1/05/2555

ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการล่อซื้อยาเสพติด

                                          ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการล่อซื้อยาเสพติด[1]
                                                                                                                  โดย...โสต   สุตานันท์
                 
     ปัจจุบันมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการล่อซื้อยาเสพติด   ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่น่าสนใจอยู่    ๒   เรื่อง   คือ
                       ๑การกระทำความผิดหลายบทหรือหลายกระทง  ตามประมวลกฎหมายอาญา   มาตรา  ๙๐  และ  ๙๑ 
                  แนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า    กรณีจำเลยจำหน่ายยาเสพติดให้แก่สายลับหรือเจ้าพนักงานตำรวจผู้ล่อซื้อไปทั้งหมด  ถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท  ให้ลงโทษบทหนักที่สุด  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๙๐  แต่หากจำเลยจำหน่ายยาเสพติดไม่หมด   โดยยังคงเหลือที่ตัวจำเลยอีกส่วนหนึ่ง  ถือว่า เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน  ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๙๑
                      พยานหลักฐานที่สามารถรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา   ๒๒๖
                  แนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า   การที่เจ้าพนักงานตำรวจให้สายลับไปล่อซื้อยาเสพติดจากจำเลย    ถือว่าเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่  เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด  ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่มิชอบ
                 ผู้เขียนใคร่ขอเสนอข้อคิดเห็นบางแง่มุมเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง  ๒  เรื่อง  ดังกล่าว   ดังนี้  คือ

           เรื่องแรก - กรณีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดหลายบทหรือหลายกระทง  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๙๐  และ  ๙๑      ผู้เขียนมีข้อสังเกต ๓ ประการ  คือ
               .ในการใช้ดุลพินิจลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น  นอกจากจะต้องคำนึงถึงอัตราโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว  หลักสำคัญประการหนึ่งที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณา  คือ  ต้องลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์หรือความร้ายแรงแห่งความผิดที่จำเลยกระทำ   สมมุติว่า  นาย  ก  และ  นาย  ข   มียาบ้าไว้ในครอบครองคนละ  ๒  เม็ด  เท่ากัน  ต่อมานาย  ก  ขายไป  ๑  เม็ด  เหลืออีก  ๑ เม็ด  ส่วนนาย  ข  ขายไปหมดทั้ง  ๒  เม็ด  ถามว่า  พฤติการณ์ความร้ายแรงในการกระทำความผิดของทั้งสองคนต่างกันหรือไม่  หรือหากจะใช้คำถามแบบภาษาชาวบ้านว่า  นาย  ก  กับ  นาย  ข  ใครชั่วมากกว่ากัน 
