1/06/2555

ปรัชญาการเมือง กับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ

ปรัชญาการเมือง กับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ  [1]
                                                                                                           โดย...โสต  สุตานันท์

          ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครองนั้น    ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา  มี
นักปราชญ์  นักคิด  นักเขียน  คนสำคัญของโลก  ได้เสนอรูปแบบ ทฤษฎี หรือวิธีการแก้ไขปัญหาไว้มากมาย   ไม่ว่าจะเป็นโสกราติส  เพลโต  อริสโตเติล  แมคเคียเวลลี  ฮอบส์    จอห์นล็อค   รุสโซ  มาร์กซ์  เลนิน   เหมา เจ๋อ ตุง    ขงจื้อ  เหลาจื้อ ฯลฯ และบุคคลอันสำคัญยิ่งที่ลืมไม่ได้ ก็คือ  พระพุทธเจ้า   
                       หากผู้อ่านท่านใดเรียนจบทางด้านรัฐศาสตร์มา  ก็จะรู้ดีว่า   ปัญหาการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยหรือประเทศอื่นใดในโลก ณ ขณะนี้   ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับมนุษยชาติในอดีตเป็นพัน ๆปีมาแล้ว    ซึ่งไม่ว่าโลกเราจะก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีไปมากมายเพียงใดก็ตาม   แต่รูปแบบปัญหาหลัก ๆในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์โลก ไม่ว่าจะเป็นชาติ  ศาสนา  หรือ ภาษาใด  ก็จะยังคงเป็นอยู่เหมือนเดิมและเชื่อว่าคงจะเป็นอยู่ต่อไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย   คือ หนีไม่พ้นในเรื่องของรัก  โลภ  โกรธ  หลง กิเลส  ตัณหา  อำนาจ   ผลประโยชน์  ฯลฯ   
                       ผู้เขียนจึงเห็นว่า   ในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา  จึงควรที่จะศึกษารูปแบบหรือแนวคิดของปราชญ์ยุคต่าง ๆในอดีต  แล้วนำมาประมวล  ประยุกต์ หรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (  สำหรับทรรศนะของผู้เขียน มองว่า   แนวทางที่ดีที่สุดน่าจะได้แก่ การเดินสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา  ดังนั้น  ระบบที่ดีที่สุดน่าจะได้แก่  การนำหลักการตามระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมมาผสมผสานกับหลักการของระบบสังคมนิยมในสัดส่วนที่เหมาะสม  โดยเน้นให้ความสำคัญทั้งต่อปัจเจกชนและรัฐ)
          ในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น  ผู้เขียนเห็นว่า    เป็นอะไรที่สำคัญและลึกซึ้งอย่างมาก    เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎกติกาสูงสุดของมนุษย์ที่มาอยู่อาศัยร่วมกันเป็นสิบเป็นร้อยล้านชีวิต   รัฐธรรมนูญที่ดีจึงต้องมีคุณค่า  มีความหมาย  มีจิตวิญญาณและ มีอุดมการณ์ ที่สูงส่ง   การร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ เพียงแค่เรื่องของศาสตร์และศิลป์ธรรมดา   ดังนั้น  ผู้ร่างต้องมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมในทุก ๆด้าน  ไม่ใช่เพียงแค่มีความรู้หรือเรียบจบสูง ๆก็ร่างได้   ความรอบรู้ในเรื่องของสังคม    เศรษฐกิจ  การเมือง  ฯลฯ หรือศาสตร์ในทางวิชาการต่าง ๆ ถือเป็นเพียงคุณสมบัติขั้นพื้นฐานเท่านั้น 
           เหนือสิ่งอื่นใด  ผู้ร่างต้องต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ มีคุณธรรม จริธรรม มีจิตใจที่สูงส่ง  เป็นนักคิด  นักปราชญ์   นักจิตวิทยา ไม่ทะเยอทะยาน ( แต่อยากมี  อยากเป็นแบบคนมีสติ มีปัญญาและเมตตา)    มีความเป็นกลาง  มีสายตาที่ยาวไกล ไม่ฝักใฝ่การเมือง  หรืออยู่ในกลุ่มผลประโยชน์ใด  ฯลฯ     หากเราให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายมาช่วยกันร่าง   โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว  สุดท้าย เราก็จะได้เพียงแค่เอกสารชุดหนึ่งซึ่งบันทึกเงื่อนไขข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่อง  การต่อรองผลประโยชน์ และการต่อรองอำนาจระหว่างกัน   เท่านั้น  
