1/05/2555

การไกล่เกลี่ยแนวพุทธ &สากล

การไกล่เกลี่ยแนวพุทธ &สากล[1]
                                                                                                                           โดย โสต  สุตานันท์ [2]

                   สืบเนื่องจากผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปฝึกอบรมหลักสูตร การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  ณ   มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์  ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองลอสแองเจลลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย  ประเทศสหรัฐอเมริกา   ในช่วงระหว่างวันที่    ๒๕ สิงหาคม  -  ๔  กันยายน   ๒๕๕๒   ที่ผ่านมา   ก็ถือว่าได้รับความรู้  ประสบการณ์และก่อให้เกิดแนวความคิดใหม่ ๆขึ้นมาบ้างตามสมควร  อย่างไรก็ตาม  ผู้เขียนก็เห็นว่า  การที่จะนำเอาองค์ความรู้ของต่างประเทศมาปรับใช้ในบ้านเมืองเรานั้น  ต้องพิจารณาใคร่ครวญดูให้ดี  คำนึงถึงเงื่อนไขปัจจัยและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนรอบด้าน   หากเรานำมาใช้อย่างไม่ระมัดระวัง  บางครั้งบางทีก็อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีก็เป็นได้   ข้อกังวลห่วงใยของผู้เขียนดังกล่าว ไม่ได้คิดขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย ไร้เหตุผล  แต่มีนักคิด นักปราชญ์ มีผู้รู้ที่สังคมให้การยอมรับนับถือหลายท่านเคยให้แง่คิดมุมมองและเตือนสติไว้ในที่ต่าง ๆมากมายหลายแห่ง  ในที่นี้  ขอหยิบยกคำกล่าวของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์  (ป.อ.ปยุตโต)  มาอ้างอิง ดังนี้ คือ [3]
                                ...เราต้องรู้จักตนเอง  ซึ่งหมายถึงว่า ต้องรู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง  โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าอะไรเป็นคุณค่าที่แท้จริง  อะไรเป็นสิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนแก้ไข  ควรทิ้ง หรือควรเสริมเพิ่มขึ้นมา   ในแง่ของวัฒนธรรมอื่น  ก็ต้องรู้จักว่าที่เขาเจริญนั้นเป็นอย่างไร  แยกแยะวิเคราะห์ออกดูว่า  ส่วนไหนแน่ที่เป็นความเจริญ  กันส่วนอื่นที่ไม่เป็นความเจริญออกไป   อะไรเป็นความเสื่อมท่ามกลางภาพของความเจริญนั้น และสืบค้นว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ  อะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมนั้น ๆของเขา   ไม่ใช่เห็นวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา  เมื่อยอมรับกันหรือนิยมกันแล้วว่า  อันนี้เป็นวัฒนธรรมของประเทศที่เจริญแล้ว ก็ต้องว่าดีและรับเอาไปเสียทั้งหมด  ซึ่งจะกลายเป็นว่าไม่ได้ใช้สติปัญญากันเลย...
                                ในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี  พ.ศ. ๒๕๕๐  ผู้เขียนเคยได้ยินได้ฟังนักวิชาการหลายท่านวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านในประเด็นเกี่ยวกับการให้ศาลมีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎรได้  ซึ่งส่วนใหญ่ท่านเหล่านั้นมักจะให้ความเห็นเพียงสั้น ๆว่า  จากการตรวจสอบไม่ปรากฏว่า มีประเทศใดในโลกที่ให้อำนาจศาลทำเช่นนั้นได้   โดยไม่ได้ให้เหตุผลประกอบเลยว่า  การให้ศาลมีอำนาจดังกล่าว  ไม่ถูกต้องเหมาะสมหรือก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างไร    อันเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาของสังคมไทยที่มักจะไม่เชื่อมั่นในภูมิปัญญาแนวคิดของคนไทยด้วยกันเอง  ในทางตรงกันข้ามกลับไปให้ความสำคัญกับแนวความคิดความเห็นของผู้คนในต่างประเทศมากยิ่งกว่า    สิ่งไหนที่เขาทำเขามีก็มักจะคิดว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ควรเอาแบบอย่างปฏิบัติตาม แต่ถ้าเขายังไม่ทำไม่มีก็มักจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า  น่าจะมีปัญหา  หากใครคิดริเริ่มเสนอขึ้นมาก็จะคัดค้านทันที  โดยไม่ได้คิดศึกษาตรวจสอบเพื่อให้รู้เขา รู้เรา อย่างถ่องแท้ชัดเจนเสียก่อน    ผู้เขียนเห็นว่า   ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีจุดเริ่มต้นเสมอ  แล้วทำไมเราไม่แสดงความเป็นผู้นำด้วยการคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆขึ้นมา และให้คนอื่นเขาเดินตามบ้างล่ะ ทำไมต้องคอยเดินตามคนอื่นเขาอยู่ร่ำไป
