1/05/2555

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา[1]
                                                                                                โดย โสต  สุตานันท์

         มีความเชื่อกันว่า ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น มนุษย์ไม่เคยมีชีวิตอยู่คนเดียวโดด ๆโดยไม่ต้องอยู่กับใครเลย อย่างน้อยที่สุดเมื่อเกิดมาก็ต้องพึ่งพาอาศัยและมีสายสัมพันธ์กับแม่อย่างใกล้ชิด จากความสัมพันธ์ระหว่าง “แม่กับลูก”ก็ขยายเป็นความสัมพันธ์แบบผัวกับเมีย พี่กับน้อง ยายกับหลานกลายเป็นเกลียวความสัมพันธ์ที่เรียกว่า“ครอบครัว”ที่มีความใกล้ชิดกันโดยเชื้อสายและพักพิงอยู่อาศัยร่วมกันใน“บ้าน”แล้วแผ่ขยายวงกว้างออกไปจนเป็นระบบเครือญาติ (Kinship) ดังนั้น สังคมหน่วยแรกจึงได้แก่“บ้าน” หรือ “ครอบครัว” ซึ่งเป็นสังคมหน่วยเล็กที่สุดและไม่มีใครจงใจวางแผนก่อสร้างขึ้นมาแต่เป็นแต่เป็น“ระบบที่เกิดขึ้นเอง(Spontaneous)”โดยค่อย ๆคลี่คลายขยายตัวเจริญขึ้นจากความจำเป็นโดยธรรมชาติทางกายภาพและจิตใจของมนุษย์เอง จึงเรียกว่าเป็น “สังคมปฐมภูมิ (primary society)”  ความสัมพันธ์ในสังคมขนาดเล็กแบบนี้จะมีบรรยากาศใกล้ชิดสนิทสนมเป็นกันเอง เมื่อเกิดข้อขัดแย้งกันขึ้นก็จะหาทางปรองดองด้วยวิธีอะลุ้มอล่วยผ่อนสั้นผ่อนยาวต่อกัน กฎเกณฑ์ต่าง ๆจะมาจากศีลธรรมหรือขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่ใช่กฎหมายตายตัวที่บังคับกันอย่างเคร่งครัด แต่ก็มีการอบรมสั่งสอนว่ากล่าวพอสมควร ถ้าผู้น้อยกระด้างกระเดื่องก็จะถูกดุด่าว่ากล่าวทุบตีลงโทษกันบ้าง
ต่อมาเมื่อครอบครัวขยายตัวมีลูกเกิดมาหลาย ๆคน จะอยู่ในที่เดียวกันย่อมไม่สะดวก จึงต้องแยกครอบครัวกันอยู่  ครอบครัวที่เชื้อสายเดียวกันรวมเรียกว่า “โคตรตระกูล (clan)”  ซึ่งยังมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติ แม้ความใกล้ชิดสนิทสนมจะน้อยลง แต่กฎเกณฑ์ความประพฤติที่ใช้ในครอบครัวแต่เดิมก็ยังคงใช้กันอยู่ เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคน สังคมระดับโคตรตระกูลจะขยายตัวออกไปเรื่อย ๆจนกลายเป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้นอีกระดับหนึ่งเรียกว่า “ชนเผ่า (tribe)” ความสัมพันธ์ของคนจะค่อย ๆห่างออกไป สิ่งที่เชื่อมคนในชนเผ่าให้มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันอยู่ก็คือ ภาษาที่ใช้พูด มีการถ่ายทอดความรู้ความคิดความจำให้แก่กัน รู้สำนึกว่าเป็นคนเชื้อสายเดียวกัน มีบรรพบุรุษเดียวกัน เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์เดียวกัน เมื่อมีความจำเป็นก็ช่วยเหลือร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดและความสุขสงบร่วมกัน กฎเกณฑ์ที่ใช้ในชนเผ่าก็คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมของปู่ ย่า ตา ยาย ที่รับสืบทอดกันมาแต่โบราณที่เรียกว่า The good old law  อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในสังคมชนเผ่าจะแตกต่างไปจากสังคมครอบครัวหรือโคตรตระกูล กล่าวคือ ความสนิทสนมความอะลุ้มอล่วยต่อกันจะมีน้อยลง เมื่อเกิดมีความขัดแย้งวิวาทกันก็จะต้องมีการชี้ขาดตัดสินอย่างเคร่งครัดและเอาจริงเอาจังมากขึ้น บางทีต้องมีการบังคับรุนแรงหรือลงโทษหนัก ศีลธรรมไม่พอใช้บังคับกับเหตุการณ์ มีความจำเป็นต้องตั้งกฎเกณฑ์การปกครองบังคับบัญชาขึ้นมาซึ่งก็คือ “กฎหมาย” นั่นเอง   สังคมชนเผ่าจึงเป็นสังคมใหญ่ที่มีการปกครองอย่างแท้จริง  และมีวิวัฒนาการเรื่อยมากลายเป็น “สังคมการเมือง (Political society)” หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รัฐ (State)”  สืบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน[2]
การเมืองการปกครองแบบ “รัฐสมัยใหม่ (Modern State)” มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ  โดยมีโครงสร้างที่สำคัญ คือ ต้องยอมรับ “หลักการแยกอำนาจ (Separation of Power)” ออกเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ส่วนองค์กรทั้งสามจะมีโครงสร้างและองค์ประกอบอย่างไร มีความสัมพันธ์เพื่อให้คานอำนาจและให้เกิดความสมดุลกันอย่างไร ก็ย่อมแล้วแต่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ[3]  ตลอดช่วงระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา กระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมของมนุษย์โลกส่วนใหญ่จะอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองเมื่อมีปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นก็จะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก คือ ท้ายที่สุดกระบวนการจะจบลงตรงที่ให้ฝ่ายตุลาการหรือศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดและบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา ขณะที่การแก้ไขปัญหาโดยอาศัยศีลธรรมหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิมเริ่มลดน้อยลงเป็นลำดับ  อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับความจริงกันว่า รูปแบบโครงสร้างการเมืองการปกครองและกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว น่าจะเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมมนุษย์ในตลอดช่วงยุคที่ผ่านมาอยู่ไม่น้อย เพราะมิฉะนั้น มนุษย์คงไม่สามารถก้าวมายืนอยู่ ณ จุดที่เป็นอยู่เหมือนเช่นทุกวันนี้ได้
            ปัญหาก็คือว่า ณ ปัจจุบันนี้ ด้วยสภาพสังคมมนุษย์ที่มีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างมากมายในทุก ๆด้าน  การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือบังคับหรืออาศัยกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักเป็นสำคัญจะยังคงเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร  ปัญหาต่าง ๆมากมายที่เกิดขึ้นในแทบทุกประเทศเวลานี้ เป็นต้นว่า คดีล้นศาล นักโทษล้นเรือนจำ สถิติอาชญากรเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย การแก่งแย่งแข่งขันที่รุนแรง  ความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน การขาดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมของผู้คนในสังคม ฯลฯ น่าจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่า สังคมมนุษย์จะอยู่แบบเดิมทำแบบเดิมต่อไปไม่ได้อีกแล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยเรา อาจกล่าวได้ว่า ปัญหากระบวนการยุติธรรมของเรากำลังอยู่ในขั้นวิกฤตก็ว่าได้  เพราะการบังคับใช้กฎหมายมีความหย่อนยานขาดประสิทธิภาพอย่างน่าตกใจ โดยแม้กระทั่งศาลมีคำพิพากษาตัดสินไปแล้ว ปัญหาก็ยังไม่ยุติ หนำซ้ำบางครั้งบางทียังลุกลามบานปลายออกไปอีกไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมาย
            จากสภาพปัญหาดังที่กล่าวมา จึงเห็นว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจังกันเสียที โดยแนวทางการปฏิรูปที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เราต้องหันไปพึ่งพา กระบวนการยุติธรรมทางเลือกอื่น (Alternative Dispute Resolution) มากขึ้น ไม่ใช่อาศัยแต่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นที่ผ่านมา
      การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  (Mediation) ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกวิธีหนึ่ง  ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการโดยตรงและปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง  เนื่องจากสามารถนำไปปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในหลายลักษณะทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อพิพาทเล็ก ๆน้อย ๆในชุมชน   ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยลดปริมาณคดีในศาลแล้ว  ยังมีข้อดีอีกหลายประการ  อาทิ เช่น สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย      รักษาสัมพันธภาพ  ชื่อเสียงและความลับของคู่พิพาท อีกทั้งยังช่วยสร้างความสงบสุข สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม  การเมือง ให้แก่ประเทศชาติโดยส่วนรวมอีกด้วย[4]  กล่าวเฉพาะการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในทางอาญานั้น นักอาชญาวิทยาพยากรณ์ไว้ว่า “ระบบยุติธรรมชุมชน” หรือที่เรียกกันว่า “ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)” จะเป็นระบบยุติธรรมของสังคมโลกในยุคศตวรรษที่ ๒๑ นี้ เพราะจากการศึกษาวิจัยพบว่า ระบบดังกล่าวมีประโยชน์และเข้ามาเสริมข้อด้อยต่าง ๆที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักได้ดีที่สุด[5] โอกาสนี้ จึงขอนำเรื่อง “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา มาศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับท่านผู้อ่านดังจะกล่าวต่อไปนี้
   ในทางวิชาการ นักกฎหมายโดยทั่วไปได้จำแนกลักษณะความผิดทางอาญาออกเป็น  ๓ ประเภท  ได้แก่
      ๑.) ความผิดอาญาแผ่นดินโดยแท้หรือความผิดอาญาต่อรัฐ  หมายถึง ความผิดอาญาแผ่นดินที่ผู้เสียหายได้แก่รัฐเท่านั้น เอกชนคนใดคนหนึ่งไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดด้วย จึงไม่สามารถอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายและฟ้องร้องดำเนินคดีเองได้ พนักงานอัยการเท่านั้นที่จะมีสิทธิดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ตัวอย่างเช่น  ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ - ๑๒๙ ความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ ยาเสพติด การจราจร  การประมง ฯลฯ เป็นต้น 
       ๒.) ความผิดอาญาแผ่นดินที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย หมายถึง ความผิดอาญาที่ส่งผลกระทบเสียหายทั้งต่อเอกชนคนใดคนหนึ่งและการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขของสังคมโดยส่วนรวม ดังนั้น ผู้ที่มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีจึงได้แก่ บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดกับพนักงานอัยการในฐานะตัวแทนของรัฐ ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย  ฯลฯ เป็นต้น
