1/06/2555

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
                                                                       โดย...โสต  สุตานันท์

ความยุติธรรม” ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในสังคมมนุษย์และเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่กำลังถกเถียงกันอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ จากการติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปชุดต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นชุดของ               ศ.นายแพทย์ประเวศ วะสี  นายอานันท์ ปันยารชุน  ศ.ดร.คณิต ณ นคร หรือคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์  ก็ปรากฏว่า คณะกรรมการทุกชุดได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก พอดีผู้เขียนมีโอกาสทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเห็นว่ามีประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในบางแง่มุม จึงขอนำมาเผยแพร่และชวนผู้อ่านช่วยกันขบคิด  เผื่อว่าอาจจะมีส่วนช่วยหรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยในอนาคตได้บ้าง
        ผลการศึกษาวิจัยพบข้อมูลและข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้
          ๑. มีองค์กรต่าง ๆจำนวนมากที่มีบทบาทเกี่ยวข้องหรือให้การส่งเสริมสนับสนุนการนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม เริ่มตั้งแต่องค์กรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักโดยตรง คือ ศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  สภาทนายความ และองค์กรอื่น ๆที่อยู่ในสังกัดฝ่ายบริหาร เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯรวมตลอดถึงสถานศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ เช่น สถาบันพระปกเกล้า สถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น เรียกว่าแทบจะทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่เข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อม  แต่ปรากฏว่าการทำงานของแต่ละองค์กรจะเป็นไปในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ แทบไม่มีการเชื่อมโยงประสานกันเลย 
        ขณะเดียวกันระเบียบกฎหมายต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็มีอยู่เป็นจำนวนมากอีกเช่นกัน เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ  พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ พ.ร.บ.สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ  พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองฯ  พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ กฎกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทฯ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนฯ  ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติฯ ระเบียบศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้านฯ  ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทฯ  เป็นต้น  
        นอกจากนั้น ที่ผ่านมายังมีการพยายามผลักดันให้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวนฯ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฯ ร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างความสมานฉันท์และจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีฯ  ร่าง พ.ร.บ.ชะลอการฟ้องฯ  ร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา เป็นต้น 
        ผลที่ตามมา คือ การทำงานไม่เป็นระบบ ขาดความเป็นเอกภาพ มีภารกิจที่ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ ประสิทธิภาพต่ำ ยากแก่การพัฒนา เกิดปัญหาระหว่างองค์กร ประชาชนสับสนไม่เข้าใจ ฯลฯ ประกอบกับยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกคือ จากการตรวจสอบกฎหมาย ต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆทุกฉบับ ไม่ปรากฏว่ามีการบัญญัติถึงเรื่องอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาความขัดแย้งหรือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนท้องถิ่นไว้เลย ทั้ง ๆที่เป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาและประชาชนมากที่สุด
