1/06/2555

ปรากฎการณ์ Occupy Wall Street

ปรากฎการณ์ Occupy Wall Street
                                              โดย...โสต   สุตานันท์

            ในยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จะมีขอบเขตกว้างขวางเหนือสิทธิเสรีภาพของเอกชนมากมาย  จึงมีนักคิดนักปราชญ์พยายามใช้ปัญญาเสาะแสวงหาเครื่องมือที่จะนำไปใช้ต่อสู้กับพลังอำนาจรัฐ ซึ่งในที่สุดก็สามารถค้นพบสิ่งวิเศษที่เรียกกันว่า ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ  ทฤษฎีเสรีนิยมทางการเมือง และทฤษฎีเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ  ซึ่งที่ผ่านมาก็นับได้ว่าเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ที่ทรงพลานุภาพอย่างยิ่ง
         อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไปสองร้อยกว่าปี แนวคิดทฤษฎีดังกล่าวเริ่มกลายเป็นตัวปัญหาไปเสียแล้ว เพราะสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน องค์กรเอกชนหรือบุคคลสมมุติที่เรียกกันว่า “นิติบุคคล” มีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐมากมาย บริษัทข้ามชาติหลายแห่งมีมูลค่าทรัพย์สินเงินทองมากกว่างบประมาณแผ่นดินในหลายประเทศ สามารถควบคุมกลไกเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศต่าง ๆทั่วโลกได้เกือบทั้งหมด แม้แต่ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองของประเทศในโลกเสรีทั้งหลายก็มีที่มาหรือได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจนายทุนขนาดใหญ่กันทั้งสิ้น ความมั่นคงของกลุ่มธุรกิจนายทุนจึงหมายถึงความมั่นคงของรัฐ นั่นจึงเป็นที่มาของเหตุผลที่ว่า เพราะเหตุใด ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงต้องตัดสินใจใช้เงินภาษีอากรไปปกป้องอุ้มนายทุน ไม่ยอมให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆล้มละลาย  และเพราะเหตุใดรัฐบาลไทยจึงทุ่มเทสรรพกำลังสุดชีวิตเพื่อปกป้องคุ้มครองนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆให้รอดพ้นจากมหันตภัยน้ำท่วมและเมื่อไม่สามารถป้องกันรักษาไว้ได้เราจึงเห็นภาพรองนายกรัฐมนตรีไทยยืนร้องไห้กอดกับนักธุรกิจญี่ปุ่น
             นอกจากนั้น แนวคิดทฤษฎีดังกล่าวยังส่งผลกระทบเสียหายต่อมนุษย์โลกในในเรื่องอื่น ๆอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น
                ๑. การเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพส่วนตัวของปัจเจกบุคคลมากเกินไป ย่อมก่อให้เกิดความแตกต่างเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มคนที่มีศักยภาพหรือพื้นฐานฐานะความเป็นอยู่ดีหรือมีสายป่านที่ยาวไกลก็จะยิ่งได้เปรียบในลักษณะเป็นเท่าทวีคูณ ขณะที่คนซึ่งอยู่ในฐานะเสียเปรียบอยู่แล้วก็จะยิ่งเสียเปรียบย่ำแย่เป็นเท่าทวีคูณอีกเช่นกัน  อย่างเช่น  การซื้อที่ดินซึ่งมีราคา ๓ ล้านบาท คนรวยอาจจ่ายเงินตามราคา ๓ ล้านบาท เพราะซื้อเงินสด แต่คนที่มีฐานะด้อยกว่า อาจต้องจ่ายมากถึง ๔-๕ ล้านบาท เพราะต้องบวกดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารเข้าไปด้วย หรือคนที่มีร้านค้าหรือที่นาเป็นของตนเองย่อมได้เปรียบคนที่ทำมาหากินด้วยการเช่าอาคารร้านค้าหรือเช่าที่นาคนอื่นทำอย่างมากมาย ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ร้านขายของชำหรือร้านโชว์ห่วยขนาดเล็กจะทยอยล้มหายตายจากและสูญพันธ์ไปในที่สุด โอกาสทางการศึกษาก็ยิ่งนับวันจะห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน คุณธรรมจริยธรรมจะลดน้อยถอยลงเป็นสัดส่วนผกผันกัน คนที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นที่จะอยู่รอด มือใครยาวสาวได้สาวเอา ฯลฯ
            ท้ายที่สุดทุกคนจะอยู่ในสภาพอ่อนล้าเหนื่อยแรงและเป็นทุกข์  เพราะโดยสภาพเงื่อนไขของการต่อสู้แข่งขันทุกคนจะหยุดไม่ได้ หยุดเมื่อไหร่ก็แพ้เมื่อนั้น ขณะเดียวกันคนที่แพ้ก็จะกลายเป็นภัยคุกคามผู้ชนะในรูปแบบต่าง ๆไม่ให้มีโอกาสดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขได้  และที่สำคัญภายใต้ภาวะการณ์ของกฎเกณฑ์กติกาเช่นนี้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วรุนแรงและมากมายมหาศาล เพราะจะมีการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการเสพย์บริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัดและฟุ่มเฟือยไร้เหตุผล โดยไม่อาจหามาตรการ    ใด ๆมาทัดทานหรือระงับยับยั้งอย่างมีประสิทธิภาพได้  