1/06/2555

การจัดการความขัดแย้งในสังคม

                                         การจัดการความขัดแย้งในสังคม [1]
                           โดย... โสต  สุตานันท์

         ปรัชญาแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งในสังคมนั้นมีพัฒนา การมาอย่างยาวนานซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น    ยุค คือ  [2]
          ๑. ยุคทรรศนะแบบดั้งเดิม (The Traditional View)  มองว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไม่มีข้อดีเลย  จึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดและต้องขจัดความขัดแย้งทุกชนิดให้หมดไปจากสังคม 
          ๒. ยุคทรรศนะพฤติกรรมศาสตร์ (The  Behavioral View) มองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องของธรรมชาติอย่างหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในสังคม  เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องยอมรับมัน แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราต้องพยายามจัดการหรือควบคุมความขัดแย้งนั้น มิให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับสังคม
          ๓. ยุคทรรศนะเชิงปฏิสัมพันธ์ (The  Interactionist  View) มองว่าแท้จริงแล้วความขัดแย้งจะมีสองด้านเสมอ คือ ด้านที่ก่อให้เกิดผลในทางบวกหรือในทางสร้างสรรค์(Functional Conflict) และด้านที่ก่อให้เกิดผลในทางลบหรือไม่พึงปรารถนา (Dysfunctional Conflict)  ดังนั้น ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งจำเป็นในสังคม   หากสังคมใดปราศจากความขัดแย้งก็จะมีลักษณะหยุดนิ่ง เฉื่อยชาและไม่สนองตอบต่อความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหา   ท้ายที่สุด สังคมนั้นก็จะเต็มไปด้วยปัญหาที่ค้างคาสั่งสมหมักหมมมากขึ้นเรื่อย ๆและล่มสลายไปในที่สุด 
          จากที่กล่าวมา  จะเห็นได้ว่าปรัชญาแนวคิดในยุคปัจจุบันมองว่า  ความขัดแย้งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย   ปัญหาก็คือว่าเราจะบริหารจัดการความขัดแย้งอย่างไรเพื่อก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย  ซึ่งในทางวิชาการมีหลักการแนวทางในการดำเนินการ คือ [3]
            ๑. การกระตุ้นหรือสนับสนุนให้เกิดความขัดแย้งที่มีลักษณะ สร้างสรรค์ (Constructive Conflict  Stimulation)  เช่น การจัดให้มีการประชุมกลุ่ม (Group Meeting) การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน (Encouraging Competition) การใช้ระบบการติดต่อสื่อสาร  (Using  Communication system)หรือการทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นมา  (Heterogeneity)  เป็นต้น
            ๒. การป้องกันความขัดแย้งที่มีลักษณะทำลาย  (Destructive Conflict Prevention)วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ การปรับปรุงหรือเปลี่ยน แปลงเงื่อนไขที่คาดว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นมา 
            ๓. การแก้ไขความขัดแย้งที่มีลักษณะทำลาย (Destructive Conflict  Resolution)  แบ่งออกเป็น    วิธีการใหญ่ ๆ คือ  
  ๓.๑ วิธีการที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายหนึ่งแพ้ (win–Lose Methods) เช่น การพิจาณาพิพากษาคดีโดยศาล การอนุญาโตตุลาการ  การใช้กำลังหรืออำนาจอิทธิพลบังคับ  เป็นต้น
                  ๓.๒ วิธีการที่ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้แพ้ (Lose – Lose  Method)  เช่น การประนีประนอม (Compromising) หรือการเจรจาต่อรอง  (Bargaining) 
