1/06/2555

สังคมไทย กับ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สังคมไทย กับ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่[1]
                                                                      โดย...โสต  สุตานันท์

           มีนักปราชญ์  นักกฎหมายคนสำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังหลายท่าน   เคยกล่าวไว้ว่า    สังคมในอุดมการณ์ คือ  สังคมที่มีกฎหมายน้อยที่สุด  หรือหากไม่มีเลย  ก็จะเป็นสังคมในฝันที่มนุษย์โลกพึงปรารถนา   สังคมไหนพยายามออกกฎหมายมาบังคับใช้มาก ๆนั่นคือ  สัญญาณที่บ่งบอกว่า   สังคมนั้นกำลังมีปัญหามากขึ้นเรื่อย  ๆ จากสถานการณ์บ้านเมืองของเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้    คงไม่มีใครโต้แย้งว่า   แนวคิดดังกล่าวไม่เป็นความจริง
           กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี  พ.ศ. ๒๕๔๐   มีทั้งหมด  ๓๓๖   มาตรา   ซึ่งถือว่า   ค่อนข้างยาวมาก   หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของประเทศอื่น ๆในโลก   เข้าใจว่า  น่าจะอยู่ในอันดับต้น ๆ  นอกจากนั้น  กฎหมายลูกต่าง ๆของเราก็มีมากมาย  เฉพาะพระราชบัญญัติตอนนี้ก็มีอยู่กว่า  ๗๐๐ ฉบับ
            เพราะเหตุใด  กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงเขียนไว้ค่อนข้างยาว  ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า   สาเหตุสำคัญน่าจะเนื่องมาจาก     ผู้ร่างกฎหมายมีแนวคิดโดยตั้งข้อสมมุติฐานในเบื้องต้นว่า     คนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นคนไม่ดี    โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ นักการเมือง   ซึ่งจ้องแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ และมักใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกไม่ต้อง  กฎหมายรัฐธรรมนูญจึงถูกออกแบบมาในลักษณะไม่ไว้วางใจนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ    โดยสร้างองค์กรและกลไกต่าง ๆขึ้นมามากมาย  เพื่อคอยควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างใกล้ชิด   
          ในอดีตที่ผ่านมา   มีการโกงกันอย่างไร   ทำไม่ดีกันตรงไหน   ก็พยายามเขียนกฎหมายไปอุดช่องว่างมันไว้    ตอนร่างก็ระดมตัวแทนประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่า   จากหลายสาขาอาชีพมาช่วยกันร่าง  ที่เรียกกันว่า   สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  (ส.ส.ร. )  แต่ละคนก็มีความคิดความเห็นดี ๆกันทั้งนั้น    ในที่สุดก็นำความคิดดี ๆเหล่านั้น   มาลงไว้ในรัฐธรรมนูญซะยาวเหยียดอย่างที่เห็นกันนี่แหละ    
         นอกจากกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว  ยังมีตัวอย่างกฎหมายลูกอีกมากมาย   ที่ผู้ร่างสันนิษฐานว่า   เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่เป็นคนไม่ดี     อย่างเช่น    ตอนนี้  สังคมไม่ไว้ใจตำรวจ   ก็เลยออกกฎหมายมาเข้มงวดกวดขันกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ     คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมก็ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล  เพราะเกรงว่า  ตำรวจจะซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพ   
       หมายค้น หมายจับ ก็ออกเองไม่ได้เหมือนแต่ก่อน   ต้องให้ศาลออกให้   (นี่ถ้าต่อไปสังคมไม่ไว้ใจศาลอีก  ก็ไม่ทราบว่า  จะแก้กฎหมายให้ใครออกแทนดี)    ในการสอบสวนคดีก็ต้องให้มีทนายมานั่งเฝ้า   และขณะนี้  ก็มีหลายฝ่ายพยายามเสนอแนวคิดให้พนักงานอัยการหรือฝ่ายปกครองเข้าไปคานดุลตรวจสอบ โดยเข้าเป็นคณะพนักงานสอบสวนร่วมอีก  (ซึ่งในอดีตก็เคยทำกันมาแล้ว  และมีการแก้ไขกลับไปกลับมาหลายครั้ง )
