1/05/2555

การขอปล่อยชั่วคราวเพื่อหาเงินชำระค่าปรับ

การขอปล่อยชั่วคราวเพื่อหาเงินชำระค่าปรับ[1]
                                                                                                           โดย...โสต  สุตานันท์

                        จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ปฏิบัติงานในศาลต่าง ๆหลายศาล    พบว่า  กรณีจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นและต่อมาศาลได้พิพากษาให้ลงโทษเฉพาะโทษปรับหรือให้ลงโทษจำคุกและปรับแต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้     หากจำเลยไม่มีเงินชำระค่าปรับในวันอ่านคำพิพากษา   จำเลยมักจะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเพื่อขอเวลาไปหาเงินชำระค่าปรับภายใน  ๓๐  วัน   โดยขออนุญาตใช้หลักประกันและสัญญาประกันเดิม    ซึ่งทางปฏิบัติศาลก็มักจะอนุญาตให้ตามขอ   
                        ผู้เขียนเคยปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนผู้พิพากษาและผู้รู้ต่าง ๆ เพราะรู้สึกมันแปลกแปร่งยังไงชอบกล   แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน   และเนื่องจากที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาใด   เพราะส่วนใหญ่จำเลยจะนำเงินค่าปรับไปชำระภายในเวลาที่กำหนด   ผู้เขียนจึงไม่ได้สนใจอะไรและอนุญาตให้ไป  โดยไม่ได้คิดอะไรมาก   
                       ต่อมาผู้เขียนได้รับโอนสำนวนคดีมาเรื่องหนึ่ง   ข้อเท็จจริงปรากฏว่า   ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในวงเงินประกัน          ๓๐๐,๐๐๐   บาท   หลังพิจารณาคดีเสร็จ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  ๒  ปี   ปรับ  ๒๐,๐๐๐   บาท  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้    จำเลยไม่ชำระค่าปรับในวันอ่านคำพิพากษาแต่ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเพื่อหาเงินชำระค่าปรับภายในวัน  ๓๐   วัน  ศาลอนุญาตตามขอ    ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนด  ๓๐  วัน   จำเลยไม่นำเงินค่าปรับไปชำระ      แต่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์    ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนท่านเดิมจึงสั่งปรับนายประกันเต็มตามสัญญา  ๓๐๐,๐๐๐  บาท และแจ้งนายประกันให้ชำระค่าปรับภายใน  ๑๕   วัน    
                       แต่หลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว   ก็ไม่มีการดำเนินการใด  ๆเพื่อบังคับค่าปรับเอากับนายประกัน   จนกระทั่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาออกมา  โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น    จำเลยจึงนำเงินค่าปรับตามคำพิพากษาทั้งหมดไปชำระต่อศาล     วันดีคืนดีปรากฏว่า    เจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกเสนอผู้เขียนขอให้มีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องการบังคับชำระค่าปรับกรณีผิดสัญญาประกันของนายประกันตามที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิมได้สั่งปรับไว้     หากเป็นผู้อ่านจะมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวอย่างไร 
                        ในความเห็นของผู้เขียน     ผู้เขียนเห็นว่า      การเรียกประกันการชำระค่าปรับตามคำพิพากษากับเรื่องการขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีเป็นคนละเรื่องกัน ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๒๙  บัญญัติว่า    “   ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา   ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ   แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่า  ผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ    ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้   ”     จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว   ผู้เขียนเห็นว่า    เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับแล้ว   หากจำเลยไม่มีเงินชำระค่าปรับในวันอ่านคำพิพากษา    ศาลน่าจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งดังต่อไปนี้เท่านั้น   คือ 
