1/06/2555

ปฏิรูปประเทศไทยตามแนวทางวิถีแห่งพุทธ :บทบาท ของสื่อภาพยนตร์และละครโทรทัศน์

ปฏิรูปประเทศไทยตามแนวทางวิถีแห่งพุทธ :บทบาท
ของสื่อภาพยนตร์และละครโทรทัศน์[1]
                                                                                             โดย...โสต  สุตานันท์

                  ผู้เขียนเคยฟังธรรมเทศนาของพระภิกษุรูปหนึ่งทางสื่อโทรทัศน์  ท่านได้หยิบยกตัวอย่างคำกล่าวของชายชราอายุเกือบร้อยปีซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาๆคนหนึ่งที่ไปฟังธรรมที่วัดของท่านเป็นประจำเพื่อประกอบการเทศนาสั่งสอนว่า   ระหว่างการแสดงธรรมที่วัดครั้งหนึ่ง  ท่านได้ขอให้ชายชราคนดังกล่าวพูดแนะนำลูก ๆหลาน ๆว่า  การทำให้ชีวิตมีความสุขนั้นมีวิธีการอย่างไร ?  ชายชราได้ให้คำแนะนำไว้สั้น ๆแต่มีนัยยะความหมายแฝงไว้อย่างลึกซึ้งน่าสนใจว่า  ถ้าอยากมีความสุข ก็จงพยายามทำให้คนอื่นมีความสุข” 
            ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ปอ. ปยุตฺโต) ได้เคยแสดงธรรมเทศนาภายใต้หัวข้อที่ผู้นำออกเผยแพร่ตั้งชื่อไว้ว่า  “จะเชื่อหรือไม่ กรรมไม่ง้อใคร” โดยมีผู้ฟังธรรมคนหนึ่งถามท่านว่า คำสอนของพระ- พุทธเจ้าที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น” เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน?  เพราะเหตุใดจึงเห็นคนทำดีมากมายได้รับความทุกข์ยากลำบากหรือมีฐานะยากจนข้นแค้น  ขณะที่คนทำความชั่ว ทำแต่สิ่งที่ไม่ดี เช่น ทุจริตคอรัปชั่นหรือประกอบอาชีพไม่สุจริตผิดกฎหมาย กลับมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ผู้คนนับหน้าถือตา มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย ซึ่งท่านเจ้าคุณได้ตอบคำถามพอสรุปสาระสำคัญได้  ๒  ประเด็น คือ
                ประเด็นแรก  พิจารณาในแง่ ความต้องการ ในการทำความดีนั้น หากมอง “อย่างแคบ” ก็จะมีเป้าหมายความต้องการเพียงเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง (อันที่จริง ก็ไม่ใช่การทำความดีอย่างแท้จริงเพราะมีความโลภซึ่งเป็นกรรมชั่วแฝงอยู่ด้วย) แต่หากมอง “อย่างกว้าง”  ก็จะมีเป้าหมายเพื่อสังคมโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ   แต่โดยที่คนกับสังคมย่อมแยกจากกันไม่ออก  หากสังคมใดเป็นสังคมที่ดี ผู้คนส่วนใหญ่มีคุณธรรมจริยธรรม มองความมุ่งหมายของการทำความดีอย่างกว้าง  “ธรรมวาที” ย่อมมีเสียง  ผลดีนั้นย่อมสะท้อนกลับไปหาคนในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลอย่างแน่นอน คนทำดีก็จะได้ดี ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากสังคม  ในทางตรงข้าม  หากสังคมใดแย่หรือมีความเสื่อมโทรม ผู้คนส่วนใหญ่มองเป้าหมายความต้องการอย่างแคบเพื่อตนเองมากกว่าส่วนรวม  “อธรรมวาที” ย่อมรุ่งเรือง และ “ธรรมวาที” จะเงียบเสียง  สังคมนั้นย่อมไม่ต้องการหรือยกย่องเชิดชูความดี ในท้ายที่สุดคนทำดีก็จะไม่ได้ดี และสังคมก็จะเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ แล้วล่มสลายไปในที่สุด    เพราะฉะนั้น  การทำความดีที่ถูกต้องจึงต้องมองความหมายอย่างกว้างเป็นสำคัญ  