1/06/2555

ความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย

                                           ความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย  [1]             
                                                                                                              โดย...โสต  สุตานันท์
         เหตุผลสำคัญสูงสุดประการหนึ่ง ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕  ก็คือ  ต้องการให้ประเทศไทยเป็นสังคม ประชาธิปไตย”  ซึ่งนับแต่วันนั้นจนถึงบัดนี้ กาลเวลาผ่านไปประมาณ ๗๗ ปีเศษ ซึ่งหากเทียบกับอายุขัยของคนเราก็ต้องถือว่า ย่างเข้าสู่วัยชราในช่วงบั้นปลายของชีวิตแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะมีปัญหากับคำว่า ประชาธิปไตยมาโดยตลอด  มีปรากฏการณ์น้อยใหญ่มากมายที่ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าได้พยายามต่อสู้เรียกร้อง ยอมเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่ง ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์วิปโยคเดือนตุลาคมในปี ๒๕๑๖ และปี ๒๕๑๙ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี ๒๕๓๕ หรือเหตุการณ์สงกรานต์เลือดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา  
         คำถามก็คือว่า  แล้วประชาธิปไตยที่แท้จริงตามที่เรียกร้องโหยหากันนั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไร  มีแห่งหนพำนักหรือหลบซ่อนอยู่ที่ไหน  เพราะเหตุใดถึงไม่ยอมโผล่หน้ามาให้คนไทยได้ชื่นชมกันเสียที ผู้เขียนเองเรียนจบมาทั้งทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์  มีประสบการณ์ในการทำงานมา ๒๕  ปี เศษ  เคยรับราชการมาแล้ว    กระทรวง  และมั่นใจว่าเป็นคนที่สนใจเรื่องแนวคิดปรัชญา สนใจเรื่องการเมืองการปกครองอยู่พอสมควร  แต่ก็ยอมรับอย่างไม่อายว่าหากมีคนถามว่า  ประชาธิปไตยคืออะไร  ผู้เขียนยังไม่ค่อยมั่นใจเลยว่าคำตอบของตน เองจะถูกต้องหรือไม่  อย่างไร
         เพราะฉะนั้น ตอนนี้ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่า คำว่า ประชาธิปไตย ในความคิดความเห็นของกลุ่มคนเสื้อเหลือง  แดง น้ำเงิน หรือกลุ่มสีอะไรก็ตามที่กำลังต่อสู้เพรียกหากันอยู่ในเวลานี้  มีความหมายว่าอย่างไร เหมือนกันหรือแตกต่างกัน และไม่แน่ใจว่าแต่ละคนที่ร่วมกันประท้วง อดหลับอดนอน ยอมลำบากลำบนด้วยกันนั้น  มีความคิดความเห็น หรือเข้าใจความหมายของคำว่าประชาธิปไตยถูกต้องตรงกันหรือไม่ อย่างไร  ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นดูแคลนหรือเสียดสีเหน็บแนมผู้ใด แต่มีความสงสัยด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง
         โอกาสนี้  จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทั้งหลายมาร่วมกันวิเคราะห์วิจารณ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นระหว่างกันว่า   ประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น มีความหมายว่าอย่างไรและกฎเกณฑ์กติกาที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับสังคมประชา ธิปไตยควรจะมีลักษณะรูปแบบเป็นอย่างไร
         เมื่อเปิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑  มาตรา ๒  มาตรา ๓  จนถึงมาตรา     ซึ่งมีข้อความบัญญัติไว้ว่า  “ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิ  เสรีภาพ  และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง แล้ว  ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า   ข้อความดังกล่าว  น่าจะเป็นกุญแจสำคัญในอันที่นำไปสู่การศึกษาทำความเข้าใจกับคำว่า  ประชาธิปไตยได้ดีที่สุด   