                ๓.๓ วิธีการที่ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ชนะ (Win–Win Method) เช่น การแก้ไขปัญหาร่วมกัน (Integrative Problem Solving) หรือการเผชิญหน้ากัน (Confrontation)  
         จากสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในขณะนี้   ท่านผู้อ่านคงได้รับคำตอบแล้วว่า การจัดการปัญหาความขัดแย้งตามหลัก การแนวทางทั้ง ๓ ประการดังกล่าวในบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร มีจุด อ่อนจุดแข็งตรงไหน  ประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลว  เนื่องจากเป็นประเด็นปัญหาที่ใหญ่และมีขอบเขตกว้างขวางอย่างมากคงไม่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับท่านผู้อ่านได้ทั้งหมด  ในที่นี้  ขอกล่าวถึงเพียงเรื่องเดียว คือ “การแก้ไขความขัดแย้งที่มีลักษณะทำลาย ดังจะกล่าวต่อไปนี้
         เมื่อเปิดรัฐธรรมนูญดูก็จะพบว่า  เกือบทุกฉบับจะเขียนไว้กว้าง ๆทำนองเดียวกันในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่า  รัฐต้องบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ  สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม และดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกระ บวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดย ศาล เป็นสำคัญ  โดยก่อนหน้านั้นเรามีเพียงแค่ ๒ ศาล คือ ศาลยุติธรรมกับศาลทหาร  แต่หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี  ๒๕๔๐ มีผลบังคับใช้  เรามีศาลเพิ่มอีก ๒ ศาล คือ  ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง  ขณะที่วิธีการแก้ไขความขัดแย้งหรือกระบวนการยุติธรรมทางเลือกอื่นรัฐธรรมนูญแทบไม่กล่าวถึงไว้เลย  ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา ๘๑  จะบัญญัติไว้ในทำนองสนับสนุนให้ประชาชน องค์กรวิชาชีพหรือองค์กรภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแต่ก็เป็นการเขียนไว้เพียงลอยๆไม่มีกรอบหรือแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน
         จากเหตุปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดผลคือ เมื่อมีปัญหาข้อขัดแย้งเกิด ขึ้นถนนทุกสายจึงมุ่งตรงไปที่ศาล ผลที่ตามมาทำให้คดีล้นศาล ซึ่งส่ง ผลกระทบเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในภาพรวมอย่าง กว้างขวาง ทั้งทางตรงและทางอ้อม  อีกทั้ง ข้อพิพาทในบางลักษณะ บางกรณีก็ไม่เหมาะสมที่จะจัดการโดยให้ศาลตัดสินชี้ขาด  มีคดีจำนวนไม่น้อยที่หลังศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดไปแล้ว แต่ปัญหาข้อขัดแย้งก็ยัง คงอยู่หรือลุกลามบานปลายใหญ่โตยุ่งยากยิ่งขึ้นไปอีก  
         มีกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งวิธีหนึ่งเรียกว่า “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Mediation) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการที่ทำให้ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะ ทั้งตัวคู่พิพาทเองและสังคมส่วนรวม  เพราะนอกจากกระบวนการจะสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย รักษาสัมพันธภาพ ชื่อเสียงและความลับของคู่พิพาทแล้ว  ยังช่วยลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล สร้างความสงบสุข ก่อให้ เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอีกด้วย   ทั้งยังสามารถนำไปปรับใช้กับข้อพิพาทในทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาททางแพ่งหรือทางอาญาและไม่ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติหรือปัญหาเล็ก ๆน้อย ๆในระดับชุมชน                                                 
         โอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านมาร่วมกันถกปัญหาและศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันดู เผื่อว่าอาจจะเป็นแนว ทางในการเยียวยารักษาอาการป่วยไข้ของสังคมไทย ที่กำลังสับสนวุ่น วายและเกิดข้อพิพาทขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในขณะนี้ได้บ้าง
         เมื่อพูดถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  จะมีคำสำคัญที่เกี่ยว ข้องอยู่ ๒ คำ คือ  คำว่า compromise  และคำว่า harmonize   ซึ่งท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างลึกซึ้งน่าสนใจ ดังนี้ คือ                       
             การประนีประนอมนี้เป็นเรื่องพิเศษของอารยะธรรมตะวันตก  เพราะอารยะธรรมตะวันตกนั้น เจริญมากับการแข่งขัน เขาถนัดและนิยมติดอยู่ในระบบแข่งขัน เพราะฉะนั้นตะวันตกก็จะเคยชินหรือสะ สมมาในระบบการแก้ไขปัญหาแบบ compromise คือ การประนี ประนอม
  การประนีประนอม  หรือ  compromis หมายความว่า  แต่ละฝ่ายยอมลดความต้องการของตนเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างก็ได้  แต่พร้อมกันนั้นต่างฝ่ายต่างก็ต้องยอมเสียบ้าง  หมายความว่า ให้ทั้ง ๒ ฝ่ายนี้อยู่กันได้ โดยต่างก็ต้องยอมเสียบางส่วนเพื่อให้ต่างก็ได้บางส่วน  แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็ไม่สามารถได้เต็มที่  อย่างนี้เรียกว่าประนีประนอม เหมือนกับที่ฝรั่งพูดว่า  ได้ขนมปังครึ่งก้อนดีกว่าไม่ได้เลย  (แต่ก็ฝรั่งอีกนั่นแหละที่บอกว่า การประนีประนอมช่วยให้ได้ร่มที่ดี แต่ได้หลังคาที่เลว)  
             อีกวิธีการหนึ่งเรียกว่า  harmonize ( n.= harmony )   คือ การที่มาประสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน  หมายความว่า  ไม่มีหรือไม่เหลือความขัดแย้ง  เมื่อมีความขัดแย้งก็จัดจนกระทั่งลงตัว  ที่มาลงตัวก็คือมันเข้ากันได้ดี  ทุกอย่างประสานกลมกลืนโดยองค์ร่วมต่าง ๆอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องของมัน  พร้อมทั้งทำหน้าที่ถูกต้องต่อกัน  ส่งต่อประสานกันได้ดี
               เหมือนอย่างส่วนประกอบของเครื่องยนต์กลไก  เช่น  รถยนต์ เป็นต้น  ถ้ามัน compromise กันก็แย่แน่ ไปไม่รอด  แต่รถยนต์จะต้องเดินไปด้วยระบบที่เป็น harmony คือ ส่วนประกอบต่าง ๆ ต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องของมัน และทำหน้าที่ต่อกันอย่างถูกต้อง  และรถก็จะวิ่งได้อย่างสมบูรณ์  ยิ่งรถคันไหนทำให้ส่วนประกอบมี harmony สมบูรณ์ขึ้นเท่าไหร่  ก็ยิ่งมั่นคงแข็งแรงวิ่งได้คล่องดีเท่านั้น
              ปัญหาในโลกปัจจุบันก็อยู่ที่ว่า  มนุษย์ไม่สามารถมาถึงจุด  harmony   แต่มาได้แค่  compromise   การแก้ปัญหาจึงขาดตกบกพร่อง  ไม่มั่นคงยั่งยืน  และไม่แท้ไม่จริง  เพราะ  compromise  คือ ต่างฝ่ายต่างยอมลดความต้องการของตัวเองลงเพื่อตัวเองจะได้บ้าง  มิฉะนั้นอาจจะต้องรบราฆ่าฟันกัน  ซึ่งอาจจะพินาศทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ไม่ได้ทั้ง ๒ ฝ่าย หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ไปข้างเดียว ซึ่งเป็นวิถีแห่งความขัดแย้ง 
               เมื่อจะยุติความขัดแย้งและยอมที่จะได้อย่างไม่สมบูรณ์  มันก็ไม่ยุติจริง  แต่ทิ้งปัญหาหรือเชื้อแห่งปัญหาค้างคาไว้  เหมือนยอมตกลงสงบศึกไว้ก่อน  นี่คือ  compromise  ซึ่งไม่สามัคคีและไม่อาจจะมีเอกภาพ  แต่ถ้ายุติเรื่องโดยสมบูรณ์ก็ต้องถึง  harmony  ซึ่งทำให้เกิดสามัคคีและเป็นเอกภาพ [4]