          ปัญหาดังกล่าว  หากพิจารณาตามผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลฎีกาปัจจุบัน  ก็จะได้คำตอบว่า  นาย   ก  ชั่วมากกว่า   เพราะจะเห็นได้ว่า  ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษนาย  ก   มากกว่านาย  ข  ถึงสองเท่า  โดยเห็นว่า  การกระทำของนาย  ก   เป็น  ๒  กรรม  แต่การกระทำของนาย  ข  เป็นกรรมเดียว   หากนาย  ก  และนาย  ข   ลุกขึ้นยืนฟังคำพิพากษาพร้อมกันและได้ยินคำพิพากษาที่ศาลอ่านว่า   นาย  ก   ถูกพิพากษาจำคุก  ๑๐  ปี  แต่ นาย  ข   ถูกพิพากษาให้จำคุก  ๕  ปี  (อัตราโทษขั้นต่ำสุดในความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท  ๑  ตาม  พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ.  ๒๕๒๒  มาตรา ๖๖  )   นาย   ก   คงรำพึงในใจว่า   คนซื้อน่าจะซื้อไปหมดทั้ง  ๒   เม็ด   แต่นาย  ข  ก็คงรู้สึกดีใจในความโชคร้ายว่า    อย่างน้อยก็โชคดีที่ขายไปทั้งหมด   ส่วนญาติจำเลยทั้งสองก็คงจะงง ๆอยู่เหมือนกันว่า   เกิดอะไรขึ้น 
                  ๒.สำหรับเหตุผลที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  กรณีจำหน่ายไม่หมดเป็น  ๒  กรรม  และจำหน่ายหมดเป็นกรรมเดียว  มีดังนี้  คือ 
                        ๒.๑  กรณีจำหน่ายไม่หมดเป็น ๒  กรรม  ศาลฎีกาได้ให้เหตุผลไว้  ๓  แนว  คือ
                                 ก. ให้เหตุผลว่า  เพราะการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับการจำหน่ายเป็นความผิดซึ่งอาศัยเจตนาในการกระทำแตกต่างแยกจากกันได้  (คำพิพากษาฎีกา  ที่   ๖๓๘/๒๕๑๙ , ๑๘๑๖/๒๕๑๙ , ๓๖๘๑/๒๕๒๕ , ๒๘๑/๒๕๒๙ , ๑๓๖๕/๒๕๔๑ , ๓๘๑๔/๒๕๔๑ )  
                                 ข.  ให้เหตุผลโดยดูจากจำนวนว่า   หลังจากจำหน่ายแล้ว  ยังเหลือยาเสพติดอยู่อีกส่วนหนึ่งไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย  จึงเป็น  ๒  กรรม  (คำพิพากษาฎีกา ที่  ๓๖๔/๒๕๑๙ , ๙๓๓/๒๕๑๙ ,๑๙๙๕/ ๒๕๒๖ , ๒๐๔๒/๒๕๔๒ )
                                 ค.  ให้เหตุผลโดยดูจากการกระทำว่า  การจำหน่ายกับการมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำคนละครั้งหรือต่างกรรมต่างวาระ  จึงเป็น  ๒  กรรม  (คำพิพากษาฎีกา  ที่  ๑๑๙๘/๒๕๑๙ (ประชุมใหญ่) ,  ๑๔๙๒/๒๕๑๙ , ๒๐๔๙/๒๕๑๙ , ๒๖๕๒/๒๕๑๙ )
                       ๒.๒  กรณีจำหน่ายหมดเป็นกรรมเดียว  ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า  เนื่องจากจำนวนยาเสพติดที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและที่จำหน่ายไป  เป็นยาเสพติดจำนวนเดียวกัน  ( คำพิพากษาฎีกา  ที่  ๑๒/๒๕๒๒ , ๑๐๗๔/๒๕๒๒ , ๘๒๐/๒๕๒๓ , ๑๓๑๑/๒๕๓๓ , ๔๗๓/๒๕๔๒ )
                        จากเหตุผลตามแนวคำวินิจฉัยศาลฎีกาดังกล่าว  จะเห็นว่า  การให้เหตุผลกรณี  ๒  กรรมกับกรณีกรรมเดียวดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกัน  เพราะหลักที่ว่า  เจตนามีไว้เพื่อจำหน่ายกับเจตนาจำหน่ายแยกจากกันได้นั้น  เมื่อการมียาเสพติดจำนวนหนึ่งไว้เพื่อจำหน่ายเป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่งแล้ว  ต่อมาไม่ว่าจะจำหน่ายหมดหรือไม่หมดก็น่าจะต้องเป็นอีกกรรมหนึ่ง รวม  ๒  กรรม เสมอ   จะเป็นเพียงกรรมเดียวไม่ได้   สำหรับหลักที่คำนึงถึงจำนวนก็เช่นกัน   ถ้าการจำหน่ายยาเสพติดจำนวนเดียวกันทั้งหมดเป็นกรรมเดียว   การจำหน่ายไม่หมดก็น่าจะเป็นกรรมเดียวด้วย  เพราะจำนวนที่มีไว้เพื่อจำหน่ายก็คลุมถึงจำนวนที่จำหน่ายอยู่แล้ว และไม่มียาเสพติดจำนวนอื่นขึ้นใหม่อันจะทำให้เป็นการมียาเสพติดเพื่อจำหน่ายกรรมใหม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด   ส่วนหลักที่ว่า  การมีไว้เพื่อจำหน่ายกับจำหน่ายต่างกรรมต่างวาระกันนั้น  ก็ไม่สามารถตอบได้ว่า   ทำไมเวลาจำหน่ายทีเดียวหมดจึงถือว่าไม่ใช่ต่างกรรมต่างวาระ  ทั้ง ๆที่มี  ๒ การกระทำเช่นกัน