         หากพิจารณาตามหลักการแนวคิดที่เรียกว่านิติศาสตร์แนวพุทธ   ดังที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้เคยแสดงธรรมเทศนาไว้   โจทย์ที่ตั้งไว้น่าจะเป็นว่า การให้การรับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิ  เสรีภาพ  และความเสมอภาคของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔  ซึ่งถือเป็น กฎมนุษย์” นั้น  ควรจะมีลักษณะรูปแบบหรือขอบเขตความหมายแค่ไหน เพียงใด  จึงจะมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับความจริงแท้แห่ง  กฎธรรมชาติ 
         ผู้เขียนขอเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์กับต้นไม้ในป่า จะเห็นได้ว่า โดยธรรมชาติของป่าไม้  จะมีต้นไม้ขึ้นอยู่มากมายหลายพันธ์หลายชนิด  มีลักษณะรูปร่างและขนาดใหญ่น้อยแตกต่างกันไป  ต้นไม้ทุกต้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ทุกต้นมีประโยชน์มีคุณค่าในตัวของมันเอง  ในสังคมมนุษย์ก็เช่นกัน ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลักษณะรูปร่างหน้าตา  ความชอบ ความถนัด  ความรู้ความสามารถ  สติปัญญา  ความคิด ความรู้สึก ฯลฯ  ดังนั้น  มนุษย์แต่ละคนจึงมีบทบาท มีหน้าที่ มีคุณค่าที่แตกต่างกันในหลายแง่หลายมุม  ซึ่งที่ถูกที่ควรแล้วบทบาทหน้าที่หรือคุณค่าที่ต่างกันนั้น ก็ควรจะอยู่ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์สอดคล้อง และเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกันด้วย   หากต้นไม้ในป่าทุกต้นเป็นชนิดเดียวกันมีขนาดความโตความสูงเท่ากันหมดย่อมไม่สามารถคงสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ได้ และท้ายที่สุดก็คงจะถูกภัยธรรมชาติทั้งหลายทำลายไปเสียหมด   สำหรับตัวอย่างของสังคมมนุษย์ที่พยายามทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมเหมือนกันหมดคือ ระบอบสังคมนิยมในประเทศรัสเซีย ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  
         จากที่กล่าวมา จึงมีความเห็นว่าคำว่า ศักดิ์ศรี  สิทธิ  เสรีภาพและความเสมอภาคนั้น  ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องมีสิ่งต่างๆเหมือนกันหรือเท่าเทียมกันหมด   ที่ถูกต้องแล้วน่าจะหมายความว่า ทุกคนมีศักดิ์ศรี  มีสิทธิ  มีเสรีภาพ และมีความเสมอภาค  ตามภาวะ ตามปัจจัย ตามเงื่อนไขแห่งธรรมชาติที่บุคคลนั้นๆควรจะมี  คนขับรถก็ควรจะพึงมีพึงได้ในฐานะที่เป็นคนขับรถ  ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ควรจะพึงมีพึงได้ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี   เฉกเช่นเดียวกันกับต้นไม้ใหญ่ย่อมต้องการน้ำ  ต้องการอาหารมากกว่าต้นไม้ขนาดเล็ก  เพราะต้นไม้ใหญ่ต้องมีหน้าที่คอยคุ้มแดด  คุ้มฝน คุ้มลม ให้ที่อาศัยพักพิงแก่ต้นไม้หรือสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย    ขณะที่ต้นไม้ขนาดเล็กนั้นย่อมจำกัดด้วยชนิด  ขนาดและบทบาทหน้าที่   บางครั้งแม้จะให้น้ำให้อาหารจำนวนมากก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด  ซ้ำร้ายบางทีก็อาจทำให้ต้นไม้นั้นแคระแกร็นหรือล้มตายก็เป็นได้ 
