1/05/2555

กฎธรรมชาติ – กฎมนุษย์


กฎธรรมชาติ – กฎมนุษย์ [1]

       กฎธรรมชาติ
      พระพุทธศาสนาสอนหลักความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์หรือสิ่งของ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เป็นวัตถุหรือเป็นเรื่องจิตใจ ไม่ว่าชีวิตหรือโลกที่แวดล้อมอยู่ก็ตาม   ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เป็นเรื่องของปัจจัยสัมพันธ์ ธรรมดาที่ว่านี้มองด้วยสายตาของมนุษย์เรียกว่า กฎธรรมชาติ เรียกในภาษาบาลีว่า นิยาม” แปลว่า กำหนดอันแน่นอน ทำนองหรือแนวทางที่แน่นอน หรือความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน เพราะปรากฏให้เห็นว่า เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น ๆแล้ว ก็จะมีความเป็นไปอย่างนั้น ๆแน่นอน
       กฎธรรมชาติหรือนิยามนั้น แม้จะมีลักษณะทั่วไปอย่างเดียวกันทั้งหมด คือ ความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย แต่ก็อาจแยกประเภทออกไปได้ตามลักษณะอาการจำเพาะที่เป็นแนวทางหรือเป็นแบบหนึ่ง ๆของความสัมพันธ์ อันจะช่วยกำหนดศึกษาได้ง่ายขึ้น เมื่อว่าตามสายความคิดของพระพุทธศาสนา พระอรรถกถาจารย์แสดงกฎธรรมชาติไว้ ๕ อย่าง คือ
       ๑. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฝ่ายวัตถุ โดยเฉพาะความเป็นไปของธรรมชาติแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เช่น เรื่องลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล ฝนตกฟ้าร้อง การที่ดอกบัวบานกลางวันหุบกลางคืน การที่ดินน้ำปุ๋ยช่วยให้ต้นไม้งาม การที่คนไอหรือจาม การที่สิ่งทั้งหลายผุพังเน่าเปื่อย เป็นต้น แนวความคิดของท่านมุ่งเอาความผันแปรที่เนื่องด้วยความร้อนหรืออุณหภูมิ
              ๒. พีชนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ หรือที่เรียกกันว่า พันธุกรรม เช่น หลักความจริงที่ว่าพืชเช่นใดก็ให้ผลเช่นนั้น พืชมะม่วงก็ออกผลเป็นมะม่วง เป็นต้น
            ๓. จิตตนิยาม  กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น เมื่ออารมณ์ (สิ่งเร้า) กระทบประสาทจะมีการรับรู้เกิดขึ้น จิตจะทำงานอย่างไร คือ มีการไหวแห่งภวังคจิต ภวังคจิตขาดตอน แล้วมีอาวัชชนะ แล้วมีการเห็น การได้ยิน ฯลฯ มีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ฯลฯ หรือเมื่อจิตที่มีคุณสมบัติอย่างนี้เกิดขึ้นจะมีเจตสิกอะไรบ้าง ประกอบได้หรือประกอบไม่ได้ เป็นต้น
             ๔. กรรมนิยาม  กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือ กระบวนการก่อการกระทำและการให้ผลของการกระทำหรือพูดให้จำเพาะลงไปอีกว่า กระบวนการแห่งเจตน์จำนงหรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่าง ๆพร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไปอันสอดคล้องสมกัน เช่น ทำกรรมดีมีผลดี ทำกรรมชั่วมีผลชั่ว เป็นต้น
  ๕. ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างที่เรียกกันว่า ความเป็นไปตามธรรมดา เช่นว่า สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา คนย่อมมีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ธรรมดาของคนยุคนี้มีอายุขัยประมาณร้อยปี ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่เป็นสภาพไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้นและไม่เป็นอัตตา ดังนี้เป็นต้น