        การที่เราไม่ไว้ใจคนในองค์กรใดก็เขียนกฎหมายออกมาควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของคนในองค์กรนั้น ๆ   มองดูเผิน ๆน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากศึกษาปัญหาในรายละเอียดจะพบว่า   ในทางปฏิบัติ การออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว     บ่อยครั้งก่อให้เกิดอุปสรรคปัญหามากมายต่อข้าราชการหรือบุคลากรในองค์กรต่าง ๆที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี  เพราะในความเป็นจริงแล้ว  งานที่รับผิดชอบแม้จะมีลักษณะเนื้องานหลัก ๆเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกัน   แต่เมื่อพิจารณาลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า  ปัญหาทุกเรื่องจะมีข้อเท็จจริงในรายละเอียดที่แตกต่างกัน  และแน่นอนว่า  ย่อมต้องใช้วิธีการในการแก้ไขปัญหาแตกต่างกันด้วย    
           แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ถูกบังคับด้วยกรอบของระเบียบกฎหมาย  ผลที่ตามมาก็คือ    เรื่องง่าย ๆก็จะกลายเป็นเรื่องยาก  เรื่องที่ยากอยู่แล้ว  ก็จะยิ่งยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก   เจ้าหน้าที่ที่ดี ๆจะทำงานด้วยความอึดอัด  หากใครกล้าแหกกฎระเบียบ เมื่อผิดพลาดขึ้นมาก็จะถูกลงโทษถูกสอบวินัย  สุดท้ายส่วนใหญ่ก็จะทำงานแบบปลอดภัยไว้ก่อน ทำงานไปวัน ๆเช้าชามเย็นชาม ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใด ๆ   ขณะเดียวกันคนที่ไม่ดี  ก็จะถือโอกาสนำระเบียบกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากนั้นไปแสวงหาผลประโยชน์   ผู้บังคับบัญชาบางคนก็ถือโอกาสนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งลูกน้องที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อตนเอง  ฯลฯ
          ในมุมมองของผู้เขียน  เห็นว่า   ที่ผ่านมาสังคมไทยเราแก้ปัญหาไม่ถูกจุด   ในทรรศนะของผู้เขียนมองว่า   ในทุกองค์กรน่าจะมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี   ดังนั้น   ในการตรากฎหมายเราต้องตั้งข้อสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นว่า   คนส่วนใหญ่เป็นคนดี  มีความรับผิดชอบ  เราต้องพยายามออกกฎกติกาที่เอื้ออำนวย  ให้ความสะดวก  ให้การสนับสนุน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคนในองค์กรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องมอบอำนาจ มอบดุลพินิจในการตัดสินใจให้เขาพอสมควร   เราต้องให้เกียรติ์   ให้ความไว้วางใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเขา   ไม่ใช่ไปกำหนดบทบาททุกย่างก้าวให้เขาเดิน    แต่อย่างไรก็ตาม  หากเราให้อำนาจไปแล้ว   ถ้าบุคคลใดใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกไม่ต้อง  มีการทุจริต  คอรัปชั่น  เราต้องมีมาตรการจัดการที่รุนแรง  เด็ดขาด  และ เอาจริงเอาจัง 
         ที่ผ่านมาจะเห็นว่า   บางครั้งเราแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตามกระแสสังคมมากเกินไป    คนชั่วไม่กี่คนสร้างปัญหาแทนที่เราจะจัดการกับคนคนนั้นอย่างเด็ดขาดกลับไม่ดำเนินการ    มิหนำซ้ำหลายครั้งกลับพยายามช่วยเหลือกันอีก  แล้วพยายามแก้ปัญหาโดยการออกกฎหมายมาตรวจสอบควบคุมคนส่วนใหญ่ในองค์กรที่ไม่ได้สร้างปัญหา    
         อย่างเช่น   ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง   ผู้เขียนเห็นว่า   ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยส่วนใหญ่เป็นคนดี  คนที่มีปัญหาคือ  คนส่วนน้อย   ดังนั้น  โดยหลักการแล้ว  เราควรจะให้ฝ่ายปกครองเป็นองค์กรหลักในการจัดการเลือกตั้งต่อไป  เพราะมีความพร้อมในทุก ๆด้าน  อาจจะเสริมกระบวนการควบคุมตรวจสอบด้วยการออกกฎหมายให้องค์กรเอกชน   ตัวแทนนักการเมือง หรือองค์กรอื่นใดที่เห็นว่าเหมาะสมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และที่สำคัญต้องออกกฎกติกามาจัดการกับคนที่แหกคอก คนที่ไม่ดีอย่างเฉียบขาด  เอาจริงเอาจริง ( เช่น อาจตั้งแผนกคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งขึ้นในศาลฎีกา ทำนองเดียวกันกับ  การจัดตั้ง แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ก็ดูจะเข้าท่าไม่น้อย)   