      ๓.) ความผิดอาญาต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้  หมายถึง ความผิดที่เอกชนโดยแท้เป็นผู้เสียหาย และเนื่องจากเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการส่วนตัว กฎหมายจึงกำหนดให้เป็นสิทธิของผู้เสียหายว่า จะดำเนินคดีเอาผิดกับผู้กระทำความผิดหรือไม่ ถ้าประสงค์จะดำเนินคดีก็ต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด[6] หากไม่มีการร้องทุกข์พนักงานสอบสวนย่อมไม่อาจทำการสอบสวนหรือดำเนินคดีใดๆได้[7] และเมื่อร้องทุกข์แล้วจะถอนคำร้องทุกข์เมื่อใดก็ได้[8] หรือเมื่อฟ้องคดีแล้วจะถอนฟ้องหรือยอมความเมื่อใดก็ได้อีกเช่นกัน[9] ตัวอย่างความผิดอาญาต่อส่วนตัว เช่น ความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑-๓๔๒ และ ๓๔๔-๓๔๗ ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามมาตรา ๓๔๙-๓๕๐ ความผิดฐานยักยอก ตามมาตรา ๓๕๒-๓๕๕  ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา ๓๕๘ –  ๓๕๙ และความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา ๓๖๒-๓๖๔ ฯลฯ  เป็นต้น 
    การจำแนกประเภทความผิดอาญาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังนี้ คือ
      ๑.) ความผิดอาญาแผ่นดินโดยแท้  ความผิดอาญาประเภทนี้ มีความเห็นกันว่า ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ เพราะรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย  อย่างไรก็ตาม กรณีความผิดเล็ก ๆน้อย ๆบางประเภทกฎหมายก็เปิดช่องให้เจ้าพนักงานของรัฐมีอำนาจเปรียบเทียบผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องหาได้ ซึ่งจะมีผลทำให้คดีอาญาเลิกกัน[10] ทั้งนี้ การสั่งให้เปรียบเทียบคดีนั้น อาจดำเนินการภายหลังจากมีการสอบสวนคดีแล้วเสร็จและส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการแล้วก็ได้ โดยหากพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นสมควรและเป็นความผิดซึ่งอาจเปรียบเทียบได้ ก็มีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบได้ตามกฎหมาย[11]
      ๒.) ความผิดอาญาแผ่นดินที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย   การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาประเภทนี้ หากคู่กรณีสามารถตกลงกันได้จะก่อให้เกิดผลดังนี้  คือ
            ๒.๑ กรณียังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาล   
              ๒.๑.๑  หากยังไม่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คู่กรณีอาจตกลงกันให้ยุติเรื่องและห้ามไม่ให้ผู้เสียหายดำเนินคดีต่อไป  ซึ่งถ้าผู้เสียหายยินยอมปฏิบัติตามข้อตกลงแต่โดยดีก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากผู้เสียหายเปลี่ยนใจต้องการดำเนินคดีในภายหลังไม่ว่าจะเนื่องจากเหตุผลใด ย่อมสามารถทำได้ เพราะข้อตกลงยอมความเพื่อไม่ให้ดำเนินคดีอาญาแผ่นดินถือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับได้[12] นอกจากนั้น ข้อตกลงไม่ให้ดำเนินคดีดังกล่าว ย่อมไม่ตัดสิทธิพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการที่จะสอบสวนหรือฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ เพราะพนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง[13]และสามารถยกคดีขึ้นสอบสวนได้เองโดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายก่อน[14]
            ๒.๑.๒ หากมีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว คู่กรณีย่อมไม่อาจขอให้พนักงานสอบสวนยุติเรื่องได้ อย่างไรก็ตาม ในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการ ถ้ามีเหตุอันควรไม่ฟ้องผู้ต้องหา พนักงานอัยการก็อาจใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องได้[15]   
           ๒.๒ กรณีมีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว
                   ๒.๒.๑  กรณีผู้เสียหายฟ้องคดีเอง อาจตกลงกันให้ผู้เสียหายถอนฟ้องก็ได้ ซึ่งเมื่อถอนฟ้องไปแล้ว ผู้เสียหายย่อมไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องใหม่ได้อีก อย่างไรก็ตาม การถอนฟ้องของผู้เสียหายย่อมไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่[16]หรือหากพนักงานอัยการกับผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีร่วมกัน ย่อมไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะดำเนินคดีต่อไปได้  นอกจากนั้น กรณีผู้เสียหายตกลงยอมความกับจำเลยได้โดยให้ผู้เสียหายไปดำเนินการขอถอนฟ้อง หากต่อมาผู้เสียหายไม่ยอมทำตามข้อตกลง  ย่อมไม่อาจบังคับให้ปฏิบัติได้ เพราะการตกลงให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาแผ่นดินเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน [17]
           ๒.๒.๒  กรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง  หากพนักงานอัยการนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการไกล่เกลี่ยไปพิจารณาแล้ว เห็นว่า มีเหตุอันควรไม่ดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป ก็น่าจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจถอนฟ้องได้ โดยอาศัยแนวทางปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ดังได้กล่าวไปแล้วใน ข้อ ๒.๑.๒ โดยอนุโลม    อย่างไรก็ตาม หากผู้เสียหายผิดข้อตกลง โดยเปลี่ยนใจต้องการดำเนินคดีในภายหลังอีก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมสามารถทำได้ เพราะการถอนฟ้องของพนักงานอัยการย่อมไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่[18]  และกรณีต้องถือว่า ข้อตกลงยอมความไม่ให้ดำเนินคดีอาญาแผ่นดินเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังได้กล่าวไปแล้วในข้อ ๒.๑.๑
                     ๒.๒.๓ หากไม่มีการถอนฟ้อง ศาลสามารถหยิบยกข้อเท็จจริงที่ได้จากการไกล่เกลี่ย เช่น การชดใช้ค่าเสียหาย การสำนึกผิดของจำเลย การให้อภัยหรือไม่ติดใจเอาความของผู้เสียหาย หรือการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายด้วยวิธีการอื่นใด ฯลฯ  ไปประกอบสำหรับการใช้ดุลพินิจพิพากษาคดีให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกจำเลยภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หรือนำไปประกอบการพิจารณาลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ได้
๓.) ความผิดอาญาต่อส่วนตัว หากคู่กรณีสามารถตกลงยอมความกันได้  ไม่ว่าจะมีการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีต่อศาลแล้วหรือไม่ก็ตาม สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป[19] หากยังไม่มีการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีต่อศาล ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีได้อีก  ถ้ามีการฟ้องคดีแล้ว ศาลต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
อย่างไรก็ตาม กรณีคดีความผิดเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้นั้น[20] ถ้ามีการแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องคดีต่อศาลแล้ว  หากคู่กรณีประสงค์จะยอมความกัน กฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น และกำหนดให้ใช้วิธีการฟื้นฟู บำบัดรักษา  คุมความประพฤติผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำความผิดชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์  ทำงานบริการสาธารณะ  ละเว้นการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวหรือทำทัณฑ์บนไว้   ต่อเมื่อมีการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวครบถ้วนแล้ว  จึงจะให้มีการยอมความกันได้   หากผู้ต้องหาหรือจำเลยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดพนักงานสอบสวนหรือศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นดำเนินการต่อไปได้อีก[21]    นอกจากนั้น กรณีคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิด  หากมีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว  ถ้ามีการตกลงกันโดยให้โจทก์ถอนฟ้อง  กฎหมายกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ไว้ว่า    ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ถอนฟ้อง  ให้ศาลแจ้งผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจทราบก่อน  หากผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณาแล้ว เห็นว่า  เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชน สมควรให้มีการคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้น  ก็ให้เสนอต่อศาล  เพื่อพิจารณากำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนไว้ได้[22] ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ  กรณีเป็นความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้อำนาจสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือต่อต้านการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมทางการค้าและได้รับการรับรองจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้นั้น[23] หากสมาคมประสงค์จะถอนฟ้องต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน โดยศาลจะอนุญาตก็ต่อเมื่อเห็นว่า การถอนฟ้องนั้นไม่เป็นผลเสียต่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นส่วนรวม[24]

            จากหลักกฎหมายและผลกระทบต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าวผู้เขียนมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้ คือ