ความจริงกฎ ๔ อย่างแรกย่อมรวมลงในกฎที่ ๕ คือ ธรรมนิยามทั้งหมดหรือจำแนกออกไปจากธรรมนิยามนั่นเอง หมายความว่า ธรรมนิยามมีความหมายครอบคลุมกฎธรรมชาติหมดทั้ง ๕ ข้อ อาจมีผู้สงสัยว่าธรรมนิยามเป็นกฎใหญ่ เมื่อเอามากระจายเป็นกฎย่อยก็น่าจะกระจายออกไปให้หมด เหตุไรเมื่อแจงเป็นกฎย่อยแล้วยังมีธรรมนิยามอยู่ในรายชื่อกฎย่อยอีกด้วยเล่า คำตอบสำหรับความข้อนี้พึงทราบด้วยอุปมาเหมือนคนทั้งหมดในประเทศไทยนี้ บางทีมีผู้พูดจำแนกออกว่า องค์พระประมุข รัฐบาล ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนบ้าง ว่าตำรวจ ทหาร ข้าราชการ นักศึกษาและประชาชนบ้าง ว่าอย่างอื่นอีกบ้าง ความจริงคำว่าประชาชนย่อมครอบคลุมคนทุกหมู่เหล่าในประเทศ  แต่ที่พูดแยกออกไปก็เพราะว่า คนเหล่านั้นนอกจากจะมีลักษณะหน้าที่โดยทั่วไปในฐานะประชาชนเหมือนคนอื่น ๆแล้ว ยังมีลักษณะหน้าที่จำเพาะพิเศษต่างหากออกไปอีกส่วนหนึ่งด้วย ส่วนคนที่ไม่มีลักษณะหรือหน้าที่จำเพาะพิเศษแปลกออกไปก็รวมอยู่ในคำว่าประชาชน เรื่องนิยาม ๕ ก็พึงเข้าใจความทำนองเดียวกันนี้ [2]
       อนึ่ง พึงมีข้อสังเกตหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธองค์ทรงเลือกสอนโดยเน้นเรื่องกรรมนิยาม จิตนิยามและธรรมนิยามเป็นสำคัญ ส่วนเรื่องอุตุนิยามกับพีชนิยามได้ทรงสอนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่หนทางแห่งการดับทุกข์ และเป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะในจิตใจมนุษย์ที่เรียกว่า ตัณหา[3] มากยิ่งขึ้น  ซึ่งต่างจากนักวิทยาศาสตร์ที่มุ่งศึกษาเรื่องอุตุนิยามและพีชนิยามเป็นหลัก ไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องกรรมนิยาม จิตนิยามและธรรมนิยามมากนัก 
       อย่างไรก็ตาม  พระพุทธศาสนาก็ไม่ปฏิเสธเรื่องอุตุนิยามและพีชนิ-ยามที่เป็นจุดเน้นของวิทยาศาสตร์เสียทีเดียว เนื่องจากในความเป็นจริงกฎทั้งห้าล้วนสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับนิยาม ๕ ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น โรคเอดส์เป็นเชื้อไวรัสที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ตามกฎพีชนิยาม แต่เมื่อมนุษย์เสื่อมจากศีลธรรมเพราะมีโมหะหรืออวิชชา โรคระบาดจึงเป็นผลตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดน้ำท่วม ฝนไม่ตก ซึ่งเป็นกรรมนิยามที่สะท้อนมาจากพีชนิยาม ปรากฏการณ์คลื่นสึนามิก็เป็นอุตุนิยาม แต่เมื่อมีคนเสียชีวิตเกิดความเศร้าสลดก็จะกระทบต่อจิตนิยาม หรือการที่เราปวดศีรษะอาจมีสาเหตุจากนิยามใดก็ได้ ถ้าเป็นการปวดศีรษะจากการติดเชื้อในสมอง ถือเป็นพีชนิยาม หรือปวดศีรษะจากการอยู่ในสถานที่อับร้อน อากาศไม่ถ่ายเทถือเป็นอุตุนิยาม แต่ถ้าปวดศีรษะจากความกลุ้มใจ กังวลใจ ถึงจะเรียกว่าเป็นกรรมนิยาม เป็นต้น[4]

        กฎมนุษย์