ผลที่สุดมนุษย์ทั้งโลกก็จะก้าวไปสู่ความพ่ายแพ้ร่วมกัน       ๒. การเปิดโอกาสให้มีสิทธิเสรีภาพหรือการแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวางโดยไม่มีการจำกัดขอบเขตที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่คำนึงถึง “หน้าที่” ในการเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น (ซึ่งควรจะต้องพึงตระหนักอยู่เสมอเมื่อคำว่า “สิทธิเสรีภาพ” ผุดขึ้นในสมอง) นั้น ก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญตามมา คือ มีการรุกล้ำล่วงเกินสิทธิเสรีภาพของกันและกันเพิ่มมากขึ้นและทวีความรุนแรงเป็นลำดับ ซึ่งแน่นอนว่า การพยายามตอบโต้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตนเองของแต่ละคนย่อมมีมากขึ้นและยิ่งทวีความรุนแรงอีกเช่นกัน  ผลที่ตามมาคือ ความขัดแย้งบาดหมาง การกระทบกระทั่ง การต่อสู้ทำลายล้างกันของผู้คนในสังคมจะมีมากขึ้นและแผ่ขยายลุกลามออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากสังคมใดไม่รีบคิดหามาตรการปรับปรุงแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะก้าวไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า “มิคสัญญีกลียุค” บ้านเมืองไร้ขื่อแป ในท้ายที่สุด 
            นอกจากนั้น ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ สภาพการณ์ดังกล่าว จะส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน” หรือ  “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” และความเชื่อมั่นของผู้คนในสังคมที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” จะค่อย ๆเสื่อมคลายลงไปเรื่อย ๆ เหตุผลเพราะว่า ในทุกสังคมย่อมมีทั้งคนดีมาก ดีน้อย ดีปานกลาง มีคนชั่วมาก ชั่วน้อย ชั่วปานกลาง มีคนดีในแง่มุมหนึ่งแต่ไม่ดีในอีกแง่มุมหนึ่ง หรือไม่ดีในแง่มุมหนึ่งแต่ดีในอีกแง่มุมหนึ่ง และในโลกนี้ย่อมไม่มีใครที่ไม่เคยผิดพลาด มีปมด้อย ข้อเสียหรือมลทินด่างพร้อย  ซึ่งปกติส่วนใหญ่คนที่มีสัดส่วนน้ำหนักแห่งคุณความดีมากกว่ามักจะหน้าบางและอ่อนไหวง่าย ขณะที่คนซึ่งมีสัดส่วนความชั่วมากกว่ามักจะหน้าหนาไร้ยางอาย
            เมื่อเกิดการเผชิญหน้าต่อสู้กันในเรื่องของการรุกล้ำและการปกป้องสิทธิเสรีภาพของกันและกัน คนดีมากกว่าจึงมักจะเลือกวิถีแห่งชัยชนะด้วยการยอมเสียสละ ให้อภัยและปล่อยวางหรือถือคติที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”  “ไม่อยากเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ” หรือ “หมากัดอย่ากัดตอบ” (แต่ในสายตาของผู้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการยอมแพ้) เสียงของคนดีในสังคมจึงค่อย ๆเงียบลง ๆ ขณะเดียวกันเสียงของคนชั่วจะเริ่มดังขึ้น ๆเรื่อย ๆ โดยใช้จุดอ่อนของมนุษย์ส่วนใหญ่คือ กิเลสความต้องการที่เรียกว่า “ตัณหา” เป็นเครื่องมือในการเสาะแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ผลที่สุดเหล่ากังฉินย่อมครองเมืองเรืองอำนาจ ความเดือดร้อนเสียหายและความอยุติธรรมก็จะแผ่ขยายปกคลุมไปทุกหย่อมหญ้า
            อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศอาจมีกลุ่มคนดีจำนวนหนึ่งซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากยิ่งกว่าที่กล้าหาญชาญชัยลุกขึ้นมากู่ตะโกนร้องด้วยเสียงอันดังและต่อสู้ตอบโต้สิ่งที่เห็นว่าชั่วร้าย โดยไม่เกรงกลัวภัยอันตรายใด ๆ แต่ผลที่มักจะตามมาก็คือ พลังความคิดเชิงลบจะค่อย ๆแทรกซึมครอบงำสะสมเข้าไปในความคิดและจิตใจของเขาเหล่านั้นทีละเล็กละน้อยๆ เมื่อถึงจุด ๆหนึ่งก็จะไม่สนใจวิธีการว่ามีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ขอให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จเป็นพอ  มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ตั้งปณิธานแน่วแน่ที่จะยืนหยัดต่อสู้ตามครรลองอันถูกต้องชอบธรรมภายใต้กฎเกณฑ์กติกาของกฎหมายบ้านเมืองอย่างมั่นคง แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ  ท้ายที่สุด ความขัดแย้งวุ่นวาย การต่อสู้ห้ำหั่นทำลายร้างกันอย่างรุนแรงก็จะเกิดขึ้น และเสียงปืนของทหารก็อาจดังกึกก้องขึ้นมากลบเสียงทั้งของคนดีและคนไม่ดี โดยยากที่จะหยั่งทราบได้ว่า คนที่ถืออาวุธปืนอยู่ในมือนั้นเป็นคนดีหรือไม่ดี และสังคมก็จะตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งวุ่นวายสับสนอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น