         ดังนั้น หลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยก็คือ เราจะกำหนดกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขกติกากันอย่างไร  เพื่อให้มนุษย์แต่ละคนมีศักดิ์ศรี  มีสิทธิ  เสรีภาพ และความเสมอภาคตามภาวะปัจจัย ตามเหตุตามผลที่บุคคลนั้น ๆควรจะพึงมี   ทำนองเดียวกันกับการจัดการของธรรมชาติสำหรับต้นไม้ในป่า  กล่าวคือ   ธรรมชาติย่อมรู้ดีว่าต้นไม้ชนิดไหน  ประเภทใด และในท้องที่ใด ควรจะมีมากน้อยหรือมีขนาดเล็กใหญ่อย่างไรถึงจะเหมาะสม 
         ที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่า   ผู้เขียนมีแนวคิดไปในทางแบ่งชั้นวรรณะยึดถือยศฐาบรรดาศักดิ์หรือฐานะตำแหน่งเป็นหลักการสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม  ในทางตรงกันข้ามผู้เขียนกลับเห็นว่าการกำหนดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคด้วยการยึดถือยศถาบรรดาศักดิ์หรือฐานะตำแหน่งเป็นหลักการสำคัญโดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขปัจจัยอื่นเลยนั้น น่าจะเป็นกฎเกณฑ์กติกาของสังคมที่ขัดต่อหลักการแห่งประชาธิปไตยและไม่สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการแนวคิดดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกและระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับสังคมในยุคปัจจุบันที่สภาพปัญหามีความยุ่ง ยากสลับซับซ้อนกว่าในอดีตมากมาย
         โดยส่วนตัวของผู้เขียนนั้น  ยืนยันได้ว่ามองคุณค่าของคนที่ผลของงานและพฤติกรรมการกระทำ ไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่หรือฐานะราย ได้อย่างแน่นอน  ขอเปิดเผยความลับในใจว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่เรียนหนังสือจนกระทั่งทำงาน  มีหลายครั้งที่ผู้เขียนยกมือไหว้นักการภารโรงด้วยความสนิทใจ  ด้วยความเลื่อมใสศรัทธามากยิ่งกว่าการยกมือไหว้ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้บังคับบัญชาบางคน   ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็เนื่องจากว่านักการภารโรงคนนั้น ๆเขาทำหน้าที่ในตำแหน่งของเขาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์สมศักดิ์ศรี  ผิดกับผู้มีตำแหน่งสูงบางคนที่ไม่รับผิดชอบการงานให้สมกับบทบาทหน้าที่หรือมีพฤติกรรมการกระทำที่ไม่เหมาะสม น่าอาย ไร้ศักดิ์ศรี  ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมก็คงจะมีความคิดความเห็นไม่แตกต่างกัน
         การสร้างกฎเกณฑ์กติกาเพื่อให้มนุษย์แต่ละคนมีศักดิ์ศรี มีสิทธิ  เสรีภาพและความเสมอภาคตามภาวะปัจจัย ตามเหตุตามผลที่บุคคล นั้น ๆควรจะพึงมีในมุมมองความหมายของผู้เขียนก็คือ การเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมดำเนินชีวิต  ประกอบอาชีพหรือกระทำกิจกรรมใด ๆ ได้โดยอิสรเสรีภาพตามความรู้ความสามารถ หรือความชอบความถนัดของแต่ละคน  รวมทั้งต้องสร้างคุณค่าหรือผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆสำหรับการงานอาชีพหรือกิจกรรมนั้นๆให้เหมาะสมเป็นธรรมชอบด้วยเหตุผล  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านั้นต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น  อีกทั้งต้องไม่ส่งผลกระทบเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย 