        คำสอนของพระพุทธเจ้าหรือที่เรียกว่า ธรรมวินัย” นั้น แบ่งออกเป็น  ๒ ส่วนคือ คำว่า  ธรรม”  ซึ่งหมายถึง  ความจริงตามธรรมชาติ หรือ กฎธรรมชาติ และคำว่าวินัย ซึ่งหมายถึง  สิ่งที่มนุษย์จัดตั้งขึ้นเอง หรือ กฎมนุษย์” ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสมมุติ ตัวอย่าง เช่น เมื่อคนต้องการทำสวนก็จะนำต้นไม้มาปลูก  การทำสวนนี้เป็นเหตุ และจะทำให้เกิดผลคือต้นไม้เจริญงอกงาม อันนี้คือเหตุและผลอันเป็นความจริงตามกฎธรรมชาติ ต่อมาหากเจ้าของสวนไปจ้างคนงานให้มาช่วยเหลือดูแลในการทำสวนโดยจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน อันนี้เป็นกฎที่มนุษย์ตั้งขึ้นเอง โดยการสมมติขึ้นมาว่าเมื่อคนงานทำสวนแล้วก็จะได้เงินตอบแทน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ที่การทำงานของคนสวนจะทำให้เกิดผล คือ มีเงินงอกเงยขึ้นมาต่างจากการเจริญเติบโตของต้นไม้อันเป็นกฎที่จริงแท้แน่นอน      
        แท้จริงแล้วการที่เราวางกฎสมมติขึ้นมาก็เพราะเราต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เพราะถ้าเราไม่ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงามแล้วเราจะวางกฎมนุษย์ให้คนทำสวนได้เงินเดือนไปทำไม  ดังนั้น มนุษย์จึงต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่าสิ่งต้องการที่แท้จริง คือ ความเป็นจริงตามธรรมชาติไม่ใช่ตามสิ่งสมมุติ หากมนุษย์ขาดปัญญาหรือหลงผิดมัวยึดติดในกฎสมมุติ ไม่เข้าถึงหรือไม่สามารถเชื่อมโยงให้เข้าถึงความจริงแห่งกฎธรรมชาติได้  ความวิปลาสทั้งของชีวิตและสังคมก็จะเกิดขึ้นทันที
          ทฤษฎีต่าง ๆที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมานั้น  แท้จริงแล้วก็คือการพยายามที่จะเข้าถึงซึ่งความจริงที่เรียกกันว่า ธรรมชาติ” นั่นเอง  และจากทฤษฎีก็จะไปจัดโครงสร้างวางระบบกฎเกณฑ์ขึ้นในสังคมที่เรียกกันว่า กฎหมาย” ขึ้นมา ซึ่งหากทฤษฎีนั้นไม่เข้าถึงธรรมคือแก่นแท้แห่งความจริงแล้ว   ระบบที่จัดตั้งขึ้นมาบนฐานของทฤษฎีนั้นก็จะไม่สามารถให้ประโยชน์ที่แท้จริงยั่งยืนตามความต้องการของมนุษย์ได้
        ดังนั้น นักนิติศาสตร์หรือฝ่ายนิติบัญญัติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะกฎหมายจะมีความสมบูรณ์ตามความมุ่งหมายได้ ย่อมต้องอาศัยผู้ร่างที่มีปัญญาพิเศษสามารถหยั่งรู้ถึงความจริงแห่งปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกฎแห่งธรรมและนำมาเชื่อมโยงกับการสร้างระบบกฎหมายในสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและอย่างประสานสอดคล้องกลมกลืนกันเพื่อให้ได้ผลจริงตามธรรมนั้นด้วย[5] 
           กฎแห่งธรรมชาตินั้นไม่มีผิด เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน  แต่กฎของมนุษย์นั้นมีทางผิดพลาดได้ด้วยสาเหตุสำคัญ    ประการ  คือ
            ๑. ด้านปัญญา  กล่าวคือ  หากมนุษย์ไม่มีปัญญารู้เท่าทันทั่วถึงธรรม ไม่รู้ตัวธรรมที่เป็นความจริงในธรรมชาติ เป็นต้นว่า ไม่รู้ไม่เข้าใจชีวิตมนุษย์ ไม่เข้าใจเหตุปัจจัยในสังคมว่า เวลานี้สังคมเป็นอย่างไร  มีปัญหาอย่างไร  กลไกของปัญหาสังคมเป็นอย่างไร  การทำเหตุปัจจัยอย่างนี้ ๆจะก่อให้เกิดผลในสังคมสะท้อนกันไปอย่างไร ฯลฯ  ก็จะส่งผลให้การบัญญัติกฎหมายผิดพลาดได้ทันที 
            ๒.  ด้านเจตนา  กล่าวคือ   หากมนุษย์มีเจตนาที่แอบแฝง  เช่น  คิดจะหาจะเอาผลประโยชน์แก่ตัวหรือพวกพ้อง  หรือคิดจะกลั่นแกล้งทำร้ายคนอื่น พวกอื่น ก็จะทำให้การบัญญัติกฎหมายผิดพลาดได้อีกเหมือนกัน[6]