         จากแง่คิดมุมมองของท่านเจ้าคุณดังกล่าว  จะเห็นได้ว่าเรื่องราวความขัดแย้งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้  สาเหตุสำคัญประการหนึ่งน่าจะมาจากการที่เราใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบ  compromise  มาโดยตลอด ไม่ได้มองทะลุไปถึงขั้น harmonize กันเลย  อีกทั้งการ compromise  ในระดับชาติที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงแค่การเจรจาต่อรองของกลุ่มคนที่มีอำนาจไม่กี่คน  ปัญหาต่าง ๆจึงถูกสั่งสมหมักหมมสืบต่อ เนื่องกันมาอย่างยาวนาน   จนท้ายที่สุดก็ปะทุระเบิดออกมาอย่างที่ปรากฏให้เห็นกันและโดยที่ลักษณะสภาพปัญหาในปัจจุบันมีปมเงื่อนที่ยุ่งยากซับซ้อน มีกลุ่มผลประโยชน์มีผู้คนเข้าไปเกี่ยวข้องมากมาย  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการ compromise  จึงไม่ได้ผลอีกต่อไป   
         ผู้เขียนเห็นว่า  สถานการณ์บ้านเมือง ณ ขณะนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาเรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบ  harmonize กันอย่างถ่องแท้จริงจังกันเสียที  เพราะมิฉะนั้น  เราคงไม่สามารถหลีกพ้นเหตุการณ์ที่เรียกว่ามิคสัญญีกลียุคไปได้   สำหรับจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาก็คงจะหนีไม่พ้นการปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์กติกาสูงสุดของสังคม คือ รัฐธรรมนูญ  ด้วยการกำหนดกรอบหรือแนวนโยบายให้ชัดเจน  จากนั้น ก็ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจกับผู้คนในสังคมให้มีแนวความคิดความเห็นที่ถูกต้องตรงกันและเพื่อให้กระบวนการขับเคลื่อนไปพร้อม ๆกันอย่างเป็นระบบ  จึงน่าจะมีการก่อตั้ง“ สถาบันการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือสถาบันจัดการความขัดแย้งแห่งชาติ ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยมีองค์กรรับผิดชอบดูแลตั้งแต่ระดับชาติไล่ลงไปจนถึงระดับหมู่บ้านหรือชุมชนอย่างเป็นเอกภาพ  ไม่ใช่มีองค์กรมากมาย  ต่างคนต่างทำเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้   
         ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆในทุกองคาพยพของสังคม อีกทั้งเพื่อให้เป็นศูนย์รวมแห่งการค้นคว้า วิจัย และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ร่วมกันของผู้คนในสังคมอีกทางหนึ่ง   ผู้เขียนเชื่อว่า สังคมไทยเรามีบุคคลมากมายที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเป็นอย่างดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลากรในสถาบันศาสนาต่างๆซึ่งเราน่าจะดึงเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ  เพื่อให้องค์ความรู้ทางโลกและทางธรรมประสานเป็นหนึ่งเดียวกันเสียที   ไม่ใช่อยู่คนละโลกเดียว กันเหมือนเช่นที่ผ่านมา
         ท่านศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เคยให้แง่คิดมุมมองไว้ในการประชุมวิชาการเรื่อง ทางรอดของประเทศไทย ครั้งที่ ๑  ซึ่งจัดโดยสถาบันพระปกเกล้าร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและภาคี ว่า “ ประเทศไทยวิกฤตสุดสุดทุกทางและสุดทางไป สุดปัญญาจะแก้ไข.....เมื่อสุดทางไป  ก็จะมีการผุดบังเกิดของปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ หนึ่ง เกิดมิคสัญญีกลียุค ฆ่าฟันกันล้มตายกันยกใหญ่ จนคนตายมากพอที่สังคมจะเกิดจิตสำนึกใหม่ หรือ สอง สังคมเกิดจิตสำนึกใหม่ โดยไม่ต้องผ่านมิคสัญญีกลียุค แล้วปฏิรูปตัวเอง....ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งจะฝ่าออกไปได้ นอกจากคนไทยทั้งหมดจะต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย...โครงสร้างวิกฤตการณ์มันแน่นหนายากเกินกว่าที่ใครๆ จะช่วยได้แล้ว คนไทยต้องเกิดจิตสำนึกใหม่ว่า เราทุกคนนั่นแหละจะต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย... [5]