               ๓.  ปกติในการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยนั้น  แต่ละศาลจะมีบัญชีอัตราโทษหรือที่เรียกกันว่า ยี่ต๊อก  อยู่   ทั้งนี้  เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้พิพากษาในการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษสำหรับคดีที่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์การกระทำความผิดทำนองเดียวกัน  อย่างเช่น  คดีเกี่ยวกับยาบ้า  ส่วนใหญ่จะใช้ปริมาณสารบริสุทธิ์หรือจำนวนเม็ดยาบ้าของกลาง  เป็นเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดโทษที่จะลง   ปัญหาจึงมีว่า  กรณีจำเลยจำหน่ายยาบ้าไม่หมด  การลงโทษจำเลยในข้อหามียาบ้าไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจะพิจารณากำหนดโทษจำเลยโดยดูจากจำนวนยาบ้าที่จำเลยมีไว้ในครอบครองทั้งหมดก่อนจำหน่าย หรือจะต้องหักยาบ้าในส่วนที่จำหน่ายไปแล้วออกก่อน 
                        เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน  ขอยกตัวอย่างประกอบ   สมมุติว่า  จำเลยมียาบ้าไว้ในครอบครอง  ๑๐๐  เม็ด  จำหน่ายให้สายลับผู้ล่อซื้อไป  ๙๐  เม็ด  คงเหลือ  ๑๐  เม็ด   กรณีเช่นนี้  จะลงโทษจำเลยในความผิดฐานมียาบ้าไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยพิจารณาจำนวนยาบ้าตามบัญชีอัตราโทษ  ๑๐๐   เม็ด หรือ  ๑๐  เม็ด   จากการสังเกตของผู้เขียน  ในเรื่องดังกล่าว พบว่า  ยังมีความเห็นและการปฏิบัติที่แตกต่างกันอยู่   ซึ่งหากจำนวนยาเสพติดมีจำนวนเล็กน้อย  ก็คงไม่มีผลอะไรมากนัก  แต่หากยาเสพติดมีจำนวนมากแล้ว  ก็จะมีผลกระทบต่อการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยมากเลยทีเดียว
                        จากข้อสังเกตคำวินิจฉัยของศาลฎีกาทั้ง  ๓  ประการ  ดังที่กล่าวมา  ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้  คือ
                        ข้อสังเกตตามข้อที่  ๑   -   ผู้เขียนเห็นว่า  เราไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า  เพราะอะไรนาย  ก  จึงต้องได้รับผลกรรมมากกว่า นาย  ข  ถึงสองเท่า   จะอ้างเหตุผลทางวิชาการเพียงเพราะว่า  การกระทำของนาย  ก  เป็นสองกรรม  ส่วนการกระทำของนาย  ข  เป็นกรรมเดียวเช่นนั้นหรือ    ผู้เขียนเชื่อว่า  สามัญสำนึกของประชาชนทั่วไป  แม้จะไม่รู้กฎหมายเลย  ก็ต้องรู้สึกว่า  คำพิพากษาออกมาเช่นนี้ไม่น่าจะยุติธรรม   เพราะจากพฤติการณ์ตามตัวอย่าง  นาย  ก  กับ  นาย  ข  ไม่น่าจะมีความชั่วแตกต่างกันเลย   ผลของคำพิพากษาจึงไม่ควรที่จะแตกต่างกัน  ที่สำคัญไม่ใช่ต่างกันเพียงเล็กน้อย  แต่ต่างกันโดย  นาย  ก   ต้องรับโทษมากกว่าถึงสองเท่า   ผู้เขียนจึงเห็นว่า   หากมองในแง่ดุลพินิจในการกำหนดโทษแล้ว  ไม่ว่าการกระทำของนาย  ก  และนาย  ข  จะเป็นกรรมเดียวหรือสองกรรม  บุคคลทั้งสองสมควรที่จะได้รับโทษเท่ากันหรือไม่ก็ใกล้เคียงกัน
                        ข้อสังเกตตามข้อที่  ๒  -   ผู้เขียนเห็นว่า   การจำหน่ายยาเสพติด  ไม่ว่าจะจำหน่ายหมดหรือไม่หมดก็ต้องเป็น  ๒  กรรม  ทั้งนี้  โดยพิจารณาจากหลัก  เจตนา ในการกระทำเป็นสำคัญ    จะเห็นได้ว่า  เจตนาในการมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย  กับเจตนาจำหน่ายยาเสพติดนั้น  สามารถแยกการกระทำออกจากกันได้อย่างชัดเจน  กล่าวคือ   การที่จำเลยเอายาเสพติดมาไว้ในความครอบครองโดยเจตนาเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำกรรมหนึ่งแล้ว  ต่อมาเมื่อจำเลยจำหน่ายยาเสพติดไป ก็เป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่ง   ปัญหาว่า   จำเลยต้องถูกลงโทษทั้ง  ๒  กรรม หรือไม่   ประมวลกฎหมายอาญา   มาตรา   ๙๑   บัญญัติว่า  เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน  ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป....  