่งสมชื่อเสียงและบารมีให้เป็นที่ประจักษ์  เป็นที่ยอมรับของสังคมมาอย่างยาวนาน   คงยากที่จะได้รับเลือก     แน่นอนว่า   การหาเสียงก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน    และการหาเสียงในทางที่ดี  ในทางที่สร้างสรรค์ก็น่าจะมีประโยชน์และพึงได้รับการสนับสนุน    แต่เมื่อมันอาจเป็นบ่อเกิดแห่งสิ่งที่ไ่พึงปรารถนาและเรามีวิธีอื่นที่ดีกว่า   ก็น่าจะตัดไฟเสียแต่ต้นลม
 นอกจากนั้น   ผู้เขียนยังเห็นว่า     การเปิดโอกาสให้มีการหาเสียงในแวดวงตุลาการ  เป็นภาพที่ไม่ค่อยจะเหมาะสม และไม่สง่างาม   ภาพพจน์ของผู้พิพากษาในสายตาของสังคมคือ   ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในนามพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์   ผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม   ผู้ที่มีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง   ดำรงชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย  ไม่แก่งแย่งแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน  ดังนั้น  การแสดงออกถึงการอยากได้อยากเป็นจนเกินขอบเขตแห่งความพอดี   จึงเป็นภาพที่สังคมยากที่จะทำใจรับได้     จริง  ๆแล้วต้องยอมรับความจริงว่า   ภาระหน้าที่ของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของสังคมนั้น    ในด้านเนื้อหาสาระของงานที่ปฏิบัติไม่ได้มีความสำคัญมากกว่าองค์กรอื่นเลย   เพราะลักษณะงานของศาลเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุของสังคม     คนทำผิดไปแล้ว   คนคดโกงกันแล้ว  ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว   แม้ศาลจะตัดสินคดีได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมดีเพียงใดก็ตาม    ก็คงไม่สามารถเยียวยาความเสียหายซึ่งสูญเสียไปแล้วให้กลับคืนดังเดิมได้    ผู้เขียนเห็นว่า  แท้จริงแล้ว  ความสำคัญสูงสุดของสถาบันศาลอยู่ที่การเป็นที่พึ่งทางจิตใจของคนในสังคมมากกว่า      องค์กรหรือสถาบันอื่น  ๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมหากจะมีปัญหาในเรื่องความรู้ความสามารถ    ความซื่อสัตย์สุจริตหรือความยุติธรรม  ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือไปบ้าง   สังคมก็ยังพอทำใจทนรับได้  เพราะอย่างน้อยที่สุดสังคมก็ยังมีความรู้สึกว่า   ยังมีศาลสถิตยุติธรรมอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน    แต่ถ้าหากวันใด  ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจ  รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยในบทบาทหน้าที่ของศาลแล้ว    เชื่อได้เลยว่าสังคมนั้นจะสับสนวุ่นวายมากขึ้นเรื่อย  ๆ และคงจะล่มสลายในไม่ช้า   เพราะถ้ามีปัญหาข้อขัดแย้งไม่ว่าในเรื่องใด ๆเกิดขึ้นแล้วประชาชนไม่รู้จะไปไหน  เนื่องจากไม่มีสถานที่ใดที่เขามั่นใจได้ว่าจะให้ความยุติธรรมแก่เขาได้    แน่นอนว่าเพื่อความอยู่รอด   เขาก็ต้องพยายามแสวงหาความเป็นธรรมด้วยตัวเขาเอง     ส่วนวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมนั้น    ย่อมมีวิธีการที่หลากหลาย แตกต่างกันไป   แล้วแต่กำลังกาย  กำลังสติปัญญาของแต่ละคน  รวมทั้งยังมีปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย      จากเหตุและผลดังที่กล่าวมา   ผู้เขียนจึงเห็นว่า   นอกจากเรื่องความรู้ความสามารถ   ความซื่อสัตย์สุจริต   ความทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมแล้ว    ภาระหน้าที่ที่สำคัญมากของตุลาการอีกอย่างหนึ่งก็คือ    การสร้างภาพพจน์   การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีงาม   น่าเลื่อมใสศรัทธา    เป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน   การรักษาไว้ซึ่งประเพณีปฏิบัติและวัฒนธรรมองค์กรที่ดีงามซึ่งบรรพตุลาการได้สั่งสมมาอย่างยาวนานจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง   การเปิดโอกาสให้หาเสียงได้ในการสรรหา  .. จึงไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
จากปัญหาเรื่องการหาเสียงในการสรรหา  ก.ดังกล่าว   ผู้เขียนจึงเห็นว่า   สำนักงานศาลยุติธรรม   ควรจะเป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ  ประสบการณ์  ผลงานในอดีต  รวมทั้งวิสัยทัศน์  มุมมองแนวคิด หรือวิธีการแก้ไขปัญหาของผู้สมัครแต่ละคน    แล้วนำออกเผยแพร่ด้วยวิธีการที่เหมาะสม     จริง ๆแล้วผู้เขียนเห็นว่า ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้สมัครที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกมากที่สุด   น่าจะได้แก่    ผลงานในอดีตที่ผ่านมา  การพูดหรือการเขียนถึงสิ่งดี ๆที่คิดจะทำนั้น    จะแต่งแต้ม  จะปรุงแต่งให้สวยหรู  เลิศหรูอย่างไรก็ได้   แต่ไม่มีหลักประกันใด ๆว่า  จะทำหรือสามารถจะทำตามที่พูดที่เขียนไว้ได้หรือไม่     แต่หากในอดีตบุคคลคนนั้นมีผลงานเป็นที่ประจักษ์  ย่อมเป็นหลักประกันได้เป็นอย่างดีว่า   อนาคตเขาน่าจะสร้างผลงานที่ดีเหมือนเช่นในอดีต  ไม่ใช่ว่าอดีตที่ผ่านมาไม่มีผลงานที่สร้างสรรค์อะไรเลย   นอกจากใจกว้าง  ใจถึง   ฮาไหนเฮนั่น  ถึงไหนถึงกัน    ก็คงยากที่จะฝากความหวังอนาคตศาลยุติธรรมไว้กับท่าน
จากรูปแบบวิธีการในการสรรหา  ก.ตามที่เสนอดังกล่าว  ผู้เขียนเห็นว่า   น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาหลัก ๆของระบบการสรรหา  ก.ที่มาจากการเลือกตั้ง ในปัจจุบัน  ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นได้   ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้  คือ  
.   ปัญหาเรื่องผู้มีสิทธิเลือก  ก.ไม่รู้จักผู้ที่มีสิทธิได้รับเลือก   อาจกล่าวได้ว่าแทบจะหมดไป   เพราะมีการแบ่งกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกและผู้มีสิทธิได้รับเลือกไว้อย่างชัดเจน   โดยเฉพาะผู้พิพากษาชั้นศาลอุทธรณ์และชั้นศาลฎีกาซึ่งปฏิบัติงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน   ย่อมรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี    ส่วนศาลชั้นต้นในกลุ่มตั้งแต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือผู้พิพากษาหัวหน้าคณะขึ้นไปก็เช่นกัน   เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน  จะมีก็แต่กลุ่มผู้พิพากษาทั่วไปซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก  แต่ก็ไม่น่าจะมีผลเสียอะไรมากนัก   เพราะตัวแทนกลุ่มนี้ตามระบบที่เสนอก็มีเพียงคนเดียว   อีกทั้งปัจจุบัน   เทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสารมีประสิทธิภาพสูงมาก   ใครเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร   คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเสาะแสวงหาข้อมูลในเบื้องต้น