                   จากเหตุผลดังที่กล่าวมา  หลังกลับจากการฝึกอบรม  ผู้เขียนจึงคิดตั้งโจทก์ไว้ในใจว่า   เราจะนำเอาองค์ความรู้จากต่างประเทศมาปรับใช้กับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในบ้านเมืองเราให้เหมาะสมลงตัวและมีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร  ต่อไปนี้  เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนพยายามคิดค้นขึ้นมา  โดยนำเอาหลักการแนวคิดแห่งศาสนาพุทธมาทดลองปรับใช้กับองค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากการฝึกอบรม   จะถูก จะผิด จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร  ขอท่านผู้อ่านได้โปรดช่วยกันวิเคราะห์ วิจารณ์ดูก็แล้วกันนะครับ
                                 ก่อนอื่นขอกล่าวถึงสถานที่ที่ผู้เขียนและคณะไปฝึกอบรมกันก่อนสักเล็กน้อย    หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม  ได้แก่  สถาบันระงับข้อพิพาทสเตราส์ ( Straus  Institute  of  Dispute  Resolution )  ซึ่งอยู่ในความดูแลของคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์  ( Pepperdine    University  School  of  Law )   จากผลงานที่ผ่านมา  ปรากฏว่า  สถาบันดังกล่าว ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถาบันศึกษาด้านการระงับข้อพิพาทอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาถึงห้าปีติดต่อกัน  อีกทั้ง  จากข้อมูลที่ได้รับทราบจากวิทยากร  เคยมีคณะบุคคลผู้สนใจงานด้านการไกล่เกลี่ยจากหลายประเทศพากันไปศึกษาดูงานที่นั่นจำนวนมาก   ดังนั้น  จึงน่าจะถือได้ว่าสถาบันระงับข้อพิพาทสเตราส์ เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในระดับสากลแห่งหนึ่งของโลก   ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่มาประการหนึ่งสำหรับการคิดตั้งชื่อเรื่องบทความนี้
                               ต่อไปผู้เขียนขอสรุปเนื้อหาสาระเกี่ยวกับรูปแบบแนวทางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักสูตรที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมมา พอสังเขป ดังนี้  คือ [4]   
                            หลักการแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ได้รับการกล่าวอ้างถึง  คือ แนวคิดของศาสตราจารย์  Leonard  Riskin  แห่งคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  โดย Riskin   ได้แยกแยะแนวทางหรือมิติในการทำงานของผู้ไกล่เกลี่ยไว้  คือ  
                                   มิติแรก - การกำหนดแนวทางในการทำงานแบบแคบ  ( Narrow  Orientation  และแบบกว้าง (Broad Orientation )  
                                ผู้ไกล่เกลี่ยที่มีแนวทางในการทำงานแบบแคบจะมีสมมุติฐานว่า  คู่พิพาทต้องการให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเฉพาะทางเทคนิคหรือข้อกฎหมายเป็นหลัก    ซึ่งโดยปกติแล้วประเด็นปัญหาดังกล่าวมักจะมีการวางกรอบแนวคิดไว้ก่อนแล้วโดยทนายความหรือที่ปรึกษาของคู่พิพาท   ผู้ไกล่เกลี่ยจะคิดว่า  ตนมีหน้าที่เพียงคาดการณ์ว่า  ใครจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะตามข้อมูลที่มีอยู่หากให้ศาลตัดสิน หรือน่าจะช่วยประสานประโยชน์ระหว่างคู่พิพาทได้อย่างไรเท่านั้น     ขณะที่ผู้ไกล่เกลี่ยที่มีแนวทางการทำงานแบบกว้างจะมองไปไกลกว่าประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่คู่พิพาทนำมาให้พิจารณา  โดยจะดูว่ามีผลประโยชน์พื้นฐานอื่น ๆที่น่าจะเป็นทางออกที่สร้างสรรค์และทำให้ได้ผลลัพธ์อันเป็นที่พอใจแก่คู่กรณีทุกฝ่ายอีกหรือไม่    ตัวอย่างเช่น   ประเด็นในแง่ของจิตใจ  ความสัมพันธ์   ศาสนา  วัฒนธรรม  ประเพณี  ฯลฯ  เป็นต้น
                                 มิติที่สอง  -  การกำหนดแนวทางในการทำงานแบบประเมินผล (Evaluative)  และแบบผู้สนับสนุน (Facilitative