                     .)   หากศาลเห็นว่า    ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่า  จำเลยจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ    ศาลต้องปล่อยจำเลยไปเพื่อให้โอกาสจำเลยไปหาเงินมาชำระค่าปรับภายใน  ๓๐  วัน   เพราะเป็นสิทธิของจำเลยที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน    หากครบกำหนดแล้ว   จำเลยไม่ชำระค่าปรับ   ก็ต้องดำเนินการติดตามยึดทรัพย์สินจำเลยเพื่อนำมาชำระค่าปรับหรือมิฉะนั้นก็ต้องจัดการให้ได้ตัวจำเลยมาเพื่อกักขังแทนค่าปรับต่อไป
                     .)   หากศาลเห็นว่า    มีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ   ศาลย่อมมีอำนาจสั่งได้  ๒  ประการ  คือ
                           .๑   สั่งเรียกประกัน     ซึ่งคำว่า  เรียกประกัน     น่าจะหมายถึง    ทั้งการเรียกให้นำหลักทรัพย์มาวางเป็นประกัน หรือ การให้บุคลทำสัญญาประกัน    โดยหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนด    ศาลย่อมมีสิทธิบังคับเอากับหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันหรือผู้ประกันจะต้องชำระค่าปรับแทนจำเลย
                           .๒  สั่งกักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อน       จนกว่าจำเลยจะนำเงินค่าปรับมาชำระครบทั้งหมด  หรือจำเลยถูกขังเป็นเวลาเพียงพอแก่ค่าปรับแล้ว
                      ผู้เขียนเห็นว่า    การเรียกประกันตามประมวลกฎหมายอาญา   มาตรา  ๒๙  นั้น    เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันให้จำเลยชำระค่าปรับ ซึ่งเป็นเรื่องของทรัพย์สินเงินทอง   แต่การทำสัญญาปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ ๕  หมวด ๓  เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้ตัวจำเลยมาศาลตามกำหนดนัดต่าง  ๆ   ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอิสรภาพของบุคคล   กรณีจึงเป็นคนละเรื่องกัน   
                      ดังนั้น   ผู้เขียนจึงเห็นว่า      การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเพื่อให้จำเลยหาเงินชำระค่าปรับ   น่าจะเป็นเรื่องการนำกฎหมายมาปรับใช้แบบผิดฝาผิดตัว     และก่อให้เกิดผลร้ายต่อจำเลย   เพราะหากมีการผิดสัญญาไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนด    นอกจากศาลจะมีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระค่าปรับตามคำพิพากษาแล้ว   ยังมีสิทธิบังคับให้ชำระค่าปรับกรณีผิดสัญญาปล่อยชั่วคราวอีก   ซึ่งน่าจะผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น    การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวน่าจะเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยจริง  ๆเท่านั้น     กรณีศาลพิพากษาให้ปรับหรือจำคุกและปรับ  แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้    หากจำเลยไม่มีเงินชำระค่าปรับในวันอ่านคำพิพากษาและศาลเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ   ศาลก็ควรจะสั่งให้เรียกประกันหรือสั่งให้กักขังไปพลางก่อนดังที่กล่าวไว้ในข้อ  ๒.๑  และ  ๒.๒     ดังกล่าวข้างต้น
           
                          เกี่ยวกับปัญหาเรื่องการชำระค่าปรับตามประมวลกฎหมายอา  ๒๙  นี้   ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าตำรับตำราหลายเล่ม  แต่ตำราส่วนใหญ่จะอธิบายไว้สั้น  ๆไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก    ที่น่าสนใจก็เห็นจะมีความเห็นในหนังสือ  คำอธิบายกฎหมายอาญา  ภาค ๑”  ของท่านอาจารย์จิตติ   ติงศภัทิย์     ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่  ๒   เรื่อง     คือ
                         เกี่ยวกับความหมายของคำว่า   เรียกประกัน”     ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๒๙   
                        หนังสือเล่มดังกล่าวในหน้า   ๑๐๗๖ ๑๐๗๗   มีคำอธิบายไว้ว่า อนึ่ง ที่เรียกว่าประกันตามมาตรานี้  หมายความว่า  ประกันว่าจะชำระเงินค่าปรับ  ทำนองเดียวกับประกันว่าจำเลยจะมาศาลในกรณีปล่อยชั่วคราว   ไม่ถือเป็นสัญญาประกัน  เพราะค่าปรับเป็นโทษซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวผู้ถูกลงโทษ  ไม่เป็นการถูกต้องที่จะให้ผู้อื่นชำระแทนผู้ถูกลงโทษ   ระหว่างระยะเวลาชำระค่าปรับก็เสมือนปล่อยชั่วคราว  เพราะอาจต้องเอาตัวมากักขังแทนค่าปรับก็ได้   หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับและมีการบังคับตามสัญญาประกัน  เงินที่ชำระต้องถือเป็นค่าปรับที่ชำระแล้ว (.๑๕๗๙/๒๕๒๑)   จึงให้เวลาผ่อนชำระค่าปรับไม่เกิน  ๕  ปี  ซึ่งเป็นกำหนดล่วงเลยการลงโทษตาม ม.๙๙  และก่อนชำระงวดสุดท้ายต้องมีธนาคารมาค้ำประกัน”    