เมื่อพิจารณาประกอบกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ.  ๒๕๒๒  มาตรา  ๖๖  ซึ่งบัญญัติว่า  ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ....ต้องระวางโทษ.........  ก็จะเห็นว่า   กฎหมายบัญญัติว่า  การจำหน่ายและการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด  เป็นการกระทำอันเป็นความผิด   ดังนั้น  จำเลยจึงต้องถูกลงโทษทั้งสองกรรมเป็นกระทงความผิดไป   ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย  อาญา  มาตรา  ๙๑ 
                        ข้อสังเกตตามข้อที่  ๓  -  ผู้เขียนเห็นว่า  ในการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยนั้น  กรณีข้อหาความผิดฐาน  มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย    ควรต้องถือจำนวนยาเสพติดที่จำเลยมีไว้ในครอบครองทั้งหมดก่อนจำหน่ายให้ผู้ล่อซื้อ  เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา   เหตุผลเพราะว่า    ความผิดฐานดังกล่าว  จำเลยได้กระทำผิดสำเร็จตั้งแต่นำเอายาเสพติดทั้งหมดมาไว้ในครอบครองแล้ว เช่น จำเลยซื้อยาบ้ามา  ๑๐๐,๐๐๐     เม็ด   เมื่อวันที่  ๑  มกราคม   ๒๕๔๕   และจำหน่ายให้ผู้ล่อซื้อในวันที่  ๓๑  มกราคม   ๒๕๔๕   จำนวน  ๕๐,๐๐๐  เม็ด   จะเห็นว่า   จำเลยได้กระทำความผิดสำเร็จโดยมียาบ้าไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายทั้ง  ๑๐๐,๐๐๐   เม็ด  ตั้งแต่วันที่  ๑  มกราคม  ๒๕๔๕   แล้ว   และการที่จำเลยครอบครองยาบ้าจำนวนดังกล่าวเรื่อยมา  ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันมาตลอดเวลาที่ครอบครองยาบ้าอยู่    ดังนั้น   หากจะพิจารณาลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย  โดยพิจารณาจากจำนวนยาเสพติดที่เหลือหลังจากจำหน่ายให้ผู้ล่อซื้อแล้ว  น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะจะเป็นการขัดต่อความเป็นจริง
                        สำหรับการลงโทษจำเลยในข้อหา  จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ  นั้น  ผู้เขียนเห็นว่า  การที่เจ้าพนักงานตำรวจให้สายลับไปล่อซื้อยาเสพติดจากจำเลยนั้น  ยังไม่น่าจะเป็นความผิดสำเร็จ  โดยน่าจะเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดเท่านั้น   เพราะหากพิจารณาความหมายของคำว่า  จำหน่าย   ตามคำนิยามในมาตรา  ๔   แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ.  ๒๕๒๒   ซึ่งให้ความหมายไว้ว่า   จำหน่าย  หมายถึง   ขาย  จ่าย  แจก  แลกเปลี่ยน   ให้   ก็จะเห็นว่า  ความหมายตามคำนิยามดังกล่าวทุกคำ  หมายถึง   นิติกรรมที่จะต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่จำหน่ายให้แก่  ผู้ซื้อ  ผู้รับจ่าย   ผู้รับแจก  ผู้แลกเปลี่ยน   หรือผู้รับให้ แล้วแต่กรณี   แต่ในการล่อซื้อนั้น  ผู้เขียนเห็นว่า   ตำรวจไม่ได้มีเจตนาจะซื้อยาเสพติดจริง  ๆ ตำรวจทำไปเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อจับกุมจำเลยเท่านั้น    และเมื่อยาเสพติดที่ล่อซื้อได้ไปอยู่ในความครอบครองของตำรวจแล้ว  ก็ไม่ได้หมายความว่า  ตำรวจได้กรรมสิทธิ์ในยาเสพติดนั้น   เพราะในที่สุดยาเสพติดที่ล่อซื้อย่อมตกเป็นของกลางในคดี 