        ๒. ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงนั้น การที่จะนำวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทต่าง ๆให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยนอกจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในปรัชญาแนวคิดพื้นฐานเรื่องการจัดการความขัดแย้ง รวมทั้งแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นอย่างดีแล้ว ยังจะต้องเข้าใจถึงกระบวนการขั้นตอนและเทคนิควิธีการต่าง ๆในภาคปฏิบัติอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งด้วย เป็นต้นว่า การเชิญคู่กรณีที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย (Convening) การสร้างกติการ่วมกันก่อนการไกล่เกลี่ย (Ground Rules) การเริ่มเปิดการเจรจาไกล่เกลี่ย (Opening Statement) การเข้าใจความยืดหยุ่นของกระบวนการไกล่เกลี่ยและการแยกการไกล่เกลี่ย (Caucus) การเจรจาแบบสานเสวนา (Dialogue) การเจรจาเพื่อดับอารมณ์และเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งประกอบด้วยการฟังอย่างมีส่วนร่วมในเชิงรุก (Active Listening) การเจรจาแบบกล่าวทวน (Paraphrasing) การเจรจาแบบอุปมัย (Metaphor) การแย้งความเห็นแบบใช่และ (yes...and) การใช้คำถามในรูปแบบต่างๆ เพื่อเปลี่ยนการเผชิญหน้าไปสู่การเผชิญปัญหา (Identify and define problems) การค้นหาจุดยืนของคู่กรณี (Positions) การตรวจสอบเหตุผลเบื้องหลังจุดยืนด้วยการใช้กระบวนการ BATNA, WATNA  การกำหนดประเด็นใหม่ (Refocusing) การค้นหาทางออกใหม่  (Next Best Alternatives) การระดมสมอง (Brainstorming) การประชุมร่วมกัน (Joint session) การประชุมแยกฝ่ายหรือประชุมฝ่ายเดียว (Caucus Session) การต่อรองแบบแยกส่วน (Distributive Bargaining) การต่อรองแบบกลุ่ม (Integrative Bargaining) การไกล่
เกลี่ยแบบเน้นความต้องการที่แท้จริง (Interest-based Mediation) [1] ฯลฯ หรือแม้แต่การขอโทษซึ่งโดยทั่วไปถือเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง แต่หากมีการนำไปปรับใช้ในการไกล่เกลี่ยอย่างมีขั้นตอนเป็นระบบก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท[2] 
        นอกจากนั้น ในการบริหารจัดการยังต้องอาศัยองค์ความรู้หรือปรัชญาแนวคิดในเรื่องอื่น ๆที่เกี่ยวข้องอีกหลายเรื่อง เช่น หลักศาสนาพุทธ วิธีคิดกระบวนระบบ การกระจายอำนาจ เป็นต้น แต่จากผลการศึกษาพบว่า สังคมไทยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆดังกล่าวอย่างดีพอ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคประชาชน
          ๓. มีข้อพิพาททางแพ่งประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ของข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งหมด ที่คู่กรณีตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการฟ้องคดีต่อศาล  ส่วนที่เหลือจะหาข้อยุติด้วยวิธีการอื่น ๆซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีวิธีการไกล่เกลี่ยรวมอยู่ด้วย  ขณะที่ข้อพิพาททางอาญาก็มีเป็นจำนวนมากอีกเช่นกันที่แก้ไขปัญหาด้วยการใช้วิธีการไกล่เกลี่ย ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาแผ่นดินหรือคดีความผิดต่อส่วนตัว และยังพบข้อมูลอีกว่า มีคดีไม่น้อยกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถตกลงกันได้ในชั้นพนักงานสอบสวน  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ข้อพิพาทส่วนใหญ่จำนวนมากที่ไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลนั้นถูกจัดการให้ยุติลงด้วยวิธีการอย่างไร หากใช้วิธีการไกล่เกลี่ย เป็นการไกล่เกลี่ยที่มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่  มีการข่มขู่ หลอกลวง ใช้อำนาจอิทธิพลบีบบังคับกันหรือไม่ ภายหลังไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ ข้อพิพาทได้จบลงอย่างแท้จริงและมีการปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างครบถ้วนถูกต้อง หรือมีปัญหาการผิดสัญญาและก่อให้เกิดปัญหาเรื่องใหม่ที่ร้ายแรงกว่าเดิมตามมาอีก ฯลฯ
        จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในความเป็นจริงมีข้อขัดแย้งต่าง ๆที่เกิดขึ้นในสังคมจำนวนมากที่ไม่ได้รับการบริหารจัดการโดย กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก แต่ดูเหมือนว่าในภาพรวมแล้ว รัฐจะให้ความสำคัญกับข้อพิพาทเหล่านั้นน้อยมากและไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ 
         ดังนั้น จึงเห็นว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจังกันเสียที โดยเน้นให้ความสำคัญกับ กระบวนการยุติธรรมทางเลือกอื่นมากขึ้น หาไม่แล้ววิกฤตปัญหาใหญ่หลวงคงเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมภายในเวลาอันไม่ช้าไม่นานนี้  เพราะลำพังกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักคงไม่อาจรับมือกับการแก้ไขปัญหาได้อีกต่อไป เนื่องจากมีปัญหาข้อจำกัดมากมายโดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อีกทั้งยังเป็นกระบวนการที่มีลักษณะของการต่อสู้แข่งขัน ผลที่ออกมาจึงมีผู้แพ้ผู้ชนะ ความขัดแย้งบาดหมายจึงไม่อาจยุติลงได้อย่างแท้จริงพร้อมกันกับคำพิพากษาอันถึงที่สุด เพราะย่อมเป็นธรรมดาที่ผู้แพ้จะต้องรู้สึกคับแค้นไม่พอใจ  ซึ่งต่างจากกระบวนการยุติธรรมทางเลือกอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการที่เรียกว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จะมีปรัชญาแนวคิดเพื่อมุ่งสร้างความสมานฉันท์เป็นสำคัญ เปิดโอกาสให้คู่กรณีทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาให้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะร่วมกัน  จึงเป็นกระบวนการที่สร้างสรรค์และก่อให้เกิดผลดีมากยิ่งกว่า ดังปรากฏข้อเปรียบเทียบตามตาราง