            ๑.) กรณี “ความผิดอาญาแผ่นดินโดยแท้”  ซึ่งมีความเห็นกันว่า รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ไม่มีเอกชนคนใดคนหนึ่งมีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น ผู้เขียนเห็นว่า แท้จริงแล้วความเสียหายของรัฐ ก็คือ ความเสียหายของประชาชนนั่นเอง  เพราะฉะนั้น ต้องถือว่า ความผิดอาญาประเภทนี้กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนตัวของคนในสังคมทุกคน ดังนั้น หากมีการนำระบบยุติธรรมชุมชนไปผสมผสานหรือปรับใช้กับการดำเนินคดีอย่างเหมาะสมก็น่าจะช่วยทำให้กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น  
               กรณีความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงหรือมีโทษสูงนั้น การให้ศาลสืบพยานและพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียวน่าจะเหมาะสมดีแล้ว  แต่กรณีความผิดที่ไม่ร้ายแรงหรือโทษไม่สูงมากนัก โดยเฉพาะคดีที่ศาลสามารถพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกได้นั้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตคือ แนวคิดเรื่องการรอการลงโทษและการลดโทษเนื่องจากมีเหตุบรรเทาโทษมีที่มาจากกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส โดยเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องนำไปประกอบการพิจารณาคือ การที่จำเลยรู้สึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหาย แนวทางดังกล่าวจะทำให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาแก้ไขและพร้อมที่จะให้อภัยผู้กระทำผิด ขณะเดียวกันผู้กระทำผิดก็จะอุ่นใจได้ว่า ศาลจะกำหนดโทษตามที่ตนและผู้เสียหายร้องขอ[25] แต่การใช้ดุลพินิจรอการลงโทษหรือลดโทษให้จำเลยของศาลไทยนั้น ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากข้อหาความผิดและคำรับสารภาพของจำเลยเท่านั้น หรืออย่างมากก็นำข้อมูลที่ได้จากการสืบเสาะและพินิจไปประกอบการพิจารณา ซึ่งจะไม่มีหลักประกันใด ๆเลยที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า จำเลยรู้สึกสำนึกในความผิดและจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี อีกทั้งผู้คนในสังคมก็ไม่มีความรู้สึกว่า  จำเลยได้พยายามเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นและคิดจะให้อภัยจำเลย การกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้จำเลยปฏิบัติก็เป็นการใช้ดุลพินิจของศาลฝ่ายเดียว โดยไม่ได้ฟังความเห็นของจำเลยและชุมชนก่อน กระบวนการสมานฉันท์จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้
            นอกจากนั้น การใช้วิธีการรอการลงโทษที่ไม่เหมาะสมหรือพร่ำเพรื่อมากเกินไป อาจก่อให้เกิดทัศนคติที่ขัดแย้งหรือคัดค้านการรอการลงโทษได้ ดังที่เคยปรากฏปัญหาในประเทศฝรั่งเศสมาแล้ว จนถึงขั้นมีการออกกฎหมายจำกัดอำนาจในการใช้ดุลพินิจรอการลงโทษของศาล หรือในประเทศอังกฤษที่ศาลมักจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษเสมอหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นการกระทำความผิดครั้งแรกหรือไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน จนทำให้หนังสือพิมพ์อังกฤษถึงกับเรียกการใช้ดุลพินิจเช่นนี้ว่า “ The dog being allowed a first bite” ซึ่งหมายความว่า “สุนัขมีสิทธิกัดคนครั้งแรกโดยชอบ”[26] สำหรับสังคมไทยนั้น ก็เชื่อว่า น่าจะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีการรอการลงโทษมากเกินไป ทั้งนี้ ก็คงจะมาจากเหตุผลที่ว่า ทฤษฎีการข่มขู่และทดแทนนั้น ถือเป็นทฤษฎีการลงโทษที่ตรงกับความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเฉียบพลันและรุนแรงสมกับการกระทำผิด  ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะแก้ไขได้ก็ด้วยกระบวนการที่นำสังคมและผู้เสียหายเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ดุลพินิจของศาล[27]
            ดังนั้น จึงเห็นว่า  ความผิดอาญาแผ่นดินโดยแท้นี้ หากเป็นข้อหาความผิดที่ไม่ร้ายแรงและโทษไม่สูงมากนัก ก็น่าที่จะนำเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการด้วย  หากการไกล่เกลี่ยเป็นผลสำเร็จ โดยจำเลยให้การรับสารภาพและแสดงความสำนึกผิดหรือพยายามเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สังคม  ก็ให้นำข้อมูลเสนอต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามความเหมาะสมต่อไป
            อนึ่ง พึงมีข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. .........ซึ่งคาดว่า น่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆนี้ ในหมวด ๗ ว่าด้วยมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ได้บัญญัติหลักการสำคัญไว้ว่า ในคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินห้าปีหากเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำก่อนฟ้องคดีเมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพร่างกาย สภาพจิต อาชีพ ฐานะและเหตุแห่งการกระทำความผิดแล้ว หากผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณาเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง ให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ โดยอาจกำหนดให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยปฏิบัติด้วยก็ได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายก่อน  ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนความประพฤติของเด็กหรือเยาวชน บรรเทา ทดแทน หรือชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชุมชนและสังคม  จากนั้นให้เสนอแผนไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ[28]และเมื่อมีการปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้ว  ให้พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้น และให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไป[29] จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เป็นหลักการแนวทางของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั่นเอง
            ๒.) กรณี “ความผิดอาญาแผ่นดินที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย” นั้น มีความเห็นว่า สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้เช่นกัน โดยกระบวนการไกล่เกลี่ยก็คงจะเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาแผ่นดินโดยแท้ ดังกล่าวในข้อ ๑ กล่าวคือ มีจุดประสงค์หลักในการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้สำนึกผิดและผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหาย อีกทั้งเพื่อเป็นการฟื้นฟูความ สัมพันธ์อันดีระหว่างผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย และชุมชน รวมตลอดถึงเพื่อให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจตัดสินคดีได้อย่างถูกต้องเหมาะสมด้วยการนำข้อมูลที่ได้จากการไกล่เกลี่ยไปประกอบการพิจารณา   หากจะมีข้อแตกต่างอยู่บ้างก็คงจะได้แก่ การไกล่เกลี่ยคดีประเภทนี้ จะมีตัวผู้เสียหายโดยตรงเข้าร่วมในกระบวนการด้วย และคดีทุกลักษณะไม่ว่าจะมีความร้ายแรงมากน้อยหรือมีโทษหนักเบาเพียงใด ย่อมสามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้เสมอ
            อนึ่ง เพื่อให้กระบวนการมีความยืดหยุ่นและให้ศาลสามารถอำนวยความยุติธรรมด้วยการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยได้อย่างกว้างขวางเหมาะสมแก่รูปคดี  จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ โดยเพิ่มเติมข้อความในวรรคสามในทำนองว่า  “กรณีมีการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและจำเลยให้การรับสารภาพ        หากศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งพฤติการณ์ทั้งปวงในคดีแล้ว ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดโทษลงน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”  การทำเช่นนี้เชื่อว่า จะเป็นการจูงใจให้ผู้กระทำความผิดสนใจเข้าสู่และให้ความสำคัญต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมากขึ้น อีกทั้ง ยังน่าจะช่วยทำให้การกลับคำให้การของจำเลยที่เคยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นให้การปฏิเสธในชั้นศาลลดน้อยลงไปได้มากเลยทีเดียว
๓.) กรณี  “ความผิดอาญาต่อส่วนตัว” นั้น ในทางปฏิบัติคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า หากมีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป   แต่ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ ๒ ประการ  คือ
                 ๓.๑ การที่กฎหมายบัญญัติให้การกระทำใดเป็นความผิดอาญานั้น ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า การกระทำนั้นมีผลกระทบต่อความความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนจะกระทบมากหรือน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะหากเราเห็นว่า การกระทำใดมีผลกระทบเดือดร้อนต่อเฉพาะตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยไม่ทำให้สังคมส่วนรวมได้รับความเสียหายแล้ว ก็ควรที่จะกำหนดให้เป็นข้อพิพาททางแพ่งไป ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ กรณีความผิดอาญาที่ยอมความกันได้นี้ ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีการนำกระบวนการยุติธรรมไปใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อให้มีการชำระหนี้หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก  บางครั้งบางทีมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันจนถึงชั้นศาลอุทธรณ์-ฎีกา วันดีคืนดีผู้เสียหายบอกว่า ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยแล้ว ขอถอนฟ้อง ซึ่งหากจำเลยไม่คัดค้านศาลย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีออกไป[30] ถามว่า ต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งความเสียหายในเรื่องอื่นๆอีกมากมายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาษีอากรของรัฐที่ต้องสูญเสียไปในรูปแบบต่าง ๆใครจะรับผิดชอบ เราจะยอมให้คนสองคนเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลยเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหรือทวงถามหนี้กันโดยใช้ทรัพยากรของรัฐไปมากมาย แต่เมื่อเขาทั้งสองตกลงกันได้ก็พากันเดินออกไปจากศาลเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเช่นนั้นหรือ