                                ผู้ไกล่เกลี่ยที่เน้นการทำงานแบบประเมินผล มักจะเข้าใจว่า  คู่พิพาทอยากได้ความเห็นของผู้ไกล่เกลี่ยที่จะช่วยประเมินว่า  ทางออกเช่นใดจึงจะเป็นธรรมหรือน่าจะเหมาะสมแก่กรณี  ดังนั้น ผู้ไกล่เกลี่ยแบบนี้จึงมีแนวโน้มที่มักจะแสดงความคิดความเห็น  ชี้ให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละฝ่าย รวมทั้งพยายามเสนอหาทางออกให้คู่พิพาทอยู่ตลอดเวลาในช่วงของการไกล่เกลี่ย     ขณะที่ผู้ไกล่เกลี่ยซึ่งมีแนวทางการทำงานแบบผู้สนับสนุน  มักจะหลีกเลี่ยงการให้ความเห็นใด ๆเกี่ยวกับความชอบธรรมหรือทางออกที่ควรจะเป็นในข้อพิพาทและจะไม่กำหนดกรอบการวินิจฉัยปัญหาให้คู่พิพาทพิจารณา  แต่จะพยายามส่งเสริมให้มีการสื่อสารระหว่างคู่พิพาทให้มากที่สุด แล้วให้คู่พิพาทตัดสินใจหาทางออกร่วมกันเอง 
                    เมื่อนำแนวทางทั้งสองมิติมาวิเคราะห์รวมกัน  ก็พอสรุปได้ว่า  ลักษณะบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยจะมีอยู่  ๔  แบบ คือ    
                      ๑.)  แบบประเมินผลอย่างแคบ ( Evaluative  Narrow  )  บทบาทที่ผู้ไกล่เกลี่ยแสดงออก คือ
             -  กระตุ้นหรือผลักดันให้คู่กรณียอมรับกรอบข้อตกลงที่จำกัด  (ตามจุดยืนของแต่ละฝ่าย)
             - ปรับปรุงและเสนอข้อตกลงอย่างแคบ  (ตามจุดยืนของแต่ละฝ่าย)
             - คาดการณ์ผลของคดีหากขึ้นสู่ศาล
             - ประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของข้อเรียกร้องตามกฎหมาย 
                      ๒.)  แบบประเมินผลอย่างกว้าง ( Evaluative  Broad  )    บทบาทที่ผู้ไกล่เกลี่ยแสดงออก คือ
            -  กระตุ้นหรือผลักดันให้คู่กรณียอมรับกรอบข้อตกลง  (ตามส่วนได้เสียของแต่ละฝ่าย )   
            -  ปรับปรุงและเสนอข้อตกลงอย่างกว้าง  (ตามส่วนได้เสียของแต่ละฝ่าย )
            -  คาดการณ์ผลกระทบต่อส่วนได้เสียของคู่กรณีหากไม่ยอมตกลงกัน 
            -  ตรวจสอบส่วนได้เสียของคู่กรณี
                      ๓.)  แบบสนับสนุนอย่างแคบ  (Facilitative  Narrow)  บทบาทที่ผู้ไกล่เกลี่ยแสดงออก คือ
             -  ช่วยคู่กรณีตรวจสอบข้อเสนอของแต่ละฝ่าย 
             -  ช่วยคู่กรณีปรับปรุงข้อเสนออย่างแคบ  (ตามจุดยืนของแต่ละฝ่าย )
             -  สอบถามคู่กรณีถึงผลกระทบหากไม่ตกลงกัน 
             -  สอบถามคู่กรณีถึงแนวโน้มผลของคดีหากขึ้นสู่ศาล   
             -  สอบถามจุดแข็งและจุดอ่อนของข้อเรียกร้องตามกฎหมาย
                       ๔.)  แบบสนับสนุนอย่างกว้าง  (Facilitative  Broad)   บทบาทที่ผู้ไกล่เกลี่ยแสดงออก คือ
              -  ช่วยคู่กรณีตรวจสอบข้อเสนอของแต่ละฝ่าย 
              -  ช่วยคู่กรณีปรับปรุงข้อเสนออย่างกว้าง  (ตามส่วนได้เสียของแต่ละฝ่าย ) 
              -  ช่วยคู่กรณีปรับปรุงทางออกหรือทางเลือก 
              -  ช่วยคู่กรณีทำความเข้าใจทางเลือกต่าง ๆและส่วนได้เสียของแต่ละฝ่าย  
              -  เน้นการพูดคุยถึงส่วนได้เสียที่แท้จริง รวมถึงผลกระทบทางสังคม
                     อนึ่ง   พึงมีข้อสังเกตว่า  ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงนั้น  อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบแนวทางตามช่วงจุดต่าง ๆของการไกล่เกลี่ยได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณี เช่น  ลักษณะของประเด็นปัญหา  ความรู้  ความเข้าใจ หรือความต้องการของคู่กรณี  ความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ไกล่เกลี่ยเกี่ยวกับประเด็นปัญหา  ข้อจำกัดในเรื่องของเวลา  ฯลฯ  เป็นต้น   บางครั้งบางทีผู้ไกล่เกลี่ยบางคนอาจเริ่มต้นด้วยการไกล่เกลี่ยแบบสนับสนุนอย่างกว้าง แต่ไปจบที่แบบประเมินผลอย่างแคบก็เป็นได้  นอกจากนั้น  ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ    สำหรับผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นผู้พิพากษานั้น   แนวโน้มส่วนใหญ่มักจะถนัดเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแบบประเมินผลอย่างแคบมากกว่า  ซึ่งในข้อนี้ก็คงจะไม่แตกต่างจากบ้านเรามากนัก 