การพิจารณาคดี
การไกล่เกลี่ย
มุ่งต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาชนะคะคานกัน
มุ่งประสานผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
มุ่งขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีต
มุ่งมองอนาคตเพื่อคิดหาทางออกร่วมกัน
มุ่งความถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลัก
มุ่งความพึงพอใจของคู่กรณีเป็นสำคัญ
มุ่งความสมหวังเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการโดยเน้นประโยชน์ด้านวัตถุ ทรัพย์สินเงินทอง
มุ่งแสวงหาความสุขด้านจิตใจเน้นการเสียสละ เข้าใจ และเห็นใจซึ่งกันและกัน
มุ่งการแก้แค้น เพิ่มความแตกแยกร้าวฉาน
มุ่งแก้ไขฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
บังคับให้ยอม  (ตามคำพิพากษา)
ยอมให้บังคับ  (ตามที่ตกลงกัน)
เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง
ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

        สำหรับแนวทางในการปฏิรูปนั้น ผู้เขียนมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้
          ๑. จุดเริ่มต้นในการปฏิรูปที่ดีที่สุดน่าจะได้แก่การแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญอย่างน้อย ๓ ส่วนใหญ่ ๆคือ
           ส่วนแรกได้แก่ หมวด ๕ ส่วนที่ ๕ ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านกฎหมายและการยุติธรรม ควรบัญญัติถึงเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมทางเลือกไว้ให้ชัดเจน เพื่อจะได้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนในสังคมได้ตื่นตัวสนใจและเห็นความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมทางเลือกอื่นอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยต่อไปต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่า คำว่า ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนนั้น หมายถึงว่า เมื่อมีปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นหากมีที่อื่นที่สามารถช่วยเหลือแก้ไขได้ให้ไปที่อื่นก่อน เมื่อไม่มีทางออกหรือที่พึ่งอื่นใดได้อีกแล้วจึงค่อยตัดสินใจไปศาลเป็นที่สุดท้าย  
           ส่วนที่สอง ได้แก่ หมวด ๑๑ ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ควรบัญญัติให้เพิ่มองค์กรอิสระขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่ง เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางเลือกควบคู่ไปกับองค์กรศาลซึ่งเป็นสถาบันหลักสำคัญของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก
           ส่วนที่สาม ได้แก่ หมวด ๑๔ ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ควรกำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไว้ให้ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นของตนเองให้มากที่สุด
           ๒. ลำพังการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอดังกล่าว คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้มากนัก คงต้องมีการบัญญัติกฎหมายลูกในลำดับต่าง ๆให้มีความเหมาะสมสามารถนำไปปรับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย กล่าวเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่เรียกว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาต่าง ๆดังกล่าวข้างต้น  ผู้เขียนเห็นว่า ควรที่จะมีการตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขึ้นมาโดยเฉพาะ อาจกำหนดให้เป็นกฎหมายในลักษณะ Master  plan โดยบัญญัติถึงโครงสร้างบทบาทหน้าที่ขององค์กรที่รับผิดชอบในภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งรวบรวมหลักกฎหมายที่สำคัญ ๆไว้ในที่เดียวกันอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้น ควรที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆที่เกี่ยวข้องทั้งหลายให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์และสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกันด้วย
        ๓.ในการตรากฎหมาย มีสิ่งสำคัญที่ต้องพึงพิจารณาและควรตระหนักถึง คือ