                        ผู้เขียนเห็นว่า  วัตถุประสงค์ในการล่อซื้อของตำรวจมีอยู่  ๒  ประการ  คือ   เพื่อจะได้ตรวจพบยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดจากจำเลย  และเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า   ยาเสพติดที่จำเลยมีไว้ในครอบครองอยู่นั้น  จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย  ไม่ได้มีไว้ในครอบครองเฉย ๆหรือมีไว้เพื่อการอื่นใด    อาจมีข้อโต้แย้งว่า   จะตีความกฎหมายโดยการนำหลักเรื่องนิติกรรมสัญญาทางแพ่งมาประกอบการวินิจฉัยไม่น่าจะถูกต้อง   เพราะการจำหน่ายยาเสพติดเป็นการกระทำที่มีมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  ซึ่งเป็นโมฆะ  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๕๐    แต่ผู้เขียนก็เห็นว่า   นิติกรรมจะเป็นโมฆะหรือไม่  คงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณา   ประเด็นอยู่ที่ว่า  ในการจำหน่ายยาเสพติดนั้น  ผู้จำหน่ายจะต้องมีเจตนาที่จะจำหน่ายให้ผู้รับจำหน่าย และแน่นอนว่า   คำว่า   เจตนาจำหน่าย   ย่อมหมายถึง  การมุ่งที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในยาเสพติดนั้นให้ผู้รับจำหน่ายเสมอ  ดังนั้น  เมื่อผู้ล่อซื้อไม่มีเจตนาที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ในยาเสพติดที่ล่อซื้อเสียแล้ว   การจำหน่ายย่อมไม่อาจเป็นผลสำเร็จได้   กรณีต้องถือว่า   เป็นการพยายามกระทำความผิดซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้  ตาม  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๘๑   เท่านั้น 
                        จากการที่ผู้เขียนเห็นว่า  การล่อซื้อยาเสพติด  เป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ดังเหตุผลที่กล่าวมา    ผู้เขียนจึงเห็นว่า   ในการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยในความผิดฐาน  จำหน่ายยาเสพติด   จึงต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ   จะนำเอาจำนวนยาเสพติดที่ล่อซื้อได้มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดโทษจำเลยเพียงอย่างเดียว  ย่อมไม่น่าจะถูกต้อง   เพราะจะกลายเป็นว่า  จำเลยจะได้รับโทษในความผิดฐานดังกล่าวเท่าใดต้องขึ้นอยู่กับว่า   ตำรวจจะล่อซื้อยาเสพติดจากจำเลยจำนวนเท่าใด   หากตำรวจต้องการให้จำเลยถูกลงโทษหนัก ๆก็จะล่อซื้อเป็นจำนวนมาก   แต่หากไม่ต้องการให้ถูกลงโทษหนักหรือตำรวจไม่มีเงินมากพอ  ก็จะล่อซื้อจำนวนน้อย    ผู้เขียนเห็นว่า   การใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษ  ควรพิจารณาถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยว่า  ร้ายแรงหรือไม่  อย่างไร  รวมทั้งพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆประกอบด้วย

               เรื่องที่สอง - พยานหลักฐานที่สามารถรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา  มาตรา  ๒๒๖
                        การที่แนวคำพิพากษาศาลฎีกาของไทยวินิจฉัยว่า  การล่อซื้อยาเสพติดถือเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่   เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด  ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่มิชอบนั้น  (คำพิพากษาฎีกา  ที่  ๕๙/๒๕๔๒ , ๘๑๘๗/๒๕๔๓ )   เป็นเรื่องที่ค่อนข้างล่อแหลมอย่างยิ่ง  เพราะบางกรณีดูเหมือนจะเป็นการล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพส่วนตัวของบุคคลที่ถูกล่อซื้อเกินขอบเขต  ตัวอย่างเช่น    จำเลยไม่เคยขายยาเสพติดมาก่อน หรือ เคยขายมาก่อน แต่ต้องการจะเลิก และตัดสินใจแล้วว่า จะไม่ขายอีก  แต่เมื่อตำรวจไปติดต่อเพื่อขอล่อซื้อโดยให้ราคาสูง  ทำให้จำเลยมีกิเลส  เกิดความโลภจึงตัดสินใจไปหายาเสพติดมาขายให้  หรือ ปกติจำเลยจะเป็นผู้ขายรายย่อย  โดยขายให้แก่ลูกค้าที่ติดยาเสพติดแต่ละรายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  แต่เมื่อตำรวจไปติดต่อขอล่อซื้อจำนวนมากและในราคาสูง  จำเลยจึงตัดสินใจไปติดต่อพ่อค้ารายใหญ่  เพื่อหายาเสพติดมาขายให้เพื่อต้องการเงินจำนวนมาก    เป็นต้น