                       ในโลกของความเป็นจริง   คงเป็นเรื่องยากที่จะเสาะหาบุคคลที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์เพียบพร้อมโดยไม่มีที่ติได้   แต่เราก็ต้องพยายามหาบุคคลที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้   อย่างน้อยที่สุดก็ต้องพยายามเสาะหาบุคคลที่มีคุณสมบัติดีเด่น  มีคุณสมบัติพิเศษในแต่ละด้านมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ   ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า  ในสังคมไทยเรามีคนดี ๆที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้เลือกอยู่ไม่น้อย
                       สำหรับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางด้านศาสตร์วิชาการแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีปัญหาเลย  เพราะบ้านเรามีคนเก่งอยู่มากมาย   แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ  เราค่อนข้างจะขาดผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะมาทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสานทางปัญญาให้มีการนำความรู้หรือศาสตร์ทางวิชาการต่าง ๆมาปรับใช้ในทางปฏิบัติหรือชีวิตจริงได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ   
                     ในอดีตเราเคยมี  พระพุทธทาสภิกขุ   แต่น่าเสียดายที่เราไม่ได้อาศัยบุญบารมีของท่านขณะมีชีวิตอยู่ให้มาช่วยกันรังสรรค์กฎหมายรัฐธรรมนูญของเราให้งอกงาม    ผู้เขียนเห็นว่า  ที่ผ่านมาสังคมไทยเราผิดพลาดอย่างหนึ่งคือ  เราแยกศาสนากับการเมืองออกจากกัน (แม้แต่พระภิกษุ สามเณร เราก็ไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง) ทั้ง ๆที่โดยธรรมชาติแล้วทั้งสองเรื่อง เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันจนไม่อาจแยกจากกันได้  
                     แต่โลกนี้ไม่มีคำว่าสายสำหรับคนที่มีปัญญา   ผู้เขียนเชื่อว่า  ณ  ปัจจุบันนี้   สังคมเราน่าจะยังพอมีผู้รู้  มีนักปราชญ์   มีนักการศาสนาที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณอยู่บ้าง  เราน่าจะพยายามค้นหา และขอให้ท่านเหล่านั้นมามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา  ก็คงจะดีไม่น้อย    อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเยียวยารักษาโรคทางจิตวิญญาณของสังคมไทย  ซึ่งกำลังอาการย่ำแย่อยู่ในขณะนี้  
         ผู้เขียนเห็นว่า   เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่ดีนั้น  ต้องเน้นหนักในเรื่องของ
ปรัชญา แนวคิด  อุดมการณ์  หรือจิตวิญญาณ เพื่อส่วนรวมเป็นสำคัญ    ส่วนเรื่องในทางปฏิบัตินั้น  ควรเขียนไว้เฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างแท้จริงเท่านั้นและต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกลมกลืนกับปรัชญาแนวคิดหรืออุดมการณ์หลัก    เหตุผลเพราะว่า    หากหลักการและเหตุผลตามรัฐธรรมนูญมีอุดมการณ์  มีเป้าหมายที่ถูกต้อง แน่วแน่ และชัดเจนแล้ว   การปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆไม่ว่าเรื่องใด  ย่อมดีตามไปด้วย   ในทางตรงข้าม   หากรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระที่สะเปะสะปะ   ไม่รู้ว่าอันไหนเป็นแก่นสาร  อันไหนเป็นเรื่องหลัก  อันไหนเป็นเรื่องรอง ปะปนกันไปหมด  ทั้งเรื่องที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม   การปฏิบัติย่อมไร้ทิศทางไปด้วย   
                            ผู้เขียนขอหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับปี  พ.ศ. ๒๕๔๐  ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่อง  สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค  มาเป็นตัวอย่างซัก  ๑  เรื่อง     รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ใน หมวด ๓  ตั้งแต่มาตรา  ๒๖ -  ๖๕   รวม  ๔๐  มาตรา   กล่าวเฉพาะมาตรา  ๓๐  บัญญัติไว้ว่า  บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย  และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน .............การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล  เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด  เชื้อชาติ  ภาษา เพศ อายุ....การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ ...............มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิ และเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม..........   