           ๓.๑ ต้องคำนึงถึงทั้งการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นแล้วและที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตควบคู่กันไปด้วย เพราะหากพิจารณาเฉพาะข้อเท็จจริงหรือปัญหาที่สังคมไทยเคยมีประสบการณ์มาก่อนเท่านั้น การพัฒนาก็อาจเป็นไปอย่างเชื่องช้าไม่ทันการณ์กับการแก้ไขปัญหาในบางเรื่อง การศึกษาค้นคว้ากฎหมายหรือนำตัวอย่างประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้กับการบัญญัติกฎหมายในบ้านเราจึงเป็นสิ่งจำเป็นอยู่บ้าง  อย่างไรก็ตาม ก็ต้องพึงพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ โดยหากเรื่องใดยังไม่ชัดเจนหรือไม่มั่นใจอย่างแท้จริงก็ไม่ควรรีบด่วนนำมาบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี อีกทั้งหากผิดพลาดบกพร่องไปก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหม่ในบ้านเมืองเราไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะมีกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและมีอุปสรรคปัญหาต่าง ๆมากมาย ควรรอให้องค์ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์จริงได้รับการพิสูจน์จนถึงขั้นตกผลึกอย่างแท้จริงจะดีกว่า
            ๓.๒ ขั้นตอนการยกร่างต้องเปิดโอกาสให้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทำหน้าที่ในภาคปฏิบัติถือเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่จะต้องรับฟังเป็นพิเศษ เพราะมีประสบการณ์ในพื้นที่โดยตรง การร่างกฎหมายโดยคณะผู้ร่างเน้นการลอกเลียนแบบกฎหมายต่างประเทศหรือนึกคิดจินตนาการเอาเองเป็นสำคัญ โดยไม่รับฟังความคิดความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนรอบด้านถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียหายในภายหลังหรือไม่สามารถนำไปบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสังคมไทยเคยมีตัวอย่างประสบการณ์มาแล้วมากมาย
            ๓.๓ หากพิจารณาตามหลักการแนวคิดของศาสนาพุทธและวิธีคิดกระบวนระบบ ซึ่งมองว่าทุกสรรพสิ่งในโลกไม่เคยหยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสังคมมนุษย์ที่มีเงื่อนไขตัวแปรอันสลับซับซ้อนมากมายที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว  จึงเห็นว่า กฎหมายที่ดีควรที่จะมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ผูกมัดตายตัว เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติได้ใช้ดุลพินิจในการปรับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและกว้างขวาง สอดคล้องสัมพันธ์กับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงขณะเวลา ไม่ใช่ไปกำหนดบทบาททุกย่างก้าวให้เดิน ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่สร้างสรรค์และก่อให้เกิดผลเสียระยะยาว              
         ๔. ถึงแม้จะมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ดี แต่หาก คน ยังเป็นปัญหา การปฏิรูปย่อมล้มเหลว ดังนั้น สิ่งสำคัญสูงสุดที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย คือ การปลุกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อหน้าที่และการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ต่าง ๆให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง 
             ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า หากมีการนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องจริงจัง นอกจากจะช่วยทำให้เกิดความสงบสันติได้อย่างแท้จริงแล้ว ยังจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องคดีล้นศาลได้อีกทางหนึ่งด้วย และผลที่สุดย่อมส่งผลกระทบในทางบวกต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติและสังคมส่วนรวมในทุก ๆด้านด้วย ./


[1] นพพร  โพธิรังสิยากร“ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้วยการไกล่เกลี่ย”, รายงานการวิจัย หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่น 12 วิทยาลัยการยุติธรรม2552หน้า 29.
[2] Aaron  Lazare , On  Apology, (New York : Oxford University  Press, Inc, 2005), P 1.
                                                   ----------------------------------
“ Discourage  litigation. Persuade  your neighbors  to  compromise  whenever  you  can. As  a  peacemaker  the  lawyer  has  a  superior opportunity  of  being  a  good  man. There  will      still  be  business  enough.
                                                   ABRAHAM  LINCOLN


      เหย หว๋าน เลิ่น  คง  เย็น กุ๋ง จิ้ว
ขอ หว๋าน เลิ่น เย็น เลียว กุ๋ง  ซอง 
      ง่ายหมื่นครั้ง  ไม่มีประชาชน ก็ทำไม่ได้
ยากหมื่นครั้ง  แต่มีประชาชนให้ความร่วมมือ  ก็ทำสำเร็จ
                                    โฮจิมินท์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น