        บทวิเคราะห์
          จากปรัชญาแนวคิดตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธดังที่กล่าวมา หากนำไปปรับวิเคราะห์กับวิกฤตปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในสังคมโลกยุคปัจจุบันก็คงจะหาคำตอบได้ไม่ยากว่า ณ วันนี้  เวลานี้มนุษย์เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์อย่างถ่องแท้ลึกซึ้งมากน้อยแค่ไหน เพียงใด  เอาแค่เรื่อง นิติบุคคล  ซึ่งเป็นบุคคลสมมุติที่มนุษย์อุปโลกน์ขึ้นมาเพียงเรื่องเดียว  ก็ถูกพวกกลุ่มทุนนิยมทั้งหลายนำไปใช้เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ เอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหง ทำลายล้างกันอย่างเลือดเย็น สร้างความวิปลาส  ขาดสมดุลให้กับโลกมนุษย์อย่างมากมายมหาศาล  คน ๆเดียวมีทรัพย์สินเงินทองเป็นหมื่นล้านแสนล้าน ขณะที่ผู้คนอีกเป็นสิบเป็นร้อยล้านดำรงชีวิตอยู่อย่างอดอยากหิวโหย
        ไหนจะเรื่องของเงิน ที่เจตนาของมนุษย์ยุคเริ่มแรกมีจุดประสงค์เพียงเพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนสิ่งจำเป็นสำหรับธรรมชาติของชีวิตมนุษย์เท่านั้น ไหนจะเรื่องของยศ ตำแหน่ง ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมเท่านั้นเอง แต่มนุษย์กลับหลงใหลได้ปลื้มยึดติดกับมันจนบาง ครั้งบางคนถึงขนาดลืมเพื่อนลืมฝูง ลืมพี่ลืมน้อง ลืมลูกลืมเมียหรือแม้กระทั่งลืมชาติลืมแผ่นดินเลยก็มี ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆที่มนุษย์ช่วยกันคิดค้นขึ้นมา โดยอ้างถ้อยคำสวยหรูว่าเพื่อ การพัฒนาและแนวคิดทฤษฎีที่เรียกว่า เสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเน้นให้ความสำคัญสูงสุดกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในทางเศรษฐกิจนั้น ได้ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมายมหาศาล เพราะมีการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเสพย์บริโภคอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต กงล้อแห่งกิเลสตัณหาของมนุษย์ทั้งโลกได้ถูกกระตุ้นให้ขับเคลื่อนหมุนเร็วและแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ จนยากที่จะมีพลังอำนาจ  ใด ๆมายับยั้งหรือต้านทานไว้ได้ ซึ่งท้ายที่สุดผลร้ายย่อมหันกลับมาทำลายล้างมนุษย์เองดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมายในปัจจุบัน
       หนทางรอดของมนุษย์โลกในอนาคตจึงได้แก่ การประสานงานร่วมมือกันเพื่อระดมความคิดความเห็น ระดมสติปัญญาในการศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องของกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งและพยายามสร้างกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ให้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์และอย่างประสานสอดคล้องกลมกลืนกันกับธรรมชาติ หากมนุษย์ยังเพิกเฉยละเลยและคิดคอยแต่จะแก่งแย่งแข่งขันทำลายล้างกัน มุ่งแต่จะเอาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องหรือประเทศของตน โดยไม่สนใจสุขทุกข์ของคนอื่นหรือประเทศอื่น รวมทั้งไม่คำนึงถึงผลกระทบเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ความวิบัติหายนะคงเข้ามาเยือนมนุษย์ทั้งโลกภายในเวลาอันไม่ช้านี้อย่างแน่นอน