        สำหรับแนวทางของสถาบันระงับข้อพิพาทสเตราส์นั้น  จะเน้นบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยแบบสนับสนุนเป็นสำคัญ โดยมีกระบวนการขั้นตอนที่เป็นจุดขายของสถาบันเรียกว่า   การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบ  STAR ”  The  STAR  Approach  to  Facillitated   Conflict  Resolution )    ดังปรากฏตามตาราง

ขั้นตอน (Stage)
ภาระงาน (Task)
       (ทำอะไร )
การดำเนินการ(Action)
           (ทำอย่างไร )
  ผลลัพธ์   (Result)
๑.) การพบปะกัน
   (Convening)
-  จัดการให้คู่พิพาทได้พบกัน
-  สร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจให้คู่พิพาทในการเข้าสู่กระบวนการ
-  โทรศัพท์ติดต่อ
-   มีหนังสือแจ้งไป
-   การนัดพบคู่พิพาท
-   ชี้แจงทำความเข้าใจ
      ความเต็มใจ 
(Willingness)
๒.) การเริ่มกระบวนการ            
    (Opening)
-  สร้างบรรยากาศในเชิงบวก
-  ลดความตึงเครียด ความวิตก กังวล  อารมณ์โกรธ ไม่พอใจ
-  สร้างความร่วมมือในการไกล่เกลี่ย
-  จัดสถานที่และบรรยากาศให้เหมาะสม
-  แนะนำตัวและกล่าวเปิดอย่างสร้างสรรค์ น่าเชื่อถือ
-  ชี้แจงขั้นตอนกระบวนการและเงื่อนไขกติกาให้ชัดเจน
ความมั่นใจและความหวัง
(Safety & Hope )
๓.) การสื่อสาร(communicating)
- ทำให้เกิดการสื่อสารสองทางที่มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์
-  กระตุ้นให้คู่พิพาทพูดหรือระบายความในใจ
-  ส่งเสริมให้คู่พิพาทพยายามฟัง ทำความเข้าใจ และแสดงให้เห็นว่าเข้าใจความคิดของอีกฝ่าย
-  การฟังอย่าง ตั้งใจ
-  การใช้ภาษากาย
-  การพูดซ้ำ
-  การใช้คำพูดใหม่
-  การสรุป
-  การขยายความ
-  การตั้งคำถาม
การแสดงออกและความเข้าอกเข้าใจ
( Expression & Understanding )
๔.)  การเจรจา
  (Negotiating)

- แยกแยะประเด็นความสัมพันธ์ออกจากประเด็นเนื้อหาสาระที่พิพาท (แยกอารมณ์ออกจากปัญหา)
- ค้นหาประเด็นข้อพิพาทและความต้องการที่แท้จริง
-ระดมความเห็น สร้างข้อเสนอเพื่อหาทางออก

- การประชุมร่วมกัน  (Joint  session )
- การประชุมฝ่ายเดียว
(Caucus session )
- การต่อรองแบบแยกส่วน
(Distributive  Bargaining )
- การต่อรองแบบกลุ่ม
( Integrative Bargaining )
การยืดหยุ่น และการสร้างสรรค์ 
( Flexibility & Innovation )
๕.) การสรุป
   (Closing)
- ตรวจสอบข้อเสนอและทางเลือกทั้งหมด
-  ตัดสินใจหาทางออกที่ดีที่สุด ด้วยความสมัครใจ
-   สร้างข้อตกลงที่สมบูรณ์(จัดการทุกประเด็น  ลดโอกาสข้อพิพาทในอนาคต ชัดเจนแน่นอน  ไม่ผิดกฎหมาย  ปฏิบัติได้จริง ) 
- ใช้หลักเกณฑ์อ้างอิงที่เป็นภาวะวิสัย
-  ชี้ให้เห็นข้อดี ข้อเสีย โดยละเอียด  ทุกแง่มุม
-  ให้คู่พิพาทตัดสินใจเอง
-  ช่วยเหลือแนะนำการทำข้อตกลง
การตัดสินใจอย่างเข้าใจรอบด้าน
 ( Informed Decision )
                    
                         ที่กล่าวมาก็เป็นสาระสำคัญโดยสรุปพอสังเขป เพียงเพื่อให้เห็นกระบวนการขั้นตอนในภาพรวม สำหรับนำไปปรับวิเคราะห์ตามโจทก์ที่ผู้เขียนตั้งไว้ข้างต้นเท่านั้น   ต่อไปเรามาดูแนวทางการจัดการความขัดแย้งหรือข้อพิพาทตามหลักการแห่งศาสนาพุทธในบ้านเรากันบ้างว่า  มีกระบวนการขั้นตอนเป็นอย่างไร 
                        แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงคำว่า ความขัดแย้งหรือข้อพิพาท ย่อมหมายถึง  ความทุกข์ ของคู่กรณี  และเมื่อพูดถึงคำว่า ทุกข์ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายย่อมนึกถึงคำว่า  อริยสัจสี่  ซึ่งเป็นหลักหรือระบบใหญ่ที่ครอบคลุมกระบวนการในการแก้ไขปัญหาทั้งมวล    ซึ่งในการนำหลักอริยสัจสี่ไปปรับใช้กับกระบวนการแก้ไขปัญหานั้น  ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการแก้ไขปัญหาเรื่องไฟไหม้ไว้อย่างน่าสนใจ  ดังนี้ คือ [5]
               ๑.)   ทุกข์    คือ  ไฟไหม้  ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน
               ๒.)  สมุทัย   คือ   การสืบสาวหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์   ซึ่งกรณีไฟไหม้นี้  จะเห็นได้ว่า   มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ไฟลุกไหม้ตามกระบวนการของธรรมชาติ  คือ   เชื้อเพลิง ก๊าซออกซิเจน  และมีอุณหภูมิที่สูงพอ
                  ๓.)  นิโรธ    คือ  การเล็งจุดหมายหรือตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า  เราจะดับไฟโดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมชาติได้อย่างไร   ทั้งนี้  จะต้องสัมพันธ์กับความจริงและวิสัยของเราที่จะทำได้ด้วย  กล่าวคือ   เราจะเอาข้อให้ไม่มีออกซิเจน   ทำให้อุณหภูมิต่ำ  หรือจะให้ไม่มีเชื้อเพลิง หรือเอาทั้งสามอย่าง  เอาข้อไหนเด่น ข้อไหนรอง
                 ๔.)  มรรค    คือ   วิธีการหรือหนทางในการจัดการดับทุกข์   เป็นขั้นตอนของการวางวิธีปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดผลตามที่ตั้งจุดหมายไว้ในข้อนิโรธ   ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีรูปแบบวิธีการต่าง ๆมากมาย    เช่น  ต้องจัดซื้อรถดับเพลิง  มีถังเก็บน้ำ  ท่อสายยาง  บันได  การฝึกฝนพนักงานดับเพลิงให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและความพร้อมในการทำงาน   เป็นต้น
                        หากเทียบเคียงกับตัวอย่างดังกล่าว   ถ้าเรานำเอาหลักอริยสัจสี่มาปรับใช้กับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็น่าจะเป็นว่า
                     ๑.)   ทุกข์  คือ   ปัญหาข้อพิพาทหรือความขัดแย้งระหว่างคู่กรณี  ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด   ความสูญเสียในเรื่องของเวลา  ค่าใช้จ่าย โอกาส และประโยชน์ต่าง ๆมากมาย 
                    ๒.)  สมุทัย  คือ  เหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดข้อพิพาทหรือความขัดแย้ง   ซึ่งเมื่อสืบสาวลงไปก็จะพบว่า  มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย  แต่เมื่อพูดครอบคลุมอย่างกว้าง ๆ  จะมีสาเหตุหลักอยู่ที่กิเลสของมนุษย์  ๓  ประการ  คือ [6]
                           ๒.๑  ตัณหา  คือ  ความอยากได้ใคร่มีเพื่อตัวเอง  ความเห็นแก่ตัว  แสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน  เงินทอง หรือ สิ่งบำรุงบำเรอตนเองทั้งหลายทั้งปวง    
                          ๒.๒  มานะ  คือ  ความอยากเด่นเป็นใหญ่  อยากมีอำนาจวาสนา   มีเกียรติยศชื่อเสียง   ปรารถนาจะครอบงำผู้อื่น   
                          ๒.๓   ทิฏฐิ  คือ   ความยึดติดในความเชื่อ  ลัทธิ   ศาสนา  หรือแนวคิดอุดมการณ์ที่ยึดมั่นถือมั่นไว้  ไม่ยอมรับฟังความคิด  ความเห็นของคนอื่น  ก่อทัศนคติแบบแบ่งแยก 
               ตัณหา มานะ ทิฏฐิ   เป็นตัวการทำให้เกิดอกุศลมูล คือ ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  และทำให้เกิดความกลัว  ความหวาดระแวง  ความไม่ไว้ใจกัน  ท้ายที่สุด  ความขัดแย้งก็จะตามมา                       
             ๓.)  นิโรธ  คือ  การเล็งจุดหมายหรือตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า  เราต้องการสิ่งใด   จะจัดการกับเหตุปัจจัยในข้อใดบ้าง และประเมินว่าจะทำได้แค่ไหน เพียงใด  ซึ่งสำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้น  เป้าหมายสูงสุด น่าจะได้แก่   การทำให้ข้อพิพาทยุติลงได้ในลักษณะก่อให้เกิดสันติสุขหรือประสานสอดคล้องกลมกลืนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว (harmonize) หมายถึงว่า   การทำให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ชนะ  สามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาทได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์  ด้วยการทำให้คู่พิพาทเข้าใจตนเองและคู่กรณี  รู้แจ้งเห็นจริงถึงเหตุแห่งทุกข์ คือ พิษภัยของ ตัณหา มานะ และ ทิฏฐิ   สามารถขจัดอกุศลมูล โลภะ  โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจได้ทั้งหมด  ทำให้คู่พิพาทมองเห็นประโยชน์ที่ยั่งยืนหรือจุดหมายใหญ่ที่อยู่เหนือขึ้นไปอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง   