                        จากตัวอย่างดังกล่าว  จะเห็นว่า  การใช้วิธีล่อซื้อเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานมาผูกมัดจำเลยนั้น  ดูเหมือนจะไม่เป็นธรรมกับจำเลยเท่าไหร่นัก  เพราะโดยหลักแล้ว   การรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมให้มีความปลอดภัย   เป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับผิดชอบ  การที่เจ้าหน้าที่รัฐหาพยานหลักฐานโดยใช้วิธีล่อให้จำเลยทำผิด  ย่อมแสดงให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพของรัฐในการรักษาความสงบสุขในสังคม   ทั้งยังหมิ่นเหม่ต่อการขัดหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายว่าด้วยเรื่องพยานหลักฐานอีกด้วย  เพราะโดยหลักแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องหาพยานหลักฐานเอง  เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย  ไม่ใช่หาพยานหลักฐานโดยอาศัยจำเลยเป็นเครื่องมือ   ดังจะเห็นได้ว่า  แม้แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  ๒๓๒   ก็ยังบัญญัติไว้ว่า  ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน  
           แต่อย่างไรก็ตาม   ก็ต้องยอมรับว่า   ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น   ผู้กระทำผิดย่อมต้องระมัดระวังตัวอย่างมาก   และมักจะมีการติดต่อซื้อขายกันในที่ลี้ลับ   ดังนั้น  โอกาสที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจับกุมผู้กระทำผิดได้คาหนังคาเขา  ขณะกำลังทำผิดและได้ของกลางครบถ้วนนั้น  ย่อมเป็นไปได้ยาก   และหากจะจับภายหลังมีการกระทำผิดไปแล้ว   ก็มักจะไม่ได้ของกลาง   ทำให้คดีมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้    ดังนั้น   การล่อซื้อจึงเป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานวิธีหนึ่งที่ถือว่ายังจำเป็น  เพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ  เพื่อรักษาความสงบสุขของสังคม 
          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น   ผู้เขียนก็เห็นว่า   เมื่อการล่อซื้อเป็นวิธีการที่หาพยานหลักฐานในการกระทำผิดโดยอาศัยจำเลยเป็นเครื่องมือ   ซึ่งไม่น่าจะยุติธรรมต่อจำเลยนักดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว   ดังนั้น  ในการลงโทษจำเลยที่ถูกจับจากการล่อซื้อ  จึงไม่น่าที่จะลงโทษหนักเท่ากับกรณีจำเลยอื่นที่ถูกจับจากการกระทำผิดที่มีการซื้อขายยาเสพติดกันจริง ๆ   การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายโดยวินิจฉัยว่า  การล่อซื้อยาเสพติดเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้   ดังที่ผู้เขียนให้เหตุผลไว้ข้างต้น  จึงน่าจะเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่สามารถให้ความยุติธรรมต่อผู้กระทำผิดที่ถูกจับเพราะเหตุล่อซื้อได้
                        ข้อสรุป    ผู้เขียนเห็นว่า    การจำหน่ายยาเสพติดให้กับผู้ล่อซื้อนั้น   ไม่ว่าจะจำหน่ายหมดหรือไม่หมด   ย่อมเป็นสองกรรมเสมอ  เพราะเจตนาในการมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กับ เจตนาจำหน่ายยาเสพติดนั้น  สามารถแยกการกระทำออกจากกันได้อย่างชัดเจน  และการล่อซื้อยาเสพติดนั้น  แม้จะมีการส่งมอบยาเสพติดให้เจ้าพนักงานผู้ล่อซื้อแล้ว   ก็ยังไม่น่าจะถือว่า เป็นความผิดสำเร็จ  น่าจะเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้เท่านั้น 