                         เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ปัญหาตามความเห็นดังกล่าว  ผู้เขียนขอสรุปเนื้อหาสาระของคำพิพากษาศาลฎีกาที่   ๑๕๗๙/๒๕๒๑   โดยย่อดังนี้ คือ    คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า     จำเลย  (ซึ่งเป็นบริษัท )   มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ  ให้ชำระค่าปรับเป็นเงินจำนวน  ๖๕,๗๔๔,๔๕๒.๒๔  บาท   ปรากฏว่า  จำเลยชำระค่าปรับไป  ๑๒๐,๐๐๐  บาท   ส่วนที่เหลือได้ยื่นคำร้องว่า  ไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะชำระค่าปรับให้ครบภายใน  ๓๐  วัน ได้   โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นหลายประการ  และขอให้ศาลมีคำสั่งขยายระยะเวลาชำระค่าปรับออกเป็นงวด ๆ  คือ  งวดแรกจำนวน  ๕,๗๔๔,๔๕๒.๒๔  บาท  งวดต่อไปชำระภายในวันที่  ๑๕  มกราคมของทุกปี  ปีละ  ๖  ล้านบาท   จนกว่าจะครบจำนวนค่าปรับ
                         โจทก์คัดค้านว่า   ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  ๒๔๕   บัญญัติให้ดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชักช้า  และประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๒๙   บัญญัติให้ผ่อนผันการบังคับคดีได้เพียง  ๓๐  วัน   ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว  จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  ๒๓    มาใช้โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  ๑๕  ไม่ได้                                                                                         ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า     ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  ๒๔๕  บัญญัติให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า  จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการย่นหรือขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  ๒๓  มาใช้กับประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๒๙  อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติได้   แต่อย่างไรก็ตามการบังคับโทษปรับนั้น  กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้เป็นเด็ดขาดว่าให้เวลาแก่จำเลยเพียง  ๓๐  วัน    จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับได้  แล้วมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าปรับงวดแรก  ๑๐,๗๔๔,๔๕๒.๒๔  บาท    ที่เหลือผ่อนชำระปีละ  ๑,๐๐๐,๐๐๐  บาท   ยกเว้นปีสุดท้ายให้ชำระ  ๕,๐๐๐,๐๐๐  บาท   พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยหาธนาคารเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าปรับดังกล่าว 
                                โจทก์อุทธรณ์ว่า   ไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจผ่อนผันการบังคับชำระค่าปรับได้   และจำเลยอุทธรณ์ขอให้ขยายเวลาชำระค่าปรับตามที่ได้ยื่นขอต่อศาลชั้นต้น  โดยไม่ต้องให้ธนาคารค้ำประกัน    ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า  ให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับได้  โดยให้ชำระงวดแรก   ๑๐,๐๐๐,๐๐๐  บาท   ส่วนที่เหลือให้ผ่อนชำระ  ๘  งวด ๆละไม่น้อยกว่า   ๖,๙๖๘,๑๐๖.๕๓  บาท  พร้อมทั้งมีเงื่อนไขให้ทำทัณฑ์บนว่า  จำเลยจะต้องไม่ยักย้ายจำหน่ายโรงงานและเครื่องจักรทั้งหมดและห้ามจำเลยก่อภาระติดพันแก่ทรัพย์สินเหล่านั้นเพิ่มขึ้นอีก