        สำหรับประเทศไทยเรานั้น ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งพระพระพุทธศาสนา จึงควรที่จะรีบพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเป็นผู้นำสังคมโลกให้ก้าวไปสู่ยุคแห่งจิตวิญญาณ นำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง อย่ามัวรอเดินตามหลังฝรั่งเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะหากทำเช่นนั้นกาลอาจสายเกินแก้และท้ายที่สุดเราอาจไม่สามารถสืบทอดรักษาศาสนาพุทธเอาไว้ได้ เพราะมีผู้รู้ทำนายไว้ว่าอีกประมาณ ๒๐๐ ปี ศาสนาพุทธจะไม่เจริญอยู่ในประเทศไทย เพราะฝรั่งจะเอาไปปฏิบัติ ไปเจริญงอกงามรักษาไว้ที่ต่างประเทศ [7]
        กรณีองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสารสนเทศต่าง ๆหรือภาษาธรรมเรียกว่า อุตุนิยามและพีชนิยาม นั้น ต้องยอมรับว่า ในต่างประเทศโดยเฉพาะโลกตะวันตกเขาก้าวล้ำนำหน้าเราไปไกล บางสิ่งบางอย่างจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้จากเขา แต่กรณีองค์ความรู้ในเรื่องของจิตตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อมนุษย์โลกในปัจจุบันและดูเหมือนว่าโลกจะยังแร้นแค้นขาดแคลนเป็นอย่างมากนั้น ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าของเรายิ่งใหญ่และเหนือชั้นกว่าแน่นอน
        จากประวัติศาสตร์ของมนุษย์โลกในอดีตที่ผ่านมา  ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศหรือเผ่าพันธุ์ต่าง ๆที่ได้รับการยอมรับว่ามีอารยธรรมที่สูงส่ง มีความเจริญรุ่งเรืองในเรื่องของศิลปวิทยาหรือศาสตร์สาขาแขนงต่าง ๆนั้น  องค์ความรู้ส่วนใหญ่น่าจะได้มาจากการคิดค้นหรือการศึกษาหาความรู้โดยอาศัยพื้นฐานข้อมูลหรือสิ่งแวดล้อมรอบข้างภายในประเทศของเขาเอง แล้วสร้างสมประสบการณ์ส่งต่อให้ชนรุ่นหลังรุ่นต่อรุ่น เพื่อนำไปต่อยอดขยายแนวคิดและสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่ง ๆขึ้นไป ไม่น่าจะมีประเทศใดในโลกที่สามารถสร้างความยิ่งใหญ่ได้ด้วยการคอยแต่จะจ้องลอกเลียนแบบประเทศอื่น ๆโดยไม่สนใจประวัติศาสตร์ที่มาหรือมองข้ามภูมิปัญญาบรรพบุรุษของตนเองไป
        คำถามก็คือว่า ณ ขณะนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยทุกคนจะพร้อมใจกันเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนการกระทำ หันกลับมามองสิ่งดี ๆมีคุณค่ามากมายที่มีอยู่ในบ้านเมืองเรา แล้วนำเอาสิ่งดี ๆเหล่านั้นมาเป็นรากฐานแนวทางในการสร้างชีวิต สร้างสังคม และสร้างโลกให้พัฒนาก้าวหน้าไปสู่สิ่งที่ถูกต้องดีงามและสร้างสรรค์ยิ่ง ๆขึ้นไป./


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับลงวันที่  ๒๓  ตุลาคม  ๒๕๕๐ในชื่อเรื่อง “นิติศาสตร์แนวพุทธ และในวารสารกฎหมาย  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ปีที่ ๑๙  ฉบับที่  ๒   ธันวาคม   ๒๕๕๐  ในชื่อเรื่อง  วิเคราะห์วาทกรรม นิติศาสตร์แนวพุทธ.
[2]พระพรหมคุณาภรณ์, “พุทธธรรม” , พิมพ์ครั้งที่ ๘ (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒), หน้า ๑๕๒.