         ถามว่า ที่ผ่านมากฎเกณฑ์กติกาของสังคมไทยเป็นอย่างไร   สำ หรับในแง่ของอิสรภาพในการดำเนินชีวิต  การประกอบอาชีพการงานหรือกระทำกิจกรรมต่าง ๆนั้น  ผู้เขียนเห็นว่า  ณ เวลานี้ สังคมไทยเราไม่น่าจะมีปัญหาอะไร  บางครั้งบางทีอาจจะมีมากเกินไปด้วยซ้ำ ทุกวันนี้เราสามารถแสดงความคิดความเห็น ทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างกว้าง ขวางมีอิสรเสรีไม่น้อยไปกว่านานาอารยะประเทศใดในโลก   โครง สร้างของสังคมก็ค่อนข้างเปิดกว้างให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  หากใครมีความรู้ความสามารถก็มีสิทธิเลื่อนฐานะตำแหน่งหรือสถาน ภาพในสังคมได้ตามสมควร ลูกหลานคนยากคนจนมีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษามากขึ้น  ลูกชาวบ้านมีสิทธิเป็นเถ้าแก่ นักธุรกิจใหญ่  มีสิทธิเข้ารับราชการก้าวหน้าเป็นนายอำเภอ  ผู้ว่าราชการจังหวัด  เป็นนายพลทหาร-ตำรวจ แพทย์  อัยการ ผู้พิพากษา และมีสิทธิเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรีหรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี  สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันได้ว่า ประเทศไทยเราเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพไม่ด้อยไปกว่าประเทศต้นตำรับอย่างสหรัฐอเมริกา  
         อย่างไรก็ตามในแง่ของการสร้างคุณค่าและผลตอบแทนสำหรับอาชีพการงานหรือกิจกรรมต่าง ๆนั้น ดูเหมือนว่าสังคมไทยเราจะมีปัญหาอยู่ไม่น้อย เราให้คุณค่าความสำคัญกับอาชีพบางอาชีพหรือตำแหน่งบางตำแหน่งอย่างมากมายมหาศาล  แต่ในบางอาชีพ บางตำแหน่งที่มีคุณค่าความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน เรากลับเพิกเฉยละเลยไม่สนใจ อย่างเช่น  ผู้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆนั้น  จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยใจรัก ด้วยความสำนึกรับผิดชอบหรือไม่ก็ด้วยความจำเป็นจำใจกันทั้งนั้น  เพราะผลตอบแทนที่ได้รับมีน้อยมาก ไม่ว่าจะในแง่ของตัวเงินหรือการยกย่องเชิดชู   ผู้เขียนเคยเห็นผลงานอันยอดเยี่ยมของจิตรกรบนฝาผนังในโบสถ์และในที่ต่าง ๆหลายแห่ง   เคยเห็นผลงานของช่างปั้น ช่างแกะสลักฝีมือดีมากมาย และเคยเห็นการแสดงที่สนุกสนานของศิลปินพื้นบ้านหลายคนหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็น  โขน  ลำตัด  หมอรำ  ซอ  ฯลฯ ยอมรับว่า ทุกครั้งที่ได้เห็นได้ดูชม รู้สึกทึ่งในความรู้ความสามารถของพวกเขาเหล่านั้นเป็นอย่างมาก   แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเห็นใจและเศร้าใจเป็นอย่างมากอีกเช่นกัน ที่สังคมเราไม่มอบรางวัลสิ่งตอบแทนหรือหลักประกันชีวิตให้กับผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่าเช่นนั้นอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
         ตัวอย่างอีกอาชีพหนึ่งก็คือ เกษตรกรทั้งหลาย   ต้องยอมรับความจริงกันว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ฐานะยากจนและผู้คนในสังคมมักจะมองว่าเป็นอาชีพที่ต้อยต่ำไม่มีศักดิ์ศรี  ไม่เว้นแม้กระทั่งเกษตรกรด้วยกันเอง  ทั้ง ๆที่ในความเป็นจริงต้องถือว่าการกสิกรรมเป็นอาชีพที่มีความสำคัญอย่างมากต่อสังคมและถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี เพราะมีความเป็นอิสระสูง เป็นนายของตนเอง อยู่กับธรรมชาติ   อีกทั้ง หากมองอย่างลึกซึ้งโดยไม่วัดคุณค่ากันที่ตัวเงินอย่างเดียวก็จะพบว่า  เกษตรกรเป็นผู้ที่มีฐานะร่ำรวยมั่นคงมากยิ่งกว่าอาชีพใด ๆ ลองคิดดูซิว่า การมีที่ดินเป็นของตนเองซึ่งหมายถึงการเป็นเจ้าของผู้ครอบครองผืนแผ่นดินทั้งที่อยู่ข้างใต้ลึกลงไปถึงแกนโลกและอาณาบริเวณเหนือขึ้นไปจนจรดขอบฟ้าขอบจักรวาลนั้นมันยิ่งใหญ่แค่ไหน อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดชีวิตและตราบจนชั่วลูกชั่วหลานไม่มีวันจบสิ้น  การไม่ให้ความสำคัญและการมีทัศนคติที่ผิดๆต่ออาชีพเกษตรกรดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของสังคมไทย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบความเสียหายอย่างมากมาย  ดังที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่