                         จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นว่า   รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญในเรื่องของความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก   ซึ่งโดยหลักการแล้ว   ประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในทุกเรื่องเท่าเทียมกัน   ส่วนข้อจำกัดตามมาตรการที่รัฐกำหนดขึ้น เป็นข้อยกเว้น   ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญ ๆหรือเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมเท่านั้น    แต่ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงปรากฏว่า   แม้แต่ในตัวรัฐธรรมนูญเองก็ได้บัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมากมาย  
                         อย่างเช่น  การกำหนดคุณสมบัติและข้อต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครเป็น  ส.ส.  ส.ว.  หรือผู้มีสิทธิได้รับการเลือกสรร  เป็น ก.ก.ต.   ป.ป.ช.  หรือ  ส.ต.ง.  ฯลฯ เป็นต้น    เอาเข้าจริง ๆสิทธิของประชาชนที่พอจะเท่าเทียมกันอยู่บ้างก็คงจะมีเฉพาะสิทธิในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น   คือ เราเอาข้อยกเว้นมาเป็นหลัก  เอาหลักไปเป็นข้อยกเว้นไปเสียหมด   ซึ่งหากเรายึดถืออุดมการณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือความเสมอภาพในวิถีทางที่ถูกต้อง ที่เป็นหลักสากลแล้ว   เราก็น่าจะบัญญัติเป็นหลักการไว้สั้น ๆเพียงว่า บุคคลผู้มีสิทธิสมัครหรือมีสิทธิได้รับการเลือกสรรในตำแหน่งต่าง ๆดังกล่าว   ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ  มีคุณธรรมจริยธรรม  มีคุณวุฒิ วัยวุฒิและคุณสมบัติต่าง ๆเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆเท่านั้น  ไม่ใช่ไปบัญญัติจำกัดเรื่องอายุ  อาชีพ ภูมิลำเนา  การศึกษา ฯลฯ และเรื่องต้องห้ามอื่น ๆอีกมากมายไว้ในรัฐธรรมนูญรกรุงรังเต็มไปหมด  อ่านไปอ่านมาเหมือนกับกำลังอ่านระเบียบการสมัครสอบเข้ารับราชการของ ก.พ.
                       เอาแค่เรื่องวุฒิการศึกษาอย่างเดียว  รัฐธรรมนูญถูกฉีกไปแล้ว   ตอนนี้ก็ยังถกเถียงกันไม่จบ  ผู้เขียนถามว่า   ในความเป็นจริง  ณ ปัจจุบันนี้  จะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น  ส.ส. หรือ ส.ว. ซักกี่คน  ที่ยังไม่จบชั้นปริญญาตรี   หรือหากจะมี  ถ้าบุคคลนั้นได้รับเลือกตั้ง  เขาก็ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน  เขาต้องมีดี มีความรู้ความสามารถอยู่ไม่น้อย  เพราะมิฉะนั้น  คนส่วนใหญ่ก็คงไม่เห็นพ้องต้องกันเลือกเขามา     แล้วเราจะหาเหตุผล  หาหลักปรัชญาแนวคิด หรือหลักทฤษฎีใดมาอธิบายได้ว่า   เพราะเหตุใดเราถึงไปจำกัดสิทธิของเขา  
            ผู้เขียนเห็นว่า หากเราบัญญัติเป็นหลักการกว้าง ๆไว้ดังข้อความที่ยกตัวอย่างดังกล่าว บุคคลที่ติดยาเสพติด  บุคคลล้มละลาย  เด็กอายุ  ๑๐ ปี  คนแก่อายุ  ๙๙   ปี   คนอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้   คนสัญชาติแอฟริกัน  หรือแม้กระทั่งคนที่มีภรรยาน้อย  ๔- ๕  คน  ฯลฯ  ย่อมไม่มีคุณสมบัติอย่างแน่นอน  โดยเราไม่จำเป็นต้องไปเขียนห้ามเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในกฎหมายใด ๆอีก 