         เพียงแค่นี้  ก็น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆให้บรรเทาเบาบางลงได้    การที่เราไม่ไว้วางใจฝ่ายปกครองตามกระแสความรู้สึกของสังคม  แล้วออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงให้  กกต.รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งแทน  ผลที่ออกมาเป็นอย่างไร   คนไทยทุกคนคงรู้ซึ้งในคำตอบได้เป็นอย่างดี
           อีกประเด็นหนึ่ง  ที่ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตไว้ ณ  ที่นี้  ก็คือ   กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี  พ.ศ. ๒๕๔๐   มีที่มาจากหลายประเทศ   คือ  เราเห็นว่า  ของประเทศไหนดีเราก็เอามาใช้หมด  โดยลืมคิดไปว่า   สภาพแวดล้อม  สังคม  วัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  การเมือง  ฯลฯ   ของเรากับของเขาไม่เหมือนกัน   
          หากจะเปรียบเทียบการสร้างบ้านกับการตรากฎหมายซึ่งเป็นกฎกติกาของสังคมแล้ว    โครงสร้างหลัก ๆของตัวบ้าน  เช่น   เสาบ้าน   พื้นบ้าน  ฝาบ้าน   ห้องต่าง ๆและหลังคา  ก็คงจะเปรียบเสมือนกฎหมายรัฐธรรมนูญ   ส่วนพื้นที่ใช้สอยในรายละเอียดปลีกย่อยลงไป รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่าง ๆภายในบ้าน ก็คงเปรียบเสมือนกฎหมายลูกต่าง ๆ  
            ปัญหาของเราตอนนี้ก็คือ    บ้านเราเป็นเมืองร้อน   แต่เราออกแบบบ้านเหมือนฝรั่งซึ่งเป็นเมืองหนาว    บ้านเรายากจนแต่เราสร้างบ้านเสียใหญ่โตทำด้วยวัสดุอย่างดีราคาแพง  โดยไปกู้เงินเขามาสร้าง    อุปกรณ์ เครื่องมือ  เครื่องใช้ต่าง ๆภายในบ้านของเรามีครบครัน  แต่บางอย่างเราไม่เคยนำมาใช้    บางอย่างใช้ไม่เป็น    และบางอย่างใช้อย่างไม่คุ้มค่าหรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ ฯลฯ   
            ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า  ความรู้  ความก้าวหน้าทางวิทยาการหรือเทคโนโลยีด้านต่าง ๆของต่างประเทศหลายเรื่อง  เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์  เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้จากเขา แต่บางสิ่งบางอย่างมันไม่จำเป็น เราก็ไม่น่าจะเอามา   เราน่าจะพยายามรักษาความเป็นเอกลักษณ์  รักษาจิตวิญญาณของเราให้คงไว้   หากจำเป็นต้องเอาของเขามา  ก็ไม่ใช่เอามาทั้งดุ้น เราต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง  ๆของสังคมในบ้านเมืองเรา   
       ณ  วันนี้  เวลานี้  เราต้องศึกษาตัวเราเองให้ถ่องแท้  ให้รู้แจ้งเห็นจริงก่อนว่า  ในอดีตเราเป็นใคร  มาจากไหน  ประวัติศาสตร์บ้านเมืองเรามีความเป็นมาอย่างไร    ปัจจุบันเราเป็นอย่างไร  เงื่อนไขปัจจัยทุกอย่างที่แวดล้อมตัวเราขณะนี้เป็นอย่างไร   และในอนาคตเราต้องการอะไร  เราจะเดินไปทางไหน   เราต้องมองทุกสิ่งทุกอย่างจากพื้นฐานของตัวเราเองเป็นหลักและคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาภายใต้เงื่อนไขหรือภาวะแวดล้อมที่เป็นจริงของสังคมเรา และภายใต้ภูมิปัญญาของเราเป็นสำคัญ  ไม่ใช่ไปลอกเลียนแบบใครเขา