            จากเหตุผลดังกล่าว จึงเห็นว่า โดยหลักการแล้ว แม้จะเป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ต้องถือว่ามีผลกระทบเสียหายต่อสังคมโดยส่วนรวม เมื่อมีการดำเนินการจนถึงขั้นฟ้องร้องคดีกันแล้ว ก็ไม่ควรที่จะปล่อยให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้เสียหายและจำเลยเท่านั้นว่า จะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่  อย่างไร  ควรจะให้สิทธิพนักงานอัยการและศาลมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย  ดังนั้น จึงเห็นสมควรแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๕ วรรคสอง ใหม่ ในทำนองว่า “คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควร หากพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องให้ฟังความเห็นของพนักงานอัยการประกอบการพิจารณาด้วย” การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเช่นนี้  น่าจะสอดคล้องกับปรัชญาแนวคิดในการดำเนินคดีอาญา อีกทั้งยังน่าจะทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมส่วนรวมอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญามากขึ้น ไม่ใช่คิดถึงแต่เรื่องที่มีผลกระทบต่อตัวเองเท่านั้น นอกจากนั้น ยังน่าจะช่วยทำให้ผู้กระทำความผิดสนใจเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนที่จะมีการฟ้องคดีต่อศาลมากขึ้น เนื่องจากเกรงว่า หากปล่อยเวลาให้เนิ่นช้าไปจนมีการฟ้องคดีต่อศาล แม้จะตกลงยอมความกันได้ก็อาจถูกศาลพิพากษาลงโทษได้  ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลได้อีกทางหนึ่ง
                ๓.๒  เกี่ยวกับการกำหนดลักษณะประเภทความผิดที่ยอมความได้และคดีอาญาแผ่นดินนั้น ดูเหมือนว่าข้อหาความผิดในบางฐานไม่ค่อยจะมีความเหมาะสมและขัดต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างมาก  ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ไม่ว่าทรัพย์จะมีราคาเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม กฎหมายกำหนดให้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน ขณะที่ความผิดฐานยักยอก ฉ้อโกง หรือโกงเจ้าหนี้ ไม่ว่าทรัพย์จะมีราคามากเพียงใดก็ตาม กฎหมายกลับกำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้ หรือกรณีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ วรรคแรก  ก็มีผู้ให้ความเห็นว่าไม่น่าจะเป็นความผิดที่ยอมความได้ไม่ว่าจะมองปรัชญาแนวคิดในแง่มุมใด ตัวอย่างเหตุผลที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ แม้แต่การกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕ กฎหมายยังบัญญัติให้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน  ขณะที่ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นการกระทำที่ประกอบไปด้วยความผิดฐานต่างๆหลายฐานอันได้แก่ ความผิดฐานทำร้ายร่างกายและจิตใจ ความผิดเกี่ยวกับเพศ และความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียงของบุคคล กฎหมายกลับบัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้[31] นอกจากนั้น กรณีความผิดลหุโทษบางฐานที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๘๙-๓๙๕ และมาตรา ๓๙๗-๓๙๘ ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่กฎหมายกลับไม่บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น จึงเห็นว่า ควรที่จะมีการทบทวนตรวจสอบการกำหนดลักษณะประเภทความผิดอันยอมความได้และความผิดอาญาแผ่นดินกันใหม่ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
              สำหรับองค์กรที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้น กรณีมีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ก็คงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งขณะนี้ศาลยุติธรรมก็ได้กำหนดให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นแนวนโยบายหลักสำคัญด้านหนึ่ง แต่ก็ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาจะเน้นให้ความสำคัญกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งมากกว่า ส่วนการไกล่เกลี่ยคดีอาญาถือว่ายังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เหตุผลน่าจะเนื่องมาจากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมายและแนวคิดว่า จะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด  โดยมีนักกฎหมายบางคน เห็นว่า การไกล่เกลี่ยตามกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ยังขัดกฎหมายและขัดต่อสิทธิของผู้กระทำความผิดหรือจำเลยด้วย[32]อีกทั้งในทางปฏิบัติยังมีปัญหาข้อจำกัดอยู่หลายประการ ก็คงจะเป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรมที่จะต้องประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและพิจารณาหาหนทางแก้ไขปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆกันต่อไป  ส่วนกรณีที่ยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลนั้น เห็นว่าเพื่อความสะดวกรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก  ควรที่จะดำเนินการด้วยการจัดแบ่งระบบการบริหารงานของสถานีตำรวจต่างๆโดยกำหนดให้มีแผนกงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขึ้นมาโดยเฉพาะ จากนั้นก็จัดให้มีคณะกรรมการผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขึ้นมาโดยประกอบด้วยบุคคลต่างๆตามความเหมาะสม แต่ไม่ควรจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามหรือพนักงานสอบสวน และควรจะมีผู้แทนประชาชนอย่างน้อย ๑ คน เข้าร่วมเป็นกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคานดุลตรวจสอบการทำงานของแต่ละฝ่าย เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและจับตัวผู้ต้องหามาได้ ก็ให้พนักงานสอบสวนอธิบายชี้แจงหรือแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ทราบ โดยอาจกำหนดให้เป็นสิทธิอย่างหนึ่งทำนองเดียวกันกับสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗/๑ หากผู้ต้องหาประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ก็ให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยดำเนินการดังนี้ คือ
๑.) กรณีความผิดอาญาแผ่นดินโดยแท้  ให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยเชิญตัวแทนชุมชนที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นมาร่วมฟังการไกล่เกลี่ยและเสนอความเห็นด้วย หากผู้ต้องหารับสารภาพก็ให้ผู้ต้องหาและตัวแทนชุมชนร่วมกันเสนอว่า  จะให้ผู้ต้องหากระทำการอย่างใดเพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้กับสังคมหรือจะแสดงความสำนึกผิดอย่างไรได้บ้าง ซึ่งควรที่จะเปิดโอกาสให้เลือกวิธีการได้อย่างกว้างขวางและยืดหยุ่น ตัวอย่างเช่น คดีความผิดเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าไม้ก็อาจให้ปลูกต้นไม้ทดแทน คดีความผิดเกี่ยวกับการจราจรก็อาจให้ซ่อมแซมถนนหนทางในชุมชน คดีเกี่ยวกับการประมงก็อาจให้ไปขุดลอกแม่น้ำ คู คลอง  เป็นต้น  หลังไกล่เกลี่ยเสร็จแล้วก็ให้แผนกไกล่เกลี่ยส่งเรื่องไปให้พนักงานสอบสวนพร้อมข้อเท็จจริงที่ได้จากการไกล่เกลี่ยทั้งหมด เพื่อนำไปประกอบสำนวนการสอบสวนและสั่งคดี แล้วส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลตามกฎหมายต่อไป  ทั้งนี้ ในการฟ้องคดีของพนักงานอัยการต้องแนบรายงานผลการไกล่เกลี่ยเสนอต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องด้วย และหากศาลมีคำพิพากษาให้คุมประพฤติจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติตามข้อเสนอที่ได้จากการไกล่เกลี่ย ก็ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการควบคุมดูแลหรือติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขของจำเลยด้วย
๒.) กรณีความผิดอาญาแผ่นดินที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย ให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยนัดหมายผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นว่าเหมาะสม เข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ย  หากผู้ต้องหารับสารภาพก็ให้ทุกฝ่ายร่วมกันเสนอความเห็นเพื่อหาทางออกว่า  จะให้ผู้ต้องหากระทำการอย่างใดเพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้กับผู้เสียหาย หรือจะแสดงความสำนึกผิดอย่างไรได้บ้าง ซึ่งควรที่จะเปิดโอกาสให้เลือกวิธีการได้อย่างกว้างขวางและยืดหยุ่นและหลังไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จก็ให้แผนกไกล่เกลี่ยส่งเรื่องไปให้พนักงานสอบสวนพร้อมข้อเท็จจริงที่ได้จากการไกล่เกลี่ยทั้งหมดเพื่อนำไปประกอบสำนวนการสอบสวนและสั่งคดี แล้วส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องคดีต่อศาลเช่นเดียวกันกับข้อ ๑. ต่อไป
๓.) กรณีความผิดอาญาต่อส่วนตัว ให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยนัดหมายผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นว่าเหมาะสม เข้าร่วมไกล่เกลี่ยทำนองเดียวกันกับข้อ ๒. หากไกล่เกลี่ยสำเร็จก็ให้คณะกรรมการจัดทำบันทึกการตกลงยอมความไว้เป็นหลัก ฐาน แล้วส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนเพื่อยุติเรื่องต่อไป