         นอกจากนั้นในแง่ของผลกระทบที่มีต่อศีลธรรมอันดีหรือการคำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอื่นก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อยอีกเช่นกัน ดังปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมาย คงไม่จำต้องหยิบยกขึ้นมาพูดตอกย้ำให้เจ็บปวดกันอีก ส่วนผลกระทบเสียหายที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น   ผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นเพียงสั้น ๆด้วยการหยิบยกคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่ง  ซึ่งเคยได้ยินทางทีวี แต่ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงที่จำชื่อท่านไม่ได้โดยท่านได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่าการพัฒนาของไทยเราที่ผ่านมานั้นถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง  เครื่องบ่งชี้ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ   ขณะนี้  ทรัพยากรธรรมชาติของเราได้ถูกทำลายลงไปอย่างมากมายจนขาดสมดุล   อีกทั้งเมืองใหญ่ ๆของเราหลายแห่งได้ถูกพัฒนาจนไม่มีน้ำสะอาดจะดื่มและไม่มีอากาศบริสุทธิ์หายใจกันแล้ว   แล้วอย่างนี้เราจะพัฒนาไปเพื่ออะไร ?
         ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความคิดความเห็นของผู้เขียนคงจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมไทยได้ฉุกคิดหรือกระตุ้นให้ผู้คนได้สนใจศึกษาเรียนรู้และคิดค้นหาความหมายของคำว่าประชาธิปไตย ในมิติที่เป็นสาระสำคัญอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น  หากผู้คนส่วนใหญ่ยังมองประชาธิปไตยแบบผิวเผินเพียงแค่รูปแบบพิธีการหรือเพียงแค่การจัดให้มีการเลือกตั้งเหมือนเช่นที่ผ่าน  การต่อสู้เรียกร้องก็คงจะสับสนไร้ทิศทาง ไม่ตรงเป้าตรงประเด็น  บางครั้งบางทีเพียงแค่เริ่มต้นคิดก็หลุดออกนอกกรอบหลักการแห่งประชาธิปไตยไปเสียแล้ว  ซึ่งในท้ายที่สุด เป้าหมายเพื่อให้ได้มาซึ่ง ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ก็คงเป็นเพียงแค่ความฝันลมๆแล้งๆและประสบกับล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าอีกต่อไป  ./
                                      

[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับลงวันที่  ๒๗  ตุลาคม  ๒๕๕๒
             --------------------   
   ...กฎหมาย คือ เจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน พลเมืองทุกคนมีสิทธิออกกฎหมายโดยตนเองเข้ามีส่วนร่วมโดยตรงหรือโดยผ่านผู้แทน  กฎหมายต้องเป็นสิ่งที่เหมือนกันสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองหรือลงโทษ  พลเมืองทุกคนย่อมเสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฎหมายและในเกียรติยศศักดิ์ศรี  ตลอดจนฐานะและตำแหน่งหน้าที่การงาน  ทั้งนี้ ตามความสามารถของแต่ละคนโดยปราศจากการแบ่งแยกใด ๆ ยกเว้น การแบ่งแยกด้วยความดีและความสามารถของแต่ละคน...                   
                            คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองของฝรั่งเศส
๒๖    สิงหาคม  ๑๗๘๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น