                                 โจทก์ฎีกา   ศาลฎีกาเห็นว่า  การที่จำเลยขอผ่อนชำระค่าปรับจะถือว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับนั้นไม่ได้  เพราะในกรณีที่จำเลยมีทรัพย์สิน  ถ้าให้โอกาสจำเลยมีเวลาหาเงินมาชำระค่าปรับได้ก็ไม่จำเป็นต้องยึดทรัพย์สินของจำเลย  การที่ศาลจะผ่อนให้จำเลยชำระค่าปรับช้าเร็วเพียงใด  เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดให้ตามความยุติธรรมและเหมาะสมในการให้รอการบังคับไว้ยังไม่ยึดทรัพย์จำเลย  เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา  ๒๙  ใช้คำว่า  ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ”  มิได้ใช้คำว่า  ให้ยึดทรัพย์สินจำเลยใช้ค่าปรับ”     ซึ่งศาลอาจดำเนินการยึดทรัพย์ได้ภายใน  ๕  ปี  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๙๙   คดีนี้เห็นได้ว่า  ถ้าบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินของจำเลยมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระค่าปรับทันทีก็มีแต่จะเกิดความเสียหายทั้งต่อตัวจำเลยและมีผลกระทบต่อส่วนรวมหากจำเลยต้องล้มเลิกกิจการ  เพราะค่าปรับมีจำนวนมาก   ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์   พิพากษาให้   จำเลยผ่อนชำระค่าปรับได้  และกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยจะต้องนำธนาคารมาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าปรับที่ค้างชำระ  โดยมีเงื่อนไขว่า  ถ้าจำเลยไม่ชำระหรือจำเลยต้องยกเลิกกิจการไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ  ธนาคารผู้ค้ำประกันจะต้องชำระค่าปรับทั้งหมดที่ค้างชำระแทนจำเลยทันที  โดยจะปฏิเสธความรับผิดใด ๆไม่ได้ทั้งสิ้น  และสละสิทธิไม่ยกข้อต่อสู้ใด ๆของจำเลยมาอ้างเพื่อให้พ้นความรับผิดจากการที่จะต้องถูกบังคับคดี   ” 
                                จากคำพิพากษาฎีกาคดีดังกล่าว    จะเห็นว่าศาลฎีกายอมรับให้บุคคลอื่นทำสัญญาประกันการชำระค่าปรับของจำเลยต่อศาลได้   ดังนั้น  ด้วยความเคารพอย่างสูง   ผู้เขียนจึงเห็นว่า  คำอธิบายตามนัยหนังสือดังกล่าวข้างต้น  ซึ่งให้ความเห็นไว้ว่า   ค่าปรับเป็นโทษซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวผู้ถูกลงโทษ  ไม่เป็นการถูกต้องที่จะให้ผู้อื่นชำระแทนผู้ถูกลงโทษ   จึงดูเหมือนจะขัดแย้งกับเหตุผลในคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาฎีกาที่  ๑๕๗๙/๒๕๒๑ ดังที่กล่าวอ้างไว้  
                               แม้คดีนี้  จำเลยจะเป็นนิติบุคคลซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถกักขังแทนค่าปรับได้ก็ตาม  แต่ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่จะปฏิบัติต่อจำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาให้แตกต่างกัน   เพราะหากยึดหลักการที่ว่า  ค่าปรับตามคำพิพากษาเป็นเรื่องเฉพาะตัว   ผู้อื่นชำระแทนไม่ได้แล้ว   ไม่ว่าจำเลยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็น่าจะยึดถือหลักการอันเดียวกัน   
                               ในความเห็นของผู้เขียน   เห็นว่า    หากเราแปลความว่า   การลงโทษปรับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘ ()    เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลย  คนอื่นชำระแทนไม่ได้แล้ว   คงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติไม่น้อย    เพราะในความเป็นจริงมีคดีจำนวนมากที่พ่อแม่   ญาติพี่น้องของจำเลย   นายจ้างหรือบุคคลอื่นประสงค์จะชำระค่าปรับแทนจำเลย   ซึ่งเมื่อบุคคลดังกล่าวนำเงินไปชำระค่าปรับ   เจ้าหน้าที่ผู้รับชำระคงไม่สามารถล่วงรู้ได้  หรือแม้จะรู้แต่หากเจ้าหน้าที่คนใดปฏิเสธไม่ยอมรับชำระก็คงเป็นเรื่องที่แปลกและยากที่จะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้  หรือกรณีจำเลยเป็นเด็กนักเรียนซึ่งไม่มีรายได้หรือทรัพย์สินใด ๆเลย   หากเราไม่ยอมให้พ่อแม่ชำระค่าปรับแทนได้   จำเลยก็คงต้องถูกกักขังแทนค่าปรับสถานเดียว     
                                 จริง ๆแล้วผู้เขียนเห็นว่า    การที่บุคคลอื่นชำระค่าปรับแทนจำเลยนั้น   ไม่ได้หมายความว่า  จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบเสียทีเดียว  เพราะในความเป็นจริง หากไม่ใช่พ่อแม่  ญาติพี่น้อง  คงไม่มีใครที่จะช่วยเหลือจำเลยโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ อย่างน้อยที่สุดจำเลยก็ต้องเป็นหนี้บุญคุณของบุคคลที่ชำระค่าปรับแทนตนเอง    กล่าวเฉพาะการทำสัญญาประกันการชำระค่าปรับต่อศาลนั้น  หากไม่ใช่พ่อแม่ญาติพี่น้อง   ส่วนใหญ่ผู้ทำสัญญาประกันย่อมเรียกร้องผลประโยชน์ค่าตอบแทนจากจำเลยอย่างแน่นอน    จากเหตุผลดังที่กล่าวมา   ผู้เขียนจึงเห็นว่า  คำว่า   เรียกประกัน   ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา ๒๙  นั้น   น่าจะหมายถึง    การให้จำเลยหาหลักทรัพย์มาวางเป็นประกัน หรือ การให้บุคลทำสัญญาประกันก็ได้     ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
