1/06/2555

ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

             ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา  [1]
                                                                                                      โดย... โสต  สุตานันท์

      รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐  ได้บัญญัติหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการไว้ ในมาตรา  ๒๔๙   ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป  ๒  ประการ คือ  
           ประการแรก   -  ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวง ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น
           ประการที่สอง  -   การโยกย้ายผู้พิพากษาต้องได้รับความยินยอมจากตัวผู้พิพากษาที่จะถูกย้ายก่อน  เว้นแต่ เป็นการโยกย้ายตามวาระ  การเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น  หรืออยู่ระหว่างการถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา 
     จากบทบัญญัติดังกล่าว  ผู้เขียนมีข้อสังเกต  คือ
                       ๑.) ระหว่างอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีกับอำนาจหน้าที่ในทางบริหารนั้น   บางครั้งบางเรื่องมันเกี่ยวพันกันจนแยกไม่ออก    เราไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนว่า  อันไหนเป็นเรื่องอรรถคดี อันไหนเป็นเรื่องการบริหาร   เช่น    แนวปฏิบัติ
ในการพิจารณาคดีต่อเนื่อง   ระบบการนัดความ   แนวปฏิบัติในการพิจารณาคำขอปล่อยชั่วคราว  การตัดสินคดีตามบัญชีอัตราโทษ (ยี่ต๊อก)  หรือ นโยบายของผู้บริหารในเรื่องต่าง ๆอันเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี ฯลฯ  ผลที่ตามมาก็คือ  ความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ  ความสับสน  ความไม่แน่ใจ ของผู้บริหารศาลทุกระดับในการกำหนดนโยบายหรือแนว
ปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ    (เกี่ยวกับเรื่องนี้   ผู้เขียนเคยเขียนบทความเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวไว้ โดยเห็นว่า   ศาลยุติธรรมน่าจะกำหนดนโยบายหรือออกระเบียบปฏิบัติในทำนองว่า    กรณีการออกคำสั่งหรือแนวทางปฏิบัติในเรื่องใดที่ออกมาเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับทุกคน  ทุกคดี   ถือเป็นเรื่องอำนาจทางการบริหาร   แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติเฉพาะเรื่องเฉพาะคดีแล้ว  ต้องถือว่าเป็นเรื่องทางอรรถคดี    )      
        ๒.)  ความเป็นอิสระโดยปราศจากขอบเขต  นั้น  มีความสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกกล่าวหาว่า   เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ   นอกจากนั้น ในบางครั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ  ส่งผลให้การปฏิบัติงานของศาลขาดความเป็นเอกภาพ และไม่สอดคล้องกับการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ    เช่น
               ๒.๑  ในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์  ฝ่ายบริหารมุ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องการขับรถขณะเมาสุรา   เนื่องจากเห็นว่า  เป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและสร้างความเสียหายต่อสังคมและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างใหญ่หลวง    จึงมีนโยบายในการเข้มงวดกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดฐานขับรถขณะเมาสุราอย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ  ดังนั้น  โดยหลักแล้วศาลยุติธรรมก็ควรที่จะกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการตัดสินคดีให้สอดคล้องหรือคำนึงถึงนโยบายของฝ่ายบริหารดังกล่าวด้วย  เช่น   อาจใช้ดุลยพินิจลงโทษให้หนักขึ้น   เป็นต้น  ทั้งนี้  เพื่อให้การตัดสินคดีเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ   อันจะช่วยก่อให้เกิดพลังมากพอที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมหรือมีอิทธิพลต่อการชี้นำสังคมให้เดินไปในครรลองที่ถูกต้องดีงามได้    แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา     ศาลแต่ละแห่ง  แต่ละจังหวัด จะตัดสินคดีโดยอิสระ หนักบ้าง   เบาบ้าง  ตามความคิด ความเห็น หรือทรรศนะของผู้พิพากษาในแต่ละศาล
               ๒.๒   ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายลงโทษปรับในคดียาเสพติดไว้ค่อนข้างสูง  เนื่องจากเห็นว่า   การใช้มาตรการทางด้านทรัพย์สินน่าจะเป็นการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้ดีขึ้น    ดังนั้น   ศาลก็ควรจะบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย   โดยการให้ความสำคัญกับการบังคับโทษปรับอย่างจริงจังก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติให้ได้มากที่สุด  แต่ในทางปฏิบัติกลับปรากฏว่า  ที่ผ่านมา  เราได้ค่าปรับเฉพาะตัวเลขในคำพิพากษาเท่านั้น  เพราะส่วนใหญ่ศาลจะให้กักขังแทนค่าปรับ 
             ๒.๓   กรณีเกิดโรคระบาด  เช่น ไข้หวัดนก    โดยปกติแล้วทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติย่อมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ  ด้วยการออกกฎหมายหรือกำหนดมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวดและเด็ดขาด   เพราะถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง  มีผลกระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง   ดังนั้น   ในการตัดสินคดีของศาลก็ควรจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและเฉียบขาดด้วย   เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารทางอ้อมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น  แต่ในทางปฏิบัติ  ไม่เคยมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติหรือนโยบายในเรื่องดังกล่าวไว้ 
      ๓.)   กรณีมีปัญหาในเรื่องอัตรากำลังขาด  เช่น  ผู้พิพากษาลาคลอด   ลาป่วย  เข้ารับการศึกษาอบรม  หรือมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งอื่นใด  อันจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อทางราชการ   ผู้บริหารของศาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้   หากไม่มีผู้พิพากษาคนใดยอมย้ายหรือยอมไปช่วยราชการ  ที่ผ่านมา   อย่างมากผู้บริหารก็จะใช้วิธีการขอร้องกัน    ซึ่งไม่น่าจะเป็นระบบที่ถูกต้อง    ผู้เขียนเคยคิดเล่น ๆว่า   หากมีเหตุใดเหตุหนึ่งเกิดขึ้น  ทำให้ผู้พิพากษาในศาลจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งศาล  และไม่มีใครเสียสละยอมย้ายหรือไปช่วยราชการ   สำนักงานศาลยุติธรรมก็คงต้องประกาศปิดศาลจังหวัดนั้นไป

         เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา   ตามข้อสังเกตทั้ง  ๓  ประการดังกล่าว    ผู้เขียนจึงเห็นว่า  นอกจากรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้  ผู้พิพากษาหรือตุลาการ  มีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีแล้ว    น่าจะบัญญัติเป็นหลักการเพิ่มเติมอีกในทำนองว่า   ทั้งนี้  การใช้ดุลยพินิจที่เป็นอิสระนั้น  ให้คำนึงถึงความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานขององค์กร  รวมทั้ง ต้องมีความสัมพันธ์ สอดคล้องกับหลักการหรือแนวนโยบายของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารด้วย  โดยให้ตระหนักถึงความถูกต้องเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุดของสังคมโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ   
          ทั้งนี้   ทั้งนั้น  ก็เพื่อเป็นการกำหนดกรอบหรือขอบเขตของคำว่า  อิสระ  ให้ถูกต้อง เหมาะสม และชัดเจนยิ่งขึ้น     ทั้งยังจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  ต่อการแก้ไขปัญหาในภาคปฏิบัติ   โดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามข้อความที่เสนอดังกล่าว  จะเป็นกฎหมายแม่บท  ที่เปิดช่องเปิดโอกาสให้มีการออกกฎหมายลูกหรือให้ผู้บริหารศาลสามารถกำหนดนโยบาย หรือแนวทางปฏิบัติต่าง ๆเพื่อประโยชน์ในการอำนายความยุติธรรมแก่ประชาชนหรือเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพขององค์กรได้  
          นอกจากนั้น  ยังเห็นว่า   ควรที่จะบัญญัติให้อำนาจบุคคล หรือ คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง   เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่า    “ เรื่องใดเป็นอำนาจในทางอรรถคดี  เรื่องใดเป็นอำนาจในทางบริหาร ด้วย   ทั้งนี้  เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
         สำหรับเรื่องการโยกย้ายผู้พิพากษานั้น   ผู้เขียนเห็นว่า   เหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับปี  พ.ศ.  ๒๕๔๐   บัญญัติให้การโยกย้ายผู้พิพากษาต้องได้รับความยินยอมจากตัวผู้พิพากษาที่จะถูกย้ายก่อน    ก็มีจุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้พิพากษาถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่จากผู้บริหาร   ดังนั้น  หากการโยกย้ายมีจุดประสงค์อย่างชัดเจนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมแล้ว   โดยหลักผู้บริหารย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งย้ายได้ตามความเหมาะสม  ไม่มีเหตุผลใดที่จะไปจำกัดอำนาจของผู้บริหาร   เพราะมิฉะนั้นย่อมเกิดเหตุขัดข้องในการบริหารงาน    ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า    ควรบัญญัติเพิ่มเติมข้อยกเว้นในการโยกย้ายที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาอีกประการหนึ่ง  คือ     กรณีมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อประโยชน์ของทางราชการโดยส่วนรวม     อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้ดุลพินิจเป็นไปอย่างรอบคอบและเป็นธรรม  ก็อาจบัญญัติให้ต้องได้รับความเห็นชอบจาก  คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)  ก่อนก็ได้./

                ---------------------------------------------------------


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลงวันที่   ๑  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๐ .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น