                            สำหรับเป้าหมายรองลงมา น่าจะได้แก่   การทำให้ข้อพิพาทยุติลงได้ด้วยการประนีประนอมหรือประสานผลประโยชน์ในลักษณะพบกันครึ่งทาง หรือ ถอยกันคนละก้าว  (Compromise)  หมายถึงว่า   กรณีไม่สามารถทำให้ข้อพิพาทยุติลงตามเป้าหมายสูงสุดได้    อย่างน้อยที่สุดก็ต้องพยายามทำให้คู่พิพาทลดความต้องการหรือจุดยืนในเรื่องตัณหา มานะ ทิฏฐิ ของตนให้อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับกันได้  
                            ส่วนประเด็นปัญหาที่ว่าเราจะจัดการกับเหตุปัจจัยใดได้บ้าง และจะทำได้แค่ไหน  เพียงใด นั้น  เห็นว่า  เราต้องวิเคราะห์แยกแยะให้ได้ว่า  ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีมีต้นเหตุมาจากเหตุปัจจัยข้อใดบ้าง  ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว  ส่วนใหญ่ความขัดแย้งทั้งหลายมักจะเกิดจากทั้งเรื่องของตัณหา  มานะ  ทิฏฐิ รวมกัน   แต่อาจมีน้ำหนักมากน้อยต่างกัน   เมื่อทราบต้นสายปลายเหตุที่ชัดเจนแล้ว  จึงค่อยวางแผนแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด และประเมินเป้าหมายที่สามารถทำได้ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด 
                     ๔.)  มรรค  คือ   วิธีปฏิบัติหรือเทคนิควิธีการในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในข้อนิโรธ   ซึ่งในหลักพระพุทธศาสนามีแนวทางคำสอนมากมายที่สามารถนำไปปรับใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประสบผลสำเร็จ  เช่น หลักศีล ๕  ศีล ๘  หลักพรหมวิหาร  ๔   อิทธิบาท ๔  สังคหวัตถุ ๔  อปริหานิยธรรม  ๗  สัปปุริสธรรม  ๗  อคติ ๔   ทศพิศราชธรรม ฯลฯ เป็นต้น
                         จากรูปแบบแนวทางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบ  STAR ของสถาบันระงับข้อพิพาทสเตราส์ แห่งมหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ดังกล่าวข้างต้น  เมื่อนำมาปรับวิเคราะห์กับหลักอริยสัจสี่แห่งศาสนาพุทธ  ก็จะเห็นได้ว่า   กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบ  STAR  ก็คือ  ขั้นตอนตามหลักอริยสัจสี่ที่เรียกว่า มรรค นั่นเอง ดังนั้น การที่เราจะนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบ  STAR มาปรับใช้ให้ได้ผลและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้   จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการแก้ไขปัญหาตามวิธีการแห่งอริยสัจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งด้วย  
                             ตัวอย่างเช่น   การค้นหาความต้องการที่แท้จริง (Interest) ของคู่พิพาทนั้น  แท้จริงแล้วก็คือ  การค้นหากิเลสของคู่พิพาท คือ  ตัณหา  ทิฏฐิ   มานะ นั่นเอง  ซึ่งโดยหลักการแล้ว  เมื่อเราทราบถึงกิเลสความต้องการของคู่พิพาท  ก็ต้องพยายามหาวิธีขจัดกิเลสเหล่านั้นให้ออกไปจากจิตใจคู่พิพาทให้ได้  ทั้งนี้ เพื่อให้การไกล่เกลี่ยประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายสูงสุดถึงขั้น  harmonize  หรือมิฉะนั้นก็ต้องพยายามลดกิเลสของคู่พิพาทให้น้อยลง  จนอยู่ในขั้นที่สามารถ compromise กันได้ดังกล่าวข้างต้น    ซึ่งในข้อนี้  ดูเหมือนว่า  แนวคิดของฝรั่งจะแตกต่างจากบ้านเรา กล่าวคือ  เหตุผลที่เขาพยายามค้นหาความต้องการที่แท้จริงของคู่พิพาทก็เพื่อจะได้คิดหาวิธี  สนองกิเลส ความต้องการของคู่พิพาทให้ตรงจุด  ไม่ได้มีเจตนาเพื่อมุ่ง  ลดกิเลส  เหมือนของเรา   ดังนั้น  หากจะวิเคราะห์กันด้วยเหตุด้วยผลแล้ว  เชื่อว่า คงเป็นไปได้ยากที่กระบวนการไกล่เกลี่ยของฝรั่งจะบรรลุผลสำเร็จถึงขั้น harmonize ได้  เพราะโจทก์ของเขาคือ  ใครควรจะได้อะไร จำนวนเท่าไหร่และจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายได้มากกว่าเสีย    ขณะที่โจทก์ของเรา คือ   คู่กรณีทุกฝ่ายควรจะร่วมกันเสียสละเรื่องอะไรได้บ้าง  จำนวนเท่าไหร่  อย่างไร  แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว  ก็มีนัยยะความหมายเดียวกัน คือ   การทำให้สมประโยชน์สูงสุดตามความต้องการของคู่พิพาท    แต่ก็เห็นว่า   หลักการแนวคิดของเราน่าจะเป็นแนวทางที่สร้างสรรค์และก่อให้เกิดประโยชน์ที่สมบูรณ์  ยั่งยืน และสร้างสันติสุขที่แท้จริงได้มากยิ่งกว่า 