๒.      เกี่ยวกับการบังคับชำระค่าปรับระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา  
                          ปัญหาดังที่กล่าวข้างต้น   หมายถึง  กรณีที่จำเลยไม่ประสงค์จะอุทธรณ์   โดยจำเลยยอมรับในผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น   เพียงแต่มีปัญหาเรื่องเงินค่าปรับไม่มี  จึงขอเวลาศาลไปหาเงินมาชำระ     มีปัญหาว่ากรณีศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปรับหรือจำคุกและปรับ แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้    แต่จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและประสงค์จะอุทธรณ์     จะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการบังคับชำระค่าปรับตามคำพิพากษา      เกี่ยวกับเรื่องนี้  หนังสือ  คำอธิบายกฎหมายอาญา  ภาค ๑  ของท่านอาจารย์จิตติ   ติงศภัทิย์  หน้า  ๑๐๗๕   ได้อธิบายไว้ว่า     “ แม้การบังคับคดีจะกระทำเมื่อคดีถึงที่สุดตาม  ป.วิอาญา  ม.๒๔๕   โดยไม่ชักช้าก็ตาม  แต่ตาม ป.วิอาญา  ม.๑๘๘  คำพิพากษามีผลตั้งแต่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผย..............เมื่อครบกำหนด   ๓๐  วันแล้ว   แม้จะมีอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นการขัดขวางแก่การที่ศาลจะต้องบังคับคดีไปตาม  ม.๒๙     กรณีที่จะต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน   กฎหมายย่อมเขียนไว้เช่นนั้นโดยตรง เช่น  ม.๙๒,๙๘,๙๙,๑๐๐  เป็นต้น .........”
                            จากคำอธิบายดังกล่าว     ผู้เขียนมีข้อสังเกต คือ  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา   ๓๓  บัญญัติไว้ว่า  ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด    ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ”     ดังนั้น   จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า   ความเห็นตามนัยหนังสือดังกล่าวสอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่  อย่างไร    หากมีการบังคับคดีโดยการบังคับชำระค่าปรับหรือกักขังแทนค่าปรับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทันที   แล้วต่อมาศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา  พิพากษายกฟ้องหรือแก้ไขค่าปรับให้น้อยลงกว่าเดิม   แน่นอนว่าจำเลยต้องได้รับความเสียหายอย่างมาก   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้กักขังแทนค่าปรับซึ่งเป็นเรื่องของอิสรภาพของบุคคล     หากจำเลยถูกกักขังตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปแล้ว  คงเป็นการยากที่จะหามาตรการใด ๆมาเยียวยาความเสียหายแก่จำเลยที่สูญเสียไป   ส่วนกรณีการบังคับชำระค่าปรับก็เช่นกัน   แม้ถึงที่สุดแล้วหากศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น   จำเลยจะมีสิทธิขอเงินค่าปรับที่ชำระไปแล้วคืนได้   แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า   การที่จำเลยชำระค่าปรับไปก่อนย่อมมีผลทำให้จำเลยได้รับความเดือดร้อน   โดยเฉพาะหากค่าปรับมีจำนวนมากหรือจำเลยเป็นคนยากจน       
                               นอกจากนั้น   ยังมีข้อน่าสังเกตอีกคือ  เคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  กรณีคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา  หากคดียังไม่ถึงที่สุด  โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้บังคับคดีในส่วนแพ่งกับจำเลยได้  (คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๗๘๖/๒๕๓๒ซึ่งจะเห็นว่า  แม้แต่การบังคับคดีในทางแพ่ง   ศาลฎีกายังเห็นว่าต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน  ขณะที่การบังคับชำระค่าปรับเป็นเรื่องการลงโทษในทางอาญาโดยตรงซึ่งร้ายแรงมากกว่าเราจะแปลความหมายว่าไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุดเช่นนั้นหรือ     ด้วยความเคารพอย่างสูง  ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นในหนังสือดังกล่าวอ้างข้างต้นที่ว่า  แม้จะมีอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นการขัดขวางแก่การที่ศาลจะต้องบังคับคดีไปตาม  มาตรา  ๒๙