หน้าที่ของมนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อแสวงหาสิ่งต่าง ๆเพื่อสนองกิเลสตัณหาของตนเองเท่านั้น แต่มีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาจิตใจตนเองไปสู่สิ่งที่ดีงามและทำเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมด้วย    หากใครทำความดีแล้วรู้สึกว่าไม่ได้ดี ย่อมแสดงว่า สังคมที่อาศัยอยู่นั้นกำลังเสื่อมโทรม เราต้องไม่ซ้ำเติมสังคมโดยอ้างเหตุผลตื้น ๆเพียงว่า  เมื่อทำดีไม่ได้ดี แล้วจะทำดีไปทำไม  ก็ในเมื่อเราไม่พยายามทำให้สังคมดี แล้วคนทำดีจะได้ดีได้อย่างไร
                ประเด็นที่สอง  พิจารณาในแง่ของ หลักการ – ท่านเจ้าคุณอธิบายว่า  ในทางพระพุทธศาสนามองว่า  โดยธรรมชาติเหตุกับผลย่อมมีความสัมพันธ์กันเสมอ แต่เหตุกับผลที่ว่านั้น  ย่อมไม่ใช่เหตุเดี่ยวหรือผลเดี่ยว  เหตุอย่างหนึ่งอาจก่อให้เกิดผลมากมายหลายอย่าง ขณะที่ผลอย่างหนึ่งก็เกิดมาจากเหตุปัจจัยหลายอย่างเช่นกัน   คำว่า “กรรม” หรือการกระทำ ซึ่งเป็นเจตนาหรือเจตจำนงของมนุษย์นั้น  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรม (เหตุปัจจัย) เท่านั้น    เพราะฉะนั้น  การทำกรรมดีจะก่อให้เกิดผลดีตามความต้องการของผู้กระทำหรือไม่ ย่อมอยู่ที่ว่า มีเหตุปัจจัยต่าง ๆพร้อมหรือไม่  เปรียบเสมือนเราต้องการต้นมะม่วง เราต้องนำเมล็ดพันธุ์ไปเพราะปลูกลงดินที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำ มีอากาศ มีแสงแดด มีอุณหภูมิที่เหมาะสมถูกต้องตามฤดูกาล  หากปัจจัยต่าง ๆดังกล่าวไม่มีพร้อม  ต้นมะม่วงย่อมไม่อาจเกิดขึ้นตามความต้องการของเราได้  ฉันใดก็ฉันนั้น  การทำความดีจะก่อให้เกิดผลดีตามความต้องการก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยถึงพร้อมทุกอย่างที่จะทำให้เกิดผลดีนั้น ๆได้    นอกจากนั้น ท่านเจ้าคุณยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจอีกประการหนึ่งว่า  เป้าหมายที่ต้องการของมนุษย์จากการที่ตนเองได้กระทำสิ่งต่าง ๆไปนั้นไม่เหมือนกัน  เช่น บางคนต้องการความมั่งคั่งร่ำรวย บางคนต้องการคำยกย่องชื่นชมหรือเกียรติยศชื่อเสียง บางคนต้องการความสุขใจ มีชีวิตที่พัฒนางอกงาม  เป็นต้น   ดังนั้น  มนุษย์จึงต้องใช้ “ปัญญา” ในการศึกษาเรียนรู้ให้ได้ว่า  เหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ผลหรือความต้องการของตนเองในแต่ละเรื่องนั้น มีอะไรบ้าง  ถ้าไม่รู้ย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหวังได้   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องพึงตระหนักรู้ด้วยว่า เหตุปัจจัยต่าง ๆโดยเฉพาะ “ปัจจัยภายนอก” นั้น เราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถึงแม้เราจะมีปัญญาสามารถรู้แจ้งเห็นจริงได้โดยตลอด แต่ด้วยข้อจำกัดของเหตุปัจจัยในตัวของมันเอง เราย่อมไม่สามารถกระทำการใด ๆเพื่อให้ได้รับผลตามที่ต้องการได้ทุกเรื่อง   อย่างไรก็ตามกรณี “ปัจจัยภายใน” ซึ่งหมายถึง จิตใจของเราเองนั้น เราย่อมควบคุมได้  ดังนั้น หากเราทำความดีเพื่อความสุขใจ เพื่อฝึกฝนพัฒนาจิต หรือเพื่อต้องการให้ชีวิตดีงามยิ่ง ๆขึ้นไปแล้ว ความต้องการที่พึงประสงค์ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนโดยไม่มีเงื่อนไขข้อแม้ใด ๆทั้งสิ้น