         ดังนั้น   ผู้เขียนจึงเห็นว่า หากมีการก่อตั้งสถาบันเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือการจัดการความขัดแย้งแห่งชาติขึ้นมาตามแนวทางข้อเสนอดังกล่าว   ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะใช้เป็นศูนย์ กลางสำหรับสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกันระหว่างผู้คนทั้งประเทศทุกภาคส่วน  เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันทำร่วมกันเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งปัญญา อันจะนำไปสู่การก่อให้เกิดจิตสำนึกใหม่และการปฏิรูปประ เทศไทยให้พ้นจากหลุมดำทางปัญญา  สามารถฟันฝ่าวิกฤตอันใหญ่หลวงครั้งนี้ไปได้ในที่สุด./


[1]  ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับลงวันที่  ๒๕  พฤศจิกายน  ๒๕๕๒ .
[2] เชี่ยวชาญ  อาศุวัฒนกูล , “ความขัดแย้งในองค์กร” , เอกสารการสอนชุดวิชา การบริหารและการพัฒนาองค์การ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยที่ ๖ , ๒๕๔๘ , หน้า  ๒๕๔.        
[3]  เรื่องเดียวกัน , หน้า  ๒๗๑.
[4]  พระพรหมคุณาภรณ์, สลายความขัดแย้ง:นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ, [Online], Available : http://watnyanaves.net/th/book_detail/438หน้า ๑๓-๑๔.
[5] ประเวศ   วะสี , “ทางรอดของประเทศไทย” [Online] , Available :  http://www.isnhotnews.com/analysis/2009/09/45472 .
                                                            ----------------------------------------------
สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่จีรังยั่งยืนก็คือ ตัวความเปลี่ยนแปลงหรืออนิจจังนั่นเอง การที่สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแต่เราพบว่าสิ่งต่าง ๆมีภาวะอยู่ให้เราเห็นได้นั้น แท้จริงภาวะของสิ่งทั้งหลายล้วนแต่ดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยน แปลงทั้งสิ้น คือ ดำรงอยู่ได้ด้วยความกลมกลืนของการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งที่ตรงกันข้ามอยู่ตลอดเวลา จากร้อนเป็นเย็น จากใหม่เป็นเก่า
         สรรพสิ่งดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความขัดแย้งระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ ซึ่งตรงกันข้ามและเปลี่ยนแปลงเข้าหากัน ถ้าไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่เลย ชีวิตก็ดี ความเป็นอยู่ของสิ่งต่าง ๆก็ดี ดำรงอยู่ด้วยความขัดแย้ง ระหว่างการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่กับการสลายตัวสิ้นไปของสิ่งเก่าทั้งสิ้น
        คนมีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยเหตุที่ยังมีการเกิดและการตาย ดำเนินไปโดยขัดแย้งกันอยู่ภายในร่างกายของเขานั่นเอง สิ่งของตั้งอยู่ได้ก็เพราะมีแรงกดและแรงดันกระทำต่อสิ่งนั้น ในขณะเดียวกันเวลาเช้าเกิดขึ้นท่ามกลางการขัดแย้งกันระหว่างกลางวันกับกลางคืน ฯลฯ ความขัดแย้งจึงเป็นที่มาของสรรพสิ่งในลักษณะนี้
                                   Heracleitus
                                               ปรัชญาเมธีชาวกรีก     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น