              อนึ่ง ที่ผ่านมาเคยมีการพยายามผลักดันให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาหรือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  ๒ ฉบับ คือ  ร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ.......และร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ.........โดยกรณีร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวนฯ นั้น ได้บัญญัติหลักการสำคัญไว้ประการหนึ่งคือ ให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กระทำผิดปฏิบัติทำนองเดียวกันกับการกำหนดเงื่อนการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖[33] หากมีการปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยครบถ้วนแล้ว ให้ถือว่าสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป แต่หากผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขการไกล่เกลี่ย ให้ยกคดีขึ้นมาสอบสวนตามกฎหมายต่อไป[34] ส่วนร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้องฯ ก็กำหนดหลักการสำคัญไว้ทำนองเดียวกันว่า ให้พนักงานอัยการมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติได้[35]และเมื่อผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมประพฤติแล้ว ให้พนักงานอัยการสั่งยุติการดำเนินคดีและถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ[36] แต่ถ้าผู้ต้องหาจงใจไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมประพฤติหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การคุมประพฤติเปลี่ยนแปลงไปจนไม่อาจแก้ไขได้อันเกิดจากความผิดของผู้ต้องหา ให้พนักงานอัยการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อไป[37]  หลักการแนวคิดดังกล่าว ได้มีการถกเถียงกันมาอย่างกว้างขวางและยาวนาน ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ  จึงขออนุญาตไม่กล่าวรายละเอียด ณ ที่นี้ แต่ขอสรุปรวบรัดความเห็นว่า จริง ๆแล้วประเด็นหลักสำคัญในเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่ปัญหาเรื่อง “โครงสร้างกฎหมาย” ที่จะให้องค์กรใดมีอำนาจ แต่สิ่งที่สังคมเป็นห่วงกังวลน่าจะได้แก่ปัญหาในเรื่องของ “คน” และ “ระบบการบริหารงาน” ในองค์กรมากกว่า ซึ่งหากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดสามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาหรือทำให้สังคมมั่นใจในศักยภาพที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริงแล้ว ก็เชื่อว่าทุกฝ่ายจะไม่ขัดข้องและพร้อมจะให้การสนับสนุน คำถามก็คือว่า ณ ปัจจุบันนี้ สังคมมีความเชื่อมั่นในความพร้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดมากน้อยเพียงใด การใช้อำนาจในเชิงตุลาการเพื่อชี้ผิดชี้ถูกและตัดสินลงโทษหรือดำเนินการใด ๆต่อผู้กระทำความผิดในทางอาญานั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญใหญ่หลวงของบ้านเมือง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันถึงสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคล ควรที่จะมีการพิจารณากลั่นกรองอย่างถี่ถ้วนรอบคอบและมีระบบถ่วงดุลตรวจสอบที่เหมาะสม จากสภาพสังคมและสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้  ผู้เขียนยังเห็นว่า การให้องค์กรศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจตัดสินชี้ขาดสุดท้ายน่าจะเป็นการเหมาะสมที่สุด ส่วนปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความล่าช้า ค่าใช้จ่ายสูง กระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยาก ปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลจำนวนมาก ฯลฯ หากเราเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาและประสานงานร่วมมือกันอย่างเป็นระบบไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนเช่นที่ผ่านมา ก็เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่แก้ไขปัญหากัน เพราะระบบที่เป็นอยู่มีการใช้มาอย่างยาวนาน ทุกฝ่ายย่อมทราบปัญหากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว  ในทางตรงกันข้ามหากมีการจัดโครงสร้างหรือระบบกันใหม่ตามแนวทางแห่งร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว ก็คงจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับการบริหารจัดการอยู่ไม่น้อย และไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า การแก้ไขปัญหาจะดีกว่าที่เป็นอยู่ บางทีอย่างมากที่สุดผลที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพียงแค่การย้ายปัญหาจากที่หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่งเท่านั้นเอง  สำหรับประเด็นข้อห่วงใยในเรื่องประวัติของผู้กระทำผิดที่ต้องเสื่อมเสียหรือมีมลทินมัวหมองเนื่องจากได้ชื่อว่าถูกศาลพิพากษาลงโทษนั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร เพราะไม่ว่าคดีจะจบลงในชั้นไหน สังคมก็รับรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดอยู่ดี นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการของกฎหมายในเรื่องอื่นๆอีกที่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจหากตั้งใจจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีได้จริง อย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับการล้างมลทิน เป็นต้น
            จากหลักการแนวทางดังที่กล่าวมา ผู้เขียนเชื่อว่า จะช่วยทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ในความเป็นจริงแล้ว มีคดีอาญาจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาแผ่นดินหรือความผิดต่อส่วนตัวที่เรื่องราวยุติไปจากผลของการไกล่เกลี่ยในระดับชุมชนและชั้นพนักงานสอบสวนโดยไม่มีการฟ้องร้องคดีต่อศาล แต่โดยที่ลักษณะสภาพของการไกล่เกลี่ยไม่มีกฎหมายรองรองที่ชัดเจน อีกทั้งผู้ไกล่เกลี่ยก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการหรือเทคนิควิธีการในการไกล่เกลี่ยอย่างถูกต้อง[38] บางครั้งแทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหากลับทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายขึ้นไปอีก เช่น ผู้ไกล่เกลี่ยถูกดำเนินคดีฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่[39] ข้อตกลงที่ได้จากการไกล่เกลี่ยไม่อาจบังคับได้เพราะทำไม่ถูกต้อง[40]  หรือทำให้การไกล่เกลี่ยนำไปสู่ข้อพิพาทโต้แย้งที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งผู้ไกล่เกลี่ยเข้าร่วมเป็นคู่กรณีด้วย แทนที่จะเป็นคนกลางระงับข้อพิพาท[41] เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องรีบเอื้อมมือเข้าไปจัดการช่วยเหลือหรือดูแลกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย
            อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จได้จะต้องประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญอีก ๒ ประการ คือ
            ๑.) ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ   จากการศึกษาพบว่ากฎหมายเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของไทยในประเด็นหลักสำคัญ ๆยังไม่มีความสมบูรณ์และขาดความเชื่อมโยงประสานสอดคล้องกัน ข้อกฎหมายบางเรื่องก็มีความแตกต่างลักลั่นกัน บางเรื่องก็ยังไม่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน  ทำให้เป็นอุปสรรคปัญหาอย่างมากต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขึ้นมาโดยเฉพาะ ทั้งนี้ นอกจากประเด็นปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องต่าง ๆดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีตัวอย่างปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญในเรื่องอื่น ๆอีก ได้แก่  (ขอยกตัวอย่างในภาพรวมทั้งปัญหาข้อกฎหมายในทางอาญาและทางแพ่ง เพราะจริง ๆแล้วข้อพิพาทในทางอาญาส่วนใหญ่ก็มีประเด็นในทางแพ่งเกี่ยวเนื่องด้วยเสมอ)
                ๑.๑ การนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย  ระบบศาลในบางประเทศ มีข้อกำหนดให้คู่กรณีต้องนำข้อพิพาทไปสู่ทางเลือกอื่นก่อนที่จะนำคดีมาสู่ศาล  อย่างเช่น  ประเทศฟิลิปปินส์จะมีกฎหมายบัญญัติบังคับไว้อย่างชัดเจนว่า  คดีประเภทไหนบ้างที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อน  ต่อเมื่อไม่อาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้  จึงจะสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้  หากไม่มีหนังสือรับรองการผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยศาลจะไม่รับคดีไว้วินิจฉัย[42]  สำหรับประเทศไทย  การเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทถือเป็นเพียงทางเลือกของคู่กรณีเท่านั้น โดยหากคู่กรณีไม่ประสงค์จะเจรจาไกล่เกลี่ยกันก็สามารถนำคดีไปสู่ศาลโดยตรงได้ทันที ทำให้ในภาพรวมแล้วมีข้อพิพาทที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนที่จะมีการฟ้องคดีต่อศาลค่อนข้างน้อย  จึงควรที่จะคิดหามาตรการทางด้านกฎหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยมากขึ้น แต่ไม่น่าจะถึงขั้นต้องออกกฎหมายบังคับโดยตรง อย่างเช่น อาจกำหนดให้เป็นสิทธิของแต่ละชุมชนที่มีความพร้อมไปจัดทำข้อกำหนดตกลงกันเองภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่า หากมีข้อพิพาทลักษณะใดเกิดขึ้น สมาชิกในชุมชนต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของชุมชนก่อน มิฉะนั้น จะยังไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล เป็นต้น