              กล่าวโดยสรุป  ผู้เขียนเห็นว่า  เมื่อพิจารณาหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา  ๓๓   ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  ๒๔๕  แล้ว     การบังคับคดีไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  ๒๙  น่าจะแบ่งเป็น  ๒  กรณี   คือ  
                           กรณีแรก   -  หากคดีไม่มีการอุทธรณ์    การดำเนินการบังคับคดีก็เป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้  โดยศาลมีอำนาจยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ  กักขังแทนค่าปรับ หรือเรียกประกันได้   ดังรายละเอียดที่กล่าวไว้ข้างต้น
                            กรณีที่สอง  -  หากคดีมีการอุทธรณ์    ย่อมแสดงว่า  คดียังไม่ถึงที่สุด   ดังนั้น  จึงไม่อาจปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดได้    การบังคับคดีต่อจำเลยโดยการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับโดยสภาพต้องถือว่า  เป็นการปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว   ผู้เขียนจึงเห็นว่า  ไม่น่าจะทำได้  เพราะจะเป็นขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา  ๓๓    แต่อย่างไรก็ตาม   กรณีการเรียกประกันนั้น  ผู้เขียนเห็นว่า   ยังไม่น่าจะถือว่าเป็นการปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด    ดังนั้น   หากศาลเห็นว่าจำเลยอาจหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับศาลน่าจะมีอำนาจเรียกประกันจากจำเลยในระหว่างอุทธรณ์-ฎีกาได้
                            ความเห็นของผู้เขียนดังที่กล่าวมา   เป็นการพิจารณาในแง่ของหลักการตามตัวบทกฎหมาย   โดยแยกประเด็นปัญหาออกจากกันเป็น  ๒  กรณี อย่างชัดเจน   คือ  กรณีจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์กับจำเลยยื่นอุทธรณ์    แต่ปัญหาก็คือว่า  ในทางปฏิบัติ   ภายหลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้ว   ศาลไม่อาจทราบได้ทันทีว่า  จำเลยจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ อย่างไร  จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลา ๑ เดือน ตามกฎหมาย    หากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้ว  ปรากฏว่า   ๑.) จำเลยชำระค่าปรับทั้งหมด (อาจยื่นหรือไม่ยื่นอุทธรณ์ก็ได้)  หรือ  ๒.)  จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลในทำนองว่า  ขอเวลาไปหาเงินมาชำระค่าปรับ (ไม่เกิน ๓๐ วัน  ตาม ปอ. ม.๒๙)  โดยวางหลักประกันหรือทำสัญญาประกันไว้ต่อศาล  ( อันแสดงว่าจำเลยยอมรับในผลของคำพิพากษา โดยไม่ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ เพียงแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับในวันฟังคำพิพากษาเท่านั้น )    หรือ ๓.) จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลในทำนองว่า  ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์  จึงขอวางหลักประกันหรือทำสัญญาประกันการชำระค่าปรับระหว่างอุทธรณ์ไว้ต่อศาล     ย่อมไม่มีปัญหาใด  ศาลก็คงต้องพิจารณาไปตามรูปคดี     
                            แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า   จำเลยไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งใน  ๓ ประการ ดังกล่าว   จะทำอย่างไร   ปัญหานี้  ผู้เขียนเห็นว่า   ตราบใดที่ยังไม่พ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ตามกฎหมาย  ย่อมแสดงว่าคดียังไม่ถึงที่สุด    ซึ่งหากพิจารณาตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๓  แล้ว  ศาลย่อมไม่อาจกักขังจำเลยแทนค่าปรับในช่วงเวลาดังกล่าวได้ดังเหตุและผลที่กล่าวไว้ข้างต้น    แต่อย่างไรก็ตาม   หากเราแปลความเช่นนั้น  ย่อมก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก   ผู้เขียนจึงเห็นว่า    เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา   จึงควรที่จะนำรัฐธรรมนูญ  มาตรา  ๓๑  วรรคสาม  ซึ่งบัญญัติไว้ว่า  การจับ  คุมขัง  ตรวจค้นตัวบุคคล  