           หากเราพยายามเขียนไว้เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาถกเถียงกันในภายหลัง  เชื่อได้เลยว่า  กฎหมายเราจะยาวอย่างมากและในทางปฏิบัติจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถเขียนครอบคลุมได้ทุกเรื่อง  อย่างไรก็ตาม  หากเราเห็นว่าประเด็นใดเรื่องใดมีความจำเป็นต้องกำหนดไว้  เพื่อประโยชน์หรือเพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ  อย่างเช่น เรื่องคุณสมบัติหรือข้อต้องห้ามบางประการของผู้สมัครดังกล่าว   เราก็ควรจะนำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูกต่าง ๆมากกว่า   การนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนอกจากจะเป็นการสร้างปัญหาและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแล้ว   ยังส่งผลทำให้รัฐธรรมของเราด้อยศักดิ์ศรี ด้อยคุณค่า  ขาดความขลัง ขาดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปอย่างมากเลยทีเดียว 
             กล่าวโดยสรุป  ผู้เขียนเห็นว่า ในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนั้น ควรบัญญัติไว้เฉพาะเนื้อหาสาระหลัก ๆที่สำคัญ ๆอย่างแท้จริงเท่านั้น อันได้แก่  เรื่องอุดมการณ์ของชาติ   ศาสนา  พระมหากษัตริย์  อำนาจอธิปไตย  ลัทธิการปกครอง สิทธิเสรีภาพของประชาชน  และโครงสร้างหลักในการบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวม     ควรหลีกเลี่ยงการบัญญัติในเรื่องที่เกี่ยวกับทางปฏิบัติ และเนื้อหาสาระในรายละเอียดปลีกย่อย ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรหรือสถาบันต่าง ๆที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ออกกฎหมายลูกในภายหลังกันเอาเอง
         ท้ายนี้  ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตเป็นบทสรุปส่งท้ายเพื่อฝากเป็นแง่คิดสำหรับท่านผู้อ่าน   ๒  เรื่อง  คือ  
เรื่องแรก  -   ผู้เขียนเห็นว่า   แท้จริงแล้วที่ผ่านมาปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เกิดจาก คน  มากกว่า  ระบบ  หรือตัวบทกฎหมายหมาย   ในภาพรวมแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐  เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมากฉบับหนึ่ง  แต่ปัญหาเกิดจากคนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมากกว่า   ผู้เขียนไม่ขอพูดในรายละเอียด  เพราะเชื่อว่าทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว  แต่ขออนุญาตยกตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนซักเรื่องหนึ่ง คือ เกี่ยวกับเรื่อง  หวยใต้ดิน-บนดิน    
       รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐  มาตรา ๗๓  บัญญัติไว้ว่า  รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น.......รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต  จากบทบัญญัติดังกล่าว  หากเรายึดถือหลักการ แนวคิด ที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ   เราก็จะตั้งโจทก์ไว้ว่า   การพนันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง   เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย  ขัดกับหลักธรรมของศาสนาและก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมมากมายมหาศาล   ดังนั้น   คำตอบที่ได้ก็คือ  เราต้องพยายามลดการเล่นการพนันทุกชนิดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เช่น  พยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา   ปัญหาอยู่ที่การศึกษา   อาชีพ  ผู้มีอิทธิพล  ตำรวจ ฯลฯ  ก็ต้องแก้ที่ต้นตอ   อย่างน้อยที่สุด  หากแก้ไม่ได้  ก็อย่าให้มันเพิ่มขึ้นอีกก็ยังดี   โดยถือคติว่า  ว่ายต่อไปแม้จะยังไม่เห็นฝั่ง   