                                เกี่ยวกับเรื่อง harmonize  และ compromise  นี้   ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างลึกซึ้งน่าสนใจ   ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า  นอกจากจะนำไปปรับใช้กับเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแล้ว  ยังน่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ยุ่งยากวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ได้เป็นเป็นอย่างดีด้วย   โดยท่านได้แสดงทรรศนะไว้ดังนี้ คือ  [7]
                       การประนีประนอมนี้เป็นเรื่องพิเศษของอารยธรรมตะวันตก  เพราะอารยธรรมตะวันตกนั้น  เจริญมากับการแข่งขัน  เขาถนัดและนิยมติดอยู่ในระบบแข่งขัน  เพราะฉะนั้นตะวันตกก็จะเคยชินหรือสะสมมาในระบบการแก้ไขปัญหาแบบ compromise  ......หมายความว่า  แต่ละฝ่ายยอมลดความต้องการของตนเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างก็ได้ ......โดยต่างก็ต้องยอมเสียบางส่วนเพื่อให้ต่างก็ได้บางส่วน ......เหมือนกับที่ฝรั่งพูดว่า  ได้ขนมปังครึ่งก้อนดีกว่าไม่ได้เลย ........
                           อีกวิธีการหนึ่งเรียกว่า  harmonize  ( n.= harmony )  คือ การที่มาประสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน  หมายความว่า  ไม่มีหรือไม่เหลือความขัดแย้ง  เมื่อมีความขัดแย้งก็จัดจนกระทั่งลงตัว  ที่มาลงตัวก็คือมันเข้ากันได้ดี  ทุกอย่างประสานกลมกลืนโดยองค์ร่วมต่าง ๆอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องของมัน  พร้อมทั้งทำหน้าที่ถูกต้องต่อกัน  ส่งต่อประสานกันได้ดี ........
                           ปัญหาในโลกปัจจุบันก็อยู่ที่ว่า  มนุษย์ไม่สามารถมาถึงจุด  hamony  แต่มาได้แค่  compromise   การแก้ปัญหาจึงขาดตกบกพร่อง  ไม่มั่นคงยั่งยืน  และไม่แท้ไม่จริง  เพราะ  compromise  คือ ต่างฝ่ายต่างยอมลดความต้องการของตัวเองลงเพื่อตัวเองจะได้บ้าง  มิฉะนั้นอาจจะต้องรบราฆ่าฟันกัน  ซึ่งอาจจะพินาศทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ไม่ได้ทั้ง ๒ ฝ่าย หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ไปข้างเดียว ซึ่งเป็นวิถีแห่งความขัดแย้ง
                          เมื่อจะยุติความขัดแย้งและยอมที่จะได้อย่างไม่สมบูรณ์  มันก็ไม่ยุติจริง  แต่ทิ้งปัญหาหรือเชื้อแห่งปัญหาค้างคาไว้  เหมือนยอมตกลงสงบศึกไว้ก่อน  นี่คือ  compromise  ซึ่งไม่สามัคคี และไม่อาจจะมีเอกภาพ  แต่ถ้ายุติเรื่องโดยสมบูรณ์ก็ต้องถึง  hamony  ซึ่งทำให้เกิดสามัคคีและเป็นเอกภาพ
                            ขอย้อนกลับไปพิจารณาประเด็นเรื่อง การค้นหาความต้องการที่แท้จริง  อีกครั้งหนึ่ง   ผู้เขียนเห็นว่า   สิ่งสำคัญสูงสุดประการหนึ่งในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามแนวทางวิถีแห่งพุทธก็คือ  ในเบื้องต้นผู้ไกล่เกลี่ยเองก็ต้องพึงเข้าใจและตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเองอย่างถูกต้องด้วยว่า   จุดประสงค์หลักหรือความต้องการที่แท้จริงอันดับแรกของผู้ไกล่เกลี่ยก็คือ   ประโยชน์สูงสุดของคู่พิพาทในการที่จะสามารถตกลงกันได้ภายใต้เงื่อนไขที่ดีที่สุด ทำให้เขาพ้นจากความทุกข์ยากลำบาก   ฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ฯลฯ  ส่วนประโยชน์ของผู้ไกล่เกลี่ย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลงาน  ค่าตอบแทน  เกียรติยศ ชื่อเสียง  การไม่ต้องทำสำนวนคดี ฯลฯ ต้องถือว่า เป็นเป้าหมายอันดับรองลงมา  หมายความว่า  ผู้ไกล่เกลี่ยต้องรู้เท่าทันกิเลสในใจตน  ไม่ไปตกหลุมพรางของตัณหา  มานะ ทิฏฐิ  เสียเอง   ซึ่งในเรื่องนี้นโยบายของสำนักงานศาลยุติธรรมและนโยบายแนวคิดของผู้บริหารแต่ละศาลย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่ง   โดยหากมีการกำหนดเป้าหมายหรือประเมินผลงานด้วยการมุ่งเน้นสถิติ- ตัวเลข เป็นสำคัญ ไม่พิจารณาเนื้อหาของงานในรายละเอียดอย่างมีเหตุผล    ย่อมส่งผลกระทบถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ไกล่เกลี่ยที่อาจผิดเพี้ยน บิดผันไปได้  ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องถือว่า  ล้มเหลวตั้งแต่ต้น  เพราะแม้แต่ผู้ไกล่เกลี่ยเองก็ยังไม่เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของตนได้อย่างถูกต้อง   แล้วจะไปช่วยเหลือค้นหาความต้องการที่แท้จริงให้กับคู่พิพาทได้อย่างไร 