.   ปัญหาเรื่องการ  บล็อกโหวต”  หรือ  การจัดตั้งฐานเสียง     โดยสภาพน่าจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก     ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันกับข้อ  ๑.    ระบบการสรรหา  .ในปัจจุบัน   ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจะเป็นเสียงชี้ขาดว่าใครจะได้รับเลือกเป็น  ก.เพราะมีจำนวนมากที่สุด     ดังนั้น  จึงมีการพยายามบล็อกโหวตหรือจัดตั้งฐานเสียงในกลุ่มผู้พิพากษาศาลชั้นต้น    ซึ่งที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับความจริงว่า   ได้ผลมากพอสมควร    เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า     การรู้จักกับ  ก.. เป็นการส่วนตัวหรือมีผู้นำกลุ่มที่รู้จักกับ  ก.เป็นอย่างดี    ย่อมเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสวัสดิภาพของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง   หากชีวิตต้องเกิดผิดพลาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา   หรือถ้ามีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาในการปฏิบัติหน้าที่  ( ซึ่งต้องยอมรับความจริงเช่นกันว่า  ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นปัจจุบันมีปัจจัยเงื่อนไขต่าง  ๆมากมาย   ที่เป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง ) อย่างน้อยก็มีที่ปรึกษาให้อบอุ่นใจ  ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับงานศึกษาวิจัยของท่าน     อินทิรา  ฉิวรัมภ์  ที่สรุปว่า   ระบบการสรรหา  ก.. ปัจจุบันกลับกลายเป็นเวทีการเมืองและนำไปสู่การสถาปนาระบบอุมถัมภ์ขึ้นในองค์กรศาลยุติธรรม     ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่อันตรายอย่างยิ่ง   หากไม่รีบแก้ไขเชื่อว่าอีกไม่นานวิกฤตตุลาการรอบสองอาจเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า
. เกี่ยวกับปัญหาเรื่องการหาเสียงซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม  ขัดกับประเพณีปฏิบัติของผู้พิพากษาและวัฒนธรรมองค์กรนั้น     เห็นว่า  เมื่อมีการแบ่งกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกและผู้มีสิทธิได้รับเลือกไว้อย่างชัดเจนตามรูปแบบที่ผู้เขียนเสนอ   โดยสภาพแล้วปัญหาเรื่องนี้ย่อมลดน้อยลงไปดังเหตุผลตามข้อ  ๑   อีกทั้งตามระบบที่เสนอ   สำนักงานศาลยุติธรรมก็เป็นตัวกลางช่วยเหลือในเรื่องการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผู้สมัครอยู่แล้ว    ปัญหาเรื่องการหาเสียงจึงน่าจะหมดไป
.   สำหรับปัญหาความรู้สึกของผู้พิพากษาในเรื่องผู้อาวุโสน้อยปกครองผู้อาวุโสมากนั้น       เชื่อว่าตามระบบที่ผู้เขียนเสนอน่าจะช่วยลดความรู้สึกดังกล่าวได้มากเลยทีเดียว     เพราะผู้พิพากษาแต่ละกลุ่มจะมั่นใจได้  ๑๐๐  เปอร์เซ็นต์ ว่ากลุ่มของตัวเองต้องมีตัวแทนอย่างน้อย   ๑  คน แน่นอน    สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้การยอมรับในเรื่องอาวุโสค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในวงการตุลาการนับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง     การสร้างกติกาโดยให้รองประธานศาลฎีกาแข่งขันกับผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคน    ให้ประธานศาลอุทธรณ์และประธานศาลอุทธรณ์ภาคแข่งขันกับผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทุกคน และให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นแข่งขันกับผู้พิพากษาที่อยู่ใต้บังคับบัญชานั้น   หากผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่ามาก  ๆเป็นผู้ชนะ    แน่นอนว่า   ย่อมมีผลกระทบต่อความรู้สึกพอสมควร   โดยเฉพาะการสรรหา  ก.ในชั้นอุทธรณ์    วิธีการสรรหาเหมือนเช่นปัจจุบัน   โอกาสที่ผู้อาวุโสน้อยกว่าจะมีสิทธิได้รับเลือกจะมีค่อนข้างสูง   เพราะคนที่ขึ้นศาลอุทธรณ์ใหม่  ๆจะได้เปรียบ  เนื่องจากมีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นรู้จักและคุ้นเคยมากกว่า     ระบบสรรหาตามที่ผู้เขียนเสนอจะช่วยแก้ปัญหาความรู้สึกในทางลบดังกล่าวได้      เพราะมีการสร้างกติกาให้แข่งขันกันในระหว่างผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน   การแพ้จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อจิตใจหรือความรู้สึกมากเท่าไหร่

          นอกจากนั้นผู้เขียนยังเห็นว่าการสรรหา  ก.ตามรูปแบบที่ผู้เขียนเสนอน่าจะเป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างการให้เป็น  ก..โดยตำแหน่งกับการสรรหาโดยการเลือกตั้ง  เพราะเรากำหนดให้ผู้มีสิทธิ์ได้รับเลือกมาจากกลุ่มตำแหน่งต่าง ๆแต่ละกลุ่มที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน   ทั้งยังน่าจะเป็นการผสมผสานที่ดีระหว่างระบบอาวุโสกับระบบความรู้ความสามารถ     การสรรหา  ก.โดยการให้สมัครรับเลือกตั้งตามที่ผู้เขียนเสนอนั้น    อาจจะดูเหมือนเป็นการขัดกับประเพณีปฏิบัติหรือวัฒนธรรมองค์กรศาลยุติธรรม  แต่ผู้เขียนก็เห็นว่า   บางครั้งบางเวลา    บางสิ่งบางอย่างก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเหมือนกัน   เพื่อให้เหมาะสมกับยุคกับสมัย   เพื่อให้สอดคล้องกับโลกกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา      การเปิดโอกาสให้สมัครรับเลือกตั้ง  สมัยก่อนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม    แต่ด้วยเงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆของภาวะสังคมปัจจุบัน    ผู้เขียนเห็นว่า   การสมัครรับเลือกตั้งไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหายอีกต่อไป      การกล้าคิด   กล้าทำ   กล้าแสดงออกอย่างเปิดเผยในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม  เพื่อประโยชน์ส่วนรวม น่าจะเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนจากสังคม     แม้ในโลกของความเป็นจริง ถึงที่สุดแล้วคนเราทุกคนก็มีเป้าหมายเพื่อตัวเองกันทั้งนั้น   แต่ผู้เขียนก็เห็นว่า จริง ๆแล้วประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมมันแยกกันไม่ออก   ถ้าส่วนรวมดีเราก็ได้รับผลดีด้วย  ถ้าส่วนรวมแย่เราย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   หากวิธีการที่ทำเพื่อตัวเองนั้นคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนหรือในขณะเดียวกันก็จะเป็นวิธีการที่สร้างสรรค์     