                        ในการวินิจฉัยตีความปัญหาข้อกฎหมายนั้น   ย่อมเป็นธรรมดาที่อาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปได้หลายทาง  ขึ้นอยู่กับแง่มุม แนวคิด และประสบการณ์ของแต่ละคนที่เรียนรู้มา   แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า  ต้องยึดเป็นหลักการสำคัญในการตีความ  ก็คือ   ต้องตีความกฎหมายให้มี  ความยุติธรรม   มากที่สุด     ความยุติธรรม คือ อะไร   ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า   คือ  สิ่งที่วิญญูชนส่วนใหญ่ในสังคมมีความเห็นร่วมกันว่า  ถูกต้องชอบธรรม   มีเหตุมีผล   การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า  การที่จำเลยคนหนึ่งขายยาบ้าไป  ๑  เม็ด  เหลืออีก  ๑  เม็ด  เป็นสองกรรม  ต้องถูกลงโทษจำคุก  ๑๐  ปี  ขณะที่จำเลยอีกคนหนึ่งขายยาบ้าไปหมดทั้ง ๒  เม็ด  เป็นกรรมเดียวและถูกลงโทษจำคุกเพียง  ๕  ปี  และการวินิจฉัยว่า  การล่อซื้อเป็นความผิดสำเร็จ  จำเลยที่ถูกจับจากการล่อซื้อต้องรับโทษเช่นเดียวกับจำเลยที่ถูกจับจากการทำผิดที่มีการซื้อขายยาเสพติดกันจริง ๆนั้น    ด้วยความเคารพอย่างสูง   ผู้เขียนเห็นว่า  ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใด  คงหาคนในสังคมที่เห็นว่า  เป็นการวินิจฉัยที่มี  ความยุติธรรม  ได้ยาก
                        อนึ่ง  หากผู้อ่านท่านใดยังเห็นว่า  การขายยาเสพติดหมดเป็นกรรมเดียว  ขายไม่หมดเป็นสองกรรม  ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาปัจจุบันอยู่  กรณีที่ผู้เขียนเห็นว่า  การล่อซื้อยาเสพติดเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิด  ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา  ๘๑  นั้น   ก็น่าจะเป็นการตีความกฎหมายที่ช่วยสนับสนุนให้การใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยมีความยุติธรรมมากขึ้น   ทั้งนี้   เพราะหากตีความว่าเป็นความผิดสำเร็จ   ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องลงโทษผู้กระทำผิดทั้งสองกรณี  ในอัตราโทษที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก  อย่างน้อยที่สุดก็แตกต่างกันเท่ากับอัตราโทษขั้นต่ำสุดของความผิดฐานใดฐานหนึ่งที่กฎหมายกำหนด    แต่หากตีความว่า   เป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  ๘๑  แล้ว   ในการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยย่อมสามารถกำหนดโทษให้เหมาะสมได้โดยไม่แตกต่างกันมากนัก  ความรู้สึกของประชาชนน่าจะพอรับได้   และประการสุดท้าย   ผู้เขียนเห็นว่า   ในการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยในข้อหาจำหน่ายยาเสพติดกรณีล่อซื้อนั้น   ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณากำหนดโทษ  โดยนำจำนวนหรือปริมาณยาเสพติดที่ตำรวจล่อซื้อได้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินอย่างเดียว   เพราะมิฉะนั้น   ชะตาชีวิตของจำเลยย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการของตำรวจผู้ล่อซื้อว่า    ประสงค์จะให้จำเลยได้รับโทษมากน้อยเท่าใด./


[1]  ลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร ดุลพาห  เล่ม ๒  ปีที่ ๔๙  พฤษภาคม  -  สิงหาคม      ๒๕๔๕  และวารสารกฎหมาย มสธ. ปีที่   ๑๔  ฉบับที่ ๒  ธันวาคม  ๒๕๔๕.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น