         ท้ายที่สุดนี้  ผู้เขียนขอแสดงทรรศนะเป็นบทสรุปส่งท้ายว่า   ผู้เขียนเห็นว่า  แท้จริงแล้วสังคมไทยเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนองค์ความรู้เลย   แต่ปัญหาของเราคือ  ศักยภาพในการจัดการกับองค์ความรู้ที่มีอยู่เพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   เปรียบเสมือนยารักษาไข้  คนไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรแต่ละตัวที่ใช้รักษาอาการไข้เป็นอย่างดี   แต่เราไม่ได้ศึกษาวิจัยค้นคว้ากันอย่างจริงจังว่า  เราจะกินปริมาณเท่าไหร่ ก่อนหรือหลังอาหาร  เอาตัวไหนผสมกับตัวไหน  สัดส่วนอย่างไร  หรือ จะมีวิธีสกัดตัวยาออกมาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  กล่าวเฉพาะเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้น   แท้จริงแล้วสังคมไทยเราได้สั่งสมองค์ความรู้มาอย่างยาวนานนับร้อยนับพันปี  ตั้งแต่ชนชั้นระดับรากหญ้าจนถึงรากแก้วของต้นไม้ใหญ่ที่เป็นหลักของบ้านเมือง   แต่เราก็ไม่ได้คิดนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้น มาปรับใช้อย่างเป็นระบบหรือมีขั้นตอนกระบวนการที่ชัดเจน   จนกระทั่งฝรั่งทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง  เราจึงคิดอยากทำตามบ้าง   ผู้เขียนขอยืนยันว่า   องค์ความรู้ที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปร่ำเรียนถึงประเทศสหรัฐอเมริกานั้น   ไม่มีอะไรใหม่เลย  เป็นสิ่งที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปในสังคมไทย   เพียงแต่ว่า  เขานำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นไปจัดเข้ากันให้เป็นระเบียบระบบ  เป็นขั้นเป็นตอนอย่างชัดเจน ทำให้สามารถหยิบนำไปใช้ได้โดยสะดวก ง่ายดาย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  และเมื่อกรณีใดมีปัญหาไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ  เขาก็สามารถค้นหาสาเหตุได้ไม่ยากว่า   เกิดข้อผิดพลาดตรงขั้นตอนไหน อย่างไร ทำให้คิดหาหนทางแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและก่อให้เกิดการพัฒนาระบบให้ดียิ่ง ๆขึ้นไป   ดังนั้น   ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า  ในอนาคตอันไม่ช้าไม่นานนี้    สังคมไทยเราน่าจะสามารถคิดค้นหาสูตรยาพาราเซตตามอนตำหรับไทย  เพื่อนำไปใช้รักษาอาการป่วยไข้ของคู่กรณีในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าสูตรยายี่ห้อ   STAR ของฝรั่งหรือดีกว่า   ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น   เราก็อาจจะมีโอกาสได้เป็นฝ่ายต้อนรับเจ้าหน้าที่ของสถาบันระงับข้อพิพาทสเตราส์หรือผู้พิพากษาจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาศึกษาดูงานเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในบ้านเราบ้างก็เป็นได้ ./


[1] นิตยสาร ดุลพาห  เล่ม ๑ ปีที่ ๕๗ มกราคม – เมษายน ๒๕๕๓.
[2] ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่
[3] พระพรหมคุณาภรณ์ (ปอ.ปยุตโต).  ศิลปะศาสตร์แนวพุทธ

[4] สรุปจากเอกสารประกอบการฝึกอบรมหลักสูตร การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ณ มหาวิทยาลัยเปปเปอร์ไดน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา  ระหว่างวันที่  ๒๕  สิงหาคม  -  ๔  กันยายน   ๒๕๕๒
[5] พระพรหมคุณาภรณ์ (ปอ.ปยุตโต).  สลายความขัดแย้ง http://www.openbase.in.th/node/8622  ,  หน้า ๓๑ - ๓๒
[6] เรื่องเดียวกัน  ,  หน้า  ๔๙
[7]  เรื่องเดียวกัน  , หน้า  ๑๓ ๑๔ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น