หรือการกระทำใด   อันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง  จะกระทำมิได้  เว้นแต่  โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  ”  มาปรับใช้ประกอบกัน   โดยกรณีต้องถือว่า   ระหว่างที่ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์ หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ   ศาลย่อมมีอำนาจตาม  ปอ. มาตรา  ๒๙  ใช้ดุลพินิจสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับไปพลางก่อนได้    ซึ่งก็ต้องพึงระมัดระวังว่า   เมื่อใดที่จำเลยยื่นอุทธรณ์  ศาลย่อมไม่มีอำนาจคุมขังจำเลยได้อีกต่อไป   ศาลคงมีอำนาจเพียงอย่างเดียวคือ  เรียกประกันจากจำเลยเท่านั้น  
                          ปัญหาต่อไปว่า   หากศาลเรียกประกันแล้ว  จำเลยไม่สามารถหาหลักประกันตามคำสั่งศาลได้   จะทำอย่างไร    ในเรื่องนี้  ผู้เขียนเห็นว่า  น่าจะนำบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการทิ้งฟ้อง ตาม  ป.วิ.แพ่ง  มาตรา  ๑๗๔ (๒)  มาปรับใช้ โดยอาศัย  ป.วิ.อาญา  มาตรา ๑๕    กล่าวคือ  หากจำเลยไม่สามารถหาหลักประกันตามที่ศาลเรียกภายในเวลาที่กำหนดได้  ศาลย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  ตาม  ป.วิ.แพ่ง  มาตรา  ๑๓๒ (๑)  จากนั้นก็ดำเนินการบังคับคดีไปตามกฎหมาย
             
                        ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับคำกล่าวที่ว่า   กฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม  แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยก่อให้เกิดความยุติธรรม   การแปลความหมายกฎหมายเหมือนเช่นที่ผู้เขียนแสดงความเห็นดังกล่าว   น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด   เพราะนอกจากจะช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว   ยังน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย   เพราะหากแปลความโดยเคร่งครัดว่า   จะบังคับคดีกับจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  ๒๙ ได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น   โดยตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุด  ศาลย่อมไม่สิทธิยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ  กักขังแทนค่าปรับ รวมทั้งไม่มีมีสิทธิเรียกประกันด้วย  ย่อมก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติไม่น้อย   เพราะหากระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา จำเลยหลบหนี  เสียชีวิต หรือพยายามยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าปรับ  ก็คงเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะบังคับคดีในภายหลังได้    
                           ผู้เขียนเห็นว่า   แม้แต่คดีแพ่งกฎหมายยังเปิดโอกาสให้จำเลยที่แพ้คดียื่นขอทุเลาการบังคับคดีระหว่างอุทธรณ์ไว้ก่อนได้   ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา  ๒๓๑    เพราะฉะนั้นในคดีอาญาซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลซึ่งสำคัญมากกว่า    จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะให้โอกาสจำเลยโดยการชะลอการบังคับคดีไว้ก่อนหากจำเลยยื่นอุทธรณ์-ฎีกา    แต่ทั้งนี้   กรณีดังกล่าวต้องถือว่า  เป็นการเรียกประกันตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๒๙    ไม่น่าจะใช่เป็นเรื่องของการขอปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังเหตุและผลที่ผู้เขียนให้ไว้ข้างต้น
               เกี่ยวเนื่องกับปัญหาการชำระค่าปรับนี้  ยังมีปัญหาที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ    เรื่องการยึดทรัพย์จำเลยใช้ค่าปรับ  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา ๒๙  บัญญัติว่า ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา   ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ  หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ.............”     