[3] ท่านเจ้าคุณพระพรมหคุณาภรณ์ อธิบายไว้ในหนังสือ พุทธธรรมพอสรุปได้ว่า ความอยากหรือความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์มี ๒ ลักษณะ คือ ความอยากที่มุ่งประสงค์เวทนา ต้องการสิ่งสำหรับเอามาเสพเสวยเวทนาหรือสิ่งที่จะปรนเปรอตัวตน ซึ่งต้องอาศัยอวิชชาคอยหล่อเลี้ยงและให้โอกาส พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องตัวตน เอาตนเป็นศูนย์กลางและนำไปสู่ปริเยสนาหรือการแสวงหา เรียกว่า ตัณหา อีกลักษณะหนึ่งเรียกว่า ฉันทะ หมายถึง ความอยากที่มุ่งประสงค์อัตถะ คือ ตัวประโยชน์หรือสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความจริง สิ่งที่ดีงามหรือภาวะที่ดีงาม ฉันทะก่อตัวขึ้นจาก โยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิดหรือคิดถูกวิธี คิดตามสภาวะและเหตุผล เป็นภาวะกลาง ๆของธรรม ไม่ผูกกับอัตตาและนำไปสู่อุตสาหะหรือวิริยะ ฉันทะถือเป็นธรรมที่สำคัญมากโดยพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล”  อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นตัณหาหรือฉันทะก็ต้องปล่อยวาง เพียงแต่ว่า กรณีตัณหานั้นหากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ต้องละในทันที ต่างจากฉันทะที่ต้องพยายามทำให้สำเร็จก่อนจึงค่อยละวางภายหลัง (หน้า๔๘๖-๕๒๘).
[4] Google.co.th, “นิยาม ”,  [Online],  Available :  http://www.tangboon. com/index.php?lay=show&ac =article&Id=539008276.
[5] พระพรหมคุณาภรณ์ , “นิติศาสตร์แนวพุทธ”, รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, ๒๕๔๘), หน้า  ๑๘-๓๒.
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๗๑.
[7] วรภัทร์  ภู่เจริญ, Productivity วิถีพุทธ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, ๒๕๕๒), หน้า ๑๔.         
                                     -----------------------------
          “...มันเป็นบาปกรรมของผู้จัดการศึกษาของประเทศชาติ ที่ไม่ได้รีบสอนให้ยุวชนของเรารู้จักความเป็นไทยของเราเอง รู้จักวัฒนธรรมไทย รู้จักเลือดเนื้อที่มีวัฒนธรรมไทยหรือมีความเป็นไทยอย่างไร แล้วเด็ก ๆเขาก็ไม่สนใจและไม่ชอบความเป็นไทย จึงได้ชะเง้อหน้าเร่หาไปยังทางอื่น ไปหลงใหลในเรื่องอื่น โดยไม่อาจจะมองเห็นว่า ของเรามันดีที่สุด เป็นพื้นฐานที่ดีที่สุด เหมาะสำหรับคนไทย...   
         ...เราต้องเอาตามแบบของเราเอง คือ แบบที่อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ เป็นสังคมนิยมแบบธรรมะ มันก็เหมาะสำหรับเรา ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นธรรมะมาไม่รู้กี่สิบชั่วคนหรือกี่ร้อยชั่วคนแล้ว...
                                                                                                                                                         พุทธทาสภิกขุ

    “ศาสนาในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือพระเจ้าที่มีตัวตนและควรจะเว้นคำสอนแบบสิทธันต์ (คือ เป็นแบบสำเร็จรูปที่ให้เชื่อตามเพียงอย่างเดียว)  และแบบเทววิทยา ( คือ พึ่งเทวดาเป็นหลักใหญ่) ศาสนานั้นเมื่อครอบคลุมทั้งธรรมชาติและจิตใจ  จึงควรมีรากฐานอยู่บนสามัญสำนึกทางศาสนาที่เกิดขึ้นจากประสบ การณ์ต่อสิ่งทั้งปวง คือ ทั้งธรรมชาติและจิตใจอย่างเป็นหน่วยรวมที่มีความหมาย  พระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้......ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ปัจจุบัน ศาสนานั้นก็ควรเป็นพระพุทธศาสนา
                                                                                                                                                                                                                
                                                                                                                        อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์
                                                                       นักฟิสิกส์ ชาวเยอรมัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น