            จากสภาพปัญหาดังที่กล่าวมา  จึงเชื่อว่าปรากฏการณ์สำคัญที่จะเกิดมีขึ้นในโลกนับต่อแต่นี้ไปก็คือ การต่อสู้เรียกร้องให้รัฏฐาธิปัตย์เรียกอำนาจกลับคืนมา ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจนายทุนขนาดใหญ่อีกต่อไป ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ด้วยการจุดประกายของกลุ่มคนที่เรียกกันว่า “Occupy Wall Street และกำลังแผ่ขยายไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ คำถามก็คือว่า จะนำหลักคิดอุดมการณ์หรือแนวคิดทฤษฎีใดไปใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรื่องดังกล่าว เพราะลำพังการหยิบยกเอาปรากฏการณ์หรือการกล่าวอ้างถึงผลกระทบเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับขึ้นเป็นเครื่องมือต่อสู้ดังเช่นที่ปรากฏตามข่าว คงไม่มีประสิทธิภาพและทรงพลังมากพอที่จะต่อกรกับอำนาจอิทธิพลที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่เหนือรัฐได้อย่างแน่นอน
            ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ปัจจุบันระบบทุนนิยมเสรีที่ไร้ขอบเขตได้ถลำลึกและสร้างปัญหาใหญ่โตจนยากเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประหนึ่งจะคิดแก้ไขเยียวยาได้แม้แต่เฉพาะในประเทศของตนเอง  เพราะสภาพปัญหามีความโยงใยเกี่ยวพันกันไปทั่วโลก และคงเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จะทำให้ทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันหรือคิดร่วมมือร่วมใจเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว  เนื่องจากสภาพปัญหาของแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเมืองภายใน และไม่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไร ย่อมมีทั้งฝ่ายที่ได้เปรียบเสียเปรียบเสมอ คงไม่มีใครยอมใครง่าย ๆ  เพราะฉะนั้น โดยกลไกของระบบย่อมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากรัฐต้องตัดสินใจอุ้มกลุ่มธุรกิจนายทุนและส่งเสริมสนับสนุนการเสพย์บริโภคอย่างไม่บันยะบันยังกันต่อไป จนกว่ารัฐจะอุ้มไม่ไหวหรือประชาชนลุกฮือขึ้นใช้กำลังล้มล้างระบบหรือจนกว่าทรัพยากรธรรมชาติจะถูกทำลายไปจนหมดสิ้น 
            อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยเรานั้น เนื่องจากเรามีระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเล็กหากเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจโลก อีกทั้งประเทศเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์หลากหลายและยังมีปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆที่เอื้ออำนวยเกื้อกูล ดังนั้น หากเรารู้สึกตัว รู้ความจริง รู้ข้อมูลสภาพปัญหา การกลับตัวกลับใจใช้สติปัญญามองหาหนทางใหม่ที่ถูกต้องดีงาม ไม่หลงเดินตามหลังฝรั่งไปสู่ห้วงเหวลึกอันตรายเหมือนเช่นที่ผ่านมา สถานการณ์ตอนนี้ก็น่าจะยังไม่สายเกินแก้ ถึงแม้อาจจะต้องได้รับผลกระทบเสียหายไม่น้อยจากภัยสึนามิทางเศรษฐกิจก้อนโตมหึมาที่คาดว่าคงจะเกิดขึ้นภายในเวลาอันไม่ช้าไม่นานนี้อย่างแน่นอน แต่หากเราเตรียมพร้อมวางแผนตั้งรับให้ดี ก็เชื่อว่าน่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติปัญหาอันใหญ่หลวงไปได้
            ความเดือดร้อนเสียหายมากมายมหาศาลซึ่งเกิดจากมหาอุทกภัยที่ประเทศไทยเรากำลังประสบกันอยู่ในขณะนี้ หากคิดดูให้ดีตามหลักอิทัปปัจจยตาก็จะพบว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็มีผลสืบเนื่องมาจากอิทธิพลครอบงำของแนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจเสรีที่ไม่มีขอบเขตข้อจำกัดอันเหมาะสมนั่นเอง ดังนั้น เราน่าจะถือเอาวิกฤตปัญหาครั้งนี้มาเป็นโอกาสด้วยการระดมสมองระดมสติปัญญาของคนทั้งชาติ เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันทบทวนตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจังว่า ทิศทางอนาคตของเราจะเดินไปทางไหน อย่างไร  ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า หนทางรอดของเรามีอยู่เพียงวิถีทางเดียวเท่านั้น คือ การเดินตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า การพยายามกอบกู้หรือแก้ไขฟื้นฟูประเทศให้เป็นเหมือนเดิม แล้วเดินต่อไปในเส้นทางเดิมน่าจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมอีกต่อไป./

                                                                   ---------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น