จากบทบัญญัติดังกล่าว   มีปัญหาว่า   เป็นสิทธิของจำเลยที่จะเลือกชำระค่าปรับหรือจะเลือกขอให้กักขังแทนค่าปรับก็ได้   หรือจะต้องบังคับคดีตามขั้นตอนโดยบังคับเอากับทรัพย์สินจำเลยก่อน  หากไม่มีจึงใช้มาตรการกักขังแทนค่าปรับ   เกี่ยวกับเรื่องนี้  มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๔๒๙/๒๔๗๖   วินิจฉัยว่า   เมื่อใดคำพิพากษาวางโทษปรับเป็นเงินย่อมเป็นความประสงค์ของกฎหมายที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา   การกักขังแทนเงินค่าปรับจะพึงทำได้ต่อเมื่อไม่มีทางจะได้เงินค่าปรับเท่านั้น   และคำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๓๗๕/๒๕๐๓   วินิจฉัยว่า   เมื่อชำระเงินค่าปรับไปแล้วบางส่วน   แล้วถูกกักขังในส่วนที่ยังค้างอยู่   ผู้ต้องโทษจะขอรับเงินค่าปรับคืนโดยให้กักขังแทนให้เต็มจำนวนค่าปรับย่อมทำไม่ได้  จากแนวคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว      กรณีจึงต้องถือว่า  ไม่ใช่สิทธิเลือกของจำเลย    โดยหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับต้องบังคับค่าเอากับทรัพย์สินของจำเลยก่อน   เมื่อไม่มีทรัพย์สินที่จะให้ยึดแล้ว  จึงจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับ      อย่างไรก็ตาม 
                 ที่กล่าวมาเป็นเพียงหลักการตามกฎหมายซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย     แต่ในทางปฏิบัติต้องยอมรับความจริงว่า   ที่ผ่านมาเชื่อว่า  ไม่น่าจะมีศาลไหนใช้มาตรการติดตามยึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระค่าปรับหรือถ้ามีก็น่าจะน้อยมาก   โดยหากจำเลยไม่ยอมชำระค่าปรับส่วนใหญ่ศาลมักจะใช้มาตรการกักขังจำเลยแทนค่าปรับทันที   โดยไม่ทำการตรวจสอบก่อนว่าจำเลยมีทรัพย์สินให้ยึดหรือไม่  อย่างไร   เหตุผลน่าจะเป็นเพราะว่า  ในการตรวจสอบติดตามเพื่อยึดทรัพย์สินจำเลยนั้น   ในทางปฏิบัติมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและใช้เวลาค่อนข้างมาก   อีกทั้งไม่มีระเบียบกฎหมายกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน    นอกจากนั้น  เมื่อยึดทรัพย์มาแล้วก็ต้องมีขั้นตอนในเรื่องการขายอีก  กว่าจะยึดและขายทรัพย์สินได้เงินมา  คดีส่วนใหญ่จำเลยคงถูกขังครบกำหนดเพียงพอแก่ค่าปรับไปแล้ว    
                อย่างไรก็ตาม   ผู้เขียนก็เห็นว่า  แม้ในทางปฏิบัติการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับจะมีอุปสรรคปัญหามากมายดังกล่าว   แต่โดยที่ปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่มุ่งลงโทษจำเลยโดยใช้วิธีปรับ   บางฉบับได้กำหนดอัตราค่าปรับไว้ค่อนข้างสูง  อย่างเช่นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ  บางฐานมีโทษปรับเป็นเงินหลายล้านบาท   ดังนั้น   เพื่อให้การดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  ผู้เขียนจึงเห็นว่า    เราน่าจะมีการศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างจริงจังและพยายามหามาตรการหรือวิธีการมารองรับเพื่อให้การบังคับยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป    หากเราปล่อยให้สภาพเป็นเหมือนเช่นทุกวันนี้    การลงโทษปรับจำเลยเป็นจำนวนเงินมาก ๆ  คงได้เฉพาะตัวเลขที่ปรากฏในคำพิพากษาเท่านั้น    เพราะส่วนใหญ่จำเลยคงยอมให้กักขังแทนค่าปรับ   
                 อนึ่ง   มีข้อน่าสังเกตว่า ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  ๑๑๙  โดยเพิ่มข้อความในวรรคสองว่า   เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดี  ให้ศาลชั้นต้นที่พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีนั้นมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลซึ่งต้องรับผิดตามสัญญาประกันได้เสมือนว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและให้ถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกันดังกล่าว ”   ดังนั้น    หากจะถือโอกาสสร้างกฎกติการองรับโดยมอบหมายให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมรับผิดชอบในเรื่องการติดตามยึดทรัพย์สินจำเลยเพื่อชำระค่าปรับอีกเรื่องหนึ่งก็คงจะดีไม่น้อย./


[1] นิตยสาร บทบัณฑิตย์ เล่มที่  ๖๑  ตอน ๓  กันยายน  ๒๕๔๘.

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับมุมมองดี ๆ ในการใช้กฎหมายให้เป็นธรรมครับ...

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณสำหรับมุมมองดี ๆ ในการใช้กฎหมายให้เป็นธรรมครับ...

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆคราบ

    ตอบลบ