                      ท้ายนี้  ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตเป็นบทสรุปส่งท้ายว่า   ที่ผ่านมา สังคมไทยเรานั้น   เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเรามักจะโทษนั่นโทษนี่ โดยเฉพาะโทษคนอื่นไว้ก่อน   โดยลืมมองสำรวจตัวเองว่า  เราเองเป็นคนที่มีส่วนก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่    อย่างไร   การทุจริต  การฉ้อราษฎร์- บังหลวง   แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  ถ้าไม่มีประชาชนหรือนักธุรกิจให้ความร่วมมือหรือให้การสนับสนุนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม   ตำรวจจราจรจะเรียกรับเงินไม่ได้  ถ้าประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดหรือหากทำผิดก็ยินดีชำระค่าปรับตามใบสั่ง    ทุกคนยอมรับว่าการตัดไม้ทำลายป่าเป็นต้นเหตุแห่งภัยพิบัติหลายประการโดยเฉพาะอุทกภัย และมองว่าคนตัดไม้ทำลายป่าเป็นคนไม่ดี  เป็นบ่อนทำลายชาติ  แต่คนส่วนใหญ่ก็ชอบซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้   ถามว่าถ้าไม่มีคนซื้อ จะมีคนตัดไม้ขายหรือไม่   ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า   นักอนุรักษ์ หรือเอ็น จี โอ  บางคน ในบ้านท่านจะมีเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้อยู่เต็มบ้านหรือเปล่า    
        มีคำกล่าวหนึ่งซึ่งผู้เขียนเคยได้ยินมานานแล้ว คือ  ตัวแทนคนกลุ่มไหนย่อมสะท้อนถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มนั้น     หากคิดไตร่ตรองดูให้ดี  จะเห็นว่ามีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย     ถ้าสังคมไหนคนส่วนใหญ่เห็นว่า   ประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อนประโยชน์ส่วนตน    คนที่ได้รับเลือกตั้งก็จะเป็นคนที่เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน    ในทางตรงข้ามหากสังคมไหนคนส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม  แน่นอนว่าตัวแทนของเขาก็น่าจะเป็นคนเช่นนั้นเช่นกัน 
      บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเคยได้ยินคนบ่นถึงพฤติกรรมของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าระดับใดในทางลบ     ผู้เขียนก็จะฉุกคิดถึงคำพูดดังกล่าวเสมอ   ก็เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมของเราเป็นอย่างนั้น (อาจรวมถึงคนบ่นด้วย)   คนอย่างนั้นถึงได้รับเลือกเข้าไป   ก็เพราะคนส่วนใหญ่เห็นแก่เงินเห็นแก่พวกพ้อง  ตัวแทนที่เลือกเข้าไปจึงจ้องแต่จะหาผลประโยชน์และเล่นพรรคเล่นพวก   แล้วเราจะไปโทษใครล่ะ ( ไม่ได้หมายความว่า  คนที่เห็นแก่เงิน เห็นแก่พวกพ้องเป็นคนไม่ดีทุกคน  แต่อาจจะเป็นเรื่องของอิทธิพลของลัทธิวัตถุนิยม  ที่เห็นเงินคือ พระเจ้า   ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์   หรือ วัฒนธรรมประเพณีที่สั่งสม หล่อหลอม แนวคิดที่ผิด ๆมาอย่างยาวนาน และไม่ยอมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากมาย ) 
         ผู้เขียนเห็นว่า   ที่ผ่านมาเรามัวแต่โทษซึ่งกันและกัน  หากคนไทยทุกคนย้อนกลับไปมองตัวเองสักนิดหนึ่งว่า   เรามีส่วนก่อให้เกิดปัญหาด้วยหรือไม่ อย่างไร   ถ้ามีก็ต้องเริ่มต้นแก้ไขที่ตัวเราเองก่อน    ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้  ทำได้อย่างนี้    ผู้เขียนก็เชื่อว่า  ปัญหาต่าง  ๆของบ้านเมืองที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้   ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะช่วยกันเยียวยาแก้ไข    แต่หากคนไทยยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม   ยังมีวิธีคิดเหมือนเดิม   เราก็จะวนเวียนอยู่กับวงจรปัญหาแบบเดิม ๆเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา  โดยไม่รู้จบ ไม่รู้สิ้น./
                                    ------------------------------------------


[1] ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลง วันที่  ๑๒  ตุลาคม   ๒๕๔๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น