แต่หากวิธีการนั้นคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเลยย่อมเป็นวิธีการที่ทำลาย     ปัญหาที่ว่าคนเก่งคนดีมักจะไม่อยากลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น  ผู้เขียนเห็นว่า   จริง ๆแล้วสาเหตุของปัญหาน่าจะเป็นเพราะความพิกลพิการของระบบมากกว่า     ระบบที่ไม่ดีย่อมกีดกันไม่ให้คนเก่งคนดีมีโอกาสได้รับเลือก   ระบบที่มีปัญหาย่อมเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของคนเก่งคนดี    หากมีการสร้างระบบการเลือกตั้งที่ดีมีประสิทธิภาพ  เหมาะสมและเป็นธรรม    เชื่อได้เลยว่า    ต้องมีคนดีคนเก่งเสนอตัวสมัครรับเลือกตั้งอย่างแน่นอน    เพราะธรรมชาติของคนดีย่อมพยายามหาโอกาสที่จะทำความดีอยู่แล้ว    หากเขาประเมินว่าตัวเองเก่งพอที่จะทำดีได้  คงไม่ลังเลที่จะเสนอตัวให้เลือก   นอกจากนั้น   ผู้เขียนยังมีความเชื่อว่า   มนุษย์ทุกคนมี ๒  ฟากอยู่ในตัวเสมอ คือ ด้านมืดกับด้านสว่างหรือด้านดีกับด้านไม่ดี    ทุกคนมีรัก  โลภ   โกรธ  หลง  กันทั้งนั้น   คนดีหรือไม่ดีน่าจะวัดกันตรงที่ใครสามารถควบคุมตัวเอง  ควบคุมอารมณ์รัก  โลภ  โกรธ  หลง  ไม่ให้แสดงออกมาได้มากกว่ากัน   หากใครควบคุมตัวเองได้มากก็เป็นคนดีมาก    หากใครควบคุมตัวเองได้น้อยก็เป็นคนดีน้อย    คนเราทุกคนอยากให้คนอื่นเห็นว่าเป็นคนดี  เป็นคนมีคุณค่าและอยากให้คนอื่นรักคนอื่นชอบกันทั้งนั้น     คงไม่มีใครอยากให้คนอื่นมองว่าเป็นคนไม่ดี  ไร้ค่าหรืออยากให้คนอื่นเกลียด     ดังนั้น   หากเรามีระบบที่ดี    สนับสนุนให้คนทำดีมีคุณค่าเป็นที่น่ายกย่องนับถือ  คนที่เสนอตัวก็จะต้องพยายามทำแต่สิ่งดีๆพยายามเก็บฟากด้านมืดไว้และพยายามแสดงฟากด้านสว่างออกมาเพื่อให้ได้รับเลือกและเมื่อได้รับเลือกแล้วก็ต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด   ผลที่สุดประโยชน์ก็ตกแก่ส่วนรวมและทุกคนในสังคม   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น   สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ   คนที่เป็นฝ่ายเลือก ต้องมองคำว่า  คนดี   ให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของความดี   หากมองคนดีแค่ผิวเผินเพียงว่า   เขาจะทำอะไรให้เราบ้าง  แทนที่จะมองว่าเขาจะทำอะไรให้ส่วนรวมบ้าง    ต่อให้ระบบดีเลิศอย่างไร   ก็คงยากที่จะเข้าถึงคำว่า       ธรรมาภิบาล   ได้     คำกล่าวที่ว่า   “  ตัวแทนคนกลุ่มไหนย่อมสะท้อนถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มนั้น      หากคิดไตร่ตรองดูให้ดี  จะเห็นว่ามีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย     ถ้าสังคมไหนคนส่วนใหญ่เห็นว่า   ประโยชน์ส่วนร่วมต้องมาก่อนประโยชน์ส่วนตน    คนที่ได้รับเลือกก็จะเป็นคนที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน    ในทางตรงข้ามหากสังคมไหนคนส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม  แน่นอนว่าตัวแทนของเขาก็น่าจะเป็นคนเช่นนั้น     บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเคยได้ยินคนบ่นถึงพฤติกรรมของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าระดับใดในทางลบ     ผู้เขียนก็จะฉุกคิดถึงคำพูดดังกล่าวเสมอ   ก็เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมของเราเป็นอย่างนั้น (อาจรวมถึงคนบ่นด้วย)   คนอย่างนั้นถึงได้รับเลือกเข้าไป    แล้วเราจะไปโทษใครล่ะ    ค่านิยมของสังคมไทยที่น่าเป็นห่วงอย่างหนึ่ง  โดยเฉพาะในสังคมข้าราชการคือ    ผู้บังคับบัญชาคนไหนที่ยืดหยุ่น  ไม่เคร่งครัดในกฎกติกา  พยายามช่วยเหลือปกป้องดูแลลูกน้องเป็นอย่างดีไม่ว่าจะผิดหรือถูก   สังคมจะมองว่าเป็นคนที่มีน้ำใจ   เป็นคนใจกว้าง  ใจนักเลง และมีบารมี   ในทางตรงกันข้ามผู้บังคับบัญชาคนไหนที่เคร่งครัดกับกฎติกา    เคร่งครัดกับกฎระเบียบวินัยข้าราชการ   ผิดเป็นผิดถูกเป็นถูก   สังคมจะมองว่าเป็นคนใจแคบ  เป็นคนไม่มีน้ำใจ  เป็นคนที่สร้างปัญหาให้องค์กร      ทั้ง ๆที่หากคิดดูให้ดีและมองปัญหาอย่างลึกซึ้งแล้ว    จะเห็นว่า  การบริหารงานบุคคลแบบผู้บังคับบัญชาประเภทแรก    จะก่อให้เกิดผลเสียมากมายต่อสังคมในอนาคตระยะยาว   ในทางตรงกันข้ามการบริหารงานบุคคลแบบผู้บังคับบัญชาประเภทหลัง   ในระยะสั้นดูเหมือนจะเป็นคนเจ้าปัญหาแต่ระยะยาวกลับส่งผลในทางที่ดีมากกว่า    ผู้เขียนขอยืนยันแนวคิดดังที่กล่าวข้างต้นว่า     “  ทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย      การยืดหยุ่นหรือการเคร่งครัดในกฎกติกาก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง    ทางออกที่ดีที่สุด  ก็น่าจะยึดถือแนวทางตามหลักพระพุทธศาสนาดังกล่าวข้างต้นเช่นกันคือ  “  การเดินทางสายกลาง  ”   เรื่องไหนควรยืดหยุ่น  เรื่องไหนควรเคร่งครัด  หรือสถานการณ์ไหนควรยืดหยุ่น   สถานการณ์ไหนควรเคร่งครัด   คงต้องพิจารณาในแต่ละเรื่องแต่ละกรณีไปตามความเหมาะสม    แต่เหนือสิ่งอื่นใด   สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรจะต้องยึดถือเป็นหลักการ คือ   การตัดสินใจในเรื่องใด ๆต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง   เพราะหากการตัดสินใจเรื่องใดเราคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ  วิธีการการกระทำก็จะออกมาอย่างหนึ่ง   แต่หากเราคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนหรือพวกตนเป็นใหญ่  วิธีการการกระทำก็จะออกมาอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งบางครั้งอาจตรงข้ามกันเลยก็ได้
             อนึ่ง    เกี่ยวกับการสรรหา  ก.นั้น  นอกจากข้อเสนอข้างต้นแล้ว   ผู้เขียนใคร่ขอเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอีก  ๒  ประการ  คือ
        ๑.   ปัจจุบันกฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้พิพากษาอาวุโสเป็น  ก.จึงน่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มี   ก.ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้พิพากษาอาวุโสเพิ่มอีกซัก  ๑  คน    ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นตัวแทนสะท้อนปัญหาและความต้องการของกลุ่มผู้พิพากษาอาวุโส    อีกทั้งยังเห็นว่า  ผู้พิพากษาอาวุโสเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานและผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างยาวนานหลายท่านเคยผ่านการดำรงตำแหน่งผู้บริหารที่สำคัญในหลายระดับ     ดังนั้น  การมีตัวแทนจากกลุ่มผู้พิพากษาอาวุโสใน   ก..   จึงน่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานในภาพรวมของ  ก..
          ๒.   อุปสรรคปัญหาอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับระบบการสรรหาของ   ก.. ในปัจจุบัน คือ     เนื่องจากฎหมายบัญญัติให้  ก.พ้นจากตำแหน่งเมื่อพ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการในชั้นศาลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในเวลาที่ได้รับเลือก     ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ  ทำให้การทำงานของ  ก.. ที่ครบกำหนดต้องเลื่อนชั้นศาลในขณะที่เป็น  ก.. ไม่ถึง  ๒  ปี ไม่ต่อเนื่อง   มีการเลือกตั้งบ่อยครั้ง   ผู้เขียนเห็นว่าเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้  ก.. มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ  ๒  ปี   ก็น่าจะมีเจตนารมย์เพื่อให้  ก.. ที่ได้รับเลือกได้มีโอกาสทำงานในเวลาอันสมควรและต่อเนื่อง  ตามหลักการก็ควรจะยึดถือเจตนารมย์ดังกล่าวไว้  ข้อยกเว้นควรจะมีเฉพาะกรณีมีเหตุผลจำเป็นจริง  ๆเท่านั้น    การให้  ก..พ้นจากตำแหน่ง  เพียงเหตุผลเพราะว่า   มีการเลื่อนชั้นศาลที่สูงขึ้นนั้น   ผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าจะเป็นข้อยกเว้นที่มีน้ำหนักเหตุผลมากพอ    เพราะไม่ว่า   ก..คนนั้นจะปฏิบัติหน้าที่อยู่ในชั้นศาลไหน   ก็ถือได้ว่าเป็นตัวแทนในการทำงานเพื่อผู้พิพากษาทุกคนทุกชั้นศาลอยู่แล้ว   การกำหนดจำนวน  ก.ในแต่ละชั้นศาล   น่าจะมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้สัดส่วนของตัวแทนเป็นไปอย่างเหมาะสมในภาพรวมเท่านั้น     จึงไม่ควรที่กำหนดกรอบแบบตายตัวไม่ยืดหยุ่น  ซึ่งไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไรเลย    นอกจากนั้น  ยังเห็นว่าการที่กฎหมายบัญญัติให้  ก.พ้นจากตำแหน่งเมื่อเลื่อนชั้นศาลเหมือนเช่นปัจจุบัน  นอกจากจะทำให้การทำงานของ  ก.. ไม่ต่อเนื่องแล้ว   ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยที่มักมีการแบ่งกลุ่มแบ่งพวกอยู่แล้วให้ชัดเจนมากขึ้น     การให้  ก.ที่เลื่อนชั้นศาลดำรงตำแหน่ง ก.. ต่อไป จนครบวาระ  ๒  ปี  อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะมีผลทางจิตวิทยาช่วยให้ความรู้สึกแบ่งแยกกลุ่มลดน้อยลงและเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาลได้เป็นอย่างดี
ท้ายที่สุดนี้   ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับความเห็นของท่านอินทิรา  ฉิวรัมภ์   ที่ว่า  มาตรการการป้องกันการเข้าสู่ตำแหน่ง   ก.โดยมิชอบหรือขัดต่อวัฒนธรรมองค์กร   เพื่อให้องค์กร  ก.สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างยึดมั่นบนหลักการที่ถูกต้อง  ชอบธรรมนั้น   วิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด  ก็คือ    มาตรการควบคุมสังคมที่ไม่เป็นทางการ  (Informal   Social   Control )  โดยองค์กรที่ทำหน้าที่ดังกล่าว  คือ    Professional    Solidarity    ผู้เขียนไม่ค่อยสันทัดเรื่องภาษาอังกฤษเท่าไหร่   ดังนั้น   คำว่า  Informal   Social   Control  และคำว่า    Professional    Solidarity   จะมีความหมายลึกซึ้งหรือมีขอบเขตเนื้อหาแค่ไหนเพียงใดคงจนปัญญาที่จะวิเคราะห์วิจารย์     ขออนุญาตเสนอมุมมองตามความหมายที่เป็นภาษาไทยก็แล้วกัน     ในทรรศนะของผู้เขียน คำว่า  มาตรการควบคุมสังคมที่ไม่เป็นทางการนั้น    น่าจะมีความหมายที่กินความกว้างขวางยากที่จะกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนได้และมาตรการดังกล่าวน่าจะเป็นมาตรการที่สามารถนำไปปรับใช้กับวิธีการแก้ไขปัญหาของสังคมในทุก ๆเรื่องด้วย ไม่เฉพาะแต่ปัญหาเรื่องการสรรหา    ก.. เท่านั้น    รูปแบบของมาตรการควบคุมสังคมที่ไม่เป็นทางการอย่างหนึ่ง   ที่ผู้เขียนอยากจะเสนอก็คือ      การมีเวทีให้คนในสังคมได้มีโอกาสแสดงความรู้สึก   แสดงความคิดเห็น  ในเรื่อง