         แต่ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ผู้ใช้รัฐธรรมนูญกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม  โดยไปตั้งโจทก์ไว้ว่า    การพนันเป็นเรื่องธรรมดา  เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน  ยังไง ๆก็แก้ปัญหาไม่ได้  และเห็นว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน   คำตอบที่ได้ก็คือ  อย่ากระนั้นเลย   ไหน ๆก็ห้ามไม่ได้แล้ว อนุญาตให้เล่นกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปเสียเลยและเพื่อให้ได้เงินมากที่สุด  ต้องพยายามหาเทคนิควิธีการให้คนเล่นหวยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  จึงเป็นบ่อเกิดแห่งแนวคิดเรื่อง  รางวัลแจ๊คพ็อต  ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้     ผลเสียหายจึงเกิดขึ้นต่อสังคมไทยอย่างมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม   ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า  แนวทางแก้ไขปัญหาของสังคมไทยในอนาคตจึงต้องเน้นการแก้ปัญหาที่คนเป็นสำคัญ  ไม่ใช่ไปเน้นที่ ระบบ หรือ กฎหมายเหมือนเช่นที่ผ่านมา 
    เรื่องที่สอง      ผู้เขียนเห็นว่า   การเมือง   เป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากสังคมมนุษย์      มีมนุษย์ที่ไหนก็มีการเมืองที่นั่น    มันเป็นธรรมชาติ   เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการประสานผลประโยชน์   เป็นการจัดระเบียบสังคมให้มนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข และมันเป็นสัญชาติญาณของการเอาตัวรอดของสัตว์โลก    โดยเฉพาะสังคมที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย    จะเห็นภาพของการเมืองอย่างชัดเจน    
     ในทรรศนะของผู้เขียน  คำว่า  การเมือง     นั้น    ในมุมมองของคนในสังคมที่มีระดับการพัฒนาการทางจิตใจและปัญญาสูง  การเมืองจะมีความหมายในทางบวก     คือ   หมายถึง   การพยายามจัดสรรผลประโยชน์ในทุก ๆด้าน ทุก ๆเรื่อง ให้แก่ทุกคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมให้มากที่สุด   การตัดสินใจในเรื่องต่าง  ๆจึงต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียของทุกคนในสังคม    ไม่ใช่เน้นหนักเฉพาะเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือกลุ่มของตนเอง  หากเรื่องใดแม้ตนเองจะต้องเสียแต่ถ้าเกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมก็จำเป็นต้องยอมเสีย    หากยึดหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด   สุดท้ายทุกคนในสังคมก็จะได้มากกว่าเสีย   สังคมย่อมมีแต่ความสงบสุข  
            ในทางตรงกันข้าม   มุมมองของคนในสังคมที่มีระดับพัฒนาการทางจิตใจและปัญญาไม่ดีเท่าที่ควร      ความหมายของคำว่า การเมือง จะเป็นไปในทางลบ   กล่าวคือ   หมายถึง  การพยายามแก่งแย่งแข่งขัน  พยายามช่วงชิงผลประโยชน์ให้ตนเองหรือกลุ่มของตนเองให้มากที่สุด  โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบหรือความเดือดร้อนของคนอื่น  ซึ่งเมื่อต่างคนต่างแย่งชิงเอาเปรียบกัน   ก็เป็นธรรมดาที่การแก่งแย่งแข่งขันย่อมรุนแรงขึ้นเรื่อย  ๆ   สุดท้ายทุกคนในสังคมก็จะเสียมากกว่าได้   สังคมย่อมมีแต่ความวุ่นวาย   ไม่สงบสุข  
           แน่นอนว่า การเมือง“  ที่ทุกคน ทุกสังคม ปรารถนา คือ การเมืองที่มีความหมายในทางบวกในทางที่สร้างสรรค์   แต่การที่จะได้มาซึ่งสังคมในอุดมการณ์ดังกล่าว   ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ   ในโลกของความเป็นจริง   ไม่มีพระเอกคนใดที่จะขี่ม้าขาวมาช่วยเราได้หรอก   พวกเราต้องช่วยกันเอง   ก็ขอภาวนาให้สังคมไทยตื่นจากความฝันเสียทีเถิด./ 


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลง วันที่ ๘ พฤศจิกายน  ๒๕๔๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น