                 ๑.๒ ผลในทางกฎหมายกรณีคู่พิพาทตกลงยอมความกันได้    หากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประสบความสำเร็จ  ในทางปฏิบัติก็จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาก็คงไม่มีปัญหาอะไร   แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาและอีกฝ่ายต้องการบังคับให้ปฏิบัติตาม  ตามระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะมีอยู่  ๒  รูปแบบ  คือ กรณีผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคือ คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยของอำเภอ กฎหมายกำหนดให้ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมมีผลเช่นเดียวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ[43]  และกรณีผู้ไกล่เกลี่ย คือ คณะอนุญาโตตุลาการ กฎหมายกำหนดให้ข้อตกลงมีสถานะและผลเช่นเดียวกับคำชี้ขาดที่วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการ[44]   ส่วนกรณีผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นบุคคลอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา หากมีการผิดสัญญาต้องไปยื่นคำฟ้องต่อศาลและดำเนินกระบวนพิจารณาเหมือนเช่นคดีปกติทั่วไป ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึงเห็นว่า ควรที่จะคิดหามาตรการในการบังคับให้มีการปฏิบัติตามสัญญายอมความเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น  การเปิดโอกาสให้คู่พิพาทสามารถนำสัญญาที่ตกลงทำยอมกันนอกศาลไปยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลตรวจสอบรับรอง  หากมีการผิดสัญญากันภายหลังก็สามารถบังคับคดีได้ทันที โดยให้มีผลเช่นเดียวกันกับการทำสัญญายอมความในศาลก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยว่า ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงจะสามารถทำได้แค่ไหน เพียงใด[45]
   ๑.๓ ปัญหาเรื่องอายุความ  เกี่ยวกับเรื่องอายุความกรณีมีการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจะมีกฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน ๒ ลักษณะคือ ลักษณะแรกบัญญัติให้อายุความ “สะดุดหยุดลง” คือ ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและให้เริ่มนับอายุความใหม่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง[46] ได้แก่ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖๑/๒ วรรคแปด ลักษณะที่สอง กฎหมายบัญญัติให้ “อายุความสะดุดหยุดอยู่”  หมายถึง ให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ไม่นับในระหว่างนั้น เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดอยู่สิ้นสุดลงจึงค่อยนับอายุความต่อ[47] ได้แก่ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค  พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๔  และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๓[48]  จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จะเห็นได้ว่า กฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้แตกต่างลักลั่นกัน อีกทั้ง การไกล่เกลี่ยหรือเจรจาตกลงกันนอกเหนือจากที่กล่าวมา ก็ไม่มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือสะดุดหยุดอยู่แต่อย่างใด  ทำให้เป็นอุปสรรคปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาล จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าควรที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๔ ให้เพิ่มเหตุที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีมีการนำข้อพิพาทเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย  หรือไม่ อย่างไร  นอกจากนั้น หากจะมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสะดุดหยุดลงของอายุความคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวในทำนองเดียวกันก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอยู่ไม่น้อย
                ๑.๔ปัญหาเกี่ยวกับการรักษาความลับที่เกิดขึ้นระหว่างไกล่เกลี่ย และการห้ามนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการไกล่เกลี่ยไปใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล  ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลแล้วว่าการมีกฎหมายรับรองคุ้มครองเพื่อรักษาความลับที่เกิดขึ้นระหว่างไกล่เกลี่ยและการห้ามนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการไกล่เกลี่ยไปใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลนั้น  เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  เพราะการไกล่เกลี่ยจะประสบผลสำเร็จได้ สิ่งสำคัญสูงสุดก็คือ  การให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องและตรงกับความเป็นจริง  การไม่มีกฎหมายคุ้มครองในเรื่องดังกล่าวไว้คงเป็นไปได้ยากที่คู่กรณีจะกล้าเปิดเผยความจริงทั้งหมดในระหว่างการไกล่เกลี่ย เนื่องจากเกรงว่า อาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อตนเองในภายหลังได้หากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลสำเร็จ  แต่ปรากฏว่า ขณะนี้กฎหมายของไทยเรายังไม่ได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน โดยมีเพียงแค่ระเบียบหรือข้อบังคับของบางหน่วยงานเท่านั้น[49]  ซึ่งในทางปฏิบัติเชื่อว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะสามารถบังคับใช้อย่างได้ผล เนื่องจากมีปัญหาข้อจำกัดมากมาย[50]
             ๑.๕ ปัญหาเรื่องการตีความสัญญาที่ได้มาจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท     สัญญาประนีประนอมยอมความกับสัญญาอื่นๆ จะมีลักษณะแตกต่างกัน คือ  สัญญาอื่น ๆ ขณะทำสัญญา ไมตรีระหว่างคู่สัญญาจะอยู่ในระดับดีจนถึงดีมากและมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันค่อนข้างสูง ขณะที่การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ในขณะทำสัญญาความสัมพันธ์ของคู่กรณีอาจอยู่ในระดับแย่ที่สุดหรือพึ่งจะผ่านระดับความสัมพันธ์ที่แย่ที่สุดมา   ความมุ่งประสงค์สำคัญของสัญญาประนีประนอมยอมความคือ ต้องการยุติปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกัน  ดังนั้น  โดยหลักการแล้วการตีความข้อสัญญาจึงต้องมุ่งไปเพื่อการรักษาความสมานฉันท์ที่คู่ความประสงค์เป็นสำคัญ  กรณีจึงไม่อาจตีความสัญญาเหมือนกับสัญญาอื่นๆได้ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาอันเกิดจากการตีความสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลได้ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ[51]  ดังนั้น จึงมีผู้ให้ความเห็นว่า  เพื่อให้การตีความสัญญาที่ได้จากการประนีประนอมเป็นไปอย่างถูกต้อง ควรที่จะมีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการตีความสัญญาในเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะต่างหากให้ชัดเจน
            ๑.๖ ปัญหาเรื่องคุณสมบัติและจริธรรมผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีกระบวนการขั้นตอนและเทคนิคต่าง ๆมากมาย  ดังนั้น  คุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติในเรื่องของความอดทน การเสียสละ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นกลาง ความรู้ความสามารถในเนื้อหาหรือเรื่องที่พิพาท ความสามารถในการเจรจาและการติดต่อสื่อสาร ความรู้และประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ย[52] นอกจากนั้น ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับปรัชญาแนวคิดเรื่องความขัดแย้ง จิตวิทยาการไกล่เกลี่ย รวมตลอดถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเรื่องอื่น ๆอีกมากมาย และที่สำคัญผู้ไกล่เกลี่ยต้องมีมาตรฐานในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมอันเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย  จึงควรที่จะมีกฎหมายบัญญัติในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน โดยอาจกำหนดให้มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้ไกล่เกลี่ยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศและจัดให้มีองค์กรควบคุมดูแลจริธรรมผู้ไกล่เกลี่ยโดยเฉพาะ
              ๑.๗ ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยและค่าใช้จ่ายคู่พิพาท  การทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย  ต้องอาศัยการอุทิศตน เสียสละ  มีความอดทนมานะพยายามและมีความรับผิดชอบค่อนข้างสูง  จึงจะทำให้การไกล่เกลี่ยประสบผลสำเร็จได้  บางครั้งต้องใช้เวลาในการไกล่เกลี่ยหลายวัน หลายชั่วโมง  ทำให้ผู้ไกล่เกลี่ยต้องเหน็ดเหนื่อย ทำงานหนัก และต้องสูญเสียเวลาการงานส่วนตัวหรือการประกอบอาชีพปกติไป โดยเฉพาะผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นอาสาสมัครในชุมชน ดังนั้น โดยหลักการแล้วควรที่จะได้รับค่าตอบแทนบ้างตามสมควร เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรจะให้เข้าเนื้อตัวเอง  แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีระเบียบกฎหมายบางฉบับเท่านั้นที่กล่าวถึงการจ่ายค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยไว้  คือ พระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐  มาตรา  ๖๑/๒  วรรคหก  ระเบียบศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความ ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  พ.ศ. ๒๕๔๗  ข้อ ๒๙  ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาททางการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๓๖ และระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๓๕ นอกเหนือจากนี้ไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดค่าตอบแทนไว้เลย อีกทั้งค่าตอบแทนตามระเบียบกฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติไว้แตกต่างลักลั่นกัน จึงควรที่จะมีกฎหมายบัญญัติเรื่องค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยไว้ให้เหมาะสมเป็นธรรมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน 
            สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น  ที่ถูกต้องเป็นธรรมคู่พิพาทควรที่จะมีส่วนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆที่เกิดขึ้นจากการไกล่เกลี่ยด้วย เพราะตนเองเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งโดยตรง  แต่เท่าที่ตรวจสอบพบว่า  เคยมีกฎหมายเพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่กำหนดให้คู่พิพาทต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเกลี่ยเกลี่ยนอกศาล  คือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๐๘(๖) ซึ่งเรียกเก็บในอัตราที่ต่ำมาก คือ ค่าหมายและค่าเขียนคำร้องรวมกันห้าบาท และค่าทำใบยอมสิบบาท และปัจจุบันมาตราดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปแล้ว  อาจกล่าวได้ว่า ระบบการให้บริการเกี่ยวกับเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของไทยเราเป็นการให้บริการฟรีทั้งหมด  ผลกระทบที่ตามมา คือ ทำให้คู่พิพาทไม่ให้ความสำคัญหรือจริงจังกับการไกล่เกลี่ยมากนัก  เนื่องจากแม้ไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ไม่ได้เสียหายหรือมีค่าใช้จ่ายใด  ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่คู่กรณีต้องเสียค่าใช้จ่ายตอบแทนในอัตราที่ค่อนข้างสูง  เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา การคิดค่าบริการมีช่วงตั้งแต่ ๗๐-๓๕๔ เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง[53] หรือศูนย์การระงับข้อพิพาทแบบมีประสิทธิภาพ (Centre for Effective Dispute  Resolution)ในประเทศอังกฤษ จะมีการคิดค่าบริการเป็น ๒ ส่วน คือ ค่าบริการในการให้คำแนะนำของศูนย์ (Instruction fee) ซึ่งมีอัตรา ๒๕๐ ปอนด์ต่อคู่พิพาทหนึ่งฝ่าย และค่าบริการรายชั่วโมงของการไกล่เกลี่ย โดยมีอัตราที่คิดตั้งแต่ ๒๕๐  ปอนด์ต่อชั่วโมง ไปจนถึง ๕๐๐ ปอนด์ต่อชั่วโมง ซึ่งหากคิดเป็นเงินไทยจะตกประมาณ ๑๗,๕๐๐ ๓๕,๐๐๐ บาทต่อชั่วโมง หากประมาณการว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง เท่ากับว่าคู่พิพาทต้องเสียค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ     ๕๒,๕๐๐ ๑๐๕,๐๐๐ บาท[54] หรือแม้กระทั่งในประเทศลาว คู่กรณีจะต้องเสียค่าบริการในอัตราสูงสุดไม่เกิน  ๕,๐๐๐  กีบ[55] จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า หากเราสามารถพัฒนาปรับปรุงกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้มีประสิทธิภาพจนเป็นที่ยอมรับของสังคมแล้ว  ควรที่จะเรียกค่าใช้จ่ายจากคู่กรณีที่พิพาทกันหรือไม่ อย่างไร
อนึ่ง พึงมีข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาในการแก้ไขกฎหมายในบ้านเมืองเรานั้น มักจะแก้ทีละเรื่องทีละมาตรา ไม่ได้มองกฎหมายทั้งระบบ ทำให้บ่อยครั้งกฎหมายที่แก้ไขใหม่กับกฎหมายที่มีอยู่เดิมมีความขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องต้องกันซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก ดังนั้น หากจะมีการแก้ไขปรับปรุงหรือร่างกฎหมายเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขึ้นใหม่ ก็ควรที่จะพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและดำเนินการพร้อมกันอย่างเป็นระบบครบทุกเรื่อง
            ๒.) ต้องมีระบบการบริหารจัดการและพัฒนาบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีองค์กรต่างๆจำนวนมากที่นำเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปดำเนินการ เป็นต้นว่า ศาลยุติธรรม  สำนักงานอัยการสูงสุด  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงยุติธรรม  กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงพาณิชย์    กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักนายกรัฐมนตรี สภาทนายความ  สถาบันอนุญาโตตุลาการ องค์กรพัฒนาเอกชน  มูลนิธิ  ภาคประชาชน สถาบันการศึกษาต่าง ๆ  ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล  สถาบันพระปกเกล้า  หอการค้า   กลุ่มอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการช่วยกันทำงาน  แต่จากการศึกษาข้อมูลในอีกแง่มุมหนึ่งกลับพบว่า เป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดความเป็นเอกภาพไม่เชื่อมโยงประสานกัน สิ้นเปลืองงบประมาณ และมีภาระงานที่ซ้ำซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจเกี่ยวกับการฝึกอบรมอาสาสมัครหรือผู้นำชุมชนขององค์กรที่เป็นหน่วยงานของรัฐปรากฏว่าแต่ละองค์กรต่างมุ่งดำเนินการพัฒนาให้ประชาชนเป็นอาสาสมัครเพื่อปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ โดยคัดเลือกอาสาสมัครผ่านทางกลไกของหน่วยงานตนเอง ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล  โดยประชาชนผู้เข้ารับการอบรมมักจะเป็นกลุ่มเดียวกัน และเมื่อผ่านการอบรมไปแล้วก็ปราศจากกลไกการตรวจสอบประเมินผลที่ชัดเจน[56]  อีกทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ถ่ายทอดให้กับผู้เข้ารับการอบรมก็มีความหลากหลาย  ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรนั้น ๆจะเน้นให้ความสำคัญในเรื่องใดและบุคลากรที่เป็นวิทยากรให้ความรู้จะมีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถมากน้อยแค่ไหนหรือได้ศึกษาเรียนรู้มาจากแหล่งสำนักใด   บางครั้งบางที จึงทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดความสับสนหรือไม่เข้าใจปรัชญาแนวคิด รวมทั้งกระบวนการขั้นตอนเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้อย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง และไม่สามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากสภาพปัญหาดังกล่าวจึงเห็นว่า  ควรที่จะมีการจัดตั้ง  “สถาบันการจัดการความขัดแย้งหรือสถาบันไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแห่งชาติ”  ขึ้นมา  โดยกำหนดให้มีภารกิจหลัก คือ ศึกษาค้นคว้าวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการฝึกอบรมผู้ไกล่เกลี่ยทั่วประเทศให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคม รวมทั้งควบคุมดูแลในเรื่องคุณธรรมจริธรรมผู้ไกล่เกลี่ยด้วย  นอกจากนั้น อาจพิจารณาเลือกรับไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในเรื่องที่สำคัญ ๆหรือมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก  เช่น  ข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ หรือข้อพิพาทในทางการเมือง เป็นต้น  สำหรับองค์กรที่รับผิดชอบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยทั่วไปนั้น กรณีข้อพิพาททางอาญาควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นแกนหลักดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ก็ต้องให้การสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณและบุคลากรอย่างพอเพียง รวมทั้งต้องส่งเสริมพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการไกล่เกลี่ยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องจริงจัง ส่วนข้อพิพาทในทางแพ่งน่าจะให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานหลัก โดยในเบื้องต้นนี้ควรที่จะจัดให้ทุกอำเภอมีศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำอำเภอ  ซึ่งขณะนี้ก็มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๑/๒  กำหนดให้มีคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอยู่แล้ว  อันประกอบด้วย นายอำเภอ พนักงานอัยการประจำจังหวัดหรือปลัดอำเภอที่ได้รับมอบหมาย ๑ คน เป็นประธาน  และบุคคลที่คู่พิพาทแต่ละฝ่ายเลือกจากบัญชีรายชื่อที่นายอำเภอจัดทำไว้ฝ่ายละหนึ่งคนเป็นคณะทำงาน  แต่ก็เห็นว่า ในทางปฏิบัติน่าจะมีปัญหาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะองค์ประกอบของคณะบุคคลที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับประชาชน อีกทั้งยังรับผิดชอบการไกล่เกลี่ยทั้งข้อพิพาทในทางแพ่งและทางอาญา  เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า  ในอนาคตควรที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกันใหม่ให้เหมาะสมและควรสร้างระบบให้ประชาชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในกระบวนการด้วย ส่วนจะแก้ไขปรับปรุงกันอย่างไรหรือให้มีส่วนร่วมแบบไหนถึงจะเหมาะสมนั้น ก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำและศึกษาค้นคว้าวิจัยกันต่อไป
บทสรุปส่งท้าย ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า การนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือก (Alternative Dispute Resolution) โดยเฉพาะวิธีการที่เรียกว่า   “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  (Mediation)” ไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมนั้น ถือเป็น “กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)” อย่างหนึ่ง และน่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว หากมนุษย์ต้องการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข สำหรับสังคมไทยเรานั้น นับได้ว่าขณะนี้มีการตื่นตัวและผู้คนให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนจะมีอุปสรรคปัญหาอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวบทกฎหมาย แนวนโยบายของรัฐ รวมตลอดถึงแนวคิด ทัศนคติหรือความรู้ความเข้าใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและประชาชนทั่วไป  ดังนั้น จึงเห็นว่า เพื่อความชัดเจนและความเป็นเอกภาพในการกำหนดทิศทางกระบวนการยุติธรรมของไทย ควรที่จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยนอกจากจะกล่าวถึงหลักการของเนื้อหาสาระที่สำคัญแล้ว ควรที่จะต้องกล่าวถึงการจัดตั้งองค์กรหรือสถาบันอันเป็นสัญลักษณ์แห่งกระบวนการยุติธรรมทางเลือกควบคู่ไปกับสถาบันตามกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักด้วย  ลำพังรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๑ (๑) ที่บัญญัติหลักการไว้สั้น ๆเพียงว่า ให้มีการส่งเสริมสนับสนุนประชาชนและองค์กรวิชาชีพได้มีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมนั้นคงยังไม่เพียงพอต่อการที่จะช่วยทำให้ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” ของไทยประสบผลสำเร็จได้./


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร “ดุลพาห” ดุลพาห  เล่ม ๓ ปีที่ ๕๗  กันยายน-ธันวาคม ๒๕๕๓. 