ต่าง  ๆที่เกี่ยวข้อง   ที่มีผลกระทบต่อคนในสังคมนั้น ๆอย่างกว้างขวางภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์และขอบเขตที่เหมาะสม    ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นการระดมความคิด   ระดมมันสมอง ของคนในสังคมให้ได้มากที่สุด  เพื่อผลักดันสิ่งที่ดี ๆสิ่งที่ถูกต้องดีงามให้เกิดขึ้นในสังคม    โดยวิธีการดังกล่าวจะช่วยทำให้ผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารได้รับรู้ข้อมูล  ได้รับแนวคิด  ได้รับความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย   อันจะนำไปใช้ประโยชน์สำหรับประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาหรือกำหนดนโยบายในเรื่องต่าง ๆได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป     โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีปัญหาเรื่องหนึ่งเรื่องใดซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ  เป็นสิ่งที่ควรแก้ไข    แต่คนที่มีหน้าที่  มีอำนาจไม่อยากทำหรือไม่อยากเปลี่ยนแปลง  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม   ซึ่งหากไม่มีเวทีให้แสดงความคิดความเห็น   คนในสังคมก็คงทำได้แค่ปรับทุกข์ระหว่างกันในที่ทำงาน หรือในหมู่เพื่อนฝูงเท่านั้นซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด      การมีเวทีแสดงความคิด ความเห็นที่เป็นอิสระอย่างกว้างขวาง   จึงน่าจะเป็นพลังของสังคมในทางอ้อมอันมีประสิทธิภาพที่จะช่วยผลักดันหรือกดดัน  ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีที่ถูกต้องชอบธรรมในสังคมได้   
 สำหรับสังคมศาลยุติธรรมนั้น   จากประสบการณ์ที่ผ่านมา   ผู้เขียนเคยพบปะพูดคุยกับผู้พิพากษาหลายท่านที่มีประสบการณ์และรู้ซึ้งถึงปัญหาต่าง  ๆที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดีและมีมุมมองแนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจ  แต่ก็ไม่มีเวทีที่สะดวกและเหมาะสมเพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้มีโอกาสแสดงความคิดความเห็น  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง    “  ดุลพาห ”    “ บทบัณฑิตย์ ”  หรือ วารสาร ศาลยุติธรรม”  ก็เป็นวารสารที่เน้นเรื่องวิชาการเป็นส่วนใหญ่และการเขียนต้องใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าและการเรียบเรียงค่อนข้างมาก   อีกทั้งกว่าจะออกแต่ละเล่มก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน  บางครั้ง  บางเรื่อง ก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์     แต่มีเวทีหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการเสนอความเห็นหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน        เวทีนั้นก็คือ              ข่าวศาลยุติธรรม    เพราะรู้สึกจะพิมพ์ออกเผยแพร่เกือบทุกวัน      อย่างน้อยที่สุดก็ขอแบ่งเนื้อที่กระดาษในคอลัมภ์    เก็บข่าวเล่าเรื่องศาลยุติธรรม  ”  ซักครึ่งหนึ่งก็น่าจะดีไม่น้อย    รูปแบบอาจจะโดยวิธีการ   ตั้งประเด็นหรือกระทู้ขึ้นมาโดยคณะทำงานกำหนดเอง  หรือให้คนที่สนใจเสนอเข้ามา   จากนั้นก็เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่สนใจแสดงความเห็น    วิธีการอย่างนี้  ผู้เขียนเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อองค์กร  และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยนำพาสำนักงานศาลยุติธรรมของเราไปสู่เป้าหมายในฝันที่เรียกว่า  องค์กรอัจฉริยะ      ได้ในไม่ช้า./


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร ดุลพาห  เล่ม ๓   ปีที่ ๕๑  กันยายน ธันวาคม  ๒๕๔๗
และวารสาร ศาลยุติธรรม  ปีที่ ๕  ฉบับที่ ๓  ประจำเดือน เมษายน พฤษภาคม  ๒๕๔๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น