          อัลเบิร์ตไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้” 
         จากหลักการแนวคิดดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า   ปัจจุบันสื่อแขนงต่าง ๆโดยเฉพาะภาพยนตร์ โทรทัศน์และสื่อวีดีทัศน์ต่างๆได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมหรือวิธีคิดของผู้คนในสังคม  ผู้เขียนจึงใคร่ขอเชิญชวนคนไทยทั้งหลายมาร่วมกันคิดร่วมกันทำและร่วมกันสร้างจินตนาการว่า เราอยากจะให้สังคมในฝันของเราเป็นอย่างไร ? และจะมีวิธีการอย่างไร เพื่อนำไปสู่ความฝันที่ตั้งไว้
          จะสังเกตเห็นได้ว่า ในอดีตสมัยก่อน สื่อภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์จะมีเนื้อหาสาระสำคัญโดยยึดหลักการที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”  ไว้อย่างชัดเจน   การดำเนินเรื่องมักจะเริ่มต้นโดยพระเอกหรือนางเอกประสบกับความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสหรือถูกกลั่นแกล้งรังแกต่าง ๆนานาอย่างเจ็บปวดโหดร้าย แต่พระเอก-นางเอกก็จะมีความอดทนอดกลั้นที่สูงมาก พยายามต่อสู้ชีวิตหรือสู้รบปรบมือกับเหล่าศัตรูภายใต้กรอบแห่งความถูกต้องดีงาม และในท้ายที่สุดเรื่องราวก็จะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง กล่าวคือ “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” เสมอ ยิ่งตอนจบตัวเอกของเรื่องได้รับผลแห่งการทำกรรมดีมากเท่าไหร่ คนดูก็จะยิ่งมีความสุข มีความปลาบปลื้มใจมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งตัวร้ายได้รับการลงโทษจากบาปกรรมที่ก่อไว้มากเท่าไร่คนดูก็จะยิ่งสะใจมากขึ้นเท่านั้นเช่นกัน           
         ขณะที่จะสังเกตเห็นว่า  เนื้อหาสาระของบทภาพยนตร์หรือละครทีวีในยุคปัจจุบันดูเหมือนจะคลุมเครือไม่ค่อยชัดเจนในเรื่องของผลแห่งการทำกรรมดี-กรรมชั่วมากนัก  อีกทั้งดูเหมือนว่า นิสัยหรือความประพฤติรวมทั้งความอดทนอดกลั้นของพระเอก-นางเอกจะมีปัญหาอยู่ไม่น้อย   บางครั้ง บางตอนแทบจะแยกไม่ออกเลยว่า คนไหนเป็นตัวเอกคนไหนเป็นตัวร้าย
         ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่นิยายที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อความบันเทิงสนุกสนานเป็นสำคัญ  แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า  พฤติการณ์การกระทำและผลที่ได้รับในตอนจบของตัวละครแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นตัวเอกหรือตัวร้ายย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดหรือจิตใจ รวมตลอดถึงพฤติกรรมของผู้คนในสังคมอยู่ไม่น้อย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็กและเยาวชน   ดังนั้น  จึงเห็นว่า  ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายในวงการภาพยนตร์หรือละครควรที่จะพึงตระหนักในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งต่าง ๆที่ท่านคิดท่านสร้างขึ้นมานั้น มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของผู้คนในสังคมว่า จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง  อย่าหวั่นเกรงว่า คนดูจะตำหนิว่า ท่านเพ้อฝัน ไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง  สร้างตัวเอกของเรื่องให้เป็นคนดีที่ไม่มีตัวตนอยู่ในโลก เพราะคนดูย่อมรู้ดีว่านี่คือโลกแห่งละคร ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง   การสร้างตัวละครให้มีความชัดเจนถึงแก่นในเรื่องของความดี-ความชั่วนั้น  ย่อมเป็นการช่วยกล่อมเกลาหรือจรรโลงจิตใจของผู้คนในสังคมให้ยึดมั่นในคุณค่าแห่งความดีและหลีกหนีละเว้นความชั่วได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว   ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อทุก ๆสังคม
         จากที่กล่าวมาก็คงสรุปได้ว่า  สังคมในฝันของเราก็คือ  สังคมที่ยกย่องเชิดชูหรือบูชาคุณค่าแห่งความดีเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด  และวิธีการที่จะช่วยทำให้ได้มาซึ่งสังคมที่ดีดังกล่าวนั้น สื่อภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่ง และนอกเหนือจากบทบาทความรับผิดชอบของสื่อตามที่ได้เสนอข้างต้นแล้ว  ผู้เขียนใคร่ขอเสนอวิธีการอีกอย่างหนึ่ง คือ   ในทางพระพุทธศาสนานั้น มีการกล่าวถึงสังคมในยุค พระศรีอารยะเมตไตร  ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า  หมายถึงสังคมที่ประกอบไปด้วยมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์สูงสุดในทุก ๆด้าน ทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจและปัญญา   ดังนั้น  เราน่าจะร่วมกันสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง โดยให้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับรูปแบบการเมืองการปกครอง  ชีวิตความเป็นอยู่  รวมตลอดถึงขั้นตอนกระบวนการหรือวิธีการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆของสังคมในยุคพระศรีอารยะเมตไตรตามที่เราร่วมกันจินตนาการขึ้นมา (อาจกำหนดให้เป็นภาพยนตร์ประจำชาติ)   ทั้งนี้  เพื่อจะได้เป็นการสร้างมโนภาพสังคมในอุดมคติให้แจ่มชัดและฝังแน่นอยู่ในหัวใจของประชาชน อันจะเป็นโยชน์อย่างยิ่งในทางจิตวิทยา สำหรับใช้เป็นกุศโลบายในการพัฒนาสังคมให้ก้าวไปสู่ความดีงามยิ่ง ๆขึ้นไป   นอกจากนั้น  หากพิจารณาในแง่ของ พลังจิต  (ซึ่งผู้เขียนไม่ค่อยจะมีความรู้มากนัก แต่จากการที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาบ้าง ก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าน่าจะมีอยู่จริง)  ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าสนใจไม่น้อยว่า  ถ้าคนไทยทั้งชาติมีจินตนาการ มีความคิดความฝันร่วมกันในการที่จะช่วยกันนำพาสังคมให้ก้าวไปสู่ความดีงามยิ่ง ๆขึ้นไปแล้ว  พลังจิตที่หลอมรวมกันขึ้นมานั้นจะมีอานุภาพมากมายมหาศาลแค่ไหน ก็ขอฝากเป็นปุจฉาส่งท้ายสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนทั้งหลายและกระทรวงวัฒนธรรมไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย./


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับลงวันที่  ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น