[2]  สมยศ เชื้อไทย, กฎหมายมหาชนเบื้องต้น, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ : วิญญูชน), หน้า ๘๓-๘๖.
[3]  ปรีดี เกษมทรัพย์, นิติปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ ๗ (กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์มาหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), หน้า ๑๘๔.
[4] พรรณยง  พุฒิภาษ และคณะ,  การปฏิบัติงานของอาสาสมัครไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน(อ.ก.ช.) : ปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข, รายงานการวิจัยของสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ๒๕๔๗, หน้า ๑๑.
[5] นพพร  โพธิรังสิยากร , ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้วยการไกล่เกลี่ย , รายงานการวิจัย หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง  รุ่น ๑๒ วิทยาลัยการยุติธรรม ๒๕๕๒ , หน้า ๑๘๖.

[6]  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๖.
[7] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง.
[8] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๖ วรรคแรก.
[9]  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๕ วรรคสอง.
[10] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗.
[11] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๔.
[12] คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๔/๒๔๘๔ และ ที่ ๙๕๘/๒๕๑๙.
[13] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๑ วรรคแรก.
[14] คำพิพากษาฎีกา ที่ ๑๑๓๒/๒๕๔๖.
[15] ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วย การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๗๘ กำหนดไว้ว่า  “ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีใดจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงแห่งชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้ทำความเห็นเสนอสำนวนตามลำดับชั้นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อสั่ง”.
[16] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๖ (๓) .
[17] คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๑/๒๔๙๑.

[18] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๖ (๑) .
[19] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๒).
[20] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา  ๔.
[21] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา  ๑๒.
[22] พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔  มาตรา ๖๕  (ซึ่งร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. .........มาตรา ๑๐๐ ได้บัญญัติหลักการไว้ทำนองเดียวกัน).
[23] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๐.
[24] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๑.
[25] นพพร  โพธิรังสิยากร , ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้วยการไกล่เกลี่ย , หน้า ๑๕๗.
[26] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๗๕.
[27] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๗๔.

[28] ร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. .........มาตรา ๘๖.
[29] ร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. .........มาตรา ๘๘.
[30] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕ วรรคสอง.
[31] ศิริรัตน์ ศิริจันทร์โท. “ประเภทความผิดอาญาที่เหมาะสมสำหรับการข่มขืนกระทำชำเรา”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๕๑, หน้า ๑๗๐.
[32] นพพร  โพธิรังสิยากร , ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้วยการไกล่เกลี่ย , หน้า ๑๙๖.
[33] ร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ.......มาตรา ๑๗.
[34] ร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ.......มาตรา ๑๕.
[35] ร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ........ มาตรา ๘.
[36] ร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ.........มาตรา ๑๗.
[37] ร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ.........มาตรา ๑๖ วรรคสอง.
[38] นพพร  โพธิรังสิยากร , ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้วยการไกล่เกลี่ย , หน้า ๑๙๐.
[39] คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๒๒/๒๕๒๔.
[40] คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๑๔/๒๕๐๑, ที่ ๗๐๗/๒๕๐๕, ที่ ๑๒๕๕/๒๕๐๕, ที่ ๑๓๓๑/๒๕๐๕, ที่ ๑๙๘/๒๕๐๖, ที่ ๓๘๑/๒๕๐๖, ที่ ๘๕๓/๒๕๑๒ , ที่ ๓๘๘๘/๒๕๓๗, ที่ ๑๒๗/๒๕๓๘.
[41] คำพิพากษาฎีกาที่  ๕๕๙๙/๒๕๓๑,ที่ ๓๔๗๕/๒๕๓๕ , ที่ ๑๑๔๑/๒๕๑๔ , ที่ ๒๐๔๑/๒๕๒๙.
[42] อัครศักดิ์ จิตธรรมมา. “การพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลยุติธรรมของประเทศไทย”, ดุษฎีนิพนธ์ รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ๒๕๕๑, หน้า๑๐๖.
[43]  พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  พ.ศ. ๒๕๓๔  มาตรา  ๖๑/๒  วรรคห้า .
[44]  พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ  พ.ศ. ๒๕๔๕  มาตรา  ๓๖ .
[45] สุชาย จอกแก้ว, ทำอย่างไร จะทำให้การเจรจาไกล่เกลี่ยนอกศาล (ของนายอำเภอ ตำรวจ อัยการ ทนายความ สหกรณ์ ธนาคารหรือเอกชนทั่วไป) มีผลบังคับได้เหมือนการไกล่เกลี่ยในศาล, วารสารศาลยุติธรรมปริทัศน์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 5 มิถุนายน กรกฎาคม ๒๕๕๑, หน้า ๔๐-๔๗.
[46] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๕.
[47] ธานิศ เกศวพิทักษ์, คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค,พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๕๑, หน้า ๖๓.
[48] นอกจากนั้น ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ..........มาตรา ๔๐ ก็บัญญัติหลักการไว้ในทำนองเดียวกัน ความว่า “เมื่อมีการไกล่เกลี่ยตามมาตรา ๓๘ ให้อายุความฟ้องร้องคดีแพ่งสะดุดหยุดอยู่ไม่นับในระหว่างนั้นจนกว่ามีการยุติการไกล่เกลี่ย”.
[49] ตัวอย่างเช่น ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาททางการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๑ และ ๓๒  ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๖  ระเบียบศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสภาทนายความว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ  ๑๖ และ ๑๗  ประกาศสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ในการอบรมอาสาสมัครไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน พ.ศ. ๒๔๕ข้อ ๕(๕)  และกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ ๒๕๕๓ ข้อ ๘ (ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๑/๒ วรรค ๖).
[50] สรวิศ ลิมปรังษี, “กฎหมายแม่แบบว่าด้วยการประนอมข้อพิพาท”, กฎหมายเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท, ๒๕๕๑, หน้า ๒๐ - ๓๖.
[51] นพพร โพธิรังสิยากร, “ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้วยการไกล่เกลี่ย”, หน้า๑๖๘-๑๖๙.
[52] ปรัชญา อยู่ประเสริฐ, “ขั้นตอนกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท”, เทคนิค จิตวิทยาและการสื่อสารสำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท, ๒๕๕๐, หน้า๑๖-๑๗.
[53] วันชัย วัฒนศัพท์, เอกสารการสรุปข้อมูลจากการไปศึกษาดูงานของผู้บริหารระดับสูงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในโครงการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสันติวิธี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๘๗/๒๕๔๖ ระหว่างวันที่ ๗ ถึง ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๗.
[54] สรวิศ  ลิมปรังษี , กรณีศึกษาต่างประเทศ : ประเทศอังกฤษ ศูนย์การระงับข้อพิพาทแบบมีประสิทธิภาพ  (Centre  for Effective  Dispute  Resolution), การบริหารจัดการระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาล, ๒๕๕๐, หน้า ๙๕.
[55] พรสวรรค์  สุวัณณศรีย์  , การจัดการความขัดแย้งของชุมชน : การใช้ภาษาในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของผู้นำชุมชน  ตำบลนาดินดำ  อำเภอเมืองเลย  จังหวัดเลย รายงานการวิจัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย  ๒๕๕๒, หน้า ๘๓.

[56] Reflection paper  ของทศพร  จุลศิริ,   “การพัฒนาระบบอาสาสมัครไกล่เกลี่ยข้อพิพาท , [Online] , Available : http://joticlub.exteen.com/20060630/reflection-paper-1.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น